นกเทพย่อมมีบารมีของเทพ สายลมอ่อนๆ เบาสบาย มือพัดไปมา จิตตรองกลยุทธ์ วางแผนจัดการได้ทุกเรื่องในโลก
Group Blog
 
All Blogs
 

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 12 (วาระสุดท้ายของมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชน)








[๗๘] ลำดับนั้น นิครนถ์นาฏบุตร พร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก 
เข้าไปยังนิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดี นายประตูได้เห็นนิครนถ์นาฏบุตรมาแต่ไกล 
ได้กล่าวว่า จงหยุดเถิดท่านผู้เจริญ อย่าเข้ามา ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 
อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว 
ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์แล้ว 
ท่านเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค 
คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญถ้าท่านต้องการอาหาร 
จงหยุดอยู่ที่นี่แหละ ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่าน ณ ที่นี้.

นิ. นายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น 
ท่านจงเข้าไปหาอุบาลีคฤหบดี แล้วจงกล่าวอย่างนี้ว่า 
นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก 
มายืนอยู่ที่ซุ้มประตูข้างนอกเขาอยากจะพบท่าน 
นายประตูรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว เข้าไปหาอุบาลีคฤหบดี 
แล้วได้เรียนว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ 
นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก 
มายืนอยู่ที่ซุ้มประตูข้างนอก เขาอยากจะพบท่าน.





อุ. ดูกรนายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น 
ท่านจงปูลาดอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลาง.

นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว ปูลาดอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลาง 
แล้วเข้าไปหาอุบาลีคฤหบดีแล้วได้เรียนว่า 
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปูอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลางแล้ว 
ท่านย่อมสำคัญกาลอันควร ณ บัดนี้. 

ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดี เข้าไปยังศาลาประตูกลาง 
แล้วนั่งบนอาสนะอันเลิศประเสริฐอุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้นเสียเอง 
แล้วเรียกนายประตูมาว่า นายประตูผู้เป็นสหาย 
ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตร จงกล่าวอย่างนี้ว่า 
ท่านผู้เจริญอุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ว่า เชิญท่านเข้าไปเถิด ถ้าท่านจำนง. 
นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว
เข้าไปนิครนถ์นาฏบุตร แล้วได้กล่าวว่า 
ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ว่า 
ท่านผู้เจริญเชิญท่านเข้าไปเถิด ถ้าท่านจำนง. 

ลำดับนั้น นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็น
อันมาก เข้าไปยังศาลาประตูกลาง. 



[๗๙] ครั้งนั้นแล ได้ยินว่า 
แต่ก่อนอุบาลีคฤหบดีเห็นนาฏบุตรมาแต่ไกลเท่าใด 
แล้วต้อนรับแต่ที่เท่านั้น เอาผ้าห่มกวาดอาสนะที่เลิศ 
ประเสริฐอุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้น
แล้วกำหนดให้นั่ง บัดนี้ ท่านอุบาลีคฤหบดีนั่งบนอาสนะที่เลิศ 
ประเสริฐ อุดม และประณีตอันมีอยู่ ณ ที่นั้นเสียเอง 
แล้วได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า ท่านคฤหบดีผู้เจริญ 
อาสนะมีอยู่ถ้าท่านหวังเชิญนั่งเถิด. 

เมื่ออุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์นาฏบุตรได้กล่าวว่า 
ท่านเป็นบ้าเสียแล้วหรือ คฤหบดี ท่านเป็นคนเขลาเสียแล้วหรือ คฤหบดี 
ท่านกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไป 
จักยกวาทะแก่พระสมณโคดม ครั้นไปแล้ว 
กลับถูกวาทะดุจไม้ขื่ออันใหญ่สวมมาแล้วหรือ 
ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษผู้นำอัณฑะไป 
ถูกควักอัณฑะออกกลับมา ฉันใด 
ดูกรคฤหบดี อนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษนำดวงตาไป ถูกควักดวงตากลับมาฉันใด 
ดูกรคฤหบดี ท่านก็ฉันนั้นแล กล่าวว่า 
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะแก่พระสมณโคดม 
ครั้นไปแล้ว กลับถูกวาทะดุจไม้ขื่ออันใหญ่สวมมาแล้ว 
ท่านถูกพระสมณะโคดมกลับใจ ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้วหรือ.


