● พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ● ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ● VIDEOTEXT
● ๐๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ● AUDIO TEXT ● ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ ● VIDEOTEXT
งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีเครือข่ายกาญจนาภิเษก๖๐ ล้านความดีถวายในหลวง
เผยแพร่แนวทรงงานมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช

● เรา ในหลวง ● We The King ● หนังสือพิมพ์ “ข่าวโลก” ออนไลน์ ● The “World News” Newspaper Online. ● เกาะติดสถานการณ์ ประชาธิปไตยที่ถูกฆ่า ● HaWii CluB : www.hawiiclub.com ●

Zebu Zigouiller
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Zebu Zigouiller's blog to your web]
Links
 

 

รอยต่อประชาธิปไตย (จบ)

คอลัมน์ โลกสองวัย โดย บางกอกเกี้ยน



พฤษภาคม 2535 ใกล้เปิดภาคเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เหตุการณ์ประท้วงที่บริเวณสนามหลวงและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ยังไม่สิ้นสุด นอกจากเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ยังประท้วงด้วยการอดอาหารที่บริเวณหน้ารัฐสภาแล้ว พลตรีจำลอง ศรีเมือง ก็ประกาศอดอาหารประท้วงด้วย โดยประกาศเจตนารมณ์ชัดแจ้งว่า ต้องการให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ในที่สุด เมื่อเหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย จึงประกาศเลื่อนกำหนดเปิดภาคเรียนแรกออกไป ขณะที่กองกำลังทหารได้เคลื่อนขบวนเข้ามาสลายกลุ่มประชาชนที่รวมตัวประท้วงกันที่บริเวณถนนราชดำเนินและบริเวณใกล้เคียง มีการบุกเข้าจับพลตรีจำลอง ศรีเมืองไปกักตัวไว้ในช่วงเช้า จากนั้นกำลังทหารก็กรีธาเข้ามาสลายกลุ่มผู้ประท้วงตลอดบ่าย กระทั่งถึงกลางคืน

ระหว่างเหตุการณ์นองเลือด โดยฝ่ายทหารเข้าบุกกลุ่มประท้วง มีการยิงปืนเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วง และ ในคืนวันเดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็รับสั่งให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี กับ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชกระแส ในการแก้ปัญหา โดยมี อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี กับ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี เข้าเฝ้าอยู่ด้วย

ในที่สุด พลเอกสุจินดา คราประยูร ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นำชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง

ผู้ที่มีชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ คือ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย

ประธานรัฐสภา ขณะนั้นคือ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์

แต่แล้ว การณ์กลับปรากฏว่า ผู้ที่ประธานรัฐสภานำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกลับเป็น นายอานันท์ ปันยารชุน อีกครั้งหนึ่ง สร้างความพึงพอใจกับคนไทยโดยทั่วไป

ระหว่างรอยต่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะในช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลายสมัย คณะทหารมีความต้องการจะยึดอำนาจคืนมาอีกหลายครั้ง ด้วยการก่อรัฐประหาร แต่กระทำไม่สำเร็จ ทั้งที่มีการปะทะสู้รบกันเอง และไม่มีการปะทะ เช่นกรณีเมษาฮาวาย กรณีนัดแล้วไม่มา เป็นต้น

หลังการเลือกตั้งสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ที่เคยร่วมประท้วงการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร ก็ยังไม่หยุดยั้งเพียงนั้น ยังมีการเรียกร้องให้ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ขณะที่นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีการจัดตั้งคณะกรรมการการปฏิรูปทางการเมือง โดยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ให้มีสภาและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการสมัครและเลือกกันเอง รวมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ 99 คน

ในที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็นำออกประกาศใช้ เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งได้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน สมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรค คณะรัฐมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกทั้งสองสภา ยกเว้นนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้วจึงพ้นจากสมาชิกภาพ

