นกเทพย่อมมีบารมีของเทพ สายลมอ่อนๆ เบาสบาย มือพัดไปมา จิตตรองกลยุทธ์ วางแผนจัดการได้ทุกเรื่องในโลก
Group Blog
 
All Blogs
 

วัดไทยพุทธคยา 3






เมื่อพรหมทั้งหลายมีความน้อยเนื้อต่ำใจฉะนี้ 
แล้วก็ชวนกันไปสู่ที่อยู่แห่งตน 
ถ้าในกัลป์ใดเขาเห็นบัวกอนั้นมีดอกหนึ่ง หรือสองดอก 
พรหมทั้งหลายก็บังเกิดความโสมนัสยิ่งนัก 
จึงกล่าวด้วยความยินดีซึ่งกันและกันว่า 
ดูราชาวเราทั้งหลาย ในกัลป์นี้มีพระพุทธเจ้ามาบังเกิด
ชาวเราทั้งหลายจักได้เห็นพระปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า 
ในขณะเมื่อพระองค์มาถือเอาปฏิสนธิ ๑ 
เมื่อประสูติ ๑ 
เมื่อออกบวช ๑ 
เมื่อตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ๑ 
เมื่อเทศนาธรรมจักร ๑ 
เมื่อทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ ๑ 
เมื่อเสด็จลงจากดาวดึงส์ ๑ 
ปลงสังขารเมื่อจะสิ้นพระชนมายุ ๑ 
และในขณะเมื่อปรินิพพาน ๑ 
อบายทั้ง ๔ จักเปล่าเสีย 
ฉกามาพจรและพรหมโลกก็จักเต็มไปด้วยหมู่เทวดาทั้งหลายเป็นเที่ยงแท้ 
พรหมทั้งหลายมีความยินดีด้วยประการฉะนี้ 
แล้วก็ชวนกันไปสู่ที่อยู่แห่งตน 
ทุกๆ กัลป์ที่บังเกิดขึ้นใหม่พรหมทั้งหลายย่อมลงมาดูนิมิต
อันจักลงมาบังเกิดและไม่ลงมาบังเกิดแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 
อันนี้เป็นธรรมดา ครั้นมาในภัททกัลป์แห่งเรานี้ 
พรหมทั้งหลายก็ลงมาดูเห็นดอกบัวมีอยู่ในก้านเดียวกันถึง ๕ ดอก 
ก็รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้าจะลงมาบังเกิดถึง ๕ พระองค์แท้ไซร้ 
พรหมทั้งหลายที่อยู่ในชั้นอาภัสสราแต่ก่อนนั้น 
ครั้นจุติด้วยสามารถสิ้นบุญ ก็ได้ลงมาถือเอาปฏิสนธิเป็นอุปปาติก 
มีร่างกายอันสูงใหญ่ได้ ๑๐๐ โยชน์ 
และมีรัศมีรุ่งเรืองเช่นเดียวกับเมื่ออยู่ในชั้นอาภัสสรานั้น 
เมื่อมาได้ลิ้มรสแห่งดินแล้ว 
แสงสว่างแห่งรัศมีและฌานที่มีอยู่นั้นก็เสื่อมหายไปทั้งสิ้น 
ภัยแห่งความมืดก็บังเกิดมีขึ้นเป็นที่น่ากลัวยิ่งนัก 
ครั้งนั้นพระอาทิตย์มีปริมณฑลอันกว้างใหญ่ถึง ๕๐ โยชน์ก็บังเกิดขึ้น 
กำจัดอากาศอันน่ากลัวไปเสียให้พ้นแล้ว 
ก็บังเกิดอากาศอันกล้าหาญปรากฏออกมา 
เมื่อพรหมทั้งหลายเห็นปริมณฑลแห่งพระอาทิตย์
ปรากฏออกมาดังนั้นก็มีความยินดียิ่งนัก 
จึงกล่าวว่าเราทั้งหลายได้เห็นรัศมีอันแจ้งคราวนี้ 
ท่านผู้นี้มากำจขัดภัยอันน่ากลัวไปเสียแล้ว 
ให้บังเกิดความกล้าหาญแก่เราฉะนี้ 
เหตุนี้ท่านผู้นี้จงมีชื่อว่าสุริโยนั้นเถิด 
พรหมทั้งหลายจึงให้ชื่อพระอาทิตย์ว่าสุริยะนั้นแล 