มายาเครื่องกลับใจ

[๘๐] อุ. ท่านผู้เจริญ มายาอันเป็นเครื่องกลับใจนี้ดี 
ท่านผู้เจริญ มายาอันนี้เป็นเครื่องกลับใจนี้งาม 
ท่านผู้เจริญ ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าจะพึงกลับใจได้ด้วย
มายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า สิ้นกาลนาน 

ท่านผู้เจริญ แม้ถ้ากษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ 
ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล 
เพื่อความสุขแก่กษัตริย์แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน 
ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าพราหมณ์ทั้งปวงจะพึงกลับใจ
ได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้น
จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่พราหมณ์แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน 
ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าแพศย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ 
ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่แพศย์แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญแม้ถ้าศูทรทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ 
ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ศูทรแม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน 
ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ 
จะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้น
จะพึงเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่โลก พร้อมทั้งเทวโลก 
มารโลก พรหมโลก แก่หมู่สัตว์พร้อมสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ สิ้นกาลนาน 
ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นข้าพเจ้าจักทำอุปมาแก่ท่าน 
วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้อรรถแห่งภาษิตได้ แม้ด้วยการ
เปรียบเทียบ. 


อุบาลีคฤหบดีประกาศตนเป็นสาวก

[๘๒] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว 
อุบาลีคฤหบดี ลุกจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง 
ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ 
แล้วได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า 
ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟังพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ข้าพเจ้าเป็นสาวก 

แล้วสรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก



[๘๓] นิ. ดูกรคฤหบดี ท่านประมวลถ้อยคำสำหรับ
พรรณนาคุณของพระสมณโคดมไว้แต่เมื่อไร?

อุ. ดูกรท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนช่างดอกไม้ 
หรือลูกมือช่างดอกไม้คนขยัน พึงร้อยกรองดอกไม้ต่างๆ กองใหญ่ 
ให้เป็นพวงมาลาอันวิจิตรได้ ฉันใด 

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นก็ฉันนั้น ทรงมีพระคุณควรพรรณนาเป็นอเนก 
ทรงมีพระคุณควรพรรณนาตั้งหลายร้อย ก็ใครจัก
ไม่ทำการพรรณนาพระคุณของพระองค์ผู้ควรพรรณนาพระคุณได้เล่า.

ครั้นเมื่อนิครนถ์นาฏบุตรทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคไม่ได้ 
โลหิตอันอุ่นได้พลุ่งออกจากปากในที่นั้นเอง ดังนี้แล.

จบ อุปาลิวาทสูตร ที่ ๖.


อุบาลีคฤหบดีได้พรรณาคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า
วรรคละ 10 คำ 10 วรรค รวมได้ 100 พระคุณพอดี


ก่อนที่นิครนถ์นาฏบุตรจะตายก็ยังสั่งสอนสาวกแบบไม่มีแก่นที่แน่นอน
สอนลูกศิษย์บางคนว่าอะไร ๆ เที่ยง บางครั้งก็สอนว่าสูญ
ลูกศิษย์ก็เลยแบ่งเป็นสองฝ่ายเกือบจะตีกันเพราะยึดมั่นในคำสอนของศาสดาตน
หลังจากนิครนถ์นาฏบุตรตายไป ศาสนาเชนก็ยังเจริญรุ่งเรืองอยู่ในบางเมือง
ซึ่งปัจจุบันนี้จะเห็นมากก็ที่เมืองราชคฤห์นี่แหละ

มีพระคุณเจ้าบางท่านที่ได้ยินคำสอนของศาสนาเชนในยุคหลัง
ที่มีการกล่าวถึงประวัติของนิครนถ์นาฏบุตรและอุบาลีคฤหบดี
ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ที่ได้จดบันทึกกันไว้ไม่เหมือนกับในประไตรปิฎกของพุทธ
เข้าใจว่าบันทึกเรื่องราวไว้ในทางที่ดูดีกว่านี้ ผมก็ไม่ได้ถามให้รู้ชัด
เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่เป็นไรผ่านไป




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 15:31:49 น.
Counter : 3105 Pageviews.  

