● พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ● ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ● VIDEOTEXT
● ๐๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ● AUDIO TEXT ● ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ ● VIDEOTEXT
งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีเครือข่ายกาญจนาภิเษก๖๐ ล้านความดีถวายในหลวง
เผยแพร่แนวทรงงานมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช

● เรา ในหลวง ● We The King ● หนังสือพิมพ์ “ข่าวโลก” ออนไลน์ ● The “World News” Newspaper Online. ● เกาะติดสถานการณ์ ประชาธิปไตยที่ถูกฆ่า ● HaWii CluB : www.hawiiclub.com ●

Zebu Zigouiller
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Zebu Zigouiller's blog to your web]
Links
 

 

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานเมื่อ วันอังคารที่ ๒๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๙


พระราชดำรัส พระราชทานแก่
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เข้าเฝ้าฯ
ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
วันอังคารที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙
(ฉบับไม่เป็นทางการ)


ชมวิดีโอ (256K)

สิ่งที่ได้ปฏิญาณนั้นมีความสำคัญมาก เพราะว่ากว้างขวาง หน้าที่ของผู้พิพากษา หน้าที่ของผู้ที่เป็นตุลาการศาลปกครอง มีหน้าที่กว้างขวางมาก ซึ่งเกรงว่า ท่านอาจจะนึกว่า หน้าที่ของผู้ที่เป็นศาลปกครอง มีขอบข่ายที่ไม่กว้างขวาง ที่จริงกว้างขวางมาก ในเวลานี้ถ้าจะนึกว่าจะพูด ศาลเองก็นึก ที่อยากจะพูดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และโดยเฉพาะเลือกตั้งของ ผู้ที่ได้คะแนนไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์

แล้วก็เขาเลือกตั้งอยู่คนเดียว ซึ่งมีความสำคัญ เพราะว่าถ้าไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็คนเดียว ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบจำนวน ไม่ทราบว่า เกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ดำเนินการไม่ได้

แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ ที่ท่านได้ปฏิญาณเมื่อตะกี้นี้ ก็เป็นหมัน ที่บอกว่าจะต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตย ต้องดำเนินการไปได้ ท่านก็เลยทำงานไม่ได้ ถ้าท่านทำงานไม่ได้ ก็มีทาง ท่านอาจจะต้องลาออก แต่ก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหาที่มีอยู่ ต้องหาทางแก้ไขให้ได้ เขาอาจจะบอกว่า ก็ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็บอก ไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จแล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง

ก็เลยขอร้องให้ท่าน อย่าไปทอดทิ้งการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่ จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการไปได้ แล้วก็อีกข้อหนึ่ง การที่จะบอกว่า มีการยุบสภา และต้องเลือกตั้งภายใน ๓๐ วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดถึง ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูก ก็จะต้องแก้ไข หมายความว่า อาจจะให้การเลือกตั้งนี้ เป็นโมฆะหรือไม่นั้น ซึ่งท่านจะมี มีสิทธิ ที่จะบอกว่า อะไรที่ควรหรือไม่ควร

ไม่ได้ว่า บอกว่ารัฐบาลไม่ดี แต่ว่าเท่าที่ฟังดู มันเป็นไปไม่ได้ ในการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งพรรคเดียว คนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป อย่างมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็ควรจะคิดว่า ท่านต้องดูเกี่ยวข้องกับเรื่องของการปกครองให้ดี ก็ขอฝากอย่างดีที่สุด ถ้าจะ ถ้าจะทำได้

ท่านลาออก ท่านเอง ไม่ใช่รัฐบาลลาออก ท่านเองต้องลาออก ทำไม่ได้ รับหน้าที่ไม่ได้ ตะกี้ที่ ที่ปฏิญาณ ไปดูดีๆ จะเป็นการไม่ได้ทำตามที่ปฏิญาณ แล้วก็ ตั้งใจฟังวิทยุเมื่อเช้านี้ กรณีเกิดที่ ที่นบพิตำ กรณีที่จังหวัด ที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช อันนั้นไม่ใช่แห่งเดียว ที่อื่นมีอีกหลายแห่ง ที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถ ที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ ที่ไม่ถูกต้อง

ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านไปศึกษาว่า เกี่ยวข้องหรือไม่ ท่านเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ถ้าท่านไม่เกี่ยวข้อง ท่านก็ลาออกดีกว่า ท่านผู้ที่เป็นผู้ที่ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ที่ต้องทำให้บ้านเมืองดำเนินได้ หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้องไปปรึกษากับผู้พิพากษาที่จะเข้ามา เข้ามา ผู้พิพากษาศาลฎีกา ท่านผู้นี้ก็คงเกี่ยวข้องเหมือนกัน ก็ปรึกษากัน สี่คน

แล้วท่านปรึกษากับผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะเข้ามาใหม่ ปรึกษากับท่าน ก็เป็นจำนวนหลายคน ที่มีความรู้ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ที่มีความรักในหน้าที่ ที่จะทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป อันนี้ก็ขอฝาก ก็จะขอบใจมาก เดี๋ยวนี้ยุ่ง เพราะว่าถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ทางที่จะปกครองแบบประชาธิปไตย ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย เรามีสภาหลายแบบ และทุกแบบจะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดหาทางที่จะแก้ไขได้

ที่พูดอย่างนี้ ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้ แล้วก็ ไมอย่างนั้นเดี๋ยวก็ต้องบอกว่าต้องทำมาตรา ๗ มาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยัน ยืนยันว่ามาตรา ๗ นั้นไม่ได้หมายถึง ให้ มอบให้พระมหากษัตริย์ มีอำนาจที่ จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่ มาตรา ๗ นั้น พูดถึงการปกครอง แบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่า ให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจ ทำได้ทุกอย่าง

ถ้าทำเขาก็จะนึกว่าพระมหากษัตริย์ ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย เขาอ้างถึงเมื่อครั้งก่อนนี้ เมื่อ รัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่ได้ทำเกินอำนาจพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นมีสภา สภาไม่อยู่ ประธานสภา รองประธานสภาไม่อยู่ แล้วก็รองประธานสภาทำหน้าที่ แล้วมีนายกที่สนองพระบรมราชโองการได้ ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น

ไม่ได้หมายความว่า ที่ทำครั้งนั้นผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ ตอนนั้นก็ไม่ใช่นายกพระราชทาน นายกพระราชทานหมายความว่า ตั้งนายกโดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ตอนนั้นมีกฏเกณฑ์ เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับตั้งเป็นนายก เป็นนายกที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือรองประธานสภานิติบัญญัติ ฉะนั้น ไป ไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ทราบว่า มี มีกฎเกณฑ์ที่รองรับ

แล้วก็งานอื่นๆ ก็มี แม้จะที่เรียกว่าสภาสนามม้า เขาก็หัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิด ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนอง นายกรัฐมนตรีคืออาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็สบายใจว่า ทำอะไรแบบถูกต้อง ตามครรลองของรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้ ก็จะให้ทำอะไรผิด ผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบนะ ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกว่าผิด ถือโอกาส ขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไร ไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นสิ่งที่เป็นอุปสรรค และมีความเจริญรุ่งเรืองได้ ขอขอบใจท่าน.

ที่มา : เว็บไซต์ เครือข่ายกาญจนาภิเษก


พระราชดำรัส พระราชทานแก่
ผู้พิพากษาศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ
ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
วันอังคารที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙
(ฉบับไม่เป็นทางการ)


ชมวิดีโอ (256K)

จะปฏิบัติ ปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลฎีกา ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เมื่อตะกี้พูดกับฝ่ายศาล ศาลปกครอง แล้วก็ขอให้ เดี๋ยวเชิญไปปรึกษากับท่าน เพราะว่าสำคัญที่ผู้พิพากษาทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา และประธานศาลฏีกาเป็นโดยเฉพาะ

ในปัจจุบันนี้มีปัญหาทางกฏหมายที่สำคัญมาก ปฏิญาณว่าจะทำให้เกิดการปกครองแบบประชาธิปไตย คือเวลานี้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยนั่นเอง แต่ถ้าไม่มีสภาที่ครบถ้วน ก็ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ฉะนั้นก็ต้องขอให้ไปปรึกษากับ ผู้ที่มีหน้าที่ในฝ่ายปกครอง ฝ่ายศาลอาญา ที่อธิบายเมื่อตะกี้

แต่ก่อนนี้มีแค่อย่างเดียว มีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา ศาลเศรษฐกิจ เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่าง ก็เมื่อมีก็ต้องให้ดำเนินการไปด้วยตัวเอง และก็ขอให้ไปปรึกษากับศาลอื่นๆ ด้วย จะทำให้บ้านเมือง ปกครองแบบประชาธิปไตยได้ อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกพระราชทาน

เพราะขอนายกพระราชทาน ไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกพระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา ๗ มี ๒ บรรทัดว่า อะไรที่ไม่ ไม่มีระบุในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณี หรือตามที่เคยทำมา ไม่มี เขาอยากจะได้นายกพระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกพระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องของการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษด้วย แบบมั่ว คือแบบไม่ ไม่ ไม่มีเหตุมีผล สำคัญอยู่ที่ ท่านที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองที่ ที่แจ่มใส สามารถ ควรจะสามารถที่จะไปคิดวิธีที่จะปฏิบัติ คือ ปกครองต้องมี ต้องมีสภา สภาที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนก็ว่าไม่ได้ อาจจะ อาจจะหาวิธีที่จะ ที่จะตั้งสภาที่ให้ครบถ้วน แบบทำงาน ทำงานได้

ก็รู้สึกว่าจะมั่ว ก็อยากจะต้องขอโทษอีกทีว่า ใช้คำว่ามั่ว ไม่ถูก ไม่ทราบใครจะทำมั่ว แต่ว่าปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดอะไรแบบ นึกว่าทำปัดๆ ไปให้เสร็จๆ ไป ถ้าไม่ได้ เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอย่างอื่น เพราะพระมหากษัตริย์ ไม่ ไม่มีหน้าที่ ที่จะไปมั่ว ก็เลยต้องขอร้องฝ่ายศาล ให้คิด ให้ช่วยกันคิด เดี๋ยวนี้ประชาชน ประชาชนทั่วไปเขาหวังในศาล โดยเฉพาะศาลฎีกา และศาล ศาลอื่นๆ

เขายังบอกว่าศาล ขึ้นชื่อว่าเป็นศาลดี ยังมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีเหตุมีผล และมีความรู้ เพราะท่านได้เรียนรู้กฎหมายมา และพิจารณาเรื่องกฎหมายที่ ที่ต้องศึกษาดีๆ ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นได้ ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมาย หลักของการปกครองที่ถูกต้อง ประเทศชาติไปไม่รอด อย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ บอกว่าไม่มีสภา สมาชิกสภาถึง ๕๐๐ คน ทำงานไม่ได้

ก็ต้องพิจารณาดูว่า จะทำอย่างไร สำหรับให้ทำงานได้ จะมาขอให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน เขาอาจจะว่ารัฐธรรมนูญนี่ พระมหากษัตริย์ เป็นคนลงพระปรมาภิไธย จริงที่ลงพระปรมาภิไธย ก็เดือดร้อน แต่ว่าในมาตรา ๗ นั้นไม่ได้บอกว่า พระมหากษัตริย์สั่งได้ ไม่มี ลอง ลองไปดูมาตรา ๗ เขาเขียนว่า ไม่มีการบทบัญญัติแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่า มีพระมหากษัตริย์ที่จะมาสั่ง สั่งการได้

แล้วก็ขอยืนยันว่า ไม่เคยสั่งการอะไร ที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของ ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งคือกฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง อย่างที่เขาขอ บอกว่า ขอให้มี ให้พระราชทานนายกพระราชทาน ไม่เคย ไม่เคยมีข้อนี้ มีนายก แบบมีการรับสนองพระบรมราชโองการ ที่ถูกต้องทุกครั้ง มีคนเขาก็อาจจะมา มาบอกว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ นี่ทำตามใจชอบ ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ

ตั้งแต่เป็นมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำตามใจชอบนี่ ก็เข้าใจว่า บ้านเมืองล่มจมมานานแล้ว แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วเวลาถ้าเขา ถ้าทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้อง ต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ ว่าทำตามใจชอบ ซึ่งไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ต้องทำ

อันนี้อยู่ที่ผู้พิพาษาศาลฎีกา เป็นสำคัญ ที่จะบอกได้ ศาลอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอะไร ไม่มีความ ไม่มีข้อที่จะห้ามได้มากกว่าศาลฎีกา กับผู้พิพากษาศาลฏีกา ที่จะ มีสิทธิที่จะพูด ที่จะ ที่จะตัดสิน ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านได้พิจารณากันดู แล้วไปพิจารณา ไปปรึกษากับผู้พิพากษาศาลอะไรอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะทำอะไร แล้วต้องรีบทำ ไม่งั้นบ้านเมืองล่มจม พอดีเมื่อกี๊ดู ดูทีวี เรือหลายหมื่นตันโดนพายุ จมลงไปสี่พันเมตรในทะเล เขายังต้อง ต้องดูว่าเรือนั้นลงไปยังไง