ระบอบประชาธิปไตยไทยเริ่มเมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มีการก่อกบฏและรัฐประหาร ทำให้อำนาจอธิปไตยเปลี่ยนจากมือประชาชนไปเป็นของกลุ่มเผด็จการหลายครั้ง มีครั้งสำคัญคือ เมื่อคณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจเดือนพฤศจิกายน 2490 มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลเอกผิน ชุณหะวัณ กับพวก ครองอำนาจยาวนานถึง 10 ปี แม้จะมีการเลือกตั้งระหว่างนั้นบ้างก็ตาม

อีกครั้งหนึ่งที่กลุ่มเผด็จการยึดอำนาจจากกลุ่มเก่าคือเมื่อปี 16 กันยายน 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับพวก ซึ่งสืบทอดอำนาจเผด็จการมายาวนานกว่า 10 ปี หรือนับได้ 16 ปี ถึงปี 2516 แม้มีการเลือกตั้งครั้งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร กับพวกก็ปฏิวัติยึดอำนาจตัวเองกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาชนรวมตัวกันยึดอำนาจอธิปไตยคืน แต่ก็ถูกกลุ่มเผด็จการย้อนรอยมาเอาคืนไปอีกหนหนึ่ง และสุดท้ายคือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อพฤษภาคม 2535 ที่ประชาชนไม่ยอมเผด็จการอีกครั้ง

การรวมตัวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนับเป็นส่วนสำคัญในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้จำหลักขึ้นในประเทศนี้อย่างมั่นคง และเท่าเทียมกับอารยประเทศที่ยึดถือเสรีภาพของประชาชนเป็นสรณะ

เพียงแต่น้องหนูทั้งหลายต้องศึกษาและเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อจะได้รักษาประชาธิปไตยไว้เป็นของตัวเองในอนาคตต่อไป.

โดย มติชนออนไลน์ 14 ตุลาคม 2548




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2548    
Last Update : 14 ตุลาคม 2548 18:32:22 น.
Counter : 612 Pageviews.  

รอยต่อประชาธิปไตย (๔)

คอลัมน์ โลกสองวัย โดย บางกอกเกี้ยน



เมื่อสังคมไทยอยู่ในสภาพหวาดระแวงจากเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลบางคนที่พยายามจะให้จิตสำนึกของฝ่ายขวากล่าวหาผู้ที่มีจิตสำนึกในความเป็นธรรมว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นผู้ไม่รักชาติ ในลักษณะ "ขวาพิฆาตซ้าย" ยิ่งทำให้ความหวาดระแวงนั้นแผ่ออกไปกว้างขึ้น

ยิ่งรัฐบาลใช้โอกาสนั้นปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นฉบับนี้ที่เสนอข่าววิจารณ์รัฐบาล รวมไปถึงรัฐบาลเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์เสียเอง คือหนังสือพิมพ์เจ้าพระยา ทั้งสื่อวิทยุโทรทัศน์ก็ยังถูกคุมเข้มจากรัฐบาล ประชาชนจึงเสมือนหนึ่งถูกปิดหูปิดตา กลับไปสู่ยุคเผด็จการสฤษดิ์ - ถนอม - ประภาส อีกครั้งหนึ่ง กระทั่งสภาเปลือกหอยที่มีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ร.น. ประธานสภา และพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เลขาธิการและผู้บัญชาการทหารสูงสุด เห็นว่าการจะนำประชาธิปไตยกลับมาสู่บ้านเมืองคงไม่เป็นไปอย่างที่รัฐบาลประกาศออกไปซึ่งต้องใช้เวลาตามขั้นตอนถึง ๑๒ ปี

ในที่สุด เมื่อสภาวการณ์แห่งความหวาดระแวง และสถานการณ์สู้รบในลักษณะป่าล้อมเมืองเริ่มเข้มข้นขึ้น คณะปฏิรูปฯจึงปฏิวัติรัฐบาลที่ตัวเองตั้งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๐ มีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล

หลังการประกาศรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง มีการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งถูกรัฐประหารเมื่อครั้งเป็นรัฐบาลยุค ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แทบจะไม่ได้รับการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปรากฏมีผู้ไปออกเสียงเลือกตั้งเพียง ๑๗ % พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งคือพรรคประชากรไทย มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค

ประชาธิปไตยในช่วงนี้ทำท่าจะดำเนินไปด้วยดี แต่รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ทำให้ต้องลาออกกลางสภาเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ประกอบกับมีคณะทหารที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มยังเติร์กพยายามหนุนหลังให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

ระหว่างที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงให้มีการออกหนังสือพิมพ์ได้ ในหลายฉบับที่ถูกปิดตาย ทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ซึ่งต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ ขณะที่ (รวม) ประชาชาติ รายวัน ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ออกหนังสือพิมพ์ในชื่อเดิม คณะผู้ทำหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น จึงดำเนินการออก หนังสือพิมพ์มติชน แทน ตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๒๑

หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ก็คลี่คลายบรรยากาศทางการเมือง ด้วยการนิรโทษกรรม ผู้ต้องหา คดี ๖ ตุลาคม ทั้งหมด

เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๒๓ จึงมีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๓ เรื่องการรับผู้ที่ลี้ภัยทางการเมืองออกไปอยู่ในป่าและต่างประเทศกลับเข้ามา โดยไม่มีความผิดเพื่อมาร่วมพัฒนาประเทศ ทำให้บรรยากาศแห่งการสู้รบคลี่คลายลง

ระหว่างที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการยุบสภาและการเลือกตั้งอีกหลายครั้ง ทั้งยังมีความพยายามจะล้มล้างอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารอีกหลายครั้งเช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในที่สุด เมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งปี ๒๕๓๑ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยจึงรับตำแหน่งนี้

กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกกับพวกจึงโค่นล้มรัฐบาลด้วยการจี้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ระหว่างจะเดินทางโดยเครื่องบินนำพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ไปเข้าเฝ้าเพื่อปฎิญาณตนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม แล้วให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้นเพียงปีเดียว เมื่อรัฐบาลซึ่งจัดตั้งโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อย หรือที่เรียกชื่อย่อว่า รสช. จัดการเลือกตั้ง เมื่อปี ๒๕๓๕ ปรากฏว่า ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้รับคำถามจากผู้สื่อข่าวในเรื่องการถูกประเทศสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการเข้าประเทศ ทำให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องปรับเปลี่ยนเป็น พลเอกสุจินดา คราประยูร แทน

เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนั้น จึงเกิดกลุ่มต่อต้านพลเอกสุจินดา ด้วยการอดอาหารประท้วงของเรือเอกฉลาด วรฉัตร และภายหลัง พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้สนับสนุน และเป็นตัวตั้งตัวตี ประกอบกับนักธุรกิจชนชั้นกลางเริ่มร่วมประท้วงด้วย เกิด "ม็อบมือถือ" ขึ้น

กระทั่งลุกลามเป็นเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ นั่นเอง.

โดย มติชนออนไลน์ 13 ตุลาคม 2548




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2548    
Last Update : 14 ตุลาคม 2548 18:30:23 น.
Counter : 302 Pageviews.  

รอยต่อประชาธิปไตย (๓)

คอลัมน์ โลกสองวัย โดย บางกอกเกี้ยน



เช้ามืดวันที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของ นักเรียนนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เมื่อกองกำลังตำรวจจากหลายท้องที่เริ่มเข้าไปยึดและยิงปืน ค.เข้าไปบนตึก คณะพณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งมีผู้ชุมนุมหลบหนีอยู่บนนั้น บรรดาผู้หลบซ่อนตัวถูกควบคุมเริ่มทยอยลงมาที่สนามฟุตบอล

ช่วงเวลานั้น มีผู้ที่พยายามหลบหนีออกจากมหาวิทยาลัยด้านสนามหลวงและด้านแม่น้ำเจ้าพระยากับด้านท่าพระจันทร์ และผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายสิบคน ศพถูกลากมากองไว้ตรงบริเวณเชิงบันไดด้านข้างหน้าหอประชุม ก่อนจะได้รับการลำเลียงออกไปขึ้นรถส่งโรงพยาบาล