ครั้นพระรัศมีแห่งพระสุริยอาทิตย์ลับลงไปในทางทิศตะวันตกดังนั้น 
พรหมทั้งหลายก็บังเกิดความกลัวขึ้น จึงกล่าวแก่กันว่า 
รัศมีอันเราได้เห็นนี้หายไปเสียจากเราแล้ว 
ถ้าหากว่ามีรัศมีอันอื่นบังเกิดแก่เราไซร้ 
เราทั้งหลายจักมีความยินดียิ่งนัก 
ในขณะเมื่อพรหมเจรจากันอยู่นั้น 
พระจันทร์มีปริมณฑลอันกว้างใหญ่ถึง ๔๙ โยชน์ 
ก็ปรากฏออกมา พรหมทั้งหลายเมื่อได้เห็นปริมณฑลแห่งพระจันทร์
ก็มีความยินดียิ่งนัก จึงกล่าวว่าท่านผู้นี้จงมีชื่อว่าจันทร์นั้นเถิด 
โวหารคำว่าจันทร์นั้นจึงเรียกกันต่อมาเท่ากาลบัดนี้แล

ในกาลเมื่อพระอาทิตย์และพระจันทร์บังเกิดมาครั้งนั้น 
หมู่ดาวทั้งหลายก็บังเกิดมาพร้อมกับด้วยพระจันทร์ 
ส่วนกลางวันและกลางคืนและฤดูทั้ง ๓ 
ก็บังเกิดแต่กาลนั้นนั้นมา เขาสิเนรุและเขาสัตตภัณฑ์ 
จักรวาล น้ำในมหาสมุทร ทวีปใหญ่ทั้ง ๔ และทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีป 
ป่าหิมพานต์ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็บังเกิดขึ้นพร้อมกัน 
ไม่มีก่อนมีหลังในวันเดือน ๖ เพ็ญนั้นแล

แผ่นดินนี้มีสัณฐานประดุจข้าวต้มอันข้น 
เดือดอยู่ในเวลาที่ยกลงมาไว้ให้เย็นนั้น 
บางแห่งก็สูงกว่าเพื่อน บางแห่งก็ต่ำๆ สูงๆ 
บางแห่งก็เป็นบ่อลึกลงไป อันนี้มีฉันใด 
พื้นแห่งแผ่นดินก็มีสัณฐานฉันนั้น 
ที่สูงกว่าเพื่อนเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุ 
ที่ต่ำๆ สูงๆ นั้นเปรียบเหมือนภูเขาน้อยใหญ่ทั้งหลาย 
ที่ลึกเป็นร่องลงไปนั้นเปรียบเหมือนน้ำมหาสมุทร 
ที่ราบเสมอนั้นเปรียบเหมือนพื้นแผ่นดินธรรมดาฉะนี้แล 



ขอขอบคุณคุณสมชัย สมาชิกเว็บลานพระพุทธศาสนา เอื้อเฟื้อภาพดอกบัว




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 11:33:53 น.
Counter : 440 Pageviews.  

