ค้นหารีวิวหนังเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ
|
|
|
|
| 1 |
2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 |
9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 |
16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 |
23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 |
30 | |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
Film Retro: Musical Films are Forever เปิดตำนานหนังเพลง ตอนที่ 2 (จบ)
Musical Films with the Different Way
สานต่อกันเลยนะครับกับความอร่อยของหนังเพลง หลังจากผม Retro ย้อนไปตั้งแต่ยุคเริ่มจนมาถึงยุค 80 ที่มักมีคนกล่าวกันว่าเป็นกาลสมัยที่หนังเพลงตายแล้ว ขายไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งมันก็ไม่เชิงอย่างนั้นหรอกครับ ที่ว่าตายนั้นหมายถึงหนังเพลงแนวอลังการงานสร้างต่างหาก ประเภทยกจากบอร์ดเวย์มาทั้งดุ้นแล้วก็เกณฑ์คนมาเต้นเป็นร้อยๆ มันถูกมองว่าเป็นของเชยหรือไม่ถูกเอาไปเปรียบเทียบกับหนังเพลงเก่าแก่แต่คลาสสิกไม่ตกยุคอย่าง Top Hat หรือ Singin' in the Rain ซึ่งเรื่องพวกนั้นทำได้ระดับเทพเจ้าลงประทับ ใครก็คงจะเทียบได้ลำบากครับ
อันที่จริงแล้ว ยุค 70 ต่อถึง 80 เป็นช่วงเวลาแห่งหนังเพลงหลากแนว ทั้งแบบประยุกต์และผสมผสานของเก่ากับของใหม่เข้าด้วยกัน นอกจากหนังฮิตอย่าง Grease และหนังเพลงเฉพาะกลุ่มแบบ The Rocky Horror Picture Show ที่ผมได้แนะนำไปฉบับก่อน มาเล่มนี้ก็ได้เวลาลงลึกยุคแห่งการปฏิวัติและทดลองหนังเพลงแล้วครับ
ยุค 80 มีอะไรบ้าง? ใครบอกว่าหมดยุค 70 คือหมดยุคหนังเพลงคงต้องคิดใหม่ เพราะถ้านับดีๆ โดยเฉลี่ยแล้วมีหนังเพลงออกมาปีละไม่ต่ำกว่าสามเรื่อง ดังกล่าวไปแล้วนี่คือวาระแห่งหนังเพลงแนวทดลองที่มีการผสมผสานอย่างหลากหลาย
สาเหตุแห่งการผสมผสานก็มีหลายทางครับ อย่างแรกคือคนทำหนังรุ่นเก่าๆ ที่ยังรักและชอบในภาพยนตร์เพลงรวมไปถึงละครบอร์ดเวย์นั้นก็อยากจะทำหนังทำนองนี้ออกมาอีก เผื่อจะได้ปลุกกระแส แต่ครั้นจะไปย่ำทำแบบเดิมๆ ก็ทราบผลอยู่แล้วว่าคนไม่ค่อยซื้อตั๋วเข้าไปดู เลยต้องมีการปรับหีบห่อสักหน่อย อันนำมาสู่การผสมหนังหลายประเภทเข้ากับหนังเพลง ตัวอย่างเช่น Popeye (1980) จากการ์ตูนสั้นที่บ้านเราก็ฉายบ่อยๆ ในอดีตมาเป็นหนังคนแสดงครับ ได้ Robin Williams รับบทป็อบอายคนเก่งที่กล้ามจะขึ้นทุกครั้งที่รับประทานผักขมเข้าไป คนกำกับคือ Robert Altman (MASH และ Nashville) ที่อาจหาญทำเป็นภาพยนตร์เพลง ผลที่ได้ก็นับว่าไม่เลวครับ ทำเงินไปราว $49 ล้าน จากทุน $20 ล้านก็กำไรไปพอประมาณ สนุกสนาน มีอืดบ้างเพราะมีการลากหนังให้ยาวครบสองชั่วโมง และยังได้เห็นป็อบอายกับโอลีฟ (Shelley Duvall) ร้องเพลงด้วย
