ฐานะ ๕ ที่ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ


🌷 ฐานะ ๕ ที่ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ

วันอังคารที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ (๒) ปีฉลู และยังตรงกับวันปีใหม่ของชาวจีนด้วย

เจริญสุขสวัสดี วันนี้อาตมาภาพได้ฟังธรรมบรรยายของอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่มีผู้คนนับหน้าถือตาเป็นจำนวนมาก แล้วรู้สึกว่าลำบากใจอย่างมากที่ได้เห็นท่าน ยกเอาสัมมาสมาธิ ที่เป็น ๑ ในอริยมรรค และยังเป็นใหญ่เป็นประธานของอริยมรรคมีองค์ ๘ อีกด้วย ไปให้กับพราหมณ์ โดยเปรียบเอาสัมมาสมาธิเป็นเพียงรูปฌาณ อรูปฌานเท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงนิพพานได้ ถ้ารูปฌาน อรูปฌานแล้วนั้นใช่ ไม่สามารถเข้าถึงนิพพานได้ ส่วนสัมมาสมาธินั้น เข้าถึงอมตะ หรือพระนิพพานได้อย่างแน่นอน

จากนี้เป็นเวลาที่เรามาสงบจิตสงบใจ โดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อเป็นการสร้างสติให้เกิดขึ้นมีขึ้น แล้วเอามาแนบกายไว้อย่างต่อเนื่อง เมื่อมาถึงแล้วก็ให้นั่งสบายๆ ผ่อนคลายจิตใจของตน ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ปล่อยวางเรื่องราวต่างๆ ออกไป เรื่องที่ได้ผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไปแล้ว เรื่องที่ยังไม่มาถึงก็คงยังมาไม่ถึง เราทำปัจจุบัน ปัจจุบันธรรมให้ดี เพราะการภาวนานั้น เป็นการสร้างสติให้เกิดขึ้นที่จิต ก็ยังดีที่เรามาภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญา และขอให้การมาภาวนาในครั้งนี้ อย่าเป็นการหายใจทิ้งเปล่าเลย

คำว่า หายใจทิ้งเปล่า นี้ หมายถึง ขณะที่เราภาวนาอยู่ในองค์ภาวนา ปากก็ภาวนาไปเรื่อย แต่ใจไปอยู่ที่ไหนแล้ว มารู้อีกทีไปอยู่กับเรื่องภายนอก ขณะที่นั่งอยู่ กว่าจะระลึกรู้ได้ ก็ไปไกลแล้ว จะดึงจิตกลับมาอีกที อ้าว หมดเวลาเสียแล้ว

ฉะนั้น การภาวนาถ้าจะให้ดีและได้ประโยชน์จริงๆ ควรจะให้มีคุณภาพ คือ ความตั้งใจในการภาวนา การหัดภาวนาใหม่ๆ นั้น จะให้ได้ผลเลยไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากบุคคลที่เคยมีของเก่า (บารมี) มาก่อนเท่านั้น ถึงไม่มีบารมีเก่ามาก่อนก็จริง ขอให้ภาวนาไปเถอะ ได้มากบ้างน้อยบ้าง ก็ยังดีเป็นธรรมดา คือได้บ้างเสียบ้าง จิตหลุดออกไปเที่ยวบ้าง ออกไปนอกกายบ้าง ดึงจิตกลับมาได้บ้าง เราก็เพียรประคองจิต ดึงจิตให้กลับมาอยู่ที่องค์ภาวนาหรือที่กายของเรา อย่าให้แลบหนีออกไปได้

แต่บอกได้อย่างหนึ่งว่า การมาภาวนานั้น ไม่มีการเสียเปล่า เราภาวนาได้ส่วนนึง ก็ให้ผลในส่วนนั้น เช่น เป็นคนมักโกรธ (โกรธง่าย) โลภ หลง ก็จะโกรธ โลภ หลง น้อยลง ถ้าเพียรภาวนาจนกระทั่งได้เต็มส่วน ก็รับส่วนของอริยบุคคลไป บอกได้เลยว่า ความเพียรประคองจิตของตนให้ลงมือปฏิบัติภาวนา ที่ทำไปนั้น ไม่เป็นหมันเลย

