สิ่งใดไม่เคยมีมา ก็มีมา สิ่งใดมีมา ก็ดับไป 0พ่อใหญ่ แมนอีหลี
Group Blog
 
All blogs
 

ทึ่ง! กลยุทธ์ศึก รัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนสถานะชาวสยาม จาก "แพ้" เป็น "ชนะ"

ทึ่ง! กลยุทธ์ศึก รัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนสถานะชาวสยาม จาก "แพ้" เป็น "ชนะ"

--------------------------------------------------------------------------------

ภายหลังการต่อสู้อย่างกล้าหาญกับลัทธิจักรวรรดินิยมไม่เป็นผล สยามเริ่มมองเห็นสัจธรรมว่าสงครามครั้งนี้ ไม่อาจเอาชนะด้วยกำลังพลอีกต่อไป การสู้รบแบบใหม่จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีติดอาวุธทางความคิดแทน เพื่อเผชิญศึกทั้ง ๒ ด้านพร้อมๆ กัน ศึกด้านหนึ่งเป็นยุทธวิธีรบทางกายภาพ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นการเอาชนะใจศัตรูซึ่งต้องทำคู่กัน นอกเหนือไปกว่านั้น ยังมีความจำเป็นต้องย้ายสมรภูมิเข้าไปในแดนข้าศึก จะได้หาโอกาสคลุกวงใน เพื่อความได้เปรียบทางยุทธวิธี และเพื่อแสวงหาพันธมิตรในหมู่ข้าศึกด้วยกันเอง ความเหนือชั้นทางทฤษฎี คือความเป็นต่อทางยุทธศาสตร์ แต่แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงถูกทอดทิ้ง ให้ต้องเผชิญหน้าข้าศึกที่ไม่มีวันชนะพร้อมกับทางเลือกให้ยอมแพ้ หรือยอมสวามิภักดิ์ แต่พระองค์กลับทรงตัดสินพระทัยเลือก "ทางที่สาม" ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์การรบของไทยโดยสิ้นเชิงนับแต่นั้น



ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งยังมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บทบาทของพระมหากษัตริย์มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการบริหารภายในประเทศเท่านั้น แต่พระมหากษัตริย์ยังทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการต่างประเทศ และการรบทัพจับศึกอีกด้วย

ถึงแม้สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังไม่เกิดขึ้นในรัชกาลนี้ แต่ก็มิได้หมายความว่าสยามจะไม่เคยทำสงครามมาก่อน ในทางตรงกันข้าม กองทัพสยามเคยผ่านสมรภูมิในระดับภูมิภาคมาอย่างโชกโชน เช่น ในศึกฮ่อ ศึกเงี้ยว และการศึกกับฝรั่งเศส สมัย ร.ศ. ๑๑๒ และในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีสงครามที่เปลี่ยนไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าบทบาทของกองทัพจะมิได้เป็นเรื่องในทางยุทธวิธีการสู้รบทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องเน้นในเรื่องการรบทางความคิดทฤษฎี เพราะหากไม่มีอาวุธในทางความคิด ก็ยากยิ่งที่จะสามารถเอาชนะได้อย่างเป็นรูปธรรม



มูลเหตุและพื้นฐานของความร้าวฉาน

สยาม-ฝรั่งเศส สมัยรัชกาลที่ ๕

ตอนปลายรัชกาลที่ ๔ รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งใช้นโยบายขยายอำนาจและอาณาเขตแบบก้าวร้าวดึงดัน ภายหลังที่รู้ว่าตนไม่ถนัดทางการทูตและขาดความสันทัดในการสร้างความเข้าใจกับรัฐบาลสยาม ทำให้ตนด้อยกว่าอังกฤษ นโยบายอันจาบจ้วงนี้บีบบังคับให้สยามสละดินแดนส่วนใหญ่ของเขมรและเกาะอีก ๖ เกาะ รวมเป็นเนื้อที่ถึง ๑๒๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ตามสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. ๑๘๖๗) ให้ฝรั่งเศสอย่างน่าเสียดาย

บรรยากาศทางการเมืองระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เมื่อเริ่มต้นรัชกาลที่ ๕ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเปราะบาง และไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันโดยปริยาย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘) นั้น มหาอำนาจจักรวรรดินิยมกำลังแข่งขันกันขยายอิทธิพลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างเต็มที่ มีผลให้ฝรั่งเศสยึดญวนทั้งประเทศได้ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ (ค.ศ. ๑๘๘๔) อีก ๒ ปีถัดมา อังกฤษก็ยึดพม่าได้ทั้งหมด และถกเถียงกับสยามเกี่ยวกับเขตแดนรัฐฉาน นอกจากนั้นยังแสดงความสนใจในดินแดนภาคใต้ของสยาม ซึ่งประชิดกับชายแดนของอังกฤษในแหลมมลายูอีกด้วย ความผันแปรทางการเมืองนี้ทำให้สยามมีพรมแดนประชิดกับดินแดนของมหาอำนาจทั้งสองทุกทิศทาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกังวลอย่างยิ่ง เพราะตามพรมแดนไม่มีการปักปันกำหนดเขตให้แน่นอน ข้อบกพร่องนี้เป็นสาเหตุชักจูงให้อังกฤษและฝรั่งเศสเกิดความกระหายที่จะรุกล้ำดินแดนสยาม

ปัจจัยที่ทำให้ฝรั่งเศสสนใจดินแดนลาวและเขมรนั้น มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายในคือ รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการจะหันเหความสนใจของประชาชนจากความปราชัยของฝรั่งเศสในสงครามกับปรัสเซีย (ค.ศ. ๑๘๗๑) ส่วนปัจจัยภายนอกนั้น ก็เนื่องจากความสำคัญของชัยภูมิแถบนี้ ทั้งในด้านการเมือง การเศรษฐกิจ และการทหาร ฝรั่งเศสเชื่อว่าแม่น้ำโขงซึ่งไหลผ่านลาว จะใช้เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่จีนภาคใต้ได้ดีกว่าด้านอื่นๆ และเขมรก็เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่จะเป็นฐานที่มั่นปากแม่น้ำโขง ปัญหามีอยู่ว่าทั้งลาวและเขมรบังเอิญเป็นเมืองที่ขึ้นอยู่กับสยาม

ฝ่ายสยามเห็นภัยที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าถ้ายังไม่สามารถกำหนดเส้นเขตแดนของตนจึงว่าจ้างนายแมกคาร์ที (James Macarthy) วิศวกรชาวอังกฤษ เพื่อสำรวจและทำแผนที่บริเวณลาวตอนเหนือ ในเวลาไล่เลี่ยกันฝรั่งเศสก็แต่งตั้งนายปาวี (August Pavie) ขึ้นบ้างเป็นหัวหน้าคณะสำรวจปาวี (Mission Pavie) เพื่อแข่งกับสยามในการเร่งสำรวจเส้นทางระหว่างตังเกี๋ยกับหลวงพระบาง และแสวงหาลู่ทางเพื่อเตรียมปฏิบัติการในแคว้นสิบสองจุไทด้วย เพื่อป้องกันอธิปไตยของไทยในแคว้นสิบสองจุไท พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) จึงเปิดการเจรจากับนายปาวีที่เมืองแถง ทั้ง ๒ ฝ่ายมีความเห็นขัดแย้งกันตลอดเวลา แม้พระยาสุรศักดิ์มนตรีจะอ้างประวัติศาสตร์และความเป็นจริงที่สยามเคยมีอำนาจปกครองเมืองแถงมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓-๕ ก็ตาม แต่ก็ไร้ผล ฝรั่งเศสยังดื้อดึงที่จะครอบครองแคว้นสิบสองจุไทไว้ต่อไป เนื่องจากสยามต้องการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหารต่อกัน จึงจำต้องยอมสูญเสียแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งมีเนื้อที่ถึง ๘๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศสโดยพฤตินัย ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ (ค.ศ. ๑๘๘๘) ซึ่งนับเป็นการเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศสครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕(๔)

ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. ๑๘๙๒) รัฐบาลฝรั่งเศสแต่งตั้งนายปาวีเป็นราชทูตประจำกรุงเทพฯ การแต่งตั้งดังกล่าวสร้างความวิตกให้รัฐบาลสยามมาก เนื่องจากนายปาวีเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับพงศาวดารเขมรและลาว เพราะเป็นคนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเคยเป็นหัวหน้าคณะสำรวจปาวี และเป็นนักจักรวรรดินิยมตัวยงด้วย ต่อมานายปาวียืนยันต่อรัฐบาลสยามว่า ฝรั่งเศสตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่สละสิทธิของญวนเหนือดินแดนเขมร พร้อมกับหันไปใช้นโยบายเรือปืน และใช้กำลังเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับสยาม โดยส่งเรือรบลูแตง (Le Lutin) เข้ามาจอดอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลสยามตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) เป็นต้นมา หลังจากนั้นก็ส่งทหารเข้าบุกรุกดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นตามจุดต่างๆ อันเป็นชนวนไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)

สงครามสมัย ร.ศ. ๑๑๒ สร้างความเสียหายทั้ง ๒ ฝ่าย การปะทะครั้งแรกเกิดที่แก่งเจ๊ก เมืองคำม่วน ริมฝั่งแม่น้ำโขง กลางดึกของวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝ่ายฝรั่งเศสตาย ๑๒ คน ในจำนวนนี้นายทหารติดยศ ชื่อกรอสกูแรง (Grosgurin) ด้วย ส่วนทหารสยามตาย ๖ คน และจะบานปลายไปสู่การที่ฝรั่งเศสเรียกเรือรบเข้ามาอีก ๒ ลำ ในเย็นวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ การปะทะครั้งหลัง ทหารฝรั่งเศสตาย ๓ คน บาดเจ็บ ๓ คน ทหารสยามตาย ๘ คน บาดเจ็บ ๔๑ คน(๒)

แต่การสู้รบก็ยุติลงโดยกะทันหัน ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ฝ่ายสยามเมื่อรวบรวมสติได้จึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เสียใหม่ ด้วยกระบวนการต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหามากกว่าการถลำตัวลึกลงไปสู่สงครามอันยืดเยื้อ ที่สำคัญคือสยามเริ่มเรียนรู้สงครามจากสภาพความเป็นจริงของสงคราม



รัชกาลที่ ๕ ทรงใช้ตำราพิชัยสงครามของซุนวูจริงหรือ?

ภายหลังการยิงปืนใหญ่ปะทะกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาสงบลง สยามเริ่มเห็นแล้วว่าจะไม่สามารถเอาชนะฝรั่งเศสด้วยกำลังพลอีกต่อไป นับแต่นี้เราจะได้เห็นทฤษฎีรบแบบใหม่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ หนึ่งในทฤษฎีนั้นคือยุทธวิธีแบบจีนของซุนวู ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีบันทึกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ตำรานี้แน่นอนหรือไม่? บทวิเคราะห์ต่อไปนี้ชี้ว่ามันเคยถูกใช้จริงๆ แม้ใน ร.ศ. ๑๑๒

ตามบทที่ ๘ ของตำรานี้ ซึ่งคุณเสถียร วีรกุล แปลเป็นไทย กล่าวถึง "นานาวิการ" ซึ่งแปลว่า ความเปลี่ยนแปลงบิดเบือนต่างๆ อันมิได้เป็นไปตามที่ควรเป็น "ขุนพลผู้ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในหลักนานาวิการ แม้จะรู้ลักษณะภูมิประเทศดีก็ไม่อำนวยผลประโยชน์อย่างใดเลยในการบัญชาทัพ หากไม่รู้วิธีการสู้รบต่อนานาวิการแล้วไซร้ แม้จะซาบซึ้งถึงความได้เปรียบแห่งภูมิประเทศ ก็ไม่อาจใช้กำลังพลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้นขุนพลผู้แจ้งในคุณานุคุณแห่งนานาวิการ จึงนับได้ว่า รู้การศึก"

ด้วยเหตุนี้ ความใคร่ครวญของผู้ทรงปัญญา จึงต้องทบทวนอยู่ระหว่างผลได้และผลเสีย

ซุนวูย้ำว่า "ผู้นำทัพ" ที่จะแพ้การยุทธ์นั้น มีจุดอันตรายอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. ผู้ที่คิดแต่จะสู้ฝ่ายเดียว ก็ถูกหมายเอาชีวิตได้

๒. ผู้ที่คอยแต่จะรักษาตัวรอด อาจถูกจับกุมเป็นเชลย

๓. ผู้ที่หุนหันพลันแล่น อาจถูกยั่วเย้าให้หลงกล

๔. ผู้ที่คิดแต่ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วของตน อาจถูกเหยียบย่ำใส่ไคล้

๕. ผู้นำทัพที่รักขุนทหารและราษฎร มักจะยุ่งยากใจ

จากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เราสามารถเข้าใจโดยเปรียบเทียบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ กับพระเจ้าอยู่หัวของเรา เป็นผลลัพธ์ที่ได้จากการนำตำราของซุนวูมาใช้ กล่าวคือ

๑. ผู้ที่คิดแต่จะสู้ฝ่ายเดียว ก็ถูกหมายเอาชีวิตได้ : เมื่อเรือปืนแองกองสตองค์ (L"Inconstance) และโคเมท (Comet) ผ่านสันดอนที่ปากน้ำเข้ามา มันก็แล่นตรงเข้ามากรุงเทพฯ เลย โดยมุ่งหมายที่จะรบต่อไป และถึงแม้จะมีการตั้งรับบนสองฝั่งแม่น้ำ แต่ฝ่ายสยามก็ยุติการยิงโดยสิ้นเชิง โดยหันมากรองสถานการณ์ใหม่ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป? กองทัพสยามมิได้รับคำสั่งให้สู้ตาย ถึงแม้จะสามารถทำได้ และฝ่ายสยามซึ่งมีกำลังมากกว่าย่อมจะสามารถจมเรือฝรั่งเศสได้ แต่การสงครามก็จะขยายวงกว้างเป็นเงาตามตัว

๒. ผู้ที่คอยแต่จะรักษาตัวรอด อาจถูกจับกุมเป็นเชลย : ไม่ปรากฏว่ามีทหารสยามหนีทัพเลย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเรียกประชุมเสนาบดี เพื่อลำดับเหตุการณ์และหาวิธีแก้ไข ท่ามกลางข่าวลือที่ทหารฝรั่งเศสกุขึ้นว่า พระเจ้าแผ่นดินเตรียมที่จะหลบหนีเอาตัวรอด พร้อมกับทรัพย์สมบัติจำนวนมากของพระองค์

๓. ผู้ที่หุนหันพลันแล่นอาจถูกยั่วเย้าให้หลงกล : ภายหลังการสู้รบไม่เป็นผล มีพระราชดำรัสสั่งให้ยุติการรบทันที ถึงการยุทธ์จะมีเปอร์เซ็นต์ชนะมากกว่าแพ้ แต่ความผลีผลามกลับจะให้ผลตรงกันข้าม ดังนั้นเมื่อนายทหารเดนมาร์กผู้บัญชาการรบ คือพระยาชลยุทธโยธิน (Captain Andre Du Plessis De Richelieu) เกือบจะหลงกลศึก โดยกราบบังคับทูลว่า สยามจะสามารถเผด็จศึกเร็วขึ้น ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งการให้ใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรีพุ่งเข้าชนเรือข้าศึกซึ่งจอดอยู่เฉยๆ ก็จะสำเร็จได้โดยง่าย แต่ก็ทรงปฏิเสธ เพราะไม่มีพระราชประสงค์ให้การรบทางกายภาพดำเนินต่อไป อันเป็นหลุมพรางของข้าศึก

๔. ผู้ที่คิดแต่ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วของตน อาจถูกเหยียบย่ำใส่ไคล้ : ภายหลังความพ่ายแพ้ในยกแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงขัดขืนดื้อดึงว่าฝ่ายสยามเป็นฝ่ายถูก และควรได้รับความเป็นธรรมจากการที่เรามิได้เป็นผู้เริ่มสงคราม เราจึงน่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่มิได้ต้องการสงคราม แต่ถูกบีบคั้นให้เข้าสู่สงคราม การโต้แย้งใดๆ ย่อมฟังไม่ขึ้นในสถานการณ์เช่นนั้น การรบได้เปิดฉากขึ้นแล้วทั้ง ๒ ฝ่าย สิ่งที่ต้องกระทำอย่างรวดเร็วคือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แทนข้ออ้างเรื่องความรักสงบ

๕. ผู้นำทัพที่รักขุนทหารและราษฎร มักจะยุ่งยากใจ : การปกป้องข้าราชสำนักย่อมเป็นสิ่งที่พึงกระทำของประมุขแห่งราชสำนักนั้น แต่ในฐานะจอมทัพที่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงดำรงอยู่เช่นกัน มิได้ทำให้ทรงลำเอียงในจิตใจแต่อย่างใด มีหลักฐานเขียนไว้ว่า การยอมความของเสนาบดีว่าการต่างประเทศ (กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ) ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ นั้น เป็นการลงพระนามไปโดยมิได้รับพระราชานุมัติ และเป็นไปได้ที่จะทำการลงไปโดยขัดต่อพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งย่อมจะเป็นที่ขัดเคืองพระราชหฤทัยก็ตามที แต่ก็มิได้ทรงใช้อารมณ์ เมื่อตั้งพระสติได้ จึงทรงรับเอาปัญหาทั้งหมด มาจัดการแก้ไขด้วยพระองค์เสียเอง ทั้งยังปรากฏอีกว่า ในการดำเนินการเจรจากับผู้นำประเทศระหว่างเสด็จฯ สู่ทวีปยุโรปนั้น มิได้มีเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หรือเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ติดตามไปทำหน้าที่ด้วยเลย

ซุนวูเขียนต่อไปว่า "การใช้กำลังทหาร จึงเหมือนหนึ่งธรรมชาติของน้ำ น้ำย่อมจัดกระแส ไหลบ่าไปตามลักษณะภูมิประเทศฉันใด การยุทธ์ก็ต้องเอาชนะกันตามสภาวะข้าศึกฉันนั้น การยุทธ์จึง "ไม่มี" หลักเกณฑ์ตายตัว เฉกเช่นน้ำ ซึ่งหามีรูปลักษณะอันแน่นอนไม่ จึงผู้เอาชนะด้วยปฏิบัติการอันเหมาะสมกับความผันแปรของข้าศึกนั้น เขาคือเทพเจ้าผู้ทรงอิทธิฤทธิ์"

นับจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เป็นต้นไปจนตลอดรัชกาลที่ ๕ เราจะไม่พบว่าสยามใช้กำลังทหารในการรบตามรูปแบบกองทัพที่มีหลักเกณฑ์ตายตัวอีกเลย ยุทธศาสตร์การรบต่อจากนี้ ล้วนเป็นทฤษฎีติดอาวุธทางความคิดทั้งสิ้น



ความคาดหวังจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

ในรัชกาลที่ ๕

สงครามย่อยๆ ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ช่วง ร.ศ. ๑๑๒ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มตระหนักว่า คงจะเป็นการยากที่สยามจะหวังพึ่งมหาอำนาจยุโรปเช่นอังกฤษ ที่เราเคยเชื่อว่าจะพึ่งได้ เพราะอังกฤษเองก็ยังรุกรานพม่าต่อจากอินเดีย ในขณะที่ฝรั่งเศสก็แข่งขันที่จะฮุบเขมรต่อจากญวนเช่นกัน ทรงเล็งเห็นอีกว่า หากสองมหาอำนาจนี้รอมชอมกันได้เกี่ยวกับเขตแดนของตน ความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตยของสยามก็จะได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย พระองค์จึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งส่งเสริมให้มหาอำนาจอื่นๆ เช่น รัสเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี เข้ามามีอิทธิพลและผลประโยชน์ในสยามพร้อมๆ กัน เพื่อคานอำนาจอังกฤษกับฝรั่งเศส เพราะทั้ง ๓ ประเทศหลังนี้ก็มีความขัดแย้งอยู่แล้วทั้งกับอังกฤษและฝรั่งเศสในภูมิภาคต่างๆ(๔)

ความหวาดระแวงนี้เกิดขึ้นจริงๆ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ (ค.ศ. ๑๘๙๖) เมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสปรองดองกันได้และอุปโลกน์ให้สยามเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณานิคมของกันและกันโดยมิได้ปรึกษากับรัฐบาลสยามเลย ความตกลงครั้งนี้เรียก Anglo-French-Declaration 1896

โครงการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงอุบัติขึ้น โดยมีประเด็นทางการเมืองเป็นแรงกระตุ้นที่มีน้ำหนักที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเสด็จไปกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่า คือเดนมาร์กและอิตาลี ซึ่งเป็นมหาอำนาจขนาดกลาง เพื่อกรองสถานการณ์ และเพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากพันธมิตรกลุ่มใหม่ คือรัสเซียและเยอรมนี ในเวลาเดียวกันก็เพื่อหาโอกาสเจรจาแก้ไขความเสียเปรียบในสนธิสัญญา ร.ศ. ๑๑๒ กับทางฝรั่งเศส ทรงเลือกรัสเซียเป็นเป้าหมายหลัก และทรง "คาดหวัง" อย่างมากว่าพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ ผู้ที่ทรงรู้จักคุ้นเคยมาก่อน จะทรงช่วยเหลือให้ได้เจรจากับผู้นำฝรั่งเศส และถ้าเป็นไปได้จะได้ขอร้องให้พระเจ้าซาร์เป็นคนกลาง ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับทางฝรั่งเศสเสียเลย(๓)

การมาครั้งนี้ทำให้เกิด "จุดเปลี่ยน" ทางการเมืองครั้งสำคัญ จึงมีความหมายมากกว่าการเยี่ยมเยือนระดับธรรมดา และถ้าเปิดเผยได้มากกว่านี้ ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการเดินทางไปหาแนวทางเพื่อจัดทำ "ปฏิญญาสยาม" เสียด้วยซ้ำไป นโยบายเชิงรุกในครั้งนี้ หากพิจารณาดีๆ เปรียบเสมือนการตัดไม้ข่มนาม แต่ที่จริงมันคือยุทธวิธีรบรูปแบบใหม่ของการช่วงชิงพื้นที่ เพื่อปรับเปลี่ยนสถานะทางยุทธศาสตร์ จากการที่ตกเป็นรองมาอยู่ในฐานะที่เป็นต่อ โดยช่วงชิงการประชาสัมพันธ์ เป็นแนวทางในการทำศึกแทน

สำหรับพระองค์แล้ว ความพยายามอย่างเป็นขั้นตอนก็คือความได้เปรียบทางการเมือง เป็นการเคลื่อนไหวตามเงื่อนไขความสุกงอมเชิงนโยบายที่ดำเนินมาอย่างสุขุมและมั่นใจในทางยุทธศาสตร์แล้วก็คือ การทำสงครามจิตวิทยามวลชนรูปแบบหนึ่ง ทรงเล็งเห็นว่ารูปแบบการเมืองอันเป็นเผด็จการสไตล์จักรวรรดินิยม แม้จะเคยอำนวยประโยชน์ในยุคหนึ่ง บัดนี้กำลังกลายเป็นเครื่องรั้งดึงพัฒนาการอันเป็นรูปการใหม่ของการดำเนินนโยบายตามระบบสากล จริงอยู่ว่าในเวลานี้บรรยากาศและเงื่อนไข จะบีบคั้นให้แต่ละฝ่ายเข้าไปสู่มุมอับ จนต้องเผชิญหน้ากันในระดับผู้นำดังเช่นในครั้งนี้ แต่ทุกบรรยากาศและทุกเงื่อนไขก็กำลังได้รับการเยียวยาเอาใจใส่ในระดับหนึ่ง จนเกิดการคลี่คลายตัวของมันเองลงสู่อีกระดับหนึ่ง

ความเคลื่อนไหวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้กระแสการเมืองที่กำลังร้อนแรงพลันลดอุณหภูมิลงโดยอัตโนมัติ ด้วยบรรยากาศแห่งความเป็นมิตร และโดยปราศจากการตอบโต้ใดๆ พระองค์ทรงคาดหวังว่า ใครและกลุ่มใดที่มีความเข้าใจในเงื่อนไขนี้มากที่สุด ใครและกลุ่มใดที่สามารถเข้าไปยึดกุมกระบวนการเคลื่อนไหวอย่างเป็นฝ่ายกระทำ นั่นหมายถึง สามารถเข้าไปเป็นปัจจัยชี้ขาด และอาจช่วงชิงชัยชนะได้ในสมรภูมินี้(๑)



"นโยบายซ้อนพันธมิตร" สมัยรัชกาลที่ ๕

ถอดแบบมาจากระบบบิสมาร์กจริงหรือ?