วัดไทยพุทธคยา 2

ท่านเจ้าคุณได้แจกรูปดอกบัวที่มีสามดอกในก้านเดียว

ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในกัปป์นี้เลยทีเดียว
ดอกบัวนั้นเป็นบัวที่ท่านเลี้ยงไว้ในอ่างบัวบริเวณหน้ากุฎิ
ลูกศิษย์ลูกหาตื่นเต้นกันใหญ่
เลยถ่ายรูปกันไว้ทำบอร์ดและเมื่อดอกบัวแห้งก็ทับไว้ให้แบน
เก็บใส่กรอบเอาไว้ให้ดูเป็นหลักฐานด้วย





จะขอพูดถึงความมหัศจรรย์ของดอกบัว 1 ก้าน 3 ดอก

(๑) แต่นี้ไปจักกล่าวด้วยเรื่องตั้งภัททกัลป์ 
เป็นกาลอันบังเกิดแห่งพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ 
มีพระกกุสนธ์เป็นต้น และมีพระศรีอริยเมตตไตย์เป็นที่สุด 
ในพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์นี้ 
นักปราชญ์ผู้ประกอบไปด้วยคัมภีรปัญญา 
จึงกดหมายว่า ตั้งแต่ไฟไหม้กัลป์ก่อนกัลป์นี้ไป 
ตั้งแต่ชั้นอาภัสสราลงมาภายต่ำว่างเปล่าเป็นอากาศอยู่หาที่สุดมิได้ 
แล้วก็มีมหาเมฆตั้งขึ้น ฝนก็ตกลงมาเพื่อจักให้บริบูรณ์นี้ไซร้ 
ตกลงมาทีแรกเป็นเม็ดละเอียดประดุจน้ำค้าง แล้วโตขึ้นๆ 
เท่าปลายข้าวเท่าเม็ดข้าวสาร และเม็ดถั่วเขียว 
เท่าลูกพุทราและมะขามป้อม และโตเท่าลูกน้ำเต้าและลูกฟักเขียว 
ทวีขึ้นไปทุกทีๆ โตถึงครึ่งโยชน์และสองโยชน์ 
ตลอดถึงพันโยชน์ ตกเต็มทั่วไปในแสนโกฏิจักรวาล 
ตามเขตที่ไฟไหม้นั้น น้ำก็ท่วมขึ้นไปถึงชั้นอาภัสสราโพ้น 
ฝนนั้นจึงหาย ส่วนใต้น้ำนั้นลมพัดดันไว้ทางด้านขวาง 
ครั้นลมหายแล้วน้ำก็เป็นแท่งประดุจดังเอาใบบัวห่อน้ำไว้ ฉะนั้น 

เมื่อลมกระทำให้เป็นก้อนเป็นแท่งแล้วก็แตกลงโดยลำดับกัน 
ถึงที่พรหมอยู่เมื่อก่อนก็บังเกิดเป็นภูมิขึ้น 
เพื่อให้เป็นที่เกิดแห่งพรหมทั้งหลายที่เกิดมาภายหลัง 
เป็นชั้นๆ ลงมาถึงชั้นกามาวจรภูมิ แต่ก่อนนั้นลมมีกำลังยิ่งนัก 
พัดน้ำให้แขวนอยู่เหมือนดังปิดปากธรรมกรกนั้นแล 
ผิว่าน้ำภายบนนั้นเกิดเป็นรสหวานแล้วก็แห้งเกิดเป็นแผ่นดินลอยอยู่ภายบนน้ำ 
ประดุจดังดอกบัวอันลอยอยู่เหนือผิวน้ำ 
จึงได้เรียกว่าแผ่นดินและแผ่นดินนั้นมีวรรณะและมีรสหอมยิ่งนัก 
เป็นแผ่นประดุจดังน้ำข้าวต้มอันอยู่ภายบนฉะนั้น 
ในที่ประดิษฐานแห่งไม้มหาโพธิแต่ก่อนนั้น 
ครั้นมาถึงกาลสมัยที่ไฟไหม้ล้างกัลป์นี้ ใ
นที่นั้นก็ฉิบหายภายหลังที่สุด เมื่อจะตั้งกัลป์ก็ตั้งขึ้น ณ ที่นั้นก่อนไซร้

ในที่นี่จักกล่าวด้วยนิมิตอันพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 
จักมาบังเกิดและบ่มิได้มาบังเกิดในกัลป์ทั้งหลาย 

