Group Blog
 
All blogs
 
นายกรัฐมนตรีฯ

วันนี้ (9 ก.ย.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดย นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ประกอบมาตรา 182(7) ของนายสมัคร อันเนื่องจากเป็นพิธีกรรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า”

คำวิจิฉัยศาลรัฐธรรมนูญสรุปใจความเบื้องต้นได้ว่า นายสมัคร ผู้ถูกร้องได้ร่วมดำเนินธุรกิจกับบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ในฐานะพิธีกร แม้จะอ้างไม่ใช่ลูกจ้าง แต่ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย่อมทราบข้อห้ามกฎหมาย มาตรา 267 ดีอยู่แล้ว เพราะเข้าข่ายหมิ่นเหม่ แต่ยังคงร่วมดำเนินธุรกิจเรื่อยมา แต่มาเลิกเป็นพิธีกรก็ต่อเมื่อมีผู้ร้องเรียนถึง กกต. ขณะที่บริษัท เฟซ มีเดีย ถือเป็นบริษัทเอกชน ย่อมมุ่งแสวงหากำไร และจะนำรายได้มาแบ่งปันกัน

อีกทั้งจากหลักฐานพิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ถูกร้องได้ทำหน้าที่พิธีกรรายการชิมไปบ่นไป ตั้งแต่เมื่อครั้งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และได้รับค่าตอบแทนเรื่อยมาเดือนละ 80,000 บาท จนกระทั่งมีโลโก้รูปภาพการ์ตูนจมูกชมพู่เป็นโฆษณาไปปรากฏบนจอโทรทัศน์ในช่วงออกอากาศ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ทราบกันดีว่าหมายถึงตัวผู้ถูกร้อง

ส่วนเรื่องผู้ถูกร้องโต้แย้งว่า ไม่ได้เป็นลูกจ้าง เฟซ มีเดีย เพราะไม่ได้รับค่าจ้าง หรือเป็นผู้บริหารในบริษัท ซึ่งต้องวินิจฉัยตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่จากหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของกรมสรรพากรได้ยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่าผู้ถูกร้องมีเงินได้จากการเป็นพิธีกรจากบริษัท เฟซ มีเดีย

ต่อมาเมื่อ 6 ก.พ.2551 หลังผู้ถูกร้องได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมบันทึกเทปกับบริษัท เฟซ มีเดีย อีก 2-3 ครั้ง และนำมาออกอากาศอีก โดยผู้ถูกร้องมิได้ดำเนินยับยั้ง โดยใช้รูปจมูกชมพู่เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดว่ามีการร่วมดำเนินธุรกิจกันจริง

โดยคำวินิจฉัยไม่ได้พิจารณาเฉพาะการเป็นลูกจ้างเท่านั้น แต่พิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ด้วย เกี่ยวกับผลประโยชน์ประกอบด้วย เพื่อไม่ให้นักการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น การนิยามความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” จึงไม่ใช่เพียงแค่ได้รับค่าจ้างหรือไม่ เท่านั้น ดังนั้น การรับพิธีกร 2 รายการของนายกรัฐมนตรีนั้น ถือว่ามีความผูกพันทางด้านผลประโยชน์กับบริษัท เฟซ มีเดีย อยู่ ขณะที่ผู้ถูกร้องต้องได้รับค่าตอบแทนตามฐานะ

นอกจากนี้ยังพบว่า ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่รับรายได้เพียงค่าน้ำมันรถ ถือว่าเป็นการให้ขัดแย้งกัน และยังพบพิรุธว่า น่าจะมีการทำหลักฐานย้อนหลังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทน เป็นค่าน้ำมันรถและค่ากับข้าว ตุลาการศาล รธน.จึงมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า ผู้ต้องร้องกระทำต้องห้ามขัดต่อ รธน.267 จึงสิ้นสุดความเป็นรมต.เฉพาะตัว และเมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง คณะรัฐมนตรีจึงสิ้นสุดลงด้วย แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่

สำหรับบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ส่งเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีอย่างกึกก้อง ขณะที่บริเวณสะพานมัฆวาน กลุ่มนิสิตนักศึกษาเยาวชนพันธมิตรฯ (Young PAD)ที่มาชุมนุมขับไล่นายสมัคร ได้โห่ร้องแสดงความยินดีเช่นกัน หลังจากนั้น "หรั่ง ร็อคเคสตร้า" ได้ขึ้นเวทีนำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ตามด้วยเพลงเราสู้

หลังจากนั้น ตัวแทนนักศึกษาได้ขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยว่า ถ้า ส.ส.พรรคพลังประชาชนยังลงมติเลือกนายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ทางกลุ่มนิสิตนักศึกษาก็จะยังปักหลักชุมนุมขับไล่อยู่ที่นี่ต่อไป หลังจากนั้นได้มีมีการเปิดวีดีโอเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก ตามด้วยคำให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศของนายสมัคร ในช่วงเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ใหม่ๆ ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่มีคนตายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มีคนตายที่สนามหลวงเพียงแค่คนเดียว

ด้าน ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายมหาชน ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินเช่นนี้ออกมา นายสมัครก็ไม่ควรจะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก เพราะเป็นเรื่องที่ขัดต่อคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองที่ทั่วโลกยึดถือปฏิบัติ

“มันคงอธิบายให้โลกทั้งโลกเข้าใจไม่ได้ว่า เมื่อศาลตัดสินมาแล้วว่าคนเป็นนายกรัฐมนตรีทำกันในสิ่งที่ขัดกันของผลประโยชน์ ทั้งหมดเป็นเรื่องสำนึกของจริยธรรมที่ลึกซึ้ง” นายบวรศักดิ์กล่าว

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ถือว่ามีลักษณะค่อนข้างยึดเจตนารมณ์ตามกรอบรธน. เช่น การวินิจฉัยคำว่าลูกจ้าง ถ้าว่ากันตามความเข้าใจของนักกฎหมายทั่วไป ก็ตีความตามกฎหมายแพ่ง ตามกฎหมายแรงงาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็ตีความว่าทำให้เอกชนมีอำนาจเหนือหน้าที่ หรืออย่างแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหาร ก็ตีความกว้างว่า คือรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า สนธิสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากสภานั้นคือสัญญาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แต่ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ก็มองว่า อาณาเขตไทยไม่ใช่ต้องได้มาหรือเสียตรงๆ แต่อาจทำให้อาณาเขตไทยมีปัญหาก็เข้ามาตรานี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เสียหาย แต่เป็นสิ่งที่ดีสังคมไทยจะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีก หรืออย่างเรื่องเมื่อมีคำวินิจฉัยให้นายกฯขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งแล้วจะรักษาการต่อได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญก็เขียนไม่ชัด ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่า นายกฯพ้นตำแหน่ง ครม.พ้นตำแหน่ง ก็รักษาการต่อได้ ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกชัดเจนว่า ครม.รักษาการต่อได้ ยกเว้นนายกฯ


ด้านนายกานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (พปช.) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทางพรรคพลังประชาชนจะสนับสนุนให้นายสมัคร มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เว้นแต่นายสมัครจะถอดใจ ไม่ยอมรับตำแหน่งเอง อย่างไรก็ตามทางพรรคได้เตรียมชื่อของนายกฯสำรองไว้แล้ว ซึ่งทางพรรคจะเรียกประชุมด่วน เพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว รวมถึงการเสนอชื่อนายกฯคนใหม่ คาดว่าวันพรุ่งนี้ (10 ก.ย.) จะนำเสนอเป็นวาระด่วนเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้





Create Date : 09 กันยายน 2551
Last Update : 9 กันยายน 2551 19:02:05 น. 1 comments
Counter : 313 Pageviews.

 
ก็ว่ากันไป


โดย: boyblackcat วันที่: 9 กันยายน 2551 เวลา:20:56:54 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

gaa
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Google
เพื่อนที่กำลังชมบล็อก
Friends' blogs
[Add gaa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.