หากพิจารณาบริบทของนโยบายต่างประเทศสมัยใหม่ในรัชกาลที่ ๕ แล้วก็จะมองเห็นไม่ยากเลยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างระบบพันธมิตรที่อาจป้องกันสงครามได้ ระบบนี้มีความคล้ายคลึงกับระบบของบิสมาร์กมาก

บิสมาร์ก (Otto Von Bismarck) เป็นอัครมหาเสนาบดีของประเทศปรัสเซีย ผู้สามารถกุมอำนาจการบริหารยุโรปไว้ได้ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๕๑-๙๐ อันเป็นแม่แบบของการวางระบบพันธมิตรในทวีปยุโรปสมัยใหม่ ความสำเร็จของบิสมาร์กมิได้ทำให้ปรัสเซียและรัฐบริวารรวมตัวกันได้จนเป็นประเทศแล้วตั้งชื่อใหม่ว่าเยอรมนีเท่านั้น แต่ยังทำให้พันธมิตรของเยอรมนีมีสภาพเป็นเมืองหน้าด่านที่คอยปกป้องภัยพิบัติต่างๆ ก่อนที่จะมาถึงเยอรมนีอีกด้วย โครงสร้างของเครือข่ายนี้ซับซ้อนมาก แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจ

การดำเนินนโยบายทางการทูตแบบทับซ้อนของบิสมาร์ก จำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์และความมั่นคงของยุโรปให้เป็นไปตามที่เขากำหนด ภายหลังชัยชนะของบิสมาร์กในสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ค.ศ. ๑๘๗๑ อิทธิพลของฝรั่งเศสก็แทบจะหมดไปในสายตาชาวยุโรป บิสมาร์กต้องการสร้างระบบพันธมิตรขึ้นมาใหม่ โดยมีเยอรมนีเป็นจุดศูนย์กลางของความสัมพันธ์นั้น ในปีเดียวกันนั้น บิสมาร์กจึงจัดตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund) ขึ้น โดยมีเยอรมนี รัสเซีย และออสเตรีย-ฮังการี เป็นแกนนำเพื่อบริหารยุโรปแทนที่ฝรั่งเศส แต่ทั้งๆ ที่สถาปนาตนเองเป็นโต้โผใหญ่ในการนี้ บิสมาร์กก็ยังให้การสนับสนุนอย่างลับๆ กับอังกฤษ ซึ่งเป็นหอกข้างแคร่ของเยอรมนีเอง เขาวางหมากให้อิทธิพลของเยอรมนีแทรกซึมอยู่อย่างเงียบๆ โดยจัดให้ออสเตรีย-ฮังการีและอิตาลีทำสัญญาผูกมัดอังกฤษไว้ตามข้อตกลงฉบับใหม่เรียกข้อตกลงเมดิเตอร์เรเนียน (Mediteranean Agreement) ข้อตกลงแบบเหยียบเรือสองแคมนี้บิสมาร์กบังคับให้อังกฤษกับพันธมิตรของเยอรมนีรักษาสถานะเดิมของกันและกันต่อไปในคาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน และจะร่วมมือกันต่อต้านการขยายอำนาจของรัสเซียในดินแดนแถบนี้ด้วย ทั้งๆ ที่เยอรมนียังรักษาสัญญาประกันพันธไมตรีให้รัสเซียขยายอิทธิพลอยู่ในบอลข่านได้ ระบบพันธมิตรอันซับซ้อนที่มีบิสมาร์กเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังดังกล่าวนี้ ได้สร้างความยิ่งใหญ่และความมั่นคงให้แก่จักรวรรดิเยอรมนี และทำให้จักรวรรดิเยอรมนีอยู่รอดปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสมดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วยกันเอง และป้องกันมิให้ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจลุกลามกลายเป็นสงครามได้(๑)

ในทำนองเดียวกัน นโยบายซ้อนพันธมิตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็มีจุดมุ่งหมายที่จะยับยั้งสงครามได้สร้างความสับสนและลำบากใจในการวางตัวของฝ่ายตรงข้ามไม่น้อย กล่าวคือ ในขณะที่ทรงผูกมิตรอย่างเหนียวแน่นไว้กับรัสเซียทางหนึ่ง ทั้งนี้เพราะรัสเซียกำลังเป็นพันธมิตรสำคัญของฝรั่งเศส พระองค์ก็ทรงทาบทามขอการสนับสนุนจากเยอรมนีอีกทางหนึ่ง ก็เพราะเยอรมนีเป็นคู่แข่งของรัสเซีย และเป็นศัตรูของฝรั่งเศสในเวลาเดียวกัน การวางหมากให้เกิดขัดกันทางอิทธิพล สร้างความลำบากใจในการกระจายอำนาจให้อังกฤษและฝรั่งเศสที่ต้องมาขับเคี่ยวกันเองกับ "ทฤษฎีเกม" ของสยาม เกมหนึ่งนั้น คือได้หลักประกันเอกราชจากการทำให้ผลประโยชน์ของคู่แข่งคืออังกฤษและฝรั่งเศสขัดกัน อีกเกมหนึ่งคืออำนวยผลประโยชน์ทางการค้าให้แก่มหาอำนาจอื่นๆ เพื่อสามารถพึ่งพาประเทศเหล่านั้นเมื่อถึงคราวจำเป็น และนำหลักประกันของชาติเหล่านั้น ไปขัดกับหลักประกันซึ่งได้มาอย่างแสนยากของอังกฤษและฝรั่งเศส การคุกคามสวัสดิภาพทางการเมืองในสยาม จึงมิใช่เรื่องง่ายเหมือนเคย สำหรับทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส

การว่าจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา และเข้ารับราชการในตำแหน่งต่างๆ ของรัฐบาลสยามนั้น ล้วนเป็นกลไกที่ทำให้เครื่องจักรใหญ่ คือ พระบรมราชวิเทโศบายใหม่ในการถ่วงดุลอำนาจ เดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ กุศโลบายของสยามก็คือ เลือกเอาชนชาติต่างๆ จากหลายชาติมาร่วมดำเนินนโยบายของพระองค์ด้วย โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีความสำคัญ ก็จะทรงคัดเลือกอย่างระมัดระวัง เช่น นโยบายที่จะไม่จ้างชาวอังกฤษ หรือฝรั่งเศสเข้ามารับราชการทางฝ่ายทหาร แต่จะอาศัยชาวยุโรปประเทศเล็กๆ เช่น เดนมาร์กและอิตาลีแทน ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะคุกคามสยาม หรือในกรณีที่ปรึกษาราชการแผ่นดินนั้น ก็ได้ตั้งเป็นเสมือนหนึ่งนโยบายภายในว่า จะอาศัยบุคคลจากประเทศที่เป็นกลางเท่านั้น เช่น เบลเยียมและอเมริกา แต่ในกรณีของเยอรมนีสยามกลับให้อภิสิทธิ์พิเศษในการว่าจ้างชาวเยอรมันเข้ามาสร้างระบบเดินรถไฟ และแทบจะผูกขาดอยู่กับชาวเยอรมันเท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ทำให้เห็นความลำเอียงในทางปฏิบัติอย่างชัดเจนก็เพื่อสร้างความกังวลให้ฝรั่งเศสเป็นทวีคูณ

การเสด็จไปเยี่ยมบิสมาร์กถึงคฤหาสน์นอกเมือง ทั้งๆ ที่บิสมาร์กเกษียณอายุและออกจากราชการแล้ว รัชกาลที่ ๕ ยังทรงให้ความสำคัญแก่เขาเทียมเท่าผู้นำคนอื่นๆ ชี้เบาะแสความสอดคล้องเชิงนโยบายและความนิยมเยอรมันที่ไม่อาจปกปิดไว้ได้ เราสามารถเห็นวิธีการทูตแบบยอกย้อนของบิสมาร์ก ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นแผนแม่บทของนโยบาย "การทูตนำการทหาร" ของสยามตลอดเวลาในรัชกาลนี้(๑)



มหาอำนาจระดับกลาง และระบบการเมืองอันยืดหยุ่น

ของมหาอำนาจระดับกลาง

นอกจากความเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยกับมหาอำนาจขนาดใหญ่อันเป็นนโยบายหลักแล้ว ยังมีวาระซ่อนเร้นที่สยามก็ติดต่อกับมหาอำนาจขนาดกลางไว้ เป็นทางเลือกอย่างไม่ออกนอกหน้าอีกด้วย ประเทศเล็กๆ ที่ดูไม่มีพิษสงจากภายนอก เช่น เดนมาร์ก อิตาลี และเบลเยียม กลายเป็นความสำเร็จเบื้องต้นข้างหลังนโยบายต่างประเทศที่มีกล่าวถึงน้อยมากในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

โดยเฉพาะ "อิตาลี" นั้น ถึงแม้จะมีผู้นำที่เก็บเนื้อเก็บตัวพอสมควรในหมู่ราชสำนักยุโรปด้วยกัน แต่ชาวอิตาเลียนกลับอยู่แถวหน้าในกิจการด้านการทหาร และการโยธาของสยามประเทศ จึงเป็นมหาอำนาจระดับกลางที่ร่วมหัวจมท้ายอยู่กับสยามอย่างสนิทใจ อิตาลีมิได้อยู่ในสายตาของมหาอำนาจขนาดใหญ่ เพราะอิตาลีไม่เคยแสดงตัวว่าแข่งขันทางด้านแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจดังภาพพจน์ของชาวยุโรปอื่นๆ จึงสามารถดำเนินนโยบายสายกลางอย่างเสมอต้นเสมอปลายในสยามตลอดมา

ความเป็นกลางของอิตาลี และนโยบายที่ยืดหยุ่นตลอดเวลาของประเทศนี้ เป็นปัจจัยภายนอกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระทัยเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการที่อิตาลีมีเครือข่ายราชวงศ์อันเหนียวแน่น และเป็นที่ยอมรับนับถือของราชสำนักยุโรปด้วยกัน ดังนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาอยู่ที่นี่ ทำให้พระองค์ทรงกลายเป็นศูนย์กลางของคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นกลางและเป็นมิตรไปด้วย ถึงแม้จุดประสงค์อันซ่อนเร้นจะถูกปิดบังไว้อย่างเงียบๆ ก็ตาม

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น และเป็นปัจจัยภายใน ได้แก่ทฤษฎีซ้อนนโยบายต่างประเทศที่ใช้ได้ผลของประเทศนี้ กล่าวคือถึงแม้อิตาลีจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมหาอำนาจไตรภาคี (Triple Alliance) ซึ่งมีเยอรมนีเป็นแกนนำหลัก เพื่อที่จะสร้าง "สถานการณ์แบ่งฝ่าย" ให้เกิดขึ้นก็ตาม แต่อิตาลีก็มิได้ล้มเลิกนโยบายเดิมของตน ที่ต้องการแก้แค้นฝรั่งเศสซึ่งแย่งแคว้นตูนิเซียไป (ปัจจุบันคือประเทศตูนิเซีย-ผู้เขียน) เป็นเหตุให้อิตาลีหมดอำนาจลงในทวีปแอฟริกา แต่ภายหลังที่เข้าเป็นพวกในกลุ่มพันธมิตรไตรภาคีที่มีเยอรมนีเป็นหัวหอกแล้ว อิตาลีกลับมิได้ทำตัวสนับสนุนหลักการของกลุ่มอย่างเต็มใจนัก จนดูเหมือนเป็นสมาชิกแต่เพียงในนาม ก็เพราะยังต้องการรักษาความเป็นกลางไว้ต่อไป มากกว่าการใช้มาตรการตอบโต้ฝรั่งเศสอย่างจริงจัง ตรงนี้คือลักษณะพิเศษของการเมืองในอิตาลี(๑)

ทว่าความยืดหยุ่นของอิตาลี ทำให้กลุ่มมหาอำนาจไตรภาคีไม่ค่อยสามัคคีกันเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะนโยบายหลักเป็นแต่เพียงต้องการล้อมกรอบให้ฝรั่งเศสอยู่อย่างโดดเดี่ยวและหมดอำนาจเท่านั้น ความพยายามดังกล่าวทำให้ต้องทำตัวเหมือนเสือกระดาษ ที่คอยข่มขู่กลุ่มอื่นๆ ให้ตกใจเล่นอยู่เสมอ นอกจากกลุ่มไตรภาคีจะเล่นเกมการเมืองแบบลับๆ ล่อๆ แล้ว ยังคอยกีดกันมิให้ฝ่ายใดรวมตัวกันได้อีก นั่นหมายถึง การทำสงครามจิตวิทยาอยู่ร่ำไป

หนังสือพิมพ์ Le Petit Journal ฉบับวันที่ ๒๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ วาดภาพล้อผู้นำกลุ่มมหาอำนาจไตรภาคีทั้งสาม โดยสร้างอนุสาวรีย์ล้อเลียนเป็นรูปพระเจ้าแผ่นดินเยอรมัน ออสเตรีย และอิตาลี ให้มีจมูกงอกยาวเหมือนตัวการ์ตูนพิน้อคคิโอ ซึ่งหมายถึงพวกหน้าไว้หลังหลอกนั่นเอง แต่ถึงแม้กลุ่มมหาอำนาจไตรภาคีจะถูกมองอย่างดูถูกเหยียดหยามเหมือนตัวตลกอยู่เสมอ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงผูกมิตรอยู่กับกลุ่มนี้ด้วยความศรัทธาในความซื่อตรง จากการที่กลุ่มมีนโยบายเปิดเผยและเป็นกลาง โดยเฉพาะแกนนำของกลุ่มคือพระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ผู้เป็นนักสู้เพื่ออุดมการณ์และไม่เคยกลัวใคร ทรงเสนอตัวเองเป็นที่พึ่งแก่สยามในยามยากอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีเป็นฝรั่งเศส ซึ่งเยอรมนีไม่ต้องการให้กลับมามีอำนาจอีก(๖)

และถึงแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ในหมู่ชาวยุโรปด้วยกัน แต่อิตาลีก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นมหาอำนาจระดับกลางที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ด้วยเหตุนี้ คนอิตาเลียนจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้ารับราชการ ตามนโยบายถ่วงดุลอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่แรก ชาวอิตาเลียนได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ในระดับเดียวกับชาวเดนมาร์ก คือให้ดูแลด้านความมั่นคง (การทหาร) ควบคู่ไปกับงานด้านพัฒนาประเทศในยามสงบ (โยธาและศิลปากร) ในขณะที่ชาติมหาอำนาจขนาดใหญ่ไม่เคยได้รับพระกรุณา

นโยบายเปิดประเทศและเป็นกลางของอิตาลีช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทำให้มีนายทหารอิตาเลียนเดินทางไปแสวงหาโชคลาภตามส่วนต่างๆ ของโลก ในจำนวนนี้มี ๒ คนที่เดินทางเข้ามาในสยาม คือนายเยรินี (G.E. Gerini-ภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็นพระสารสาสน์พลขันธ์) และนายฟารันโด (Giuseppe Ferrando) สมัครขอเข้ารับราชการในกรมทหารหน้า (ต่อมาเป็นกระทรวงกลาโหม) เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ได้จ้างไว้เป็นครูฝึกทหารหน้าตามแบบยุโรปสมัยใหม่(๕)

นายเยรินีได้สร้างชื่อเสียงให้ตนเองและประเทศอิตาลีด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยเฉพาะความรู้ความสามารถด้านการทหาร ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้นายเยรินีพัฒนากิจการกลาโหมตามแบบยุโรป ถึงขนาดได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมยุทธศึกษา ว่ากันว่านายเยรินีเป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่เปิดเผยความตื้นลึกหนาบางด้านกำลังพล และกิจการภายในของมหาอำนาจยุโรปต่อพระเจ้าอยู่หัว บุคลากรจากประเทศมหาอำนาจระดับกลาง ที่ไม่มีเป้าหมายด้านอาณานิคม จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้สยามพัฒนาประเทศได้อย่างมีอิสระและเป็นเอกภาพทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ตามเงื่อนไขใหม่ๆ ทางการเมืองที่มหาอำนาจตะวันตกเร่งรัดเข้ามา(๕)



สื่อมวลชนกับการสร้างสถานการณ์ :

อาวุธชนิดใหม่ในการรบของรัชกาลที่ ๕

การสื่อสารถือเป็นหัวใจของการทำยุทธศาสตร์มวลชน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในสนามรบ การปลุกข่าว การโฆษณาชวนเชื่อ และการปล่อยข่าว เป็นพลังเงียบที่ทรงอานุภาพ สามารถสร้างความสูญเสียเชิงสถานการณ์ให้ฝ่ายตรงข้ามได้ตลอดเวลา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับยุทธวิธี โดยหันมาใช้การประชาสัมพันธ์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในระยะยาว การดำเนินนโยบายในลักษณะดังกล่าวเป็นการรบโดยไม่ต้องใช้กำลัง แต่ใช้มันสมอง จะเรียกว่าการสร้างภาพคงไม่ผิดนัก แต่การสร้างภาพได้ถูกเวลาและสถานที่ มีผลให้ประเทศเล็กๆ เช่นสยามถูกมองว่ามีอิทธิพลแฝงในหมู่ผู้นำชาติมหาอำนาจยุโรปโดยไม่รู้ตัว

ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ในรัชกาลที่ ๕ ภาพพระเจ้าแผ่นดินสยาม ๔ ภาพ ถูกถ่ายขึ้นอย่างจงใจและถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ตามสื่อหนังสือพิมพ์ชั้นนำของยุโรป ภาพทั้งหมดถูกวิจารณ์ว่ามีนัยยะทางการเมือง แต่ที่น่าประหลาดใจคือหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลฝ่ายศัตรูกลับเป็นตัวกลางที่โฆษณาภาพออกไป ย่อมพิสูจน์ความจริงว่าอาวุธชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพถูกนำมาใช้จริงๆ และไม่สามารถปิดบังไว้ได้ในสงครามช่วงชิงพื้นที่ระลอกนี้(๘)



ภาพที่ ๑ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ กับพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒

ถ่าย ณ วังปีเตอร์ฮอฟ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ L"ILLUSTRATION ฉบับวันที่ ๑๐ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๗ เบื้องหลังภาพนี้เกิดจากการที่รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะรับเสด็จรัชกาลที่ ๕ เพราะไม่ต้องการที่จะประนีประนอมด้วย พระเจ้าซาร์ทรงเข้าแทรกแซง โดยขอร้องให้ฝรั่งเศสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะมิตรประเทศของรัสเซีย และพระสหายของพระเจ้าซาร์ มีผลทำให้ฝรั่งเศสยอมตามคำขอร้องโดยดุษณี



ภาพที่ ๒ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ กับประธานาธิบดีฝรั่งเศส

ถ่าย ณ ปะรำพิธีชมการซ้อมรบที่ทุ่งแซง กองแต็ง นอกกรุงปารีส เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ L"ILLUSTRATION ฉบับวันที่ ๑๘ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๗ แสดงความสมานฉันท์ของผู้นำที่เคยเป็นอริต่อกัน มีผลทำให้ความตึงเครียดซึ่งเป็นผลมาจากกรณีพิพาทของทั้ง ๒ ประเทศ ผ่อนคลายลงในสายตาคนทั่วไป



ภาพที่ ๓ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ กับอดีตอัครมหาเสนาบดีเยอรมัน

ถ่าย ณ ทำเนียบที่พำนักของบิสมาร์ก ในเยอรมนี เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ L"ILLUSTRATION ฉบับวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๗ มีผลทำให้สถานการณ์แบ่งฝ่ายร้อนระอุขึ้นในทันที ทั้งนี้เพราะเยอรมนีเป็นศัตรูหมายเลข ๑ ของฝรั่งเศส การที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพบบิสมาร์กย่อมหมายถึงการผนึกกำลังกับเยอรมนีเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส



ภาพที่ ๔ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ทรงแนะนำให้บิสมาร์กรู้จักคณะผู้ติดตามพระองค์

ถ่ายหน้าทำเนียบที่พำนักของบิสมาร์กในเยอรมนี เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ L"ILLUSTRAZIONE ITALIANA ของอิตาลี ฉบับวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๗ มีผลทำให้บรรยากาศแบ่งข้างผ่อนคลายลง ทั้งนี้เพราะอิตาลีเป็นภาคีสำคัญในกลุ่มไตรภาคีพันธมิตร (Triple Alliance) ซึ่งมีเยอรมนีเป็นแกนนำหลัก การวิเคราะห์ของชาวอิตาเลียนจึงทำได้อย่างเสรี และมีแนวโน้มว่าอิตาลีกำลังส่งเสริมสยามอีกต่างหาก ภาพนี้จึงชูประเด็นนโยบายซ้อนพันธมิตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจน มีผลให้สถานะของสยามดีขึ้นในสายตาชาวยุโรปกว่าครึ่งทวีปที่ไม่ชอบฝรั่งเศส



สรุป : สงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็คือการสู้รบและความสูญเสีย ที่เป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ แม้ในระหว่างที่เหตุการณ์ดำเนินอยู่ ยังมีหลักฐานให้เชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเอาตำราพิชัยสงครามของซุนวูมาใช้ ช่วยให้การสู้รบยุติลงโดยเร็ว

ต่อมาสยามเริ่มมองเห็นสัจธรรมว่ายุทธวิธีรบแบบโบราณเป็นเรื่องล้าสมัย และไม่ทันต่อความล้ำหน้าของกองทัพจากตะวันตกอีกต่อไป การสู้รบแบบใหม่จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีติดอาวุธทางความคิดแทน จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จไปยุโรปเพื่อดำเนินยุทธศาสตร์กันชนด้วยพระองค์เองอันเป็นทางเลือกที่ ๓ ซึ่งอาจยุติสงครามได้ ทรงสร้างบรรทัดฐานใหม่ โดยการวางการทูตนำการทหาร ซึ่งจะกลายเป็นยุทธวิธีที่เหมาะสมที่สุดของการทำสงครามยุคใหม่ ทั้งยังทรงนำอาวุธชนิดใหม่ คือการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมาใช้อีกด้วย ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ค.ศ. ๑๘๙๗)

ความแข็งแกร่งตามนโยบายซ้อนพันธมิตรของเยอรมนี และความยืดหยุ่นของนโยบายการเมืองในอิตาลี นับเป็นทฤษฎีใหม่ที่สยามทดลองใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อมวลชนชั้นนำของยุโรปประจำปีนั้นตีแผ่ความสำเร็จเชิงนโยบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเกรียวกราว หลักฐานในหน้าหนังสือพิมพ์จากประเทศฝ่ายศัตรูวิเคราะห์แบบฝืนใจว่า บางที "สยาม" จะเป็น "ฝ่ายชนะ" ในยกนี้



เอกสารประกอบการค้นคว้า

(๑) ไกรฤกษ์ นานา. เบื้องหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ มติชน, ๒๕๔๙.

