Group Blog
 
All blogs
 
*** มารู้จัก อุปาทาน กันเถอะ ***






สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่าน พระสารีบุตรเถระ


ความรู้จักอุปาทาน

พระสารีบุตรเถระแสดงธรรม เรื่อง สัมมาทิฏฐิ

มาจนถึงหมวดแห่งธรรมะที่อาศัยกันเกิดขึ้น

อันโยงกันไปเป็นลูกโซ่

ซึ่งเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

ซึ่งสืบเนื่องมาจากภพ ซึ่งได้แสดงไปแล้ว

โดยที่ ภพ มีขึ้น เพราะมีอุปาทาน

ท่านได้มีเถราธิบายโดยใจความว่า

สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ

ก็คือ รู้จัก อุปาทาน

รู้จักเหตุเกิดแห่งอุปาทาน

ก็คือรู้จักว่าอุปาทานเกิดขึ้นเพราะ ตัณหาเกิดขึ้น

รู้จักความดับแห่งอุปาทาน ก็คือรู้จักว่า ตัณหาดับ

อุปาทานก็ดับ

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน ก็คือ รู้จักว่า มรรคมีองค์ 8 เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน



อุปาทาน คือ ความยึดถือ

รู้จักเหตุแห่งอุปาทาน

รู้จักความดับอุปาทาน

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน

และท่านก็ได้แสดงอธิบายในข้อแรก คือ

รู้จักอุปาทาน จำแนก อุปาทาน ออกเป็น 4 คือ

1. กามุอุปาทาน ความยึดถือกาม

กาม นั้นได้แก่ วัตถุกาม กับ กิเลสกาม

อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักน่าใคร่ทั้งหลาย

ยึดว่านี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตา ตัวตนของเรา

พระอรหันต์ที่ยังดำรงชีวิตอยู่นับแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ก็ได้ทรงเห็นรูปอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู

ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะทางจมูกทางลิ้นทางกาย

รู้คิดเรื่องอะไรทางใจเช่นเดียวกับคนทั้งหลาย

แต่ว่าท่านไม่มีกิเลสกามอยู่ในใจ ที่จะออกไปรักใคร่ปรารถนาพอใจในทุกๆสิ่ง

เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เป็นวัตถุกามของท่าน

เป็นวัตถุเฉยๆ

เพราะท่านละ อุปาทาน คือความยึดถือได้หมดสิ้น

แต่สามัญชนทั้งหลาย ยังมีกิเลสกามอยู่ในใจ

ยังมีความรักใคร่ ความปรารถนาพอใจ

ยังไม่ปล่อยไม่วาง ความรักใครปรารถนาพอใจในวัตถุทั้งหลาย ที่ได้เห็น ได้ยิน เป็นต้น

ทำให้วัตถุนั้นๆ เป็นวัตถุกามขึ้นมา เข้าใจง่ายๆก็คือ

ยึดวัตถุกาม แต่อันที่จริงนั้น ยึดถือกิเลสกามนั่นแหละ

คือ เป็นกามุอุปาทาน คือ ยึดถือกาม

การยึดถือ อธิบายดังนี้

คือยึดถือ ว่านี่เป็นของเรา

เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตา ตัวตนของเรา

ยึดถือเอาเป็นของเราด้วย

เป็นความรักของเรา

ความใคร่ของเรา

ความปรารถนาของเรา

ความพอใจของเรา

ถ้าหากว่า ปล่อยวางตัวกิเลส นี้

ตัววัตถุก็ปล่อยได้ทันที ไม่เป็นที่ยึดติด

ความสำคัญจึงอยู่ที่ความยึด อยู่ที่ตัวกิเลส

ยึดถืออยู่ที่ตัวความรักใคร่ความปรารถนาความพอใจ



2. ทิฏฐุปาทาน ความยึดถือทิฏฐิ

คือความเห็น หมายถึง ความเห็นผิด

แต่ว่ายังยึดอยู่ ก็เพราะว่ายังไม่รู้ว่าเห็นผิด

เมื่อรู้ว่าเห็นผิดเมื่อไหร่ ก็จะละ ความเห็นผิดเมื่อนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ทิฏฐิ

ถ้าเห็นผิด ก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ

ถ้าเห็นถูก เห็นชอบ ก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐิ พระสารีบุตรได้แสดงไว้อีก 3 อย่างคือ

1. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่า ไม่เป็นอันทำ

คือปฏิเสธบุญ ปฏิเสธบาป

ซึ่งความเห็นนี้ เป็นความเห็นผิดหลัก พระพุทธศาสนา

หลักพุทธศาสนา นั้นแสดงว่า การทำของบุคคล เมื่อเจตนาจงใจทำ ที่เป็นบาปก็เป็นบาป ที่เป็นบุญก็เป็นบุญ