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 11



[๗๕] ครั้งนั้นแล อุบาลีคฤหบดีชื่นชมยินดี
ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ 
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ 
แล้วเข้าไปยังนิเวศน์ของตน เรียกนายประตูมาว่า 
ดูกรนายประตูผู้สหาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 
เราปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์
และเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาค เพื่อสาวกของพระผู้มีพระภาค 
คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา 
ถ้านิครนถ์คนใดคนหนึ่งมา 
ท่านพึงว่ากะนิครนถ์คนนั้นอย่างนี้ว่า จงหยุดท่านผู้เจริญ 
อย่าเข้าไปเลยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 
อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว 
ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ 
ท่านเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาค สาวกของพระผู้มีพระภาค 
คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา 
ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีความต้องการด้วยอาหาร
ท่านจงหยุดอยู่ที่นี่แหละ ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่านในที่นี้ 
นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว.

[๗๖] ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ฟังข่าวว่า 
อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว 
ลำดับนั้น จึงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ 
ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า 
อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว.

นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก
ของพระสมณโคดมนั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส 
แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น
เป็นฐานะที่จะมีได้.

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่า 
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า 
อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว.

นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก
ของพระสมณโคดมนั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส 
แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น
เป็นฐานะที่จะมีได้.

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๓ ว่า 
ข้าแต่ท่านผู้เจริญข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า 
อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว.

นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก
ของพระสมณโคดมนั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส 
แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น
เป็นฐานะที่จะมีได้.

ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป 
เพียงจะทราบว่าอุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความ
เป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว หรือหาไม่?

นิ. ดูกรตปัสสี ท่านจงไป จงรู้ว่า อุบาลีคฤหบดี
เข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม หรือหาไม่?


ห้ามพวกเดียรถีย์เข้าบ้าน

[๗๗] ครั้งนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์ จึงเข้าไปยังนิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดี 
นายประตูได้เห็นทีฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกลเทียว 
ครั้นแล้วจึงกล่าวว่า จงหยุดเถิดท่านผู้เจริญ อย่าเข้ามาเลย 
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว
ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์เปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาค
และสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา 
ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีความต้องการอาหารจงหยุดอยู่ที่นี้แหละ 
ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่าน ณ ที่นี้.

ทีฆตปัสสีกล่าวว่า ผู้มีอายุ เรายังไม่ต้องการอาหารดอก 
แล้วกลับจากที่นั้น เข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ 
แล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็น
สาวกของพระโคดมนั้น เป็นความจริงทีเดียว 
ข้าพเจ้าไม่ได้คำที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า 
ข้อที่อุบาลีคฤหบดีพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น 
ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็นคนมีมายา 
ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ ดังนี้ จากท่าน 
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีของท่านถูกพระสมณโคดม 
กลับใจด้วยมายาอันเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้ว.

นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก
ของพระสมณโคดมนั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส 
แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น
เป็นฐานะที่จะมีได้.

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า 
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวก
ของพระสมณโคดมนั้น เป็นความจริงทีเดียว 
ข้าพเจ้าไม่ได้คำที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า
ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น 
ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่าพระสมณโคดมเป็นคนมีมายา 
ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ ดังนี้ จากท่าน
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีของท่านถูกพระสมณโคดมกลับใจ 
ด้วยมายาอันเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้ว.

นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก
ของพระสมณโคดมนั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส 
แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น
เป็นฐานะที่จะมีได้ และกล่าวต่อไปว่า เอาเถอะ ตปัสสี 
เราจะไปเพียงจะรู้เองทีเดียวว่า อุบาลีคฤหบดี 
เข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมจริงหรือไม่?







 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 15:20:11 น.
Counter : 554 Pageviews.  