(๒) แชน ปัจจุสานนท์, พลเรือตรี. กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ. ๑๑๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๙.

(๓) เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒.

(๔) _______. ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙.

(๕) เยรินีกับโมเสดแห่งอัจฉริยภาพ, กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๘.

(๖) หนังสือพิมพ์ Le Petit Journal. Paris, 25 October 1896.

(๗) หนังสือพิมพ์ L"ILLUSTRAZIONE ITALIANA. Rome, 23 May 1897.

(๘) หนังสือพิมพ์ L"ILLUSTRAZIONE ITALIANA. Rome, 17 October 1897.




 

Create Date : 27 เมษายน 2552    
Last Update : 27 เมษายน 2552 7:30:30 น.
Counter : 1851 Pageviews.  

มือการปฏิบัติการรักษาสันติภาพหลายมิติของ สหประชาชาติ (ฉบับย่อ) กล่าวนำ

ความต้องการสำหรับการรักษาสันติภาพ
................... สหประชาชาติได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2488 หลังจากผลของสงครามโลกทั้งสองครั้ง หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นสหประชาชาติได้ช่วยป้องกันความขัดแย้งมิให้ลุกลามไปจนเกิดสงครามจำนวนหลายครั้ง ด้วยการชักนำให้ฝ่ายตรงข้ามกันใช้โต๊ะการเจรจาแทนการใช้กำลังหรือาวุธในการตัดสิน และยังได้ช่วยฟื้นฟูสันติภาพให้กลับมาหลังจากความขัดแย้งที่ใช้อาวุธได้เกิดขึ้น หลายทศวรรษที่ผ่านมา สหประชาชาติได้ช่วยเหลือในการควบคุมและยุติความขัดแย้งจำนวนมาก และในหลาย ๆ เหตุการณ์ก็ทำด้วยการใช้การจัดกำลังเพื่อการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

การวิวัฒนาการของการรักษาสันติภาพ
................... การรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่ลำเอียง ซึ่งหลักการนี้จะช่วยลดความตรึงเครียดระหว่างคู่ความขัดแย้งในพื้นที่และสามารถสร้างโอกาสการเจรจาทางการเมืองได้ การรักษาสันติภาพ สามารถสร้างสะพานเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างสองฝ่ายที่ได้ยุติความเป็นศัตรูกันเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน โดยอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าทั้งสองฝ่ายมีความปรารถนาทางการเมืองที่จะมุ่งสู่เป้าประสงค์นั้น ในช่วงเริ่มต้นนั้น การรักษาสันติภาพสหประชาชาติ มักจะใช้เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐ โดยต่อมาได้มีการเพิ่ม การรักษาสันติภาพในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐและสงครามกลางเมือง ซึ่งมักเกิดจากความขัดแย้งของกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มในรัฐเดียวกันที่มีเป้าประสงค์ทางการเมืองแตกต่างกันไปอีกทั้งยังมีสายการบังคับบัญชาที่แตกกันออกเป็นส่วน ๆ

................... ความจริงดังกล่าวโดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2530 ได้นำไปสู่การวิวัฒนาการของภารกิจ การรักษาสันติภาพ โดยจำนวนการปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ หลายภารกิจยังคงไว้ซึ่งรูปแบบดั่งเดิมที่ใช้การปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ในการสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง การปฏิบัติการที่ว่านั้นจะรวมงานทางทหารบางประการเช่น การเฝ้าตรวจการหยุดยิง และการลาดตระเวนในพื้นที่กันชนระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งกันซึ่งดำเนินการโดยผู้รักษาสันติภาพ สหประชาชาติ ซึ่งอาจจะติดหรือไม่ติดอาวุธก็ได้ซึ่งรู้จักกันดีในนามของ หมวกเหล็กฟ้า หรือ หมวกทรงอ่อนฟ้า ซึ่งได้ชื่อนี้มาจากหมวกที่สรวมใส่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตามในห้วงที่ผ่านมา การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพสหประชาชาติ ได้มาจำนวนภารกิจเพิ่มขึ้นและได้ขยายการปฏิบัติออกเป็นหลายมิติ รวมทั้งมีมีกำลังพลอื่นที่มิใช่ทหารเข้ามาร่วมปฏิบัติงานด้วยได้แก่ ตำรวจพลเรือน การเมือง กิจการพลเรือน กฎหมาย สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม ข่าวสารสาธารณะและเพศ เป็นต้น

การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพหลายมิติซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามอาณัติที่ได้รับมานั้นอาจจะมีหน้าที่ในการปฏิบัติซึ่งได้แก่
1. ช่วยเหลือในการแปลงข้อตกลงสันติภาพไปสู่การปฏิบัติ
2. เฝ้าตรวจการหยุดยิงและการยุติการเป็นศัตรูของคู่กรณีเพื่อเปิดทางการเจรจาทางการเมืองและการขจัดความขัดแย้งอย่างสันติ
3. สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเพื่อชักจูงให้ประชาชนในพื้นที่กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
4. ป้องกันมิให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นจนข้ามเส้นเขตแดน
5. นำรัฐหรือดินแดนผ่านไปสู่การมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและตั้งอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ธรรมรัฐ และการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ
6. บริหารงานดินแดนในห้วงการเปลี่ยนถ่าย ด้วยการดำเนินการของงานในความรับผิดชอบทั่วไปของรัฐบาลปกติ โดยทั่วไปในขณะที่กำลังทหารจะเห็นได้เด่นชัดในแทบทุกการปฏิบัติการ อย่างไรก็ตามพลเรือนก็เริ่มที่จะมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งได้แก่
1. ช่วยเหลือกลุ่มขัดแย้งเก่าดำเนินการตามข้อตกลงสันติภาพด้วยการให้ข้อแนะนำในส่วนของงานการเมืองและสังคม
2. สนับสนุนการดำเนินการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม
3. ช่วยเหลือการปลดอาวุธ การปลดปล่อยทหาร และการสมานฉันท์ ของคู่ต่อสู้เดิม
4. กำกับดูแลและจัดการเลือกตั้ง
5. สร้างความเข้มแข็งในการใช้กฎหมาย รวมถึงช่วยเหลือฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม และการฝึกหัดตำรวจพลเรือน
6. ให้ความสำคัญการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และสอบสวนการกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
7. ช่วยเหลือในการฟื้นฟูหลังจากการยุติความขัดแย้ง
8. จัดตั้งการบริหารงานช่วงเปลี่ยนถ่ายของดินแดนที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นประเทศเอกราช

ภารกิจ การรักษาสันติภาพ ในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง จะมีเจ้าหน้าที่ของหลายหน่วยงานเข้าร่วมปฏิบัติงานด้วย เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ โครงการอาหารโลก กองทุนเด็กสหประชาชาติ สำนักงานประสานงานกิจการมนุษยธรรม โครงการพัฒนาสหประชาชาติ และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้มักจะปฏิบัติงานใกล้ชิดกับกำลังรักษาสันติภาพ และที่เพิ่มเติมไปกว่านั้นได้แก่ กำลังรักษาสันติภาพมักจะได้รับการร้องขอให้สนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานที่มิใช่รัฐบาลอื่น ๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเหยื่อความขัดแย้ง ในหลาย ๆ พื้นที่ของภารกิจ ผู้แทนพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติ จะดำเนินการเพิ่มเติมจากความรับผิดชอบในเรื่องการประสานงานสำหรับโครงการและกองทุนต่าง ๆ ของ สหประชาชาติ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ภารกิจ

บทบาทของกรมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ
................... กรมปฏิบัติการรักษาสันติภาพจัดตั้งให้เป็นกรมหนึ่งของกรมเลขาธิการสหประชาชาติในปี 2535 มีหน้าที่รับผิดชอบ การวางแผน การจัดการ การจัดส่งกำลัง การสนับสนุน และในนามของเลขาธิการสหประชาชาติ จะกำหนดทิศทางและบริหารทุกการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ กรมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ยังทำหน้าที่ในทำนองเดียวกันในการสนับสนุนการปฏิบัติการด้านสันติภาพและความมั่นคงที่มีพลเรือนรับผิดชอบหลักด้วย ตัวอย่างเช่น ภารกิจการช่วยเหลือของสหประชาชาติในอัฟกานิสถาน กรมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับกรมกิจการการเมือง ซึ่งเป็นจุดรวมหลักในระบบของ สหประชาชาติ สำหรับการป้องกันความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพและการฟื้นฟูสันติภาพ

การสถาปนาการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ
................... การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ ได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นได้โดยคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ซึ่งเป็นไปตามกฎบัตรสหประชาชาติ หน่วยงานนี้มีความรับผิดชอบหลักในเรื่องสันติภาพและความมั่นคงนานาชาติ ในแต่ละกรณีภารกิจใหม่จะได้รับการออกแบบและการประกอบกำลังของส่วนต่าง ๆ จะได้รับการจัดให้มีความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์เฉพาะ เนื่องจาก สหประชาชาติ ไม่มีกองกำลังทหารหรือตำรวจ ดังนั้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้สหประชาชาติจึงต้องใช้กำลังดังกล่าวจากชาติสมาชิก รวมถึงการรับสมัครเจ้าหน้าที่พลเรือนจากนานาชาติ ซึ่งเป็นไปตามจำนวนที่กำหนดไว้ในอาณัติของภารกิจนั้น ๆ

................... โดยทั่วไปแล้วไม่มีการกำหนดลำดับขั้นของเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสถาปนา การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ อย่างไรก็ตามในกรณีส่วนใหญ่มักจะมีกลุ่มเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้น

1. การขอความเห็น/ข้อตกลงสันติภาพ ในขณะที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้มีการพัฒนาหรือเลวร้ายลง หรือคู่ขัดแย้งมีความเห็นที่จะตกลงเจรจากันนั้น การขอความเห็นและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็ดำเนินการไปด้วยระหว่างชาติสมาชิก (สหประชาชาติ) กรมเลขาธิการสหประชาชาติ กลุ่มขัดแย้งในพื้นที่ รัฐในภูมิภาคที่ให้ความสนใจ และประเทศที่มีศักยภาพการจัดส่งทหาร/ตำรวจ รวมทั้งสามารถให้การสนับสนุนทรัพยากรอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการเข้าไปมีส่วนร่วมของ สหประชาชาติ รวมทั้งรูปแบบขนาดกำลังที่ต้องการ สิ่งที่สำคัญคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องหลักมีความเห็นชอบที่จะให้ สหประชาชาติ เข้าไปมีส่วนร่วม โดยทั่วไปแล้วกลุ่มขัดแย้งที่เกี่ยวข้องหนึ่งกลุ่มขึ้นไปจะลงนามข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งในที่นี้ สหประชาชาติ จะมีบทบาทในการดำเนินการและช่วยเหลือให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น ดังเช่นข้อตกลงสันติภาพมักจะมีข้อกำหนดอย่างกว้าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติของสหประชาชาติในอนาคต รวมทั้งสิ่งที่ สหประชาชาติ จะสามารถดำเนินการให้ได้ระหว่างขั้นตอนการเจรจา รวมทั้ง จะมีคำแนะนำที่มีค่าอื่น ๆ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานขีดความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ผ่านมา การให้ข้อคิดเห็นแต่เนิ่นและอย่างต่อเนื่องกับ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ และ ชาติสมาชิก มีความจำเป็นที่จะต้องค้นคว้าให้ได้มา ถ้ามีการเตรียมการสนับสนุนหนทางปฏิบัติที่จะต้องเผชิญสำหรับ สหประชาชาติ

2. คณะประเมินค่าด้านเทคนิค เมื่อเงื่อนไขด้านความปลอดภัยในพื้นที่ขัดแย้งสามารถควบคุมได้แล้ว คณะประเมินค่าด้านเทคนิคร่วม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกรมต่าง ๆ ภายใน สหประชาชาติ กองทุน และโครงการจะเดินทางไปยังดินแดนหรือประเทศที่ซึ่งจะสถาปนาภารกิจของสหประชาชาติเพื่อประเมินค่าโดยรวมของสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัย การเมือง มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชนและการทหารและแนวทางการปฏิบัติสำหรับภารกิจ สหประชาชาติ

3. การรายงานของเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ เลขาธิการสหประชาชาติ จะให้ข้อเสนอแนะแก่คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ โดยใช้ข้อมูลและแนวทางที่ค้นหาจาก คณะประเมินผลทางเทคนิค โดยจะมีรายละเอียดในการสถาปนา การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ ซึ่งจะรวมถึงขนาดและทรัพยาการที่ต้องการ

4. มติคณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ จะอนุมัติมติที่ให้อำนาจในการปฏิบัติการ และกำหนดขนาดและอำนาจหน้าที่ (การตัดสินใจนี้ต้องการคะแนนในการลงมติอย่างน้อย 9 ใน 15 เสียง โดยไม่มีการยับยั้งของชาติสมาชิกถาวร) จากนั้นงบประมาณและทรัพยากรของภารกิจก็จะส่งไปยังสมัชชาใหญ่รับรอง

5. การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อาวุโส เลขาธิการสหประชาชาติ จะกำหนดเจ้าหน้าที่อาวุโสซึ่งบางทีอาจจะเป็นบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานของ สหประชาชาติ ที่มีขีดความสามารถให้เป็นผู้บังคับบัญชาของการปฏิบัติการนั้น ๆ

6. การวางแผน ในเวลาเดียวกัน การวางแผนด้านกิจการการเมือง การทหาร การปฏิบัติการและการสนับสนุนสำหรับ การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ ก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมี ผู้แทนพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติ (หรือเจ้าหน้าที่อาวุโสอื่น) และ กรมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ เป็นส่วนหลัก ขั้นตอนการวางแผนมักจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่หรือคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ของ สหประชาชาติ กองทุนและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

7. การสนับสนุนกำลังทหารและทรัพยากรอื่น ๆ ชาติสมาชิกจะได้รับการแจ้งความต้องการการรับการสนับสนุนกำลังทหารและตำรวจพลเรือนถ้าภารกิจมีความต้องการ เช่นเดียวกับการสนับสนุนสิ่งอุปกรณ์ เครื่องมือ การขนส่งและการส่งกำลังบำรุง

8. การเคลื่อนย้ายและวางกำลัง การเคลื่อนย้ายและวางกำลังจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการเมืองและความมั่นคงในพื้นที่ โดยทั่วไปจะเริ่มจากส่วนล่วงหน้าที่จะไปจัดตั้งสำนักงานของภารกิจ หลังจากนั้นส่วนอื่น ๆ ก็จะเดินทางตามเข้าพื้นที่และกระจายไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในอาณัติ

9. การรายงานโดย เลขาธิการสหประชาชาติ เลขาธิการสหประชาชาติจะรายงานตามห้วงเวลาต่อ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้
10. การตรวจพิจารณาโดย คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ จะต่ออายุและปรับอาณัติของภารกิจเมื่อจำเป็นจนกว่าภารกิจจะสำเร็จหรือยุติลง

การเคลื่อนย้ายและวางกำลัง
................... จนถึงปัจจุบัน กำลังพลนับแสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารได้ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนภารกิจการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของ สหประชาชาติ จำนวน 56 ภารกิจ ทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่ปฏิบัติงานในภารกิจรักษาสันติภาพยังคงเป็นกำลังของประเทศของตนเองเพียงแต่อยู่ภายใต้การควบคุมทางยุทธการของ สหประชาชาติ และประพฤติตนตามแนวทางสากลที่กำหนดไว้ในแต่ละภารกิจ พวกเขาเหล่านั้นยังคงสวมใส่เครื่องแบบของชาติตนเอง เพียงแต่เปลี่ยนเป็นสวมหมวกเหล็กหรือหมวกทรงอ่อนสีฟ้าที่มีเครื่องหมายสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่พลเรือนที่ปฏิบัติงานใน การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ ซึ่งรวมถึงบุคคลที่มาจากระบบสหประชาชาติได้มาจากชาติสมาชิกหรือรับสมัครจากนานาชาติหรือจากท้องถิ่นในการบรรจุลงในงานเฉพาะต่าง ๆ เจ้าหน้าที่พลเรือนนานาชาติที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน สหประชาชาติก็จัดความเร่งด่วนในการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่บุคคลท้องถิ่น ดังนั้นเจ้าหน้าที่จากนานาชาติจึงควรที่จะมีจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเพื่อจะสร้างความมั่นใจว่าคนในประเทศนั้นจะสามารถรับมอบหน้าที่และภาระที่สหประชาชาติทำอยู่ไปปฏิบัติได้โดยเร็วและมีประสิทธิภาพ

................... ระยะเวลาในการเคลื่อนย้ายและวางกำลังในแต่ละภารกิจมีความแตกต่างกันออกไป โดยมีตั้งแต่ 24 ชั่วโมงจนถึงหลายสัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น งบประมาณ ทรัพยากร ความเสี่ยงด้านความมั่นคง ความยากง่ายในการส่งกำลังบำรุง ซึ่ง การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ ได้ใช้กลไกต่าง ๆ ที่จะสร้างเสริมขีดความสามารถในการเคลื่อนย้ายและวางกำลังในภารกิจให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ได้แก่

1. การสถาปนาระบบการจัดเตรียมความพร้อมสหประชาชาติ ร่วมกับชาติสมาชิก
2. สะสมสิ่งอุปกรณ์สำหรับการเคลื่อนย้ายและวางกำลังยุทธศาสตร์ไว้ที่ฐานการส่งกำลังบำรุงสหประชาชาติ เมืองบรินดิซิ อิตาลี
3. จัดลำดับบัญชีบุคคลพลเรือนที่ได้รับการฝึกล่วงหน้าแล้วซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ทันทีที่มีการเริ่มภารกิจ
4. ใช้อำนาจของ เลขาธิการสหประชาชาติ ในการใช้งบประมาณที่จำเป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่ การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ จะได้รับการเห็นชอบจาก คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ

การเงินสำหรับ การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ
................... ทุกชาติสมาชิกจะให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพสหประชาชาติ สมัชชาใหญ่จะจัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายให้ชาติสมาชิก ซึ่งแต่ละชาติจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายมากน้อยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของชาตินั้น ๆ ยกเว้นชาติสมาชิกถาวรของ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ที่มีความรับผิดชอบเป็นพิเศษต่อสันติภาพและความมั่นคงของนานาชาติ ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายสูงสุดของภารกิจรักษาสันติภาพอยู่ที่ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2537/2538 และน้อยที่สุดอยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2541/2542

................... ชาติสมาชิกให้การสนับสนุนคำร้องของ เลขาธิการสหประชาชาติ ด้วยการส่งกำลังทหาร ตำรวจพลเรือน ผู้สังเกตการณ์ หรือสิ่งอุปกรณ์ รวมทั้งการสนับสนุนอื่น ๆ ให้แก่แต่ละภารกิจ การรักษาสันติภาพ ชาติสมาชิกที่ให้การสนับสนุนดังกล่าวจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายคืนได้จากภารกิจตามอัตราที่ได้มีการตกลงไว้ การให้การสนับสนุนกำลังพลสำหรับการรักษาสันติภาพมิได้เป็นข้อผูกมัดแต่อย่างใด และชาติสมาชิกที่ให้การสนับสนุนกำลังทหารนั้นยังคงมีสิทธิที่จะถอนกำลังพลของตนออกจากการปฏิบัติการได้ อย่างไรก็ตามหลาย ๆ ชาติสมาชิกมีความสมัครใจที่จะให้การสนับสนุนภารกิจแบบให้เปล่า ด้วยการสนับสนุนทรัพยากรในรูปแบบ การขนส่ง สิ่งอุปกรณ์ กำลังพลและการเงิน นอกเหนือจากอัตราสัดส่วนด้านการเงินที่ประเทศตนเองต้องรับผิดชอบในการสนับสนุนการรักษาสันติภาพ

รายงานบราฮิมี
................... เมื่อ สิงหาคม 2543 เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ตีพิมพ์รายงานของคณะทำงานภายนอกในการเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของการปฏิบัติการสันติภาพ สหประชาชาติ คณะทำงานดังกล่าวมีนาย แลคดาร์ บาฮิมี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอัลจีเรียเป็นประธานในการจัดทำรายงานดังกล่าว (รู้จักกันในชื่อ รายงานบราฮิมี) เมื่อ สิงหาคม 2543

................... รายงานบราฮิมีได้บรรจุข้อเสนอแนะแบบตรงไปตรงมาจำนวน 57 ข้อ ซึ่งเป็นการเสนอต่อ เลขาธิการสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ สมัชชาใหญ่ และชาติสมาชิก รายงานดังกล่าวได้มุ่งไปยังระดับยุทธศาสตร์ การเมือง และเรื่องพื้นฐานในการปฏิบัติการ การปฏิรูปการปฏิบัติสันติภาพหลายประการเกิดจาก ข้อเสนอแนะของรายงานดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นลำดับความเร่งด่วนต้น ๆ ของ การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ และ กรมเลขาธิการ ซึ่งข้อเสนอแนะหลักจากรายงานนี้สามารถสรุปได้ดังนี้.-

1. ประชาคมนานาชาติจะต้องเชื่อมั่นว่าการรักษาสันติภาพเป็นหนทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

2. สันติภาพย่อมมีให้รักษาเสมอ กลุ่มความขัดแย้งต้องมีความปรารถนาที่จะยุติการสู้รบและดำเนินตามเป้าประสงค์ของตนผ่านทางการเมืองและหนทางอื่นที่ไม่ใช้ความรุนแรง

3. ผู้เกี่ยวข้องหลักของความขัดแย้งต้องเห็นชอบการมีส่วนร่วมของ สหประชาชาติ และบทบาทในการช่วยเหลือพวกเขาแก้ไขความขัดแย้ง

4. การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ ต้องเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการแก้ไขความขัดแย้ง ที่มักจะรวมการเมือง เศรษฐกิจ การพัฒนา การสร้างสถาบัน มนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมส่วนอื่น ๆ ของระบบสหประชาชาติด้วย ทั้งในส่วนของ สหประชาชาติ และชาติสมาชิก รวมทั้งองค์การนานาชาติอื่น ๆ

5. ยุทธศาสตร์ในภาพรวมต้องคำนึงถึงมิติของภูมิภาคเพื่อให้มั่นใจได้ว่าประโยชน์ที่ได้รับในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งนั้นจะไม่ถูกทำลายโดยปัญหาของประเทศข้างเคียง

6. คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ โดยเฉพาะสมาชิกถาวร ต้องเห็นชอบในเป้าประสงค์ของปฏิบัติการและให้อำนาจการปฏิบัติที่ชัดเจน

7. คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ต้องทำให้ความมั่นใจว่าอาณัติที่กำหนดไว้จะต้องสำเร็จ ซึ่งการปฏิบัติหมายรวมถึงการอนุมัติจำนวนกำลังที่เหมาะสมในการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามอาณัติ และชาติสมาชิกต้องให้การสนับสนุนกำลังทหารที่ได้รับการฝึกฝนและมียุทโธปกรณ์ที่เหมาะสมเพียงพอ

8. ความเชื่อถือและขีดความสามารถของภารกิจที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามอาณัติที่กำหนดมานั้นมักถูกตัดสินในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น การเคลื่อนย้ายเข้าวางกำลังของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็วจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

9. ชาติสมาชิกต้องเตรียมการที่จะทำงานร่วมกันและให้คำมั่นต่อความพยายามในการรักษาสันติภาพและการสร้างสันติภาพแม้ว่าจะต้องใช้เวลาที่ยาวนานเพื่อรักษาไว้ซึ่งเงื่อนไขในการฟื้นฟูประเทศจากสงคราม สันติภาพมิได้ถูกสร้างเพียงชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศหรือสังคมที่ผ่านประสบการณ์ความขัดแย้งและทุกข์ระทมจากห้วงเวลาที่ยาวนาน
10. กำลังพลพลเรือนนานาชาติของสหประชาชาติ ทั้งที่สำนักงานใหญ่และในสนามต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างมืออาชีพ มีความสามารถ และซื่อสัตย์มั่นคง เพราะฉะนั้น ความสนใจอย่างสูงจะต้องทุ่มเทให้แก่ระบบการคัดเลือกเพื่อให้ได้เจ้าหน้าที่ที่มีมาตรฐาน ตั้งแต่ระดับผู้นำภารกิจไปจนถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในแนวหน้า

สรุป

................... เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่มีการสถาปนาการปฏิบัติการในสนามของ สหประชาชาติ ภารกิจเมื่อ ปี 2491 ขนาดและขอบเขตของ การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพสหประชาชาติได้แผ่ขยายออกอย่างมาก สหประชาชาติสามารถที่จะนำพาความชำนาญและทรัพยากรที่เป็นหนึ่งเดียวในการเข้าแก้ไขความขัดแย้ง และด้วยประการนี้จึงเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยากซึ่งได้รับผลกระทบจากสงคราม และยังได้ช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นในการก่อร่างสร้างเมืองของพวกเขาหลังจากสิ้นสุดความขัดแย้ง การรักษาสันติภาพหลายมิติไม่สามารถจะดำเนินการได้ดังใจปรารถนา ดังคำที่กล่าวว่า ไม่มีสิ่งของขนาดเดียวที่พอดีต่อทุกคน การประสพความสำเร็จได้ การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพต้องมีอาณัติที่ชัดเจนและทรัพยากรที่เพียงพอโดยจะต้องมีการปรุงแต่งให้มีความพอเหมาะพอดีกับสภาวะการเมือง ภูมิภาคและความเป็นจริงของประเทศหรือดินแดนที่เป็นปัญหานั้น

สิ่งที่สำคัญที่สุด การรักษาสันติภาพจะต้องตอบสนองต่อความต้องการและแรงบันดาลใจของประชาชนในท้องถิ่น การดำเนินการตามสิ่งที่กล่าวมาแล้วเท่านั้นที่จะทำให้ การปฏิบัติการรักษาสันติภาพหลายมิติจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของ สหประชาชาติ ที่จะดำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ของการสร้างสหประชาชาติขึ้นมาเมื่อ 62 ปีที่แล้วมา

//www.taharn.net/war/50f12undpko1.html




 

Create Date : 25 เมษายน 2552    
Last Update : 25 เมษายน 2552 4:46:46 น.
Counter : 1579 Pageviews.  