คนอื่นจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

บาปก็เป็นบาป บุญก็เป็นบุญ ที่เกิดขึ้น หรือเรียกว่า

กรรมดี กรรรมชั่ว

2. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ

คือเห็นว่า เมื่อได้รับผลดีผลร้ายต่างๆ เห็นว่าเป็นไปตามคราว

คือคราวที่มีโชคดี โชคร้าย หรือ เคราะห์ดีเคราะห์ร้าย

ความเห็นนี้ผิดหลักพุทธศาสนา

หลักพุทธศาสนา นั้นแสดงว่า

ผลย่อมเกิดจากเหตุ ผลดีก็ย่อมเกิดจากเหตุที่ดี

ผลไม่ดีย่อมมาจากเหตุไม่ดี

แม้ว่าตนเองจะไม่สามารถรู้ถึงเหตุของผลนั้นๆ

ผลดีก็เกิดจากกรรมดี

ผลชั่วก็เกิดจากกรรมชั่ว

3. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สมมุติสัจจะ

ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า คติธรรม หรือคลองธรรมตามเหตุและผล

เช่นไม่มีมารดาบิดา สัตว์บุคคลเกิดสืบเชื้อสายกันมาตามเรื่องตามราวเท่านั้น จึงไม่มีใครต้องนับถือบิดามารดา แม้แต่นับถือสมณพารหมณ์ไม่มี ไม่มีภิกษุสามเณร ไม่มีคติธรรม เช่นทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว

ความเห็นเช่นนี้ ผิดหลักพุทธศาสนา

หลักศาสนา สอนให้นับถือสมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ สอนให้เคารพบิดามารดา

กตัญญูต่อบิดามารดา สอนให้ปฏิบัติตามคลองธรรม ให้รับรู้ในคลองธรรม คือทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็จักต้องรับกรรมนั้น

มีความเห็นผิดอีกอย่างหนึ่งคือ

อุจเฉกทิฏฐิ คือมีความเห็นว่าขาดสูญ

เห็นว่ามีตัวตนอยู่ในชาตินี้เท่านั้น เมื่อร่างกายนี้แตกสลาย อัตตาตัวตนก็แตกสลายไปพร้อมกัน

ไม่มีอัตตาตัวตนไปเกิดใหม่

อีกความเห็นผิด คือ สัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าตายเกิด

เกิดกันเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด

ความเห็น ทั้งสองอย่างนี้ ผิดหลัก พุทธศาสนา

หลักศาสนา ไม่สอนว่า ตายเกิดกันเรื่อยไป และไม่สอนว่าตายสูญ ซึ่งเป็นคำสอนที่แสดงตายตัวไปฝ่ายเดียว

พุทธศาสนา สอนจำแนก ตามเหตุและผล

อันเรียกว่า วิภัชวาทะ

กล่าวจำแนกตามเหตุและผล

คือเมื่อมีเหตุให้เกิดก็เกิด

เมื่อสิ้นสุดเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด

ดังเช่นในเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ชรามรณะ มีขึ้น ก็เพราะมีชาติ คือความเกิด ชาติคือความเกิด มีขึ้น เพราะมีภพ ดังนี้

แปลว่า เมื่อยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดก็ต้องเกิด เมื่อสิ้นสุดเหตุปัจจัยให้เกิด ก็ไม่เกิด

คือเมื่อตัดตัณหาได้สิ้นเชิง กิเลสก็หมดไม่เกิด

แต่แม้ไม่เกิด ก็ไม่แสดงว่าสูญ

ถ้าเห็นว่า พระอรหันต์สูญ ก็เรียกว่า เห็นผิดเหมือนกัน


3. สีลัพพตุปาทาน ความยึดถือศีลและพรต หรือศีลและวัตร

ศีล คือข้อที่พึงเว้น มีศีล 5

วัตร ได้แก่การปฏิบัติ หรือข้อที่ควรปฏิบัติเช่น อุปัชฌายวตร อาจารวัตร

ศีลและวัตรมีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

ภายนอกพุทธศาสนา

เช่นศีลและวัตรของผู้บวชเป็นฤษีดาบส เมื่อถือลัทธิบูชาไฟ ก็ทำการบูชาไฟ ก่อกองไฟ

ภายในศาสนา ศีลและวัตร หากทำด้วยความยึดมั่น ทำด้วยกิเลสตัณหา ก็เป็น ลีลัพพตุปาทาน

คือด้วยความยึดมั่นว่า ต้องรักษาไว้ ไม่เช่นนั้นศีล 5 จะขาด เป็นไปตามอำนาจ ตัวเราของเราอย่างแรง เป็นการยึดศีลและวัตรไว้

จึงมีการแสดงว่า พระโสดาบันบุคคล มีศีล 5 เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

