ปัญญาทางธรรมกับปัญญาทางโลก (สัญญาอารมณ์)


🌷 ปัญญาทางธรรม กับปัญญาทางโลก (สัญญาอารมณ์)

วันจันทร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ (๒) ปีฉลู

เจริญสุข สวัสดี ญาติโยมทุกๆ ท่านที่ได้เข้ามาฟังธรรมะบรรยาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ พัฒนาจิตของตนให้อยู่ในบุญกุศล อาตมภาพขอน้อมนำเอาคำกล่าวของครูบาอาจารย์ได้กล่าวไว้ดังนี้ แก่นแท้คือปัญญา มีความฉลาดรอบรู้เห็นตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ จนกระทั่งเห็นคุณ โทษ เหตุเกิด ความดับของอายตนะทั้งหลาย จิตใจไม่เข้าไปยึดมั่นในตัณหาอุปาทานในสิ่งนั้นๆ นั่นเรียกว่าแก่นแท้ 

ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า บริสุทธิ์เพราะปัญญา บางคนถือเอาปญฺญาย ปริสุชฺฌติ บริสุทธิ์เพราะปัญญา ศีลก็เลยไม่ต้อง สมาธิไม่ต้องเอา แต่เน้นไปที่ปัญญา ให้หันมาดูจิตของตน โดยไม่มีพื้นฐานการฝึกฝนอบรมภาวนามยปัญญา จนกระทั่งเข้าถึงอธิจิตฺเต (จิตตัวใน) ให้หมั่นดูจิตยังไง ก็หนีไม่ใพ้นติดอยู่ที่อาการของจิตเป็นสัญญาอารมณ์ (ปัญญาทางโลก)

เมื่อพูดถึงเรื่อง "ปัญญา" ที่มีในปัจจุบัน สำหรับคนที่ได้พบประสบความสำเร็จ มีธุรกิจใหญ่โต มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความขยันเล่าเรียนจนได้ปริญญาบัตรต่อท้ายมากมายหลายใบ พูดจาคล่องแคล่วไพเราะน่าฟังน่าเชื่อถือ โต้วาทีได้เก่งกาจเฉียบขาด รู้จักสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี แต่ในทางวัฏฏะวนที่ยังจมอยู่กับโลก มักเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องยอมรับสรรเสริญจากสังคมว่า เป็นคนดีในสังคม เป็นผู้มีปัญญาดี มีความสามารถ จดจำอะไรต่างๆ ได้มากมาย มีสัญญาดี สมองดี คิดเป็น เล็งเห็นอนาคต นี่เราเรียกได้ว่ามี "ปัญญาในทางโลก" ซึ่งแตกต่างจากปัญญาในทางธรรมโดยสิ้นเชิง ปัญญาที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ในทางธรรมที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ชัดเจน เรียกว่าเป็นผู้มี "สัญญา" ดี

แต่ที่สำคัญเป็นสาระอย่างยิ่งคือ ปัญญาทางโลกหรือสัญญาดังกล่าว ย่อมแตกต่างไปจาก "ปัญญาในทางธรรม" เป็นคนละเรื่องกันเลย แต่ปัจจุบันนั้น กลับถูกนำมาปนเปรวมเข้าด้วยกัน จนผู้ศึกษาธรรมที่เข้ามาใหม่ สับสนอย่างมาก ระหว่างสัญญาอารมณ์ (ปัญญาทางโลก) กับปัญญาเพื่อความหลุดพ้นจากโลก มีการเรียนรู้และจดจำพระธรรมคำสอน เป็นสัญญาอารมณ์ได้อย่างแม่นยำ จนกลายเป็นถิรสัญญา กลับเข้าใจไปว่าตนเองได้ปัญญาทางธรรมแล้ว เที่ยวยกตนข่มท่านโดยไม่รู้ตัว และบุคคลจำพวกนี้ กลับไม่ค่อยจะยอมเปิดรับอะไรง่ายๆ แบบหัวชนฝา ทั้งที่ไม่อาจแก้ข้อซักถามจากผู้รู้ได้เลย แค่ตอบว่าคุณพูดมีเหตุผล ผมเถียงไม่ได้ แต่ไม่เชื่อ

เพราะปัญญาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติยกย่องไว้ว่าเป็นเลิศนั้น เป็นวิราคธรรม มีพระบาลีรองรับไว้ดังนี้  "ยาวตา ภิกฺขเว สงฺขตา วา อสงฺขตา วา วิราโค เตสํ อคฺคมกฺขายติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคธรรมแล เรากล่าวว่า เป็นยอด เลิศกว่าธรรมทั้งปวง" เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดหลุดพ้นของจิต จากอุปกิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามาทั้งหลาย เป็นความสามารถของจิตในการปล่อยวาง ราคะ โทสะ โมหะ ออกไปจากจิตของตน ที่เรียกว่า "การสลัดคืน" หรือ "ธรรมที่แยกแล้ว" เป็นการสลัดอารมณ์ทั้งหลายกลับคืนสู่โลก เป็นปัญญาเพื่อความพ้นโลก เหนือโลก ฯลฯ ที่เรียกว่า "โลกุตตรธรรม" เป็นปัญญาที่ทำให้สังคมกลับคืนสู่ความสงบสันติ ร่มเย็น ไม่ฆ่าฟันกัน ไม่เบียดเบียนกัน 

แต่ก็ยังมีกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วย สืบเนื่องมาจากยังมีการสอนแบบผิดฝาผิดตัวอยู่ว่า อสังขตธรรมนั้นจะมีก็แต่พระนิพพานเพียงอย่างเดียว เมื่อถูกถามว่า ธาตุแท้ทั้งหลายที่มีอยู่เดิม เช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นธาตุที่ยังไม่ได้เข้าผสมปนเปกันเอง เป็นธาตุแท้ เป็นสังขตธรรมหรืออสังขตธรรม คำตอบคือเงียบกริบ ทั้งๆ ที่พระบาลีชัดเจนแล้วว่า สังขตะก็ดี อสังขตะก็ดี มีประมาณเท่าไร ก็แสดงว่าอสังขตะไม่ใช่มีหนึ่งเดียวอย่างแน่นอน 

ความรู้ที่เกิดจากสัญญาอารมณ์นั้น ต่างจากความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติภาวนา จนเข้าถึงจิตตัวใน จนมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงในเรื่องนี้ ย่อมแตกต่างไปจากปัญญาทางโลก (สัญญา) ที่ยิ่งมีมาก ยิ่งรู้มาก ยิ่งเกิดความวุ่นวายสับสน เอารัดเอาเปรียบกัน ข่มเหงรังแกกันแบบถูกทำนองคลองธรรม ในทางโลก บุคคลดังกล่าวมานี้ ล้วนเก็บงำซ่อนเร้นอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนได้เก่ง เพื่อผลประโยชน์ที่ตนเองที่ต้องการ จะไม่แสดงออกให้เห็นได้แบบง่ายๆ ยิ่งต่อหน้าสาธารณะชนบุคคลอื่นด้วยแล้ว ยิ่งระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ 

แต่เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ประทับใจมากๆ เข้ามา ภายในจิตของตนนั้นกลับรุ่มร้อน กระวนกระวาย ขัดข้องซัดส่ายไปกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ แต่รู้จักเก็บงำอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดไว้ได้โดยไม่แสดงออกเพื่อประโยชน์ตน ไม่ใช่เป็นการปล่อยวางอารมณ์ หรือสลัดอารมณ์ออกไปจากจิต เพียงแค่มีความสามารถในการเปลี่ยนอารมณ์จิตที่ยินร้ายของตน ที่เจออยู่เป็นประจำจนเป็นถิรสัญญาไปแล้ว เมื่อเผลอไผลได้ที่เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละ ก็จะมีการระเบิดอารมณ์ออกมาเป็นครั้งเป็นคราว โดยไม่สามารถควบคุมได้ ขนาดผู้ที่เป็นด็อกเตอร์ มีปริญญาพ่วงท้ายหลายใบ ที่ผู้คนยกย่องว่าเป็นคนดีเป็นคนเก่งใจเย็น แต่ด้วยอำนาจของความโกรธครอบงำจิตของตน เผลอไผลเอาไม้กอฟล์ตีภรรยาจนตายคามือ ยอมรับว่าตีแรงไปหน่อยด้วยความโกรธ ความหลง ครอบงำอยู่ในขณะนั้น

