มาสร้างสติแนบกาย เพื่อชีวิตที่ดีรับปีใหม่


🌷 
มาสร้างสติแนบกาย เพื่อชีวิตที่ดีรับปีใหม่

วันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) ปีฉลู

เจริญสุข สวัสดี ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้ อาตมาภาพขออาราธนาคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ขอพระรัตนตรัย จงประทานพรใดอันประเสริฐ พรนั้นจงสถิตอยู่กับสาธุชนทั้งหลายทุกๆ ท่านเถิด 

พรที่ญาติโยมทั้งหลายได้รับแน่ๆ ก็จากการได้ฟังพระธรรมเทศนา แล้วน้อมนำเข้ามาใส่ตน โอปนยิโก เพราะเป็นนิยานิกธรรม เป็นธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ต้องอาศัยความเพียรเพ่ง พยายามสร้างสติให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ 

แต่ในปัจจุบันนี้นั้น ญาติโยมพุทธบริษัทส่วนใหญ่มักให้ความใส่ใจในพิธีกรรมและความเชื่อทางศาสนาชนิดปลงใจเชื่อในแบบสืบต่อๆ กันมา หรือฟังตามๆ กันมา หรือไม่ก็เป็นแบบมงคลตื่นข่าว ซึ่งไม่เคยที่จะได้สอบสวน เทียบเคียง ตรวจสอบ ที่มาที่ไปให้ดีเสียก่อน ถามว่าเป็นเรื่องเสียหายมั้ย ต้องว่าไม่ ถ้าเรื่องดังกล่าวที่ว่ามานั้น ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการหลอกลวงให้เสียทรัพย์สินเงินทอง หรือเสียผู้เสียคน ไปด้วยความโลภ ความหลงงมงาย 

พระพุทธองค์จึงได้ทรงสอนให้มีสติ หรือการสร้างสติให้เกิดขึ้นมีขึ้นในตน เมื่อเราขาดสติเป็นตัวกำกับเสียแล้ว จิตของเราย่อมตกไปในทางจมติดอยู่กับโลก พร้อมที่จะเชื่ออะไรง่ายๆ พร้อมที่จะหลงใหลได้ปลื้มไปกับสิ่งต่างๆ ได้ง่ายเช่นกัน ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เป็นเครื่องครอบคลุม ห้อมล้อมเราไว้ 

ทุกวันนี้จึงได้มีการเข้าวัด เพื่อแสวงหาสิ่งดีๆ ที่เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นมงคล เพื่อไม่ให้ชีวิตของตนเองนั้น ต้องตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และขอให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอย่างมากๆ คือพูดง่ายๆ คือ คำว่า ขอให้รวย ขอให้รวย นั่นเอง เสียเป็นส่วนมาก แต่ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งที่เข้าวัดเพื่อแสวงหาหวังการหลุดพ้นจากทุกข์จริงๆ แต่ที่หวังหลุดพ้นนั้นโดยมากเพียงขอให้หลุดพ้นจากสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นมงคล เป็นอุปสรรคกับตนเท่านั้น 

พระท่านเองก็พยายามที่จะชี้แนะให้ญาติโยมได้รู้ได้เห็นถึงความสำคัญของทาน ศีล ภาวนา นั่นแหละที่แก้ได้ทุกอย่างซึ่งเป็นเรื่องราวในโลก โดยไม่ต้องร้องขอ สวดอ้อนวอน หรืออธิษฐานใดๆ เลย เพราะทานที่เราได้ทำไว้นั้น ย่อมให้ผล บุคคลที่รวยด้วยทรัพย์สมบัติต่างๆ นั้น ไม่ใช่เกิดจากการร้องขอ อ้อนวอน หรืออธิษฐานใดๆ เลย แต่เกิดจากการที่ตนเองได้เคยสร้างสมทานบารมีไว้เป็นเสบียงทิพย์มาก่อน เมื่อถึงคราวถึงวาระ ทานบารมีหรือเสบียงทิพย์นั้นจึงให้ผล แต่กลับเข้าใจไปเองว่าเกิดจากการที่ตนเองร้องขอสวดอ้อนวอน อธิษฐานเอา เพียงเพื่อให้บุคคลอื่นเกิดการอิจฉาตาร้อนในโชคลาภของตนเท่านั้น 