คำว่า เพียรประคอง นี้หมายถึง เราคอยระลึกรู้อยู่ว่า เราถือน้ำเต็มแก้ว ประคองด้วย ๒ มือ ค่อยๆ เดิน เพื่อไม่ให้น้ำในแก้วกระฉอกหรือหกออกมา เราจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องมีสติระลึกรู้อยู่ตรงหน้า ไม่ให้วอกแวก ว่าเรากำลังประคองแก้ว ซึ่งมีน้ำเต็มเปี่ยมอยู่ ถ้าเราเผอเรอไปเพียงนิด น้ำก็กระฉอกออกมาได้ ก็เหมือนกับเราที่ภาวนาอยู่

ถ้าเรามีสติคอยระลึกรู้อยู่ที่องค์ภาวนา อยู่ที่ลมหายใจเข้าก็รู้ ออกก็รู้ เพียรประคองให้จิตระลึกรู้อยู่ตรงนั้นให้คงที่ อย่าปล่อยให้จิตแลบหนีออกไปสู่อารมณ์อันอื่น ทั้งภายในและภายนอก ก็จะทำให้การปฏิบัติภาวนาในครั้งนั้นมีคุณภาพที่ดี และควรจดจำไว้ด้วยว่า เราวางจิตยังไง จึงทำให้จิตเป็นสมาธิได้เร็ว เพื่อใช้ในครั้งต่อๆ ไปที่ทำสมาธิ ต้องกระทำให้มาก เจริญให้มาก จึงจักเกิดความคล่องแคล่ว ในการเข้าออกสมาธินั่นเอง เพียงดีดนิ้วมือเดียว จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิได้แล้ว ฉะนั้น ควรต้องหมั่นฝึกหัดเอาสติมาแนบกาย (จิตอยู่ที่ไหน สติก็อยู่ที่นั่น) ทุกครั้งที่มีโอกาส

ในคนเราทุกคน เราเรียกว่า สรีรยนต์ สรีรยนต์คือร่างกายที่มีจิตครองอยู่ เปรียบเหมือนเครื่องยนต์กลไก แต่เป็นเครื่องยนต์กลไกที่มีชีวิตจิตใจ สรีรยนต์นี้ก็เหมือนกับรถยนต์ที่มีคนขับคอยควบคุมอยู่ แต่รถยนต์นั้น เราต้องใช้เงินหาซื้อมา ยิ่งมีเงินมากเราก็จะหาซื้อรุ่นที่มีคุณภาพมากขึ้น ต่างกับสรีรยนต์ของแต่ละคน ซึ่งได้มาด้วยบุปบาปที่เคยทำไว้ ได้มาด้วยผลของวิบาก เราทำกิเลส กรรมอะไรไว้ ก็จะส่งผลเป็นวิบากให้เรามาครอบครองสรีรยนต์ลักษณะนั้นคือร่างกายนี้

ในร่างกายนี้มีธาตุรู้ หรือที่เรียกว่า จิต เป็นธาตุรู้ที่ทรงไว้ซึ่งความรู้อยู่ทุกกาลสมัย เหมือนกับรถยนต์ที่เราซื้อมา เราเป็นคนขับ เรารู้อยู่ตลอดเวลาที่คอยควบคุมรถยนต์ เหมือนกับจิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ ก็รู้อยู่ตลอดเวลาที่คอยควบคุมสรีรยนต์นี้เช่นกัน ต่างกันตรง รถยนต์เป็นวัตถุ แต่สรีรยนต์นั้นเป็นเลือดเนื้อจับต้องได้

จิตได้อาศัยอยู่ จนคุ้นชินกับร่างกายนี้ จนคิดว่า รูปร่างกายนี้ หรือสรีรยนต์นี้เป็นตน เป็นของๆ ตน เป็นของกู เป็นตัวกู ซึ่งเทียบกับรถยนต์แล้ว รถยนต์ที่เรายังควบคุมอยู่ ถ้าเราทำใจได้เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับรถยนต์ ก็เป็นเพียงแค่วัตถุ ที่เราซื้อมา พอถึงเวลา มันก็แปรสภาพไป แต่สรีรยนต์ที่เราอาศัยอยู่นี้ เราอยู่กับมันโดยยึดติดกับมันอย่างเหนียวแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน ดังพระบาลีว่าไว้ว่า “อตฺตา นาม จิตฺตํ สกโล วา อตฺตภาโว” จิตได้ชื่อว่าเป็นตน แต่ได้ยึดเอาสกลกาย สรีรยนต์นี้มาเป็นตนเข้าไปด้วย เพราะไปยึดเอารูปร่างกายนี้มาเป็นตน ด้วยความหลงผิดว่า ร่างกายนี้จะไม่เจ็บป่วย ไม่แก่ ไม่ตาย อยู่กับเราตลอดไป เป็นความเข้าใจผิดจากความเป็นจริงนั่นเอง