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 10




กลับมาที่เรื่องอุบาลีคฤหบดี หลังจากที่อุบาลีคฤหบดีตอบคำถาม
พระพุทธเจ้าจนถึงคำถามสุดท้ายเรื่องป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ
อุบาลีก็จนด้วยเหตุผล ที่ถูกถามมาทั้งหมด เป็นเรื่องของมโนทัณฑะ เป็นใหญ่ทั้งสิ้น


อุบาลีคฤหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก

[๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ 
ข้าพระพุทธเจ้าชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคด้วยข้ออุปมา
ข้อแรกแล้ว แต่ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะฟังปฏิภาณก
ารพยากรณ์ปัญหาอันวิจิตร ของพระผู้มีพระภาคนี้ 
ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงยังแกล้งทำเป็นดุจถือตรงกันข้ามอยู่ 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก 
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด 
บอกทางแก่คนที่หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด 

ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด 
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึง
พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ 
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสก 
ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

[๗๒] ดูกรคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ 
การที่มนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่านใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นความดี.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี 
ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ 
การที่มนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่านใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นความดีนี้ 
ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคมากขึ้น 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยว่าพวกอัญญเดียรถีย์ได้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวกแล้ว 
จะพึงยกธงปฏากเที่ยวไปตลอดบ้านนาลันทาทั้งสิ้น 
ซึ่งเป็นเหตุจะได้รู้กันว่า อุบาลีคฤหบดี ถึงความเป็นสาวกของพวกเราดังนี้

แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า 
ดูกรคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ 
ด้วยว่ามนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่าน 
ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นความดี ดังนี้ 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึง
พระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะเป็นครั้งที่ ๒ 

ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า 
เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป. 


[๗๓] ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึงสำคัญบิณฑบาตอันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึง.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุนี้ 
พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า
ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว 
ท่านพึงสำคัญบิณฑบาตอันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึงนี้ 
ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคมากขึ้น 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า 
พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่าควรให้ทานแก่เราเท่านั้น 
ไม่ควรให้ทานแก่คนเหล่าอื่น ควรให้ทานแก่สาวกทั้งหลายของเราเท่านั้น
ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของผู้อื่น ทานที่บุคคลให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก 
ทานที่บุคคลให้แก่สาวกของผู้อื่นไม่มีผลมาก 
แต่ความจริง พระผู้มีพระภาคยังทรงชักชวนข้าพระพุทธเจ้าในการให้ทาน
แม้ในพวกนิครนถ์ 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่าข้าพระพุทธเจ้าจักทราบกาลอันควรในการให้ทานนี้ 
ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
เป็นครั้งที่ ๓
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต 
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

ทรงแสดงอนุบุพพิกถา

[๗๔] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสอนุบุพพิกถาแก่อุบาลีคฤหบดีคือ 
ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทราม เศร้าหมอง 
อานิสงส์ในเนกขัมมะ 

เมื่อใดพระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบอุบาลีคฤหบดีว่ามีจิตควร 
มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส 
เมื่อนั้น จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา 
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ 
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากดำ
ควรได้รับน้ำย้อมด้วยดี ฉันใด 
ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่อุบาลีคฤหบดี
ที่อาสนะนั้นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา 
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ฉันนั้นเหมือนกัน.

ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดีมีธรรมอันเห็นแล้ว 
มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอันรู้แจ้งแล้วมีธรรมอันหยั่งลงมั่นแล้ว 
ข้ามวิจิกิจฉาแล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลาไป ณ บัดนี้ 
ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทำมาก.

ดูกรคฤหบดี ท่านจงรู้กาลอันสมควร ณ บัดนี้เถิด.




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 15:17:34 น.
Counter : 414 Pageviews.  

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 9 (ป่ากาลิงคะ)

เรื่องป่ากาลิงคะ 


ดังได้สดับมา ครั้งพระเจ้านาฬิกีระทรงราชย์ 
ณ แคว้นกลิงคะ ดาบส ๕๐๐ รูป ณ ป่าหิมพานต์ ผู้ไม่เคยได้กลิ่นสตรี 
ทรงหนังเสือเหลืองชฎาและผ้าเปลือกไม้ มีรากไม้ผลไม้ป่าเป็นอาหารอยู่มานาน 
ประสงค์จะเสพอาหารมีรสเปรี้ยวเค็ม ก็พากันมายังถิ่นมนุษย์ 
ถึงนครของพระเจ้านาฬิกีระ แคว้นกลิงคะตามลำดับ. 