ผู้ที่หลบหนีออกมาทางด้านสนามหลวงส่วนหนึ่งจะถูกประชาทัณฑ์ ทำร้าย บ้างถูกแขวนคอบนต้นมะขาม และมีจำนวนหนึ่งที่ถูกทำร้ายถึงชีวิต มีภาพหนึ่งปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์คือภาพที่ศพถูกชายคนหนึ่งใช้ไม้ตอกอก เหตุเกิดด้านแม่พระธรณีบีบมวยผม

ผู้ที่หลบหนีกระโดดลงแม่น้ำมีโอกาสรอด โดยได้รับความช่วยเหลือจากทหารเรือที่นำเรือมาเตรียมไว้ เพื่อช่วยผู้ที่หลบหนีลงน้ำให้รอดชีวิต แม้จะถูกจับกุมตัวก็ตาม ทั้งยังได้รับการรักษาพยาบาลเบื้องต้นจากแพทย์และพยาบาลตลอดจนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศิริราช

ส่วนที่หลบออกท่าพระจันทร์ด้านกำแพงวัดมหาธาตุ มีนายตำรวจคนหนึ่งชื่อมนัส สัตยารักษ์ ซึ่งเป็นนายตำรวจนักเขียนปฏิบัติหน้าที่บริเวณนั้น สั่งให้ผู้ที่หลบหนีออกไปไม่ต้องหมอบคลาน แต่ให้ลุกขึ้นเดินไปเอง แล้วควบคุมตัวขึ้นรถนำไปควบคุมตัวต่อ

ณ บริเวณด้านในวัดมหาธาตุนี้เอง ทำให้เกิดวาจาอมตะที่กล่าวขานกันอยู่นาน คือประโยคที่ว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป"จากคำให้สัมภาษณ์ของกิตติวุฒโฑ ภิกขุ ซึ่งทั้งผู้ให้สัมภาษณ์และบุคคลอื่นพยายามอธิบายว่าเป็นการ "ฆ่า" ลัทธิ ไม่ใช่ฆ่าคน แต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีผู้ที่จิตใจเป็นธรรมคิดอย่างนั้น

ในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวลงมาจากตึกคณะบัญชี ผู้ชายต้องถอดเสื้อ ใครที่สวมสร้อยห้อยพระต้องถอดออก มีบุคคลหนึ่งที่แต่งเครื่องแบบลูกเสือ เข้าใจว่าจะเป็นครูอาจารย์ เดินสั่งให้ถอดแล้วยึดเอาไว้ มีผู้ได้ยินเขาพูดว่า คอมมิวนิสต์ไม่ต้องสวมพระทำนองนั้น

ส่วนผู้หญิง ตำรวจสั่งให้ถอดเสื้อออกเช่นเดียวกัน แต่ให้สวมเสื้อชั้นในได้ กระนั้น แม้แต่สวมเสื้อชั้นในคอกระเช้าทับเสื้อยกทรงก็ต้องถอดออก ซึ่งสร้างความอับอายให้กับผู้หญิงเหล่านั้น แต่ในที่สุดนายตำรวจบางคนก็ยินยอมให้สวมเสื้อทับได้

ระหว่างนั้น มีแพทย์คนหนึ่งรูปร่างเล็กสวมเสื้อกราวน์เดินเข้าไปในสนามจากด้านตึกนิติศาสตร์ นายตำรวจคนหนึ่งเห็นจึงรี่เข้าไปผลักอก พร้อมกับตวาดเสียงดังว่า "ไอ้พวกหมออย่าเข้ามายุ่ง" เสียงตอบของอีกฝ่ายหนึ่งว่า เขาเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ เสียงของอีกฝ่ายหนึ่งจึงอ่อยลงบอกว่า แล้วก็ไม่บอก ฝ่ายหมอตอบกลับไปว่า ผมยังไม่ทันได้บอก คุณก็ผลักอกผมก่อนแล้ว