ภาพยนตร์แนวเอาเพลงมาใส่ปากตัวละครยังมีอีกสองเรื่องที่โดดเด่นแหวกแนวจนได้กลุ่มคนดูใหญ่พอตัว เรื่องแรกได้แก่ The Blues Brothers (1980) ที่ขยายจากซีรี่ส์ตอนสั้นในรายการ Saturday Night Live ว่าด้วยสองพี่น้องตระกูลบลูส์ เจค (John Belushi) และ เอลวู้ด (Dan Aykroyd) ที่รักในเสียงดนตรีสุดชีวิต และการผจญภัยบนจอใหญ่ครั้งนี้ก็เพื่อหาเงินมารักษาสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่พวกเขาเติบโตมา ซึ่งมันคงจะง่ายน่ะครับ ถ้าหากพวกพี่แกไม่ได้เป็นจอมกวนมือเก๋า ประเภทแวะที่ไหนใครๆ ก็อยากรุมกระทืบ เพราะปากหาเรื่องแล้วหน้ายังกวนอวัยวะเบื้องล่างอีกต่างหาก เฮ่อ แล้วแบบนี้จะทำสำเร็จไหมน้อ
ถือเป็นหนังสนุกครื้นเครง เพลงไพเราะชวนเท้าให้ขยับไปตามจังหวะมันส์ มีดารานักร้องมารับเชิญ เช่น James Brown, Ray Charles, Aretha Franklin และอีกเพียบครับ รับรองว่าคอเพลงเทศจะไม่มีคำว่าผิดหวัง
เรื่องที่สองก็มาแนวแปลก ขนาดชื่อไทยยังตั้งว่า มันมาแปลกๆ ได้แก่ Little Shop of Horrors (1986) นี่คืองานรีเมกและรีอินเมจินแบบสุดขั้ว เพราะฉบับเดิมปี 1960 คือภาพยนตร์สยองขวัญคลาสสิกของ Roger Corman เจ้าพ่อหนังระทึกขวัญเกรดบี! ครับ จากหนังสยองก็มีคนเอาดัดแปลงเล่นเป็นละครเพลงบนเวที ก่อนจะกลายมาเป็นหนังเพลงที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับซีมัวร์ เคลบอน (Rick Moranis) ลูกจ้างร้านขายดอกไม้ต๊อกต๋อยจิตใจงามที่ใช้ชีวิตแบบเซ็งไปวันๆ ก่อนจะได้เจอกับดอกไม้ประหลาด เขาจึงเลี้ยงดูมันให้เติบใหญ่ แต่หารู้ไม่ว่าเจ้าดอกไม้นี่เป็นตัวประหลาดกินคนจากต่างดาว! สิ่งที่เราๆ ท่านๆ จะได้เห็นกันในหนังคือสาวผิวดำสามคนช่วยกันร้องเพลงเล่าเรื่อง และได้เห็นพระเอกกับดอกไม้กินคนจอมวายร้ายนั่นร้องเพลงร่วมกันอย่างเมามันส์เป็นที่สุด แม้แต่ฉากที่ดอกไม้จะงับคนก็ยังมีคนร้องเพลงประกอบด้วย ซึ่งเพลงก็ยอดเยี่ยมอย่างไม่ต้องพูดถึงครับ ลดความน่ากลัวของหนังลงได้เยอะ กลายเป็นหนังกินคนเวอร์ชั่นเด็กดูได้ไปเลย (แต่จริงๆ แล้วผู้กำกับ OZ แกถ่ายทำฉากจบในแบบ "สยอง" แบบที่แกต้องการเอาไว้ด้วยนะครับ ซึ่งทำออกมาหมดหวังดีจริงๆ อลังการอีกด้วย ลองหาได้จาก Youtube นะครับ)