ให้พึงรู้ดังนี้ว่า ยังมีกอบัวกอหนึ่งบังเกิดขึ้นในที่โพธิบัลลังก์ 
แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีเที่ยงแท้ 
ผิว่าพระพุทธเจ้าบ่มิได้มาบังเกิดในกัลป์ในกัลป์นั้น 
กอบัวกอนั้นก็หาดอกบ่มิได้ 
ผิว่าพระพุทธเจ้าจักมาบังเกิดในกัลป์นั้น 
พระองค์หนึ่งหรือสอง สาม สี่ ห้า พระองค์ก็ดี 
บัวกอนั้น ก็มีดอกๆ หนึ่งหรือสอง สาม สี่ ห้า ดอกตามพระพุทธเจ้า 
ที่จะลงมาบังเกิดน้อยและมาก อันนี้เป็นธรรมดา 
และในกัลป์หนึ่งจะมากกว่า ๕ พระองค์ไป ก็ยังไม่ปรากฏ 
ดอกบัวนั้นแม้ว่าจะมีดอกหนึ่ง หรือสอง สาม สี่ ห้า 
ดอกก็ตาม ย่อมมีก้านๆ เดียวเท่านั้น 
จะมีหลายก้านอย่างดอกบัวธรรมดานี้หามิได้แล 
เหตุว่าพรหมทั้งหลายที่อยู่ในชั้นสุทธาวาสโน้น 
เขาเจรจากันว่า ดูราชาวเราทั้งหลาย ใ
นกัลป์นี้จะมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิดกี่พระองค์ 
หรือว่าไม่มีมาบังเกิด แม้แต่พระองค์เดียวประการใด 
มาเราทั้งหลายจงพากันลงไปดูนิมิตแห่งดอกปทุมนั้นก่อน 
ว่าแล้วก็พากันลงมาสู่ที่อันพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จักได้มาตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ 
ถ้าในกัลป์ใดไม่มีพระพุทธเจ้าลงมาบังเกิด 
ก็เห็นแต่กอบัวเปล่ามิได้เห็นดอกบัว 
เมื่อเป็นเช่นนั้นพรหมทั้งหลายก็บังเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจยิ่งนัก 
จึงเจรจากันว่า ดูราชาวเราทั้งหลาย 
มนุษยโลกทั้งหลายอันมาเกิดในกัลป์นี้ 
จักมืดมัวหลงจากการทำบุญให้ทาน 
อันเป็นคลองแหงพระนิพพาน 
ครั้นว่าจุติจากชาติอันเป็นมนุษย์นี้แล้ว 
ก็จักไปจมอยู่ในจตุราบาย ส่วนพรหมโลกนั้นเล่า 
ก็จักเปล่าเสียจากพรหมทั้งหลาย 





 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 11:31:52 น.
Counter : 620 Pageviews.  

วัดไทยพุทธคยา 1

ต่อไปก็จะได้นำไปชมวัดไทยพุทธคยา

ซึ่งเป็นที่พักพิงหลัก ๆ ของคนไทยที่ไปแสวงบุญที่อินเดีย




พระอุโบสถเป็นแบบย่อส่วนจากพระอุโบสถวัดเบญจมบพิธ
จัดว่าเป็นอุโบสถที่มีความวิจิตรที่สุดในบรรดาวัดนานาชาติที่คยานี้
ความรู้สึกอันนี้ไม่ทราบว่าชาติอื่นคิดเหมือนกันหรือเปล่า
หรือเขาจะมีความรู้สึกว่าของชาติเขางดงามกว่า ก็ไม่ทราบได้
แต่ดูโดยรวมแล้วคนไทยเราก็ทราบอยู่แล้วว่า
ศิลปกรรมของไทยเรามีความอ่อนช้อยงดงามไม่แพ้ชาติไหน ๆ 
ภายในพระอุโบสถก็จะมีพระประธานที่สร้างเลียนแบบพระพุทธชินราช ที่พิษณุโลก




