พระพุทธศาสนา
Group Blog
 
All Blogs
 
ยาวหน่อย ไม่ต้องรีบ ใช้ประโยชน์จากหลักธรรมยาวๆนี่ สร้างสมาธิไปด้วย 8 การทำหน้าที่ของกัลยา

อ    ยาวหน่อย   ไม่ต้องรีบ  ใช้ประโยชน์จากหลักธรรมยาวๆนี่ สร้างสมาธิไปด้วย  

8 การทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร


     เมื่อมองในแง่การศึกษา หรือความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม การที่มิตรทำกิจต่างๆ ร่วมกัน และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นับว่าเป็นเพียงส่วนประกอบภายนอก สิ่งที่นับว่าสำคัญก็คือ ความมีอิทธิพลชักจูงกันในด้านความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยม ความรู้ความเข้าใจต่างๆ ที่ท่านเรียกรวมว่าทิฏฐิ
 
    ถ้าเป็นความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยม ความรู้ความเข้าใจ ที่ไม่ถูกต้อง มีโทษ ก็เรียก มิจฉาทิฏฐิ ถ้าเป็นฝ่ายที่ดีงาม ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ก็เรียก สัมมาทิฏฐิ
 
    มิตรใด มีอิทธิพลชักจูงให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ก็เป็นมิตรไม่ดี   เรียกว่า ปาปมิตร   มิตรใด มีอิทธิพลชักจูงให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นมิตรดี มิตรแท้ เรียกว่า กัลยาณมิตร
 
  7 มีบ่อยๆที่มิตรในเรือน คือมารดาบิดา หรือแม้แต่ครูอาจารย์  มีอิทธิพลชักนำทิฏฐินี้ น้อยกว่ามิตรชนิดเพื่อนที่คบหาเที่ยวเล่นชุมนุมด้วยกัน   แต่บางครั้งปรากฏว่า แม้แต่มิตรชนิดใกล้ชิดนั้น กลับมีอิทธิพลน้อยไปกว่ามิตรชนิดตัวอยู่ไกล ไม่ว่าโดยเทศะหรือกาละ แต่มีพลังแรงเข้าถึงใจ ได้แก่ มิตรที่มาทางสื่อมวลชน   มาทางสิ่งบันเทิงเริงรมย์   ตลอดจนหนังสือ รวมทั้งชีวประวัติวีรชน บุคคลสำคัญ อันเข้าหลักทิฏฐานุคติ ที่ท่านเน้น
 
     ตัวเชื่อมที่ทำให้มิตรนั้น    เข้ามามีมีอิทธิพลชักจูงได้ หรือปัจจัยเครื่องเชื่อมต่อระหว่างมิตร กับอิทธิพลที่เกิดขึ้นในใจ ก็ได้แก่ ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความนิยมชมชอบ ความซาบซึ้ง ที่เรียกว่า ศรัทธา
 
    เมื่อมีศรัทธาแล้ว หรือทำให้เกิดศรัทธาได้แล้ว ถึงตัวมิตรจะอยู่ไกล ไม่ได้คลุกคลี ก็มีอิทธิพลได้  ถึงตัวมิตรจะอยู่ใกล้ แต่ถ้าไม่มีศรัทธา ก็หามีอิทธิพลชักจูงไม่ ดังนั้น ท่านจึงถือเป็นหลักการว่า ผู้ซึ่งจะทำหน้าที่ชักนำสั่งสอนผู้อื่นให้มีความรู้ความเข้าใจ ความคิดเห็น เป็นต้น อันถูกต้อง ควรจะยังศรัทธาให้เกิดแก่ผู้รับฟังคำสอนนั้นได้ พูดง่ายๆว่า หลักการเบื้องต้นข้อหนึ่งในทางการศึกษา คือ กัลยาณมิตร เป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธา หรือจะพูดขยายออกไปอีกก็ได้ว่า การคบหาบัณฑิต หรือเสวนาสัตบุรุษ เป็นปัจจัยแห่งศรัทธา
 