ดาบสเหล่านั้นทรงชฎาหนังเสือเหลืองและผ้าเปลือกไม้ 
แสดงกิริยาอันสงบสมควรแก่เพศนักบวช เข้าไปขออาหารยังนคร. 
ครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่เกิด คนทั้งหลายเห็นดาบสนักบวชก็เลื่อมใส 
จัดแจงที่นั่งและที่ยืน มีมือถือภาชนะใส่อาหาร นิมนต์ให้นั่งแล้ว จัดอาหารถวาย. 
เหล่าดาบสบริโภคอาหารเสร็จแล้วก็อนุโมทนา. 
คนทั้งหลายได้ฟังแล้วก็มีจิตเลื่อมใส ถามว่า พระผู้เจริญทั้งหลายจะไปไหน. 
ดาบสตอบว่า จะไปตามที่ที่มีความผาสุก. 
คนเหล่านั้นก็พูดเชิงนิมนต์ว่า พระคุณเจ้าไม่ควรไปที่อื่น 
อยู่เสียที่พระราชอุทยานเถิด พวกเรากินอาหารเช้าแล้ว จักมาฟังธรรมกถา. 
เหล่าดาบสก็รับ ไปยังพระราชอุทยาน. 
ชาวเมืองกินอาหารแล้ว ก็นุ่งผ้าสะอาด ห่มผ้าสะอาด 
หมายจะฟังธรรมกถาเดินกันไปเป็นหมู่ๆ มุ่งหน้าไปยังพระราชอุทยาน. 

พระราชาประทับยืนบนปราสาท 
ทอดพระเนตรเห็นคนเหล่านั้นกำลังเดินไป 
จึงตรัสถามเจ้าหน้าที่ผู้รับใช้ว่า 
พนาย ทำไม ชาวเมืองเหล่านั้นจึงนุ่งห่มผ้าสะอาด 
เดินมุ่งหน้าไปยังสวน ที่สวนนั้น เขามีการชุมนุมหรือฟ้อนรำกันหรือ. 


เจ้าหน้าที่กราบทูลว่า ไม่มีดอก พระเจ้าข้า 
พวกเขาต้องการจะไปฟังธรรมกถาในสำนักเหล่าดาบส. 

ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะไปด้วย บอกให้พวกเขาไปกับเรา. 

เจ้าหน้าที่ก็ไปบอกแก่คนเหล่านั้นว่า 
พระราชาก็มีพระราชประสงค์จะเสด็จไป 
พวกท่านจงแวดล้อมพระราชากันเถิด. 

โดยปกติ พวกชาวเมืองดีใจกันอยู่แล้ว 
ครั้นฟังคำนั้นก็ดีใจยิ่งขึ้นไปว่า พระราชาของเราไม่มีศรัทธา 
ไม่เลื่อมใส ทุศีล เหล่าดาบส มีธรรม อาศัยดาบสเหล่านั้น 
พระราชาจักตั้งอยู่ในธรรมก็ได้. 

พระราชาเสด็จออก มีชาวเมืองแวดล้อม 
เสด็จไปยังพระราชอุทยานทรงปฏิสันถารกับเหล่าดาบส 
แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง. 

เหล่าดาบสเห็นพระราชาก็มอบหมายให้ดาบสรูปหนึ่งผู้ฉลาด 
กล่าวธรรมกถาถวายพระราชา ด้วยถ้อยคำละเมียดละไม 
ดาบส มองดูหมู่คน เมื่อจะกล่าวโทษในเวรทั้ง ๕ 
และอานิสงส์ในศีล ๕ จึงกล่าวโทษในเวรทั้ง ๕ ว่า 
ไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม 
ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา. 

