ฐานะ ๕ ที่ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ
🌷 ฐานะ ๕ ที่ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ วันอังคารที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ (๒) ปีฉลู และยังตรงกับวันปีใหม่ของชาวจีนด้วย เจริญสุขสวัสดี วันนี้อาตมาภาพได้ฟังธรรมบรรยายของอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่มีผู้คนนับหน้าถือตาเป็นจำนวนมาก แล้วรู้สึกว่าลำบากใจอย่างมากที่ได้เห็นท่าน ยกเอาสัมมาสมาธิ ที่เป็น ๑ ในอริยมรรค และยังเป็นใหญ่เป็นประธานของอริยมรรคมีองค์ ๘ อีกด้วย ไปให้กับพราหมณ์ โดยเปรียบเอาสัมมาสมาธิเป็นเพียงรูปฌาณ อรูปฌานเท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงนิพพานได้ ถ้ารูปฌาน อรูปฌานแล้วนั้นใช่ ไม่สามารถเข้าถึงนิพพานได้ ส่วนสัมมาสมาธินั้น เข้าถึงอมตะ หรือพระนิพพานได้อย่างแน่นอน จากนี้เป็นเวลาที่เรามาสงบจิตสงบใจ โดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อเป็นการสร้างสติให้เกิดขึ้นมีขึ้น แล้วเอามาแนบกายไว้อย่างต่อเนื่อง เมื่อมาถึงแล้วก็ให้นั่งสบายๆ ผ่อนคลายจิตใจของตน ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ปล่อยวางเรื่องราวต่างๆ ออกไป เรื่องที่ได้ผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไปแล้ว เรื่องที่ยังไม่มาถึงก็คงยังมาไม่ถึง เราทำปัจจุบัน ปัจจุบันธรรมให้ดี เพราะการภาวนานั้น เป็นการสร้างสติให้เกิดขึ้นที่จิต ก็ยังดีที่เรามาภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญา และขอให้การมาภาวนาในครั้งนี้ อย่าเป็นการหายใจทิ้งเปล่าเลย คำว่า หายใจทิ้งเปล่า นี้ หมายถึง ขณะที่เราภาวนาอยู่ในองค์ภาวนา ปากก็ภาวนาไปเรื่อย แต่ใจไปอยู่ที่ไหนแล้ว มารู้อีกทีไปอยู่กับเรื่องภายนอก ขณะที่นั่งอยู่ กว่าจะระลึกรู้ได้ ก็ไปไกลแล้ว จะดึงจิตกลับมาอีกที อ้าว หมดเวลาเสียแล้ว ฉะนั้น การภาวนาถ้าจะให้ดีและได้ประโยชน์จริงๆ ควรจะให้มีคุณภาพ คือ ความตั้งใจในการภาวนา การหัดภาวนาใหม่ๆ นั้น จะให้ได้ผลเลยไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากบุคคลที่เคยมีของเก่า (บารมี) มาก่อนเท่านั้น ถึงไม่มีบารมีเก่ามาก่อนก็จริง ขอให้ภาวนาไปเถอะ ได้มากบ้างน้อยบ้าง ก็ยังดีเป็นธรรมดา คือได้บ้างเสียบ้าง จิตหลุดออกไปเที่ยวบ้าง ออกไปนอกกายบ้าง ดึงจิตกลับมาได้บ้าง เราก็เพียรประคองจิต ดึงจิตให้กลับมาอยู่ที่องค์ภาวนาหรือที่กายของเรา อย่าให้แลบหนีออกไปได้ แต่บอกได้อย่างหนึ่งว่า การมาภาวนานั้น ไม่มีการเสียเปล่า เราภาวนาได้ส่วนนึง ก็ให้ผลในส่วนนั้น เช่น เป็นคนมักโกรธ (โกรธง่าย) โลภ หลง ก็จะโกรธ โลภ หลง น้อยลง ถ้าเพียรภาวนาจนกระทั่งได้เต็มส่วน ก็รับส่วนของอริยบุคคลไป บอกได้เลยว่า ความเพียรประคองจิตของตนให้ลงมือปฏิบัติภาวนา ที่ทำไปนั้น ไม่เป็นหมันเลย คำว่า เพียรประคอง นี้หมายถึง เราคอยระลึกรู้อยู่ว่า เราถือน้ำเต็มแก้ว ประคองด้วย ๒ มือ ค่อยๆ เดิน เพื่อไม่ให้น้ำในแก้วกระฉอกหรือหกออกมา เราจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องมีสติระลึกรู้อยู่ตรงหน้า ไม่ให้วอกแวก ว่าเรากำลังประคองแก้ว ซึ่งมีน้ำเต็มเปี่ยมอยู่ ถ้าเราเผอเรอไปเพียงนิด น้ำก็กระฉอกออกมาได้ ก็เหมือนกับเราที่ภาวนาอยู่ ถ้าเรามีสติคอยระลึกรู้อยู่ที่องค์ภาวนา อยู่ที่ลมหายใจเข้าก็รู้ ออกก็รู้ เพียรประคองให้จิตระลึกรู้อยู่ตรงนั้นให้คงที่ อย่าปล่อยให้จิตแลบหนีออกไปสู่อารมณ์อันอื่น ทั้งภายในและภายนอก ก็จะทำให้การปฏิบัติภาวนาในครั้งนั้นมีคุณภาพที่ดี และควรจดจำไว้ด้วยว่า เราวางจิตยังไง จึงทำให้จิตเป็นสมาธิได้เร็ว เพื่อใช้ในครั้งต่อๆ ไปที่ทำสมาธิ ต้องกระทำให้มาก เจริญให้มาก จึงจักเกิดความคล่องแคล่ว ในการเข้าออกสมาธินั่นเอง เพียงดีดนิ้วมือเดียว จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิได้แล้ว ฉะนั้น ควรต้องหมั่นฝึกหัดเอาสติมาแนบกาย (จิตอยู่ที่ไหน สติก็อยู่ที่นั่น) ทุกครั้งที่มีโอกาส ในคนเราทุกคน เราเรียกว่า สรีรยนต์ สรีรยนต์คือร่างกายที่มีจิตครองอยู่ เปรียบเหมือนเครื่องยนต์กลไก แต่เป็นเครื่องยนต์กลไกที่มีชีวิตจิตใจ สรีรยนต์นี้ก็เหมือนกับรถยนต์ที่มีคนขับคอยควบคุมอยู่ แต่รถยนต์นั้น เราต้องใช้เงินหาซื้อมา ยิ่งมีเงินมากเราก็จะหาซื้อรุ่นที่มีคุณภาพมากขึ้น ต่างกับสรีรยนต์ของแต่ละคน ซึ่งได้มาด้วยบุปบาปที่เคยทำไว้ ได้มาด้วยผลของวิบาก เราทำกิเลส กรรมอะไรไว้ ก็จะส่งผลเป็นวิบากให้เรามาครอบครองสรีรยนต์ลักษณะนั้นคือร่างกายนี้ ในร่างกายนี้มีธาตุรู้ หรือที่เรียกว่า จิต เป็นธาตุรู้ที่ทรงไว้ซึ่งความรู้อยู่ทุกกาลสมัย เหมือนกับรถยนต์ที่เราซื้อมา เราเป็นคนขับ เรารู้อยู่ตลอดเวลาที่คอยควบคุมรถยนต์ เหมือนกับจิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ ก็รู้อยู่ตลอดเวลาที่คอยควบคุมสรีรยนต์นี้เช่นกัน ต่างกันตรง รถยนต์เป็นวัตถุ แต่สรีรยนต์นั้นเป็นเลือดเนื้อจับต้องได้ จิตได้อาศัยอยู่ จนคุ้นชินกับร่างกายนี้ จนคิดว่า รูปร่างกายนี้ หรือสรีรยนต์นี้เป็นตน เป็นของๆ ตน เป็นของกู เป็นตัวกู ซึ่งเทียบกับรถยนต์แล้ว รถยนต์ที่เรายังควบคุมอยู่ ถ้าเราทำใจได้เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับรถยนต์ ก็เป็นเพียงแค่วัตถุ ที่เราซื้อมา พอถึงเวลา มันก็แปรสภาพไป แต่สรีรยนต์ที่เราอาศัยอยู่นี้ เราอยู่กับมันโดยยึดติดกับมันอย่างเหนียวแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน ดังพระบาลีว่าไว้ว่า “อตฺตา นาม จิตฺตํ สกโล วา อตฺตภาโว” จิตได้ชื่อว่าเป็นตน แต่ได้ยึดเอาสกลกาย สรีรยนต์นี้มาเป็นตนเข้าไปด้วย เพราะไปยึดเอารูปร่างกายนี้มาเป็นตน ด้วยความหลงผิดว่า ร่างกายนี้จะไม่เจ็บป่วย ไม่แก่ ไม่ตาย อยู่กับเราตลอดไป เป็นความเข้าใจผิดจากความเป็นจริงนั่นเอง ฉะนั้น เราจะสังเกตได้ว่า เมื่อมีอะไรเกิดกับร่างกายนี้ พอกระทบถูก จะเกิดความรู้สึกเป็นตัวกู ของกู ขึ้นมาทันที ในการตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบนั้น เพราะเรามีความยึดมั่นถือมั่น เพราะเรามีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก มีอุปาทานเป็นเครื่องจูง จูงจิตซึ่งอาศัยอยู่ในสรีรยนต์ ถ้าเรามารู้จักแล้วว่า ร่างกายนี้ มีรูป ๑ นามขันธ์ ๔ ที่เราเรียกว่า ขันธ์ ๕ เพราะขณะที่ขับรถอยู่ เราควบคุมให้ไปซ้ายไปขวาไปหน้าถอยหลังอยู่นั้น ก็ทำตามความต้องการของคนขับที่ควบคุมอยู่เช่นกัน เราก็มีความยึดมั่นถือมั่นในรูปร่างกายนี้ เมื่อเกิดความเย็นร้อนอ่อนแข็ง เราก็เกิดเวทนา เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เกิดเวทนา เวทนานี้เราเรียกว่าอาการของจิตที่แสดงออกโดยผ่านทางร่างกายให้คนรับรู้ได้ เมื่อเกิดเวทนาแล้ว ก็เกิดสัญญา จำได้หมายรู้ ก็เก็บเอาอาการของจิตที่เคยรับรู้เข้ามาทางอายตนะ รับรู้เรื่องราวต่างๆ เข้ามาทางร่างกาย ก็จดจำไว้ จดจำแล้วก็เก็บไว้เป็นอารมณ์ ถ้าที่ชอบ ที่รัก ที่น่าใคร่ ที่น่าหลงไหล เราก็ยึดเอาไว้ ส่วนที่ไม่น่ารัก ไม่ชอบ น่าชังเป็นความเลวร้ายทั้งหลาย เราก็ปฏิเสธผลักไสออกไป แต่ปฏิเสธก็ยังจดจำไว้ สัญญาก็ยังจดจำว่าอารมณ์นี้ไม่ชอบ สัญญา เรื่องที่เราจดจำได้ ทุกครั้งที่เกิดเรื่องขึ้นมา สังขารของเราจะรับช่วงนำเอาเรื่องต่างๆ เหล่านั้น ที่ถูกเก็บในรูปของธัมมารมณ์ซึ่งเป็นเรื่องเก่า มาผสมกับของใหม่ที่เจอกันเข้าพอดี มาบวกลบคูณหารรวมกันเข้าไปทุกอย่าง ปรุงแต่งให้มีรสชาดตามใจที่เราชอบหรือชัง ถ้ายิ่งรักยิ่งปรุงแต่งก็ยิ่งหลงไหล ถ้ายิ่งชังยิ่งปรุงแต่งก็ยิ่งโกรธเกลียดเข้าไปอย่างลึกซึ้ง ก็เพราะมีสังขารคอยปรุงแต่ง เหมือนกุ๊กคอยปรุงแต่งรสชาดอาหาร เมื่อปรุงรสชาดอาหารจนเป็นที่พอใจแล้ว เราก็จะแจ้งในอารมณ์นั้นๆ ถูกเก็บในรูปของวิญญาณ วิญญาณ คือ ความรับรู้ แจ้งในอารมณ์นั้นๆ โดยเฉพาะอารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาทางไหน ก็ทางอายตนะ อายตนะหมายถึงช่องทางในการรับอารมณ์ ซึ่งช่องทางมีทั้งอายตนะภายนอกและอายตนะภายใน พออารมณ์มากระทบก็เกิดผัสสะ เพราะแจ้งในอารมณ์ (วิญญาณ) นั้นๆ พอเกิดผัสสะด้วยการแจ้งในอารมณ์นั้นๆ ก็รู้ว่าชอบ ไม่ชอบ รัก ไม่รัก คือมีการ ตาเห็นรูป เกิดผัสสะ ก็แจ้งในอารมณ์ว่าชอบ ไม่ชอบ รัก ไม่รัก จากนั้นก็เกิดเวทนาขึ้นมา สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ยิ่งโดยเฉพาะปัจจุบัน เมื่อเราหลงไหลในอารมณ์ ยิ่งอารมณ์ที่น่ารักใคร่ ก็ไปหลงรักยึดติดในอารมณ์นั้น ส่วนอารมณ์ที่น่าชิงชังก็ไปเกลียดชังผลักไสในอารมณ์นั้น เราก็จะเก็บเอาอารมณ์เหล่านี้ ที่ผ่านเข้ามา คือ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกรับกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายสัมผัส เข้ามาทางช่องทาง ๕ ทาง แล้วถูกเก็บในรูปของธัมมารมณ์ ถูกเก็บไว้ที่ไหน ก็ที่ใจของตนเอง ฉะนั้น เมื่อเรามาเรียนรู้แล้วว่า สรีรยนต์ซึ่งมีจิตครองอยู่ของแต่ละคนนั้น ก็มีการสั่งสมบุญบารมีมามากน้อยแตกต่างกันไป หรือเสบียงบุญบ้าง บางคนก็สร้างแต่เสบียงบาปเก็บไว้ เมื่อได้สั่งสมเสบียงบุญเสบียงบาปของแต่ละคน นับภพนับชาติยาวนานนับไม่ถ้วน ตามที่พระบาลีกล่าวไว้ว่า “อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สงฺสาโร ปุพฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ แปลว่า จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้ มีอยู่ก่อนนานมาแล้ว ผู้มีปัญญาตามรู้ไม่ได้ ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะไปสิ้นสุดเอาตอนไหน” นี่กล่าวถึงความนานของจิตที่เราสั่งสมเสบียงบุญเสบียงบาปจนเป็นวิบาก ส่งให้เรามาอยู่ในรูปร่างกายหรือสรีรยนต์นี้ แต่ขอให้ภูมิใจและดีใจที่ว่า ในการที่เรามีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นั้นไม่ใช่ของง่าย เป็นของยากมาก ในพระสูตรมีการเปรียบเทียบไว้ เหมือนกับเต่าทะเลที่ตาบอด ซึ่งอยู่ในทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ร้อยปีครั้งจะขึ้นมาหายใจทีนึง การได้ขึ้นมาหายใจในแต่ละครั้งนั้น จะต้องเอาคอรอดแอกให้ได้ ในการขึ้นมาหายใจ แอกจะมีขนาดเฉพาะรอบคอของเต่าเท่านั้น ฉะนั้นโอกาสที่จะรอดขึ้นมาหายใจ แล้วรอดแอกนั้นได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราจงภูมิใจ เพราะว่าถ้าไม่มีร่างกายนี้ เราก็จะไม่มีสรีรยนต์หรือพาหนะ อันเป็นเครื่องมือที่จะพาเราไปสร้างบุญ สร้างกุศล สร้างบารมี หรือมานั่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพราะว่าเรายังได้อาศัยร่างกายนี้ และการมีร่างกายนี้ ก็ได้สร้างอานิสงส์ผลบุญขึ้นมาได้ เฉพาะมีขันธ์ ๕ นี้เท่านั้น จึงจะสามารถหาทางหลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลาย คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ได้ แม้แต่เทวดา พรหมทั้งหลาย ซึ่งมีนามขันธ์ เท่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติธรรมที่จะเพียรเพ่งภาวนาอย่างเรา เพื่อจะหลุดพ้นได้ เพราะไม่มีรูปขันธ์ ซึ่งสรีรยนต์นี้ จึงจะมองเห็นทุกข์ได้อย่างชัดเจน เพราะเทวดา ที่ไปเกิดเป็นเทวดาเพราะอะไร เพราะสัญญา เป็นนามขันธ์ ไปสู่สุขคติที่เสวยสุข พอนานวันไปสุขนั้นก็จะค่อยจืดจางลง แล้วก็ต้องเวียนว่ายกลับมาสู่กามภพอีกเช่นเดิม การเวียนกลับมาสู่กามภพ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นบุญมหาศาล แต่ถ้าเกิดว่าเกิดมีกิเลส กรรมที่ได้เคยทำไว้ ที่ได้เคยก่อไว้เป็นวิบากที่ไม่ดี ก็ต้องเกิดมาเป็นสัตว์ชั้นต่ำบ้าง เกิดมาเป็นเดรัจฉาน เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นยักษ์ เกิดเป็นอะไรก็ตาม ซึ่งจะอยู่ในภูมิที่ต่ำๆ ฉะนั้น เมื่อเราเพียรเพ่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เราต้องจำไว้ว่า ฐานะ ๕ ในพระสูตร บอกว่า ฐานะ ๕ ซึ่งควรจะพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ นั้น มีอะไรบ้าง ๑. พิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ถึงความแก่ อันสัตว์โลกทุกนามไม่อาจล่วงพ้นจากความแก่ชราไปได้ ที่บาลีว่า ชะราปิ ทุกฺขา ส่วนใหญ่ที่เราไม่นำมาพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ เพราะคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว อย่ามาพูดนะว่าฉันแก่ ฉันยังไม่แก่ เพราะอะไร จริงๆ แล้ว ความแก่ เกิดขึ้นกับเราทุกๆ วัน และค่อยๆ เกิดขึ้นตามกาลเวลา ซึ่งกาลเวลาก็เหมือนตัวที่ค่อยๆ เขมือบอายุขัยของเราไปวันละเล็กวันละน้อย เราก็เพลินยิ่งมัวเมาอยู่ในอารมณ์ (ตัตระ ตัตราภินันทินี) ทางโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอยู่ในโลก ไม่ต้องพูดถึงความชราเลย แทบจะลืมเลือนความชราไปได้ จะมารู้สึกตัวว่าแก่ ก็ตอนที่ไม่สามารถที่จะปิดบังความแก่ของตนได้อีกแล้ว เพราะมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาไม่มีใครที่จะสามารถก้าวพ้นเรื่องนี้ไปได้ ๒. ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีใครสามารถล่วงพ้นไปได้ (พยาธิธัมโมมหิ) บางคนคิดไปว่า ฉันไม่เห็นเป็นไรเลย ไม่เคยเข้าโรงพยาบาล คุณน่ะโชคดี คุณได้สร้างบุญหรือกุศลมาดี คุณเลยไม่มีความป่วยไข้มาเป็นเครื่องบั่นทอน เป็นขันธมาร ที่จะคอยทำให้เกิดความกังวลยุ่งยากใจ ก็ถือว่าเป็นความโชคดี แต่บางคนเกิดมาแล้วก็ต้องทนทุกข์อยู่กับความเจ็บไข้ได้ป่วย ออดๆ แอดๆ มาตลอดทั้งชีวิต ไม่มีใครสามารถล่วงพ้นไปได้ แม้แต่พระพุทธองค์เอง พระพุทธองค์ก็ทรงเคยประชวรเช่นเดียวกัน ๓. ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ถึงมะระฌัมปิ ทุกฺขัง ให้พิจารณาถึงความตายว่าไม่มีใครล่วงพ้นไปได้ คนหนุ่มสาวมักจะมัวเมาอยู่กับวัยของตน ไม่เคยน้อมจิตมาระลึกนึกถึงความตายด้วยความประมาท นอกจากบางครั้งบางคราวเท่านั้นเอง บางครั้งบางคราวที่ไปเจอเหตุการณ์ หรือญาติสนิทมิตรสหายพ่อแม่พี่น้องได้เสียชีวิตลงไป ก็จะกระตุ้นให้เกิดคิดถึงความตายขึ้นมาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่เพราะความที่ยังประมาทอยู่ ก็จะค่อยๆ ลืมเลือนไป พอผ่านช่วงเศร้าโศกหรือช่วงตกใจไปแล้ว ก็จะลืม ลืมความตายซึ่งเคยประสบพบมาเฉพาะหน้า ยิ่งเรื่องความตายด้วยแล้ว พระองค์ทรงเน้นเลย เคยถามพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอระลึกถึงความตายวันละกี่หน พระอานนท์ทูลตอบว่า ๗ หนพระเจ้าค่ะ โอ้ พระอานนท์ เธอยังประมาท เธอยังเป็นผู้ประมาทอยู่ เธอควรระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก นี่ถึงเรียกว่าความไม่ประมาท ที่พระพุทธองค์ทรงเคยกล่าวไว้ อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี่คือความไม่ประมาทอันแท้จริง ๔. ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ถึงอะไร ถึงความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์ (ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกฺโข) คือ ความพลัดพรากจากของที่รักที่พอใจ เพราะเราคิดว่า สิ่งที่เรารักเราชอบนั้น ต้องอยู่กับเราไปนานๆ อยู่กับเราไปตลอด เราไม่เคยนึกเฉลียวใจว่าสิ่งต่างๆ ล้วนมีการพลัดพรากจากกันไปเป็นธรรมดา ไม่สามารถที่จะอยู่คงที่ถาวรตลอดไปได้ ถึงได้มีการกล่าวไว้ใน อนัตตลักขณสูตร ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งนั้นมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เราจะเห็นว่าทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่ามันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่เราก็ไม่เคยน้อมนำพระธรรมคำสั่งสอนเหล่านั้น มาคอยเตือนสติให้คอยระลึกถึงสิ่งต่างๆ เช่นที่พูดมาแล้ว คือ ความชรา คนเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของหวงของตน ๕. ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ว่า เราทุกๆ คน มีกรรมเป็นของๆ ตน กมฺมสฺสกา ถ้าเราพิจารณาให้ดีๆ แล้วเนี่ย ที่เกิดมาเป็นคนได้ ก็เพราะมีบุญนำพาให้มาเกิด แต่ทำไมถึงได้ต่างบุญต่างกรรมต่างวาระกันมากนัก เพราะกรรมเฉพาะตนที่เราได้เคยประพฤติปฏิบัติเอาไว้ ได้ทำไว้ ได้สร้างไว้ ได้ก่อไว้ ได้ทำให้สำเร็จลุล่วงไปจนสำเร็จเป็นผลออกมา กรรมพวกนั้นที่เราได้เคยสะสมมาทุกภพทุกชาติ โดยที่เราเองก็ไม่รู้และจำไม่ได้ นอกจากเราจะมีการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา จนทำให้จิตมีความสงบตั้งมั่น หวนระลึกถึงกรรมเก่าๆ กรรมครั้งก่อนๆ ของเราขึ้นมาได้ เพราะเรามีกรรมเป็นของๆ ตน เราถึงต้องมาจำเพาะเกิดในสถานะเช่นนี้ มีกรรมเป็นทายาท กมฺมทายาโท เรามีกรรมเป็นของตน เราต้องใช้กรรมนั้น เพราะกรรมเหล่านั้นเปรียบเหมือนกับมรดกที่ทายาทต้องรับ เป็นธรรมดาที่ทายาทต้องรับมรดกของบิดามารดา เช่นเดียวกัน เราต้องรับมรดกกรรมในสิ่งที่เราได้ก่อไว้ ไม่อาจหลีกหนีไปได้ ถ้าใครมาบอกว่าสามารถตัดกรรม ลบกรรม เพิ่มกรรม ที่เราเคยก่อไว้ได้ ขอให้จำไว้เลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะกรรมเหล่านั้น เราต้องเป็นผู้เพิ่ม เป็นผู้ลด เป็นผู้ตัดด้วยตนเอง จากการลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจัง คือ ภาวนาสัมมาสมาธินั่นเอง ซึ่งมีตรัสไว้ว่า สัมมาสมาธิสามารถตัดกรรมได้ คำว่า ตัดกรรม ในที่นี้หมายถึง ตัดกรรมที่จะมีเข้ามาในปัจจุบันที่กระทำอยู่จนไปถึงกาลข้างหน้า ในเมื่อไม่ทำกรรมใหม่แล้ว เหลือแต่กรรมเก่าที่จะต้องชดใช้ ตัดกรรมใหม่ ต้องชดใช้กรรมเก่า แต่สัมมาสมาธิที่ว่าตัดกรรม คือ ตัดกรรมซึ่งเป็นกรรมเก่า บางครั้งกรรมเก่าที่เราได้เคยทำไว้ มีหนักบ้างเบาบ้างไม่เท่ากันมาถึง ก็ด้วยความเขลาในอดีต แต่ถ้าเราสามารถปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา จนจิตของเราตั้งมั่นข้ามไปสู่อริยโคตรได้ การกระทำของเราทุกอย่างจะทำไปด้วยความสุจริตเที่ยงตรงคงที่ เมื่อกรรมเก่ามาถึง เราน้อมรับด้วยความเต็มใจ กรรมที่เข้ามานั้น จากหนักก็กลายเป็นเบาได้ เหมือนกับเกลือที่เค็ม เราไม่สามารถที่จะทำให้เกลือหายเค็มได้ นอกจากทำให้ความเค็มนั้นจืดจางลงไปด้วยความใสสะอาดของน้ำใจ เพิ่มเข้าไปนั่นเอง ซึ่งอยู่ในฐานะที่เป็นไปได้ ฉะนั้น คำว่า ตัดกรรมในทางพุทธของเรา ตัดกรรมใหม่ แต่ต้องชดใช้กรรมเก่า กมฺมโยนิ มีกรรมเป็นกำเนิด เราทุกคนเกิดจากกรรม ให้อยู่ในสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายหรือที่ไม่ดี แต่ทำไมบุคคลนั้นกลับมีชีวิตที่ดีได้ มีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองล่ะ ที่เค้ามาเกิด เพราะกรรมที่ส่งมา กรรมตอนที่จะเสียชีวิตนั้นส่งมา ถึงเวลานั้นจิตจะเศร้าหมอง ดังพระพุทธพจน์ตรัสว่า “จิตฺตสงฺกิเลสา ภิกฺขเว สตฺตา สงฺกิลิสฺสนฺติ จิตฺตโวทานา สตฺตา วิสุชฺฌนฺติ ตสฺมา ตีห ภิกฺขเว อภิกฺขณํ สกํ จิตฺตํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ ทีฆรตฺตมิทํ จิตฺตํ สงฺกิลิฏฺฐํ ราเคน โทเสน โมเหนาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์จะเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์จะผ่องแผ้ว ก็เพราะจิตบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงหมั่นพิจารณาตนเองบ่อยๆ เนืองๆ ว่า จิตเศร้าหมองเพราะราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำอยู่ ทำให้จิตเศร้าหมองไปตลอดกาลนาน” ตอนที่ตาย จิตเศร้าหมอง แต่ด้วยมีกรรมเป็นกำเนิด ซึ่งเป็นกรรมที่ดีที่ได้ทำไว้ในอดีต ก็ส่งให้ตนสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนได้ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กมฺมพนฺธุ เราแต่ละคนมีกันหลายชาติหลายภาษา ถิ่นที่อยู่ แต่ละคนที่เกิดมา ในที่ที่ต่างกัน เพราะเรามีเผ่าพันธุ์ มีสายบุญสายกรรม ที่ทำให้เรามาเกิดในที่ต่างๆ กัน มีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย กมฺมปฏิสรโณ บางคนเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำไม เพราะเค้าได้สร้างกรรมดีๆ ไว้กับสาธารณชน ชุมชน เพื่อสังคมทั้งหลาย เพราะเคยทำกรรมอย่างนี้ไว้ ย่อมได้มาเกิดในที่ที่ดี มีความปลอดภัย บางคนไปเกิดในที่ที่มีแต่สงคราม การเหยียดผิว มีแต่ความโหดร้าย มีแต่ความอดอยากยากแค้น นี่ล่ะมีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย ทั้งหมดนี้ เราควรนำมาพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ เราไม่สามารถก้าวล่วงไปได้ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวตน แล้วเราอาศัยการกระทำกรรมอะไรที่มาแก้กรรมเหล่านี้ได้ ศาสนาพุทธก็มีวิธีการแก้กรรม แต่การแก้กรรมไม่ใช่การทำพิธีกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ทุกวันนี้ เช่น ใช้คาถาอาคม เสกเป่าน้ำมนต์ การสะเดาะเคราะห์ การบวงสรวง อีกมากมาย การแก้กรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น ต้องแก้โดยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม วันตรุษจีน ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ พระสัทธรรมปฏิรูป
🌷 พระสัทธรรมปฏิรูป วันอังคารที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนยี่ (๒) ปีฉลู เจริญสุข สวัสดี วันนี้คงหนีไม่พ้นที่จะต้องมาพูดถึง ความลดน้อยด้อยค่าของพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งนับวันก็ยิ่งปรากฏเด่นชัดขึ้น พวกเราเหล่าพุทธบริษัท ควรต้องช่วยกันจรรโลงให้หลักธรรมแท้ของพระพุทธศาสนา ยังคงอยู่กับเราตลอดไป อย่าให้สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นเร็วนัก เรื่องพระสัทธรรมปฏิรูปนั้น มีมานานแล้ว ปัจจุบันปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเหตุจากความเชื่อ ความศรัทธา ที่เชื่อศรัทธาตามๆ กันมาโดยขาดหลักเหตุผล แทบจะกล่าวได้ว่า เดี๋ยวนี้ชาวพุทธเราหลงงมงายกันมากยิ่งขึ้น โดยการจับฉวยเอาศีลและวัตร ผิดจากความมุ่งหมายที่ถูกต้อง คือ การติดแน่น ยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเคยเชื่อ เคยประพฤติปฏิบัติกันมา ด้วยความเข้าใจผิด ส่วนมากเกี่ยวข้องกับลัทธิประเพณีที่ได้ฟังตามๆ กันมา (มา อนุสฺสเวน) หรือเป็นของสืบต่อๆ กันมา (มา ปรมฺปราย) เช่น การเชื่อพิธีไสยศาสตร์ พิธีบวงสรวง อีกมากมาย อันจัดเป็นสีลัพพตปรามาสโดยไม่ต้องสงสัย แม้ในเรื่องของพระพุทธศาสนาเอง ถ้าบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจผิดว่าจะเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์ เกิดฤทธิ์อำนาจมาคุ้มครองเราได้ อย่างนี้ก็เป็นการประพฤติปฏิบัติโดยหวังผลผิดทาง และไร้เหตุผลอยู่นั่น ไม่มีการนำมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริงเป็นอัศจรรย์ ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์ คือแสดงฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ และอาเทสนาปาฏิหาริย์ คือ ทายใจ รอบรู้กระบวนของใจ จนสามารถกำหนดอาการที่หมายเล็กน้อย แล้วบอกสภาพจิต ความคิด อุปนิสัยได้ถูกต้องเป็นอัศจรรย์ ใน ๓ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์ แต่ทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าเป็นเยี่ยม มีการปรารภเรื่องพระสัทธรรมที่จะเลือนหายไปนี้ ไว้ล่วงหน้า แต่ครั้งพุทธกาล ที่พระมหากัสสปะได้ทูลถามพระพุทธองค์ และมีพระพุทธวจนะทำนายไว้ ดังนี้ กัสสปะ เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ คือ เมื่อเหล่าสัตว์ (ผู้ติดข้องในอารมณ์) เสื่อมทรามลง สัทธรรมเสื่อมถอย สิกขาบทมีมากขึ้น (เพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นในภายหลัง) ภิกษุสำเร็จอรหันต์จึงมีน้อยลง เพราะสัทธรรมปฏิรูป (คำสอนแปลกปลอม) ยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป ต่อเมื่อใดสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นสัทธรรมจึงจะเลือนหายไป พระบรมศาสดาก็ได้แสดงมูลเหตุและได้ทรงเน้นย้ำว่า การมีผู้นำเอาคำสั่งสอนนอกพุทธศาสนามาอ้างอิงว่า เป็นคำสั่งสอนของพระองค์ เป็นมูลเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คุณค่าของพระศาสนาลดน้อยด้อยค่าลง จากพระพุทธพจน์ดังกล่าว ก็แสดงให้เห็นขึ้นมาได้อย่างชัดเจนว่า ปัจจุบันนี้พระสัทธรรมได้ลดน้อยด้อยค่าลงมาโดยลำดับ อาตมาภาพเองก็ได้ตั้งใจศึกษาคำสั่งสอนที่มีอยู่นั้น แล้วสมาทาน น้อมนำเอามาประพฤติปฏิบัติบ้าง น้อมนำมาพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) บ้าง จากคำสอนที่มีหลากหลายมากมาย ของพระภิกษุที่อ้างว่าเป็นสายปฏิบัติ ของภิกษุที่เป็นมหาเปรียญ ของพระที่มีสมณะศักดิ์ ของบุคคลทั่วไปที่มีลูกศิษย์ลูกหา ที่โฆษณาแต่งตั้งตัวเองเป็นอริยะ นำมาเอาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยที่มีมาในขั้นต้นแล้ว ถ้าลงกันได้ก็ดี ส่วนที่ลงกันไม่ได้นั้น พอรวบรวมได้เป็นสังเขป ดังนี้ เรื่องจิต เรื่องอัตตาและอนัตตา เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา และสุดท้ายเรื่องพระนิพพาน ทุกเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สืบเนื่องมาจากเรื่องแรกเรื่องเดียว พอรู้จักจิตผิดไปจากความจริง ทำให้เข้าใจในเรื่องอื่นต่อไปนั้น ผิดไปจากความเป็นจริงด้วยเช่นกัน ดังนั้นบุคคลพึงรู้เห็นสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง (เอวะ เมตัง ยะถาภูตัง สัมมัปปัญญายะ ทัฏฐัพพัง) คำสั่งสอนที่มีอยู่ในปัจจุบันเหล่านี้ มักถูกอ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ ไม่เพียงแค่นั้น กลับหันไปใส่บุคคลอื่นที่สอนไม่เหมือนกับตนว่า เป็นโมฆะบุรุษบ้างล่ะ เป็นสัสตทิฏฐิบ้างล่ะ เป็นพวกอัตตานุทิฏฐิบ้างล่ะ อีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องจิตเกิดดับ มักอ้างเอาอัสสุตวตาสูตรว่า ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงอื่นดับไป เพราะเชื่อว่าจิตมีหลายดวง โดยไม่ดูบริบทอื่นที่มีในพระสูตร ท่านเปรียบจิตเช่นวานรที่ท่องเที่ยวไปในป่าใหญ่ (ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ทั้งหลาย) จับกิ่งโน้น เหนี่ยวกิ่งนี้ ปล่อยกิ่งนั้น จับกิ่งใหม่ ก็แสดงชัดเจนแล้วว่า