    ผู้ใด แม้จะเป็นคนดีมีปัญญา แต่เมื่อยังไม่อาจให้เขาเกิดศรัทธาได้ ก็ยังไม่ได้ฐานะเป็นกัลยาณมิตร และการเสวนาหรือการคบค้าก็ยังไม่เกิด เมื่อศรัทธาแล้ว ใจรับ ก็นำความคิดได้ นำพฤติกรรมได้ อาจให้เกิดการเลียนแบบ หรือชักจูงให้รู้จักคิดอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งต่อไป ข้อตัดสินว่า ทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้สำเร็จ คือ ทำให้ผู้เสวนาเกิดมีสัมมาทิฏฐิ

    เรื่องสัมมาทิฏฐิในแง่หลักวิชาตามแบบ หรือ  ตามตำราเดิมแท้  ยังจะได้กล่าวต่อไปอีก    แต่ในที่นี้   มีข้อควรทำความเข้าใจเบื้องต้นไว้ก่อนว่า   ความคิดเห็น  ทัศนคติ  ค่านิยม  ความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ดีงาม ที่ เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ” นั้น อาจมีเนื้อหารายละเอียดมากมาย อาจบรรยายกันไปได้ต่างๆ หลายอย่างหลายแนว   แต่เมื่อมองตามหลักธรรมแล้ว  ก็สรุปได้เป็นเพียง ๒ ประเภท คือ

    ๑. ความเชื่อถือ ความเห็น ทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง ดีงาม มีเหตุผล เป็นประโยชน์ เกี่ยวกับเรื่องความดีความชั่ว การทำดีทำชั่ว และการได้รับผลดีร้ายสอดคล้องกับการกระทำของตน คือทำดีดี ทำชั่วชั่ว ความเชื่อมั่นในคุณธรรม เช่น คุณของมารดาบิดา ความเชื่อความเห็นสอดคล้องกับคำสอนทางศาสนา เช่นว่า โลกหน้ามี เป็นต้น รวมเรียกกันสั้นๆว่า เห็นชอบตามคลองธรรม หรือความเชื่อกรรม ซึ่งทำให้มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน เรียกตามหลักวิชาคำเดียวว่า กัมมัสสกตาญาณ
 
     อย่างที่ว่านี้แล คือสัมมาทิฏฐิที่ได้เคยกล่าวถึงมาแล้วว่า เป็นโลกิยสัมมาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิขั้นโลกีย์    เกิดจากความรู้ความเข้าใจเหตุผล   โดยอาศัยการอบรมสั่งสอนปลูกฝังสืบๆกันมาในสังคม ช่วยให้เกิดความประพฤติดีประพฤติชอบ และการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ทำให้สังคมสงบเรียบร้อย   คนอยู่ร่วมกันร่มเย็นเป็นสุข
 
    ๒. ความรู้ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับโลกและชีวิต หรือสังขารธรรมทั้งหลาย ถูกต้องตามความเป็นจริง คือ ตามสภาวะของมัน และตามความเป็นไปโดยธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ซึ่งควรจะมีจะเป็น ระหว่างตนเอง กับสิ่งทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่ หรือกับโลกและชีวิต
 
      ดังเช่น รู้ว่าสิ่งทั้งหลาย เป็นสังขารธรรม เกิดจากองค์ประกอบต่างๆมาประชุมกันเข้า เป็นไปตามความสัมพันธ์สืบทอดกันแห่งเหตุปัจจัย จึงมีสภาพไม่คงที่ ไม่เที่ยงแท้ถาวร ไม่ยั่งยืนอยู่ตลอดไป และมีเหตุปัจจัยต่างๆขัดแย้งบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นตัวของมันเองอย่างแท้จริง ไม่อาจเป็นของใครๆ และไม่ขึ้นต่อความปรารถนาของใครได้จริงจัง เมื่อสิ่งทั้งหลายมีสภาวะแท้จริงเป็นอย่างนี้ เราควรมีท่าทีและปฏิบัติต่อมันอย่างไร การมีท่าทีและการยึดมั่นถือครองอย่างไม่ลืมหูลืมตา หรือยกมอบชีวิตนี้ให้แก่การแสวงหาไขว่คว้าสิ่งเหล่านี้ เป็นการถูกต้องแล้วหรือไม่ มนุษย์สัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งตัวเรา ต่างก็เป็นสังขารธรรม ตกอยู่ใต้คติธรรมดาเดียวกัน เป็นเพื่อนแก่เจ็บตาย เราควรมีท่าทีและปฏิบัติกันอย่างไร ดังนี้เป็นต้น