อย่าปล่อยให้ "สัญญา (ปัญญาในทางโลก)" มาครอบงำ "ปัญญาในทางธรรม" จนมองไม่เห็นสัจจะ ความจริง ๔ ประการ หรืออริยสัจ ๔ อันมีดังนี้ 
๑. เห็นจิตที่ส่งออกไปยึดถืออารมณ์ทั้งหลายทั้งภายนอกหรือภายใน ด้วยความยินดียินร้าย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ 
๒. เห็นความกระวนกระวาย ขัดข้อง ซัดส่าย เนื่องด้วยอารมณ์เหล่านั้นของจิต เป็นทุกข์ 
๓. เห็นว่าปฏิบัติธรรมกรรมฐาน (สัมมาสมาธิ) สามารถปล่อยวางอาการต่างๆ ของจิตเหล่านั้นออกไปได้ เป็นมรรค 
๔. เห็นผลจากการปล่อยวางอาการของจิตเหล่านั้นออกไปได้สำเร็จ ทำให้จิตสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา เป็นนิโรธ 

แต่เพราะตำราที่รจนาขึ้นมาในภายหลังนั้น มักสอนให้ศึกษา จดจำ ให้คิดเป็น เล็งเห็นอนาคต (ฝัน) ความรู้เพียงแค่นี้ก็คิดกันไปเองแล้วว่า จิตของตนเองมีคุณภาพเพียงพอ ได้ปัญญาแล้ว อันเกิดจากตำราสอนไว้ โดยแบ่งแยกกันตามมติที่ชอบใจของตน ระหว่างสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน โดยยกให้สมถกรรมฐาน เป็นความสงบที่แข็งทื่อ เป็นพวกหินทับหญ้า ไม่ทำให้เกิดปัญญา เป็นของพวกฤษี ชีไพร เป็นสัญญาอารมณ์ ไม่ควรใส่ใจต้องวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น ที่จะทำให้เกิดปัญญาที่แท้จริง หลุดพ้นได้ 

โดยความเป็นจริง ทั้งสมถะและวิปัสสนา เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นในภายหลัง ดูได้จากอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งไม่มีคำว่าสัมมาวิปัสสนาเลย แต่มีคำว่าสัมมาสมาธิ ซึ่งแปลว่า สมาธิชอบหรือสมาธิที่ถูกต้อง มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ใน มหาจัตตารีสักกสูตร ดังนี้ว่า 

สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ต้องห้อมล้อมด้วยองค์มรรคที่เหลืออีก ๗ องค์ อันมีสัมมาทิฐิ เป็นใหญ่ แม้แต่สัมมาทิฐิอันเป็นอริยะนั้น ยังต้องประกอบไปด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ จึงจะบริบูรณ์ แล้วมรรคที่เหลือนอกจากนี้ต้องประกอบด้วยสัมมาทิฐิที่สมบูรณ์นี้ด้วยทุกองค์ จึงทำให้มรรคสมังคี ย่อมทำให้สัมมาญาณะ และสัมมาวิมุตติ เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้พระเสขะผู้ประกอบด้วยอริยมรรคทั้ง ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ที่เพียบพร้อมไปด้วยองค์ ๑๐ ประการนี้ มีชื่อเรียก ๒ อย่าง คือ สัมมัตตะ (ภาวะอันถูกต้อง) และ อเสขะธรรม (ธรรมของพระอเสขะหรือพระอรหันต์) แสดงว่า สัมมาญาณะ และสัมมาวิมุตตินั้น เป็นองค์ธรรมของพระอรหันต์โดยเฉพาะ