นอกจากแนวทางเฉพาะกลุ่มก็ยังมีแนวทางยอดนิยมอีกนะครับ ในยุค 80 หนังเพลงพันธุ์ผสมได้ดัดแปลงตนเองให้จับตลาดวัยรุ่น พล็อตมักจะคล้ายกันครับ นั่นคือเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง หรือสองคนหรือไม่ก็เป็นหมู่คณะ มาร่วมกันทำกิจกรรมบางอย่างเช่น เต้นรำหรือเล่นดนตรี แล้วก็ตะกายดาวปีนบันไดไปสู่ความสำเร็จที่ใฝ่ฝัน ระหว่างนั้นก็ต้องมีดนตรีรื่นหูเปิดคลอไปบนฟิล์มด้วย แต่จุดที่ต่างจากหนังเพลงยุคเก่าคือ เพลงทั้งหลายจะมาในรูปแบบ Soundtrack เพลงประกอบมากกว่าจะให้ตัวละครมาเปิดปากร้องกัน
หนังที่นำขบวนเอาใจวัยรุ่นที่ชอบแดนซ์ก็ได้แก่ Flashdance (1983) ที่แจ้งเกิดสาวโนเนมอย่าง Jennifer Beals ในบทสาวนักเต้นผู้มากด้วยความสามารถและความฝัน ลีลาการเต้นในหนังถือได้ว่าเร้าใจและร้อนแรงไปในเวลาเดียวกัน แน่นอนว่าถ้าพ่อแม่สมัยนี้อยากให้ลูกดูก็คงต้องแนะนำอะไรบางอย่างด้วยนะครับ เพราะวัฒนธรรมตะวันตกนั้นหนุ่มสาวมักนิยมทำอะไรที่มันฮ็อตๆ ถูกเนื้อต้องตัวกันตั้งแต่วัยรุ่นแล้วล่ะ ส่วนเนื้อหาก็ถือว่ามีสาระ สอนคนให้อย่าย่อท้อโดยเฉพาะเหล่านักเต้นหรือคนที่อยากทำงานในวงการบันเทิง ความเร้าใจของ Flashdance ชนะใจคนดูไปด้วยรายได้ $107 ล้าน แม้นักวิจารณ์จะไม่ปลื้มก็เถอะ แต่ทำออกมาโดนใจวัยรุ่น เลยได้กำไรเพียบ
Dirty Dancing (1987) คือความฮิตปรอทแตกเรื่องต่อมา เนื้อหาเข้าอีหรอบดอกฟ้ากับสุนัขวัด ความรักต่างชนชั้นระหว่างฟรานเซส เฮาส์แมน (Jennifer Grey) สาวน้อยลูกคนมีเงินที่มาเข้าค่ายแล้วก็ได้พบกับจอห์นนี่ แคสเซิล (Patrick Swayze) ครูสอนเต้นรูปหล่อ แล้วทั้งสองก็สานสัมพันธ์รักท่ามกลางการฝึกสอนเต้นที่แสนจะเร่าร้อน โรแมนติก ความสำเร็จของหนังก็ไม่มากมายครับ ลงทุนไป $6 ล้านแล้วได้คืนมาประมาณ $210 ล้านจากทั่วโลกเท่านั้นเอง (ขนาดไม่มากนะนั่น) และยังเป็นหนังที่ทำให้ค่าย Vestron Pictures ที่เดิมทำธุรกิจวีดีโอแล้วเกิดอยากขยับมาทำหนังใหญ่ ได้โด่งดังเป็นที่รู้จักอีกด้วย ปิดท้ายด้วยรางวัลออสการ์สาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม จากเพลง (I've Had) The Time of My Life เป็นเครื่องการันตีครับว่าหนังได้ครบทั้งเงินและกล่อง
เห็นได้ชัดว่ายุคนี้คนทำหนังเริ่มขยายตลาดหนังเพลงไปจับใจกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะหนังเพลงนะครับ หนังสยองขวัญไล่ฆ่าอย่าง Friday the 13th และ A Nightmare on Elm Street ก็เริ่มต้นยุทธการสร้างฝันร้ายให้ฝังลึกลงในใจของเด็กวัยรุ่น ปฏิเสธไม่ได้ครับว่ายุคนี้วัยรุ่นคือบุคคลที่มีกำลังซื้อ (ตั๋ว) ที่สูงมาก เพราะหากไม่มีอะไรทำพวกเขาก็จะเข้าโรงหนัง เดินห้าง ฟังเพลง บริษัทสร้างหนังส่วนใหญ่เลยหากินกับวัยรุ่นกันจ้าละหวั่น ส่วนภาพยนตร์เพลงสำหรับวัยรุ่นก็ออกมาถี่ขึ้น เช่น การมาของ Grease 2 (1982) ที่สนุกน้อยกว่าภาคแรกในทุกๆ ทาง, Breakin' (1984) หนังแจ๊สแดนซ์ที่พาหนุ่มหล่อสาวสวยมาดิ้นกันกระจาย