พระพุทธศาสนา
Group Blog
 
All Blogs
 
ความวัว (ไวรัส) ไม่ทันหาย ความควาย (น้ำท่วม) เข้ามาแทรก เรียกรวมว่าทุกข์คำเดียว ที่มนุษย์เกลียดกลัว

ความวัว (ไวรัส) ไม่ทันหาย  ความควาย (น้ำท่วม) เข้ามาแทรก เรียกรวมว่าทุกข์คำเดียว ที่มนุษย์เกลียดกลัว
https://www.facebook.com/hashtag/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%94

233ในที่นี้ จะยกมาแสดงเฉพาะชุดสำคัญๆ หรือที่ท่านกล่าวถึงบ่อยๆ ดังนี้
 
ชุดที่ ๑  ทุกข์ ๑๒   (ที.ม.10/294/394 ฯลฯ) เป็นชุดไขความสำหรับแสดงความหมายของทุกข์ในอริยสัจ ๔ มี ดังนี้
 
๑) ชาติ     ความเกิดเป็นทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ต่างๆอเนกประการ ท่านแบ่งซอยออกเป็น

ก. คัพโภกกันติมูลกทุกข์    ทุกข์เกิดจากการอยู่ในครรภ์ อยู่ในที่อันแสนจะคับแคบอึดอัด มืดตื้อ แออัดด้วยสิ่งที่น่ารังเกียจ ดุจหนอนในของเน่าหรือในน้ำครำ

ข. คัพภปริหรณมูลกทุกข์    ทุกข์เกิดจากการบริหารครรภ์ มารดาจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ลุกนั่ง เดินวิ่งแรงหรือเบา กินดื่มของร้อนเย็นเปรี้ยวเผ็ดเป็นต้น มีผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ทั้งสิ้น

ค.คัพภวิปัตติมูลกทุกข์     ทุกข์เกิดจากการวิบัติของครรภ์ เช่น ท้องนอกมดลูก เด็กตายในครรภ์ ต้องผ่าตัดออก เป็นต้น

ง. วิชายนมูลกทุกข์    ทุกข์เกิดจากการคลอด ทั้งถูกกระทุ้งกระแทกพลิกหัน ทั้งถูกกดถูกบีบถูกอัด กว่าจะผ่านชอบอันแสนแคบออกมาได้ เจ็บปวดแสนสาหัส

จ. พหินิกขมนมูลกทุกข์    ทุกข์เกิดจากการออกมาภายนอก เด็กแรกคลอดมีร่างกายและผิวละเอียดอ่อนดังแผลใหม่ ถูกสัมผัสจับต้องเช็ดล้างแสนเจ็บแสบ

ฉ. อัตตุปักกมมูลกทุกข์    ทุกข์เกิดจากการทำตัวเอง เช่น ฆ่าตัวตายบ้าง ประพฤติวัตรบำเพ็ญตบะทรมานตนบ้าง โกรธเคืองเขาแล้วไม่กินข้าว หรือทำร้ายตัวเองบ้าง เป็นต้น

ช. ปรุปักกมมูลกทุกข์   ทุกข์เกิดจากคนอื่นทำให้ เช่น ถูกฆ่า ถูกจองจำ ถูกทำร้าย เป็นต้น
 
๒) ชรา    ความแก่ ทำให้อวัยวะทั้งหลายหย่อนยานอ่อนแอ อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้น ทำหน้าที่บกพร่องผิดเพี้ยน กำลังวังชาเสื่อมถอย หมดความแคล่วคล่องว่องไว ผิวพรรณไม่งดงามผ่องใส หนังเหี่ยวย่น ความจำเลอะเลือนเผลอไผล เสื่อมอำนาจและความเป็นเสรีทั้งภายนอกและภายใน เกิดทุกข์กายและทุกข์ใจได้มาก

๓) มรณะ    ความตาย ยามจะสิ้นชีพ เคยทำชั่วไว้ ก็เห็นนิมิตของบาปกรรม มีคนหรือของรักก็ต้องพลัดพรากจากไป ส่วนประกอบในร่างกายก็พากันหยุดทำหน้าที่ ทุกข์ทางกายก็อาจมีมาก จะทำอะไรจะแก้ไขอะไรก็ทำไม่ได้แก้ไขไม่ได้

๔) โสกะ     ความเศร้าโศก ได้แก่ ความแห้งใจ เช่น เมื่อสูญเสียญาติ เป็นต้น (บาลี โสก สันสกฤต โศก)