จากมหาจัตตารีสักกสูตร ก็เป็นที่รองรับแน่นอนแล้วว่า อริยมรรคเป็นทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ต้องทำหน้าที่ควบคู่กันโดยตลอดของการปฏิบัติธรรมกรรมฐานอยู่ 

เพราะเมื่อขณะที่กำลังพิจารณากายในกายเป็นภายในอยู่ ก็เป็นหน้าที่ของสมถกรรมฐาน เพราะการทำจิตของตนให้มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้ จนชำนาญคล่องแคล่วเป็นวสีนั้น เราต้องจดจำถึงขั้นระลึกรู้ได้ทันที ที่เมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดมาปรากฏขึ้นที่จิต เมื่อระลึกได้แล้วไม่ต้องจดจำอีกต่อไป จากนี้นำนิมิตหมายแห่งจิตหรือฐานที่ตั้งของสติที่ระลึกได้แล้ว จนชำนาญคล่องแคล่วมาใช้ อันเป็นสมาบัติเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่เรียกว่า พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง คือขณะที่ลืมตาอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันนั่นเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นปัญญา ที่รู้เห็นตามความเป็นจริง 

รู้เห็นอย่างไร? จึงชื่อว่ารู้เห็นตามความเป็นจริง เพราะจิตของตนรู้ว่าเมื่อตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณขึ้น มีผัสสะเกิด ความรู้สึกรักชอบชังซึ่งเป็นเวทนา จากนั้นความทะยานอยากก็จะตามมาทันที เมื่อบุคคลอันมีสมาบัติ ธรรมอันเป็นเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว ย่อมต้องรู้จักคุณและโทษ เหตุเกิด ความดับของอายตนะทั้งหลาย ไม่ปล่อยให้ผัสสะเกิดขึ้น เพราะรู้อยู่ที่รู้ รู้แล้วละเรื่องที่รู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ก็ยกจิต พรากจิต หรือเปลื้องจิตของตน มาอยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติที่ได้กำหนดไว้แต่แรก แม้บุคคลที่ฝึกหัดใหม่ อาจจะต้องใช้เวลาบ้างในการปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นในระยะแรก แต่เมื่อได้ฝึกฝนอบรมดีแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบากอีกต่อไปเลย 

ซึ่งต่างจากปัญญาที่แฝงด้วยสัญญาอารมณ์ ที่มีการสอนกันอยู่อย่างดาษดื่นในปัจจุบันนี้ ที่ถูกสอนให้รู้จักเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกรักชอบชังที่ตนเองไม่พึงปรารถนา เป็นอารมณ์หยาบ มาสู่อารมณ์ละเอียดที่เป็นสุข อันเกิดจากความสามารถประคองจิตให้เปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้  จัดเป็นสัญญาอารมณ์ที่ตนได้ฝึกฝนมาบ่อยๆ เนืองๆ จนเป็นถิรสัญญา 

เช่น จิตที่เคยใสอยู่ เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ขุ่นมัว เป็นแขกจรเข้ามา ความผ่องใสที่มีอยู่ในขณะนั้น ย่อมต้องหมองไปบ้างเป็นธรรมดา แทนที่จะฝึกฝนอบรมการสลัดคืนอารมณ์ หรือปล่อยวางอารมณ์ขุ่นมัวที่เป็นแขกจรเหล่านั้นออกไปจากจิตของตน ไม่เก็บเอาไว้ กลับใช้วิธีการเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกในขณะที่เริ่มขุ่นมัวอยู่ มาคิดถึงอารมณ์อันละเอียดเป็นสุข เพราะสามารถเปลี่ยนอารมณ์ได้ เมื่อฝึกฝนอบรมบ่อยๆ ย่อมจำได้แม่น เป็นถิรสัญญา 