    ความรู้ความเห็น ความเข้าใจ อย่างนี้ เกิดจากการรู้จักมอง รู้จักคิด รู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลายตรงตามสภาวะตามเหตุปัจจัยของมัน เป็นความรู้ความเห็น ความเข้าใจ ที่ได้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระ คือ ในขั้นต้นนี้ ยังเป็นโลกียะ แต่ก็อยู่ในแนวทางของโลกุตรสัมมาทิฏฐิ จะเจริญขึ้นเป็นโลกุตรสัมมาทิฏฐิ ได้ต่อไป

   สัมมาทิฏฐิ อย่างแรก เรียกว่า กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ กัมมัสสกตาญาณ  (ความรู้ภาวะที่บุคคลมีกรรมเป็นของตน หมายถึง ความรู้ที่พอรู้จักแยกว่าอันใดเป็นกรรมของตนหรือมิใช่ นับเป็นความรู้ระดับที่ทำให้รู้จักรับผิดชอบการกระทำของตน) ที่ชาวพุทธไทยมักเรียกว่า “กัมมัสสกตาศรัทธา”    เป็นสัมมาทิฏฐิระดับธรรมจริยา หรือกุศลกรรมบถ เป็นประโยชน์ หรือจุดหมายชีวิตระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ แต่เป็นพื้นฐานของปรมัตถ์ต่อไป

    ส่วนสัมมาทิฏฐิอย่างที่สอง จัดเข้าในระดับวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ  แต่บาลีเรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ   แปลว่า    ญาณคล้อยแก่สัจจะ หรือความรู้ที่เข้าแนวสัจจะ นำไปสู่การตรัสรู้ คือมุ่งตรงต่อปรมัตถ์ต่อไป

    จะเห็นว่า สัมมาทิฏฐิตัวแท้ที่จะให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ก็คือสัมมาทิฏฐิอย่างที่ ๒ ซึ่งเป็นความรู้ที่เข้าแนวสัจจะ

    ชาวพุทธทุกคน   ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่คิดจะเข้าถึงจุดหมายสูงสุด หรือยังไม่คิดก็ตาม  ย่อมไม่ควรหยุดอยู่เพียงสัมมาทิฏฐิข้อแรก ควรจะก้าวต่อไปสู่สัมมาทิฏฐิข้อที่ ๒ ด้วย  โดยพยายามปลูกอบรมพัฒนาปัญญาระดับนี้ ให้มีขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย เพราะสัมมาทิฏฐิดับนี้ จะช่วยบรรเทาความโลภ โกรธ หลง ให้เบาบางลง ทำให้จิตใจปลอดโปร่งผ่องใส รู้จักวางใจวางท่าทีต่อโลกและชีวิตดีขึ้น จะมีความสุขมากขึ้น เป็นวิธีลดการเบียดเบียนแย่งชิงและความทุกข์ความเดือดร้อนของโลก ที่ได้ผลแท้ ยิ่งกว่าวิธียับยั้งบังคับ  หรือ   เหนี่ยวรั้งใจในระดับที่เรียกกันว่าศีลธรรม เป็นผลดีทั้งแก่ตนและแก่สังคม

    เมื่อแยกแยะดูขั้นตอน ตามลำดับของกระบวน จะเห็นว่า การเสวนาสัตบุรุษ หรือความมีกัลยาณมิตร นำไปสู่การได้สดับธรรม คือคำสอนคำแนะนำชี้แจงต่างๆโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง เมื่อธรรม คือ หลักความจริง หรือหลักแห่งความดีงามที่แสดงนั้น เป็นจริง หรือดีงามจริง หรือแสดงได้ดีมีเหตุผล ผู้รับฟังก็เกิดศรัทธา อาจเขียนให้ดูง่าย ดังนี้

233เสวนาสัตบุรุษ   (มีกัลยาณมิตร) => สดับธรรม => ศรัทธา

    ถึงตอนนี้    มาถึงจุดสำคัญอีกจุดหนึ่ง ในกระบวนธรรมแห่งการศึกษา หรือความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม คือ จุดเชื่อมต่อ จากองค์ประกอบภายนอก หรือปัจจัยทางสังคม เข้าสู่องค์ประกอบภายใน หรือปัจจัยภายในตัวบุคคล ตามหลักการนั้น ท่านว่า องค์ประกอบภายนอก หรือปรโตโฆสะ (ในที่นี้ ได้แก่ ความมีกัลยาณมิตร) ล้วนๆ ส่งผลได้ถึงศรัทธา จบลงเพียงแค่โลกียสัมมาทิฏฐิ เท่านั้น  (อุ.อ.135)