และพระโสดาบันนั้นไม่มีที่จะละเมิดศีล5 โดยที่พระโสดาบันไม่ต้องรักษา ไม่ต้องคอยจับ คอยยึด

แปลว่าปล่อยจับ ปล่อยยึด ได้

แต่ก็มีศีล 5 ขึ้นมาเอง

พระโสดาบันจึง ละ สังโยชน์ได้ 3 คือ

1. สักกายทิฏฐิ คือ ยึดถือว่าตัวเราของเราอย่างแรง

2. ลีลัพพตปรามาศ คือความลูบคลำศีลและวัตรเอาไว้

3. วิจิกิจฉา มีความเคลือบแคลงสงสัยในพระรัตนตรัย

พระโสดาบัน ละ สังโยชน์ทั้ง 3 ได้


สำหรับ ลีลัพพตปรามาส นั้นละได้ด้วย โสดาปัตติผล

แต่แม้เช่นนั้น ก็ยังมีลีลัพพตุปาทาน คือความยึดถือศีลและวัตรอย่างละเอียด

เหมือนอย่างพระอานนท์

พระอานนท์ท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านละ ลีลัพพพตปรามาสได้

แต่ว่ายังมีตัณหาที่จะตรัสรู้ ก็ชื่อว่า ยังมี ลีลัพพตุปาทานอยู่

จนท่านวาง จิตของท่านก็วิมุติ หลุดพ้นจากอาสวะทั้งสิ้นทันที

ศีลและวัตร ต้องละเป็นขั้นไป เหมือนคนขึ้นบันได

ก็ต้องขึ้นไปทีละขั้น

ต้องละขั้นที่กำลังยืนอยู่แล้วก้าวไปอีกขั้น

คือ ยึดและปล่อยเป็นขั้นๆ ต้องปล่อย ขั้นที่ 1 จึงจะก้าวไปขั้นที่ 2ได้

แล้วก้าวไปขั้นที่ 3

แปลว่าต้องรับปฏิบัติ คือต้องยึด แล้วก็ปล่อย

แล้วเดินขึ้นไปเป็นขั้นๆจึงจะสูงขึ้นไปโดยลำดับ

จนถึงขั้นสุดท้าย เป็นอันว่าปล่อยได้หมด




4. อัตตวาทุปาทาน ความยึดถือวาทะว่าตน

อัตตา แปลว่าตน

ในทางพุทธศาสนา มี 2 ระดับ

1. พระพุทธเจ้าสอนให้ ตนเป็นที่พึงแห่งตน ฝึกตน

2. พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า มิใช่ตน เช่นขันธ์ 5 เป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา

สำหรับระดับที่สอนให้ฝึกตน เรียกว่าตรัสสอน สมมติสัจจะ

เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นบนแผ่นดิน มีกิ่งก้านใบดอกผล คนก็เรียกว่า ต้นไม้

ต้นไม้ จึงเป็นสิ่งสมมุติ ทุกคนรับรู้ร่วมกัน

เป็นสัตว์ก็เรียก ชื่อกันว่า ม้า ว่า ช้าง

บุคคลรับรู้ร่วมกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

ก็ต้องใช้ภาษาที่พูดเรียกสิ่งนั้นสิ่งนี้

ก็เป็นไปตาม สมมติบัญญัติโลก

เรียกว่า สมมุตสัจจะ


ความยึดถือ วาทะว่า ตน มาจากสมมุติบัญญัติ ก็กลายเป็นอุปาทานไป


และได้สอนให้รู้จักสัจจะอีกระดับหนึ่งคือ ปรมัตถสัจจะ

คือสัจจะความจริงที่เป็นอย่างยิ่ง

คือ ตรัสสอนให้ พิจารณาว่า

สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจังไม่เที่ยง

สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ต้องปวนแปรไป

และสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

ทั้ง วิสังขาร คือสิ่งที่ไม่ผสมปรุงแต่ง อันได้แก่ นิพพาน

และแม้แต่ธรรมะ อันเป็นส่วนที่ไม่ผสมปรุงแต่งอื่นๆ

คือทั้ง สังขาร และ ทั้ง วิสังขาร มิใช่ อัตตา ตัวตน ให้กำหนดรู้ดังนี้







Create Date : 01 ธันวาคม 2549
Last Update : 4 ธันวาคม 2552 16:05:53 น. 0 comments
Counter : 624 Pageviews.

รักดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




นามแฝง ชื่อ รักดี

ชอบดอกไม้ รักหมา

ไม่รังเกียจแมว

ไม่อาลัยในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว

อยู่กับปัจจุบัน

และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

ไม่กังวลหรือเป็นทุกข์

กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง












Friends' blogs
[Add รักดี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.