ส่วนศีลนั้นถ้าใครรักษาไว้ได้ ย่อมทำให้งามทั้งกายวาจาและจิตใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การภาวนา ในตำราพุทธศาสนา ท่านให้ความหมายไว้ว่า การทำให้มี ให้เป็น การทำให้เกิดขึ้น การเจริญ การบำเพ็ญ การพัฒนาทั้งหมดนี้ คือ การกระทำหรือพัฒนาให้จิตของตน มีสติแนบอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรม หรือที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ จึงได้น้อมนำเอาประโยชน์ของสติปัฏฐาน ๔ คือ มีสติแนบอยู่ที่ฐานของที่ตั้งสติอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ดังนี้

🌷 สติปัฏฐาน ๔ (การใช้สติอย่างไม่ขาดสายให้เข้าไปตั้งอยู่ในที่ ๔ แห่ง)

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้เสด็จออกประกาศเป็นศาสนาไปในอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลของชมพูทวีป หรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีชื่อเรียกได้หลายอย่างตามความเหมาะสม และขนบธรรมเนียมในท้องถิ่นที่ทรงผ่านไปนั้นๆ เช่น ทางสายกลางบ้าง ทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์บ้าง อริยมรรคบ้าง มรรคมีองค์ ๘ บ้าง  ศีลสมาธิปัญญาบ้าง ซึ่งพระอรรถกถาจารย์เรียกว่า วิปัสสนา

ดังนั้น สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นที่สนใจและยอมรับของชาวพุทธ นักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่รวบรวมข้อปฏิบัติทั้งหลายไว้ด้วยกันอย่างถูกต้องและครบถ้วนที่สุด เพราะฉะนั้น พระสูตรดังกล่าวนี้  จึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญในพระศาสนา ที่ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ผู้ใดไม่ได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติจริง ประโยชน์ย่อมผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดายที่สุด เหมือนดังไม่ได้พบพระศาสนาทีเดียว

ที่ว่าใช้สติอย่างไม่ขาดสายให้เข้าไปตั้งอยู่ในที่ ๔ แห่ง คือ เมื่อมีสิ่งใดหรืออารมณ์อย่างใดเกิดขึ้นก็ตาม ให้รักษาควบคุมสติให้ตั้งมั่นอยู่ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรม แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยไม่ให้คลาดเคลื่อนไปอยู่ที่อื่นเลย จึงสามารถตัดอารมณ์กับอาการปรุงแต่งอันเนื่องจากอารมณ์ต่างๆ ได้ ถ้าสามารถรักษาสภาวการณ์เช่นนี้ไว้ได้ตลอดไปแล้ว จิตก็หลุดพ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ฐานทั้ง ๔ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเลือกฐานใดไว้เป็นที่ตั้งของสติก็ตาม ย่อมกระเทือนและส่งผลกระทบไปถึงฐานอื่นที่เหลือ และทำให้ผู้ปฏิบัติคลายความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์กับการปรุงแต่งอันเนื่องจากอารมณ์ (โลก) ตามลำดับเหมือนกันหมด

ทั้งนี้เป็นเพราะอารมณ์ทั้งหลายซึ่งจะเข้ามาถึงจิตนั้น จะต้องผ่านเข้ามาทางฐานกาย เมื่อกระทบอายตนะทางกายแล้ว ก็ย่อมเกิดความรู้สึกทุกข์สุขทางฐานเวทนา เมื่อรู้สึกทุกข์สุขทางเวทนาแล้ว ก็ย่อมปรุงแต่งฐานจิต ให้ยินดียินร้ายขึ้น เมื่อฐานจิตเกิดยินดียินร้าย ก็ย่อมมีสิ่งต่างๆ จากภายนอกมาประกอบเป็นฐานธรรมขึ้น ซึ่งจะต้องละวางออกไปให้หมดสิ้น จนจิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากความเศร้าหมองเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

🌷 ธรรมะที่เกื้อกูลการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

จากที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นได้ว่าในขณะที่อารมณ์เข้ามากระทบอายตนะทางหนึ่งทางใดนั้น ย่อมกระเทือนฐานทั้ง ๔ อย่างทั่วถึงกันเข้าไปสู่จิต และย่อมทำให้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ออกมามากบ้างน้อยบ้าง ตามความรุนแรงและความประทับใจที่มี

