บุพพสิกขาวรรณนา


🌷 บุพพสิกขาวรรณนา (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์)

วันพฤหัสที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕ ตรงกับ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู

วันพระนี้ อาตมาภาพมีความตั้งใจจะพูดเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พอดีได้หนังสือบุพพสิกขาวรรณนา ซึ่งเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับภิกษุสงฆ์ทั้งเก่าและใหม่ (เพิ่งบวช) เมื่อศึกษาดีแล้ว ควรน้อมนำเอามาประพฤติปฏิบัติ เพื่อทำให้แลงดงามตามแบบฉบับพระภิกษุสงฆ์ ที่นำมาพูดนั้นเป็นเพียงบางส่วน ได้คัดย่อเฉพาะเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นั้น ก็บทอิติปิโส ที่พวกเราเคยสวดกันมาแล้วเกือบทั้งนั้น สำหรับผู้ที่เคยสวดฉบับแปลมาแล้ว ย่อมรู้ได้ดียิ่งขึ้น

บุพพสิกขาวรรณนา
นมตฺถุ รตนตฺตยสฺส


รตนตฺตยํ นมิตฺวา  นวานมนุสิกฺขิตุํ
อาทิมฺหิ สฺยามภาสาย  สํเขเปเนว ภาสิตา
ยา จ ปุพฺพสิกฺขา ตสฺสาว  โถกํ วิตฺถารวณฺณนํ
กริสฺสํ ญาตุกามานํ  ปณาเมน สุภํ ภเว
            
ข้าพเจ้านอบน้อมมนัสการ ซึ่งพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว บุพพสิกขาอันใดที่ข้าพเจ้าภาษิต คือว่า แต่งไว้แล้ว เพื่อให้กุลบุตรทั้งหลายผู้เป็นคนใหม่ในศาสนา ศึกษาตามในกาลเป็นเบื้องต้น ด้วยเป็นสยามภาษา โดยสังเขปย่อนัก

ข้าพเจ้าจะกระทำการวรรณนา แห่งซึ่งบุพพสิกขานั้น โดยพิสดารสักน้อยหนึ่ง เพื่อกุลบุตรทั้งหลายผู้ใคร่จะรู้จะศึกษา ในสิกขาบทบัญญัติปฏิบัติตามจะได้รู้ ด้วยข้าพเจ้านอบน้อมรัตนตรัย ขอความงามความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าเถิด

คำว่า บุพพสิกขา นั้น ประสงค์เป็นชื่อคัมภีร์ เป็นของอันกุลบุตรจะพึงศึกษาแต่แรกก่อน จึ่งได้ชื่อว่าบุพพสิกขา เพราะฉะนั้นจึ่งได้กล่าวว่า ผู้จะอุปสมบท และอุปสมบทแล้ว พึงศึกษาข้อทั้ง ๗ นี้ก่อน ก็ข้อทั้ง ๗ นั้น คือ 

- รตนัตตยบัพพะ ข้อว่าด้วยรัตนตรัย ๑ 
- อาปัตตินามาทิบัพพะ ข้อว่าด้วยชื่อแห่งอาบัติ เป็นต้น ๑ 
- ปฏิปัตติมุขสิกขาบัพพะ ข้อว่าด้วยสิกขาบท เป็นปากเป็นทางแห่งความปฏิบัติโดยมาก ๑ 
- กาลิกบัพพะ ข้อว่าด้วยกาลิก ๑ 
- พินทวาธิฏฐานาทิบัพพะ ข้อว่าด้วยพิธี มีพินทุและอธิฏฐาน เป็นต้น ๑ 
- วิชหนาทิบัพพะ ข้อว่าด้วยขาดอธิฏฐาน เป็นต้น ๑ 
- อาปัตติเทสนาทิบัพพะ ข้อว่าด้วยแสดงอาบัติ เป็นต้น ๑ 
เป็น ๗ ข้อ ดังนี้