อาตมาภาพเองก็ยอมรับว่า ในทางโลกแล้วจัดเป็นเรื่องดีของคนดี เป็นคนมีปัญญา (สัญญาอารมณ์) ที่จะอยู่กับโลกที่สับสนวุ่นวายได้ ในระดับที่สังคมยอมรับ เพราะสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนได้ แต่ผลที่จะตามมาในภายหลังต้องว่ากันอีกที 

เพราะสืบเนื่องจากในทางพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญปัญญาที่แฝงด้วยสัญญาอารมณ์เช่นนี้เลย  แม้แต่ในครั้งพุทธกาล ที่พระองค์ยังทรงออกแสวงหาโมกขธรรม เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ของการเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งเป็นอมตธรรม และในขณะนั้นก็มีเจ้าลัทธิเกิดขึ้นอยู่แล้วอย่างมากมายเหลือคณานับ ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมาเสียอีก แต่ที่โด่งดังเอามากๆ มีอยู่ ๒ ท่าน คือ อาฬารดาบสและอุทกดาบส 

อาฬารดาบสกาลามโคตรนั้น บรรลุอากิญจัญญายตนะ เป็นอรูปฌานที่ ๗ ส่วนอุทกดาบสรามบุตรนั้น บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ อันเป็นอรูปฌานที่ ๘ ทั้งสองท่านในขณะนั้นได้ประกาศตนเองว่าเป็นผู้จบเวช เป็นผู้ชนะทุกอย่าง สามารถขุดรากแห่งทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง เป็นความเข้าใจผิดและเข้าใจไปเอง เนื่องจากทั้งสองท่านมีธุลีในจักษุน้อยมานานมาก คือเป็นผู้มีกิเลสเบาบางมาก จนแทบไม่รู้สึกว่ามีอยู่ 

จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้เข้าพบอาจารย์ทั้งสอง เพียงแค่พระพุทธองค์ได้ทรงสนทนากับอาจารย์ทั้งสอง (ต่างกรรมต่างวาระกัน) ชั่วขณะปิดปากโอภาปราศรัยกันเสร็จเท่านั้น พระพุทธองค์ก็กล่าวญาณวาทและเถรวาทได้ ถึงกับทำให้อาจารย์ทั้งสองต้องเอ่ยปากชมว่า เราเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น จงมาช่วยกันปกครองดูแลบริหารหมู่คณะด้วยกันเถิด 

พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธไปว่า ธรรมนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อพระนิพพานเลย แต่เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะสมาบัติเท่านั้น

นี่ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า ปัญญาที่แฝงด้วยสัญญาอารมณ์นั้น ไม่ช่วยให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้เลย เพราะวางอารมณ์ไม่เป็น เพราะยังติดสุขอยู่ในอารมณ์ฌานอันละเอียด ส่วนกิเลสทั้งหลายที่เป็นอารมณ์หยาบๆ ซึ่งบุคคลทั่วไปยังติดข้องอยู่นั้น ไม่สามารถทำอะไรได้เลยกับบุคคลเช่นอาจารย์ทั้งสอง สืบเนื่องจากมีความสามารถในการเปลี่ยนเข้าสู่อารมณ์ละเอียดอันเป็นสุขที่ประกอบด้วยอามิส ได้อย่างรวดเร็วชำนาญจนเป็นวสี ที่เรียกว่าถิรสัญญา ยังเป็นแค่สัญญาอารมณ์เท่านั้น ไม่ใช่ปัญญาเพื่อความหลุดพ้น แต่เป็นสัญญาอารมณ์ที่ตนเองได้เกาะเกี่ยวไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะเกรงไปว่าอารมณ์ที่เกิดจากสัญญาเหล่านั้นจะจืดจางลงไปได้