จิตคือวานรตัวนั้น (ตัวเดียว) ที่จับอารมณ์โน้น เหนี่ยวอารมณ์นี้ ปล่อยนั่น จับอารมณ์ใหม่ ที่เกิดดับๆ นั้น คืออารมณ์ต่างๆ แต่ถ้าที่เกิดดับอยู่นั้น คือจิตแล้วล่ะก้อ วานรคงได้ตายเกลื่อนป่าแน่นอน ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ แล้วที่ตรัสว่าดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงอื่นดับไป เราเรียกอาการของจิตที่เกิดขึ้นเป็นดวงๆ เช่นกัน อย่างในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน กล่าวไว้ว่า “สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ ราคะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่าราคะเกิดขึ้นที่จิต” “ วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ เมื่อราคะดับไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าราคะดับไปจากจิต” สรุปว่าที่เกิดดับไปนั้น เป็นเพียงอาการของจิต ไม่ใช่จิต เพราะจิตรู้ชัดอยู่ตลอดเวลาที่ราคะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นก็รู้ ดับไปก็รู้ แต่ที่ดูแย่ไปกว่านั้นคือ กล้าฟันธงลงไปจ๊ะๆ ว่า จิตเป็นตัวทุกข์ เหลวไหล บังคับบัญชาไม่ได้ ทั้งที่มีพุทธพจน์กล่าวไว้ชัดเจนว่า จิตเป็นธาตุรู้ ทุกข์ก็รู้ สุขก็รู้ ที่เป็นทุกข์ ที่เป็นสุขอยู่นั้น ก็เพราะอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นเอาอารมณ์นั้นๆ มาเป็นของๆ ตน จึงเป็นทุกข์ ถ้าจิตรู้จักปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวงออกไปได้ ก็สิ้นสุดหมดทุกข์กัน (จิตไม่ใช่ตัวทุกข์) "ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑ ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ๑ ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๑ ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ๑ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ ๑ เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม" แต่ปัจจุบัน เหตุฝ่ายต่ำทั้ง ๕ ประการ ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจนมากขึ้น เมื่อสิกขาบทได้ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งเข้ามาอย่างมากมายในปัจจุบันนี้ ได้มีการบัญญัติไปตามมติความรู้สึกนึกคิดของตนขึ้นมาเอง กลับเป็นตัวทำให้พระสัทธรรม (ธรรมอันดี ธรรมที่แท้ ธรรมของสัตบุรุษ หลักหรือแก่นศาสนา) ที่ถูกต้องเที่ยงตรงตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ แต่ได้ถูกบิดเบือนเลือนลางหายไปทีละเล็กทีละน้อย และบุคคลผู้ที่จะเข้าถึงพระสัทธรรมที่แท้จริง (อริยบุคคล) กลับมีน้อยลงเป็นอย่างมาก จนน่าใจหาย น่าเป็นห่วง ต่อพระสัทธรรมที่ถูกบิดเบือนไป ได้มีความพยายามของบุคคลผู้สอนรุ่นใหม่ๆ ได้ประดิษฐ์ประดอยถ้อยคำที่บัญญัติมาขึ้นเอง เพื่อให้ผู้ฟังแล้วรู้สึกว่า การปฏิบัติธรรมนั้น เข้าถึงได้ง่ายๆ ทำให้รู้สึกสบายๆ และลัดสั้น ไม่ต้องลำบากลำบนหรือเพียรพยายามใดๆ ในการประพฤติปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพื่อให้เข้าถึงซึ่งพระสัทธรรมที่แท้จริง โดยมักอ้างว่าตนเองเป็นบุคคลผู้มีปัญญาบารมีอยู่ก่อนแล้ว เพียงเพราะไม่มีเวลาที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา คำสอนที่ปรากฎออกมานั้น จึงมักเป็นไปในแนวทางที่ให้กำลังใจกันเสียมากกว่า เช่น เพียงแค่อาศัยความพยายามให้มีสติรู้ทันอารมณ์ หรือมีความตั้งใจให้รู้ทันจิตของตนก็พอ ไม่จำเป็นต้องเพียรเพ่งปฏิบัติธรรมภาวนากรรมฐานใดๆ ให้หลังขดหลังแข็ง เพราะจะดูแข็งๆ ทื่อๆ ซึมๆ จนกลายเป็น “อัตตกิลมถานุโยค” ไป เป็นต้น คำสอนเหล่านี้ จึงไปตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่เข้าพอดิบพอดี แบบไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย เพราะตนเองก็ไม่ชอบและไม่เชื่อเรื่องปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สืบเนื่องจากความเชื่อว่าตนเองมีปัญญาบารมี จึงไม่จำเป็นต้องทำสมถกรรมฐานใดๆ เลย ทั้งที่โดยความเป็นจริง และเป็นที่ยอมรับของเราชาวพุทธทุกคนนั้น พระพุทธองค์เป็นบุคคลผู้ประเสริฐ มีปัญญาเป็นเลิศกว่าใครๆ ยังต้องบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่งยวดมาหลายภพหลายชาติอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน เพื่อสั่งสมบารมีของตนเองให้มีมากพอที่จะตรัสรู้ได้ มีพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร ว่าไว้ดังนี้ “จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ แปลว่า ความเวียนว่ายของเราเข้าไปสู่ภพน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เป็นเพราะมิได้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง” “ตานิ เอตานิ ทิฏฺฐานิ ภวเนตฺติ สมูหตา อุจฺฉินฺนํ มูลํ ทุกฺขสฺส นตฺถิ ทานิ ปุนพฺ ภโวติ แปลว่า ณ บัดนี้ เราได้ถอนเสียซึ่งความเห็นผิดในเรื่องภพ และมูลเหตุแห่งทุกข์ออกเสียหมดสิ้นแล้ว ภพใหม่ต่อไปจึงไม่มีอีก” ทรงตรัสรู้อยู่ใต้ต้นสาละ ด้วยวิธีเพียรเพ่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา หรือสัมมาสมาธิ กระทั่งได้รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงนั่นเอง จนได้บรรลุวิชชา (ญาณ) ๓ น่าจะยืนยันได้ว่า การสอนให้ปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้นนั้นไม่มีอยู่จริง เป็นการให้กำลังใจสำหรับบุคคลผู้มีพลังจิตยังน้อยอยู่เสียมากกว่า เมื่อได้มาพิจารณาตามพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงทำนายไว้ เราก็จะเห็นจริงตามนั้น ๑. ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา จะเห็นได้ว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ได้ลืมเลือนคำสั่งเสียที่พระพุทธองค์ ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ในอนาคตที่ว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา แปลว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนเรา ปกครองท่านแทน เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว” ปัจจุบันชาวพุทธกลับให้ความเคารพยำเกรงต่อบุคคลผู้มากด้วยอำนาจบารมี ภาพลักษณ์ รูปภาพ รูปปั้น รูปสมมุติต่างๆ ด้วยคำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” โดยไม่เคยได้นำคำสอนที่มักอ้างว่าเป็นของพระพุทธองค์มาเทียบเคียงเลย ล้วนเป็นเพียงความเชื่อ ความศรัทธา แบบตามๆ กันมา (มา ปรมฺปราย) แบบงมงาย ทั้งที่มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา (พระพุทธเจ้า)” ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนพระวักกลิ ที่มีศรัทธาเลื่อมใสในรูปโฉมของพระองค์เป็นอย่างมาก เมื่อพระองค์ทรงเสด็จไป ณ แห่งหนตำบลใด มักมีพระวักกลิไปรอรับเสด็จ เพื่อจะได้ใกล้ชิดกับพระพุทธองค์ จนเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงเล็งพระญาณเห็นความในใจของพระวักกลิ ว่าได้เวลาอันควรจะโปรดพระวักกลิ เมื่อมีโอกาส จึงตรัสว่า วักกลิ เธอสำคัญมั่นหมายเอารูปร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อยได้ของเรา ว่าเป็นเรา และกระหยิ่มยิ้มย่องว่าได้อยู่กับเรา ใกล้เรา ถึงเรา คนตาบอดมืดมิดเช่นเธอนั้น ไม่ต้องพูดถึงการเดินตามหลังเราก็ได้ ต่อให้จับชายจีวรของเราไว้อีกด้วย ก็ไม่เห็นเรา ไม่รู้จักเรา ไม่ถึงเรา ไม่ใกล้เรา แต่ต่างกันอย่างฟ้ากับดินทีเดียว ทางตั้งแต่นี้ไปถึงเขาจักรวาลที่ว่าไกลนั้น ก็ยังนับว่าใกล้กว่า แต่เธอกับเรานั้น ห่างกันไกลยิ่งกว่านั้น เป็นแสนไกลล้านไกลทีเดียว วักกลิ เมื่อเธอต้องการเห็นเรา ใกล้เรา ถึงเรา เราจะบอกทางให้ แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า “โย ธมฺมํ ปสฺสติ โสมํ ปสฺสติ แปลว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย แต่ทุกวันนี้บุคคลผู้เข้าถึงธรรม เห็นธรรม มีน้อยกว่าน้อย จึงทำให้ไม่ยำเกรงในพระศาสดา คือพระธรรมวินัยนั่นเอง ๒. ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ข้อนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าชาวพุทธเคารพยำเกรงในพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์อย่างแท้จริงแล้ว พระสัทธรรมจะไม่ปฏิรูปไปอย่างรวดเร็วขนาดนี้ ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันไว้อย่างรัดกุม อันมี “กาลามสูตร” ที่กล่าวถึง เรื่องราวความเชื่อต่างๆ ๑๐ ประการว่า “อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ ให้ฟังและศึกษาด้วยดี ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ฯ และธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ฯ” พระพุทธองค์ทรงเน้นให้สมาทาน (ปฏิบัติ) อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการพิสูจน์ทราบตามความเป็นจริง จนได้ผลออกมาว่า จิตของตนมีความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่ซัดส่ายไปมาตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่มากระทบ สามารถสลัดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นออกไปได้ ในการสมาทานนั้น เป็นไปเพื่อการกำหนดรู้ว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุแห่งทุกข์ นี่ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ นี่การดับทุกข์ แล้วค่อยเชื่อสิ่งที่ได้ศึกษาและได้ยินได้ฟังมาเหล่านั้น ก็ยังไม่สาย แต่เพราะบุคคลผู้ที่ยังสั่งสอนอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่แล้วบุคคลผู้ที่สั่งสอนอยู่นั้น ยังไม่อาจปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ได้เลย ทำสมาธิกรรมฐานภาวนาก็ยังไม่เป็น รู้เห็นตามความเป็นจริงไม่ได้ จึงได้ย่ำยีพระธรรมคำสอนไปโดยไม่ยำเกรงเลย ๓. ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ เมื่อกล่าวถึงพระสงฆ์แล้ว ย่อมมีข้อจำกัดเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ถูกพร่ำสอนให้เคารพยำเกรงในผ้ากาสาวพัสตร์ ส่วนมากมองข้ามพระธรรมคำสั่งสอน ต่อให้คนนุ่งเหลืองห่มเหลืองได้กระทำผิดหรือสอนผิดอย่างไร ถ้าไม่ใช่ถูกจับผิดในการกระทำผิดนั้นได้อย่างคาหนังคาเขาเสียแล้ว โอกาสรอดปลอดภัยมีมาก ได้แต่ต้องรอให้ผลกรรม แสดงออกมาเป็นวิบากให้เห็นเอง เครื่องเศร้าหมองที่ตนได้กระทำไว้ มาจัดสรรให้เอง ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ สมมุติสงฆ์เหล่านั้น จึงยังคงรอดปลอดภัย ทั้งที่สอนผิดบิดเบือนความจริง แถมยังโจมตีบุคคลอื่นผู้ที่เห็นต่างออกไปว่าเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ จนพระสัทธรรมได้ปฏิรูปไปอย่างมากมายในเวลานี้ คำว่า “พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์” นั้น แตกต่างกันโดยสมมุติบัญญัติเท่านั้น แต่อยู่ที่เดียวกันคือ วิราคธรรม (จิตที่บริสุทธิ์) หรือที่ พระนิพพาน อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์นั่นเอง ในขณะที่จิตยังไม่บริสุทธิ์ ก็ยังต้องติดข้องท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ ก็ยังเป็นสัตว์ (ผู้ติดข้องในอารมณ์) อยู่ คือ ยังหลงยึดอารมณ์ หรือรูป-นาม หรือขันธ์ ๕ ซึ่งไม่เที่ยงแท้ถาวรไว้ จึงไม่อาจหลุดพ้น เพราะฉะนั้น คำว่า พระสงฆ์ คือผู้ที่ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเลื่อมใส สละเรือนออกบวช เราเรียกว่า สมมุติสงฆ์ หรือภิกษุ ต่อเมื่อนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ดีแล้ว ไปปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา ตามด้วยความเพียรเพ่งพยายาม อย่างจริงจัง อย่างไม่ลดละยิ่งยวด จนเข้าถึงแก่นแท้ ธรรมแท้ เราเรียกว่า อริยสงฆ์ หรือภิกษุสงฆ์อีกเช่นกัน ในครั้งพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ขณะนั้นมีพระอริยสาวกที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ (เอหิภิกขุ อุปสัมปทา) ๖๐ รูป รวมพระองค์เข้าไปด้วยเป็น ๖๑ รูป ทรงเน้นให้ออกไปสั่งสอนกุลบุตร กุลธิดา รูปละทิศ รูปละทาง อย่าไปซ้อนทางกัน ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา “พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น (ศีล) งามในท่ามกลาง (สมาธิ) งามในที่สุด (ปัญญา)” “ศีล สมาธิ ปัญญา” เป็นสิกขา ๓ หรือที่เรียกว่า “อริยมรรคมีองค์ ๘” วิถีแห่งอริยมรรค คือหนทางปฏิบัติทางจิตทางเดียวที่จะกำจัดกิเลสและอุปกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิต เป็นหนทางพ้นทุกข์เข้าสู่วิมุตติ หลุดพ้น จิตสะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย “ตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่ (ศีล สมาธิ ปัญญา) ตราบนั้นโลกจะไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์” ๔. ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ข้อนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ชี้ถูกชี้ผิดให้ จึงมีสิกขาบทใหม่ๆ ที่เพิ่มเติมเสริมแต่งเข้ามา ทำให้ เกิดอริยะตราตั้ง อริยะแต่งตั้งกันเอง มีมากยิ่งขึ้น แต่ผู้เข้าถึงพระสัทธรรมที่แท้จริงกลับลดน้อยลงด้อยค่าลงไปเป็นอย่างมาก สิกขา คือ ข้อที่จะต้องศึกษา ข้อที่ต้องปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้บัญญัติ สิกขา ๓ (สิกขาสูตรที่ ๑) ดังนี้ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ เป็นไฉน คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑” โดยเฉพาะอธิจิตตสิกขานั้น เป็นหลักใหญ่ เป็นหัวใจสำคัญในพระพุทธศาสนา “อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาณ มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะวิตกและวิจารสงบไป จึงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป จึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ จึงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่า อธิจิตตสิกขา” หรือ สัมมาสมาธิ นั่นเอง ๕. ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ เป็นข้อสรุปสุดท้ายที่ชัดเจนว่า เมื่อไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ ก็เท่ากับไม่ยำเกรงในข้อ “อธิจิตตสิกขา” ไปด้วย แต่กลับไปให้ความยำเกรงในวิปัสสนา (รู้เห็นตามความเป็นจริง) โดยไม่เอาสมาธิ ปัจจุบันนี้ถึงกับจะไม่เอาศีลเสียด้วยซ้ำไป ถึงจะเอาบ้าง ก็เอานิดๆ หน่อยๆ ก็พอ ทั้งที่พระพุทธพจน์ตรัสไว้ชัดเจนว่า “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยัง (สัมมา) สมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) ดังนี้” บุคคลที่จะมีวิปัสสนาได้นั้น จำเป็นต้องมีจิตที่มีกำลังสติสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว จึงจะรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ส่วนบุคคลที่มีจิตซัดส่ายหวั่นไหววุ่นวาย ไม่ตั้งมั่น จะไปเอาวิปัสสนาปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริง มาจากที่ไหนได้ ล้วนเป็นวิปัสสนึกขึ้นเองทั้งนั้น เนื่องจากไม่ยำเกรงในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ และสิกขาบทนั่นเอง ข้อที่ ๕ นี้ ก็ถูกมองเมินไปด้วยเช่นกัน แต่ในทางกลับกันแล้ว บุคคลใดที่ให้ความสำคัญในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพราะเคารพในสิกขา เข้าถึงอธิจิตตสิกขา (สัมมาสมาธิ) ย่อมหมดความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีวิปัสสนาปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริงดังกล่าว มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้ในสิกขาสูตรที่ ๒ ดังนี้ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้แล ฯ ภิกษุผู้มีความเพียร มีเรี่ยวแรง มีปัญญา เพ่งพินิจ มีสติคุ้มครองอินทรีย์ พึงครอบงำทั่วทุกทิศ ด้วยอัปปนาสมาธิ ประพฤติทั้งอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ฯลฯ ภิกษุเช่นนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบ เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้ถึงที่สุดของการปฏิบัติในโลก ท่านผู้ประกอบด้วยวิมุตติอันเป็นที่สิ้นตัณหา ย่อมมีจิตหลุดพ้นจากสังขารธรรม เพราะวิญญาณดับสนิท เหมือนความดับของประทีป ฉะนั้น ฯ” สรุปสุดท้าย พระพุทธพจน์ (เสขสูตรที่ ๒) ตรัสไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทำได้เพียงบางส่วน ย่อมให้สำเร็จได้เพียงบางส่วน ผู้ทำให้บริบูรณ์ ย่อมให้สำเร็จได้บริบูรณ์อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสิกขาบททั้งหลายว่า ไม่เป็นหมันเลย ฯ” “สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้นในโลก ตราบใด ตราบนั้น ทองคำธรรมชาติก็ยังไม่หายไป และเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น ทองคำธรรมชาติจึงหายไปฉันใด พระสัทธรรมก็ฉันนั้น สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป” (สัทธรรมปฏิรูปกสูตร) เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม วันพระ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ ปัญญาทางธรรมกับปัญญาทางโลก (สัญญาอารมณ์)
🌷 ปัญญาทางธรรม กับปัญญาทางโลก (สัญญาอารมณ์) วันจันทร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ (๒) ปีฉลู เจริญสุข สวัสดี ญาติโยมทุกๆ ท่านที่ได้เข้ามาฟังธรรมะบรรยาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ พัฒนาจิตของตนให้อยู่ในบุญกุศล อาตมภาพขอน้อมนำเอาคำกล่าวของครูบาอาจารย์ได้กล่าวไว้ดังนี้ แก่นแท้คือปัญญา มีความฉลาดรอบรู้เห็นตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ จนกระทั่งเห็นคุณ โทษ เหตุเกิด ความดับของอายตนะทั้งหลาย จิตใจไม่เข้าไปยึดมั่นในตัณหาอุปาทานในสิ่งนั้นๆ นั่นเรียกว่าแก่นแท้ ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า บริสุทธิ์เพราะปัญญา บางคนถือเอาปญฺญาย ปริสุชฺฌติ บริสุทธิ์เพราะปัญญา ศีลก็เลยไม่ต้อง สมาธิไม่ต้องเอา แต่เน้นไปที่ปัญญา ให้หันมาดูจิตของตน โดยไม่มีพื้นฐานการฝึกฝนอบรมภาวนามยปัญญา จนกระทั่งเข้าถึงอธิจิตฺเต (จิตตัวใน) ให้หมั่นดูจิตยังไง ก็หนีไม่ใพ้นติดอยู่ที่อาการของจิตเป็นสัญญาอารมณ์ (ปัญญาทางโลก) เมื่อพูดถึงเรื่อง "ปัญญา" ที่มีในปัจจุบัน สำหรับคนที่ได้พบประสบความสำเร็จ มีธุรกิจใหญ่โต มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความขยันเล่าเรียนจนได้ปริญญาบัตรต่อท้ายมากมายหลายใบ พูดจาคล่องแคล่วไพเราะน่าฟังน่าเชื่อถือ โต้วาทีได้เก่งกาจเฉียบขาด รู้จักสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี แต่ในทางวัฏฏะวนที่ยังจมอยู่กับโลก มักเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องยอมรับสรรเสริญจากสังคมว่า เป็นคนดีในสังคม เป็นผู้มีปัญญาดี มีความสามารถ จดจำอะไรต่างๆ ได้มากมาย มีสัญญาดี สมองดี คิดเป็น เล็งเห็นอนาคต นี่เราเรียกได้ว่ามี "ปัญญาในทางโลก" ซึ่งแตกต่างจากปัญญาในทางธรรมโดยสิ้นเชิง ปัญญาที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ในทางธรรมที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ชัดเจน เรียกว่าเป็นผู้มี "สัญญา" ดี แต่ที่สำคัญเป็นสาระอย่างยิ่งคือ ปัญญาทางโลกหรือสัญญาดังกล่าว ย่อมแตกต่างไปจาก "ปัญญาในทางธรรม" เป็นคนละเรื่องกันเลย แต่ปัจจุบันนั้น กลับถูกนำมาปนเปรวมเข้าด้วยกัน จนผู้ศึกษาธรรมที่เข้ามาใหม่ สับสนอย่างมาก ระหว่างสัญญาอารมณ์ (ปัญญาทางโลก) กับปัญญาเพื่อความหลุดพ้นจากโลก มีการเรียนรู้และจดจำพระธรรมคำสอน เป็นสัญญาอารมณ์ได้อย่างแม่นยำ จนกลายเป็นถิรสัญญา กลับเข้าใจไปว่าตนเองได้ปัญญาทางธรรมแล้ว เที่ยวยกตนข่มท่านโดยไม่รู้ตัว และบุคคลจำพวกนี้ กลับไม่ค่อยจะยอมเปิดรับอะไรง่ายๆ แบบหัวชนฝา ทั้งที่ไม่อาจแก้ข้อซักถามจากผู้รู้ได้เลย แค่ตอบว่าคุณพูดมีเหตุผล ผมเถียงไม่ได้ แต่ไม่เชื่อ เพราะปัญญาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติยกย่องไว้ว่าเป็นเลิศนั้น เป็นวิราคธรรม มีพระบาลีรองรับไว้ดังนี้ "ยาวตา ภิกฺขเว สงฺขตา วา อสงฺขตา วา วิราโค เตสํ อคฺคมกฺขายติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคธรรมแล เรากล่าวว่า เป็นยอด เลิศกว่าธรรมทั้งปวง" เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดหลุดพ้นของจิต จากอุปกิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามาทั้งหลาย เป็นความสามารถของจิตในการปล่อยวาง ราคะ โทสะ โมหะ ออกไปจากจิตของตน ที่เรียกว่า "การสลัดคืน" หรือ "ธรรมที่แยกแล้ว" เป็นการสลัดอารมณ์ทั้งหลายกลับคืนสู่โลก เป็นปัญญาเพื่อความพ้นโลก เหนือโลก ฯลฯ ที่เรียกว่า "โลกุตตรธรรม" เป็นปัญญาที่ทำให้สังคมกลับคืนสู่ความสงบสันติ ร่มเย็น ไม่ฆ่าฟันกัน ไม่เบียดเบียนกัน แต่ก็ยังมีกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วย สืบเนื่องมาจากยังมีการสอนแบบผิดฝาผิดตัวอยู่ว่า อสังขตธรรมนั้นจะมีก็แต่พระนิพพานเพียงอย่างเดียว เมื่อถูกถามว่า ธาตุแท้ทั้งหลายที่มีอยู่เดิม เช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นธาตุที่ยังไม่ได้เข้าผสมปนเปกันเอง เป็นธาตุแท้ เป็นสังขตธรรมหรืออสังขตธรรม คำตอบคือเงียบกริบ ทั้งๆ ที่พระบาลีชัดเจนแล้วว่า สังขตะก็ดี อสังขตะก็ดี มีประมาณเท่าไร ก็แสดงว่าอสังขตะไม่ใช่มีหนึ่งเดียวอย่างแน่นอน ความรู้ที่เกิดจากสัญญาอารมณ์นั้น ต่างจากความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติภาวนา จนเข้าถึงจิตตัวใน จนมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงในเรื่องนี้ ย่อมแตกต่างไปจากปัญญาทางโลก (สัญญา) ที่ยิ่งมีมาก ยิ่งรู้มาก ยิ่งเกิดความวุ่นวายสับสน เอารัดเอาเปรียบกัน ข่มเหงรังแกกันแบบถูกทำนองคลองธรรม ในทางโลก บุคคลดังกล่าวมานี้ ล้วนเก็บงำซ่อนเร้นอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนได้เก่ง เพื่อผลประโยชน์ที่ตนเองที่ต้องการ จะไม่แสดงออกให้เห็นได้แบบง่ายๆ ยิ่งต่อหน้าสาธารณะชนบุคคลอื่นด้วยแล้ว ยิ่งระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ แต่เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ประทับใจมากๆ เข้ามา ภายในจิตของตนนั้นกลับรุ่มร้อน กระวนกระวาย ขัดข้องซัดส่ายไปกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ แต่รู้จักเก็บงำอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดไว้ได้โดยไม่แสดงออกเพื่อประโยชน์ตน ไม่ใช่เป็นการปล่อยวางอารมณ์ หรือสลัดอารมณ์ออกไปจากจิต เพียงแค่มีความสามารถในการเปลี่ยนอารมณ์จิตที่ยินร้ายของตน ที่เจออยู่เป็นประจำจนเป็นถิรสัญญาไปแล้ว เมื่อเผลอไผลได้ที่เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละ ก็จะมีการระเบิดอารมณ์ออกมาเป็นครั้งเป็นคราว โดยไม่สามารถควบคุมได้ ขนาดผู้ที่เป็นด็อกเตอร์ มีปริญญาพ่วงท้ายหลายใบ ที่ผู้คนยกย่องว่าเป็นคนดีเป็นคนเก่งใจเย็น แต่ด้วยอำนาจของความโกรธครอบงำจิตของตน เผลอไผลเอาไม้กอฟล์ตีภรรยาจนตายคามือ ยอมรับว่าตีแรงไปหน่อยด้วยความโกรธ ความหลง ครอบงำอยู่ในขณะนั้น อย่าปล่อยให้ "สัญญา (ปัญญาในทางโลก)" มาครอบงำ "ปัญญาในทางธรรม" จนมองไม่เห็นสัจจะ ความจริง ๔ ประการ หรืออริยสัจ ๔ อันมีดังนี้ ๑. เห็นจิตที่ส่งออกไปยึดถืออารมณ์ทั้งหลายทั้งภายนอกหรือภายใน ด้วยความยินดียินร้าย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ๒. เห็นความกระวนกระวาย ขัดข้อง ซัดส่าย เนื่องด้วยอารมณ์เหล่านั้นของจิต เป็นทุกข์ ๓. เห็นว่าปฏิบัติธรรมกรรมฐาน (สัมมาสมาธิ) สามารถปล่อยวางอาการต่างๆ ของจิตเหล่านั้นออกไปได้ เป็นมรรค ๔. เห็นผลจากการปล่อยวางอาการของจิตเหล่านั้นออกไปได้สำเร็จ ทำให้จิตสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา เป็นนิโรธ แต่เพราะตำราที่รจนาขึ้นมาในภายหลังนั้น มักสอนให้ศึกษา จดจำ ให้คิดเป็น เล็งเห็นอนาคต (ฝัน) ความรู้เพียงแค่นี้ก็คิดกันไปเองแล้วว่า จิตของตนเองมีคุณภาพเพียงพอ ได้ปัญญาแล้ว อันเกิดจากตำราสอนไว้ โดยแบ่งแยกกันตามมติที่ชอบใจของตน ระหว่างสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน โดยยกให้สมถกรรมฐาน เป็นความสงบที่แข็งทื่อ เป็นพวกหินทับหญ้า ไม่ทำให้เกิดปัญญา เป็นของพวกฤษี ชีไพร เป็นสัญญาอารมณ์ ไม่ควรใส่ใจต้องวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น ที่จะทำให้เกิดปัญญาที่แท้จริง หลุดพ้นได้ โดยความเป็นจริง ทั้งสมถะและวิปัสสนา เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นในภายหลัง ดูได้จากอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งไม่มีคำว่าสัมมาวิปัสสนาเลย แต่มีคำว่าสัมมาสมาธิ ซึ่งแปลว่า สมาธิชอบหรือสมาธิที่ถูกต้อง มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ใน มหาจัตตารีสักกสูตร ดังนี้ว่า สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ต้องห้อมล้อมด้วยองค์มรรคที่เหลืออีก ๗ องค์ อันมีสัมมาทิฐิ เป็นใหญ่ แม้แต่สัมมาทิฐิอันเป็นอริยะนั้น ยังต้องประกอบไปด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ จึงจะบริบูรณ์ แล้วมรรคที่เหลือนอกจากนี้ต้องประกอบด้วยสัมมาทิฐิที่สมบูรณ์นี้ด้วยทุกองค์ จึงทำให้มรรคสมังคี ย่อมทำให้สัมมาญาณะ และสัมมาวิมุตติ เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้พระเสขะผู้ประกอบด้วยอริยมรรคทั้ง ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ที่เพียบพร้อมไปด้วยองค์ ๑๐ ประการนี้ มีชื่อเรียก ๒ อย่าง คือ สัมมัตตะ (ภาวะอันถูกต้อง) และ อเสขะธรรม (ธรรมของพระอเสขะหรือพระอรหันต์) แสดงว่า สัมมาญาณะ และสัมมาวิมุตตินั้น เป็นองค์ธรรมของพระอรหันต์โดยเฉพาะ จากมหาจัตตารีสักกสูตร ก็เป็นที่รองรับแน่นอนแล้วว่า อริยมรรคเป็นทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ต้องทำหน้าที่ควบคู่กันโดยตลอดของการปฏิบัติธรรมกรรมฐานอยู่ เพราะเมื่อขณะที่กำลังพิจารณากายในกายเป็นภายในอยู่ ก็เป็นหน้าที่ของสมถกรรมฐาน เพราะการทำจิตของตนให้มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้ จนชำนาญคล่องแคล่วเป็นวสีนั้น เราต้องจดจำถึงขั้นระลึกรู้ได้ทันที ที่เมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดมาปรากฏขึ้นที่จิต เมื่อระลึกได้แล้วไม่ต้องจดจำอีกต่อไป จากนี้นำนิมิตหมายแห่งจิตหรือฐานที่ตั้งของสติที่ระลึกได้แล้ว จนชำนาญคล่องแคล่วมาใช้ อันเป็นสมาบัติเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่เรียกว่า พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง คือขณะที่ลืมตาอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันนั่นเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นปัญญา ที่รู้เห็นตามความเป็นจริง รู้เห็นอย่างไร? จึงชื่อว่ารู้เห็นตามความเป็นจริง เพราะจิตของตนรู้ว่าเมื่อตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณขึ้น มีผัสสะเกิด ความรู้สึกรักชอบชังซึ่งเป็นเวทนา จากนั้นความทะยานอยากก็จะตามมาทันที เมื่อบุคคลอันมีสมาบัติ ธรรมอันเป็นเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว ย่อมต้องรู้จักคุณและโทษ เหตุเกิด ความดับของอายตนะทั้งหลาย ไม่ปล่อยให้ผัสสะเกิดขึ้น เพราะรู้อยู่ที่รู้ รู้แล้วละเรื่องที่รู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ก็ยกจิต พรากจิต หรือเปลื้องจิตของตน มาอยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติที่ได้กำหนดไว้แต่แรก แม้บุคคลที่ฝึกหัดใหม่ อาจจะต้องใช้เวลาบ้างในการปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นในระยะแรก แต่เมื่อได้ฝึกฝนอบรมดีแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบากอีกต่อไปเลย ซึ่งต่างจากปัญญาที่แฝงด้วยสัญญาอารมณ์ ที่มีการสอนกันอยู่อย่างดาษดื่นในปัจจุบันนี้ ที่ถูกสอนให้รู้จักเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกรักชอบชังที่ตนเองไม่พึงปรารถนา เป็นอารมณ์หยาบ มาสู่อารมณ์ละเอียดที่เป็นสุข อันเกิดจากความสามารถประคองจิตให้เปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้ จัดเป็นสัญญาอารมณ์ที่ตนได้ฝึกฝนมาบ่อยๆ เนืองๆ จนเป็นถิรสัญญา เช่น จิตที่เคยใสอยู่ เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ขุ่นมัว เป็นแขกจรเข้ามา ความผ่องใสที่มีอยู่ในขณะนั้น ย่อมต้องหมองไปบ้างเป็นธรรมดา แทนที่จะฝึกฝนอบรมการสลัดคืนอารมณ์ หรือปล่อยวางอารมณ์ขุ่นมัวที่เป็นแขกจรเหล่านั้นออกไปจากจิตของตน ไม่เก็บเอาไว้ กลับใช้วิธีการเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกในขณะที่เริ่มขุ่นมัวอยู่ มาคิดถึงอารมณ์อันละเอียดเป็นสุข เพราะสามารถเปลี่ยนอารมณ์ได้ เมื่อฝึกฝนอบรมบ่อยๆ ย่อมจำได้แม่น เป็นถิรสัญญา อาตมาภาพเองก็ยอมรับว่า ในทางโลกแล้วจัดเป็นเรื่องดีของคนดี เป็นคนมีปัญญา (สัญญาอารมณ์) ที่จะอยู่กับโลกที่สับสนวุ่นวายได้ ในระดับที่สังคมยอมรับ เพราะสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนได้ แต่ผลที่จะตามมาในภายหลังต้องว่ากันอีกที เพราะสืบเนื่องจากในทางพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญปัญญาที่แฝงด้วยสัญญาอารมณ์เช่นนี้เลย แม้แต่ในครั้งพุทธกาล ที่พระองค์ยังทรงออกแสวงหาโมกขธรรม เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ของการเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งเป็นอมตธรรม และในขณะนั้นก็มีเจ้าลัทธิเกิดขึ้นอยู่แล้วอย่างมากมายเหลือคณานับ ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมาเสียอีก แต่ที่โด่งดังเอามากๆ มีอยู่ ๒ ท่าน คือ อาฬารดาบสและอุทกดาบส อาฬารดาบสกาลามโคตรนั้น บรรลุอากิญจัญญายตนะ เป็นอรูปฌานที่ ๗ ส่วนอุทกดาบสรามบุตรนั้น บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ อันเป็นอรูปฌานที่ ๘ ทั้งสองท่านในขณะนั้นได้ประกาศตนเองว่าเป็นผู้จบเวช เป็นผู้ชนะทุกอย่าง สามารถขุดรากแห่งทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง เป็นความเข้าใจผิดและเข้าใจไปเอง เนื่องจากทั้งสองท่านมีธุลีในจักษุน้อยมานานมาก คือเป็นผู้มีกิเลสเบาบางมาก จนแทบไม่รู้สึกว่ามีอยู่ จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้เข้าพบอาจารย์ทั้งสอง เพียงแค่พระพุทธองค์ได้ทรงสนทนากับอาจารย์ทั้งสอง (ต่างกรรมต่างวาระกัน) ชั่วขณะปิดปากโอภาปราศรัยกันเสร็จเท่านั้น พระพุทธองค์ก็กล่าวญาณวาทและเถรวาทได้ ถึงกับทำให้อาจารย์ทั้งสองต้องเอ่ยปากชมว่า เราเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น จงมาช่วยกันปกครองดูแลบริหารหมู่คณะด้วยกันเถิด พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธไปว่า ธรรมนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อพระนิพพานเลย แต่เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะสมาบัติเท่านั้น นี่ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า ปัญญาที่แฝงด้วยสัญญาอารมณ์นั้น ไม่ช่วยให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้เลย เพราะวางอารมณ์ไม่เป็น เพราะยังติดสุขอยู่ในอารมณ์ฌานอันละเอียด ส่วนกิเลสทั้งหลายที่เป็นอารมณ์หยาบๆ ซึ่งบุคคลทั่วไปยังติดข้องอยู่นั้น ไม่สามารถทำอะไรได้เลยกับบุคคลเช่นอาจารย์ทั้งสอง สืบเนื่องจากมีความสามารถในการเปลี่ยนเข้าสู่อารมณ์ละเอียดอันเป็นสุขที่ประกอบด้วยอามิส ได้อย่างรวดเร็วชำนาญจนเป็นวสี ที่เรียกว่าถิรสัญญา ยังเป็นแค่สัญญาอารมณ์เท่านั้น ไม่ใช่ปัญญาเพื่อความหลุดพ้น แต่เป็นสัญญาอารมณ์ที่ตนเองได้เกาะเกี่ยวไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะเกรงไปว่าอารมณ์ที่เกิดจากสัญญาเหล่านั้นจะจืดจางลงไปได้ แต่ปัจจุบันนี้ พุทธศาสนาได้ปนเปไปกับลัทธิพราหมณ์ จนแยกกันไม่ออก จะหนักไปทางลัทธิพราหมณ์ เสียมากกว่า และมีการแบ่งแยกกีดกันกันเองอย่างออกหน้าออกตา ถือเราถือเขา จนกระทั่งขาดความชอบธรรม โดยไม่นำพาพระธรรมวินัยอีกต่อไปแล้ว จนมีการแบ่งแยกกันสั่งสอนอบรมตามมติของตนที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด เป็นคอร์สๆ สั้นบ้าง ยาวบ้าง มี ๗ วัน ๑๕ วัน เดือนนึงบ้าง สิ่งที่ได้คือปัญญาที่แฝงไปด้วยสัญญาอารมณ์เท่านั้น เมื่อเป็นซะแบบนี้แล้ว พระสัทธรรมจะไม่ปฏิรูปไปได้อย่างไร โดยการนำเอาหลักธรรมการปฏิบัติของพราหมณ์มาสั่งสอนแทน โดยอ้างว่าเป็นของพุทธศาสนา ต่างจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่แท้จริง ที่สอนให้ หยุดเป็น เย็นได้ หยุดไม่เป็น เย็นไม่ได้ หยุดนั่นแหละ ตัวสำเร็จ มีพระบาลีดังนี้ "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา" เพราะหยุดเป็น หยุดการปรุงแต่ง สังขาร ความนึกคิดไม่สามารถปรุงแต่งได้ ปิดอารมณ์ความนึกคิดไม่ให้เข้ามาครอบงำจิตของตนได้ ปล่อยวางอดีต ไม่คำนึงถึงอนาคตเสีย หยุดอยู่ที่ปัจจุบันธรรม อันมีสติกุมเฉยอยู่ ตรึกธรรมที่มีเข้ามาเฉพาะหน้า รู้แล้วละ ไม่ใช่รู้แล้วยึด รู้แล้วเปลี่ยนเรื่องที่รู้ (อารมณ์) เป็นการรู้แล้วละเรื่องที่รู้มาอยู่กับรู้ ไม่ใช่รู้อยู่กับเรื่อง นี่ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องทำลายอวิชชา อีกเหตุผลนึงที่ทำให้ลัทธิพราหมณ์เข้ามามีอิทธิพลต่อศาสนาพุทธ เพราะสังคมพุทธเราเองที่ไปอัญเชิญลัทธิพราหมณ์เข้ามาเองโดยไม่รู้ตัว มีการแนะนำสั่งสอนในเรื่องสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์) แบบผิดฝาผิดตัว อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ เป็นความผิดพลาดที่ทำให้พุทธศาสนาเศร้าหมองลงอย่างเห็นได้ชัด ในสังโยชน์นั้นมี ๑๐ ประการด้วยกัน แบ่งเป็น โอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) อันมี ๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา ๓. สีลัพพตปรามาส ๔. กามราคะ ๕. ปฏิฆะ อุทธัมภาคิยสัญโญชน์ (สังโยชน์เบื้องสูง) ได้แก่ ๖. รูปราคะ ๗. อรูปราคะ ๘. มานะ๙. อุทธัจจะ ๑๐. อวิชชา พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ ๓ ข้อต้น พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ ๔ และข้อ ๕ ให้เบาบางลงได้ ส่วนพระอนาคามี ทำสังโยชน์เบื้องสูงทั้ง ๕ ให้เบาบางลงได้ พระอรหันต์นั้นละสังโยชน์ได้เด็ดขาด ปัญหาอยู่ตรงที่สังโยชน์ข้อ ๖ และข้อ ๗ คือ รูปราคะและอรูปราคะ ที่มีในสังโยชน์ ๑๐ คณาจารย์ส่วนหนึ่งไปยัดให้เป็นรูปฌานและอรูปฌาน ซึ่งเป็นของลัทธิพราหมณ์โดยตรง ทั้งที่พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธไว้อย่างชัดเจนแล้ว ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลว่า รูปฌานและอรูปฌานนั้น ไม่อาจหลุดพ้นจากทุกข์ได้ หมายความว่า ไม่สามารถเข้าสู่อริยภูมิแม้แต่ขั้นต้นได้เลย เพียงเข้าถึงอารมณ์ฌานนั้นๆ ได้ เพราะยังติดสุขอันปราณีตที่เกิดจากอารมณ์ละเอียดเหล่านั้นอยู่ พราหมณ์พวกที่ชำนาญในรูปฌานอรูปฌานเหล่านั้น แม้แต่สักกายทิฏฐิที่เป็นสังโยชน์ข้อแรกก็ยังไม่รู้จักเลย เมื่อถูกนำมาอธิบายถึงรูปราคะและอรูปราคะในสังโยชน์ ๑๐ ทำให้พระโสดาบันและพระสกิทาคามี เหมือนถูกด้อยค่าลงไปเลยในสายตาบุคคลภายนอก ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจในหลักธรรมแท้ของพระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาให้ชัดเจนแล้วจะเห็นว่ารูปฌานอรูปฌานเป็นเพียงแค่อารมณ์รูป อารมณ์นามนั้นๆ ที่บุคคลผู้นำมาเพียรเพ่งภาวนาจนเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ฌานเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่น จนเกิดความสุขอันอิงด้วยอามีส มีความปราณีตที่เกิดจากอารมณ์ฌานอันละเอียดเหล่านั้น ต่างกันกับรูปราคะและอรูปราคะในสังโยชน์ ๑๐ ไปคนละเรื่องเลย มีพระบาลีธรรมบทกล่าวไว้ดังนี้ "อสฺสทฺโธ อกตญฺญู จ สนฺธิจฺเฉโท จ โย นโร หตาวกาโส วนฺตาโส ส เว อุตฺตมปุริโส แปลว่า บุคคลใดไม่เชื่อถืออารมณ์ ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ รู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ เป็นผู้สิ้นหวัง คลายความหวัง ย่อมเป็นบุรุษอันสูงสุด ดังนี้" จากพระพุทธพจน์ พอสรุปได้ว่า คำสั่งสอนในทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้รู้จักปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิต จนจิตวิมุตติหลุดพ้น ไม่กลับกลายอีกแล้ว เที่ยงตรงคงที่ (อกุปปธรรม) เจโตวิมุตติ ไม่ใช่ให้ยึดถืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดใดๆ ทั้งสิ้นเลย เป็นการสลัดคืนอย่างสิ้นเชิง บุคคลผู้มีจิตไม่เชื่อถือต่ออารมณ์ได้นั้น ต้องเป็นจิตที่ผ่านการอบรมจิตด้วยภาวนามยปัญญามาแล้วอย่างอุกฤษ จริงจัง จิตจึงจะมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้ ฉันใด เปรียบเหมือนศิลาแท่งทึบที่มีลมพายุพัดกรรโชกอย่างรุนแรงมาทั้ง ๔ ทิศ ก็ไม่อาจทำให้ศิลานั้นสั่นไหวได้ ฉันนั้น ส่วนกิเลสที่เป็นแขกจรคงหลอกจิตของตนให้หลงเชื่ออีกไม่ได้ และเป็นไปได้ยาก แต่การที่ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์และรู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์นั้น จิตต้องมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปด้วยราคะโทสะโมหะ จิตมีกำลังมากพอในการปล่อยวางหรือสลัดอารมณ์ออกไป ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ หรือรู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ได้ เพราะจิตของบุคคลนั้นมีปัญญาอย่างแท้จริง โดยการตรึกธรรมที่มีมาเฉพาะหน้า พิจารณาเหตุแห่งทุกข์คือสมุทัย จิตมีกำลังพร้อมละเหตุแห่งทุกข์นั้นได้ เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕ ปัญญาในพระพุทธศาสนา