แซปเปอร์ (Sapper หรือ công binh) หน่วยกล้าตายเวียดนามเหนือ

…......... แซปเปอร์ แปลตามศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ทหารช่างที่มีความชำนาญในการทำลายป้อมค่ายและงานเกี่ยวกับการสร้างป้อมค่าย รวมไปถึงผู้ที่มีความชำนาญในการวางและเก็บกู้ทุ่นระเบิด จากเจ้าแห่งการแต่งตำราประวัติศาสตร์หรือไอ้กันของพี่ไทย ได้เขียนไว้ว่า แนวความคิดการจัดหน่วยแซบเปอร์ได้เกิดขึ้นเมื่อห้าร้อยปีก่อนระหว่างสงครามฝรั่งเศส และได้มีการนำความคิดดังกล่าวมาใช้ในสงครามประกาศอิสรภาพของสหรัฐ ซึ่งรัฐสภาสหรัฐได้อนุมัติให้จัดตั้งเหล่าทหารช่าง และสามกองร้อยแซปเปอร์และทุ่นระเบิด เหล่าทหารช่างของสหรัฐได้สร้างเกียรติประวัติในด้านการสร้างป้อมค่ายในสงครามประกาศอิสรภาพด้วยการสนับสนุนงานทางด้านการช่างต่าง ๆ ให้แก่ทหารราบจนได้รับสมญาว่า แซปเปอร์

….........แต่ที่มาของคำว่าแซปเปอร์ที่ดังที่สุดและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปของผู้คนทั่วโลกคงเป็นคำที่สหรัฐใช้เรียกหน่วยกล้าตายของเวียดนามเหนือในระหว่างสงครามเวียดนาม ที่สร้างความหวาดหวั่นให้แก่กองกำลังสหรัฐและพันธมิตรในสงครามเวียดนามอย่างที่เรียกว่าขนพองสยองเกล้าเพียงแค่ได้ยินหรือนึกถึงความบ้าบิ่นของหน่วยนี้ก็ว่าได้

….........ในระหว่างสงครามเวียดนามเวียดนามเหนือรู้อยู่แก่ใจว่าการใช้หน่วยกล้าตายขนาดเล็กจะทำให้ลดการสูญเสียอย่างมหาศาลของกำลังส่วนใหญ่และทำให้เอาชัยชนะได้อย่างง่ายดายด้วยการสร้างความตกตะลึงชะงักงันต่อข้าศึก เวียดนามเหนือจึงจัดตั้งหน่วยหัวหอกแซปเปอร์ขึ้นมาเพื่อเจาะทะลุทลวงเปิดทางการโจมตีและลดการสูญเสียของแก่กำลังหลัก

….........หน่วยแซปเปอร์จะใช้ยุทธวิธีแทรกซึม เจาะ แนวป้องกันของข้าศึกก่อนที่จะมีการเข้าตีของกำลังหลัก เมื่อแทรกซึมเข้าไปได้แล้วจะจู่โจมข้าศึกจากภายในแนวป้องกันซึ่งจะบังคับให้ข้าศึกต้องทำการรบสองด้านในเวลาเดียวกัน หรือไม่เช่นนั้น ถ้าหน่วยเจาะของแซปเปอร์ทำการโดยอิสระก็จะมุ่งหวังเพื่อทำลายเป้าหมายมีค่าสูงของข้าศึกเช่นศูนย์การสื่อสารและบังคับบัญชารวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สำคัญด้วยการวางระเบิดและก่อความสับสนก่อนที่จะหลบหนีออกไป

….........หน่วยแซปเปอร์จะทำการฝึกหกเดือนมากกว่าการฝึกทหารราบของเวียดนามโดยทั่วไปที่ฝึกเพียงหนึ่งเดือน ความสำเร็จของหน่วยแซปเปอร์อยู่ที่การฝึก ประสบการณ์ การตัดสินใจ ความเป็นหน่วยและผู้นำ โดยมีการมุ่งเน้นถึงการเสียสละของแต่ละบุคคลและวิธีการควบคุม
….........โดยทั่วไป 1 หมวดแซปเปอร์จะสนับสนุนกองพันทหารราบเพื่อกวาดล้างสิ่งกีดขวางและนำหน่วยทหารราบในการเข้าตีต่อที่หมายสำคัญยิ่ง เหตุการณ์สำคัญที่มีการใช้หน่วยแซปเปอร์ในการเข้าตีตรงหน้าต่อกำลังสหรัฐและเวียดนามใต้คือ ปฏิการรุกวันตรุษญวน ในการปฏิบัติภารกิจพิเศษหมวดแซปเปอร์จะจัดรวมกำลังเป็นกองร้อยแซปเปอร์และปฏิบัติการเป็นอิสระจากกองพันทหารราบ

….........ก่อนที่จะรับเข้าเป็นกำลังส่วนหนึ่งของหน่วยแซปเปอร์ ทหารจะต้องเข้ารับการฝึกพิเศษที่ค่ายในเวียดนามเหนือและงานเฉพาะหน้าที่ระดับหน่วยในเวียดนามใต้ การฝึกจะประกอบด้วย การเป็นหัวหอกในการเข้าตี เทคนิคการลาดตะเวน การเคลื่อนที่อย่างซ่อนเร้น การเจาะแนวทุ่นระเบิด การผ่านรั้วลวดหนามและเครื่องตรวจจับ และวิธีการใช้วัตถุระเบิดในการทำลายแนวป้องกัน ที่ตั้งตำบลสำคัญ ที่ตั้งการส่งกำลังและคลังอาวุธวัตถุระเบิด การฝึกของแซปเปอร์ไม่มีความแตกต่าง แต่การดำเนินกลยุทธ การปฏิบัติการ และวินัยของหน่วยแซปเปอร์ต่างหากที่ทำให้เกิดความแตกต่างจากหน่วยทั่วไป
….........กุญแจสำคัญของหน่วยแซปเปอร์คือ วัตถุระเบิดและการใช้วัตถุงาน หน่วยแซปเปอร์จึงได้รับการฝึกเป็นอย่างดีเกี่ยวกับวัตถุระเบิดไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายตนเองและข้าศึก วิธีการวางระเบิดต่อเป้าหมายต่าง ๆ การปลดและนำกลับมาใช้ของทุ่นระเบิดของข้าศึก
….........กองทัพน้อยแซปเปอร์เป็นหน่วยทหารช่างรบในการเข้าตีที่ใช้ต่อต้านกำลังขนาดใหญ่ของข้าศึกด้วยกำลังขนาดเล็กที่เคลื่อนที่อย่างเงียบกริบ ภารกิจหลักคือการทำลายกำลังของสหรัฐและพันธมิตรด้วยการปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งมักประกอบด้วย การทำลายเป้าหมาย การสังหารผู้บังคับบัญชาข้าศึก การก่อวินาศกรรม การลาดตะเวน การรบประชิด การซุ่มโจมตีและการเป็นหัวหอกในการเข้าตีเจาะ

….........ตามปกติจะมีการจัดกำลังของเวียดนามเหนือจะจัด หนึ่งกองพันแซปเปอร์ต่อหนึ่งมณฑลทหาร แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยการเปลี่ยนกองพันทหารราบหลายกองพันให้เป็นกองพันแซปเปอร์และมีการฝึกแซปเปอร์ให้แก่หน่วยทหารราบทั้งหมด การจัดกำลังแซปเปอร์ในการปฏิบัติภารกิจจะมีการปรับแต่งให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตามการจัดทั่วไปของกองพันแซปเปอร์จะประกอบด้วย 4 -5 กองร้อยแซปเปอร์ แต่ละกองร้อยจะประกอบด้วยสามหมวดที่มีกำลัง 15 – 20 คน โดยหนึ่งหมวดจะแบ่งออกเป็นสองหมู่ ซึ่งแต่ละหมู่จะแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่ม ๆ ละสามนาย
….........สำหรับการปฏิบัติการ ขั้นการเตรียมการ หัวหน้าหน่วยแซปเปอร์จะทำการลาดตะเวนเป้าหมายข้าศึก จากนั้นจะทำการวิเคราะห์ข่าวกรองที่ได้รับ เพื่อนำมาวางแผนในการเข้าตี ซึ่งจะประกอบด้วย เส้นทางในการเข้าสู่ที่หมาย การแทรกซึมและการถอนตัว ที่ตั้งยิงสนับสนุน ลำดับความสำคัญของเป้าหมาย การจัดหน่วยเฉพาะกิจและกำหนดอาวุธ และทำการซักซ้อมการปฏิบัติ ขั้นการปฏิบัติกลุ่มแทรกซึมของแซปเปอร์จะเริ่มทำการแทรกซึมต่อที่หมายตั้งแต่ฟ้ามืดปกติจะใช้เวลา 6 – 7 ชั่วโมงในการเคลื่อนที่ได้ประมาณ 200 เมตร เมื่อเคลื่อนที่เข้าถึงแนวลวดหนามแซปเปอร์จะใช้ไม้ไผ่ในการยกหรือแผ่นรองในการวางพาดเพื่อคืบคลานผ่านหรือใช้คีมตัด และถ้าผ่านไม่ได้จริง ๆ ก็จะใช้วัตถุระเบิดในการเปิดทาง
….........วิธีการแทรกซึมนี้ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงยิ่งซึ่งเป็นสิ่งสุดยอดหย่างหนึ่งที่มีแต่เฉพาะหน่วยแซปเปอร์ การแต่งกายของแซปเปอร์มักจะมีแต่เพียงผ้าเตี่ยวหรือกางเกงขาสั้น และพรางตัวด้วยโคลน อุปกรณ์ประจำตัวอื่น ๆ จะประกอบด้วยปืนอัตโนมัติ คีมตัดลวด ดาบปลายปืน เหล็กแหลมขุดค้นทุ่นระเบิด ท่อนไม้ไผ่สำหรับยกลวดหนามและลวดสั้น ๆ จำนวนหนึ่งเพื่อปลดชนวนวัตถุระเบิด และในระหว่างการแทรกซึมอาจจะมีการปฏิบัติการลวงด้วนอื่นเพื่อย้ายความสนใจของข้าศึกให้ออกจากการตรวจการต่อการแทรกซึมของแซปเปอร์

….........ในกรณีที่แซปเปอร์ไม่สามารถเจาะผ่านแนวได้ด้วยวิธีการคืบคลานหรือถูกตรวจจับได้ก็อาจต้องใช้บังกะโลตอร์ปิโดเพื่อให้การเคลื่อนที่เป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยในการหว่างการใช้ก็จะมีการลวงด้วยการขว้างระเบิดไปยังส่วนที่อยู่ห่างไกลเพื่อดึงความสนใจ แซปเปอร์อาจใช้จรวดอาร์พีจีเพื่อสกัดกั้นและกดดันข้าศึก ต่อด้วยการเข้าโจมตีอย่างเร็วที่สุดในทุกทิศทาง และพยายามที่จะระเบิดและโจมตีจากภายในที่มั่นตั้งรับ
….........แต่ถ้าหน่วยนำของแซปเปอร์ไม่สามารถไปจัดการต่อข้าศึกได้ แซปเปอร์อาจจะถอนกำลัง หรือไม่ก็จะใช้กำลังที่เหลือบุกไปข้างหน้าโดยไม่แยแสต่อความสูญเสีย ความปลอดภัยหรือเส้นทางหนี จนกว่าภารกิจจะสำเร็จหรือมีคำสั่งให้ถอนตัว

….........เมื่อใดที่แนวป้องกันถูกเจาะหรือมีการตรวจจับได้ว่ามีการแทรกซึม หน่วยแซปเปอร์จะเคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายที่ได้รับการแบ่งมอบเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาให้สำเร็จภายในสามสิบนาทีหรือน้อยกว่า วัตถุระเบิดจะถูกจุดต่อที่หมายสำคัญในขณะเดียวกับที่ระเบิดขว้างและจรวดอาร์พีจีจะยิงไปทุกทิศทางเพื่อกดข้าศึก หลังจากเป้าหมายถูกทำลายแซปเปอร์จะถอนตัวไปตามช่องทางที่กำหนดโดยมีหน่วยยิงสนับสนุนและกองหนุนให้การคุ้มกัน ส่วนเข้าตีจะเคลื่อนที่ไปรวมตัวกันที่จุดนัดหมายแล้วถอนตัวกลับไปยังฐานปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว
….........การปฏิบัติการของแซปเปอร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือการปฏิบัติการโจมตีต่อสถานทูตสหรัฐในกรุงไซง่อน เวียดนามใต้ ในการการปฏิบัติการรุกวันตรุษญวน ของเวียดนามเหนือ ในตอนเช้าตรู่ 31 ม.ค. 2511 แซปเปอร์จำนวน 19 คน (เท่ากับจำนวนผู้ก่อการร้ายที่จี้เครื่องบินชนตึกเวอร์ดเทรดของสหรัฐ เมื่อ 11 กันยายน 2544 โดยบังเอิญ) จากกองพัน แซปเปอร์ ซี 10 ที่แทรกซึมเข้ามาอยู่ในไซ่ง่อนล่วงหน้า พร้อมอาวุธปืนกล ระเบิดขว้างและจรวดต่อสู้รถถัง บี 40 แต่งกายชุดปิยามาสีดำ ผูกแขนด้วยผ้าสีแดง แซปเปอร์ทั้ง 19 คน เป็นคนที่เกิดในเวียดนามใต้จึงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับพื้นที่ ใช้ยานพาหนะ มาจอดหน้าสถานทูตสหรัฐ ที่เป็น

….........แซปเปอร์หน่วยนี้ได้รับคำสั่งเร่งด่วนให้ยึดสถานทูตสหรัฐซึ่งเป็นเป้าหมาย 1 ใน 6 ของกองพันแซปเปอร์ ซี 10 ในไซ่ง่อน โดยให้ยึดไว้ให้ได้ 48 ชั่วโมงเพื่อรอกำลังส่วนใหญ่ที่รุกมาจากเวียดนามเหนือเดินทางมาถึง เวลาตีสองสี่สิบห้านาที รถปิคอัพและรถแท็กซี่ที่บรรทุกแซปเปอร์ 19 คน ซึ่งโชคดีผ่านด่านตรวจของตำรวจมาได้โดยไม่มีการขัดขวางก็มาถึงหน้าสถานทูตสหรัฐ อาคารหกชั้นราคา 2.6 ล้านเหรียญ ที่สร้างเสร็จเมื่อสามเดือนก่อน แล้วเปิดฉากการยิงด้วยปืนอาการ์ และจรวดประทับบ่า ทหารสารวัตรสองนายของสหรัฐทำการยิงตอบโต้และปิดประตู แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการโจมตีได้ อีกสองนาทีต่อมาแซปเปอร์ได้ระเบิดกำแพงของสถานทูตเป็นช่องขนาดหนึ่งเมตรด้วยจรวดต่อสู้รถถัง สองคนแรกของแซปเปอร์ที่คาดว่าเป็นหัวหน้าชื่อ เบ ทูเย็น และ อุท โน มุดเข้าไปในรูนั้นและยิงต่อสู้กับทหารสารวัตรสองคน ทั้งสี่เสียชีวิตในการต่อสู้ระยะประชิดนั้น แซปเปอร์ที่เหลือพร้อมระเบิดซีโฟร์ จำนวน 40 ปอนด์ แม้ว่าจะสูญเสียหัวหน้าหน่วยยังคงบุกต่อเข้าไปยังอาคารหลักของสถานทูตแต่ทหารสหรัฐสามารถตั้งหลักได้ประกอบกำลังเสริมจึงยิงต่อสู้และทำลายการโจมตีของแซปเปอร์ได้ ในช่วงสายของวันเดียวกัน ผลการปะทะ แซปเปอร์เสียชีวิต 17 คน ถูกจับเป็น 2 คน ทหารสหรัฐเสียชีวิต 5 นาย เวียดนามใต้ 4 คน

….........อีกเหตุการณ์หนึ่งไม่ดังนักแต่มีสิ่งที่สำคัญคือ เกิดในประเทศไทย คือ แซปเปอร์แทรกซึมสนามบินสหรัฐ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสนามบินดังกล่าวใช้เป็นฐานบินในการขึ้นลงของเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินรบของสหรัฐที่โจมตีเวียดนามเหนือ ในช่วงสงครามเวียดนาม เหตุการณ์ดังกล่าว แซปเปอร์พยายามเข้าแทรกซึมเข้าไป จำนวนสามครั้ง เมื่อ 28 กรกฎาคม 2512 , 12 มกราคม 2513 และ 4 มิถุนายน 2515 โดยหน่วยแซปเปอร์ดังกล่าวเป็นหน่วยขนาดเล็กที่ปฏิบัติการอิสระและคาดว่าเป็นคนเวียดนามเหนือที่อพยพมาอยู่ในไทยที่เดินทางไปฝึกที่เวียดนามเหนือแล้วแทรกซึมกลับผ่านเข้าไทยมาทางลาว ผลการปฏิบัติภารกิจของแซปเปอร์ล้มเหลว และถูกสังหารจำนวน 4 นาย และถูกยึดยุทโธปกรณ์ได้จำนวนหนึ่ง ส่วนฝ่ายสหรัฐสูญเสียสุนัขสงครามหนึ่งตัว

//www.taharn.net/war/48c20.html




 

Create Date : 24 เมษายน 2552    
Last Update : 24 เมษายน 2552 6:54:57 น.
Counter : 2842 Pageviews.  