๕) ปริเทวะ    ความคร่ำครวญหรือร่ำไร ได้แก่ บ่นเพ้อไปต่างๆ เช่น เมื่อสูญเสียญาติ เป็นต้น

๖) ทุกข์     ความทุกข์กาย ได้แก่ เจ็บปวด เช่น กายบาดเจ็บ ถูกบีบคั้น เป็นโรค เป็นต้น

๗) โทมนัส     ความทุกข์ใจ ได้แก่ เจ็บปวดรวดร้าวใจ ที่ทำให้ร้องไห้ ตีอกชกหัว ลงดิ้น เชือดตนเอง กินยาพิษ ผูกคอตาย เป็นต้น

๘) อุปายาส     ความคับแค้น หรือสิ้นหวัง ได้แก่ เร่าร้อนทอดถอนใจ ในเมื่อความโศกเศร้าเพิ่มทวี เป็นต้น

๙) อัปปิยสัมปโยค     การประสบคนหรือสิ่งซึ่งไม่เป็นที่รัก เช่น ต้องพบต้องเกี่ยวข้องกับคนที่ไม่ชอบหรือชิงชัง เป็นต้น

๑๐) ปิยวิปโยค     การพลัดพรากจากคนหรือสิ่งอันเป็นที่รัก เช่น จากญาติ จากคนรัก สูญเสียทรัพย์สิน

๑๑) อิจฉิตาลาภ     การไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา คือปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สมหวัง

๑๒) อุปาทานขันธ์     ขันธ์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน กล่าวคือ ทุกข์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นทุกข์ของอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อว่าโดยสรุป หรือโดยรวบยอด ก็คือ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์


ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒ (วิสุทฺธิ.3/83-84 ฯลฯ) เป็นเพียงการสรุปทุกข์ชนิดต่างๆในแนวหนึ่ง ได้แก่

๑) ปฏิจฉันนทุกข์   ทุกข์ปิดบัง หรือทุกข์ซ่อนเร้น ไม่ปรากฏออกมาให้เห็นชัดๆ เช่น ปวดหู ปวดฟัน ใจเร่าร้อนเพราะไฟราคะและไฟโทสะ เป็นต้น

๒) อัปปฏิจฉันนทุกข์     ทุกข์ไม่ปิดบัง หรือทุกข์เปิดเผย เช่น ถูกหนามตำ ถูกตี ถูกมีดฟัน เป็นต้น

ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒ (วิสุทฺธิ.3/83-84 ฯลฯ) เป็นเพียงการสรุปทุกข์ชนิดต่างๆอีกแนวหนึ่ง ได้แก่

๑) ปริยายทุกข์   ทุกข์โดยปริยาย หรือทุกข์โดยอ้อม ได้แก่ ทุกข์ทุกอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น นอกจากทุกขเวทนา

๓) นิปปริยายทุกข์    ทุกข์โดยนิปริยาย หรือทุกข์โดยตรง ได้แก่ ความรู้สึกทุกข์ ที่เรียกว่าทุกขทุกข์ หรือทุกขเวทนานั่นเอง

227ในคัมภีร์มหานิทเทส และจูฬนิทเทส บางแห่งแสดงชื่อทุกข์ไว้อีกเป็นอันมาก (ขุ.ม.29/23/19 ฯลฯ) มีทั้งที่ซ้ำกับที่แสดงไว้แล้วข้างต้น และที่แปลกออกไป ขอยกมาจัดเป็นกลุ่มๆให้ดูง่าย ดังนี้

ก) ชาติทุกข์    ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสก-ปริเทว-ทุกข-โทมนัส-อุปายาสทุกข์

ข) เนรยิกทุกข์ ติรัจฉานโยนิกทุกข์ ปิตติวิสยทุกข์ มานุสกทุกข์  (ทุกข์ของสัตว์นรก ทุกข์ของสัตว์ดิรัจฉาน ทุกข์ของสัตว์ในแดนเปรต ทุกข์ของมนุษย์)