    ถ้าได้เพียงเท่านี้   ก็เป็นอันไปไม่ตลอดกระบวนการศึกษา  ไม่ถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา เมื่ออยู่แค่ขั้นศรัทธา   ผู้มีศรัทธานั้น   ก็ยังต้องคอยอิง   ยังขึ้นต่อกัลยาณมิตร   คอยพึ่งอาศัยครูอาจารย์   พฤติกรรมก็ยังอยู่ในลักษณะของการทำตาม   หรือเลียนแบบ ยังไม่รู้ยิ่งเห็นจริงประจักษ์แก่ตน ยังไม่เป็นอิสระหลุดพ้นสิ้นเชิง
 
    ทางแก้ก็คือ ต้องหาทางเชื่อมโยงให้ก้าวเข้าสู่องค์ประกอบภายในหรือปัจจัยภายในตัวบุคคล คือ โยนิโสมนสิการ โดยปลุกโยนิโสมนสิการให้มีขึ้น และมารับช่วงทำงานต่อไป ดังหลักการแสดงไว้ว่า โยนิโสมนสิการ จึงจะสามารถนำไปสู่โลกุตรสัมมาทิฏฐิ บรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา หรือการศึกษาที่แท้ได้

    การเชื่อมโยงเข้าสู่ปัจจัยภายในนี้   ก็อาศัยกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกนี้เอง ช่วยทำให้ได้ และเมื่อว่าตามหลักการแล้ว   ก็ให้ถือเป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตร ที่จะช่วยผู้เรียนให้ปลุกโยนิโสมนสิการของตนขึ้นมาใช้

    กัลยาณมิตร   จึงไม่พึงมีเป้าหมายอยู่เพียงแค่ศรัทธา   แต่พึงใช้ศรัทธาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ตนจุดชนวนโยนิโสมนสิการในตัวผู้เรียนขึ้นได้โดยสะดวก
 
    โดยนัยนี้ กัลยาณมิตรอาศัยศรัทธาเป็นเครื่องเชื่อมโยง แล้วใช้การแสดงธรรม ธรรมที่แสดง หรือวิธีแสดงธรรมนั่นเอง ช่วยให้ผู้ฟังหรือผู้เรียนปลุกโยนิโสมนสิการขึ้น คือให้รู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วยตนเอง โดยมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะ และเหตุปัจจัย
 
    เมื่อโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นแล้ว กระบวนธรรมก็ดำเนินก้าวหน้าต่อไปได้จนถึงที่สุด ระหว่างนี้ กัลยาณมิตร ก็อาจคอยช่วยประคับประคอง ชี้ช่อง หนุนเสริมโยนิโสมนสิการนั้น ด้วยการแสดงธรรมไปเรื่อยๆ
 
   เมื่อพร้อมทั้งปัจจัยภายนอก มาโยงกับปัจจัยภายใน คือ ปรโตโฆสะที่ดี ช่วยหนุนเสริมโยนิโสมนสิการ มนุษย์ปุถุชนที่เป็นเวไนย คือไม่ถึงกับเป็นอัจฉริยะที่จะเริ่มโยนิโสมนสิการขึ้นลำพังตนเอง และไม่ใช่ปทปรมะที่ไม่อาจคิดเองได้ ก็จะสามารถก้าวไปในกระบวนการศึกษา และการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง
 
    อาจพูดกำชับเกี่ยวกับหน้าที่ของกัลยาณมิตรตามหลักพุทธธรรมว่า การที่กัลยาณมิตรมาช่วยเหลือคนผู้หนึ่งผู้ใดนั้น มิใช่เพื่อให้คนผู้นั้นหันมาติดพันขลุกหรือวุ่นอยู่กับกัลยาณมิตรเอง ซึ่งกลายเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้นั้น กับ กัลยาณมิตรไป และอาจมีผลเพียงว่า ให้เชื่ออย่างที่กัลยาณมิตรเชื่อ หรือทำอย่างที่กัลยาณมิตรทำเท่านั้น
 