ตำราพิชัยสงคราม ๒๑ กลยุทธ์ไทย


๑. กลฤทธี
“กลศึกอันหนึ่ง ชื่อว่าฤทธีนั้น
ซั้นทะนงองค์อาจ ผกผาดกล่าวเริงแรง
สำแดงแก่ข้าแกล้วหาร ชวนทำการสอนสาตร
อาจเอาบ้านเอาเมือง ชำนาญเนืองณรงค์
ยงใจผู้ใจคน อาษาเจ้าตนทุกค่ำเช้า
จงหมั่นเฝ้าอย่าคลา ภักตราชื่นเทียมจันทร์
ทำโดยธรรม์จงภักดิ์ บันเทิงศักดิจงสูง
จูงพระยศยิ่งหล้า กลศึกนี้ชื่อว่า ฤทธีฯ”

๒. กลสีหจักร
“กลหนึ่งชื่อว่าสีหจักร ให้บริรักษพวกพล
ดูกำลังตนกำลังท่าน คิดคเนการแม่นหมาย
ยกย้ายพลเดียรดาษ พาษไคลคลี่กรรกง
ต้อรพลลงเป็นทิศ สถิตรช้างม้าอย่าไหว
ตั้งพระพลาไชยจงสรรพ จงตั้งทับโดยสาตร
ฝังนพบาทตรีโกณ ให้ฟังโหรอันแม่น
แกว่นรู้หลักหมีคลาด ให้ผู้องอาจทะลวงฟัน
ให้ศึกผันแพ้พ่าย ย้ายพลใหญ่ให้ไหว
ไสพลศึกให้หนี กลศึกอันนี้ชื่อว่า สีหจักรฯ”

๓. กลลักษณ์ซ่อนเงื่อน
“กลหนึ่งลักษณส้อนเงื่อน เตือนกำหนดกฎหมายตรา
แยกปีกกาอยู่สรรพ นับทหารผู้แกล้ว
แล้วกำหนดจงคง แต่งให้ยงยั่งเย้า
ลากศึกเข้าในกล แต่งคนแต่งช้างม้า
เรียงหน้าหลังโจเจ รบโยเยแล้วหนี
ศึกติดตีตามติด สมความคิดพาดฆ้องไชย
ยกพลในสองข้าง ยกช้างม้ากระทบ
ยอหลังรบสองข้าง จึ่งบ่ายช้างอันหนี
คระวีอาวุทธโห่ร้อง สำทับก้องสำคัญ
ยืนยันรบทั้งสี่ คลี่พลออกโดยสั่ง
สัตรูตั้งพังฉิบหาย อุบายศึกนี้
ชื่อว่าลักษณซ่อนเงื่อนฯ”

๔. กลเถื่อนกำบัง
“กลหนึ่งชื่อว่าเถื่อนกำบัง รั้งรบพลตนน้อย
ชัดคนคล้อยแฝงป่า แต่งพลหล้าแล่นวง
ทั้งกงนอกกงใน ไว้ช้างม้าให้แฝง
แทงให้ร้องทรหึง มี่อึงฆ้องกลองไชย
ไว้ให้เสียงสำทับ ปืนไฟกับธนู
น่าไม้กรูกันมา ดาบถะลวงฟันดาหน้า
ประดังช้างม้าเรี่ยชายไพร ลูกหาบในป่าโห่
เกราะเสโลห์นี่นั่น ให้ศึกงันร่าถอย
ครั้นศึกคล้อยเหนผู้ห้าว กลเสือคราวครึมป่า
แล้วออกล่าเเล่นฉาว ทำสำหาวซ่อนเล็บ
เกบแต่เตียนกินรก ลอบฉวยฉกเอาจงเนือง
ให้ศึกเคืองใจหมอง คลองยุบนดังนี้
ชื่อว่าเถื่อนกำบังฯ”

๕. กลพังภูผา
“กลนี้ชื่อพังภูผา แม้ศึกมาปะทะ
อย่าเพ่อระเริงแรง สำแดงดุจเหนน้อย
ชักคล้อยแฝงป่าเข้า ศึกเหนเราดูถูก
ผูกช้างม้าออกไล่ ยอพลใหญ่กระทบ
ผิรบเข้าบอไหว ให้ช้างม้าโรมรุม
กลุ้มกันหักอย่าคลา อย่าช้าเร่งรุมตี
ศึกแล่นหนีตามต่อย ให้ยับย่อยพรายพรัด
ตัดเอาหัวโห่เล่น เต้นเริงรำสำแดงหาร
ให้ศึกคร้านคร้ามกลัว ระรั้วระเสิดสัง
กลศึกอันนี้ ชื่อว่าพังภูผาฯ”

๖. กลม้ากินสวน
“กลหนึ่งชื่อว่าม้ากินสวน ให้หาผู้ควนหารห้าว
ลาดเอาเย่าเอาเรือน บ้านถิ่นเถื่อนอยู่ใกล้
จับกุมได้เอามา นานาเลศเทศกาล
ปันพนักงานจงขาด ปรนไปลาดเนืองเนือง
ให้ศึกเคืองใจแค้น แม้นจะอยู่บมีสุข
บุกขับกับทุกเดือน เตือนใจตื่นไปมา
กลขับปลาให้ห้อม ด้อมดักสักสุ่มเอา
ให้ศึกเหงาใจถอย ค่อยเก็บนอกเข้ามา
ให้ระอาใจอ่อน ผ่อนผู้คนให้หนี
กลอนกล่าวกลศึกนี้ ชื่อว่าม้ากินสวนฯ”

๗. กลพวนเรือโยง
“กลศึกอันหนึ่ง ชื่อว่าพวนเรือโยง
ประดุจผะโองปืนตาล ทำจงหวานแช่มชื่น
ผูกเปนมิตรไมตรี สิ่งใดดียกให้
ละไลต่ออย่าเสีย แต่งลูกเมียให้สนิจ
ติดต่อตั้งยังกล ยุบลช้างเถื่อนตามทั้งโขลง
โยงเบ็ดราวคร่าวเหยื่อกาม ค่อยลากก้ามเอามา
ด้วยปัญญาพิสดาร กลการศึกอันนี้
ชื่อว่าพวนเรือโยงฯ”

๘. กลโพงน้ำบ่อ
“กลหนึ่งชื่อว่าโพงน้ำบ่อ คิดติดต่อข้าศึก
ฝ่ายเขานึกดูแคลน ใครรุกแดนรุกด้าว
เลียบเลียมกล่าวข่มเหง ชระเลงดูหมิ่นเรา
โอนเอนเอาอย่าขวาง ข้างเราทำดุจน้อย
ค่อยเจรจาพาที ลับคดีชอบไว้
อ่อนคือใครตามใจ น้ำไหลลู่หลั่งหลาม
พูดงามก้านกิ่งใบ อัทยาไศรถ่อมถด
อดคำกล่าวท่าวเอา ครั้นว่าเขาดูหมิ่น
ผินฟังพลดูแคลน แดนพังพลดูถูก
ประดุจลูกหลายตน ครั้นสปสกลไซ้
จึ่งยกได้เขาคืน เราลุกยืนผูกเอา
ได้เขาทำสง่าเงย เตยหน้าตาโอ่โถง
ดุจหนึ่งโพงได้น้ำ คำคิดติดต่อ
ชื่อว่าโพงน้ำบ่อฯ”

๙. กลล่อช้างป่า
“กลหนึ่งชื่อว่าฬ่อช้างป่า ผี้ศึกมาคะคึก
ศึกครั้นหนีครั้นไล่ บค่อยไต่ค่อยตาม
ลามปามแล่นไล่มา ให้แทงหาขุมขวาก
พากยที่เหวที่ตม แต่งให้ล้มหลุมขุม
ซุ่มซ่อนตนสองปราด แต่งให้ลาดเบื้องน่า
คอยอยู่ท่าที่ดี ถ้าไพรีเหนได้
ศึกเหนใคร่ใจคด ค่อยถอยถดฝ่ายเรา
ฝ่ายเขาขามบไล่ ฝ่ายเราไปล่รี้พล
ไว้เปนกลหลายถาน ปันการตามน่าหลัง
ระวังยอหลายแห่ง สบที่แต่งเนืองเนือง
พลเขาเปลืองด้วยกล ยุบลฬ่อช้างเถื่อน
แล้วแต่งเตือนน่าหลัง ทั้งไปน่าก็บได้
ถอยหลังไปก็บรอด ทอดตนตายกลางช่อง
คลองยุบลดังนี้ ชื่อว่าฬ่อช้างป่าฯ”

๑๐. กลฟ้างำดิน
“กลศึกอันหนึ่ง ชื่อว่าฟ้างำดิน
หมั่นสำเนียกพลพฤนทรามตย์ ให้ใจอาจใจหาญ
ชำนาญช้างม้ากล้าณรงค์ หมั้นคงชี้ฉับเฉียว
เหลือบเหลียวน่าซ้ายขวา ไปมาผับฉับไว
ใช้สอยยอดยวดยง จงชำนาญแล่นแอ่นไว
ปืนไฟน่าไม้พิศม์ สนิทธนูดาบดั้งแพน
แสนเสโลหโตมร กรไว้พุ่งเชี่ยวชาญ
ชำนาญศิลป์ทั้งปวง ถลวงฟันรันรุม
ชุมพลสิบพลร้อย อย่าให้คล้อยคลายกัน
ทั่วพลพันพลหมื่น หื่นพลแสนพลล้าน
จรเดียวดาลเด็ดมา แปรงาช้างบ่ายตาม
ฟังความตามบังคับ กับเสบียงเรียงถุง
ประดุงไพร่พลช้างม้า กลศึกอันนี้ว่า
ชื่อฟ้างำดินฯ”

๑๑. กลอินทร์พิมาน
“กลหนึ่งชื่อว่า อินทพิมาน
ให้อาจารยผู้รู้ เทพยาครูฝังนพบาท
แต่งสีหนาทข่มนาม ตามโบราณผู้แม่น
อันชาญแกวนเหนประโยชน์ บรรเทาโทษโดยสาตร
ยุรยาตรโดยอรรถ ให้ประหยัดซึ่งโทษ
อย่าขึ้งโกรธอหังกา มนตราคมสิทธิ์ศักดิ์
พำนักน์ในโบราณ บูรพาจารยพิไชย
โอบเอาใจพลหมู่ ให้ดูสกุณนิมิตร
พิศโดยญาณุประเทศ พิเศศราชภักดี
ศรีสุริยศักดิ์มหิมา แก่ผู้อาษานรนารถ
เทพาสาธุการ โดยตำนานดั่งนี้
ชื่อว่าอินทพิมานฯ”

๑๒. กลผลาญศัตรู
“กลหนึ่งชื่อว่าผลานศัตรู ข้าศึกดูองอาจ
บพลาดราษฎรกระทำ นำพลพยัคฆะปะเมือง
พลนองเนืองแสนเต้า แจกเล่าเข้าเชาเรา
เอาอาวุธจงมาก ลากปืนพิศม์พาดไว้
ขึ้นน่าไม้ธนู กรูปืนไฟจุกช่อง
สองจงแม่นอย่าคลา ชักสารพาบันทุก
อย่าอุกลุกคอยฟัง อย่าประนังตนเด็ด
เล็ดเล็งดูที่หมั้น กันที่พลจงคง
คนหนึ่งจงอย่าฉุก ปลุกใจคนให้หื่น
ให้ชื่นในสงคราม ฟังความสั่งสำคัญ
ฆ้องกลองพรรณแตรสังข์ ประนังโรมรันรุม
เอาจุมพลดาศึก พิฦกคะเปนนาย
ครั้นถูกกระจายพ่ายพัง พลเสริดสั่งฤาอยู่
บ่เปนหมู่เปนการ โดยสารโสลกดั่งนี้
ชื่อว่า ผลานศัตรูฯ”

๑๓. กลชูพิษแสลง
“กลหนึ่งว่าชูพิศม์แสลง ข้าศึกแรงเรืองฤทธิ์
คิดไฝ่ไภยเอาเรา เคยเขามากมาก
ภากย์ที่แคบที่คับ สลับรี้พลช้างม้า
เคยคลาปล้นรุกราม ผลานฬ่อลวงบ้านเมือง
เนืองเนืองมาเพื่อนตน ให้ใส่กลปราไศรย
ฝากของไปฝากรักษ์ ลักลอบให้เงินทอง
รังวันปองขุนใหญ่ หัวเมืองไพร่ข้าศึก
ให้ตฤกจงลับแล้ง แข่งอุบายเลห์คิด
ไปมาสนิทเปนกล ให้เขาฉงนสนเท่ห์
เพราะเปนเล่ห์ภายใน บไว้ใจแก่กัน
ผันใจออกกินแหนง แยงให้ผิดด้วยกัน
ชูพิศม์ผรรแปรพิศม์ ให้ผิดกันเองโจกเจก
บเป็นเอกใจเดียว บเปนเกี่ยวเปนการ
เพราะพิศม์ผลานศัตรู กลศึกอันนี้
ชื่อว่าชูพิศม์แสลงฯ”

๑๔. กลแข็งให้อ่อน
“กลหนึ่งแขงให้อ่อน ผ่อนเมื่อศัตรูยก
ให้ดูบกดูน้ำ ซ้ำดูเข้ายาพิศม์
พินิตพิศม์จงแหลก ตัดไม้แบกเบื่อเมา
เอาไปทอดในน้ำ ทัพซ้ำหนามขวาก
แต่งจงมากท่าทาง วางจาวห้าวแหลมเล่ห์
บ่อดานทางเข่าที่ขัน กันหลายแห่งที่คับ
แต่งสนับไว้จ่อไฟ ไล่เผาคลอกป่าแขม
แนมขวากแนมห่วงน้ำค่าม ตามเผาป่าแทบทัพ
ยับไม้เผาเปนถ่าน หว่านไฟไว้รายเรียง
รอเผาเสบียงจงสิ้น อย่าให้กินเปนอาหาร
แต่งคนชาญหลอกทัพ ให้เสียหับเสียหาย
ทำลายคาบเนืองเนือง เปลืองเสบียงเปล่าเฉาแรง
กลเชื้อแขงให้อ่อนฯ”

๑๕. กลยอนภูเขา
“กลหนึ่งยอยภูเขา ข้าศึกเนาประชิะ
ให้ริะดูช่องชอบ ที่จะขอบจะขัง
แต่งระวังยักย้าย ฝ่ายพลเขาเอาเสบียง
เรียงงานในเมืองเรา เอาใจไพร่ใจพล
คนอยู่ประจำการ พนักงานใครใครรบ
แต่งบรรจบพลแล่น ให้ทำแกว่นชวนกัน
แต่งถลวงฟันบุกทัพ คอยฟังศัปทสำคัญ
หาที่ยันที่อ้าง เอาม้าช้างเป็นดิน
ปืนคูหักค่ายเข้า รบรุกเร้ารุมแทง
อย่าคลายแคลงพรายพรัด ตัดให้ม้วยด้วยกัน
ให้สำคัญจงแม่น แล่นช้างม้าวางขวาก
เขาตามยากเอาเรา เท่าทิศที่ตนหมาย
ฆ่าให้ตายกลากลาด ต้องบาดเจ็บป่วยการ
ศัตรูดาลระทด ขดด้วยเสียงปืนไฟ
ในเมืองเร่งโห่ร้อง ให้มี่ก้องนิรนาท
มีปี่พาทย์เสียงสรวญใน ชมชื่นใจขับรำ
ซ้ำทนงองอาจ ปืนไฟพาดประนัง
กลชื่อพังภูเขาฯ”

๑๖. กลเย้าให้ผอม
“กลหนึ่งเย้าให้ผอมนั้น บั้นเมื่อให้เธอลีลา
พาธาอธิราช ให้พินาศศัตรู
หมั่นตรวจดูกำลัง ช้างม้าทั้งรี้พล
ปรนกันเปลี่ยนไปลาด ผาดจู่เอาแต่ได้
หนังสือไว้หมายหมก ว่าจะยกพลหลวง
ลวงใส่กลเป็นเขตร ดูในเทศการ
ให้ป่วยงานทำนา แสงตรวจตราพลแกล้ว
แล้วคลายพลเราเสีย เยียกลเมฆมืดฝน
ฝนไป่ตกตรนกอางขนาง ให้แผ้วถางแส้งทำ
คคึกคำแรงรณ ครั้นหลงกลกลยกเล่า
ลากพลเข้าเนืองเนือง แยงให้เปลืองไปมา
ดุจกลกาลักไข่ จะไล่ก็ไล่มิทัน
วันคืนปีป่วยการ ข้าศึกต้านยืนอยาก
ให้ข้าวยากหมากแพง สิ่งเปนแรงให้แรงถอย
ร่อยรอนไข้ใจหิว ตีนมือปลิวพลัดพราย
ไพร่หนีนายนายเปลี่ยว บเป็นเรี่ยวเปนแรง
ใครใครแขงมิได้ ใครใครไม่มีลาภ
ถ้ารูปงามเสาวภาพย์ก็จะเศร้า กลอุบายนี้เล่า
ชื่อว่าเย้าให้ผอมฯ”

๑๗. กลจอมปราสาท
“กลหนึ่งชื่อจอมปราสาท องอาจมุ่งมาทดู
คูหอคอยเวียงวัง ตั้งไชยภุมจงผับ
รู้ตั้งทัพพระพลาไชย อย่าได้ไหวได้หวั่น
หมั่นดูฉบับธรรมเนียม เตรียมปูนปันเป็นกอง
น่าหลังสองตราบข้าง รอบไว้ช้างม้ารถ
ห้วยธารคชโยธา ให้รักษาจงรอบ
ทุกคันขอบนอกใน อย่าได้ไหวปั่นป่วน
อย่าได้ด่วนคอยฟัง คอยดูหลังดูน่า
จัดช้างม้ารี้พล ปรนกันกินกันนอน
อย่ายอหย่อนอุส่าห์ ให้หมั่นว่าหมั่นตรวจตรา
ทังกระลากระแลงแกง อย่าได้แฝงนายไพร่
ไภยรักษาจงมาก อย่าให้ยากใจพล
อย่าทำกลดุจเสือ บกเรือจงชำนาญ
ชาญทั้งที่โดยกระบวน คิดควรรู้จงผับ
นับหน้าดูผู้อาษา หาคนดีเป็นเพื่อน
อย่าเลื่อนถ้อยให้เสียคำ ทำอันใดทำโดยสาตร์
ตามฉบับราชโบราณ กระทำการให้รอมชอม
กลศึกนี้ชื่อว่าจอมปราสาทฯ”

๑๘. กลราชปัญญา
“กลหนึ่งชื่อว่าราชปัญญา พร้อมเสนาทั้งสองข้าง
ช้างม้ารถเสมอกัน หานักธรรม์ผู้ฉลาด
อาจใส่กลไปปลอม ด้อมดูที่ดูทาง
วางต้นหนคนใช้ ไว้กังวลแก่เขา
เอาสิ่นให้หฤหรรษ์ ให้คิดผันใจออก
ทั้งภายนอกภายใน หวั่นไหวใจไปมา
แต่งโยธาหัดกัน หลายหมู่พรรค์หลายกอง
จองนายหนึ่งไพร่สี่ ทวีนายหนึ่งไพร่หก
ยกนายหนึ่งไพร่เก้า เคล้านายห้าจองพล
ซ้ายขวาคลน่าหลัง ทั้งอาวุธท่าทาง
ถอยพึงกางกันรบ ทบท่าวอย่าหนีกัน
คอยยืนยันรบพลาง ไส่ยาวางเรียเด็ก
นายไพร่เล็ดลอดตาม ให้ฟังความสั่งสำคัญ
ฆ้องกลองพรรณธงไชย กดให้ไล่ให้หนี
ลีลาลาดศึกเข้า ในพลเคล้าเปนกล
สองกองพลซ้ายขวา ดูมรรคาชอบกล
เอาพลตั้งสองข้าง กองกลางง้างพลถอย
ศึกตามลอยแล่นไล่ ครั้นศึกไปล่ออกข้าง
คอยดูช้างดูม้า ดูทวยคลารี้พล
สบสกลโดยสำคัญ จึ่งกระทบกันเข้ารบ
สบสำเนียกเสียกสา อย่าให้คลาให้คลาด
ผาดเอาคงเอาวัน หยิบเอาพลันจงได้
ไว้กำหนดนายกอง ช่องปองปูนจงสรับ
นับอ่านเร่งตรวจตรา กลศึกอันนี้ชื่อว่า
กลราชปัญญาฯ”

๑๙. กลฟ้าสนั่นเสียง
“กลชื่อฟ้าสนั่นเสียง เรียงพลพยุหกำหนด
กดประกาศถึงตาย หมายให้รู้ถ้วนตน
ปรนปันงานณรงค์ ยวดยงกล่าวองอาจ
ผาดกำหนดกดตรา ยามล่าอย่าลืมตน
ทำยุบลสีหนาท ดุจฟ้าฟาดแสงสาย
สำแดงการรุกรัน ปล้นปลอมเอาชิงช่อง
ลวงเอาบุรีราชเสมา ตรารางวันเงินทอง
ปองผ้าผ่อนแพรพรรณ์ ยศอนันต์ผายผูก
ไว้ชั่วลูกชั่วหลาน การช้างม้าพลหาญ
ใช้ชำนาญการรบ สบได้แก้จงรอดราศฏร์
ดุจฟ้าฟาดเผาพลาญ แต่งทหารรั้งรายเรียง
เสียงคะเครงคะคฤ้าน ทังพื้นป่าคะครัน
สนั่นฆ้องกลองไชย สรในสรัพแตรสังข์
กระดึงดังฉานฉ่า ง่อนงาช้างรายเรียง
เสียงบันฦาคร้านครั่น กล่าวกลศึกนั้น
ชื่อฟ้าสนั่นเสียงฯ”

๒๐. กลเรียงหลักยืน
“กลศึกชื่อเรียงหลักยืน ให้ชมชื่นรุกราน
ผลาญให้ครอบทั่วพัน ผันเอาใจให้ชื่น
หื่นสร้างไร่สร้างนา หาปลาล่วงแดนต่าง
โพนเลื่อนช้างล่วงแดนเขา เอาเปนพี่เปนน้อง
พร้องตั้งค่ายตั้งเวียง บ้านถิ่นเรียงรายหมั้น
เร่งกระชั้นเข้าเรียงราย เกราะเอานายเอาไพร่
ไว่ใจไกยใจถึง ระวังพึงใจให้
ใส่ไคล้เอาเปนเพื่อน ใครแขงกล่นเกลือนเสีย
ให้เมียผูกรัดรึง ให้เปนจึ่งม่ามสาย
รายรอบเอาจงหมั้น จงเอาชั้นเปนกล
กลให้เขาลอบล้น ปล้นบ้านถิ่นเถื่อนไปมา
ระวาเพศแทบเวียง กลศึกอันนี้ชื่อว่าเรียงหลักยืนฯ”

๒๑. กลปืนพระราม
“กลชื่อว่าปืนพระราม ว่าอย่ามีความโกรธขึ้ง
ทรอึง ใจหนักฦก สำแดงศึกใหญ่มา
พาธาจงคอยฟัง ให้ระวังถอยแกล้ง
แม่นอย่าแอ่วแวนไว้ ได้แล้วกลับคืนรอด
ริรอบปลอดมีไชย หวั่นไหวใจศัตรู
ดูสนั่นใจเศร้า ให้พระยศเจ้ารุ่งเรือง
เลื่องฦาเดชหาญห้าว ทุกทั่วท้าวเกรงขาม
ชื่อปืนพระรามสำเรทธิ์ ญี่สิบเบ็ดกลณรงค์
ด้วยประสงค์ดั่งนี้”




 

Create Date : 24 เมษายน 2552    
Last Update : 24 เมษายน 2552 6:13:51 น.
Counter : 911 Pageviews.  