จะว่าด้วย รตนัตตยบัพพะ ข้อต้นก่อน คำว่า รตนตฺตยํ นั้น แปลว่าหมวดสามแห่งรัตนะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สามวัตถุ นี้ชื่อว่ารัตนะ เพราะว่าเป็นของประเสริฐกว่าสวิญญาณกรัตนะและอวิญญาณกรัตนะ ซึ่งมีในไตรภพ อนึ่งเพราะเป็นของทำความยินดีให้บังเกิดแก่โลกทั้งสาม

จะกล่าวด้วย พระพุทธรัตนะ ก่อน 

ถามว่า เรียกกันว่าพุทธะๆ นั้น อะไรเป็นพุทธะ ? 
แก้ว่า พุทธะนั้น ว่าโดยปรมัตถโวหาร วิสุทธขันธสันดาน คือ กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ซึ่งเป็นของมีต่อมาแต่ภพก่อน เป็นของบริสุทธิ์จากปาปธรรมอุปกิเลส คือไม่มีอกุศลเจตสิก เป็นแต่อพยากตเจตสิก ซึ่งบังเกิดแต่กุศลเจตสิก นั่นแลเป็นพระพุทธเจ้า 

ว่าโดยโลกยโวหาร สัตว์พิเศษผู้หนึ่ง ใช่พรหมใช่มารใช่เทพดาใช่อมนุษย์ เป็นมนุษยชาติ แต่เป็นมนุษย์อัศจรรย์ มีปัญญาฉลาดล่วงสมณเทพดามารพรหม และทำสัตว์ให้บริสุทธิ์จากปาปธรรมอุปกิเลสได้ และสอนสัตว์อื่นให้ได้ความบริสุทธิ์ได้ด้วย นั่นแลเป็นพระพุทธเจ้า

ถามว่า พุทธะๆ นั้น แปลว่าอะไร ? 
แก้ว่า แปลว่าผู้รู้เท่าสังขารทั้งปวงด้วยตนเอง และให้ผู้อื่นรู้เท่าสังขารด้วย เป็นผู้บานแล้วเต็มที่ ปุถุชนเช่นเราชื่อว่าเป็นคนเขลา ไม่รู้เท่าสังขาร จึ่งต้องโศกเศร้าเมื่อเวลาสังขารนั้นวิบัติ

ถามว่า อะไรเป็นสังขาร ? 
แก้ว่า สิ่งทั้งปวงที่เป็นของภายในและภายนอก ประกอบด้วยวิญญาณและหาวิญญาณมิได้ ที่มีขึ้นเป็นขึ้นด้วยเหตุภายใน มีกรรม เป็นต้น หรือด้วยเหตุภายนอก มีฤดู เป็นต้น นี้แลชื่อว่าสังขาร 
รู้เท่าสังขารนั้นอย่างไร ?  รู้ความเป็นเองของสังขาร รู้เหตุที่ให้เกิดสังขาร รู้ที่ดับสังขาร รู้หนทางดำเนินไปยังที่ดับสังขาร นี่แลชื่อว่ารู้เท่าสังขาร 

ท่านรู้ความเป็นเองของสังขารอย่างไร ? พระองค์รู้ว่าสรรพสังขารทั้งปวงไม่เที่ยงแท้ ย่อมแปรปรวนไปต่างๆ มีแล้วหาไม่ เกิดแล้วดับไป สรรพธรรมทั้งปวงใช่ตัวใช่ตน ด้วยไม่อยู่ในอำนาจบังคับของผู้ใด เพราะไม่เที่ยงเพราะใช่ตนนั้นเป็นแต่กองทุกข์ นี่แลเป็นความจริง เป็นความเป็นเองของสังขาร พระองค์กำหนดรู้ดังนี้ด้วยปริญญาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่า รู้ความเป็นเองแห่งสังขาร 