ขึ้นชื่อว่าปาณาติบาต ย่อมส่งผลให้เกิดในนรก 
ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย 
อทินนาทานเป็นต้นก็เหมือนกัน เมื่อหมกไหม้ในนรกแล้ว มาสู่มนุษยโลก 
ปาณาติบาตก็ส่งผลให้เป็นผู้มีอายุสั้น ด้วยเศษแห่งวิบาก 
อทินนาทานก็ส่งผลให้เป็นผู้มีโภคทรัพย์น้อย 
กาเมสุมิจฉาจารก็ส่งผลให้เป็นผู้มีศัตรูมาก 
มุสาวาทก็ส่งผลให้เป็นผู้ถูกกล่าวตู่ (ใส่ความ) 
มัชชปานะ (ดื่มน้ำเมา) ก็ส่งผลให้เป็นคนบ้า. 

แม้โดยปกติ พระราชาก็เป็นผู้ไม่มีความเชื่อ 
ไม่เลื่อมใส เป็นผู้ทุศีล ธรรมดาว่าสีลกถาเป็นคำเลว
สำหรับคนทุศีล จึงเป็นเสมือนหอกทิ่มหู เพราะฉะนั้น 
ท้าวเธอจึงทรงดำริว่า เรามาหมายจะยกย่องดาบสเหล่านี้
แต่ดาบสเหล่านี้กลับพูดกระทบกระเทือนทิ่มแทงเราผู้เดียว 
ท่ามกลางบริษัท ตั้งแต่เรามา เราจักกระทำให้สาสมแก่ดาบสเหล่านั้น. 
เมื่อจบธรรมกถา ท้าวเธอก็นิมนต์ว่า 

ท่านอาจารย์ทั้งหลาย พรุ่งนี้ขอได้โปรดรับอาหารที่บ้านโยม แล้วเสด็จกลับ. 

วันรุ่งขึ้นท้าวเธอให้นำไหขนาดใหญ่ๆ มาแล้วบรรจุคูถ (อุจจาระ) 
จนเต็มแล้ว เอาใบกล้วยมาผูกปากไหเหล่านั้นไว้ 
ให้เอาไปตั้งไว้ ณ ที่นั้นๆ ใส่น้ำผึ้ง น้ำมันยาง 
ต้นกากะทิงและหนามงิ้วหนาๆ เป็นต้นจนเต็มหม้อ 
วางไว้หัวบันได ทั้งให้พวกนักมวยร่างใหญ่ผูกสายรัดเอว 
ถือค้อนคอยทีในที่นั้นแหละ ประทับยืนกล่าวว่า 
พวกดาบสขี้โกงเบียดเบียนเรายิ่งนัก 
ตั้งแต่ดาบสเหล่านั้นลงจากปราสาท 
พวกเจ้าจงเอาหม้อสาดหนามงิ้วไปที่หัวบันได 
เอาค้อนตีศีรษะ จับคอเหวี่ยงไปที่บันได. 
ที่เชิงบันไดก็ให้ผูกสุนัขดุๆ เอาไว้. 


ฝ่ายเหล่าดาบสก็คิดว่า 
พวกเราจักบริโภคอาหารในเรือนหลวงวันพรุ่งนี้ 
ก็สอนซึ่งกันและกันว่า ขึ้นชื่อว่าเรือนหลวง น่าสงสัย 
น่ามีภัย ธรรมดาบรรพชิตพึงสำรวมในทวารทั้ง ๖ 
ไม่ควรถือนิมิตในอารมณ์ที่เห็นแล้วๆ พึงตั้งเฉพาะความสำรวมในจักษุทวาร. 

วันรุ่งขึ้น เหล่าดาบสก็กำหนดรู้เวลาทำอาหาร 
จึงนุ่งผ้าเปลือกไม้ ห่มหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง มุ่นชฎา 
ถือภาชนะใส่อาหาร ขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ตามลำดับ. 

พระราชาทรงทราบว่าดาบสขึ้นมาแล้ว 
ก็ให้นำเอาใบกล้วยออกจากปากไหคูถ 
กลิ่นเหม็นก็กระทบโพรงจมูกของดาบส 
ถึงอาการประหนึ่งเยื่อสมองตกล่วงไป. 

ดาบสผู้ใหญ่ก็จ้องมองพระราชา.