ค) คัพโภกกันติมูลกทุกข์  (ทุกข์เกิดจากการลงเกิดในครรภ์)  คัพเภฐิติมูลกทุกข์ (ทุกข์เกิดจากการอยู่ในครรภ์)  คัพภวุฏฐานมูลกทุกข์  (ทุกข์เกิดจากการออกจากครรภ์)  ชาตัสสูปนิพันธิกทุกข์ (ทุกข์ติดพันตัวของผู้ที่เกิดแล้ว) ชาตัสสปราเธยยกทุกข์  (ทุกข์เนื่องจากต้องขึ้นต่อผู้อื่นของผู้ที่เกิดแล้ว) อัตตูปักกมทุกข์ (ทุกข์ที่ตัวทำแก่ตัวเอง) ปรูปักกมทุกข์  (ทุกข์จากคนอื่นทำให้)

ง) ทุกขทุกข์   สังขารทุกข์ วิปริณามทุกข์

จ) โรคต่างๆ เช่น โรคตา โรคหู เป็นต้น รวม ๓๕ ชื่อ

ฉ) อาพาธ คือ ความเจ็บไข้ที่เกิดจากสมุฏฐาน ๘ อย่าง คือ ดี เสมหะ ลม สมุฏฐานต่างๆ ประชุมกัน อุตุแปรปรวน บริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ ถูกเขาทำ เช่น ฆ่าและจองจำเป็นต้น และผลกรรม

ช) หนาว ร้อน หิว กระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ ทุกข์จากสัมผัสแห่งเหลือบยุงลมแดด และสัตว์เลี้อยคลาน

ญ) ทุกข์เพราะความตายของมารดา ความตายของบิดา ความตายของพี่น้องชาย ความตายของพี่น้องหญิง ความตายของบุตร ความตายของธิดา

ฎ) ทุกข์เพราะความสูญเสียญาติ ความสูญเสียโภคะ ความสูญเสียโรค ความสูญเสียศีล ความสูญเสียทิฏฐิ

232ในมหาทุกขักขันธสูตร และจูฬทุกขักขันฃธสูตร  (ม.ม.12/198/169 ฯลฯ) พระพุทธเจ้าตรัสถึงทุกขขันธ์ คือกองทุกข์ต่างๆมากมาย ซึ่งเป็นปัญหาแก่มนุษย์สืบเนื่องมาจากกาม โดยสรุป ทุกขขันธ์ หรือกองทุกข์เหล่านั้น ได้แก่
 
ก) ความลำบากตรากตรำเดือดร้อน ตลอดกระทั่งสูญเสียชีวิต เนื่องมาจากประกอบการงานเลี้ยงชีพ

ข) ความเศร้าโศกเสียใจ ในเมื่อเพียรพยายามในการอาชีพแล้ว โภคะไม่สำเร็จผล

ค) แม้เมื่อโภคะสำเร็จผลแล้ว ก็เกิดความทุกข์ยากลำบากใจ ในการที่ต้องคอยอารักขาโภคทรัพย์

ง) ความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อสูญเสียโภคทรัพย์นั้นไป อารักขาไว้ไม่สำเร็จ เช่น ถูกโจรปล้น ไฟไหม้

จ) การทะเลาะวิวาทแก่งแย่ง ทำร้ายกัน ถึงตายบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ระหว่างราชากับราชาบ้าง คฤหบดีกับคฤหบดีบ้าง แม้กระทั่งระหว่างพ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง และเพื่อนกับเพื่อน

ฉ) การทำสงครามประหัตประหารกันระหว่างหมู่ชน ๒ ฝ่าย ในสมรภูมิ ซึ่งต่างพากันล้มตายและได้รับความทุกข์แสนสาหัส เพราะถูกอาวุธหรือเนื่องมาจากการต่อสู้กันนั้น

ช) การทำสงครามที่ฝ่ายหนึ่งรุกรานโจมตีบ้านเมืองของอีกฝ่ายหนึ่ง และจากการต่อสู้กันก็ต้องบาดเจ็บล้มตาย ได้รับทุกข์เป็นอันมาก

ญ) การทำทุจริตก่ออาชญากรรมต่างๆ เช่น ปล้นทรัพย์ ทำความผิดทางเพศ เป็นต้น แล้วถูกจับกุมลงโทษต่างๆ ถึงตายบ้าง ไม่ ถึงตายบ้าง
 
ฎ) การประกอบกรรมทุจริตทางกาย วาจา ใจ ครั้นตายแล้วก็ไปรับทุกข์ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

พอเป็นตัวอย่างเท่านี้


Create Date : 29 กรกฎาคม 2564
Last Update : 29 กรกฎาคม 2564 14:58:55 น. 0 comments
Counter : 540 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 5378236
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ดี
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5378236's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.