รู้เหตุที่ให้เกิดสังขารอย่างไร ? พระองค์รู้ว่าตัณหาคือความดิ้นรนด้วยอยากได้นี้เอง เป็นผู้สร้างสังขารภายใน เพราะตัณหามี แล้วให้สัตว์กระทำกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ที่จะตกแต่งสังขารเป็นกองทุกข์ แล้วท่านมละตัณหานั้นเสียได้ด้วยปหานาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่า รู้เหตุที่ให้เกิดสังขาร

รู้ที่ดับแห่งสังขารนั้นอย่างไร ? พระองค์รู้ว่าพระนิพพานเป็นที่ดับตัณหาที่ให้เกิดทุกข์ แล้วกระทำพระนิพพานให้แจ้งประจักษ์ขึ้นในพระหฤทัย ด้วยสัจฉิกิริยาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่า ท่านรู้ที่ดับแห่งสังขาร
            
พระองค์รู้หนทางดำเนินไปยังที่ดับสังขารนั้นอย่างไร ? พระองค์รู้ว่ามรรคประดับด้วยองค์แปด มีสัมมาทิฐิเป็นต้นที่เกิดขึ้นแล้ว กำหนดรู้ความทุกข์ มละตัณหา เห็นพระนิพพาน นี้แลเป็นหนทางให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ และพระองค์ทำมรรคนั้น ให้มีให้เป็นให้เกิดขึ้นในพระหฤทัยด้วยภาวนาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่า ท่านรู้หนทางดำเนินไปยังที่ดับสังขาร 

พระองค์รู้ความรู้ ๔ อย่างนี้พร้อมกันแล้ว จึ่งได้ความบริสุทธิ์จนไม่ยินดี ถือว่าเรารู้เราเห็น แม้สังขารคือร่างกายของพระองค์จะวิบัติเป็นประการใดๆ ก็ไม่เศร้าไม่โศกเสียใจเหมือนปุถุชน อย่างนี้แลชื่อว่า พระองค์รู้เท่าสังขารทั้งปวง

ถามว่า พระองค์แสวงหากุศลธรรมนั้นอย่างไร ? 
แก้ว่า พระองค์แสวงหาด้วยอุบายต่างๆ จนถึงกลั้นลมหายใจ อดอาหาร ก็ไม่ได้ธรรมวิเศษสิ่งใด ภายหลังพระองค์จึ่งทรงนึกได้ถึงอานาปานสติฌาน ที่พระองค์ได้เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่ครั้งหนึ่ง ว่าเป็นของอัศจรรย์ชอบกลนักหนา เห็นจะเป็นทางแห่งความตรัสรู้ได้ 

พระองค์จึ่งกลับเสวยอาหาร แล้วเสร็จไปทรงนั่ง ณ โคนไม้อัสสัตถะ เจริญอานาปานสติ คือตั้งสติเฉพาะลมหายใจออกเข้าอย่างเดียว ไม่ส่งจิตไปอื่น รำงับกามฉันทะ ความใคร่ความพอใจ พยาบาท ความปองร้าย ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงเหล่านี้ ที่เป็นนิวรณ์เครื่องห้ามสมาธิ เครื่องหมองใจ เป็นของทำปัญญาให้เสียไป ฯลฯ  แล้วพระองค์ทำฌานทั้ง ๔ นั้น ให้ชำนาญคล่องแคล่วด้วยการนึกและการเข้า เป็นต้น
            
ครั้นจิตใสบริสุทธิ์ละเอียดดีแล้วด้วยอำนาจจตุตถฌาน พระองค์จึ่งน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือปัญญาที่ตามระลึกซึ่งขันธ์ที่ตนและสัตว์อื่นอยู่แล้วในภพก่อนชาติก่อนก็ระลึกได้ ซึ่งชาติหลังตั้งแต่ชาติหนึ่งจนถึงอเนกสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป ความสงสัยว่า ภพก่อนชาติก่อนจะมีหรือหาไม่นั้นก็สิ้น เห็นชัดว่าภพก่อนชาติก่อนมีแน่แท้ แต่ถ้าว่าเห็นว่าสังสารวัฏมีเบื้องต้นแม้บุคคลระลึกตามไปก็ไม่รู้ อันนี้เป็นวิชชาที่ต้น พระองค์ได้ในปฐมยาม