จากนั้นก็ได้เข้าไปกราบท่านเจ้าคุณ ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าในการเผยแผ่
พระศาสนาในประเทศอินเดีย มาหลายสิบปี
ท่านเป็นผู้ที่มีความเมตตามาก จนสามารถสัมผัสได้จากความรู้สึกเลยทีเดียว
ท่านเจ้าคุณยังชวนมากินข้าวที่วัด ท่านบอกว่ามีอาหารที่คนไทยหิ้วมาฝากมากมาย
ปลาหมึก ปลาต่าง ๆ หมูเนื้อต่าง ๆ ที่หาไม่ได้ในประเทศอินเดีย
ซึ่งวันรุ่งขึ้นก็ได้มาฝากท้องไว้ที่นี่ 
เห็นคนในคณะบอกว่าอบอุ่นเหมือนอยู่เมืองไทยเลย







ปล ข้อมูล ปี2013 ท่านเจ้าคุณมรณะภาพไปแล้ว 2 ปี
ปัจจุบันมีเจ้าอาวาสใหม่ คือเจ้าคุณ พระราชรัตนรังสี อดีตประธานสงฆ์วัดไทยกุสินารา




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 11:18:59 น.
Counter : 731 Pageviews.  

วัดนานาชาติ พุทธคยา 5

  ต่อไปเป็นพระปุณณมันตานีบุตร 

ผู้เป็นเลิศในด้านพระธรรมกถึก





ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล 
ในบ้านพราหมณ์ ชื่อว่า โทณวัตถุ ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ 
เดิมชื่อ "ปุณณ" เรียกนามตามที่เป็นของนางมันตานีพราหมณี ว่า ปุณณมันตานีบุตร 
ปุณณมาณพเป็นหลานของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ 
เพราะนางมันตานีพราหมณีผู้เป็นมารดาเป็นน้องสาวของท่าน 
การที่ปุณณมาณพจะได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา 
ก็เพราะอาศัยพระอัญญาโกณฑัญญะผู้เป็นลุง 
เป็นผู้ชักนำมาให้บวชในเมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ 
ณ กรุงราชคฤห์ ท่านได้ไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ให้ปุณณมาณพ
ผู้เป็นหลายชายบวชในพระพุทธศาสนา 
ครั้นพระปุณณะบวชแล้วไปอยู่ในประเทศชื่อ ชาติภูมิ 
บำเพ็ญเพียรไม่นามนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล 

ท่านพระปุณณะตั้งอยู่ในธรรม ๑๐ อย่าง คือ 
๑. มักน้อย ๒. สันโดษ ๓. ชอบสงัด ๔. ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยหมู่ 
๕. ปรารภความเพียร ๖. บริบูรณ์ด้วยศีล ๗. สมาธิ ๘. ปัญญา 
๙. วิมุตติ ๑๐. ความรู้เห็นในวิมุตติ 

แม้เมื่อมีบริษัท ท่านก็สั่งสอนให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมสิบประการ 
ครั้นต่อมาภิกษุที่เป็นบริษัทของท่านลาไปเฝ้าพระบรมศาสดา 
ทูลพรรณนาคุณพระอุปัชฌาย์ของตนว่าตั้งอยู่ในคุณธรรมสิบประการนั้น 
และสั่งสอนให้บริษัท ตั้งอยู่ในคุณธรรมสิบประกานนั้นด้วย 
ในเวลานั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ ณ ที่นั้น 
ได้ยินภิกษุเหล่านั้นทูลพรรณนาคุณของพระปุณณะ 
มีความประสงค์อยากจะรู้จักและสนทนาด้วย 
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาเมืองสาวัตถีแล้ว 
ท่านพระปุณณะมาเฝ้า พอหลีกไปจากที่เฝ้าแล้ว 
พระสารีบุตรทราบข่าว จึงเข้าไปหาสนทนาปราศรัยกันแล้ว 
ไต่ถามถึงวิสุทธิ ๗ ประการ 
ท่านพระปุณณะก็วิสัชนาชักอุปมาอุปมัยเปรียบด้วยรถ ๗ ผลัด 
ในที่สุดแห่งการปุจฉาวิสัชนาวิสุทธิ ๗ ประการนั้น 
พระเถระทั้งสองก็อนุโมทนาภาษิตของกันและกัน 