ฉะนั้น เราจะสังเกตได้ว่า เมื่อมีอะไรเกิดกับร่างกายนี้ พอกระทบถูก จะเกิดความรู้สึกเป็นตัวกู ของกู ขึ้นมาทันที ในการตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบนั้น เพราะเรามีความยึดมั่นถือมั่น เพราะเรามีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก มีอุปาทานเป็นเครื่องจูง จูงจิตซึ่งอาศัยอยู่ในสรีรยนต์ ถ้าเรามารู้จักแล้วว่า ร่างกายนี้ มีรูป ๑ นามขันธ์ ๔ ที่เราเรียกว่า ขันธ์ ๕

เพราะขณะที่ขับรถอยู่ เราควบคุมให้ไปซ้ายไปขวาไปหน้าถอยหลังอยู่นั้น ก็ทำตามความต้องการของคนขับที่ควบคุมอยู่เช่นกัน เราก็มีความยึดมั่นถือมั่นในรูปร่างกายนี้ เมื่อเกิดความเย็นร้อนอ่อนแข็ง เราก็เกิดเวทนา เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เกิดเวทนา เวทนานี้เราเรียกว่าอาการของจิตที่แสดงออกโดยผ่านทางร่างกายให้คนรับรู้ได้

เมื่อเกิดเวทนาแล้ว ก็เกิดสัญญา จำได้หมายรู้ ก็เก็บเอาอาการของจิตที่เคยรับรู้เข้ามาทางอายตนะ รับรู้เรื่องราวต่างๆ เข้ามาทางร่างกาย ก็จดจำไว้ จดจำแล้วก็เก็บไว้เป็นอารมณ์ ถ้าที่ชอบ ที่รัก ที่น่าใคร่ ที่น่าหลงไหล เราก็ยึดเอาไว้ ส่วนที่ไม่น่ารัก ไม่ชอบ น่าชังเป็นความเลวร้ายทั้งหลาย เราก็ปฏิเสธผลักไสออกไป แต่ปฏิเสธก็ยังจดจำไว้ สัญญาก็ยังจดจำว่าอารมณ์นี้ไม่ชอบ

สัญญา เรื่องที่เราจดจำได้ ทุกครั้งที่เกิดเรื่องขึ้นมา สังขารของเราจะรับช่วงนำเอาเรื่องต่างๆ เหล่านั้น ที่ถูกเก็บในรูปของธัมมารมณ์ซึ่งเป็นเรื่องเก่า มาผสมกับของใหม่ที่เจอกันเข้าพอดี มาบวกลบคูณหารรวมกันเข้าไปทุกอย่าง ปรุงแต่งให้มีรสชาดตามใจที่เราชอบหรือชัง ถ้ายิ่งรักยิ่งปรุงแต่งก็ยิ่งหลงไหล ถ้ายิ่งชังยิ่งปรุงแต่งก็ยิ่งโกรธเกลียดเข้าไปอย่างลึกซึ้ง ก็เพราะมีสังขารคอยปรุงแต่ง เหมือนกุ๊กคอยปรุงแต่งรสชาดอาหาร เมื่อปรุงรสชาดอาหารจนเป็นที่พอใจแล้ว เราก็จะแจ้งในอารมณ์นั้นๆ ถูกเก็บในรูปของวิญญาณ

วิญญาณ คือ ความรับรู้ แจ้งในอารมณ์นั้นๆ โดยเฉพาะอารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาทางไหน ก็ทางอายตนะ อายตนะหมายถึงช่องทางในการรับอารมณ์ ซึ่งช่องทางมีทั้งอายตนะภายนอกและอายตนะภายใน