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ไม่ได้ลุกลามออกไปจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสต์และสนามหลวง เนื่องจากฝ่ายทหารและตำรวจออกมาควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ โดยมีกลุ่มกระทิงแดงเป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น กระทั่งบรรดาผู้เข้าร่วมชุมนุมและคณะกรรมการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ถูกจับกุมคุมขัง ช่วงเย็นวันเดียวกันก็มีประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินออกมา เป็นการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง

คณะรัฐมนตรีหลัง 6 ตุลาคม มีชื่อเรียกขานว่า รัฐบาลหอย เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้จัดตั้งสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินขึ้นคณะหนึ่ง แจ้งตัวเองว่าเป็นเปลือกหอยเพื่อทำหน้าที่คุ้มกันตัวหอย

คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลหอย มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายดุสิต ศิริวรรณ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

หากจะเขียนตามสำนวนของ "ลัดดา" ก็ต้องว่าเป็น สมัคร สุนทรเวช กับ ดุสิต ศิริวรรณ ที่เป็นคู่สนทนาในรายการทั้งยามเช้าและยามเที่ยงในโทรทัศน์ และเป็นดุสิต ศิริวรรณ ที่มีสมญานามว่า "ไอ้จืด ข้าวบูด" ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่รุ่นเดียวกับเขารู้จักที่มาของสมญานามนั้นอย่างดี

คณะปฏิรูปฯสั่งปิดหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ทั้งหมด รวมทั้งหนังสือพิมพ์ที่ถูกปิดตายต่อมา 13 ฉบับทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ในจำนวนนั้นมีหนังสือพิมพ์(รวม)ประชาชาติ รายวัน ซึ่งคณะกองบรรณาธิการคือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่กองบรรณาธิการมติชน ทุกวันนี้.

โดย มติชนออนไลน์ 12 ตุลาคม 2548




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2548    
Last Update : 14 ตุลาคม 2548 18:29:48 น.
Counter : 407 Pageviews.  

รอยต่อประชาธิปไตย (๒)

คอลัมน์ โลกสองวัย โดย บางกอกเกี้ยน



หลังวันที่ 14 ตุลาคมปีนั้น มีเสียงเรียกขานจากพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนว่า ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน

แต่ขณะที่เหตุการณ์ยังไม่เข้าสู่ความสงบที่แท้จริง บ้านเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ยังมีความระส่ำระสายอยู่บ้าง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเกรงในเรื่องความปลอดภัย บรรดานักเรียนนักศึกษาจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะที่เป็นลูกเสือและนักศึกษารักษาดินแดน รวมถึงอาสาสมัคร ออกมาทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง โดยเฉพาะตำรวจ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย

นับเป็นความร่วมมือร่วมใจด้วยความสมัครใจและอาสาอย่างแท้จริง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกและคนเดียวที่ได้รับการเรียกขานว่า นายกฯพระราชทาน จากนั้นเมื่อมีคณะรัฐมนตรี กำหนดการร่างรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นจากการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น เพื่อเลือกตั้งกันเองเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีชื่อเรียกขานว่า สภาสนามม้า เพราะมีการประชุมสมัชชาแห่งชาติขึ้นที่สนามม้า ราชตฤณมัยสมาคม นางเลิ้ง

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เริ่มร่างรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติหน้าที่นิติบัญญัติ กระทั่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 มีการเลือกตั้งหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ผ่านความไว้วางใจในการแถลงนโยบาย เนื่องจากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมีคะแนนเสียงเพียง 18 เสียง รวบรวมสมาชิกจากหลายพรรคตั้งรัฐบาล และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา

ระหว่างรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ถึงรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เหตุการณ์บ้านเมืองมีการประท้วง มีการเรียกร้องจากหลายกลุ่ม หลายวงการ