ขายความมันส์ได้ถึงสองภาค (แม้เนื้อหาจะโล่งสุดขีดก็เถอะ) , Footloose (1984) กับบทบาทที่น่าจดจำของ Kevin Bacon ในบท เรน แม็คคอร์มิค หนุ่มเท้าไฟชาวชิคาโก้ที่จำต้องย้ายมาอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่ผู้ใหญ่สั่งห้ามไม่ให้มีการเต้นหรือการเปิดเพลงร็อกเด็ดขาด งานนี้เรนเลยขอแหกกฎ ซัดกับคนหัวเก่าให้เข้าใจว่าเสน่ห์แห่งลีลาเท้าไฟนั้นมันมีชีวิตชีวาขนาดไหน
เห็นองค์ประกอบแห่งภาพยนตร์เพลงวัยรุ่นไหมครับ ต้องมีแดนซ์ ดาราหน้าตาดี เนื้อหาว่าด้วยวัยรุ่นเดินตามความฝัน ฝ่าฟันอุปสรรคที่มักจะเกิดจากผู้ใหญ่คอยขัดขวาง ได้ทั้งสาระและความสะใจสำหรับคนวัยร้อนจริงๆ
ยุค 80 ยังเป็นยุคที่ให้กำเนิดหนังเพลงสำหรับเด็กบนจอเงิน หัวหอกเจ้าแรกได้แก่บรรดาหุ่นเชิดแห่งตระกูล Muppet กับ The Muppet Movie (1979) ที่โกยเงินจากกระเป๋าผู้ปกครองไป $65 ล้าน จากนั้นก็สร้างตอนต่อออกมาอีกได้แก่ The Great Muppet Caper (1981), The Muppets Take Manhattan (1984) และ The Muppet Christmas Carol (1992) ได้โปรดอย่าดูถูกคิดว่าเป็นหนังเด็กเชียวนะครับ ลองชมสักครั้งแล้วคุณจะซึ้งเพราะคนสร้างสรรค์อย่าง Jim Henson เจ้าพ่อหุ่นเชิดชื่อดัง ทำให้หุ่นมีชีวิตชีวา เพลงก็น่ารักสอนเด็กให้จิตใจดีไปในตัว เหนืออื่นใดคือสนุกตื่นเต้นมากกว่าหนังผจญภัยสมัยใหม่บางเรื่องซะอีก ยิ่งไปกว่านั้นคือได้เข้าชิงออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมทุกตอน! ไม่ดีจริงไม่ได้ขนาดนี้หรอกนะครับ ไม่เชื่อไปเปิดตามเว็บให้คะแนนวิจารณ์ได้เลยครับ ไม่ต่ำกว่า B น่ะ บอกได้เลย ผู้ใหญ่ไม่น้อยพากันหลงเสน่ห์เจ้าพวก Muppet กันมาแล้วทั้งนั้น
คุณอาจสงสัยว่า เอ แล้วการ์ตูนคลาสสิกของ Walt Disney ที่มีเพลงเพราะๆ มันไปอยู่หลืบไหน ก็บอกแบบไม่อ้อมค้อมว่ายุค 80 นั้น การ์ตูนของ Disney ยังไม่ลงตัวเท่าใดนัก เพลงก็ยังไม่เด่น เนื้อหาก็ยังไม่โดน สู้ Muppet ไม่ได้ เลยโดนหุ่นชักตีทัพแตกยับ ทว่าแม้ Disney จะยังไม่กำชัยชนะก็ไม่ได้แปลว่าแพ้ครับ พวกเขาตัดสินใจปรับกลยุทธนิดหน่อย รู้ดีว่าการ์ตูนเพลงกำลังกระแสดีในหมู่ผู้ชม จึงคิดทำบ้าง แต่ก็อย่างที่บอกครับเนื้อหายังไม่โดนเพลงยังไม่ดี ในที่สุดช่วงย่างเข้าสู่ยุค 90 Disney ก็ได้พลิกมาเป็นผู้นำการผลิตการ์ตูนที่มีดนตรีกับเพลงสุดยอดเยี่ยม จนทำให้ยุคต่อมาหากพูดถึงภาพยนตร์เพลง ต้องยกให้ Disney แต่เพียงผู้เดียว
ยุค 90 ศักราชแห่ง Walt Disney Classic