พระราชาตรัสว่า มาซิ ท่านผู้เจริญ 
จงฉัน จงนำไปตามความต้องการ นั่นเป็นของเหมาะแก่พวกท่าน 
เมื่อวานเรามาหมายจะยกย่องพวกท่าน 
แต่พวกท่านกลับพูดกระทบเสียดแทงเราผู้เดียว 
ท่ามกลางบริษัท พวกท่านจงฉันของที่เหมาะแก่พวกท่าน 
แล้วสั่งให้เอากระบวย ตักคูถไปถวายดาบสผู้ใหญ่.

ดาบสก็ได้แต่พูดว่า ชิชิ แล้วก็กลับไป. 

พระราชาตรัสว่า พวกท่านต้องไปทางนี้ทางเดียว 
แล้วให้สัญญาณแก่คนทั้งหลาย ให้เอาหม้อสาดหนามงิ้วที่บันได. 
พวกนักมวยก็เอาค้อนตีศีรษะ จับคอเหวี่ยงไปที่บันได. 
ดาบสแม้รูปเดียวก็ไม่อาจยืนได้ที่บันได. 
ดาบสทั้งหลายก็กลิ้งลงมาถึงเชิงบันได 
เมื่อถึงเชิงบันไดแล้ว ฝูงสุนัขดุคิดว่าแผ่นผ้าๆ ก็รุมกันกัดกิน. 
บรรดาดาบสเหล่านั้นแม้รูปใดลุกขึ้นหนีไปได้ 
รูปนั้นก็ต้องตกลงไปในหลุม 
ฝูงสุนัขก็ตามไปกัดกิน ดาบสนั้นในหลุมนั้นนั่นแหละ 
ดังนั้น ร่างกระดูกของดาบสเหล่านั้นจึงไม่หลงเหลืออยู่เลย. 

พระราชาทรงปลงชีวิตดาบส ๕๐๐ รูปผู้
สมบูรณ์ด้วยตบะลงด้วยเวลาวันเดียวเท่านั้นด้วยประการฉะนี้. 

ครั้งนั้น เหล่าเทวดาบันดาลฝน ๙ ชนิด 
ให้ตกลงมาอีกในแว่นแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นโดยนัยก่อนนั่นแล 
แคว้นของพระราชาพระองค์นั้นถูกกลบด้วยกองทรายสูงถึง ๖๐ โยชน์. 

เพราะเหตุนั้น สรภังคโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า 

พระเจ้านาฬิกีระพระองค์ใดทรงลวงเหล่านักบวช 
ผู้สำรวม ผู้กล่าวธรรม ผู้สงบ ไม่เบียดเบียนใคร 
ฝูงสุนัขย่อมรุมกันกัดกินพระเจ้านาฬิกีระพระองค์ 
นั้น ผู้ซึ่งกลัวตัวสั่นอยู่ในโลกอื่น. 
พึงทราบว่า ป่ากาลิงคะเป็นป่าไปด้วยประการฉะนี้.




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 15:12:48 น.
Counter : 428 Pageviews.  

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 8 (ป่าทัณฑกี)

ต่อมา เหล่าเทวดาก็บรรดาลฝนดอกมะลิตกลงมา มหาชนก็ดีใจยิ่งขึ้นไปอีก 


ต่อมาเหล่าเทวดาก็บันดาลฝนมาสก ฝนกหาปณะให้ตกลงมา 

เข้าใจว่าคนทั้งหลายจะออกมาเก็บ จึงบันดาลฝนเครื่องประดับมือ 
ประดับเท้า ประดับเอวเป็นต้นให้ตกลงมา 

มหาชนก็ลงมายังปราสาท ๗ ชั้นทางข้างหลัง ต่างประดับอาภรณ์ 
ดีใจว่า การถ่มน้ำลายรดชฎิลขี้โกง สมควรแท้หนอ 
ตั้งแต่ถ่มน้ำลายลงบนชฎิลขี้โกงนั้น พระราชาของเราก็เจริญ 
ทรงปราบข้าศึกสำเร็จ วันเสด็จกลับฝนยังตกลงมา 

ต่อนั้น ฝน ๔ อย่าง คือ ฝนดอกมะลิ ฝนมาสก ฝนกหาปณะ 
ฝนเครื่องประดับเอว ก็เกิด เปล่งวาจาดีใจอย่างนี้แล้ว 
ก็อิ่มเอิบในกรรมที่พระราชาทรงทำผิด. 