เมืองไทยจะจมลงไปลึกกว่าสี่พันเมตร แล้วก็ลึก กู้ไม่ได้ กู้ไม่ขึ้น ฉะนั้น ท่านเองก็จะ เท่ากับจมลงไป ประชาชนทั่วไป ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ก็จะจมลงไปในมหาสมุทร เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่วิกฤต วิกฤติที่สุดในโลก ฉะนั้นท่านก็มีหน้าที่ ที่จะปฏิบัติ ปรึกษากับผู้ที่มีความรู้ เพื่อที่ เขาเรียกว่า กู้ชาตินะ เดี๋ยวนี้เอะอะอะไรก็กู้ชาติ กู้ชาติ กู้ชาตินี่ เดี๋ยวนี้ยังไม่ ยังไม่ได้จม ทำไมถึงจะกู้ชาติ แต่ว่าป้องกันไม่ให้จมลงไป แล้วเราจะต้องกู้ชาติจริงๆ แต่ถ้าจมแล้ว แล้วก็กู้ชาติ กู้ชาติไม่ได้ จมไปแล้ว

ฉะนั้นก็ ไปคิด ไปพิจารณาดูดีๆ ว่า ว่าจะทำอะไร ถ้าทำได้ปรึกษาหารือกันได้จริงๆ ประชาชนทั้งประเทศ และประชาชนทั่วโลก จะอนุโมทนา และจะเห็นว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาในเมืองไทยยังมี เรียกว่ายังมีน้ำยา แล้วเป็นคนที่มีความรู้ และตั้งใจที่จะ ที่จะกู้ชาติจริงๆ ถ้าถึงเวลา ก็ขอขอบใจท่าน ที่ตั้งอกตั้งใจที่จะทำหน้าที่ แล้วก็ทำหน้าที่ที่ดี บ้านเมืองก็รอดพ้น ไม่ต้องกู้

ขอขอบใจที่ท่านพยายามปฏิบัติด้วยดี แล้วก็ประชาชนจะอนุโมทนา ขอบใจแทนประชาชนทั่วทั้งประเทศ ที่มีผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่เข้มแข็ง ขอบใจ ขอให้ท่านสามารถที่จะปฏิบัติงานได้ดี มีพลานามัยแข็งแรง ต่อสู้ ต่อสู้ ต่อสู้เพื่อความดี ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในประเทศ ขอบใจ.

ที่มา : เว็บไซต์ เครือข่ายกาญจนาภิเษก




 

Create Date : 28 เมษายน 2549    
Last Update : 28 เมษายน 2549 17:48:41 น.
Counter : 1456 Pageviews.  

"สำนักราชเลขาฯ" แจง "พระราชดำรัส๒๐พ.ค.๓๕" เผยแพร่ได้



แถลงข่าว
สำนักราชเลขาธิการ


ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน เกี่ยวกับการเชิญพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทาน เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ออกเผยแพร่ นั้น

สำนักราชเลขาธิการขอเรียนชี้แจงให้ทราบว่า พระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อมูลข่าวสารซึ่งได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะทั่วไปอยู่แล้ว และประชาชนก็รับรู้มาโดยตลอดว่า มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ เพราะฉะนั้น การที่หน่วยงานหรือสื่อมวลชนใดจะนำออกมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ความรับผิดชอบของตนเองนั้น ก็สามารถกระทำได้

จึงขอแถลงข่าวมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน.

สำนักราชเลขาธิการ
๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙


ที่มา : เอกสารแถลงข่าว สำนักราชเลขาธิการ




 

Create Date : 15 มีนาคม 2549    
Last Update : 2 เมษายน 2549 2:23:00 น.
Counter : 350 Pageviews.  