🌷 ปัญญา ในพระพุทธศาสนา วันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่ (๒) ปีฉลู เจริญพร สุขสวัสดี แก่ญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย ที่ใฝ่ในธรรมและได้น้อมนำเอาเข้ามาใส่ในตน จึงได้รับรู้ว่า ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา ได้มีตัวอย่างที่มาในกาลามสูตร พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสอนชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล ที่ได้ทูลถามพระองค์ว่า มีคณาจารย์เจ้าลัทธิอื่นมากมายที่ได้ผ่านมา มักกล่าวอ้างว่า สิ่งที่ตนรู้ สิ่งที่ตนเห็น และสิ่งที่ตนสั่งสอนอยู่นั้น ถูกต้อง ส่วนคณาจารย์เจ้าลัทธิอื่นที่สอนอยู่นั้น ผิดหมด พระพุทธองค์ทรงสอนว่า เอถ ตุเมฺห กาลามา ๑. มา อนุสฺสเวน กาลามชน ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยฟังตามๆ กันมา ๒. มา ปรมฺปราย ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยถือสืบๆ กันมา ๓. มา อิติกิราย ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยมงคลตื่นข่าว ๔. มา ปิฏกฺสมฺปทาเนน ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยอ้างตำรา (ปิฎก) หรือคัมภีร์ ๕. มา ตกฺกเหตุ ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยเหตุนึกเดาเอา (ตรรกะ) ๖. มา นยเหตุ ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยการอนุมานเอา (คาดคะเน) ๗. มา อาการปริวิตกฺเกน ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยความตรึกตามอาการ ๘. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยเห็นว่าต้องกันกับลัทธิของตน ๙. มา ภพฺพรูปตาย ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้ ๑๐. มา สมโณ โน ครูติ ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา กาลามะทั้งหลาย เมื่อมีใครมาแนะนำสั่งสอนท่าน ท่านจงตั้งใจฟังด้วยดีและศึกษาด้วยดี แล้วน้อมนำเอามาสมาทาน ประพฤติปฏิบัติอย่างเต็มที่ เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ไม่ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติ บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อพ้นทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายจึงควรค่อยเชื่อก็ยังไม่สาย เมื่อมีพุทธพจน์กล่าวไว้ เราย่อมติตรองเห็นตามได้ว่า ศาสนาพุทธนั้นสอนให้เกิดปัญญา โดยไม่หลงใหลงมงายไปกับความเชื่อ ๑๐ ประการนี้ แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นไปตามพุทธโอวาทเลย เพราะชาวพุทธเรานั้นเชื่อง่ายเหลือเกิน ได้ปลงใจเชื่อไปแล้วเกือบทุกข้อที่มีในพุทธโอวาทเหล่านี้ อาจสืบเนื่องจากได้มีการอบรมสั่งสอนจากนักบวชหลายสำนักหลายรูปแบบ จนทำให้ชาวพุทธเราเกิดความลังเลสงสัย ตัดสินใจไม่ถูก เพราะเท่าที่มีมานั้นก็ตรงกับกาลามสูตรที่ทรงกล่าวไว้ จึงหันไปยึดถือเอาวัตถุแทนไปก็มี แต่เท่าที่มีอยู่ทุกวันนี้ ก็มีอยู่หลายรูปแบบไม่ใช่น้อย อย่างกลุ่มที่ใกล้วัด ไม่ใช่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้วัด คือพวกที่ปกติอยู่บ้านก็หมั่นสวดมนต์ กราบพระ นั่งสมาธิภาวนาเป็นประจำอยู่แล้ว กลุ่มนี้แม้จะเข้าวัดบ้างไม่เข้าวัดบ้าง ก็จัดว่าเป็นพวกใกล้วัด เพราะวางตนเองไว้ในความไม่ประมาทในชีวิต หวังเพียงเพื่อให้ได้เข้าใกล้พระนิพพานหรือถึงพระนิพพาน ถ้าเป็นได้ กลุ่มถัดมา คือกลุ่มติดวัด กลุ่มนี้ชอบเข้าวัดเป็นนิสัย เพราะเห็นว่าการได้เข้าวัด ได้ไหว้พระ ขอพรจากพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นมงคลเสริมสร้างให้แก่ตนเองและครอบครัว เห็นว่าพระนิพพานนั้นไกลเกินฝัน เอื้อมไม่ถึง จึงเอาแค่บุญกุศลจากการให้ทาน รักษาศีล เท่าที่ตนเองจะทำได้ ถึงจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง เดี๋ยวเข้าวัดก็ขอใหม่ได้ ชอบสะสมเสบียงบุญให้กับตนเองและครอบครัว ภาวนาก็เอาบ้างตามโอกาสที่มีเท่านั้น เมื่อกลับออกมาจากวัดแล้ว ก็วางสิ่งที่ได้มานั้นไว้ตรงไหนสักที่ กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มเฉียดวัด เป็นกลุ่มที่เข้าวัดตามเทศกาลที่มีเท่านั้น ทำทุกอย่างตามประเพณี ส่วนกลุ่มที่เหลือนอกจากนี้ เป็นกลุ่มที่ยังจมติดอยู่ในกาม ยังส่องเสพกาม ยังถูกกามวิตกกัดกิน กามวิตกฺเกหิ ขชฺชมาโน ยังถูกไฟกามแผดเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากามคุณ อันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย คู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ด้วยฉันทราคะ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าวัด หรือเฉียดวัดเลย ทาน ศีล ภาวนา ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่รู้จักบุญกุศลเหล่านั้น พอสรุปได้ว่า ทุกวันนี้ชาวพุทธเรายิ่งห่างไกลจากปัญญาทางพุทธศาสนา แต่กลับไปให้ความสำคัญกับปัญญาทางโลก ซึ่งเป็นเพียงแค่สัญญาอารมณ์ เป็นปัญญาที่เกิดจากความรู้ที่ได้รับมา แล้วนำมาคิด คิดแล้วคิดเล่า จนความคิดเหล่านั้นตกผลึก แล้วเข้าใจว่านั่นแหละเป็นปัญญา ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงสัญญาเท่านั้น นำมาใช้จริงยังไม่ได้ เมื่อกระทบกับอารมณ์จากภายนอกหรือภายในทันทีทันใด ก็พร้อมที่จะสะดุ้ง กระเพื่อม ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ความรู้สึกยินดียินร้ายเหล่านั้น แล้วนำเอาสัญญาอารมณ์ที่ตนเองรู้มานั้น มาเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่กระทบอยู่ เป็นอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ตนเองชอบ และประทับใจ จดจำได้เป็นถิรสัญญา เป็นการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ไม่ใช่การสลัดอารมณ์ออกไป ในทันทีทันใดที่กระทบ การสลัดอารมณ์ออกไปในทันทีทันใดที่กระทบได้นั้น นี่จึงจะเป็นปัญญาทางธรรมอย่างแท้จริง ที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมจิต ด้วยสมาธิภาวนาจนจิตของตน อ่อน ควรแก่การงานทางจิต สามารถปล่อยวาง หรือสลัดอารมณ์ที่มากระทบออกไปได้ เป็นวิมุตติจิต ที่หลุดพ้นจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย อุเปกฺขา สติ สงฺสุทฺธํ มีความวางเฉย สติบริสุทธิ์ ดังนี้ สมาธิในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ เป็นสิกขา ๑ ในสิกขา ๓ เป็นมรรคจิต (ทางเดินของจิต) ที่จะนำไปสู่ความเป็นอริยเจ้า เป็นหัวใจสำคัญในการนำจิตของตนเข้าถึงความบริสุทธิ์หมดจดอันคงที่ ไม่กลับกลายอีกแล้ว เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มุ่งมั่นตั้งใจลงมือปฏิบัติแบบจริงจังแบบเอาชีวิตเข้าแลก เป็นสมาธิที่เป็นสัมมา สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเกิดแต่วิเวก ทำให้จิตมีพลังในการสลัดปล่อยวางความยินดียินร้าย และความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย (อาการของจิต) ออกไปจากจิตได้ ในขณะที่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเข้ามากระทบจิต ผู้ใดสามารถฝึกฝนอบรมจิต ปฏิบัติธรรมสัมมาสมาธิจนชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง ไม่ว่าจะที่ดีหรือที่ชั่ว สุขหรือทุกข์ ย่อมไม่สามารถครอบงำจิต ไม่สามารถปรุงแต่งจิตของผู้นั้น ให้กระสับกระส่าย สับสน วุ่นวาย ฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปตามอารมณ์ได้อีกต่อไป เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ได้สมาบัติ (ความสงบอันพึงเข้าถึง) เป็นเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวันของตน สัมมาสมาธิ ฌานที่ ๔ นั้น มีคุณลักษณะดังนี้ คือ "ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสแต่เก่าก่อนได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่" เป็นสภาวะธรรมที่เรียกว่า รู้สักแต่ว่ารู้ (ญาณะมัตตายะ) จิตมีพลังปล่อยวางสลัดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไป เป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เป็นตทังควิมุตติ เข้าสู่ความสงบตั้งมั่น เยือกเย็น ในพระพุทธศาสนาได้โดยแท้จริง การที่จิตได้รู้จักตทังควิมุตตินั้น ต้องถือว่าเป็นคุณอย่างมหันต์ จิตได้สัมผัสกับสุขที่ปราศจากอามีส สงบถึงขีดสุด เมื่อได้รู้จักแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญคือหมั่นตรึกธรรมที่มีมาเฉพาะหน้านั้น จนชำนาญเป็นวสี เป็นวิปัสสนาเครื่องทำลายอวิชชา ดั่งมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ใน "สมาธิสูตร" ดังนี้ "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้" เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์อย่างรอบคอบ จะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง คำว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" นั้นคือ วิปัสสนา (ปัญญา) เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ เห็นที่ใช่ รู้จักที่ไม่ใช่ เห็นคุณ เห็นโทษ รู้เหตุเกิด ความดับ ของอายตนะทั้งหลาย รู้เห็นอย่างไรจึงเรียกว่า "รู้เห็นอย่างวิเศษ" ก็คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า - อารมณ์ทั้งปวง ไม่ว่าดี ชั่ว สุข ทุกข์ หยาบ ละเอียด (รูปฌาน อรูปฌาน) ล้วนเป็น ทุกข์ - เมื่อรู้แล้วว่า อารมณ์ทั้งหลายที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นล้วนเป็นทุกข์ ควรละความทะยานอยาก สมุทัย - เหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นเสีย - เพื่อถึง นิโรธ - ความดับทุกข์ทั้งปวงได้ - ด้วยมรรค - ทางดำเนินไปเพื่อความดับทุกข์ มีพระบาลีธรรมบทกล่าวไว้ว่า "เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ แปลว่า ที่นี่สงบหนอ (แม้กระทั่งลมหายใจ) ที่นี่ประณีตหนอ ณ ที่นี้ สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงดับเงียบ คืนความยึดติดทั้งปวงออกไป สิ้นตัณหา สิ้นความยินดี กิเลสดับ เป็นนิพพาน (สิ้นทุกข์)" หากเราสามารถสร้างสติ (สัมมาสมาธิ) และประคองจิตไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติ (สติปัฎฐาน) ได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ แล้ว จิตของตนย่อมสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อประคองจิตที่มีสติให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างต่อเนื่อง จิตย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดวิปัสสนา (ปัญญา) สืบเนื่องจากจิตของตนมีปัญญารู้ว่า ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ จึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ ที่นั่นวุ่นวายหนอ ที่นั่นขัดข้องหนอ ในการฝึกปฏิบัติธรรมกรรมฐานเพียรประคองจิตของตนอยู่นั้น บางครั้งบางขณะที่จิตมีสติ (ระลึกรู้) อยู่ จิตอาจจะเกิดเผลอไผลส่งออกไปในอารมณ์ที่น่ายินดีน่ารักใคร่ หรืออารมณ์ที่ไม่น่ายินดีไม่น่ารักใคร่ จะมาจากภายนอกก็ดี หรือเกิดขึ้นจากสัญญาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ณ ภายในจิตเองก็ดี หากระลึกนึกขึ้นมาได้ และสามารถดึงจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้ในขณะนั้น และยกจิตของตนที่ส่งออกไปจากฐานที่ตั้ง ให้กลับมาวางอยู่ที่ฐานแห่งความสงบ (สติ) ดังเดิมได้ นี้จึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา (ปัญญา) ในเบื้องต้น ฐาน คือ ที่ตั้งของสติ ที่ระลึกรู้อยู่ในขณะนั้นๆ (สติปัฏฐาน) อันมีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือองค์ภาวนาต่างๆ เป็นอุบาย (กายสังขาร) เพื่อให้จิตของตนได้ฝึกฝนเกาะเกี่ยวจนเป็นสมาธิ การยกจิตของตนให้กลับมาสู่ฐานที่ตั้งของสติที่ได้เคยอุปโลกน์ไว้นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เกิด "ปัญญา" สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะที่จิตยึดถืออยู่นั้นออกไปได้ กลับมาสู่ฐานของสติอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่ฝึกอบรมใหม่ๆ แต่เมื่อฝึกอบรมจิตให้กระทำบ่อยๆ กระทำให้มาก เจริญให้มาก ปัญญาที่เกิดขึ้นย่อมเป็นปัญญาที่แหลมคมยิ่งๆ ขึ้นไปเอง ขณะที่เราสามารถยกจิตกลับมาตั้งไว้ที่ฐานสติได้อย่างแม่นยำต่อเนื่องเนืองๆ จนกระทั่งจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นเป็น "สมาธิ" จิตของตนย่อมรู้เห็นอย่างวิเศษ (วิปัสสนา - ปัญญา) ว่าขณะนี้จิตของตนเป็นสุขที่ปราศจากอามีส เกิดขึ้นจากความสงบตั้งมั่นอยู่นั้น ต่างจากเมื่อครู่ที่จิตของตนได้ซัดส่ายวุ่นว่ายส่งออกไปยึดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นแขกจรเข้ามา ย่อมรู้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างจิตที่มีความสงบตั้งมั่น กับจิตที่ซัดส่าย สับสน วุ่นวายได้ ตามความเป็นจริง เมื่อกระทำให้มาก กระทำบ่อยๆ เจริญให้เกิดขึ้น จนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว ก็นำผลที่ได้จากการปฏิบัติมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา - ปัญญา) ขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อกระทบอารมณ์ทางอายตนะ ๖ มีอาการของจิตเกิดขึ้น กระเพื่อมไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง รัก ชอบ ชัง จิตย่อมระลึกรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา - ปัญญา) ว่าขณะนี้จิตสับสน ซัดส่าย วุ่นวายไปตามอารมณ์เหล่านั้น (สุข ทุกข์) ให้รีบนำจิตกลับมาสู่ความสงบตั้งมั่นให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกำลังสติขณะแห่งจิตเป็นสมาธินั้น (ขณิกสมาธิ) โดยนำจิตของตนมาวางไว้ที่ฐานแห่งความสงบ ที่มีสติตั้งมั่น ที่จิตของตน ได้เคยฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ใครที่ยังคิดว่า สมถะ (สมาธิ) และวิปัสสนา (ปัญญา) ต้องแยกกันปฏิบัตินั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เมื่อจิตรู้จักความสุขที่เกิดแต่ความสงบตั้งมั่นอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมต้องรู้ชัดถึงสภาวะจิตที่กระเพื่อมซัดส่าย ส่งออก สับสน วุ่นวาย ว่าต่างกันอย่างไร จึงเป็นวิปัสสนา - ปัญญาที่เกิดจากจิตที่รู้จักฐานสติสงบตั้งมั่นเป็นอย่างดี เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางอายตนะทางใดทางหนึ่ง จิตที่อบรมดีแล้ว ย่อมรู้จักคุณและโทษ ความเกิดและความดับของอายตนะนั้น สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้ในทันทีทันใด นี่จึงเป็นปัญญาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจกันผิดๆ ไปจากความเป็นจริง อันเกิดจากการนึกคิดที่คิดแล้วคิดเล่า เฝ้าแต่คิด จนความนึกคิดเหล่านั้นตกผลึก อันนั้นเราเรียกว่า "สัญญาอารมณ์" ส่วน "วิปัสสนา - ปัญญา" ที่จิตของตนสามารถสลัดปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริงของจิตที่มีกำลังสติเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก กระทำให้มาก กระทำบ่อยๆ จนชำนาญคล่องแคล่วในการปล่อยวาง ย่อมละสังโยชน์ได้ "สัญญาอารมณ์" ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดบ่อยๆ จนจำได้อย่างแม่นยำเป็นถิรสัญญา ผลที่ได้คือ "สักๆ แต่ว่ารู้" เป็นการเปลี่ยนผ่านอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างรวดเร็ว ทำเป็นว่าไม่ได้สนใจในอารมณ์เหล่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง จิตได้รับและยึดอารมณ์เหล่านั้นเข้ามาเสียแล้ว เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกมาทางสีหน้าให้เห็นถึงอาการของจิตที่กระเพื่อมอยู่ ณ ภายในจิตของตน พูดหรือแสดงออกให้ดูดีด้วยวาจาเพราะๆ ด้วยคำว่า "สักแต่ว่า" เมื่อกล่าวถึง "ปัญญา" แล้ว มีพระพุทธพจน์ (พระธรรมบท - มรรควรรค) ตรัสรองรับไว้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ดังนี้ว่า "โยคาเว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริ สงฺขโย เอตํ เทฺวตปถํ ญตฺวา ภวาย วิภาวย จตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ ปัญญาเกิดขึ้น เพราะความประกอบ ไม่ประกอบ ปัญญาก็หมดสิ้นไป บุคคลผู้รู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ" ยังมีพระสูตร (นาวาสูตร) ที่ทรงตรัสรองรับและเชื่อมโยงกัน ไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบภาวนานุโยคอยู่ จะพึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมไม่พ้นไปจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะเธอไม่อบรม เพราะไม่อบรมอะไร เพราะไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะไม่อบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะไม่อบรมอิทธิบาท ๔ เพราะไม่อบรมอินทรีย์ ๕ เพราะไม่อบรมพละ ๕ เพราะไม่อบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะไม่อบรมอริยมรรคมีองค์ ๘ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบภาวนานุโยคอยู่ ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะว่าเธออบรม เพราะอบรมอะไร เพราะอบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะอบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะอบรมอิทธิบาท ๔ เพราะอบรมอินทรีย์ ๕ เพราะอบรมพละ ๕ เพราะอบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘" "บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ" นี่คือ "ปัญญาในพระพุทธศาสนา - ธรรมอันงามในที่สุด" ซึ่งแตกต่างไปจาก ความเฉลียวฉลาด หรือ "ปัญญาในทางโลก" อย่างสิ้นเชิง ปัญญาในพระพุทธศาสนานั้น เป็นความสามารถของจิตในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" คือ รู้ว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ และสามารถนำจิตของตนไปสู่ ที่นี่ประณีตหนอ ที่นี่สงบหนอ ได้ในทันทีทันใดเมื่อกระทบอารมณ์ เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ตามที่พระสูตรได้กล่าวไว้ นั่นคือ จิตของตนต้องได้รับการอบรมฝึกฝนสมาธิอย่างจริงจังต่อเนื่อง จนจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว จิตย่อมเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้ในทันที ชั่วขณะจิตเดียว เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕ มาสร้างสติแนบกาย เพื่อชีวิตที่ดีรับปีใหม่
🌷 มาสร้างสติแนบกาย เพื่อชีวิตที่ดีรับปีใหม่ วันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) ปีฉลู เจริญสุข สวัสดี ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้ อาตมาภาพขออาราธนาคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ขอพระรัตนตรัย จงประทานพรใดอันประเสริฐ พรนั้นจงสถิตอยู่กับสาธุชนทั้งหลายทุกๆ ท่านเถิด พรที่ญาติโยมทั้งหลายได้รับแน่ๆ ก็จากการได้ฟังพระธรรมเทศนา แล้วน้อมนำเข้ามาใส่ตน โอปนยิโก เพราะเป็นนิยานิกธรรม เป็นธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ต้องอาศัยความเพียรเพ่ง พยายามสร้างสติให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ แต่ในปัจจุบันนี้นั้น ญาติโยมพุทธบริษัทส่วนใหญ่มักให้ความใส่ใจในพิธีกรรมและความเชื่อทางศาสนาชนิดปลงใจเชื่อในแบบสืบต่อๆ กันมา หรือฟังตามๆ กันมา หรือไม่ก็เป็นแบบมงคลตื่นข่าว ซึ่งไม่เคยที่จะได้สอบสวน เทียบเคียง ตรวจสอบ ที่มาที่ไปให้ดีเสียก่อน ถามว่าเป็นเรื่องเสียหายมั้ย ต้องว่าไม่ ถ้าเรื่องดังกล่าวที่ว่ามานั้น ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการหลอกลวงให้เสียทรัพย์สินเงินทอง หรือเสียผู้เสียคน ไปด้วยความโลภ ความหลงงมงาย พระพุทธองค์จึงได้ทรงสอนให้มีสติ หรือการสร้างสติให้เกิดขึ้นมีขึ้นในตน เมื่อเราขาดสติเป็นตัวกำกับเสียแล้ว จิตของเราย่อมตกไปในทางจมติดอยู่กับโลก พร้อมที่จะเชื่ออะไรง่ายๆ พร้อมที่จะหลงใหลได้ปลื้มไปกับสิ่งต่างๆ ได้ง่ายเช่นกัน ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เป็นเครื่องครอบคลุม ห้อมล้อมเราไว้ ทุกวันนี้จึงได้มีการเข้าวัด เพื่อแสวงหาสิ่งดีๆ ที่เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นมงคล เพื่อไม่ให้ชีวิตของตนเองนั้น ต้องตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และขอให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอย่างมากๆ คือพูดง่ายๆ คือ คำว่า ขอให้รวย ขอให้รวย นั่นเอง เสียเป็นส่วนมาก แต่ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งที่เข้าวัดเพื่อแสวงหาหวังการหลุดพ้นจากทุกข์จริงๆ แต่ที่หวังหลุดพ้นนั้นโดยมากเพียงขอให้หลุดพ้นจากสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นมงคล เป็นอุปสรรคกับตนเท่านั้น พระท่านเองก็พยายามที่จะชี้แนะให้ญาติโยมได้รู้ได้เห็นถึงความสำคัญของทาน ศีล ภาวนา นั่นแหละที่แก้ได้ทุกอย่างซึ่งเป็นเรื่องราวในโลก โดยไม่ต้องร้องขอ สวดอ้อนวอน หรืออธิษฐานใดๆ เลย เพราะทานที่เราได้ทำไว้นั้น ย่อมให้ผล บุคคลที่รวยด้วยทรัพย์สมบัติต่างๆ นั้น ไม่ใช่เกิดจากการร้องขอ อ้อนวอน หรืออธิษฐานใดๆ เลย แต่เกิดจากการที่ตนเองได้เคยสร้างสมทานบารมีไว้เป็นเสบียงทิพย์มาก่อน เมื่อถึงคราวถึงวาระ ทานบารมีหรือเสบียงทิพย์นั้นจึงให้ผล แต่กลับเข้าใจไปเองว่าเกิดจากการที่ตนเองร้องขอสวดอ้อนวอน อธิษฐานเอา เพียงเพื่อให้บุคคลอื่นเกิดการอิจฉาตาร้อนในโชคลาภของตนเท่านั้น ส่วนศีลนั้นถ้าใครรักษาไว้ได้ ย่อมทำให้งามทั้งกายวาจาและจิตใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การภาวนา ในตำราพุทธศาสนา ท่านให้ความหมายไว้ว่า การทำให้มี ให้เป็น การทำให้เกิดขึ้น การเจริญ การบำเพ็ญ การพัฒนาทั้งหมดนี้ คือ การกระทำหรือพัฒนาให้จิตของตน มีสติแนบอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรม หรือที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ จึงได้น้อมนำเอาประโยชน์ของสติปัฏฐาน ๔ คือ มีสติแนบอยู่ที่ฐานของที่ตั้งสติอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ดังนี้ 🌷 สติปัฏฐาน ๔ (การใช้สติอย่างไม่ขาดสายให้เข้าไปตั้งอยู่ในที่ ๔ แห่ง) คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้เสด็จออกประกาศเป็นศาสนาไปในอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลของชมพูทวีป หรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีชื่อเรียกได้หลายอย่างตามความเหมาะสม และขนบธรรมเนียมในท้องถิ่นที่ทรงผ่านไปนั้นๆ เช่น ทางสายกลางบ้าง ทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์บ้าง อริยมรรคบ้าง มรรคมีองค์ ๘ บ้าง ศีลสมาธิปัญญาบ้าง ซึ่งพระอรรถกถาจารย์เรียกว่า วิปัสสนา ดังนั้น สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นที่สนใจและยอมรับของชาวพุทธ นักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่รวบรวมข้อปฏิบัติทั้งหลายไว้ด้วยกันอย่างถูกต้องและครบถ้วนที่สุด เพราะฉะนั้น พระสูตรดังกล่าวนี้ จึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญในพระศาสนา ที่ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ผู้ใดไม่ได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติจริง ประโยชน์ย่อมผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดายที่สุด เหมือนดังไม่ได้พบพระศาสนาทีเดียว ที่ว่าใช้สติอย่างไม่ขาดสายให้เข้าไปตั้งอยู่ในที่ ๔ แห่ง คือ เมื่อมีสิ่งใดหรืออารมณ์อย่างใดเกิดขึ้นก็ตาม ให้รักษาควบคุมสติให้ตั้งมั่นอยู่ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรม แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยไม่ให้คลาดเคลื่อนไปอยู่ที่อื่นเลย จึงสามารถตัดอารมณ์กับอาการปรุงแต่งอันเนื่องจากอารมณ์ต่างๆ ได้ ถ้าสามารถรักษาสภาวการณ์เช่นนี้ไว้ได้ตลอดไปแล้ว จิตก็หลุดพ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ฐานทั้ง ๔ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเลือกฐานใดไว้เป็นที่ตั้งของสติก็ตาม ย่อมกระเทือนและส่งผลกระทบไปถึงฐานอื่นที่เหลือ และทำให้ผู้ปฏิบัติคลายความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์กับการปรุงแต่งอันเนื่องจากอารมณ์ (โลก) ตามลำดับเหมือนกันหมด ทั้งนี้เป็นเพราะอารมณ์ทั้งหลายซึ่งจะเข้ามาถึงจิตนั้น จะต้องผ่านเข้ามาทางฐานกาย เมื่อกระทบอายตนะทางกายแล้ว ก็ย่อมเกิดความรู้สึกทุกข์สุขทางฐานเวทนา เมื่อรู้สึกทุกข์สุขทางเวทนาแล้ว ก็ย่อมปรุงแต่งฐานจิต ให้ยินดียินร้ายขึ้น เมื่อฐานจิตเกิดยินดียินร้าย ก็ย่อมมีสิ่งต่างๆ จากภายนอกมาประกอบเป็นฐานธรรมขึ้น ซึ่งจะต้องละวางออกไปให้หมดสิ้น จนจิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากความเศร้าหมองเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิงในที่สุด 🌷 ธรรมะที่เกื้อกูลการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จากที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นได้ว่าในขณะที่อารมณ์เข้ามากระทบอายตนะทางหนึ่งทางใดนั้น ย่อมกระเทือนฐานทั้ง ๔ อย่างทั่วถึงกันเข้าไปสู่จิต และย่อมทำให้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ออกมามากบ้างน้อยบ้าง ตามความรุนแรงและความประทับใจที่มี ดังนั้น คุณธรรมเรื่องขันติ (ความอดทน) จึงมีความจำเป็นสำหรับรองรับในเบื้องต้น ในเมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ หมายความว่า ถ้าขาดคุณธรรมเรื่องขันตินี้เสียแล้ว การปฏิบัติสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาจะไม่มีทางสำเร็จได้โดยง่าย ได้แก่ ตีติกขาขันติ อดทนต่ออารมณ์ที่เข้ามายั่วยวน ยั่วยุ อย่างหนึ่ง อธิวาสขันติ อดทนต่อความลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วย และทุกขเวทนาต่างๆ และธีติขันติ อดทนต่อความหนาวร้อน หิวกระหาย และหน้าที่การงาน รวม ๓ ประการเหล่านี้ด้วย 🌷 อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ มี ๒๑ บรรพะ แบ่งออกเป็น กายานุปัสสนา (ฐานกาย) มี ๑๔ บรรพะ ดังนี้คือ อานาปานสติ ๑ อิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ ๑ ปฏิกูล ๑ ธาตุ ๑ และป่าช้า ๙ เวทนานุปัสสนา (ฐานเวทนา) มี ๙ ข้อ แต่นับรวมเป็นบรรพะเดียวกัน จิตตานุปัสสนา (ฐานจิต) มี ๑๖ ข้อ แต่นับรวมเป็นบรรพะเดียวกันะ ธัมมานุปัสสนา (ฐานธรรม) มี ๕ บรรพะ คือ นิวรณ์ห้า ๑ ขันธ์ห้า ๑ อายตนะหก ๑ โพชฌงค์เจ็ด ๑ อริยสัจสี่ ๑ เมื่อรวมทั้ง ๔ ฐานแล้ว จึงมีอารมณ์รวม ๒๑ บรรพะ สำหรับใช้เป็นที่ตั้งของสติเวลาปฏิบัติ ซึ่งต่างกว่าอารมณ์สมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ที่มาในวิสุทธิมรรคของพระอรรถกถาจารย์ ที่ไม่มีกสิณ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อรูป ๔ รวมอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงที่อยู่อาศัยของจิตเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติยังติดข้องอยู่ จิตนั้นก็ชื่อว่าเป็นสัตว์อยู่ แต่ถ้าปล่อยวางเสียได้ก็ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังที่ตรัสไว้ในตอนต้นของพระสูตรว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา แปลว่า เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย นั้นทีเดียว สำหรับอารมณ์สมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ที่มีมาในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นปกรณ์พิเศษนอกพระไตรปิฎกนั้น มีกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อรูป ๔ รวม ๔๐ อย่างเหล่านี้ มีผลเพียงทำให้จิตผู้ปฏิบัติสงบนิ่งอยู่กับอารมณ์ และยึดอารมณ์นั้นๆ อย่างเหนียวแน่น ดังนั้นจึงไม่เกิดปัญญาปล่อยวางแต่ประการใด ด้วยเหตุนี้ผู้ที่หวังความหลุดพ้น จึงต้องเพิกอารมณ์เหล่านี้เสีย แล้วหันมาใช้อารมณ์ ๒๑ บรรพะ อย่างใดอย่างหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น อารมณ์ข้ออสุภะ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อานาปานสติ ๑ ในสมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ดังกล่าวเหล่านี้ พอจะสงเคราะห์เข้ากับอารมณ์ในกายานุปัสสนาได้ เพราะเหมือนกัน จึงเป็นบาทฐานให้เกิดปัญญาได้ อารมณ์ที่มีอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ รวม ๒๑ บรรพะ ดังที่กล่าวมาแล้วเหล่านี้ สงเคราะห์ลงเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยมีสัมมาสมาธิเป็นประธานได้ เมื่อจิตมีสมาธิอยู่ อกุศลก็ย่อมเข้าปรุงแต่งไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติให้ต่อเนื่องเป็นประจำจนเคยชิน สำรวมระวังตัวอยู่เป็นประจำ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติของตนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำบ้างหยุดบ้าง แบบที่เรียกกันว่า ไปเข้ากัมมัฏฐานอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ออกจากกัมมัฏฐานเสียเด็ดขาด คือทิ้งวิธีปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง ไม่ฝึกใช้สติกำกับการกระทำต่างๆ ไว้ด้วยตลอดเวลา กิเลสทั้งหลายก็ย่อมพากันหลั่งไหลเข้าสู่จิตของผู้นั้น ตอนออกจากกัมมัฏฐานนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ๔ ขึ้น เพื่อให้ผู้ที่นับถือปฏิบัติ ใช้สติตามระลึกอย่างไม่ขาดสายเข้าไปในอารมณ์ที่มีอยู่ในฐานทั้ง ๔ จะได้ไม่เปิดโอกาสให้กิเลสเข้าสู่จิตได้แม้แต่วินาทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการออกจากกัมมัฏฐานตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ที่วัดหรือที่บ้านก็ปฏิบัติได้ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ที่วัดหรือสำนักใดก็ได้ เพียงแต่ปฏิบัติจนรู้จักจิต จับทางเดินของจิต และจำทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยำ ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการนับถือพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว ใครปฏิบัติมาก สำรวมระวังจิตไว้ดี ก็ย่อมได้ประโยชน์มาก ใครปฏิบัติน้อย สำรวมระวังไม่ดี ก็ย่อมได้ประโยชน์น้อย และใครไม่ปฏิบัติเลย ขาดความสำรวมระวังจิตอย่างสิ้นเชิง ก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากการนับถือพระพุทธศาสนานี้ ไม่ได้อยู่ที่การบวชและห่มผ้าเหลืองแต่ประการใดทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักธรรมเรื่องสติปัฏฐาน ๔ จึงสามารถตรวจสอบที่จิตของตนเองว่า เมื่อมีอารมณ์มากระทบเมื่อใดแล้ว มีพลังสลัดความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นหรือไม่ กล่าวคือตัดความยินดียินร้ายออกไป และทำให้จิตสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ได้หรือไม่ ดังนี้ 🌷 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ยกเอาสติตามรู้ตามเห็น เข้าไปในธรรมทั้งหลาย) เป็นสติปัฏฐานข้อสุดท้าย ซึ่งมีอยู่ ๕ บรรพะ ด้วยกัน คือ นิวรณ์ห้า ๑ ขันธ์ห้า ๑ อายตนะหก ๑ โพชฌงค์เจ็ด ๑ อริยสัจสี่ ๑ ดังที่ได้เคยยกมาแสดงไว้ตอนต้นนี้แล้วว่า การปฏิบัติสติปัฏฐานข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม ย่อมมีผลทําให้กระเทือนถึงกันและกันโดยตลอด ดังนั้น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานจึงเป็นบทสรุปว่า จิตบริสุทธิ์หลุดพ้น ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดียินร้าย เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางอายตนะใดก็ตาม เพราะจิตได้รับการอบรม จนมีพลังปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ได้อย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น แต่ละบรรพะที่กล่าวถึงนี้ จึงมีองค์ธรรมและสภาวะธรรมเหมือนกัน และสามารถใช้ตรวจดูจิตใจของตนเองว่า จิตใจมั่นคงเพียงใดอย่างหนึ่ง หรือตรวจดูอาการยินดียินร้ายของจิต ที่เนื่องมาจากอารมณ์กระทบอีกอย่างหนึ่ง นิวรณ์ ๕ (เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ๕ ประการ) เมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต ก็ย่อมผลักดันให้เริ่มแสดงอาการหวั่นไหวทางจิตขึ้นก่อน ซึ่งเรียกว่า นิวรณ์ ดังนั้น ถ้ายังมีนิวรณ์อยู่ตราบใด จิตก็ไม่มีโอกาสเป็นสมาธิอยู่ตราบนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้วิธีทํานิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิด รู้วิธีละนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และรู้จักทํานิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดอีกต่อไป ถ้าทําได้ดังนี้แล้ว ก็ย่อมสิ้นสุดกิจในการปฏิบัติแล้ว ขันธ์ ๕ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รูปนาม ก็ได้ เมื่อมีอารมณ์ (รูป) มากระทบจิต ความรู้สึก ความจําได้หมายรู้ และความนึกคิด อันเนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆ (นาม) ย่อมเกิดขึ้นด้วยเป็นธรรมดา ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญสมาธิ จนทําให้พลังสติสามารถปล่อยวางรูปนามที่เกิดขึ้นได้ ก็ย่อมพ้นทุกข์ แต่ถ้าพลังสติยังไม่สูงพอที่จะปล่อยวางรูปนามได้แล้ว ก็ยังไม่พ้นทุกข์ เมื่อจิตพ้นทุกข์ได้แล้ว รูปนามก็ดับไปเอง แต่จิตหลุดพ้นจากการเข้าไปยึดถือรูปนาม กลายเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในที่สุด และสิ้นสุดกิจในการปฏิบัติแล้ว อายตนะ ๖ (ช่องทางสําหรับรับรู้อารมณ์ต่างๆ ของจิต ๖ ช่อง) อายตนะ ๖ นี้ อุปมาเหมือนกับคนที่ชะโงกดูทิวทัศน์ทางหน้าต่างของบ้านที่มีอยู่ ๖ หน้าต่างด้วยกัน ดังนั้น หน้าต่างจึงเป็นเพียงช่องทางให้คนดู แลเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกบ้านเท่านั้น ถ้าปิดหน้าต่างเสียให้หมด คนดูก็ยังคงอยู่ในบ้านและรู้ว่ามองไม่เห็นอะไร ข้อนี้ฉันใด จิตก็อาศัยอายตนะ ๖ ช่องนี้ สําหรับรับรู้อารมณ์ภายนอก ถ้าออกไปรับรู้ทางตาก็เป็นจักขุวิญญาณ ทางหูก็เป็นโสตวิญญาณ ทางจมูกก็เป็นฆานวิญญาณ ทางลิ้นก็เป็นชิวหาวิญญาณ สัมผัสทางกายก็เป็นกายวิญญาณ นึกคิดทางใจก็เป็นมโนวิญญาณ แตกต่างกันโดยชื่อช่องทาง แต่จิตผู้รู้เป็นดวงเดียวกัน ข้อนี้ก็ฉันนั้น เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ที่น่ารักน่ายินดีขึ้นทางช่องทางใดปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า ก็ให้ดับเสียที่ตรงนั้น บรรพะนี้เน้นหนักให้ใช้สติระวังช่องทางรับรู้อารมณ์ไว้ตลอดเวลา จิตก็หลุดพ้น โพชฌงค์ ๗ (องค์ธรรมที่ทําให้ตรัสรู้ ๗ ประการ) เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ให้ใช้สติระลึกรู้ตัวเท่าทัน เป็นสติสัมโพชฌงค์ รู้ว่าอารมณ์และอาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เพียรละความฟุ้งซ่านหวั่นไหวที่เกิดขึ้นเนื่องจากนั้น เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ ละได้สําเร็จและเกิดความอิ่มอกอิ่มใจขึ้น เป็นปีติสัมโพชฌงค์ ละปีติที่เกิดขึ้นได้อีก ก็เกิดความสงบเยือกเย็น เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จิตสงบเป็นสมาธิและเกิดพลังปัญญาขึ้นด้วย เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ ใช้พลังปัญญาวางเฉยต่ออารมณ์นั้นเสียได้ เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ รวมทั้งรู้วิธีที่จะทําให้สัมโพชฌงค์แต่ละอย่างเกิดขึ้น และมีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งทําให้จิตตรัสรู้เป็นพุทโธ (โพชฺฌ คือ พุทฺธ นั่นเอง) อริยสัจ ๔ เป็นหลักในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ได้ทรงแยกทางเดินของจิตไว้เป็นสองทาง คือ ทางเดินไปสู่ทุกข์ กับ ทางเดินที่ทําให้พ้นทุกข์ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามรู้จักและเดินตามได้อย่างถูกต้อง ดังรายละเอียดต่อไปนี้ คือ ๑. จิตที่แส่ออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอกและเกิดความยินดียินร้าย เป็นสมุทัย ๒. อารมณ์ที่รับเอาเข้ามาทําให้เกิดความวุ่นวาย เป็นทุกข์ ๓. เมื่อปฏิบัติสมาธิแล้วเห็นอาการของจิตต่างๆ เป็นมรรค ๔. ปล่อยวางความยินดียินร้ายเสียได้ เป็นนิโรธ คำว่า นิโรธ นี้ แปลว่า ดับความยินดียินร้ายหรือดับตัณหาลงได้อย่างสิ้นเชิง แต่ในปฐมเทศนานั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า นิโรโธ สจฺฉิกาตพฺโพ แปลว่า กระทํานิโรธให้แจ้ง ดังนั้น จึงทรงหมายความว่า นิโรธ คือพระนิพพาน นั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อหมายความถึงพระนิพพานแล้ว จะแปลว่า ดับ ไม่ได้ทีเดียว ต้องแปลว่า ทําให้แจ้ง คือ เปิดสภาพเดิมอันผ่องใสประภัสสรของจิตให้ปรากฏแจ้งชัดขึ้น อุปมาดังเมฆหมอกเคลื่อนตัวออกไป เปิดสภาพอันสว่างโพลงของดวงอาทิตย์ให้แจ่มแจ้งขึ้นตามเดิม ฉะนั้น 🌷 🌷 🌷 ความหมายของสติปัฏฐาน จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ คือ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ ข้อปฏิบัติมีสติเป็นประธาน การตั้งสติที่ฐาน รู้ทันโดยปัญญาพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง การมีสติกำกับดูสิ่งต่างๆ และความเป็นไปทั้งหลายโดยปัญญารู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้ายที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจกิเลส การจะรู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริงได้นั้น เราต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้มีสติแนบกายกำกับไว้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ เท่าที่มีความหมั่นเพียรสามารถที่จะทำได้ แต่ต้องหมั่นกระตุ้นตนเองบ่อยๆ ในขณะที่ความหมั่นเพียรย่อหย่อนลง ทำให้รู้จักจิตของตนเองได้ดีขึ้น ดังมีบาลีธรรมบทดังนี้ อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ เมื่อปฏิบัติจนเข้าถึงจิตตัวในแล้ว เราย่อมเข้าสู่ความสงบ เมื่อจิตของตนรู้จัก ที่นี่สงบหนอ เอตํ สนฺตํ ที่นี่ประณีตหนอ เอตํ ปณีตํ ย่อมต้องรู้จักอารมณ์ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ บุคคลเช่นนี้ย่อมได้สมาบัติ (ภาวะสงบประณีต) ซึ่งพึงเข้าถึง อันเป็นธรรมเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน ย่อมมีสติ มีสัมปชัญญะ ข้อนี้เป็นเพราะ บุคคลนั้นกำหนดนิมิตหมายแห่งจิตของตนได้ คือ รู้จักฐานที่ตั้งของสตินั่นเอง เมื่อสติเกิดขึ้นแล้ว คุณธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้นย่อมเป็นไปในฝ่ายกุศลเท่านั้น มีระเบียบและพิจารณาดำเนินการสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมออกมาในทิศทางที่ถูกต้องไปด้วย เป็นธรรมดา ในปัจจุบันนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่กำลังพากันหลงลืมงานสร้างสติให้เกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งกับชีวิตความเป็นอยู่ของตนทั้งภพนี้และภพหน้า กลับไปให้ความสนใจกับการให้ทาน เพื่อแข่งขันอวดบารมี ความร่ำรวยที่ฉาบฉวยใส่กันเท่านั้น แล้วศีลล่ะ ก็รับๆ ไปตามประเพณีนิยมที่ทำกัน เป็นการรับมาเพื่อกองไว้จนสูงเท่าภูเขาเลากา โดยไม่เคยคิดจะรักษาไว้ เพื่อไม่ให้ขาดทะลุ หรือด่างพร้อยเลยโดยเฉพาะข้อที่ ๔ มุสาวาทาเวรมณี ซึ่งชาวพุทธเราตกข้อนี้เสียส่วนใหญ่ มีพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลยังไม่ละธรรมข้อหนึ่ง คือการพูดปด (มุสาวาท) ทั้งๆ ที่รู้อยู่ เราย่อมไม่กล่าวว่า มีบาปกรรมอะไรบ้าง ที่บุคคลผู้นั้นจะทำไม่ได้ ปีใหม่นี้ อาตมาภาพขอเชิญชวนให้ชาวพุทธทั้งหลาย หันกลับมาสนใจในการสร้างสติให้กับตนเอง เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของครอบครัวที่ดีขึ้น เพราะเป็นการลงทุนน้อยที่สุด แต่ให้ผลมากที่สุด โดยการลงทุนไปนั้น ก็ไม่เป็นหมัน ไม่สูญเปล่า ไม่หายไปไหน ลงทุนมากได้มาก ลงทุนน้อยได้น้อย ทุนที่ต้องลงไปนั้น ก็แค่วันเวลาที่ผ่านไป เรากลับมาทำให้เกิดประโยชน์ มีสติคอยระลึกรู้อยู่ที่กายที่รู้สึกได้ถึงลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ลมหายใจเข้าออกนั้น ก็เป็นเครื่องมือที่มีอยู่แล้วทุกๆ คน โดยไม่ต้องจัดหามา เมื่อระลึกรู้อยู่ที่กาย ณ จุดใดที่ชัดเจน ก็คอยหมั่นประคองจิตของตนให้รู้ชัดอยู่ตรงนั้น ที่เรียกว่า นิมิตหมายแห่งจิต หรือสติปัฏฐาน นั่นเอง เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม ๒ มกราคม ๒๕๖๕ |
ในความฝันของใครสักคน
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?] หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |