ระยะหลังเราอาจจะไม่คุ้นกับชื่อของผู้กำกับหญิงรายนี้ แต่ถ้าท่านเป็นคอหนังรักอายุสามสิบขึ้นไป คงยังจำได้กับฉากในตำนานที่แจ้งเกิด Meg Ryan ให้รู้จักไปทั่วใน When Harry Met Sally (ฉากอะไรเดี๋ยวเล่าให้ฟัง) ตามด้วยหนังรักอารมณ์ละเมียดที่ประกาศให้ฝั่งตะวันออกรู้ว่า ฟากตะวันตกก็มีหนังรักบรรยากาศดีๆ เปี่ยมด้วยรัศมีความโรแมนติกเหมือนกัน (เรื่องที่ว่าคือ Sleepless in Seattle>)
มุมมองความรักใน Heartburn ค่อนข้างจะเป็นเหมือนสนามอารมณ์ให้ Ephron ได้ถ่ายทอดความเจ็บปวดที่เธอถูกคนรักหลอกลวง (ชนิดที่ถ้าเอามาทำเป็นหนังไทยตอนนี้ คงมีเพลงซาวน์แทร็กเป็น ผู้ชวยห่วยๆ ของเจ๊มาช่าแน่นอน) แต่เมื่อเธอทำใจได้ เธอจึงได้เริ่มเลือกที่จะมองความรักในมุมค้นหาความหมาย ว่าทำอย่างไรจึงจะได้พบรักแท้ อันนำมาสู่หนังเรื่องดังของผู้กำกับ Rob Reiner เรื่อง When Harry Met Sally ที่ว่าด้วยหนุ่มสาวคู่หนึ่ง (Billy Crystal และ Meg Ryan) ที่เริ่มทุกอย่างด้วยความเป็นเพื่อน คอยเป็นที่ปรึกษาและให้กำลังใจกัน จนในที่สุดก็ตกหลุมรักกันเอง ฟังพล็อตแล้วคุ้นหูยิ่ง แต่ขอบอกว่านี่คือเรื่องแรกๆ ที่จับเอาพล็อตนี้มาเรียบเรียง
When Harry Met Sally อาจเป็นหนังที่ไม่ถูกปากคนไทยเท่าไร เพราะมีแต่พูดกันทั้งเรื่อง บรรยากาศความโรแมนติกก็น้อยมาก แต่จุดเด่นที่ทำให้หนังได้รับการพูดถึงในฐานะต้นแบบแรกๆ แห่งหนังรักยุคใหม่ก็ด้วยบทสนทนาทั้งหลายที่ทั้งคมคายและขบขัน ยิ่งกว่านั้นหนังยังตีแผ่มุมมองขั้วต่างระหว่างชายหญิงได้อย่างออกรส
โดยเฉพาะฉากที่ทั้งคู่เถียงกันในร้านอาหาร ในขณะที่ Crystal กำลังภูมิใจว่าเพศชายอย่างเขานี่แหละที่นำความสุขมาให้ผู้หญิงยามทำกิจกรรมอย่างว่า แต่ Ryan สวนกลับมาว่าจริงๆ แล้วผู้หญิงต่างหากที่ช่วยให้บุรุษรู้สึกดี และส่วนใหญ่ผู้ชายก็ไม่ได้ทำให้ผู้หญิงถึงฝั่งฝันสักหน่อย ปรากฏว่า Crystal ไม่เชื่อ Ryan เลยแกล้งแสดงอาการถึงจุดสุดยอดให้ดูกลางร้านซะเลย (นี่แหละครับ ฉากในตำนาน)
ความเยี่ยมของบทหนังส่งให้ When Harry Met Sally ได้เข้าชิงออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (แต่ก็เสียตุ๊กตาทองให้ Dead Poets Society ไป) ส่วนนิยามรักของหนังเรื่องนี้ก็คือ รักแท้นั้นมีพื้นฐานจากความเข้าใจ เป็นสำคัญ
งานชิ้นนั้นนับว่าเข้าเป้ามีสาระ มีความขำ แต่ความโรแมนติกยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ Ephron เลยกลับมาอีกครั้งใน Sleepless in Seattle ที่เธอกำกับเอง โดยนำเอาบทของ Jeff Arch มาเกลาใหม่ ด้วยความมุ่งหมายจะถ่ายทอดเรื่องราวความรักที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งความโรแมนติก (ว่ากันว่าเนื่องมาจากเธอได้พบรักที่แสนจะหวานจ๋อยกับ Nicholas Pileggi เจ้าของบทประพันธ์ที่ต่อมากลายเป็นหนังระดับมาสเตอร์พีซอย่าง Goodfellas ที่กลายเป็นรักสุดท้ายของเธอ) พร้อมทั้งนำเอาแนวทางหนังรักคลาสสิกอมตะอย่าง An Affair to Remember มาถ่ายทอดใหม่
ผลงานการันตี: กำกับและเขียนบท Annie Hall (1977), Manhattan (1979), A Midsummer Night's Sex Comedy (1982) และ Husbands and Wives (1992) เป็นอาทิ (เพราะแกทำหนังไว้อีกเป็นตัน!)