"สำนักราชเลขาฯ" เผย "คณะองคมนตรี" ไม่ได้สั่งหยุดแพร่ "พระราชดำรัส๒๐พ.ค.๓๕"



แถลงข่าว
สำนักราชเลขาธิการ


ตามที่ปรากฎเป็นข่าวทางสื่อมวลชน เกี่ยวกับการประชุมคณะองคมนตรีเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙ ว่าประธานองคมนตรีได้หยิบยกกรณีที่โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย อัญเชิญภาพเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พลเอก สุจินดา คราประยูร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า ฯ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ออกเผยแพร่ ในคืนวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๙ ขึ้นมาหารือเป็นวาระพิเศษ โดยเห็นว่า แม้พระราชดำรัสในวันดังกล่าว จะเป็นการเตือนสติให้คนในชาติเกิดความรักและปรองดองกัน แต่ห่วงว่าจะทำให้สถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดบานปลาย เพราะแต่ละฝ่ายนำไปตีความหมายแตกต่างกัน จึงขอให้ยุติเรื่องนี้ นั้น

สำนักราชเลขาธิการขอเรียนชี้แจงให้ทราบว่า ในการประชุมคณะองคมนตรีในวันดังกล่าวไม่ได้มีการกล่าวถึงกรณีตามที่ปรากฎเป็นข่าวแต่ประการใด

จึงขอแถลงข่าวมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน.

สำนักราชเลขาธิการ
๑๕ มีนาคม ๒๕๔๙


ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์




 

Create Date : 15 มีนาคม 2549    
Last Update : 2 เมษายน 2549 2:23:29 น.
Counter : 309 Pageviews.  

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้พิพากษา ประจำสำนักงานศาลยุติธรรม วันศุกร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙



ความเข้มแข็งสำคัญมาก เพราะบ้านเมืองโดยเฉพาะเวลานี้ อยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าง่อนแง่น เพราะว่าไม่เข้มแข็ง ถ้าคนในชาติเข้มแข็ง ก็ไม่มีปัญหา เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประวัติมานาน และได้ปฏิบัติงานมาด้วยดี ด้วยความเรียบร้อยมาเป็นเวลาช้านาน เพราะว่าท่านปฏิญาณตนว่า จะรักษาความเข้มแข็งนี้ต่อไป ก็เชื่อได้ว่าประเทศจะรุ่งเรืองต่อไป

การที่ได้บอกว่าจะรักษาความดีอย่างที่ว่านี้ เป็นประกันว่า ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุขที่มีผู้พิพากษา เพราะว่าจะต้องให้คดีต่างๆ ผ่านพ้นไปด้วยดี ในมวลชนก็จะต้องมีการปรองดอง ถ้าทุกคนตั้งอกตั้งใจ ที่จะพยายามรักษาความปรองดอง เชื่อว่าส่วนรวมจะอยู่ได้ ส่วนสำคัญของการปรองดอง และความเป็นอยู่ที่ดี ก็อยู่ที่ความยุติธรรม

ความยุติธรรมนี้คือ การปฏิบัติอะไรที่ถูกต้องตามธรรม คือยุติธรรม ถ้าฟังดูก็ยุติในธรรม ยุติในความดีความชอบ ท่านก็รักษาความยุติธรรม ท่านต้องรักษาความดีความชอบ ผู้พิพากษาจะต้องรักษาความยุติธรรมด้วยความดี ความถูกต้อง ถ้าท่านรักษาความยุติธรรม ตามที่ได้ปฏิญาณตน เชื่อว่าความสุขความสงบก็จะเกิดขึ้น ถ้าผู้พิพากษาไม่รักษาความยุติธรรมเมื่อใด ประเทศชาติคงวุ่นวาย

ผู้พิพากษามีหน้าที่ที่จะรักษาความดี ความปรองดองกัน ถ้าใครมายุยงบอกว่าต้องเถียงกัน ต้องเข้าข้างกัน ก็ต้องเข้มแข็ง ต้องเข้มแข็งในงานยุติธรรม หมายความว่า ไม่เข้าข้าง ผู้พิพากษาจะต้องตัดสินในความดี หรือถ้าดีแล้วก็ตัดสินไป ท่านก็รู้ดี และได้ฝึกเพื่อรักษาความยุติธรรมนี้ ฉะนั้น ขอฝากความยุติธรรม

ความเจริญของประเทศอยู่กับท่านทั้งหลาย เป็นงานที่ไม่ใช่ง่าย เพราะว่ามีอะไรต่ออะไรมาล่อ บางทีการล่อด้วยมิตร มีการล่อด้วยการยั่วยุ การล่อด้วยจะให้รางวัล รางวัลของท่านคือ ความยุติธรรม รู้ดีว่าหน้าที่ของประธานศาลนั้น ไม่ได้เป็นหน้าที่ที่จะมีเงินทอง นอกจากหน้าที่รักษาความยุติธรรม ความดี ความสื่อสัตย์ สุจริต ถ้าท่านทำได้ดีแล้ว ทุกสิ่งที่ท่านปฏิญาณก็เป็นผลดี เป็นผลทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข.