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรนั้น 
อาศัยความที่ตนตั้งอยู่ในคุณธรรมเช่นใดแล้ว 
สอนผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมเช่นนั้นด้วย 
พระบรมศาสดาจึงยกย่องสรรเสริญว่า 
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก 
ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่สมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 11:13:30 น.
Counter : 572 Pageviews.  

วัดนานาชาติ พุทธคยา 4



องค์ต่อไปเป็นพระมหากัสสป
ผู้เป็นเลิศในด้านธุดงควัตร
รูปแกะสลักดูมีริ้วรอยของความชราเนื่องจากพระสาวกองค์นี้มีอายุมาก
เป็นผู้ที่มีอาวุโสที่สุดตอนที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1






ต่อไปพระราหุล
ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ในการศึกษา






ต่อไป พระอนุรุทธ
ผู้เป็นเลิศในด้านมีทิพย์จักษุ





จะขอเล่าประวัติคร่าว ๆ เอาไว้นะครับ
ส่วนองค์ที่ไม่ได้กล่าวถึงจะไปกล่าวถึงที่เชตวันมหาวิหาร

พระอนุรุทธะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ 
ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ 
ประสูติร่วมพระมารดาเดียวกัน ๓ พระองค์ คือ 
พระเชฏฐา (พี่ชาย) พระนามว่า มหานามะ 
พระกนิฏฐภคินี (น้องสาว) พระนามว่า โรหิณี 
รวมเป็น ๓ กับอนุรุทธกุมาร 
ถ้าจะนับตามลำดับพระวงศ์ก็เป็นพระอนุชาของพระบรมศาสดา 
อนุรุทธกุมารเป็นกษัตริย์สุมุมาลชาติ 
มีปราสาท ๓ หลังเป็นที่ประทับใน ๓ ฤดู 
สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ศฤงคาร* และบริวารยศ 
แม้แต่คำว่า ไม่มี ก็ ไม่เคยรู้จัก และไม่เคยได้สดับเลย 

เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมของมัลลกษัตริย์ 
ในเวลานั้น ศากยกุมารซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมีคนรู้จักมาก 
ออกบวชตามพระบรมศาสดาเป็นจำนวนมาก 
วันหนึ่งเจ้ามหานามะผู้เป็นพระเชฏฐา 
ได้ปรารภกับอนุรุทธะผู้น้องว่า พ่ออนุรุทธะ 
ในตระกูลของเรายังไม่มีใคร ๆ ออกบวชตามพระบรมศาสดาเลย 
เจ้า หรือพี่คนใดคนหนึ่งควรจะออกบวช 
อนุรุทธะตอบว่า น้องเป็นคนที่เคยได้รับแต่ความสุขสบาย 
ไม่สามารถจะออกบวชได้ พี่บวชเองเถิด 
เจ้ามหานามะจึงกล่าวขึ้นว่า ถ้าอย่างนั้น 
เจ้าจงเรียนให้รู้จักการงานของผู้ครองเรือนเสียก่อน 
พี่จะสอนให้ เจ้าจงตั้งใจฟัง ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว 
เจ้ามหานามะจึงสอนการงานของผู้ครองเรือน 
โดยยกเอาวิธีการทำนาเป็นอันดับแรกขึ้นมาสอน 
เมื่ออนุรุทธะได้ฟังแล้วก็เห็นว่าการงานไม่มีที่สิ้นสุดเบื่อหน่ายในการงาน 
พูดกับพี่ชายว่า ถ้าอย่างนั้น พี่อยู่ครองเรือนเถิด 
น้องจักบวชเอง ครั้นอนุรุทธะกล่าวอย่างนั้นแล้ว
จึงเข้าไปหาพระมารดาทูลว่า แม่ หม่อมฉันอยากจะบวช 
ขอพระแม่เจ้าจงอนุญาติให้หม่อมฉันบวชเถิด 
แม้ถูกพระมารดาตรัสห้าม ไม่ยอมให้บวช 
ท่านก็ยังอ้อนวอนขอให้อนุญาตให้บวชเป็นหลายครั้ง 
เมื่อมารดาเห็น ดังนั้นจึงคิดอุบายที่จะไม่ให้อนุรุทธะบวช 
ดำริถึง พระเจ้าภัททิยะผู้เป็นพระสหายของอนุรุทธะ 
ท่านคงจะไม่ออกบวชเป็นแน่ จึงพูดว่า 
พ่ออนุรุทธะ ถ้าพระเจ้าภัททิยะบวชด้วยจงบวชเถิด 
อนุรุทธะได้ฟังอย่างนั้นแล้วก็ไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยะ 
ทูลตามวาทะของผู้ที่คุ้นเคยกันว่า 
เพื่อนเอ๋ย บรรพชาของเรา เนื่องด้วยบรรพชาของท่าน 
ในตอนแรก พระเจ้าภัททิยะ ทรงปฏิเสธไม่ยอมบวช 
ในที่สุดเมื่อทนการอ้อนวอนไม่ได้ก็ตกลงใจยินยอมบวชด้วย 
อนุรุทธะจึงชักชวนศากยกุมารอื่นได้อีก ๓ คน คือ 
อานันทะ,ภคุ,กิมพิละ โกลิยกุมาร อีกองค์หนึ่ง คือ เทวทัต 
รวมทั้งอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาเป็น ๗ 
พร้อมใจกันเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยนิคม 
ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย เมื่ออนุรุทธะได้อุปสมบทแล้ว 
เรียนกรรมฐานในสำนักของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร 
แล้วเข้าไปอยู่ในป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน 

เมื่อพระอนุรุทธะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ได้ตรึกตรองถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการ คือ

๑. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความมักมาก 
๒. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ 
๓. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะ 
๔. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน 
๕. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีสติหลง 
๖. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง 
๗. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม 

เมื่อพระอนุรุทธะตรึกอยู่อย่างนี้ 
พระบรมศาสดาเสด็จมาถึงทรงทราบเหตุนั้นจึงทรงอนุโมทนาว่า 
ชอบละ ๆ อนุรุทธะ เธอตรึกตรองธรรมที่พระมหาบุรุษตรึกตรอง 
ถ้าอย่างนั้น เธอจงตรึกตรองธรรมที่พระมหาบุรุษตรึกข้อที่ ๘ ว่า 
"ธรรมนี้ เป็นธรรมของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ให้เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมเนิ่นช้า" 

ครั้นตรัสสอนอนุรุทธะอย่างนี้แล้วก็เสด็จกลับสู่ที่ประทับ 
ส่วนพระอนุรุทธะบำเพ็ญความเพียรต่อไปก็ได้บรรลุ 
เป็นพระอรหันต์ ตั้งแต่นั้นมาท่านก็เล็งแลดูสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุอยู่เสมอ 
เล่ากันว่ายกเว้นแต่เวลาฉันเท่านั้น 
เวลาที่เหลือท่านย่อมพิจารณาแลดูหมู่สัตว์ทั้งปวงด้วยทิพยจักษุ 
ด้วยเหตุนี้เอง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสยกย่อง สรรเสริญท่านว่า 
เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างผู้มีทิพยจักษุญาณ 
ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน. 









 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 11:11:29 น.
Counter : 622 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

venfaa
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




นกเทพย่อมมีบารมีของเทพ
สายลมอ่อนๆ เบาสบาย
มือพัดไปมา จิตตรองกลยุทธ์
วางแผนจัดการได้ทุกเรื่องในโลก


venfaa
Friends' blogs
[Add venfaa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.