   กัลยาณมิตรเข้ามา   มิใช่เพื่อให้คนผู้นั้นหันมาสัมพันธ์กับตน   แต่เข้ามาเพียงเพื่อเป็นสื่อช่วยให้คนผู้นั้นสัมพันธ์กับสิ่งที่สาม  คือ โลกและชีวิต หรือสิ่งทั้งหลายที่แวดล้อมตัวเขาอยู่ อย่างถูกต้อง โดยเข้ามาชี้บอกให้เขาหันไปมองสิ่งเหล่านั้น และพิจารณาให้รู้จักมันตามความเป็นจริง จนเขารู้ได้ด้วยตนเอง เขาควรสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้องอย่างไร โดยนัยนี้ กระบวนธรรมจึงต้องเขียนต่อไปอีก  ดังนี้

235เสวนาสัตบุรุษ (มีกัลยาณมิตร) => สดับธรรม => ศรัทธา => โยนิโสมนสิการ

   แต่ในหลักการพัฒนาปัญญา หรือองค์ประกอบที่จะทำให้เป็นโสดาบัน   ท่านไม่กล่าวถึงศรัทธาเลย ทั้งนี้ ท่านอาจถือว่า ในกรณีนั้น ศรัทธาเป็นเพียงองค์ธรรมผ่าน หรือช่วยเชื่อมโยง ไม่ใช่ตัวเน้น จึงข้ามไป 

   กระบวนธรรมดังที่แสดงตามลำดับมา    เมื่อประสานกับหลักการพัฒนาปัญญา หรือองค์ประกอบที่ทำให้เป็นโสดาบันนั้น อาจเขียนได้ ดังนี้
 
227เสวนาสัตบุรุษ (มีกัลยาณมิตร) => สดับธรรม => (ศรัทธา) => โยนิโสมนสิการ => ปฏิบัติธรรมถูกหลัก

    พุทธพจน์ต่อไปนี้    แม้จะมิได้ระบุองค์ประกอบข้อโยนิโสมนสิการ แต่ก็แสดงให้เห็นการทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร ซึ่งให้ความเป็นอิสระแก่ผู้ศึกษา นำไปสู่การรู้เข้าใจประจักษ์ด้วยตนเอง ดังคำสนทนาต่อไปนี้ (ม.ม.13/291/285)
 
    มาคัณฑิยะ   ข้าพเจ้าก็เลื่อมใสต่อท่านพระสมณโคดมอย่างนี้แล้ว   ท่านพระสมณโคดมผู้เจริญ    พอจะช่วยแสดงธรรม    ให้ข้าพเจ้าลุกขึ้นจากอาสนะนี้โดยหายมืดบอดได้ไหม ?

    พระพุทธเจ้า:   ถ้าอย่างนั้น   มาคัณฑิยะ   ท่านพึงคบหาสัตบุรุษทั้งหลาย เพราะเมื่อท่านคบหาสัตบุรุษ ท่านจักได้สดับสัทธรรม     เมื่อท่านได้สดับสัทธรรม   ท่านจักปฏิบัติธรรมถูกหลัก  เมื่อท่านปฏิบัติธรรมถูกหลัก     ท่านก็จักรู้ได้เองเห็นได้เองทีเดียวว่า โรค  (ทางจิต)  ฝีร้าย (ในใจ) ศรที่คอยทิ่มแทงใจ คือ  เหล่านี้ ๆ  โรค   ฝีร้าย  ศรแทงใจ  จะดับไปได้ ณ ที่นี้  คือ เพราะอุปาทานของเรานั้นดับไป   ภพก็ดับ   ฯลฯ   ความโศก   ความคร่ำครวญ  ความทุกข์  โทมนัส  ความคับแค้นใจ ก็จะดับไป   ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล   ก็จะมีได้   ด้วยประการฉะนี้

และอีกแห่งว่า ดังนี้ (ขุ.สุ.25/429/536-7/ ขุ.จู.30/213-222/112-7)
 
    โธตกมาณพ:     ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปัญญาจักษุเห็นรอบด้าน ข้าฯ ขอน้อมนมัสการพระองค์ ข้าแต่พระศากยะ ขอได้โปรดปลดปล่อยข้าพระองค์จากข้อสงสัยทั้งหลายด้วยเถิด