ดังนั้น คุณธรรมเรื่องขันติ (ความอดทน) จึงมีความจำเป็นสำหรับรองรับในเบื้องต้น ในเมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ หมายความว่า ถ้าขาดคุณธรรมเรื่องขันตินี้เสียแล้ว การปฏิบัติสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาจะไม่มีทางสำเร็จได้โดยง่าย ได้แก่ ตีติกขาขันติ อดทนต่ออารมณ์ที่เข้ามายั่วยวน ยั่วยุ อย่างหนึ่ง อธิวาสขันติ อดทนต่อความลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วย และทุกขเวทนาต่างๆ  และธีติขันติ อดทนต่อความหนาวร้อน หิวกระหาย และหน้าที่การงาน รวม ๓ ประการเหล่านี้ด้วย

🌷 อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ มี ๒๑ บรรพะ แบ่งออกเป็น

กายานุปัสสนา (ฐานกาย) มี ๑๔ บรรพะ ดังนี้คือ อานาปานสติ ๑ อิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ ๑ ปฏิกูล ๑ ธาตุ ๑ และป่าช้า ๙
เวทนานุปัสสนา (ฐานเวทนา) มี ๙ ข้อ แต่นับรวมเป็นบรรพะเดียวกัน
จิตตานุปัสสนา (ฐานจิต) มี ๑๖ ข้อ แต่นับรวมเป็นบรรพะเดียวกันะ
ธัมมานุปัสสนา (ฐานธรรม) มี ๕ บรรพะ คือ นิวรณ์ห้า ๑ ขันธ์ห้า ๑ อายตนะหก ๑ โพชฌงค์เจ็ด ๑ อริยสัจสี่ ๑

เมื่อรวมทั้ง ๔ ฐานแล้ว จึงมีอารมณ์รวม ๒๑ บรรพะ สำหรับใช้เป็นที่ตั้งของสติเวลาปฏิบัติ ซึ่งต่างกว่าอารมณ์สมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ที่มาในวิสุทธิมรรคของพระอรรถกถาจารย์ ที่ไม่มีกสิณ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อรูป ๔ รวมอยู่ด้วย 

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงที่อยู่อาศัยของจิตเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติยังติดข้องอยู่ จิตนั้นก็ชื่อว่าเป็นสัตว์อยู่ แต่ถ้าปล่อยวางเสียได้ก็ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังที่ตรัสไว้ในตอนต้นของพระสูตรว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา แปลว่า เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย นั้นทีเดียว

สำหรับอารมณ์สมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ที่มีมาในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นปกรณ์พิเศษนอกพระไตรปิฎกนั้น มีกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อรูป ๔ รวม ๔๐ อย่างเหล่านี้ มีผลเพียงทำให้จิตผู้ปฏิบัติสงบนิ่งอยู่กับอารมณ์ และยึดอารมณ์นั้นๆ อย่างเหนียวแน่น ดังนั้นจึงไม่เกิดปัญญาปล่อยวางแต่ประการใด ด้วยเหตุนี้ผู้ที่หวังความหลุดพ้น จึงต้องเพิกอารมณ์เหล่านี้เสีย แล้วหันมาใช้อารมณ์ ๒๑ บรรพะ อย่างใดอย่างหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น

อารมณ์ข้ออสุภะ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อานาปานสติ ๑ ในสมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ดังกล่าวเหล่านี้ พอจะสงเคราะห์เข้ากับอารมณ์ในกายานุปัสสนาได้ เพราะเหมือนกัน จึงเป็นบาทฐานให้เกิดปัญญาได้

อารมณ์ที่มีอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ รวม ๒๑ บรรพะ ดังที่กล่าวมาแล้วเหล่านี้ สงเคราะห์ลงเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยมีสัมมาสมาธิเป็นประธานได้ เมื่อจิตมีสมาธิอยู่ อกุศลก็ย่อมเข้าปรุงแต่งไม่ได้

ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติให้ต่อเนื่องเป็นประจำจนเคยชิน สำรวมระวังตัวอยู่เป็นประจำ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติของตนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำบ้างหยุดบ้าง แบบที่เรียกกันว่า ไปเข้ากัมมัฏฐานอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ออกจากกัมมัฏฐานเสียเด็ดขาด คือทิ้งวิธีปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง ไม่ฝึกใช้สติกำกับการกระทำต่างๆ ไว้ด้วยตลอดเวลา กิเลสทั้งหลายก็ย่อมพากันหลั่งไหลเข้าสู่จิตของผู้นั้น ตอนออกจากกัมมัฏฐานนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ๔ ขึ้น เพื่อให้ผู้ที่นับถือปฏิบัติ ใช้สติตามระลึกอย่างไม่ขาดสายเข้าไปในอารมณ์ที่มีอยู่ในฐานทั้ง ๔ จะได้ไม่เปิดโอกาสให้กิเลสเข้าสู่จิตได้แม้แต่วินาทีเดียว