พออารมณ์มากระทบก็เกิดผัสสะ เพราะแจ้งในอารมณ์ (วิญญาณ) นั้นๆ พอเกิดผัสสะด้วยการแจ้งในอารมณ์นั้นๆ ก็รู้ว่าชอบ ไม่ชอบ รัก ไม่รัก คือมีการ ตาเห็นรูป เกิดผัสสะ ก็แจ้งในอารมณ์ว่าชอบ ไม่ชอบ รัก ไม่รัก จากนั้นก็เกิดเวทนาขึ้นมา สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา

ยิ่งโดยเฉพาะปัจจุบัน เมื่อเราหลงไหลในอารมณ์ ยิ่งอารมณ์ที่น่ารักใคร่ ก็ไปหลงรักยึดติดในอารมณ์นั้น ส่วนอารมณ์ที่น่าชิงชังก็ไปเกลียดชังผลักไสในอารมณ์นั้น เราก็จะเก็บเอาอารมณ์เหล่านี้ ที่ผ่านเข้ามา คือ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกรับกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายสัมผัส เข้ามาทางช่องทาง ๕ ทาง แล้วถูกเก็บในรูปของธัมมารมณ์ ถูกเก็บไว้ที่ไหน ก็ที่ใจของตนเอง

ฉะนั้น เมื่อเรามาเรียนรู้แล้วว่า สรีรยนต์ซึ่งมีจิตครองอยู่ของแต่ละคนนั้น ก็มีการสั่งสมบุญบารมีมามากน้อยแตกต่างกันไป หรือเสบียงบุญบ้าง บางคนก็สร้างแต่เสบียงบาปเก็บไว้ เมื่อได้สั่งสมเสบียงบุญเสบียงบาปของแต่ละคน นับภพนับชาติยาวนานนับไม่ถ้วน ตามที่พระบาลีกล่าวไว้ว่า

“อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สงฺสาโร ปุพฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ แปลว่า จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้ มีอยู่ก่อนนานมาแล้ว ผู้มีปัญญาตามรู้ไม่ได้ ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะไปสิ้นสุดเอาตอนไหน”

นี่กล่าวถึงความนานของจิตที่เราสั่งสมเสบียงบุญเสบียงบาปจนเป็นวิบาก ส่งให้เรามาอยู่ในรูปร่างกายหรือสรีรยนต์นี้ แต่ขอให้ภูมิใจและดีใจที่ว่า ในการที่เรามีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นั้นไม่ใช่ของง่าย เป็นของยากมาก ในพระสูตรมีการเปรียบเทียบไว้ เหมือนกับเต่าทะเลที่ตาบอด ซึ่งอยู่ในทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ร้อยปีครั้งจะขึ้นมาหายใจทีนึง การได้ขึ้นมาหายใจในแต่ละครั้งนั้น จะต้องเอาคอรอดแอกให้ได้ ในการขึ้นมาหายใจ แอกจะมีขนาดเฉพาะรอบคอของเต่าเท่านั้น ฉะนั้นโอกาสที่จะรอดขึ้นมาหายใจ แล้วรอดแอกนั้นได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เราจงภูมิใจ เพราะว่าถ้าไม่มีร่างกายนี้ เราก็จะไม่มีสรีรยนต์หรือพาหนะ อันเป็นเครื่องมือที่จะพาเราไปสร้างบุญ สร้างกุศล สร้างบารมี หรือมานั่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพราะว่าเรายังได้อาศัยร่างกายนี้ และการมีร่างกายนี้ ก็ได้สร้างอานิสงส์ผลบุญขึ้นมาได้ เฉพาะมีขันธ์ ๕ นี้เท่านั้น จึงจะสามารถหาทางหลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลาย คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ได้

แม้แต่เทวดา พรหมทั้งหลาย ซึ่งมีนามขันธ์ เท่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติธรรมที่จะเพียรเพ่งภาวนาอย่างเรา เพื่อจะหลุดพ้นได้ เพราะไม่มีรูปขันธ์ ซึ่งสรีรยนต์นี้ จึงจะมองเห็นทุกข์ได้อย่างชัดเจน เพราะเทวดา ที่ไปเกิดเป็นเทวดาเพราะอะไร เพราะสัญญา เป็นนามขันธ์ ไปสู่สุขคติที่เสวยสุข พอนานวันไปสุขนั้นก็จะค่อยจืดจางลง แล้วก็ต้องเวียนว่ายกลับมาสู่กามภพอีกเช่นเดิม การเวียนกลับมาสู่กามภพ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นบุญมหาศาล แต่ถ้าเกิดว่าเกิดมีกิเลส กรรมที่ได้เคยทำไว้ ที่ได้เคยก่อไว้เป็นวิบากที่ไม่ดี ก็ต้องเกิดมาเป็นสัตว์ชั้นต่ำบ้าง เกิดมาเป็นเดรัจฉาน เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นยักษ์ เกิดเป็นอะไรก็ตาม ซึ่งจะอยู่ในภูมิที่ต่ำๆ