จริงๆ แล้วงานของ Allen มีมุมให้พูดถึงมากกว่าแค่เรื่องความรักครับ ลุงแกจะสอดแทรกการแดกดันสังคมและชีวิตคนไว้ตลอดทุกเรื่องซึ่งไว้มีโอกาสผมจะเอาเรื่องราวของแกมา Retro แบบหนำใจ ส่วนตอนนี้จะยกเอาสไตล์หนังรักแบบขำคิดของแกมาเล่าสู่กันฟัง เพราะหนังทุกเรื่องของเขามักจะมีประเด็นความรักเฉียบๆ อยู่เสมอ จนถ้ามีการมาตั้งมาตรวัดว่าใครเอาเรื่องรักๆ ใคร่ๆ มาพูดถึงผ่านจอหนังมากที่สุดล่ะก็ เห็นทีจะหนีไม่พ้นลุง Woody Allen ท่านนี้ (เพราะแกทำหนังทุกปีครับ ปริมาณเลยเกินหน้าเกินตาชาวบ้านเขาเยอะ)
โปรดสังเกตนะครับ ผมจะไม่ใช้ว่าเขาเป็นคนทำหนังรักหวานแหวว เนื่องมาจากหนังของ Allen ไม่ได้เน้นการโรยน้ำตาลบนแผ่นฟิล์ม แต่ชอบพูดถึงความรักด้วยมุมมองที่ใช้เหตุผลและตรรกะมาพูดถึงมากกว่าใช้อารมณ์ ซึ่งสไตล์นี้ก็มีอิทธิพลต่อหนังยุคใหม่มากมาย โดยเฉพาะซีรี่ส์ซิตคอม (Situation Comedy) ที่หยิบยืมสไตล์บทสนทนาฮาปนสาระจาก Allen ไปใช้งาน และแนวทางของ Nora Ephron ที่ผมกล่าวถึงไปก่อนหน้าก็คาบเกี่ยวเป็นแนวทางเดียวกับ Allen อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการมีบทสนทนาที่ชวนคิดเป็นตัวเดินเรื่อง
แต่สไตล์หนังของ Allen นั้นถือว่าลึกลงมาอีกระดับ หาก Ephron เป็นคนหยิบเอาเรื่องความรักของหนุ่มสาวมาชี้ช่องให้ลองคิดใคร่ครวญผ่านทางอารมณ์ความรู้สึก แต่ Allen จะไม่ชี้ช่องครับ แกจะจัดการเอาความคิดมุมมองการวิพากษ์วิจารณ์ของเขายัดใส่ปากตัวละครแล้วถ่ายทอดให้คนดูทราบทันทีว่าเขาคิดอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ จุดนี้แฟนหนัง Allen จึงรู้กันดีว่าตัวเอกของหนังเขาทุกเรื่องก็มีลักษณะบุคลิกอิงมาจากตัวเขาเองนั่นแหละ
ยิ่งไปกว่านั้นมุมมองเรื่องรักใคร่ของ Allen ยังเป็นการมองผ่านสายตาคนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตคู่มาอย่างโชกโชน จึงมักเป็นการแสดงความเห็นในเชิงเสียดสีมากกว่าจะมานั่งบรรยายอารมณ์รักสุดหวานแหวว ซึ่งนี่เป็นการแบ่งแยกสไตล์แบบ Ephron และ Allen ค่อนข้างชัด ในขณะที่รายแรกจะถ่ายทอดแบบสวยงามเติมความรักอ่อนโยนลงไปสไตล์หนุ่มสาวที่มีโลกสดสวย แต่ Allen จะสื่อกับคนดูตรงๆ แบบผู้ใหญ่เจนโลกคุยกัน ว่าเรื่องรักๆ นั้นไม่ได้มีแต่ความสวยงาม ถ้าท่านไม่ปวดวันนี้ก็เจ็บวันหน้า ไม่ทะเลาะกับแฟนวันนี้ ก็ต้องมีสักวันที่ทะเลาะกัน
บางคนเริ่มตั้งคำถามว่าแล้วนายคนนี้เรียกว่าทำหนังรักโรแมนติกได้อย่างไร ไม่เห็นมีความหวานตรงไหน ผมก็ขอชี้แจงว่าบ้านเราเข้าใจคำว่าหนังโรแมนติกแคบเกินไปนิด เพราะหนังโรแมนติกนั้นมีแยกลงไปอีกว่าเป็น Romantic Comedy (รักแนวตลกสมหวัง) แบบที่เราคุ้นเคย กับอีกประเภทคือ Romantic Drama ซึ่งว่ากันถึงความรักเช่นกัน แต่เน้นความจริงและเรื่องเชิงชีวิต ว่ากันว่าเคยมีนักจิตวิทยาชาวยุโรปท่านหนึ่งออกมาพูดแนะนำการจะดูหนังรักให้ปลอดภัยต้องดูให้สมดุล โดยควรชมแนว Romantic Comedy เพื่อคลายเครียด และตบด้วย Romantic Drama เพื่อไม่ให้คนเพ้อฝันจนเกินงาม เลยมีนักวิจารณ์ชาวอเมริกันสวนไปว่า ถ้าเช่นนั้นดูหนังของ Allen ก็พอ เพราะหัวเราะทั้งน้ำตาแน่นอน
ผลงานชิ้นอื่นที่เอาความรักและเรื่องเสน่หามาเล่าแบบไม่เครียด แต่ทุกบทสนทนามีคำคมเบียดแน่นเต็มไปหมดก็มี A Midsummer Night's Sex Comedy ชื่อก็บอกแล้วครับว่าหนังพูดถึงประเด็นอะไร, Husbands and Wives ก็เช่นกันครับ ว่ากันด้วยเรื่องผัวๆ เมียๆ แบบเต็มสตรีม แต่งานชิ้นที่สนุดประทับใจ ให้รอยยิ้มกับหัวใจดวงน้อย ก็ต้องเรื่อง Everyone Says I Love You หนังตลกที่ Allen ผสมความเป็นหนังรักร่วมไปกับหนังเพลง แล้วก็ทำได้สนุกไม่เลวด้วยครับ ซ้ำยังเป็นหนังรวมดาราอีกด้วย