ตำราพิชัยสงคราม SUNTZU ๑๓ บทไม้ตาย

ตำราพิชัยสงคราม SUNTZU ๑๓ บทไม้ตาย


น.อ. จอม รุ่งสว่าง


คำนำของผู้แปล


SUNTZU เป็นชื่อตำราพิชัยสงคราม ๑๓ บทไม้ตายที่เก่าแก่ที่สุด ๑ ในหนังสือว่าด้วยการทหารของจีนโบราณ ๗ เล่ม เสียงที่ชาวไทยอ่านว่า “ ซุนซู๊ “ เป็นเสียงอ่านตามที่ชาวตะวันตกอ่าน มิใช่เสียงที่ชาวจีนอ่านออกเสียง คาดว่าไม่ ซุนวู ( ๕๑๔–๔๙๗ ปีก่อน ค.ศ.) หรือไม่ก็ ซุนปิง ( ๓๔๐ ปีก่อน ค.ศ.) เป็นผู้ประพันธ์ขึ้น โดยใช้สำนวนจีนที่คมคาย เข้าใจง่าย ประกอบกับใช้แนวคิดของชาวตะวันออกล้วนๆ และเป็นแม่บททางความคิดของทั้งลัทธิเต๋า และลัทธิขงจื๊อ อีกด้วย อย่างไรก็ตามหากถอดความตรงตัวแล้ว อาจแปลได้ว่า “ ปราชญ์แซ่ซุน”

มีการอ้างถึง SUNTZU บ่อยครั้งในระหว่างการเรียนการสอนเกี่ยวกับการสงครามของสถาบันการศึกษาวิชาชีพทางทหาร แต่ความจริงแล้ว ทหารไทยน้อยคนนักที่เคยได้อ่านฉบับจริงจนจบเล่ม หรือไม่ก็เพียงเคยได้อ่านจากเอกสารเรื่องอื่นๆที่ยังขาดความสมบูรณ์ เนื่องจาก SUNTZU ที่ถอดความวางขายในตลาดหนังสือทั่วไป มีการสอดแทรกความเห็นส่วนตัวที่ไม่ถูกต้องไว้มาก กับบางส่วนถูกถอดความจากเอกสารภาษาอังกฤษซึ่งผู้แปลไว้ก่อนเป็นชาวตะวันตก จึงไม่สามารถทำความเข้าใจกับทัศนะของชาวตะวันออกได้ ทำให้เกิดอุปสรรคในการค้นคว้า และอ่านไม่รู้เรื่อง

เอกสารฉบับนี้ ถอดความอย่างตรงไปตรงมา มิได้สอดแทรกความเห็นส่วนตัวใดใด จาก อักษรจีนโบราณ , อักษรญี่ปุ่นโบราณ และการถอดความเป็นภาษาญี่ปุ่นปัจจุบันของหนังสือชื่อ SUNTZU ของนาย KANETANI ซึ่งจัดพิมพ์ และแก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อปี ๑๙๘๐ โดยใช้เป็นตำราเรียนของนักเรียนนายร้อยรวมประเทศญี่ปุ่น ชั้นปีที่ ๒ ที่ซึ่งผู้แปล น.อ. จอม รุ่งสว่าง ได้มีโอกาสศึกษาอย่างจริงจังเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วเหตุผลประการหนึ่งที่สถาบันทหารของญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก เนื่องเพราะ พวกเขาถือว่าเป็นความรู้พื้นฐานทางทหารที่ต้องศึกษาตั้งแต่วัยเยาว์ ดังนั้นทหารญี่ปุ่นจะมีตำรานี้ครอบครองเป็นส่วนตัวทุกคน ในขณะที่ทหารไทยมองว่า SUNTZU เป็นเรื่องในระดับยุทธศาสตร์ที่จำเป็นต้องรู้เพียงเฉพาะผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันในเรื่องแนวคิดด้านการศึกษาระหว่างประเทศญี่ปุ่น กับประเทศไทยได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม SUNTZU เป็นตำราพิชัยสงครามที่สะท้อนปรัชญาจิตนิยมสุดขั้ว และอธิบายด้วยสำนวนจีนที่กระทัดรัด คมคาย ใช้ตรรกะบวกลบเชิงเส้นแบบธรรมดาๆ ทำให้อ่าน และทำความเข้าใจได้ง่าย ผู้แปลหวังอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักการอ่านทุกท่าน เพราะนอกจาก มันจะสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิต และการทำงานประจำวันแล้ว เนื้อหาสาระของ SUNTZU ยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าอัดแน่นไปด้วย “ FUNDAMENTAL DOCTRINE ” ที่จะทำให้ผู้ที่อ่านได้แตกฉาน สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของสงครามได้เป็นอย่างดี ……

น.อ. จอม รุ่งสว่าง

๑. SUNTZU กล่าวไว้

การสงครามเป็นงานยิ่งใหญ่ มีความสำคัญต่อชาติใหญ่หลวง ชี้ขาดความเป็นตายคนในชาติเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของชาติ จึงต้องคิดอ่านพิจารณาด้วยความรอบคอบอย่างถึงที่สุดฉะนั้นจะต้องคิดคำนึงถึงเรื่องสำคัญ ๕ ประการ และพิจารณาเปรียบเทียบ ๗ ประการ เพื่อเข้าใจสถานการณ์ได้ถ่องแท้ ........ ๕ ประการดังกล่าว ได้แก่ :-

- หนทาง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนแต่ละชั้นว่าสามารถอยู่ร่วมกัน ตายร่วมกันได้เพียงใด ( การเมืองภายใน )

- สภาพแวดล้อม เงื่อนไขเอื้ออำนวยของจังหวะเวลา และภูมิอากาศ

- สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์

- แม่ทัพนายกอง ลักษณะคน

- กฎ ระเบียบ วินัย

ปกติการคิดคำนึง และศึกษาเรื่องราว ๕ ประการ แม่ทัพนายกองทุกคนเข้าใจดีอยู่แล้ว

แต่ผู้เข้าใจลึกซึ้งกว่าเป็นผู้ชนะ ผู้เข้าใจลึกซึ้งน้อยกว่าเป็นผู้ไม่อาจชนะ

ฉะนั้นเพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งกว่าจำเป็นต้องมีการพิจารณาเปรียบเทียบอีก ๗ ประการ ดังนี้ :-

- ผู้นำประเทศฝ่ายใดกำจิตใจคนในชาติมากกว่ากัน

- แม่ทัพนายกองฝ่ายใดมีความสามารถมากกว่ากัน

- เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ฝ่ายใดได้เปรียบ

- ฝ่ายใดรักษากฎ ระเบียบ วินัย เคร่งครัด กว่ากัน

- กองทัพฝ่ายใดเข้มแข็งกว่ากัน

- ทหารหาญฝ่ายใดได้รับการฝึกมามากกว่ากัน

- การให้รางวัล และการลงโทษ ฝ่ายใดมีความยุติธรรมกว่ากัน

สำหรับ SUNTZU แล้ว จากที่กล่าวมา แม้ยังมิได้รบก็รู้แพ้ชนะกระจ่างแจ้งแล้ว

๒. ในกรณีแม่ทัพนายกองปฏิบัติตามการคิดคำนวณ ๕ ประการ และเปรียบเทียบ ๗ ประการของข้าพเจ้า ถ้าเอาคนนี้มาใช้งานจะได้รับชัยชนะแน่นอน ต้องเอาคนคนนี้มาใช้งาน

ในกรณีแม่ทัพนายกองมิได้ปฏิบัติตามการคิดคำนวณ ๕ ประการ และเปรียบเทียบ ๗ ประการของข้าพเจ้า ถ้าเอาคนนี้มาใช้งานจะประสบความพ่ายแพ้แน่นอน ต้องปลดคนคนนี้ทิ้งเสีย

ถ้าปฏิบัติตาม และเข้าใจความคิดอ่านนี้ การเตรียมการก่อนออกศึกจะเกิด “ พลังอำนาจ ” ซึ่งจะช่วยกองทัพในการศึก พลังอำนาจที่กล่าวช่วยให้ฝ่ายเราสามารถใช้ความอ่อนตัวบังคับสถานการณ์ได้เปรียบให้ตกอยู่กับฝ่ายเรานั่นเอง ( พลังอำนาจ ...... ศักย์สงคราม )

๓. การศึกนั้นเป็นการเคลื่อนไหวด้วยเล่ห์เหลี่ยม หมายถึงการกระทำที่กลับกันกับการกระทำปกติ ฉะนั้น เมื่อเข้มแข็งต้องให้เห็นว่าอ่อนแอ เมื่อกล้าต้องให้เห็นว่ากลัว เมื่อใกล้ให้ดูไกล เมื่อไกลให้ดูใกล้ เมื่อข้าศึกต้องการประโยชน์เอาประโยชน์เข้าล่อ เมื่อข้าศึกวุ่นวายสับสนให้ฉวยโอกาสข้าศึกเหนียวแน่นให้ป้องกัน ข้าศึกเข้มแข็งให้ถอยออกมา เมื่อข้าศึกโกรธให้ยั่วยุ ข้าศึกสบายทำให้พวกเขาเหนื่อยล้า เมื่อข้าศึกกลมเกลียวทำให้แตกแยก โจมตีข้าศึกในที่ซึ่งไม่มีการป้องกัน รุกเข้าไปในที่ซึ่งข้าศึกไม่คาดคิด เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ข้าศึก ก่อนรบไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้ว่าจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นไร ......

๔. ปกติการคิดอ่านก่อนออกศึกแล้วชนะ หมายถึงผลจากการคิดคำนวณ ๕ ประการเปรียบเทียบ๗ ประการ แล้วมีทางชนะมากกว่าทางแพ้นั่นเอง แต่หากคิดอ่านก่อนออกศึกแล้วไม่อาจชนะก็หมายถึงผลจากการคิดคำนวณ ๕ ประการเปรียบเทียบ ๗ ประการแล้วมีทางชนะน้อยนั่นเอง ดังนั้น จากการคิดคำนวณก่อนออกศึก ถ้ามีทางชนะมากจะชนะ ถ้ามีทางชนะน้อยกว่าก็จะมิอาจชนะ สำหรับข้าพเจ้า เพียงสังเกตดังกล่าว ก็รู้แพ้ชนะชัดเจนแล้ว

.......................................................................

บทที่ ๒ เตรียมศึก

๑. SUNTZU กล่าวไว้

กฎของสงครามนั้น การทหารเป็นความสิ้นเปลืองอย่างใหญ่หลวง กว่าจะสามารถใช้กำลังเคลื่อนกำลังทหารได้นั้น แม้เพียงวันเดียวก็ยังต้องใช้ทรัพย์สินมหาศาลการทำสงครามยืดเยื้อทหารจะอ่อนล้า ความห้าวหาญจะลดลง การเข้าตีป้อมปราการที่มั่นข้าศึกเป็นเวลานานกำลังรบจะหมดไป เพราะฉะนั้น การใช้กำลังทหารเป็นเวลานานเศรษฐกิจของชาติจะย่อยยับ

ถ้าทหารหาญของชาติเหนื่อยอ่อน ขาดความห้าวหาญ และถ้าเศรษฐกิจของชาติย่อยยับแล้วต่างชาติจะยกทัพมารบกับเราแน่นอน ซึ่งแม้จะมีผู้มีความสามารถสูงเพียงไรก็ยากที่จะต่อต้านกับทัพต่างชาติที่ยกเข้ามาได้ดังนั้น “ การสงครามจะต้องรวดเร็ว และเฉียบพลัน ” ตัวอย่างดีของสงครามยืดเยื้อในประวัติศาสตร์ไม่มีประเทศใดเคยได้ประโยชน์จากสงครามยืดเยื้อไม่เคยปรากฏ ...................... ดั่งที่เคยกล่าวแล้ว

ผู้ที่ไม่เข้าใจความสูญเสียของสงครามอย่างเพียงพอ

ย่อมไม่สามารถเข้าใจผลประโยชน์ที่ได้รับจากสงครามอย่างเพียงพอเช่นกัน

๒. นักรบที่ชำนาญศึกจะไม่เกณฑ์ประชาชนมารบหลายครั้ง จะไม่ขนเสบียงอาหารจากชาติตนหลายครั้ง แม้ใช้อาวุธจากชาติตน แต่เสบียงอาหารเอาจากดินแดนข้าศึก

การที่ประเทศชาติต้องยากจนลงเพราะกองทัพก็เนื่องจากการขนส่งเสบียงอาหารเป็นระยะทางไกล เพราะถ้ากองทัพต้องขนเสบียงอาหารเป็นระยะทางไกล ประชาชนจะยากจนลง ราคาสินค้าบริเวณสนามรบจะสูงขึ้น เมื่อสินค้าราคาสูงขึ้น ทรัพย์สินของประชาชาก็ยิ่งหมดลง เมื่อทรัพย์สินของประชาชนหมดลง การจะระดมเสบียงอาหารมาให้ทหาร ก็จะทำได้ยากลำบาก กำลังรบของกองทัพก็จะค่อยๆ

หมดลง ทรัพย์สินของประชาชนจาก ๑๐ จะเหลือ ๗ ข้าวของของรัฐที่เสียหายไปกับสงครามจาก ๑๐จะเหลือ ๖ เพราะฉะนั้น แม่ทัพที่มีความสามารถจะแย่งเสบียงอาหาร และข้าวของของข้าศึกมาใช้การใช้ข้าวของของข้าศึก ๑ ส่วน ได้ประโยชน์เหมือนใช้ของของเรา ๒๐ ส่วน



๓. การที่ทหารฝ่ายเราสังหารทหารฝ่ายข้าศึกได้ก็เนื่องจากกำลังใจของทหาร การยึดเอาสิ่งของของข้าศึกมา ก็เนื่องจากผลประโยชน์นั่นเองฉะนั้น การให้รางวัลแก่ทหารที่ยึดเอาสิ่งของจากข้าศึกได้ และลงโทษทหารที่ถูกข้าศึกยึดสิ่งของไป เป็นการสร้างความเข้มแข็งขึ้นในกองทัพ

๔. ดังกล่าวข้างต้น

การสงครามนั้นชัยชนะเป็นอันดับหนึ่ง จะยืดเยื้อไม่ได้ แม่ทัพที่ระมัดระวังผลได้เสียของสงครามรอบคอบ คือผู้กำชะตากรรมของประชาชนไว้ เป็นอุปราชชี้ขาดความอยู่รอดของประเทศชาติ ........................

...................................................................

บทที่ ๓ นโยบายศึก


๑. SUNTZU กล่าวไว้

กฎของสงครามโดยทั่วไป

สยบประเทศข้าศึกไม่เสียเลือดเนื้อเป็นโยบายหลัก

ใช้กำลังทางทหารเข้าตีประเทศข้าศึกแตกจึงสยบประเทศข้าศึกได้เป็นนโยบายรอง

สยบกองทัพข้าศึกไม่เสียเลือดเนื้อเป็นโยบายหลัก

ใช้กำลังทางทหารเข้าตีกองทัพข้าศึกแตกจึงสยบกองทัพข้าศึกได้เป็นนโยบายรอง

สยบหน่วยทหารข้าศึกไม่เสียเลือดเนื้อเป็นโยบายหลัก

ใช้กำลังทางทหารเข้าตีหน่วยทหารข้าศึกแตกจึงสยบหน่วยทหารข้าศึกได้เป็นนโยบายรอง

“ รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งยังมิใช่ยอด

สยบข้าศึกได้ไม่ต้องรบ เป็นยอดนักรบ ”


๒. เพราะฉะนั้น

สุดยอดของการสงครามก็คือ เข้าโจมตีแผนลับข้าศึกให้แตก จากนั้นตีความสามัคคีข้าศึก ตีสัมพันธไมตรีของกลุ่มพันธมิตรข้าศึกให้แตก สุดท้ายหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วจึงใช้กำลังทางทหารเข้าตีกำลังทหารข้าศึก สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการเข้าตีป้อมปราการที่มั่นที่เข้มแข็งของข้าศึก การเข้าตีดังกล่าวจะเป็นเฉพาะเมื่อไม่มีหนทางอื่นแล้ว และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้วเท่านั้น

การเข้าตีป้อมปราการที่มั่นที่เข้มแข็งของข้าศึก ต้องใช้เวลาเตรียมการนาน และต้องพร้อมจริงๆ จึงทำได้ ซึ่งในระหว่างเตรียมการหากแม่ทัพนายกองไม่สามารถระงับความเกรียวกราดได้ยกกำลังเข้าทำการรบแตกหักก่อนที่การเตรียมการจะพร้อม ทหาร ๑ ใน ๓ จะต้องตาย แม้กระนั้นป้อมปราการที่มั่นของข้าศึกก็จะยังไม่แตก นี้คือผลเสียของการโจมตีป้อมปราการที่มั่นของข้าศึก

นักรบผู้ชำนาญมิได้ใช้การต่อสู้เพื่อสยบข้าศึก ป้อมปราการที่มั่นข้าศึกแตกก็มิใช่ด้วยการโจมตีตรงหน้า ประเทศข้าศึกต้องพินาศลงก็มิใช่ด้วยศึกสงครามยืดเยื้อ ใช้วิธีชนะโลก ชนะโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ด้วยเหตุนี้ ทหารหาญก็ไม่เหนื่อยอ่อน ผลประโยชน์ที่ได้รับย่อมเป็นผลประโยชน์สูงสุด

“ นี่คือกฎของนโยบายในการทำศึกสงคราม ”

๓. กฎของสงครามโดยทั่วไป

เมื่อมีกำลัง ๑๐ เท่าเข้าโอบล้อม เมื่อมีกำลัง ๕ เท่าเปิดเกมรุก เมื่อเท่ากันให้สู้ ถ้าน้อยกว่าให้ถอย ถ้ากำลังปะทะกันไม่ได้ให้หลบซ่อน โดยปกติกำลังน้อยกว่าปะทะตรงหน้ากับกำลังที่มากกว่าย่อมทำไม่ได้เป็นทางปกติ กำลังที่น้อยนิดคิดแต่จะใช้ความห้าวหาญ รังแต่จะถูกจับเป็นเชลยของกำลังที่มากกว่าเท่านั้น

๔. โดยทั่วไป แม่ทัพมีหน้าที่ช่วยเหลือชาติ ถ้าหน้าที่นั้นสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้นำประเทศ ชาตินั้นต้องเข้มแข็งแน่นอน ถ้าหน้าที่นั้นขัดแย้งกับผู้นำประเทศ ชาตินั้นต้องอ่อนแอแน่นอน

ฉะนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการศึกสำหรับผู้นำประเทศมี ๓ ประการ ได้แก่ :-

- ไม่รู้ว่าไม่ควรใช้กำลังทหาร สั่งให้ใช้กำลังทหาร

ไม่รู้ว่าไม่ควรถอย สั่งให้ถอย

- ไม่รู้เรื่องภายในกองทัพ แต่เข้ามาปกครองกองทัพร่วมกับแม่ทัพ

- ไม่เข้าใจวิธีใช้กำลังทหาร แต่เข้ามาบังคับบัญชาทหาร

เมื่อใดที่ทหารอยู่ในความหลง ความงงงวยแปลกใจสงสัย ต่างชาติจะยกทัพเข้ามาและชัยชนะของกองทัพที่สับสนก็จะจากหายไป

๕. ฉะนั้น มี ๕ สิ่งที่ต้องรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับชัยชนะ ได้แก่ :-

- เมื่อไรควรรบเมื่อไรไม่ควรรบ ระมัดระวังผลได้ผลเสียรอบคอบ .... ชนะ

- เข้าใจการใช้กำลังใหญ่ กำลังเล็ก นอกแบบในแบบ .... ชนะ

- ประสานจิตใจคนทุกชั้นได้ .... ชนะ

- เตรียมการดีปะทะที่ประมาท .... ชนะ

- แม่ทัพนายกองมีความสามารถ ผู้นำประเทศไม่แทรกแซงกิจการภายในกองทัพ .... ชนะ

๕ ประการนี้เป็นวิธีเข้าใจชัยชนะ ดังนั้น

“ เมื่อ รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งปราศจากอันตรายรู้สถานการณ์ฝ่ายเขา ไม่รู้ฝ่ายเรา แพ้บ้างชนะบ้าง

ไม่รู้เขา ไม่รู้เรา กล่าวได้ว่ารบทุกครั้งรังแต่จะมีอันตราย ”

.............................................................

บทที่ ๔ ศักย์สงคราม


๑. SUNTZU กล่าวไว้

ยอดนักรบ ตั้งมั่นในที่ซึ่งไม่มีใครอาจชนะเขาได้ รอคอยโอกาสซึ่งใครก็ได้อาจชนะต่อข้าศึกรูปแบบที่ไม่มีใครอาจชนะได้อยู่ที่ฝ่ายเรา รูปแบบที่ใครก็ได้อาจสามารถชนะได้อยู่ที่ฝ่ายเขาแม้จะเป็นยอดนักรบที่สามารถตั้งมั่นในที่ซึ่งไม่มีใครอาจชนะได้ ก็ไม่สามารถทำให้ข้าศึกตั้งอยู่ในที่ซึ่งใครใครก็อาจชนะได้จึงจำเป็นต้องรู้จักอดทนรอคอย รูปแบบที่ไม่มีใครอาจชนะได้นั้น เป็นรูปแบบเกี่ยวข้องกับการตั้งรับ รูปแบบที่ใครก็อาจชนะได้ เป็นรูปแบบเกี่ยวข้องกับการรุก รับเนื่องจากกำลังรบไม่เพียงพอ และรุกเนื่องจากกำลังรบมีอยู่เพียงพอ นักรบที่ตั้งรับเก่งเหมือนซ่อนอยู่ใต้ของใต้แผ่นดิน นักรบที่รุกเก่งเหมือนเคลื่อนไหวอยู่เหนือของเหนือฟ้า ฉะนั้นจึงอยู่ในที่ปลอดภัย และสามารถเอาชัยเด็ดขาดได้สำเร็จ

๒. ระดับชัยชนะที่คนทั่วไปมองออกยังมิใช่ยอด รบกันแล้วได้ชัยชนะคนทั่วโลกแซ่ซ้องสรรเสริญยังมิใช่เยี่ยม หยิบถือเส้นผมได้ว่ามีกำลังมิได้ มองดวงอาทิตย์จะบอกว่าตาดีไม่ได้ ฟังเสียงฟ้าร้องว่าหูดีมิได้ สมัยก่อนยอดนักรบคนทั่วไปมองไม่ออก เขาจะเข้ายึดโอกาสชนะง่ายแล้วชนะ เพราะฉะนั้น การต่อสู้ของยอดนักรบนั้น มิได้มีชื่อเสียง มิได้ใช้ความรู้ความสามารถหรือความมานะพยายามพิเศษพิศดารและกล้าหาญใดใด เนื่องเพราะเขาจะทำสงครามที่ชนะแน่นอนเท่านั้น สงครามที่ชนะแน่นอนก็คือเข้าตีข้าศึกที่แพ้แน่นอนแล้วชนะนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ยอดนักรบจะตั้งมั่นในที่ซึ่งไม่มีใครอาจชนะได้รอคอยโอกาสชนะ และไม่ปล่อยให้โอกาสชนะโอกาสแรกหลุดลอยไปนั่นเอง

“ กองทัพที่มีชัย คือกองทัพที่ก่อนออกศึกได้รับชัยชนะแล้วจึงรบ

กองทัพที่พ่ายแพ้ คือกองทัพที่ออกรบแล้วจึงแสวงหาชัยชนะนั่นเอง ”


๓. ยอดนักรบย่อมสามารถทำให้จิตใจคนทุกชั้นเป็นหนึ่งได้ สามารถจัดระบบ รักษาวินัย และกฎระเบียบได้ ฉะนั้นจึงสามารถตัดสินแพ้ชนะได้อย่างอิสระ

๔. ปัญหาในการจัดการทางทหารก่อนรบจะเกิดขึ้น ๕ ประการที่ต้องขบคิด

- ปัญหาขอบเขตของการรบ

- ปัญหาปริมาณสิ่งของที่ต้องทุ่มเทในการรบ

- ปัญหาจำนวนทหารที่จะนำมาใช้ในการรบ

- ปัญหาขีดความสามรถของหน่วยกำลัง จะมีมากน้อยขนาดใด

- ปัญหาของชัยชนะ

กองทัพที่ได้ชัยต้องผ่านขั้นตอนดังกล่าว และมีความได้เปรียบ กองทัพที่พ่ายแพ้คือกองทัพที่เสียเปรียบจากปัญหาดังกล่าวนั่นเอง ....

๕. ผู้ชนะซึ่งทำให้ผู้คนในชาติร่วมกันต่อสู้ได้ เหมือนกับแอ่งน้ำในหุบเขาซึ่งเกิดจากสายน้ำเล็กๆ หลายพันสายไหลมารวมกัน ซึ่งหากแอ่งน้ำนั้นตกลงมาเป็นน้ำตกก็จะมีพลังมหาศาลพลังที่ซ่อนอยู่ในแอ่งน้ำกลางหุบเขานี้เปรียบได้กับ “ ศักย์สงคราม ” และพลังของน้ำที่กระทบเบื้องล่างเปรียบได้กับ “ จลน์สงคราม ” ฉันใดฉันนั้น ......

................................................................


บทที่ ๕ จลน์สงคราม


๑. SUNTZU กล่าวไว้

การปกครองกำลังขนาดใหญ่จะทำได้เนื่องจากการจัดกำลังขนาดเล็กให้เป็นหมวดหมู่นั่นเองการจะบังคับบัญชากำลังขนาดใหญ่ได้ต้องจัดเตรียมเครื่องมือสื่อสาร ธงทิว กลอง ฆ้อง เพื่อให้กำลังขนาดเล็กเข้าใจคำสั่งจึงจะทำได้

การที่กำลังขนาดใหญ่สามารถต้านทานกำลังของข้าศึกได้ดี ก็คือใช้ความอ่อนตัว แยกแยะการใช้กำลังอย่างรวดเร็ว อย่างเข้มแข็ง ใช้กำลังทั้งนอกแบบในแบบอย่างเหมาะสมในการรบ และการต่อสู้ จะชนะข้าศึกได้เหมือนหินกระแทกไข่แตกได้เสมอๆ ก็เนื่องจากใช้การหลอกล่อข้าศึกนั่นเอง .....