ฉะนั้น เมื่อเราเพียรเพ่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เราต้องจำไว้ว่า ฐานะ ๕ ในพระสูตร บอกว่า ฐานะ ๕ ซึ่งควรจะพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ นั้น มีอะไรบ้าง

๑. พิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ถึงความแก่
อันสัตว์โลกทุกนามไม่อาจล่วงพ้นจากความแก่ชราไปได้ ที่บาลีว่า ชะราปิ ทุกฺขา ส่วนใหญ่ที่เราไม่นำมาพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ เพราะคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว อย่ามาพูดนะว่าฉันแก่ ฉันยังไม่แก่ เพราะอะไร จริงๆ แล้ว ความแก่ เกิดขึ้นกับเราทุกๆ วัน และค่อยๆ เกิดขึ้นตามกาลเวลา ซึ่งกาลเวลาก็เหมือนตัวที่ค่อยๆ เขมือบอายุขัยของเราไปวันละเล็กวันละน้อย เราก็เพลินยิ่งมัวเมาอยู่ในอารมณ์ (ตัตระ ตัตราภินันทินี) ทางโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอยู่ในโลก ไม่ต้องพูดถึงความชราเลย แทบจะลืมเลือนความชราไปได้ จะมารู้สึกตัวว่าแก่ ก็ตอนที่ไม่สามารถที่จะปิดบังความแก่ของตนได้อีกแล้ว เพราะมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาไม่มีใครที่จะสามารถก้าวพ้นเรื่องนี้ไปได้

๒. ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย
ไม่มีใครสามารถล่วงพ้นไปได้ (พยาธิธัมโมมหิ) บางคนคิดไปว่า ฉันไม่เห็นเป็นไรเลย ไม่เคยเข้าโรงพยาบาล คุณน่ะโชคดี คุณได้สร้างบุญหรือกุศลมาดี คุณเลยไม่มีความป่วยไข้มาเป็นเครื่องบั่นทอน เป็นขันธมาร ที่จะคอยทำให้เกิดความกังวลยุ่งยากใจ ก็ถือว่าเป็นความโชคดี แต่บางคนเกิดมาแล้วก็ต้องทนทุกข์อยู่กับความเจ็บไข้ได้ป่วย ออดๆ แอดๆ มาตลอดทั้งชีวิต ไม่มีใครสามารถล่วงพ้นไปได้ แม้แต่พระพุทธองค์เอง พระพุทธองค์ก็ทรงเคยประชวรเช่นเดียวกัน

๓. ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ถึงมะระฌัมปิ ทุกฺขัง
ให้พิจารณาถึงความตายว่าไม่มีใครล่วงพ้นไปได้ คนหนุ่มสาวมักจะมัวเมาอยู่กับวัยของตน ไม่เคยน้อมจิตมาระลึกนึกถึงความตายด้วยความประมาท นอกจากบางครั้งบางคราวเท่านั้นเอง บางครั้งบางคราวที่ไปเจอเหตุการณ์ หรือญาติสนิทมิตรสหายพ่อแม่พี่น้องได้เสียชีวิตลงไป ก็จะกระตุ้นให้เกิดคิดถึงความตายขึ้นมาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่เพราะความที่ยังประมาทอยู่ ก็จะค่อยๆ ลืมเลือนไป พอผ่านช่วงเศร้าโศกหรือช่วงตกใจไปแล้ว ก็จะลืม ลืมความตายซึ่งเคยประสบพบมาเฉพาะหน้า ยิ่งเรื่องความตายด้วยแล้ว พระองค์ทรงเน้นเลย เคยถามพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอระลึกถึงความตายวันละกี่หน พระอานนท์ทูลตอบว่า ๗ หนพระเจ้าค่ะ โอ้ พระอานนท์ เธอยังประมาท เธอยังเป็นผู้ประมาทอยู่ เธอควรระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก นี่ถึงเรียกว่าความไม่ประมาท ที่พระพุทธองค์ทรงเคยกล่าวไว้ อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี่คือความไม่ประมาทอันแท้จริง