แต่ปัจจุบันนี้ พุทธศาสนาได้ปนเปไปกับลัทธิพราหมณ์ จนแยกกันไม่ออก จะหนักไปทางลัทธิพราหมณ์ เสียมากกว่า และมีการแบ่งแยกกีดกันกันเองอย่างออกหน้าออกตา ถือเราถือเขา จนกระทั่งขาดความชอบธรรม โดยไม่นำพาพระธรรมวินัยอีกต่อไปแล้ว จนมีการแบ่งแยกกันสั่งสอนอบรมตามมติของตนที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด เป็นคอร์สๆ สั้นบ้าง ยาวบ้าง มี ๗ วัน ๑๕ วัน เดือนนึงบ้าง สิ่งที่ได้คือปัญญาที่แฝงไปด้วยสัญญาอารมณ์เท่านั้น เมื่อเป็นซะแบบนี้แล้ว พระสัทธรรมจะไม่ปฏิรูปไปได้อย่างไร โดยการนำเอาหลักธรรมการปฏิบัติของพราหมณ์มาสั่งสอนแทน โดยอ้างว่าเป็นของพุทธศาสนา ต่างจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่แท้จริง ที่สอนให้ หยุดเป็น เย็นได้ หยุดไม่เป็น เย็นไม่ได้ หยุดนั่นแหละ ตัวสำเร็จ

มีพระบาลีดังนี้  "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา" เพราะหยุดเป็น หยุดการปรุงแต่ง สังขาร ความนึกคิดไม่สามารถปรุงแต่งได้ ปิดอารมณ์ความนึกคิดไม่ให้เข้ามาครอบงำจิตของตนได้ ปล่อยวางอดีต ไม่คำนึงถึงอนาคตเสีย หยุดอยู่ที่ปัจจุบันธรรม อันมีสติกุมเฉยอยู่ ตรึกธรรมที่มีเข้ามาเฉพาะหน้า รู้แล้วละ ไม่ใช่รู้แล้วยึด รู้แล้วเปลี่ยนเรื่องที่รู้ (อารมณ์) เป็นการรู้แล้วละเรื่องที่รู้มาอยู่กับรู้ ไม่ใช่รู้อยู่กับเรื่อง นี่ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องทำลายอวิชชา  

อีกเหตุผลนึงที่ทำให้ลัทธิพราหมณ์เข้ามามีอิทธิพลต่อศาสนาพุทธ เพราะสังคมพุทธเราเองที่ไปอัญเชิญลัทธิพราหมณ์เข้ามาเองโดยไม่รู้ตัว มีการแนะนำสั่งสอนในเรื่องสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์) แบบผิดฝาผิดตัว อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ เป็นความผิดพลาดที่ทำให้พุทธศาสนาเศร้าหมองลงอย่างเห็นได้ชัด ในสังโยชน์นั้นมี ๑๐ ประการด้วยกัน แบ่งเป็น โอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) อันมี ๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา ๓. สีลัพพตปรามาส ๔. กามราคะ ๕. ปฏิฆะ  อุทธัมภาคิยสัญโญชน์ (สังโยชน์เบื้องสูง) ได้แก่ ๖. รูปราคะ ๗. อรูปราคะ ๘. มานะ๙. อุทธัจจะ ๑๐. อวิชชา  

พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ ๓ ข้อต้น
พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ ๔ และข้อ ๕ ให้เบาบางลงได้ 
ส่วนพระอนาคามี ทำสังโยชน์เบื้องสูงทั้ง ๕ ให้เบาบางลงได้
พระอรหันต์นั้นละสังโยชน์ได้เด็ดขาด 

ปัญหาอยู่ตรงที่สังโยชน์ข้อ ๖ และข้อ ๗ คือ รูปราคะและอรูปราคะ ที่มีในสังโยชน์ ๑๐  คณาจารย์ส่วนหนึ่งไปยัดให้เป็นรูปฌานและอรูปฌาน ซึ่งเป็นของลัทธิพราหมณ์โดยตรง ทั้งที่พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธไว้อย่างชัดเจนแล้ว ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลว่า รูปฌานและอรูปฌานนั้น ไม่อาจหลุดพ้นจากทุกข์ได้ หมายความว่า ไม่สามารถเข้าสู่อริยภูมิแม้แต่ขั้นต้นได้เลย เพียงเข้าถึงอารมณ์ฌานนั้นๆ ได้ เพราะยังติดสุขอันปราณีตที่เกิดจากอารมณ์ละเอียดเหล่านั้นอยู่ 