๒. การต่อสู้โดยทั่วไป ตั้งมั่นในที่ไม่มีทางแพ้เข้มแข็งดุจหินใหญ่เหมือนสู้กันตามแบบ จู่โจมข้าศึกเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ข้าศึกเหมือนสู้กันนอกแบบ เช่นเดียวกับฤดูกาลที่ไม่จบสิ้น จากมืดกลับสว่าง จากสว่างกลับมืด เสียงมี ๗ เสียงแต่ผสมกันแล้วฟังได้ไม่หมด สี ๓ สีผสมเกิดสีนับไม่ถ้วน รสชาติ ๕ รสผสมกันเกิดรสชาติที่ลิ้มลองไม่หมดเช่นกันการใช้กำลังก็มีนอกแบบในแบบแต่ผสมกันแล้วเกิดรูปแบบนับไม่ถ้วน ต่างเกิดจากกันและกันระหว่างตามแบบจะมีนอกแบบ ระหว่างนอกแบบจะมีตามแบบ เรียกว่านอกแบบเกิดจากตามแบบและตามแบบเกิดจากนอกแบบ หมุนเวียนเปลี่ยนไปหาจุดสิ้นสุดมิได้ ใครจะรู้ละว่าจะเป็นแบบใด ....

๓. ยอดนักรบจะเพิ่มศักย์สงครามทำให้จลน์สงครามเพิ่ม จลน์สงครามนั้นเหมือนลูกศรที่วิ่งไปศักย์สงครามนั้นก็เหมือนขณะง้างคันศรนั่นเอง .....

๔. ความวุ่นวายเกิดจากความมีระเบียบ ความขลาดเกิดจากความกล้า ความอ่อนแอเกิดจากความเข้มแข็ง แต่ละสิ่งเคลื่อนไหวสู่กันและกันง่ายดายนัก ......

จะวุ่นวายสับสนหรือมีระเบียบขึ้นอยู่กับปัญหาการจัดหน่วยทหาร

จะกลัวหรือกล้าหาญขึ้นอยู่กับปัญหาของจลน์สงคราม

จะอ่อนแอหรือเข้มแข็งขึ้นอยู่กับปัญหาของศักย์สงคราม

๓ สิ่งระมัดระวังใส่ใจ ย่อมจะได้ ระเบียบ ความกล้าหาญ และความเข้มแข็ง

๕. เพราะฉะนั้น การจะล่อข้าศึกให้ออกมานั้น

เมื่อชี้ให้เห็นรูปแบบการวางกำลังให้ข้าศึกรู้ ข้าศึกต้องมาแน่นอน เมื่อชี้ให้เห็นว่าข้าศึกจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ข้าศึกต้องออกมาเอาแน่นอน นั่นคือการใช้ประโยชน์ล่อข้าศึกให้ออกมา

จงเข้าปะทะข้าศึกนั้นด้วยการดัดหลังคู่ต่อสู้ตลอดเวลา

๖. ยอดนักรบเมื่อต้องการชัยชนะจากจลน์สงครามที่มีอยู่มิได้พึ่งพาบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษแต่พึ่งพาพลังอำนาจของจลน์สงคราม ปล่อยให้ผู้คนต่างๆ เป็นไปตามจลน์สงครามนั้น เหมือนกับสิ่งของท่อนไม้รูปแบบต่าง ๆ จะอยู่นิ่งบนพื้นราบ แต่เมื่อเอียงพื้นราบขึ้นสิ่งของเหล่านั้นจะกลิ้งไปตามจลน์สงครามนั่นเอง ฉะนั้นยอดนักรบจะให้ผู้คนเข้าต่อสู้เหมือนสิ่งของท่อนไม้กลิ้งจากที่สูง

นี่แหละที่เรียกว่า จลน์สงคราม

.........................................................

บทที่ ๖ หลอกล่อ


๑. SUNTZU กล่าวไว้

กองทัพที่มาถึงสนามรบก่อน และรอคอยข้าศึกเป็นฝ่ายที่สบาย

กองทัพที่มาถึงสนามรบทีหลัง และเข้าต่อสู้เป็นฝ่ายที่ลำบาก และทรมาน

“ ยอดนักรบนั้นฝ่ายตนจะต้องเป็นฝ่ายควบคุมการรบ

หมายถึง ทำให้ข้าศึกเป็นดั่งเช่นตนคิด และไม่เป็นอย่างที่ข้าศึกคิด ”

การที่ฝ่ายเราจะทำให้ข้าศึกออกมาได้นั้น ชี้ผลประโยชน์เข้าล่อ

การที่ฝ่ายเราจะทำให้ข้าศึกไม่เข้ามาได้นั้น ชี้ถึงผลเสียนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้จึงสามารถทำให้ข้าศึกที่สุขสบาย เหนื่อยล้าได้ ทำให้ข้าศึกที่ท้องอิ่ม หิวโหยได้การหลอกล่อข้าศึกที่อยู่นิ่งๆ ให้เคลื่อนไหว จึงทำได้นั่นเอง .......

๒. โจมตีสถานที่ที่ข้าศึกต้องออกมาอย่างแน่นอน รุกอย่างรวดเร็วเข้าไปในที่ที่ข้าศึกคาดไม่ถึงการเคลื่อนกำลังเข้าไปในสถานที่ไกลโดยไม่เหนื่อย ก็คือเข้าไปในเส้นทางที่ไม่มีการต้านทานจากข้าศึกหลังจากเข้าโจมตีแล้วสามารถยึดได้ ก็คือการเข้าโจมตีที่ไม่มีการป้องกันจากข้าศึก หลังจากวางกำลังป้องกันแล้วเข้มแข็งแน่นอน ก็คือการรักษาที่มั่นที่ข้าศึกจะไม่เข้าตี

นักรบที่รุกเก่ง ข้าศึกไม่รู้ที่ป้องกัน

นักรบที่รับเก่ง ข้าศึกไม่รู้ที่จะเข้าตี

แยบคายลึกซึ้ง สุดยอดต้องปราศจากรูป

ลี้ลับมหัศจรรย์ สุดยอดต้องปราศจากเสียง

จึงเป็นอุปราชชี้ขาดชะตากรรมของข้าศึกได้

๓. รุกเข้าไปแล้วไม่สามารถป้องกันได้เพราะว่ารุกเข้าไปในช่องว่างของข้าศึก ถอยออกมาแล้วตามไม่ทันเพราะว่ามิได้ติดตามไปอย่างรวดเร็ว

ฉะนั้น เมื่อฝ่ายเราต้องการรบ แม้ข้าศึกจะอยู่ในที่มั่นเข้มแข็งไม่ยอมออกรบ แต่การที่ข้าศึกจะอย่างไรก็ต้องออกมา ก็เพราะว่าฝ่ายเราโจมตีในที่ที่ข้าศึกจะต้องยกกำลังมาช่วยนั่นเอง

เมื่อเราไม่ต้องการรบ แม้จะมิได้วางกำลังป้องกันใดใด แต่ข้าศึกอย่างไรก็จะไม่ออกมาก็เพราะว่าสถานที่นั้นถูกลวงนั่นเอง

๔. เพราะฉะนั้น ถ้าเราลวงข้าศึกให้ทราบชัดเกี่ยวกับกำลังฝ่ายเรา แต่เราซ่อนกำลังจริงไว้เมื่อข้าศึกแยกกำลังออกไป และเรารวมกำลังไว้ ถ้าเรารวมกำลังเป็นหนึ่ง และข้าศึกแยกกำลังออกเป็น ๑๐ ส่วน ผลการปะทะกันฝ่ายเราจะมีทหารมากกว่า ๑๐ เท่า เราจะเป็นฝ่ายมีกำลังมาก ข้าศึกจะเป็นฝ่ายมีกำลังน้อย ถ้าเราสามารถใช้กำลังใหญ่เข้าปะทะกับกำลังน้อยของข้าศึก ข้าศึกก็จะเป็นฝ่ายที่อ่อนกว่าเราเสมอ เมื่อข้าศึกไม่ทราบที่เราจะรบ ไม่ทราบเวลาที่เราจะรบ ข้าศึกจะกระจายกำลังออกป้องกัน เมื่อทำเช่นนั้น การปะทะกับฝ่ายเรา ข้าศึกจะเป็นฝ่ายน้อยกว่าเราโดยตลอดดังนั้น เมื่อกำลังใหญ่อยู่หน้า กองหลังจะเป็นกำลังน้อย เมื่อกองหลังกำลังมาก กองหน้ากำลังน้อย กำลังหลักด้านขวากำลังน้อยด้านซ้าย กำลังหลักด้านซ้ายกำลังน้อยด้านขวา จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้

เพราะฉะนั้น รู้สถานที่รบ รู้เวลารบ แม้ไกลแต่ถ้าควบคุมได้ควรรบ ไม่รู้สถานที่รบ ไม่รู้เวลารบ ซ้ายจะช่วยขวาก็ไม่ได้ ขวาจะช่วยซ้ายก็ไม่ได้ กองหน้าจะช่วยกองหลัง กองหลังจะช่วยกองหน้าไม่ได้

“ ตามที่ข้าพเจ้าคิด แม้ฝ่ายหนึ่งจะมีกำลังมาก แต่หากถูกหลอกล่อ ถูกลวง

อีกฝ่ายหนึ่งก็จะรวมกำลังมากกว่าฝ่ายแรกอยู่ร่ำไป ฝ่ายแรกย่อมมิอาจรบด้วยได้ ”

๕. ฉะนั้นก่อนออกรบ เพื่อเข้าใจการหลอกล่อ การลวงของข้าศึก ต้องเข้าใจผลได้ผลเสีย กับสถานการณ์ข้าศึกให้แตกเสียก่อน ใช้การล่อให้ข้าศึกเคลื่อนไหวเป็นหลัก จับท่าทีของข้าศึกให้ได้รู้ที่ใดรบได้รบไม่ได้ ที่ใดได้เปรียบเสียเปรียบ มีกำลังน้อยกำลังมาก และเมื่อไรนั่นเอง

๖. เพราะว่าสุดยอดของศักย์สงครามคือ “ ปราศจากรูป ” การปราศจากรูปนี้ แม้ข้าศึกมีสายลับแทรกซึมลึกซึ้งก็ไม่อาจรู้เราได้ แม้ใช้คนมีความรู้ก็คิดไม่ออก เพราะปราศจากรูป อ่านท่าทีเขาให้แตกใช้ท่าทีนั้นเปลี่ยนรูปเรา นำชัยชนะที่คนธรรมดามิอาจเห็นได้ คนธรรมดาแม้รู้จักชัยชนะของตนแต่ไม่ทราบจะชนะอย่างไร เมื่อใด และที่ใด

ดังนั้น สภาพของชัยชนะไม่ควรให้เกิดขึ้นซ้ำสอง

เปลี่ยนแปลงตามศักย์สงครามข้าศึกนับไม่ถ้วนจึงดี

๗. ฉะนั้น ศักย์สงคราม รูปแบบทางทหาร จึงเหมือนน้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ หลีกเลี่ยงที่สูงเหมือนไม่ปะทะข้าศึกที่มีการเตรียมการดี โจมตีที่ที่มีการเตรียมการหลอก เอาชัยข้าศึกเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ข้าศึก เหมือนน้ำไหลตามรูปแบบภูมิประเทศ

เพราะฉะนั้น รูปแบบที่แน่นอนของการใช้กำลัง และศักย์สงครามจึงไม่มีเช่นเดียวกับน้ำที่ปราศจากรูป เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ลึกซึ้งยากจะคะเนได้



............................................................

บทที่ ๗ การแข่งขัน


๑. SUNTZU กล่าวไว้

จากกฎของสงคราม ตั้งแต่แม่ทัพรับคำสั่งผู้นำประเทศให้จัดกำลังทหารเข้ายันข้าศึกจนถึงเมื่อเตรียมกำลังพร้อมยกไปตั้งรับข้าศึกเสร็จสิ้น ช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่า “ การแข่งขันทางทหาร ” เป็นการแข่งขันที่ชิงความได้เปรียบ เป็นเรื่องที่ไม่ถึงกับยากนัก ความยากของการแข่งขันทางทหาร ก็คือการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย การทำสิ่งที่จะเกิดความเสียหายให้พลิกกลับเป็นประโยชน์

นั่นเอง .....................

การแข่งขันทางทหารนั้นยังมีอันตรายอย่างหนึ่ง เมื่อทหารทั้งหมดพยายามแข่งขันกับข้าศึกเพื่อเข้ายึดพื้นที่ได้เปรียบให้ได้ก่อน การเคลื่อนกำลังทั้งหมดย่อมล่าช้าเสียเวลา ซึ่งหากไม่คำนึงถึงรังแต่จะรีบไปให้ถึงก่อนข้าศึก ก็อาจไม่สามารถขนเอาเสบียงอาหาร อาวุธที่จำเป็นไปด้วยได้ ทหารที่ขาดเสบียงอาหาร และอาวุธย่อมพ่ายแพ้ ขณะทิ้งเสบียงอาหาร และอาวุธรีบเดินทางทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีพักเพื่อจะไปได้เร็วขึ้น ถ้าแม่ทัพถูกจับก็หมายถึงความพ่ายแพ้อย่างใหญ่หลวง ทหารที่แข็งแรงอาจจะไปถึงได้ ทหารที่อ่อนล้าจะถึงทีหลัง ๑๐๐ ลี้เคลื่อนไป ๑๐ คนจะมาถึงได้ ๑ คน ๕๐ ลี้จะมาได้ครึ่งหนึ่ง ๓๐ ลี้จะมาได้ ๒ ใน ๓ คนเท่านั้น .........................

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ดั่งนี้คือ ความลำบาก ความยาก ของการแข่งขันทางทหาร

๒. ดังนั้น

ไม่รู้เรื่องภายในของต่างชาติ เป็นพันธมิตรกับต่างชาตินั้นย่อมไม่ได้

ไม่รู้ภูมิประเทศ การเคลื่อนทัพเข้าไปย่อมทำไม่ได้

ไม่รู้วิธีใช้คนในพื้นที่นั้น ย่อมไม่ได้ประโยชน์จากพื้นที่นั้น

๓. ด้วยเหตุนี้

การสงครามนั้นใช้การดัดหลังคู่ต่อสู้เป็นหลัก เคลื่อนไหวไปในที่ที่เป็นประโยชน์ เปลี่ยนแปลงรูปด้วยการ กระจายกำลัง และรวมกำลัง ฉะนั้นเคลื่อนไหวรวดเร็วเช่นดั่งลม รอคอยเหมือนไม้ซ่อนลมหายใจ รุกรบเช่นเปลวเพลิง เข้าใจยากดุจความมืด เข้มแข็งดุจขุนเขา เกรียวกราดเหมือนสายฟ้า จะรวบรวมเสบียงอาหารให้กระจายกำลังออกไป จะขยายพื้นที่ยึดครองให้รักษาจุดสำคัญมั่นคง เคลื่อนไหว

ระมัดระวังคิดอ่านรอบคอบ

ชิงปฏิบัติการก่อนข้าศึก ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

”ผู้รู้เข้าใจดีชนะ ดั่งนี้คือกฎของการแข่งขัน ”

๔. การศึกนั้นยากที่จะสั่งการใดใดด้วยปากให้ทุกคนเข้าใจได้ จะต้องเตรียมเครื่องมือบางอย่างที่จะทำให้ หู และตาของเหล่าทหารหาญเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

การที่ทหารของฝ่ายเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ผู้กล้าก็ฝ่ามาไม่ได้ ผู้ขลาดก็ถอยหนีไม่พ้นความสับสนจะหมดไป จะทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบตามสถานการณ์ได้ทันต่อเหตุการณ์ นำมาซึ่งหนทางแห่งชัยชนะ

................................................................


บทที่ ๘ เก้าเหตุการณ์

๑. SUNTZU กล่าวไว้

ตามกฎของสงคราม

- อย่าโจมตีข้าศึกบนเนินสูง

- อย่าตั้งรับข้าศึกที่รุกเข้ามาโดยมีเนินเขาอยู่เบื้องหลัง

- อย่าเผชิญหน้ากับข้าศึกในที่รกชัดเป็นเวลานาน

- อย่ารุกไล่ข้าศึกที่หลอกถอย

- อย่าโจมตีข้าศึกที่ขวัญดี

- อย่ากินเหยื่อที่ข้าศึกลวงไว้

- อย่าหยุดข้าศึกที่กำลังกลับบ้านเกิด

- อย่าล้อมข้าศึกโดยมิดชิด ต้องเปิดทางให้หนีอย่างน้อย ๑ ทาง

- อย่ารุกไล่ข้าศึกที่ถอยอย่างระมัดระวังเข้าไปชิดนัก

ทั้งหมดคือ เก้าเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และเกิดขึ้น เป็นกฎของสงคราม

๒. ถนนที่น่าจะผ่านไปด้วยดี แต่ผ่านไม่ได้นั้นมีอยู่

กองทัพข้าศึกที่น่าเข้าตี แต่เข้าตีไม่ได้นั้นมีอยู่

ป้อมปราการที่มั่นที่น่าเข้าโจมตี แต่เข้าโจมตีไม่ได้นั้นมีอยู่

พื้นที่ที่น่าเข้ายึดครอง แต่เข้ายึดครองไม่ได้นั้นมีอยู่

“ คำสั่งของผู้นำประเทศที่น่าปฏิบัติตาม แต่ปฏิบัติไม่ได้ ก็มีอยู่เช่นกัน ”

๓. เพราะฉะนั้น แม่ทัพที่คำนึงผลได้ผลเสียจากเก้าเหตุการณ์เป็นอย่างดี คือผู้ใช้ทหารอย่างระมัดระวัง แม่ทัพที่ไม่คำนึงผลได้ผลเสียจากเก้าเหตุการณ์เป็นอย่างดี แม้จะเข้าใจภูมิประเทศดีแต่ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากพื้นที่นั้น

ในการควบคุมการใช้กำลังทหารนั้น เก้าเหตุการณ์นี้เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แม้จะเข้าใจถึง ๕ ส่วน ก็ยังมิสามารถใช้กำลังทหารให้เกิดประโยชน์อย่างเพียงพอได้ ...............

๔. ดังที่กล่าวมา

การคิดอ่านของผู้รู้นั้น คิดเรื่องราวใดต้องระมัดระวังผลได้ และผลเสียประกอบกันไปเรื่องราวใดเป็นประโยชน์ก็ต้องคิดอ่านด้านผลเสียด้วย งานก็จะสำเร็จบรรลุเป้าหมาย เรื่องราวใดเป็นผลเสียก็ต้องคิดอ่านด้านดีด้วย ความกังวลก็จะหมดไป .............



๕. ฉะนั้น

ชี้ให้เห็นผลเสียจึงสยบต่างชาติ

ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นจึงใช้ทูตต่างชาติ

ชี้ให้เห็นประโยชน์จึงให้ข้าศึกแตกหนี


๖. เรามิอาจขอร้องข้าศึกมิให้ยกกองทัพมา เราพึ่งพาการเตรียมการที่พร้อมต่อข้าศึกที่จะยกมาทุกเมื่อ เรามิอาจขอร้องข้าศึกมิให้เข้าโจมตี แต่เราพึ่งพาการตั้งมั่นที่มิอาจเข้าตีได้ต่างหาก

๗. ฉะนั้น สำหรับแม่ทัพมีอันตรายอยู่ ๕ ประการ

- สำนึกว่าตนต้องสู้ตาย ไม่รู้จักถอย แล้วถูกฆ่าตาย

- คิดแต่จะเอาตนรอด ขาดความกล้า แล้วถูกจับเป็นเชลย

- เอาแต่ใจร้อนจนผู้คนทั้งหลายมองว่าบ้าเลือด

ขาดความกระตือรือร้น ตกอยู่ในสภาวะต้องอาย
รักทหารจนต้องเหนื่อยเพราะทำงานให้ทหาร
๕ ประการเหล่านี้ยามศึกเป็นผลเสีย กองทัพละลาย แม่ทัพตายในสนามรบ จะต้องเกิดขึ้นจาก ๕ ประการดังกล่าวแน่นอน จำเป็นที่แม่ทัพจะต้องระมัดระวังใส่ใจ …...........

…................................................................


บทที่ ๙ เคลื่อนกำลัง


๑. SUNTZU กล่าวเกี่ยวกับ สถานที่ตั้งของกองทัพ กับการหาข่าวสถานการณ์ข้าศึกไว้ดังนี้

จะข้ามเขาให้เลาะร่องเขา พบที่สูงให้อยู่ที่สูง รบที่สูงอย่าหันหาข้าศึกที่สูงกว่า ดังนี้เกี่ยวกับกองทัพบนเขา

ถ้าข้ามแม่น้ำมาแล้วจงอยู่ให้ไกลจากฝั่งแม่น้ำ ข้าศึกโจมตีข้ามแม่น้ำมาอย่ารับการโจมตีตรงกลางแม่น้ำ จงเข้าตีขณะข้าศึกข้ามมาได้ครึ่งหนึ่งจะได้เปรียบ อย่ารับการโจมตีจากข้าศึกริมน้ำ พบพื้นที่สูงอยู่ที่สูง หากต้องอยู่ปลายน้ำอย่ารบกับข้าศึกต้นน้ำ ดังนี้เกี่ยวกับกองทัพกับแม่น้ำจะข้ามที่ลุ่มมีน้ำขัง ถ้าทำได้รีบไปให้เลยออกไปโดยเร็ว ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องรบในที่ลุ่มเตรียมน้ำอาหาร หญ้าฟางมากๆ และตั้งทัพโดยเอาป่าไว้เบื้องหลัง ดังนี้เกี่ยวกับกองทัพในที่ลุ่ม

ในที่ราบจงอยู่ที่สะดวก เอาที่สูงอยู่เบื้องหลังที่ต่ำอยู่เบื้องหน้า ดังนี้เกี่ยวกับกองทัพในที่ราบ

การใช้ประโยชน์พื้นที่ภูมิประเทศเป็นเหตุผลให้ได้ชัยชนะมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์

๒. โดยทั่วไปที่ตั้งกองทัพ ที่สูงกว่าดี ที่ต่ำกว่าไม่ดี มีแสงแดดดี ไม่มีแสงแดดไม่ดี อยู่ในที่อุดมสมบูรณ์ปลอดโรคภัย โรคภัยไข้เจ็บในกองทัพก็เป็นเงื่อนไขแพ้ชนะ …..