คนที่เข้าใจว่า Disney ได้เงินเพราะการ์ตูนมานานแล้วนั้นคงต้องคิดใหม่ แม้ยุคแรก Disney จะโด่งดังทำเงินจากการ์ตูนชุดคลาสสิกได้เยอะก็ตาม แต่หลังจาก Fantasia (1940) การ์ตูนเพลงเต็มรูปแบบทำเงินไม่เข้าเป้า ค่ายนี้ก็เริ่มเป๋ในการผลิตงานการ์ตูนออกมา มีที่ฮิตบ้าง นิ่งบ้าง ขึ้นๆ ลงๆ ไม่อยู่กับร่องกับรอย จนพอถึงปี 1989 นี่แหละ ค่าย Disney ถึงได้ประกาศตนเป็นราชาการ์ตูนแบบเต็มตัว ด้วยความสำเร็จจาก The Little Mermaid การ์ตูนที่ดัดแปลงจากนิทานคลาสสิกของ Hans Christian Andersen ซึ่งของเดิมจบแบบเศร้าครับ Disney เลยมาแปลงเรื่องใหม่ การปฏิวัติการ์ตูนของค่ายนี้ทำในทุกส่วน ตั้งแต่เนื้อหาที่แม้จะอิงจากนิทานเก่าๆ แต่ก็มีการเปลี่ยนให้ดูทันสมัยเข้ากับตลาดวัยรุ่นยิ่งขึ้น เรื่องราวก็ว่าด้วยนางเงือกน้อยวัย 16 ปามว่าแอเรียล ธิดาแห่งเจ้าสมุทรไททันที่ไปตกหลุมรักเจ้าชายหนุ่มแห่งโลกมนุษย์ แต่อนิจจาครับ เธอเป็นเงือกจะไปรักกับคนได้อย่างไร เอาแค่เดินบนพื้นก็ทำไม่ได้แล้ว เธอเลยไปขอความช่วยเหลือจากเออร์ซูล่า ปีศาจปลาหมึกยักษ์ที่สัญญษว่าจะช่วยให้เธอมีขาเดินได้เหมือนมนุษย์ แต่ต้องแลกกับเสียงของเธอ แอเรียลก็ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อยู่กับคนรักครับ แต่หารู้ไม่ว่านางปีศาจเออร์ซูล่าได้วางแผนใช้เธอเป็นเครื่องต่อรอง ยึดครองราชบัลลงก์จากองค์ไททัน
นอกจากเนื้อหาที่สนุกแบบเด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูมันส์แล้ว หมัดเด็ดที่ Disney เตรียมมาอย่างดีคือเพลงที่วางให้เป็นจุดขายเลยนะครับ Disney เลยไปเชิญตัว Alan Menken และ Howard Ashman สองยอดนักแต่งเพลงเจ้าของผลงาน Little Shop of Horrors นั่นแหละ มาช่วยกันสร้างสรรค์เพลงดี ดนตรีไพเราะเพิ่มรสชาติให้ The Little Mermaid ซึ่งการเดินหมากครั้งนี้ของ Disney ก็ได้ผลตรงเป้า หนังทำเงินไปกว่า $85 ล้านในการฉายครั้งแรก แล้วยังนำกลับมาฉายใหม่อีกในปี 1997 ผลตอบรับก็ยังงดงามจนรายได้รวมทั่วโลกแตะ $211 ล้านเรียบร้อย
ความสำเร็จด้านรางวัลก็ได้ออสการ์ทั้งในสาขาเพลงและดนตรีประกอบ ซึ่งสาขาเพลงนี่ The Little Mermaid ได้เข้าชิงถึงสองเพลงในสาขาเดียวกัน อืมม์ ไม่จัดว่าเพราะโดนใจก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร... ของเขาแรงจริง
ความดังและความดีของเงือกน้อยรายนี้เป็นการเปิดศักราชแห่งความสำเร็จสูงสุดสำหรับการ์ตูนจาก Walt Disney ผลงานชิ้นต่อมาอย่าง Beauty and the Beast (1991) ก็สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังการ์ตูนเรื่องเดียวจนปัจจุบันที่ได้เข้าร่วมชิงชัยในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อีกทั้งเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ได้ลูกโลกทองคำในสาขาหนังยอดเยี่ยมด้วย ด้านเพลงยิ่งแล้วใหญ่ เพราะได้เข้าชิงเพลงประกอบยอดเยี่ยมไปถึงสามเพลง คือตามปกติจะมีเพลงเข้าชิง 5 เพลงใช่ไหมครับ ปรากฏว่าเรื่องนี้เข้าชิงไปสามเพลงรวด จนคนบันเทิงยุคนั้นเอามาเป็นเรื่องแซว ว่า ไม่ต้องเข้าชิงหรอก ให้ๆ ไปเถอะ นอกจากนี้ยังได้รางวัลแกรมมี่อวอร์ดมาตบท้ายความเด็ดด้วย
Aladdin (1992) กับ The Lion King (1994) คือสองเรื่องต่อมาที่ทำเงินมหาศาล ได้คำชมกระบุงโกย และกวาดออสการ์เรื่องเพลงมาครองแบบไม่มีตกหล่น ถ้าถามว่าอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จ ก็บอกได้เลยว่า Disney คัดเอาคนเก่งมาใช้บริการ ทั้ง Menken และ Ashman รวมไปถึง Elton John ในเพลง Can You Feel the Love Tonight ที่แสนจะอ่อนโยนโรแมนติก ผลงานการ์ตูนเพลงเลยได้คุณภาพอย่างยิ่งยวด ท่วงทำนองแต่ละเพลงนั้นไพเราะ มีเอกลักษณ์และติดหูได้ง่าย เนื้อเพลงก็สื่อความหมายชัดเจนไม่อ้อมค้อม เด็กเข้าใจ ผู้ใหญ่ก็คิดให้ลึกซึ้งลงไปอีกได้ ด้านเนื้อเรื่องก็จรรโลงใจ ดูไปยิ้มไปสบายอุรา
Disney เริ่มมาเป๋อีกครั้งใน Pocahontas (1995) และ The Hunchback of Notre Dame (1996) ที่แม้เพลงจะดีไม่มีตก แต่เนื้อเรื่องดันไปจับแนวโศกนาฏกรรม คนดูเลยไม่ชอบใจ ดีที่ค่ายนี้ไหวตัวทัน รีบกลับลำมาทำ Hercules (1997), Mulan (1998) และ Tarzan (1999) ซึ่งเรื่องหลังสุดค่อยได้เงินและได้กล่องทวงตำแหน่งแชมป์การ์ตูนเพลงคืนมาได้ พร้อมส่งเพลง Youll Be in My Heart ตรึงใจผู้ฟังมาจนทุกวันนี้
ครับ พอหมดปี 1999 ยุคทองของ Disney ด้านการ์ตูนก็จบลงพอดี หนึ่งทศวรรษเป๊ะ แม้จะมีคนชอบพูดว่าการ์ตูนค่ายนี้หลอกเด็กเน้นสุขนิยม แต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่ามันใช้คลายเครียดได้และสอนเด็กได้ อีกทั้งแนวสุขนิยมนี่แหละช่วยให้เด็กมีความหวังที่จะเดินตามความฝันของตนเอง แล้วยังเรียนรู้ที่จะมีเสียงเพลงในหัวใจเป็นของแถม อันนี้ช่วยกล่อมเกลาคนให้อ่อนโยน นิ่มนวลได้นะครับ ก็ถ้าเพลงร็อกเร้าคนให้รุนแรงได้ฉันใด เพลงนิ่มๆ ฟังเพลินแบบ Disney ก็ดึงคุณกลับมาสู่สภาวะอารมณ์สุนทรีย์โลกได้ฉันนั้น (ช่วงนี้เมืองกำลังตึงเครียด เอาเพลงนิ่มๆ ไปลองชิมรสดูสิครับ ผมว่าช่วยให้คนเย็นลงได้เยอะนะ)
ยุค 90 หากพูดถึงภาพยนตร์เพลงต้องยกให้การ์ตูนค่ายนี้ครับ เพราะหนังเพลงเรื่องอื่นแม้จะมีสร้างออกมาทุกปีแต่ก็ไม่เข้าเป้าโดดเด่นเท่า เรื่องที่เข้าท่านั้นก็มีเพียง Evita และ That Thing You Do (ปี 1996 ทั้งคู่ครับ) เรื่องแรกเป็นการจับเอาประวัติของเอวา เปรองยอดหญิงแกร่งและเก่งแห่งอาร์เจนตินามาบอกเล่าในรูปแบบหนังเพลงแบบเต็มตัวภายใต้การกำกับของ Alan Parker (Bugsy Malone) และแสดงนำโดย Madonna ซึ่งถือเป็นบทที่เหมาะกับเธอมากครับ เล่นได้ดีที่สุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของเธอแล้วล่ะ (บางคนแซวว่าเธอเล่นดีเพราะหนังทั้งเรื่องมันเหมือนมิวสิกวีดีโออยู่แล้วนี่หน่า อิอิ) ส่วนเรื่องที่สองเป็นการกำกับและเขียนบทของ Tom Hanks กับการจับเอาเรื่องวงดนตรีสไตล์ The Beatles มาใส่สีสัน เนื้อหาว่าด้วยวงดนตรี The Wonder ที่ดังในชั่วข้ามคืนด้วยเพลงที่ชื่อ That Thing You Do ซึ่งเพลงที่ว่านี้ก็ฮิตติดหูชาวเรามาจนปัจจุบันจริงไหมครับ จังหวะครึกครื้นเนื้อเพลงคึกคัก แม้เนื้อหาจะสื่อถึงอาการอกหักก็ตามทีเถอะ (เรื่องนี้ก็ Highly Recommended ให้ดูนะครับ ของเขาดี เพลงเขาเพราะ ดูแล้วดูอีกก็ไม่เบื่อ นี่ไม่ค่อยเชียร์เลยนะเนี่ย)
คุณอาจคิดว่าพัฒนาการของหนังเพลงจบลงที่ยุค 90 พอเวลาล่วงเข้าสู่ยุค 2000 ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่หรอกครับ การพัฒนายังมีต่อไป อันที่จริงการ์ตูนเพลงคลาสสิกของ Disney ไม่ได้มีคุณประโยชน์แค่เรื่องสุขนิยม (หรือหลอกเด็ก) กับเพลงเพราะเท่านั้น แต่มันยังสอนคนทำหนังเพลงในยุคต่อมาให้ตระหนักด้วยว่า เพลงดีอย่างเดียวยังไม่พอ บทหนังดีอย่างเดียวก็ไม่พอ แต่ต้องประสานให้สองอย่างนั้นเข้ากันด้วย ตัวอย่างที่ชัดสุดขีดคือการแต่งเพลงสุขนิยมแต่ดันเอาไปใส่ในการ์ตูนที่จบแบบตัวเอกไม่สมหวัง ไม่สมรักกับนางเอก อารมณ์เพลงกับอารมณ์หนังเลยขัดกันอย่างช่วยไม่ได้ คุณอาจเห็นว่านี่เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ แต่อยากจะบอกเหลือเกินครับว่าสิ่งเล็กๆ อันนี้ช่วยให้คนดูหนังอย่างเราได้รับชมภาพยนตร์เพลงที่กลมกล่อมสุดขั้วสารพัดเรื่องในยุค 2000
อีกทั้งความสำเร็จของการ์ตูนเพลง Disney ยังทำให้แต่ละสตูดิโอไฟเขียวให้คนทำหนังได้สร้างหนังเพลงในยุค 2000 หลังจากโดนดองเค็มปี๋มาเป็นสิบปี เช่นเรื่อง Dreamgirls (2006) ทราบไหมครับว่าใช้เวลา 20 กว่าปี สตูดิโอถึงได้ไฟเขียวยอมให้สร้าง
ดังนั้น ยุค 2000 จึงเกิดคนทำหนังได้สร้างหนังเพลงที่สุดขั้วในแบบของตัวเอง ได้อิสระมากขึ้น รวมไปถึงบทหนังเพลงเก่าๆ ที่รอให้คนสร้างมานานปีก็ได้ถือกำเนิดเป็นหนังเอายุคนี้นี่เอง
เรียกได้ว่ายุคแห่งการทดลองในปี 70 80 กับยุคแห่งดนตรีสุขนิยมช่วงปี 90 ได้ผสมผสานหล่อหลอม จนกลายเป็นความลงตัวอย่างยิ่งเมื่อปี 2000 มาถึง
Create Date : 04 กันยายน 2555 |
Last Update : 4 กันยายน 2555 15:02:53 น. |
|
0 comments
|
Counter : 3328 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|