พราหมณ์พวกที่ชำนาญในรูปฌานอรูปฌานเหล่านั้น แม้แต่สักกายทิฏฐิที่เป็นสังโยชน์ข้อแรกก็ยังไม่รู้จักเลย เมื่อถูกนำมาอธิบายถึงรูปราคะและอรูปราคะในสังโยชน์ ๑๐ ทำให้พระโสดาบันและพระสกิทาคามี เหมือนถูกด้อยค่าลงไปเลยในสายตาบุคคลภายนอก ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจในหลักธรรมแท้ของพระพุทธศาสนา 

เมื่อพิจารณาให้ชัดเจนแล้วจะเห็นว่ารูปฌานอรูปฌานเป็นเพียงแค่อารมณ์รูป อารมณ์นามนั้นๆ ที่บุคคลผู้นำมาเพียรเพ่งภาวนาจนเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ฌานเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่น จนเกิดความสุขอันอิงด้วยอามีส มีความปราณีตที่เกิดจากอารมณ์ฌานอันละเอียดเหล่านั้น ต่างกันกับรูปราคะและอรูปราคะในสังโยชน์ ๑๐ ไปคนละเรื่องเลย

มีพระบาลีธรรมบทกล่าวไว้ดังนี้ "อสฺสทฺโธ อกตญฺญู จ สนฺธิจฺเฉโท จ โย นโร หตาวกาโส วนฺตาโส ส เว อุตฺตมปุริโส แปลว่า บุคคลใดไม่เชื่อถืออารมณ์ ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ รู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ เป็นผู้สิ้นหวัง คลายความหวัง ย่อมเป็นบุรุษอันสูงสุด ดังนี้"

จากพระพุทธพจน์ พอสรุปได้ว่า คำสั่งสอนในทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้รู้จักปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิต จนจิตวิมุตติหลุดพ้น ไม่กลับกลายอีกแล้ว เที่ยงตรงคงที่ (อกุปปธรรม) เจโตวิมุตติ ไม่ใช่ให้ยึดถืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดใดๆ ทั้งสิ้นเลย เป็นการสลัดคืนอย่างสิ้นเชิง 

บุคคลผู้มีจิตไม่เชื่อถือต่ออารมณ์ได้นั้น ต้องเป็นจิตที่ผ่านการอบรมจิตด้วยภาวนามยปัญญามาแล้วอย่างอุกฤษ จริงจัง จิตจึงจะมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้ ฉันใด เปรียบเหมือนศิลาแท่งทึบที่มีลมพายุพัดกรรโชกอย่างรุนแรงมาทั้ง ๔ ทิศ ก็ไม่อาจทำให้ศิลานั้นสั่นไหวได้ ฉันนั้น ส่วนกิเลสที่เป็นแขกจรคงหลอกจิตของตนให้หลงเชื่ออีกไม่ได้ และเป็นไปได้ยาก 

แต่การที่ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์และรู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์นั้น จิตต้องมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปด้วยราคะโทสะโมหะ จิตมีกำลังมากพอในการปล่อยวางหรือสลัดอารมณ์ออกไป ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ หรือรู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ได้ เพราะจิตของบุคคลนั้นมีปัญญาอย่างแท้จริง โดยการตรึกธรรมที่มีมาเฉพาะหน้า พิจารณาเหตุแห่งทุกข์คือสมุทัย จิตมีกำลังพร้อมละเหตุแห่งทุกข์นั้นได้ เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕




Create Date : 18 มกราคม 2565
Last Update : 18 มกราคม 2565 18:35:02 น.
Counter : 390 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์