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการออกจากกัมมัฏฐานตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ที่วัดหรือที่บ้านก็ปฏิบัติได้ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ที่วัดหรือสำนักใดก็ได้ เพียงแต่ปฏิบัติจนรู้จักจิต จับทางเดินของจิต และจำทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยำ ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการนับถือพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว 

ใครปฏิบัติมาก สำรวมระวังจิตไว้ดี ก็ย่อมได้ประโยชน์มาก ใครปฏิบัติน้อย สำรวมระวังไม่ดี ก็ย่อมได้ประโยชน์น้อย และใครไม่ปฏิบัติเลย ขาดความสำรวมระวังจิตอย่างสิ้นเชิง ก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากการนับถือพระพุทธศาสนานี้ ไม่ได้อยู่ที่การบวชและห่มผ้าเหลืองแต่ประการใดทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักธรรมเรื่องสติปัฏฐาน ๔ จึงสามารถตรวจสอบที่จิตของตนเองว่า เมื่อมีอารมณ์มากระทบเมื่อใดแล้ว มีพลังสลัดความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นหรือไม่ กล่าวคือตัดความยินดียินร้ายออกไป และทำให้จิตสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ได้หรือไม่ ดังนี้

🌷 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ยกเอาสติตามรู้ตามเห็น เข้าไปในธรรมทั้งหลาย)

เป็นสติปัฏฐานข้อสุดท้าย ซึ่งมีอยู่  ๕ บรรพะ ด้วยกัน คือ นิวรณ์ห้า ๑  ขันธ์ห้า ๑ อายตนะหก ๑ โพชฌงค์เจ็ด ๑ อริยสัจสี่ ๑ 

ดังที่ได้เคยยกมาแสดงไว้ตอนต้นนี้แล้วว่า การปฏิบัติสติปัฏฐานข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม ย่อมมีผลทําให้กระเทือนถึงกันและกันโดยตลอด ดังนั้น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานจึงเป็นบทสรุปว่า จิตบริสุทธิ์หลุดพ้น ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดียินร้าย เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางอายตนะใดก็ตาม เพราะจิตได้รับการอบรม จนมีพลังปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ได้อย่างสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น แต่ละบรรพะที่กล่าวถึงนี้ จึงมีองค์ธรรมและสภาวะธรรมเหมือนกัน และสามารถใช้ตรวจดูจิตใจของตนเองว่า จิตใจมั่นคงเพียงใดอย่างหนึ่ง หรือตรวจดูอาการยินดียินร้ายของจิต ที่เนื่องมาจากอารมณ์กระทบอีกอย่างหนึ่ง

นิวรณ์ ๕ (เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ๕ ประการ) 
เมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต ก็ย่อมผลักดันให้เริ่มแสดงอาการหวั่นไหวทางจิตขึ้นก่อน ซึ่งเรียกว่า นิวรณ์ ดังนั้น ถ้ายังมีนิวรณ์อยู่ตราบใด จิตก็ไม่มีโอกาสเป็นสมาธิอยู่ตราบนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้วิธีทํานิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิด รู้วิธีละนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และรู้จักทํานิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดอีกต่อไป ถ้าทําได้ดังนี้แล้ว ก็ย่อมสิ้นสุดกิจในการปฏิบัติแล้ว

ขันธ์ ๕ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รูปนาม ก็ได้ 
เมื่อมีอารมณ์ (รูป) มากระทบจิต ความรู้สึก ความจําได้หมายรู้ และความนึกคิด อันเนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆ (นาม) ย่อมเกิดขึ้นด้วยเป็นธรรมดา ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญสมาธิ จนทําให้พลังสติสามารถปล่อยวางรูปนามที่เกิดขึ้นได้ ก็ย่อมพ้นทุกข์ แต่ถ้าพลังสติยังไม่สูงพอที่จะปล่อยวางรูปนามได้แล้ว ก็ยังไม่พ้นทุกข์ เมื่อจิตพ้นทุกข์ได้แล้ว รูปนามก็ดับไปเอง แต่จิตหลุดพ้นจากการเข้าไปยึดถือรูปนาม กลายเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในที่สุด และสิ้นสุดกิจในการปฏิบัติแล้ว