๔. ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ถึงอะไร ถึงความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์ (ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกฺโข)
คือ ความพลัดพรากจากของที่รักที่พอใจ เพราะเราคิดว่า สิ่งที่เรารักเราชอบนั้น ต้องอยู่กับเราไปนานๆ อยู่กับเราไปตลอด เราไม่เคยนึกเฉลียวใจว่าสิ่งต่างๆ ล้วนมีการพลัดพรากจากกันไปเป็นธรรมดา ไม่สามารถที่จะอยู่คงที่ถาวรตลอดไปได้ ถึงได้มีการกล่าวไว้ใน อนัตตลักขณสูตร ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งนั้นมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เราจะเห็นว่าทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่ามันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่เราก็ไม่เคยน้อมนำพระธรรมคำสั่งสอนเหล่านั้น มาคอยเตือนสติให้คอยระลึกถึงสิ่งต่างๆ เช่นที่พูดมาแล้ว คือ ความชรา คนเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของหวงของตน

๕. ควรพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ว่า เราทุกๆ คน

มีกรรมเป็นของๆ ตน กมฺมสฺสกา
ถ้าเราพิจารณาให้ดีๆ แล้วเนี่ย ที่เกิดมาเป็นคนได้ ก็เพราะมีบุญนำพาให้มาเกิด แต่ทำไมถึงได้ต่างบุญต่างกรรมต่างวาระกันมากนัก เพราะกรรมเฉพาะตนที่เราได้เคยประพฤติปฏิบัติเอาไว้ ได้ทำไว้ ได้สร้างไว้ ได้ก่อไว้ ได้ทำให้สำเร็จลุล่วงไปจนสำเร็จเป็นผลออกมา กรรมพวกนั้นที่เราได้เคยสะสมมาทุกภพทุกชาติ โดยที่เราเองก็ไม่รู้และจำไม่ได้ นอกจากเราจะมีการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา จนทำให้จิตมีความสงบตั้งมั่น หวนระลึกถึงกรรมเก่าๆ กรรมครั้งก่อนๆ ของเราขึ้นมาได้ เพราะเรามีกรรมเป็นของๆ ตน เราถึงต้องมาจำเพาะเกิดในสถานะเช่นนี้

มีกรรมเป็นทายาท กมฺมทายาโท
เรามีกรรมเป็นของตน เราต้องใช้กรรมนั้น เพราะกรรมเหล่านั้นเปรียบเหมือนกับมรดกที่ทายาทต้องรับ เป็นธรรมดาที่ทายาทต้องรับมรดกของบิดามารดา เช่นเดียวกัน เราต้องรับมรดกกรรมในสิ่งที่เราได้ก่อไว้ ไม่อาจหลีกหนีไปได้

ถ้าใครมาบอกว่าสามารถตัดกรรม ลบกรรม เพิ่มกรรม ที่เราเคยก่อไว้ได้ ขอให้จำไว้เลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะกรรมเหล่านั้น เราต้องเป็นผู้เพิ่ม เป็นผู้ลด เป็นผู้ตัดด้วยตนเอง จากการลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจัง คือ ภาวนาสัมมาสมาธินั่นเอง ซึ่งมีตรัสไว้ว่า สัมมาสมาธิสามารถตัดกรรมได้

คำว่า ตัดกรรม ในที่นี้หมายถึง ตัดกรรมที่จะมีเข้ามาในปัจจุบันที่กระทำอยู่จนไปถึงกาลข้างหน้า ในเมื่อไม่ทำกรรมใหม่แล้ว เหลือแต่กรรมเก่าที่จะต้องชดใช้ ตัดกรรมใหม่ ต้องชดใช้กรรมเก่า