ทั้งยังมีเหตุการณ์ต่อต้านผู้เรียกร้องและประท้วงเหล่านั้นหลายครั้ง ถึงขนาดเกิดเหตุบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขว้างปาระเบิดสำนักงานหนังสือพิมพ์ ลอบสังหารผู้นำการต่อสู้ประชาธิปไตย สังหารผู้นำชาวนา มีความพยายามกลับเข้าประเทศของผู้สูญเสียอำนาจและถูกเรียกขานว่า "ทรราช"

รัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งตัวเองไม่สามารถสอบผ่านเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อีกครั้งหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ โดยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรค กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

แต่การชุมนุมเรียกร้องก็ยังมีตามปกติ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องปกติของการได้มาซึ่งประชาธิปไตยหมาดๆ ไม่ถึง 3 ปี เป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบานโดยแท้

การเรียกร้องประชาธิปไตยโดยเสรีเช่นนี้เอง จึงทำให้เกิดกลุ่มต่อต้านขบวนการนิสิตนักศึกษา และผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาโดยตลอด เกิดขบวนการต่อต้าน โดยกลุ่มนายทหารกับกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาที่เรียกตัวเองว่ากระทิงแดง เพื่อต่อต้านกลุ่มสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกกล่าวหาและใส่ใคล้เป็นผู้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์

ในที่สุด เมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น ก็มีการลอบทำร้ายเกิดขึ้น ถึงขนาดแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าจังหวัดนครปฐม และนำไปสู่การแสดงละครล้อเลียนเหตุการณ์นั้น

ประกอบกับ จอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้าไทยด้วยการบวชเป็นเณร การชุมนุมเรียกร้องให้ผลักดันกลับออกไปจึงรุนแรงขึ้น

ในที่สุด เมื่อฝ่ายรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถดำเนินการอย่างใดต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ลาออกจากตำแหน่งกลางสภา แต่ได้รับการเลือกกลับเข้าไปใหม่ ไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้

ฝ่ายทหารจึงเข้ามาปฏิวัติยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ในนามของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นเหตุให้นิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ต้องถูกจับกุมคุมขังและดำเนินคดีต่อมา

ขณะเดียวกัน นิสิตนักศึกษาและผู้เรียกร้องความเป็นธรรมจำนวนหนึ่งต้องลี้ภัยเข้าป่าและไปต่างประเทศ คณะปฏิรูปจัดตั้งรัฐบาล มีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี

เย็นวันที่ 6 ตุลาคม คณะปฏิรูปสั่งปิดหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ทุกฉบับ ประเทศไทยกลับเข้าสู่ยุคเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง.

โดย มติชนออนไลน์ 11 ตุลาคม 2548




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2548    
Last Update : 14 ตุลาคม 2548 18:21:05 น.
Counter : 575 Pageviews.  

รอยต่อประชาธิปไตย (๑)

คอลัมน์ โลกสองวัย โดย บางกอกเกี้ยน



ช่วงรอยต่อสังคมไทย ด้านการพัฒนาประชาธิปไตยก่อนคณะปฏิวัติเข้าเป็นรัฐบาลเผด็จการตั้งแต่ พ.ศ.2500 มีร่องรอยให้เห็นมาโดยตลอด นับแต่การคัดค้านการเลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500 ของนิสิตนักศึกษา กระทั่งนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อเดือนกันยายน ปีเดียวกันนั้น โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับพวก

ปีต่อมา หลังจอมพลสฤษดิ์กลับจากรักษาตัวที่โรงพยาบาลวอเตอร์รีด สหรัฐอเมริกา ก็ปฏิวัติรัฐบาลที่ตั้งมากับมือ และสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลเผด็จการนานถึง 6 ปี จนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2506 ผู้ที่ร่วมก่อการรัฐประหาร คือ จอมพลถนอม กิตติขจร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการทหารบก สืบทอดรัฐบาลเผด็จการ

กระทั่งปี 2511 รัฐบาลทนต่อการเรียกร้องให้คลอดรัฐธรรมนูญซึ่งร่างกันมานานนับสิบปีไม่ได้ จึงผ่านร่างรัฐธรรมนูญออกประกาศใช้ แล้วจัดการเลือกตั้งในปีต่อมา

เลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยเพียง 2 ปี จอมพลถนอม กิตติขจร กับพวกเกิดอาการรัฐบาลเลือกตั้งเป็นพิษ จึงปฏิวัติตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 เป็นเหตุหนึ่งที่สำคัญนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

ชั่วระยะ 2 ปีต่อจากนั้น ขบวนการนิสิตนักศึกษา และสื่อมวลชน คือหนังสือพิมพ์ ต่างออกมาแสดงบทบาทเรียกร้องประชาธิปไตย จากการถูกครอบงำอยู่ในระบบเผด็จการมานานกว่า 12 ปี หรือ 1 รอบนักษัตร เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา ได้รับการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้นจากการเรียนการสอนผ่านข่าวสารบ้านเมือง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สงครามเวียดนาม และการต่อต้านสงครามเวียดนาม รวมถึงการเดินทางกลับจากการศึกษาของนักศึกษารุ่นใหม่ที่ผ่านกลิ่นอายประชาธิปไตย ผนวกกับขบวนการนิสิตนักศึกษาไทย ทำให้เกิดขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

แล้วในที่สุดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญก็ถึงจุดเริ่มต้น เมื่อรัฐบาลเผด็จการจับกุมกบฏ 13 คนที่เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2516

จากเหตุนั้นทำให้เกิดการรวมตัว ไม่แต่เพียงนิสิตนักศึกษาเท่านั้น ยังรวมไปถึงนักเรียนและประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกวัยที่ต้องการรู้ความจริงและต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้เดินทางเข้าไปรวมตัวกันในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะเกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่จากพี่น้องประชาชนที่หลั่งไหลเข้ามารวมตัวกันนับล้านคนเต็มบริเวณถนนราชดำเนินที่ทอดยาวเหยียดจากสนามหลวงสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคลื่อนตัวออกไปถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนที่จะรับข้อเสนอจากรัฐบาลที่ให้ปล่อยตัว 13 กบฏโดยไม่มีเงื่อนไข

แล้วในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม เหตุที่ไม่มีใครคาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มประชาชนที่กำลังจะเดินทางกลับไปทางถนนราชวิถี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้กลับไปทางสวนรื่นฤดี

การปะทะกันเช้าวันนั้นเป็นเหตุให้ลุกลามใหญ่โตขึ้นมากระทั่งกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลยกขบวนออกมาปราบปราม แต่ไม่สามารถยับยั้งกระแสคลื่นมหาชนได้

บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลายเป็นจุดปักหลักสู้กับฝ่ายรัฐบาล ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลคือนายกรัฐมนตรีกับพวกต้องยอมรับการเดินทางออกนอกประเทศไปในคืนต่อมา

ทั้งนี้ ด้วยเดชะพระบารมี ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณกับเหล่าพสกนิกร ตั้งแต่เช้าวันเกิดเหตุ ให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูพระราชวังสวนจิตรลดา ให้บรรดานิสิตนักศึกษาและประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น หลบภัยจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ทั้งพระองค์ยังทรงออกมาเรียกร้อง ให้ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า คืนสู่ความสงบ รักษาบ้านเมืองให้พ้นจากการทำร้าย โดยทรงบอกว่า วันนี้ คือ "วันมหาวิปโยค"

เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงจึงคลี่คลายลงด้วยน้ำพระทัยและพระปรีชาญาณในการแก้ปัญหาโดยแท้

14 ตุลาคม 2516 เป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

การต่อสู้กับเผด็จการครั้งนั้น ทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ต่างตระหนัก และตื่นตัว ถึงหลักสิทธิเสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตย กระนั้นกลุ่มอำนาจเผด็จการก็ยังไม่หยุดยั้งเหตุการณ์ ต่อมา จึงทำให้พี่น้องผองไทยต้องหลั่งเลือกเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง.

โดย มติชนออนไลน์ 10 ตุลาคม 2548




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2548    
Last Update : 14 ตุลาคม 2548 18:09:43 น.
Counter : 443 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.