อายตนะ ๖ (ช่องทางสําหรับรับรู้อารมณ์ต่างๆ ของจิต ๖ ช่อง) 
อายตนะ ๖ นี้ อุปมาเหมือนกับคนที่ชะโงกดูทิวทัศน์ทางหน้าต่างของบ้านที่มีอยู่ ๖ หน้าต่างด้วยกัน ดังนั้น หน้าต่างจึงเป็นเพียงช่องทางให้คนดู แลเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกบ้านเท่านั้น ถ้าปิดหน้าต่างเสียให้หมด คนดูก็ยังคงอยู่ในบ้านและรู้ว่ามองไม่เห็นอะไร ข้อนี้ฉันใด จิตก็อาศัยอายตนะ ๖ ช่องนี้ สําหรับรับรู้อารมณ์ภายนอก ถ้าออกไปรับรู้ทางตาก็เป็นจักขุวิญญาณ  ทางหูก็เป็นโสตวิญญาณ ทางจมูกก็เป็นฆานวิญญาณ ทางลิ้นก็เป็นชิวหาวิญญาณ  สัมผัสทางกายก็เป็นกายวิญญาณ นึกคิดทางใจก็เป็นมโนวิญญาณ แตกต่างกันโดยชื่อช่องทาง แต่จิตผู้รู้เป็นดวงเดียวกัน ข้อนี้ก็ฉันนั้น

เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ที่น่ารักน่ายินดีขึ้นทางช่องทางใดปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า ก็ให้ดับเสียที่ตรงนั้น บรรพะนี้เน้นหนักให้ใช้สติระวังช่องทางรับรู้อารมณ์ไว้ตลอดเวลา จิตก็หลุดพ้น 

โพชฌงค์ ๗ (องค์ธรรมที่ทําให้ตรัสรู้ ๗ ประการ) 
เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ให้ใช้สติระลึกรู้ตัวเท่าทัน เป็นสติสัมโพชฌงค์ 
รู้ว่าอารมณ์และอาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ 
เพียรละความฟุ้งซ่านหวั่นไหวที่เกิดขึ้นเนื่องจากนั้น เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ 
ละได้สําเร็จและเกิดความอิ่มอกอิ่มใจขึ้น เป็นปีติสัมโพชฌงค์ 
ละปีติที่เกิดขึ้นได้อีก ก็เกิดความสงบเยือกเย็น เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์  
จิตสงบเป็นสมาธิและเกิดพลังปัญญาขึ้นด้วย เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์
ใช้พลังปัญญาวางเฉยต่ออารมณ์นั้นเสียได้ เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ 

รวมทั้งรู้วิธีที่จะทําให้สัมโพชฌงค์แต่ละอย่างเกิดขึ้น และมีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งทําให้จิตตรัสรู้เป็นพุทโธ (โพชฺฌ คือ พุทฺธ นั่นเอง)

อริยสัจ ๔ 
เป็นหลักในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ได้ทรงแยกทางเดินของจิตไว้เป็นสองทาง คือ ทางเดินไปสู่ทุกข์ กับ ทางเดินที่ทําให้พ้นทุกข์ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามรู้จักและเดินตามได้อย่างถูกต้อง ดังรายละเอียดต่อไปนี้ คือ 

๑. จิตที่แส่ออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอกและเกิดความยินดียินร้าย เป็นสมุทัย 
๒. อารมณ์ที่รับเอาเข้ามาทําให้เกิดความวุ่นวาย เป็นทุกข์ 
๓. เมื่อปฏิบัติสมาธิแล้วเห็นอาการของจิตต่างๆ เป็นมรรค 
๔. ปล่อยวางความยินดียินร้ายเสียได้ เป็นนิโรธ

คำว่า นิโรธ นี้ แปลว่า ดับความยินดียินร้ายหรือดับตัณหาลงได้อย่างสิ้นเชิง แต่ในปฐมเทศนานั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า นิโรโธ สจฺฉิกาตพฺโพ แปลว่า กระทํานิโรธให้แจ้ง ดังนั้น จึงทรงหมายความว่า นิโรธ คือพระนิพพาน นั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อหมายความถึงพระนิพพานแล้ว จะแปลว่า ดับ ไม่ได้ทีเดียว ต้องแปลว่า ทําให้แจ้ง คือ เปิดสภาพเดิมอันผ่องใสประภัสสรของจิตให้ปรากฏแจ้งชัดขึ้น อุปมาดังเมฆหมอกเคลื่อนตัวออกไป เปิดสภาพอันสว่างโพลงของดวงอาทิตย์ให้แจ่มแจ้งขึ้นตามเดิม ฉะนั้น