แต่สัมมาสมาธิที่ว่าตัดกรรม คือ ตัดกรรมซึ่งเป็นกรรมเก่า บางครั้งกรรมเก่าที่เราได้เคยทำไว้ มีหนักบ้างเบาบ้างไม่เท่ากันมาถึง ก็ด้วยความเขลาในอดีต แต่ถ้าเราสามารถปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา จนจิตของเราตั้งมั่นข้ามไปสู่อริยโคตรได้ การกระทำของเราทุกอย่างจะทำไปด้วยความสุจริตเที่ยงตรงคงที่ เมื่อกรรมเก่ามาถึง เราน้อมรับด้วยความเต็มใจ กรรมที่เข้ามานั้น จากหนักก็กลายเป็นเบาได้ เหมือนกับเกลือที่เค็ม เราไม่สามารถที่จะทำให้เกลือหายเค็มได้ นอกจากทำให้ความเค็มนั้นจืดจางลงไปด้วยความใสสะอาดของน้ำใจ เพิ่มเข้าไปนั่นเอง ซึ่งอยู่ในฐานะที่เป็นไปได้ ฉะนั้น คำว่า ตัดกรรมในทางพุทธของเรา ตัดกรรมใหม่ แต่ต้องชดใช้กรรมเก่า

กมฺมโยนิ มีกรรมเป็นกำเนิด
เราทุกคนเกิดจากกรรม ให้อยู่ในสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายหรือที่ไม่ดี แต่ทำไมบุคคลนั้นกลับมีชีวิตที่ดีได้ มีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองล่ะ ที่เค้ามาเกิด เพราะกรรมที่ส่งมา กรรมตอนที่จะเสียชีวิตนั้นส่งมา ถึงเวลานั้นจิตจะเศร้าหมอง

ดังพระพุทธพจน์ตรัสว่า “จิตฺตสงฺกิเลสา ภิกฺขเว สตฺตา สงฺกิลิสฺสนฺติ จิตฺตโวทานา
สตฺตา วิสุชฺฌนฺติ ตสฺมา ตีห ภิกฺขเว อภิกฺขณํ สกํ จิตฺตํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ
ทีฆรตฺตมิทํ จิตฺตํ สงฺกิลิฏฺฐํ ราเคน โทเสน โมเหนาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์จะเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์จะผ่องแผ้ว ก็เพราะจิตบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงหมั่นพิจารณาตนเองบ่อยๆ เนืองๆ ว่า จิตเศร้าหมองเพราะราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำอยู่ ทำให้จิตเศร้าหมองไปตลอดกาลนาน”

ตอนที่ตาย จิตเศร้าหมอง แต่ด้วยมีกรรมเป็นกำเนิด ซึ่งเป็นกรรมที่ดีที่ได้ทำไว้ในอดีต ก็ส่งให้ตนสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนได้

มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กมฺมพนฺธุ
เราแต่ละคนมีกันหลายชาติหลายภาษา ถิ่นที่อยู่ แต่ละคนที่เกิดมา ในที่ที่ต่างกัน เพราะเรามีเผ่าพันธุ์ มีสายบุญสายกรรม ที่ทำให้เรามาเกิดในที่ต่างๆ กัน

มีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย กมฺมปฏิสรโณ
บางคนเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำไม เพราะเค้าได้สร้างกรรมดีๆ ไว้กับสาธารณชน ชุมชน เพื่อสังคมทั้งหลาย เพราะเคยทำกรรมอย่างนี้ไว้ ย่อมได้มาเกิดในที่ที่ดี มีความปลอดภัย บางคนไปเกิดในที่ที่มีแต่สงคราม การเหยียดผิว มีแต่ความโหดร้าย มีแต่ความอดอยากยากแค้น นี่ล่ะมีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย

ทั้งหมดนี้ เราควรนำมาพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ เราไม่สามารถก้าวล่วงไปได้ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวตน แล้วเราอาศัยการกระทำกรรมอะไรที่มาแก้กรรมเหล่านี้ได้ ศาสนาพุทธก็มีวิธีการแก้กรรม แต่การแก้กรรมไม่ใช่การทำพิธีกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ทุกวันนี้ เช่น ใช้คาถาอาคม เสกเป่าน้ำมนต์ การสะเดาะเคราะห์ การบวงสรวง อีกมากมาย การแก้กรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น ต้องแก้โดยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันตรุษจีน ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕





Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2565 17:30:42 น.
Counter : 512 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์