นี่เป็นผลที่ได้จากภูมิประเทศ

๓. ต้นน้ำที่ฝนตกลงมา น้ำจะเชี่ยวกราด รอให้กระแสน้ำเบาลงก่อนจึงคิดข้าม

๔. พื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติ เช่น หนองน้ำ บึง หลุม หุบผาแคบ ต้องรีบผ่านไปอย่างรวดเร็ว อย่าเข้าใกล้ เราเมื่อพยายามอยู่ไกล แต่ชี้ให้ข้าศึกอยู่ใกล้ ฝ่ายเราเมื่อหันหน้าเข้าหา ชี้ให้ข้าศึกมีพื้นที่นั้นอยู่เบื้องหลัง

๕. บริเวณตั้งทัพมีป่ารก ให้ระมัดระวังให้ดี ที่นั่นจะเป็นที่ที่มีข้าศึกซุ่มอยู่ มีหน่วยลาดตระเวนข้าศึกอยู่



๖. ข้าศึกยิ่งใกล้ยิ่งเงียบ แสดงว่าข้าศึกพึ่งพาความรกของภูมิประเทศ

ข้าศึกแม้อยู่ไกลแต่พยายามรบติดพัน แสดงว่าหวังจู่โจม

ข้าศึกตั้งอยู่ในที่ราบ เหมือนข้าศึกชี้ให้เราเห็นประโยชน์ให้เราออกรบ

มีเสียงต้นไม้ใบหญ้า แสดงว่าข้าศึกกำลังโจมตีมา

นกบินหนี แสดงว่ามีข้าศึกซุ่มอยู่

สัตว์ป่าตกใจ แสดงว่าข้าศึกจู่โจม

ฝุ่นฟุ้งกระจาย แสดงรถรบข้าศึก

ฝุ่นเป็นแผ่นกว้าง แสดงว่าเป็นทหารราบ

ฝุ่นฟุ้งกระจายเล็กน้อย นั่นแหละข้าศึกกำลังสร้างกองบัญชาการ

๗. ทูตข้าศึกเข้ามาพูดหลอกล่อพยายามแสดงว่าเพิ่มการตั้งรับ นั่นคือเตรียมการสำหรับรุก

ทูตข้าศึกแสดงให้ดูว่ากล้าหาญเตรียมการรุก นั่นคือข้าศึกเตรียมการถอย

ข้าศึกมิได้ตกอยู่ในสภาวะลำบากพยายามปรองดอง แสดงว่าข้าศึกมีแผนลับ

รถรบขนาดเบาออกหน้า แสดงว่ากำลังหลักอยู่สองข้าง

ทหารวิ่งกันสับสนมาจัดใหม่เป็นแถวเป็นระเบียบ แสดงว่าเตรียมรบขั้นแตกหัก

ครึ่งหนึ่งไปข้างหน้า อีกครึ่งหนึ่งไปข้างหลัง แสดงว่ากำลังหลอกล่อ นั่นเอง …....


๘. การสงครามนั้นใช่ว่าคนยิ่งมากยิ่งดีก็หาไม่ เพียงแต่ไม่ผลีผลาม ถ้าสามารถคาดการณ์ข้าศึกระดมพลได้เหมาะสม ก็สามารถรวบรวมชัยชนะได้เพียงพอแล้ว แต่ถ้าคิดอ่านไม่รอบคอบประมาทข้าศึก ต้องถูกข้าศึกจับเป็นเชลยแน่ ถ้าทหารหาญไม่ใกล้ชิดแม่ทัพนายกอง ทั้งยังถูกลงโทษ เขาเหล่านั้นจะไม่เชื่อฟัง เมื่อไม่เชื่อฟังก็ปกครองยาก ถ้าทหารหาญแม้ใกล้ชิดแม่ทัพนายกอง แต่มิได้ใช้การลงโทษแก่ผู้ทำผิด คำสั่งที่ต้องปฏิบัติจะกลายเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่สามารถปกครองใช้งานได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้น แม่ทัพนายกองต้องใช้ คุณธรรม ระเบียบวินัย และการลงโทษทัณฑ์ในการปกครอง นี้เป็นเงื่อนไขชัยชนะ

การรักษาระเบียบวินัยจากชีวิตประจำวัน เมื่อออกคำสั่งทหารจะเชื่อฟัง ถ้าไม่รักษาระเบียบวินัยจากชีวิตประจำวัน เมื่อออกคำสั่งทหารจะไม่เชื่อฟัง

ความจริงใจต่อระเบียบวินัยจากชีวิตประจำวันของทหาร

ชนะใจประชาชนได้ สามารถกำจิตใจประชาชนเป็นหนึ่งได้

….....................................................................

บทที่ ๑๐ ภูมิประเทศ


๑. SUNTZU กล่าวไว้ ลักษณะภูมิประเทศมี ๖ ประเภท

ที่ไปมาสะดวกนั้นมีอยู่
ที่ไปสะดวกแต่กลับลำบากก็มีอยู่
ทางแยกเป็นหลายแพร่งก็มีอยู่
มีที่แคบ
มีที่รก
มีที่ไกล
สำหรับที่ไปมาสะดวก จงรีบเข้ายึดโดยเฉพาะที่ดีเป็นที่สูงมีแสงแดด ก่อนออกศึกหากสถานที่ดังกล่าวไม่ถูกตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุง การรบจะมีเปรียบ สำหรับสถานที่ไปง่ายกลับลำบาก ถ้าเข้าไปในที่ข้าศึกไม่มีการเตรียมการชนะได้ แต่ถ้าข้าศึกมีการเตรียมการจะไม่อาจชนะข้าศึกได้ จะถอนกลับก็ยาก การรบจะเสียเปรียบ สำหรับทางหลายแยกจะออกจะเข้าล้วนเสียเปรียบ ข้าศึกใช้ผลประโยชน์หลอกล่อให้เราออกรบ อย่าออกรบ พยายามถอยออกให้ไกล ถ้าข้าศึกตามค่อยเข้าตีจะมีเปรียบสำหรับที่แคบ ควรยึดได้ก่อนข้าศึก จากนั้นรวมกำลังรอคอยการมาของข้าศึก ถ้าข้าศึกยึดได้ก่อน อย่าเข้าตีที่แคบ ถ้าข้าศึกมิได้รวมกำลังไว้เข้าตีดีคือที่รก เราควรยึดก่อน ควรอยู่ในที่สูงรอคอยข้าศึก ถ้าข้าศึกยึดได้ก่อนควรอยู่ให้ห่าง ฝ่ายเรา และข้าศึกตั้งทัพอยู่ไกลกัน ถ้ากำลังรบพอกันรบกันยาก ฝ่ายรุกก่อนเสียเปรียบ

เหล่านี้คือ ๖ ประเภทพื้นที่ภูมิประเทศ แม่ทัพต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบอย่างเพียงพอ

๒. ในกองทัพนั้นมีพวกหนีทหาร พวกปล่อยตัว พวกซึมเศร้า พวกแหกคอก พวกวุ่นวาย และพวกแพ้แล้วหนี ทั้งหมด ๖ จำพวก โดยทั่วไปแม้มิได้เกิดเภทภัยก็จะทำให้แม่ทัพเดือดร้อนอยู่เสมอๆ

พวกเหล่านี้ เมื่อฝ่ายเราห้าวหาญพอๆ กับข้าศึก แต่ข้าศึกมีมากกว่า ๑๐ เท่า แม้ยังมิได้ต่อสู้ก็หนีตายกันหมดสิ้นแล้ว

ถ้าทหารเข้มแข็งแต่ตัวนายอ่อน กองทัพจะไม่มีกำลัง ถ้าทหารอ่อนแต่ตัวนายเข้มแข็ง กองทัพก็จะไม่คึกคักขวัญจะไม่ดี ถ้าตัวนายโกรธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่ทัพ แต่เมื่อข้าศึกยกมาต้องออกรบโดยมีความโกรธอยู่ในใจ รบแต่ตามที่ตนเองคิด กองทัพก็จะไปไม่รอด แม่ทัพที่หย่อนยานไม่เคร่งครัดออกคำสั่งไม่แน่นอน ตัวนาย และทหารย่อมปฏิบัติไม่ได้ เกิดความวุ่นวาย แม่ทัพจะคิดอ่านสถานการณ์ข้าศึกก็ย่อมทำไม่ได้ ปะทะข้าศึกคราวใดก็ตีข้าศึกที่แข็งกว่าเสมอ ทหารจะหมดความกล้าหนีหายหมด

ทั้งหมดเกิดจากคน ๖ จำพวกดังที่กล่าวข้างต้น เป็นต้นเหตุแห่งความพ่ายแพ้

ถือเป็นหน้าที่ของแม่ทัพ จะต้องคิดอ่านเรื่องนี้อย่างเพียงพอ

๓. ลักษณะของภูมิประเทศเป็นสิ่งช่วยการศึก ถ้าคิดอ่านพิจารณารอบคอบแล้วชนะได้

“ การพิจารณาภูมิประเทศ และดัดแปลงมาใช้ทางยุทธวิธี เป็นงานยิ่งใหญ่ของแม่ทัพ ”

ถ้าพิจารณารอบคอบระมัดระวังต้องชนะแน่นอน ถ้าพิจารณาไม่รอบคอบไม่ระมัดระวังต้องแพ้แน่นอน

ถ้าคิดอ่านแล้วชนะแน่นอน แต่ผู้นำประเทศสั่งอย่าใช้กำลัง การตัดสินใจรบของแม่ทัพเป็นสิ่งถูกต้อง

ถ้าคิดอ่านแล้วแพ้แน่นอน แต่ผู้นำประเทศสั่งให้ใช้กำลัง การตัดสินใจไม่รบของแม่ทัพเป็นสิ่งถูกต้อง

เพราะฉะนั้น มิได้แสวงหาชื่อเสียง รุกเมื่อควรรุก มิกลัวผิด ถอยเมื่อควรถอย เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

“ ถ้าผลประโยชน์ตรงกันกับผู้นำประเทศ

แม่ทัพคนนี้คือสมบัติล้ำค่าของประเทศชาติ ”

๔. ปกครองทหารเหมือนดูแลเด็ก ทหารย่อมสามารถติดตามแม่ทัพไปในที่อันตรายได้

ปกครองทหารเหมือนลูก มีความรักความผูกพัน ทหารก็พร้อมจะร่วมเป็นร่วมตายกับแม่ทัพได้

แต่ให้ความอบอุ่นอย่างเดียวใช้งานทหารไม่ได้ ให้แต่ความรักสั่งการใดใดย่อมไม่ได้

จะใช้ประโยชน์อันใดย่อมทำไม่ได้

๕. เมื่อรู้ว่ามีกำลังพอที่จะเข้าตีข้าศึกรวบรวมชัยชนะได้ แต่ไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้าศึกเข้าตีไม่ได้ จะชนะแน่นอนก็หาไม่ เมื่อรู้ว่าสถานการณ์ข้าศึกเข้าตีได้ แต่ไม่รู้ว่ากำลังฝ่ายเราไม่เพียงพอ จะชนะแน่นอนก็หาไม่ เมื่อรู้ว่าสถานการณ์ข้าศึกเข้าตีได้ และรู้ว่ากำลังฝ่ายเรามีเพียงพอ แต่ไม่รู้ว่าสภาพพื้นที่ภูมิประเทศรบไม่ได้ จะชนะแน่นอนก็หาไม่ ......

ฉะนั้น คนที่เข้าใจการรบดี รู้ข้าศึก รู้เรา รู้พื้นที่ภูมิประเทศ รู้เวลา จึงสามารถใช้กำลังทหารได้โดยไม่หลง การศึกก็จะไม่ลำบาก

เพราะฉะนั้น รู้เขา รู้เรา ชัยชนะไม่ไปไหน รู้ภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม และเวลา

กล่าวได้ว่าจะสามารถชนะได้อยู่เสมอ

..............................................................

บทที่ ๑๑ เก้าสนามรบ

๑. SUNTZU กล่าวไว้

การศึกนั้นมี พื้นที่แตก พื้นที่เบา พื้นที่ได้เปรียบ พื้นที่สัญจร พื้นที่ติดต่อ พื้นที่สำคัญพื้นที่ลำบาก พื้นที่ถูกล้อม และพื้นที่สังหาร

สนามรบที่ต่อสู้ในประเทศตนเองหมายถึงพื้นที่แตก สนามรบที่อยู่ในดินแดนข้าศึกแต่ไม่ไกลจากพรมแดนนักคือพื้นที่เบา พื้นที่ที่ข้าศึกยึดได้มีเปรียบ เรายึดได้เราก็มีเปรียบคือพื้นที่ได้เปรียบ พื้นที่ที่คิดจะไปก็ได้คิดจะมาก็ได้คือพื้นที่สัญจร พื้นที่ที่มี ๔ ทิศถ้าเราเข้าไปได้ก่อนสามารถรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ สามารถรวบรวมจิตใจประชาชนได้คือพื้นที่ติดต่อ พื้นที่ลึกในดินแดนข้าศึกผ่านไปด้วยที่มั่นของข้าศึก หมู่บ้านมากมาย เป็นพื้นที่สำคัญ ต้นไม้รกทึบ มีหนองบึงเคลื่อนไหวลำบากเป็นพื้นที่ลำบากยิ่งเข้าไปยิ่งแคบถอยออกยาก ข้าศึกใช้กำลังเพียงเล็กน้อยก็โจมตีเราได้คือพื้นที่ถูกล้อม ต้องใช้การต่อสู้สุดชีวิตมิฉะนั้นจะเอาตัวรอดไม่ได้คือพื้นที่สังหาร ........

ดังกล่าวแล้ว ถ้าเป็นพื้นที่แตกอย่ารบ พื้นที่เบาอย่าชักช้า พื้นที่ได้เปรียบรีบเข้ายึดก่อนถ้าข้าศึกยึดก่อนอย่าเข้าตี พื้นที่สัญจรอย่าทิ้งระยะกันห่าง พื้นที่ติดต่อใช้การทูต พื้นที่สำคัญใช้แย่งเสบียงอาหารจากข้าศึก พื้นที่ลำบากรีบผ่านให้พ้นไป พื้นที่ถูกล้อมใช้แผนลับ พื้นที่สังหารควร สู้สุดชีวิต

๒. ขุนศึกที่เชี่ยวชาญการรบสมัยก่อน จะทำให้ทัพหน้า และทัพหลังของข้าศึกติดต่อกันไม่ได้ทำให้กำลังใหญ่กำลังเล็กช่วยเหลือกันไม่ได้ ทำให้คนสูงคนต่ำช่วยกันไม่ได้ ทำให้นายกับบ่าวช่วยกันไม่ได้ ทำให้ทหารข้าศึกที่แตกกระจายรวมกันไม่ติด ถึงรวมติดก็ไม่เป็นระเบียบ

ดังนี้ ฝ่ายเราจะเริ่มเคลื่อนไหวเมื่อได้เปรียบ

ถ้ายังไม่ได้เปรียบไม่เคลื่อนไหว รอคอยโอกาสที่ได้เปรียบ


๓. “การสงครามนั้น ความรวดเร็วเป็นอันดับหนึ่ง

ใช้จังหวะที่ข้าศึกกำลังเตรียมการ

ใช้วิธีที่ข้าศึกคาดไม่ถึง

ใช้การโจมตีสถานที่ที่ข้าศึกไม่มีการเตรียมการป้องกัน ”

๔. ปกติการโจมตีประเทศข้าศึก

ถ้าบุกลึกเข้าไปยึดพื้นที่สำคัญในประเทศข้าศึก ฝ่ายเราต้องสามัคคีกันไว้ เนื่องจากเป็นพื้นที่แตกของข้าศึก ข้าศึกจะไม่สามารถต้านทานเราได้ และหากพื้นที่นั้นอุดมสมบูรณ์ เสบียงอาหารที่มาเลี้ยงกองทัพก็จะเพียงพอ และเมื่อเลี้ยงดูทหารเป็นอย่างดีแล้ว อย่าให้ต้องเหนื่อยอ่อน เพิ่มขวัญ และกำลังใจในการรบ ใช้แผนลับเคลื่อนกำลังจนข้าศึกไม่สามารถคาดการณ์ได้ จะไปที่ใดใดทหารที่ต้องตาย

หรือหนีตายจะไม่ปรากฏ ถ้าระดับนายกองสู้อย่างสุดความสามารถ ทำไมจะไม่ได้มาซึ่งชัยชนะเล่า แม้เหล่าทหารจะตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายก็มิเกรงกลัว มิต้องมีสัญญาก็ช่วยเหลือกัน มิต้องสั่งการใดใดก็ปฏิบัติด้วยความจริงใจ แม้ต้องตายจิตใจก็ไม่เปลี่ยนแปลง แม้เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ออกคำสั่งรบขั้นเด็ดขาด ถึงน้ำตาจะไหลนองเนื่องจากผู้ต้องจากไป แต่ในสถานการณ์คับขันเช่นดังนี้ :-

ทุกคนจะกล้าหาญอย่างที่สุด

๕. ฉะนั้น

ยอดนักรบนั้นเรียกว่าสู้ยิบตา สู้ยิบตานั้นเหมือนมดแมลงที่อยู่ตามเขานั่นเองเมื่อโจมตีด้วยส่วนหัว ส่วนหางก็จะเข้ามาช่วย เมื่อโจมตีด้วยส่วนหาง ส่วนหัวจะเข้าช่วยเมื่อถูกโจมตีที่ท้อง ส่วนหัว และส่วนหางจะเข้าช่วย และโจมตีข้าศึกพร้อมกัน .........

.............................................................


บทที่ ๑๒ ไฟ


๑. SUNTZU กล่าวไว้

ปกติการรุกด้วยไฟมี ๕ ประการ

- เผาคน

- เผาเสบียง

- เผาอาวุธ

- เผายุทธปัจจัย

- เผาเส้นทาง

การใช้ไฟนั้น มีเงื่อนไขที่แน่นอน การใช้ไฟบินนั้นก็เช่นกัน ต้องมีเครื่องมือที่แน่นอน การเริ่มทำการรุกด้วยไฟนั้น มีเวลาที่เหมาะสม มีวันที่เหมาะสม ........

๒. ปกติการรุกด้วยไฟนั้น เมื่อฝ่ายเราเริ่มจุดไฟ ขณะกองบัญชาการข้าศึกติดไฟให้ระดมทหารเข้ารบ แต่ถึงแม้ไฟติดแล้วข้าศึกยังเงียบอยู่ ให้รอก่อน จะรบทันทีนั้นไม่ได้ ปล่อยให้ไฟเผาไปพิจารณาสถานการณ์แล้วถ้าโจมตีได้ให้รบ ถ้าโจมตีไม่ได้อย่ารบ แม้ไฟลุกลามจากภายนอกถ้าสถานการณ์เหมาะสมก็รบได้ อย่าโจมตีใต้ลม ใช้ลมตอนกลางวัน อย่าใช้ลมกลางคืน ระมัดระวังการเปลี่ยนแปลงของไฟรอบคอบ เป็นยุทธวิธีการใช้ไฟ ........

๓. ฉะนั้น

การใช้ไฟช่วยในการโจมตีได้ ถือว่าฉลาด

การใช้น้ำทำลายข้าศึกได้ ถือว่าเป็นอำนาจ

๔. การที่รุกรบได้ชัยต่อข้าศึก แต่ไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้ ถือว่าโชคร้ายไร้ประโยชน์ถ้ามิใช่เพราะประโยชน์ของบ้านเมือง อย่าทำ ถ้าทำแล้วไม่สามารถสำเร็จได้ อย่าใช้กำลัง ถ้ามิได้ตกอยู่ในอันตราย อย่ารบ ....

แม่ทัพไม่สามารถจัดกระบวนศึกได้ก็เพราะความแค้นเคือง

ทหารย่อมรบไม่ได้ก็เพราะความโกรธ

ชั่วขณะในอารมณ์โกรธ อาจกลับมาเกิดความสบายใจ

ชั่วขณะแค้นเคือง อาจกลับมาเกิดความพึงพอใจ

แต่บ้านเมืองเมื่อพินาศย่อยยับแล้ว ไม่อาจซ่อมแซมได้ คนตายย่อมมิอาจฟื้น

ฉะนั้น แม่ทัพที่ฉลาดจะมีการตัดสินใจดี รอบคอบ

บ้านเมืองย่อมรักษาได้มั่นคง กองทัพย่อมดำรงอยู่ได้

.............................................................


บทที่ ๑๓ สายลับ


๑. การจัดกองทัพด้วยกำลังคนมากมายโดยส่งออกไปรบในที่ไกล ย่อมเกิดความสิ้นเปลืองที่รบกวนต่อเนื่องไปทั่วทั้งบ้านเมือง ประชาชนจะพากันอิดโรย แม้กระนั้น หากแม่ทัพตระหนี่ที่จะใช้ทรัพย์สินมหาศาลเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวกรองข้าศึก แม่ทัพผู้นี้ย่อมไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ย่อมไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นแม่ทัพได้ ......

ปกติยอดนักรบชนะข้าศึกได้เสมอด้วยการรู้ล่วงหน้าก่อน การรู้ล่วงหน้าก่อน มิได้ใช้เวทมนต์คาถา มิได้ใช้การดูฤกษ์ยาม มิได้ใช้การคำนวณอนาคตใดใดจากเหตุการณ์ในอดีต แต่เขาจะพึ่งพาบุคคลพิเศษ จะต้องเป็นบุคคลเฉพาะจริงที่รู้สถานการณ์ของข้าศึกนั่นเอง

“ ดังกล่าวย่อมต้องเป็นสายลับ ”

๒. สายลับที่ใช้งานมีอยู่ ๕ ประเภท กล่าวคือ

- สายลับในพื้นที่

- สายลับใน

- สายลับสองหน้า

- สายลับที่ยอมตาย

- สายลับที่รอดกลับมา

๓. ในบรรดาผู้สนิทสนมใกล้ชิดแม่ทัพ ไม่มีผู้ใดใกล้ชิดไปกว่าสายลับ ไม่มีใครได้บำเหน็จรางวัลมากกว่าสายลับ และไม่มีเรื่องราวใดเป็นความลับมากไปกว่าเรื่องในหน่วยสืบราชการลับ

“ ผู้มีมนุษยธรรมมาก มีความยุติธรรมมากใช้งานสายลับไม่ได้

ผู้ไม่ละเอียด ไม่มีไหวพริบ ย่อมเอาความจริงจากสายลับไม่ได้

ในกรณีแผนลับแตก ผู้เกี่ยวข้องย่อมต้องโทษประหาร ”

๔. ปกติเมื่อต้องการเข้าโจมตีที่ใด ต้องการสังหารใคร จำเป็นต้องรู้จักนายทหารข้าศึก ผู้บังคับบัญชาข้าศึก ฝ่ายเสนาธิการ องครักษ์ สายลับต้องสืบเรื่องราวของบุคคลที่เกี่ยวข้องเหล่านี้โดยละเอียด จึงสามารถกระทำตามความต้องการได้ .......

๕. เป็นเรื่องสำคัญต้องหาสายลับของข้าศึกที่มาสืบข่าวฝ่ายเราให้พบ แล้วทำให้สายลับผู้นั้นกลับทำงานให้เรา ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ ย่อมได้สายลับสองหน้า เมื่อได้สายลับสองหน้า ย่อมได้สายลับในพื้นที่ และสายลับใน ซึ่งจะทำให้ฝ่ายเราสามารถส่งสายลับที่ยอมตายไปปล่อยข่าวลวงข้าศึก

แม่ทัพจะต้องรู้เท่าทันสายลับทุกประเภท โดยปฏิบัติต่อสายลับสองหน้าอย่างอิสระ .....

...........................................................................

ส่งท้าย

เรื่องราวที่กล่าวถึงทั้งหมด เป็นสิ่งซึ่งแต่ละคนรู้ได้ เข้าใจได้ จากสิ่งแวดล้อม วันเวลา และประสบการณ์ดีนักรบที่คร่ำศึกย่อมสามารถเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้แต่ผู้ที่เข้าใจลึกซึ้งกว่า คือผู้กำชัยชนะชี้ขาดชะตากรรมของข้าศึกแน่นอน .................................

SUNTZU

จอม รุ่งสว่าง ผู้แปล




 

Create Date : 23 เมษายน 2552    
Last Update : 23 เมษายน 2552 3:48:05 น.
Counter : 10578 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

ต้นกล้า อาราดิน
Location :
ปราจีนบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Friends' blogs
[Add ต้นกล้า อาราดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.