ที่มา : เว็บไซต์ เครือข่ายกาญจนาภิเษก




 

Create Date : 13 มีนาคม 2549    
Last Update : 2 เมษายน 2549 2:24:11 น.
Counter : 765 Pageviews.  

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ พลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕



คงเป็นที่แปลกใจ ทำไมถึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้ เพราะว่าทุกคนก็ทราบว่า เหตุการณ์มีความยุ่งเหยิงอย่างไร และทำให้ประเทศชาติล่มจมได้ แต่ที่จะแปลกใจก็อาจมีว่า ทำไมเชิญพลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เพราะว่า อาจมีผู้ที่แสดงเป็นตัวละครมากกว่านี้ แต่ว่าที่เชิญมาเพราะว่า ตั้งแต่แรกที่มีเหตุการณ์ สองท่านเป็นผู้ที่เผชิญหน้ากัน แล้วก็ในที่สุด เป็นการต่อสู้ หรือการเผชิญหน้ากว้างขวางขึ้น ถึงได้เชิญ ๒ ท่านมา

การเผชิญหน้าตอนแรก ก็จะเห็นจุดประสงค์ของทั้ง ๒ ฝ่ายได้ชัดเจนพอสมควร แต่ต่อมาภายหลัง ๑๐ กว่าวัน ก็เห็นแล้วว่า การเผชิญหน้านั้น เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก จนกระทั่งออกมาอย่างไรก็ตาม เสียทั้งนั้นเพราะว่า ทำให้มีความเสียหาย ในทางชีวิต เลือดเนื้อของคนจำนวนมากพอสมควร แล้วก็ความเสียหายทางวัตถุ ซึ่งเป็นของส่วนราชการ และส่วนบุคคลเป็นมูลค่ามากมาย

นอกจากนี้ ก็มีความเสียหายในทางจิตใจ และในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ อย่างที่จะนับพรรณนาไม่ได้ ฉะนั้นการที่จะเป็นไปอย่างนี้ต่อไป จะเป็นเหตุผลหรือต้นตออย่างไรก็ช่าง เพราะเดี๋ยวนี้เหตุผลเปลี่ยนไป ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป แล้วก็จะทำให้ประเทศไทย ที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบเป็นอย่างมาก ซึ่งก็เริ่มปรากฏผลแล้ว ฉะนั้นจะต้องแก้ไข โดยดูว่ามีข้อขัดแย้งอย่างไร แล้วก็พยายามที่จะแก้ไขตามลำดับ เพราะว่าปัญหา ที่มีอยู่ทุกวันนี้ สองสามวันนี้มันเปลี่ยนไป ปัญหาไม่ใช่เรื่องของเรียกว่าการเมือง หรือเรียกว่าของการดำรงตำแหน่ง เป็นปัญหาของการสึกหรอของประเทศชาติ ฉะนั้นจะต้องช่วยกันแก้ไข

มีผู้ที่ส่งข้อแนะนำ ในการแก้ไขสถานการณ์มาหลายฉบับ หลายคนจำนวนเป็นร้อย แล้วก็ทั้งในเมืองไทย ทั้งต่างประเทศที่ส่งมา ที่เขาส่งมาการแก้ไข หรือข้อแนะนำว่า เราควรจะทำอะไรก็มี ก็มีต่างๆ นานา ตั้งแต่ตอนแรกบอกว่าแก้ไขวิธียุบสภา ซึ่งก็ได้หารือกับทางทุกฝ่ายที่เป็นสภา หมายความว่า พรรคการเมืองทั้งหมด ๑๑ พรรคนี้ คำตอบมีว่าไม่ควรยุบสภา มี ๑ รายที่บอกว่าควรยุบสภา ฉะนั้นการที่จะแก้ไข แบบที่เขาเสนอมานั้น ก็เป็นอันว่าตกไป นอกจากนั้นก็มีเป็นฎีกา และแนะนำวิธีต่างๆ กัน ซึ่งได้พยายามเสนอไปตามปกติ คือเวลามีฎีกาขึ้นมา ก็ส่งไปให้ทาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขตามแบบนั้น ตกลงมีแบบยุบสภา และมีอีกแบบหนึ่ง ก็เป็นแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ตามประสงค์ที่ต้องการ หมายความว่าประสงค์เดิม ที่เกิดเผชิญหน้ากัน