สมัยนั้น เหล่าเทวดาก็บันดาลอาวุธต่างๆ ที่มีคมข้างเดียว 
สองข้างเป็นต้น ให้ตกลงมาปานเชือดเนื้อมหาชนบนแผ่นเขียง. 
ต่อจากนั้น ก็บันดาลถ่านเพลิงมีสีดังดอกทองกวาว ปราศจากเถ้าและควัน 
บันดาลก้อนหินขนาดเรือนยอด 
บันดาลทรายละเอียดที่กอบกำไม่อยู่ให้ตกลงมา 
ถมพื้นที่สูงขึ้นถึง ๘๐ ศอก. 

ในแว่นแคว้นของพระราชา มนุษย์ ๓ คน 
คือ ท่านกีสวัจฉดาบส ท่านเสนาบดีและคนที่ยินดีเลี้ยงดูมารดา เป็นผู้ไม่มีโรค. 
ในแหล่งน้ำดื่มก็ไม่มีน้ำดื่ม ในแหล่งหญ้าก็ไม่มีหญ้า 
สำหรับสัตว์ดิรัจฉานที่เหลือ ผู้ไม่ได้ร่วมในกรรมนั้น. 

สัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้นก็ไปยังแหล่งที่มีน้ำดื่ม 
มีหญ้า ไม่ทันถึง ๗ วัน ก็พากันไปนอกราชอาณาจักร.

เพราะเหตุนั้น สรภังคโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า 

พระเจ้าทัณฑกีทรงให้ร้ายกีสวัจฉดาบส ทรงขาด 
คุณธรรมเบื้องต้น พร้อมทั้งมหาชน พร้อมทั้งแว่น 
แคว้น ก็ตกนรกขุมกุกกุละ ถ่านไฟคุโชนก็ตกไป 
ที่พระกายของท้าวเธอ ดังนี้. 

พึงทราบว่า ป่าทัณฑกีเป็นป่าไปดังกล่าวมาฉะนี้.






ในเรื่องนี้มีการกล่าวถึงไม้สีฟัน
คนไทยเราอาจจะไม่ทราบว่าที่อินเดียเขาใช้ไม้สีฟันกันอย่างไร

ตอนเช้า ตามตลาด สถานีรถไฟ ในหมู่บ้านหรือว่าตามสถานที่ที่มีการอาบน้ำ
อย่างเช่นบ่อน้ำร้อน จะมีไม้สีฟันขาย




วางขายอย่างนี้ หรือเดินเร่ขายก็แล้วแต่ อันละไม่กี่รูปี
ความยาวมาตรฐาน ไม่เกิน 8 นิ้ว
ส่วนใหญ่จะมาจากกิ่งข่อย
คนอินเดียจะเอามากัด ๆ ๆ ปลายด้านหนึ่งจนแตก
แล้วก็เอามาถู ๆ ๆ ๆ ที่ฟัน ถู ๆ ๆ ไปแล้วก็กัด ๆ ๆ ๆ เคี้ยว ๆ ๆ ๆ 
จนกระทั้งคิดว่าฟันของตนสะอาดแล้ว
จึงหักตรงกลางให้เป็นมุมฉาก แล้วเอาขูดลิ้น
จากนั้นก็โยนทิ้งไป ในเรื่องต้องเอาไปโยนที่มวยผมของดาบส
ถ้ามีสัก 100 อัน จะเป็นอย่างไร
ถึงได้บอกว่าไปกันใหญ่แล้ว 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 15:15:38 น.
Counter : 990 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

venfaa
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




นกเทพย่อมมีบารมีของเทพ
สายลมอ่อนๆ เบาสบาย
มือพัดไปมา จิตตรองกลยุทธ์
วางแผนจัดการได้ทุกเรื่องในโลก


venfaa
Friends' blogs
[Add venfaa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.