🌷 🌷 🌷 

ความหมายของสติปัฏฐาน จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ คือ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ ข้อปฏิบัติมีสติเป็นประธาน การตั้งสติที่ฐาน รู้ทันโดยปัญญาพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง การมีสติกำกับดูสิ่งต่างๆ และความเป็นไปทั้งหลายโดยปัญญารู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้ายที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจกิเลส 

การจะรู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริงได้นั้น เราต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้มีสติแนบกายกำกับไว้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ เท่าที่มีความหมั่นเพียรสามารถที่จะทำได้ แต่ต้องหมั่นกระตุ้นตนเองบ่อยๆ ในขณะที่ความหมั่นเพียรย่อหย่อนลง ทำให้รู้จักจิตของตนเองได้ดีขึ้น 

ดังมีบาลีธรรมบทดังนี้ อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ เมื่อปฏิบัติจนเข้าถึงจิตตัวในแล้ว เราย่อมเข้าสู่ความสงบ เมื่อจิตของตนรู้จัก ที่นี่สงบหนอ เอตํ สนฺตํ ที่นี่ประณีตหนอ เอตํ ปณีตํ ย่อมต้องรู้จักอารมณ์ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ บุคคลเช่นนี้ย่อมได้สมาบัติ (ภาวะสงบประณีต) ซึ่งพึงเข้าถึง อันเป็นธรรมเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน ย่อมมีสติ มีสัมปชัญญะ ข้อนี้เป็นเพราะ บุคคลนั้นกำหนดนิมิตหมายแห่งจิตของตนได้ คือ รู้จักฐานที่ตั้งของสตินั่นเอง เมื่อสติเกิดขึ้นแล้ว คุณธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้นย่อมเป็นไปในฝ่ายกุศลเท่านั้น มีระเบียบและพิจารณาดำเนินการสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมออกมาในทิศทางที่ถูกต้องไปด้วย เป็นธรรมดา 

ในปัจจุบันนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่กำลังพากันหลงลืมงานสร้างสติให้เกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งกับชีวิตความเป็นอยู่ของตนทั้งภพนี้และภพหน้า กลับไปให้ความสนใจกับการให้ทาน เพื่อแข่งขันอวดบารมี ความร่ำรวยที่ฉาบฉวยใส่กันเท่านั้น แล้วศีลล่ะ ก็รับๆ ไปตามประเพณีนิยมที่ทำกัน เป็นการรับมาเพื่อกองไว้จนสูงเท่าภูเขาเลากา โดยไม่เคยคิดจะรักษาไว้ เพื่อไม่ให้ขาดทะลุ หรือด่างพร้อยเลยโดยเฉพาะข้อที่ ๔ มุสาวาทาเวรมณี ซึ่งชาวพุทธเราตกข้อนี้เสียส่วนใหญ่ 

มีพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลยังไม่ละธรรมข้อหนึ่ง คือการพูดปด (มุสาวาท) ทั้งๆ ที่รู้อยู่ เราย่อมไม่กล่าวว่า มีบาปกรรมอะไรบ้าง ที่บุคคลผู้นั้นจะทำไม่ได้

ปีใหม่นี้ อาตมาภาพขอเชิญชวนให้ชาวพุทธทั้งหลาย หันกลับมาสนใจในการสร้างสติให้กับตนเอง เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของครอบครัวที่ดีขึ้น เพราะเป็นการลงทุนน้อยที่สุด แต่ให้ผลมากที่สุด โดยการลงทุนไปนั้น ก็ไม่เป็นหมัน ไม่สูญเปล่า ไม่หายไปไหน ลงทุนมากได้มาก ลงทุนน้อยได้น้อย ทุนที่ต้องลงไปนั้น ก็แค่วันเวลาที่ผ่านไป เรากลับมาทำให้เกิดประโยชน์ มีสติคอยระลึกรู้อยู่ที่กายที่รู้สึกได้ถึงลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ลมหายใจเข้าออกนั้น ก็เป็นเครื่องมือที่มีอยู่แล้วทุกๆ คน โดยไม่ต้องจัดหามา เมื่อระลึกรู้อยู่ที่กาย ณ จุดใดที่ชัดเจน ก็คอยหมั่นประคองจิตของตนให้รู้ชัดอยู่ตรงนั้น ที่เรียกว่า นิมิตหมายแห่งจิต หรือสติปัฏฐาน นั่นเอง เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๒ มกราคม ๒๕๖๕




Create Date : 03 มกราคม 2565
Last Update : 3 มกราคม 2565 14:05:17 น.
Counter : 412 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์