ความจริงวิธีนี้ถ้าจำได้ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ก็ได้พูดต่อสมาคม ที่มาพบจำนวนหลายพันคน แล้วก็ดูเหมือนว่าพอฟังกัน ฟังกันโดยดี เพราะเหตุผลที่มีอยู่ในนั้น ดูจะแก้ปัญหาได้พอควร ตอนนี้ก็พอย้ำว่าทำไมพูดอย่างนั้น ว่าถ้าจะแก้ก่อนออกก็ได้ หรือออกก่อนแก้ก็ได้ อันนั้นทุกคนก็ทราบดีว่าเรื่องอะไร ก็เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งครั้งนั้น การแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ทำมาตลอด มากกว่าฉบับเดิมที่ตั้งเอาไว้ได้แก้ไข แล้วก็ก่อนที่ไปพูดที่ศาลาดุสิดาลัย ก็ได้พบพลเอกสุจินดา ก็ขออนุญาตเล่าให้ฟังว่า พลเอกสุจินดาแล้ว พลเอกสุจินดาก็เห็นด้วยว่า ควรจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และแก้ไขต่อไปได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และตอนหลังนี้ พลเอกสุจินดาก็ได้ยืนยันว่า แก้ไขได้ ก็ค่อยๆ แก้เข้าระเบียบให้เป็นที่เรียกว่า ประชาธิปไตย อันนี้ก็ได้พูดมาตั้งหลายเดือนแล้ว ในวิธีการที่จะแก้ไข แล้วข้อสำคัญ ที่ทำไมอยากให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แม้จะถือว่ารัฐธรรมนูญนั้นยังไม่ครบถ้วน ก็เพราะเหตุว่ารัฐธรรมนูญนั้น มีคุณภาพพอใช้ได้ ดีกว่าธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ที่ใช้มาเกือบปี เพราะเหตุว่ามีบางข้อบางมาตรา ซึ่งเป็นอันตรายแล้ว ก็ไม่ครบถ้วนในการที่จะปกครองประเทศ ฉะนั้นก็นึกว่า ถ้าหากว่าสามารถที่จะปฏิบัติตามที่ได้พูดในวันที่ ๔ ธันวาคมนั้นก็นึกว่า เป็นการกลับไปดูปัญหาเดิม ไม่ใช่ปัญหาของวันนี้

ปัญหาของวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้คือความปลอดภัย ขวัญดีของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งทุกหน มีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่า ประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบาก ตามข่าวที่ได้ทราบมาจากต่างประเทศ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ ทั้งลูกชายทั้งลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศ ทั้งสองก็ทราบดี แล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งให้กับ คนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นว่า ประเทศไทยนี้ยังแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่รู้สึกว่าจะเป็นความคิด ที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์อย่าง ๓ วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดไปได้

ฉะนั้น ก็ขอให้ โดยเฉพาะสองท่าน คือพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง ช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่า บ้าเลือด เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง

ฉะนั้น จึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้ากัน แต่หันเข้าหากัน และสองท่าน เท่ากับเป็นผู้แทนฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร สำหรับให้ประเทศไทย ได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาได้ด้วยดี อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่าน ก็เข้าใจว่า จะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากซากปรักหักพัง แล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมากว่าได้ทำดี แก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่ที่จะปรึกษากัน ก็มีข้อสังเกตดังนี้

ท่านประธานองคมนตรี ท่านองคมนตรีเปรม ก็เป็นผู้ใหญ่ ผู้พร้อมที่จะให้คำปรึกษาหารือกัน ด้วยความเป็นกลาง ด้วยความรักชาติ เพื่อสร้างสรรค์ประเทศ ให้เข้าสู่ความปลอดภัยในเร็ววัน ขอฝากให้ช่วยกันสร้างชาติ.

ที่มา : เว็บไซต์ เครือข่ายกาญจนาภิเษก




 

Create Date : 13 มีนาคม 2549    
Last Update : 2 เมษายน 2549 2:24:31 น.
Counter : 1056 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.