    พระพุทธเจ้า:    ดูกรโธตกะ    เราไม่สามารถปลดปล่อยใครๆในโลก  ผู้ยังมีความสงสัยอยู่ให้พ้นไปได้   แต่เมื่อท่านรู้ชัด ซึ่งธรรมอันประเสริฐ  ท่านก็จะข้ามห้วงกิเลสไปได้เอง
 
   ในเมื่ออิสรภาพของผู้ศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และในเมื่อกัลยาณมิตร ก็ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดแล้ว ก็จะต้องย้ำถึงการทำหน้าที่ของตัวผู้ศึกษาเองบ้าง เพื่อจะได้ใช้อิสรภาพของตนให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด
 
   ดังนั้น   พระพุทธเจ้า   จึงได้ทรงทำหน้าที่อีกด้านหนึ่งของกัลยาณมิตร คือการแนะนำกระตุ้นเตือนให้ผู้ศึกษาทำหน้าที่ของตนให้ดี    ดังมีพุทธพจน์ตรัสสอนเกี่ยวกับการฟังธรรม การสนทนา การปรึกษาสอบถามเป็นอันมาก ตัวอย่าง เช่น
 
   “ภิกษุทั้งหลาย    บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เมื่อฟังธรรม ย่อมเป็นไปได้ที่จะหยังลงสู่นิยาม คือความถูกชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ๕ ประการอะไรบ้าง ? ได้แก่

๑. ไม่นึกหมิ่นเรื่องที่เขาพูด
๒. ไม่นึกหมิ่นผู้พูด
๓. ไม่นึกหมิ่นตนเอง
๔.ใจไม่ฟุ้งซ่าน ฟังธรรม โดยมีจิตหนึ่งเดียว
๕.มนสิการโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ)”       (องฺ.ปญฺจก. 22/151/195    ธรรมชุดเดียวกันนี้   ยังตรัสต่อไป ณ ที่มานี้อีก ๒ หมวด มีข้อแตกต่างคือ มีปัญญา ไม่โง่เง่า ไม่ฟังโดยมีความรู้สึกลบหลู่ ไม่ฟังโดยมีจิตแข่งดี ไม่ฟังโดยคอยจ้องจับผิด มีจิตกระทบกระด้างต่อผู้แสดง ไม่คิดหมายว่าเข้าใจแล้วในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ และทุกหมวด ตรัสธรรมฝ่ายตรงข้ามเป็นคู่ไว้ด้วย ส่วนที่ตรัสไว้ ณ ที่อื่น ก็ยังมีกระจายอยู่เป็นอันมาก)
 
    ธรรมที่ต้องเน้น ณ ที่นี้ คือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นตัวการทำหน้าที่ทางปัญญาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ แต่โยนิโสมนสิการนั้น มิใช่ใช้เฉพาะในการฟังธรรม หรือฟังคำอธิบายเท่านั้น หากเป็นธรรมที่พึงใช้ในการดำเนินชีวิตทุกส่วนทุกเวลา ทั้งในการรับรู้ การเผชิญสถานการณ์ และการสัมพันธ์เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายทุกกรณี
 
    เมื่อกล่าวมาถึงขั้นที่โยนิโสมนสิการเข้ามารับช่วงไปแล้ว ก็เป็นอันก้าวขึ้นสู่ตอนใหม่ ซึ่งโยนิโสมนสิการเป็นเจ้าของบทบาท อันจะต้องแยกไปบรรยายเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากต่อไป
 
   แต่ก่อนจะยุติเรื่อง  ปรโตโฆสะ เห็นควรกล่าวถึง   “ศรัทธา”   ซึ่งเป็นองค์ธรรมสำคัญของตอนนี้ไว้เป็นพิเศษส่วนหนึ่งก่อน    พอให้เห็นว่า    ศรัทธาที่ถูกต้องใช้ประโยชน์ได้ในกระบวนธรรมแห่งความดับทุกข์นั้น เป็นอย่างไร และควรจะปฏิบัติต่อศรัทธานั้นอย่างไร


ต่อ  ศรัทธาข้อข้างบน


Create Date : 21 มิถุนายน 2564
Last Update : 21 มิถุนายน 2564 15:55:38 น. 0 comments
Counter : 221 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 5378236
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ดี
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5378236's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.