ครั้งมัชฌิมยาม พระองค์จึ่งน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ คือปัญญาที่รู้ที่เป็นจุติ ปฏิสนธิแห่งสัตว์ พระองค์ก็ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายที่ประพฤติทุจริตทั้งสาม กอปรด้วยมิจฉาทิฐิ จุติแล้วไปบังเกิดในอบายภูมิด้วยอกุศลกรรมนั้น และสัตว์ทั้งหลายที่ประพฤติสุจริตทั้งสาม กอปรด้วยสัมมาทิฐิ ครั้นจุติแล้วไปบังเกิดในสุคติภูมิด้วยกุศลกรรมนั้น พระองค์เห็นชัดด้วยทิพยจักษุญาณ ดังนี้ ความสงสัยว่าสิ่งไรเป็นของแต่งให้สัตว์ได้ดีได้ชั่ว และความสงสัยว่าชาติมาแต่ไหนก็สิ้น ด้วยเห็นชัดว่า กรรมคือบุญบาปเป็นของแต่งสัตว์ให้ดีให้ชั่ว ชาติมาแต่กรรมภพ อันนี้เป็นวิชชาที่สอง พระองค์ได้ในยามกลาง
 
ครั้นวิชชาทั้งสองชำระทางปัญญาให้บริสุทธิ์แล้ว พระองค์น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ปัญญารู้ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสิ้นอาสวะ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน

ถามว่า ในบุพพสิกขาว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยอริยสัจ ๔ มละนิวรณ์ ๕ ตั้งจิตในสติปัฏฐาน ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ จึ่งเป็นพระพุทธเจ้า ในที่นี้ว่าตรัสรู้ได้ด้วยวิชชา ๓ จึ่งเป็นพระพุทธเจ้า

จักรพรรณนา ธรรมรัตนะ

ถามว่า ธรรมๆ นั้น อะไรเป็นธรรม สิ่งที่ดีก็กล่าวว่าธรรม สิ่งที่ชั่วก็กล่าวว่าธรรม สิ่งที่ไม่ดีไม่ชั่วก็กล่าวว่าธรรม ดังบาลีว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา ดังนี้ อะไรเป็นธรรมในธรรมรัตนะนี้ ?

แก้ว่า ความดีจริงเป็นธรรม ในธรรมรัตนะนี้ ความดีแต่ไม่จริงไม่เป็นธรรม ความจริงแต่ไม่ดีก็ไม่เป็นธรรม ความไม่ดีไม่จริงก็ไม่เป็นธรรม 

ความเห็นว่าผลแห่งบุญและบาปไม่มี อิธโลกก็ไม่มี ดังนี้ เป็นต้น ชื่อว่า ความไม่ดีไม่จริง 

ความเห็นว่าอาทิตย์เป็นของส่องโลกให้สว่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นที่อาศัยของสัตว์ แล้วแลกราบไหว้บูชาของเหล่านั้น อย่างนี้ ชื่อว่า ความจริงแต่ไม่ดี 

ปฏิบัติของบุคคลบางพวก ดังนี้ เมื่อเวลาราคะ โทสะ เกิดขึ้นในจิต เห็นว่าราคะ โทสะ เป็นของไม่ดี แล้วหันหน้าสู้ด้วยอุบายดังนี้ ว่าพระเป็นเจ้าผู้สร้างโลกอยู่ในที่ทั้งปวง รู้เห็นอยู่ในกาลทั้งปวง ท่านเห็นเราลุอำนาจราคะ โทสะ ไม่ข่มเสีย ท่านจะจดบัญชีลงชื่อเราไว้ แล้วแลปรับโทษในภายหลัง ใช้อุบายดังนี้แล้วแล ข่มราคะ โทสะ เสียดังนี้ ชื่อ ความดีแต่ไม่จริง เพราะหันหน้าสู้ข่ม ราคะ โทสะ ซึ่งเป็นกิเลสเป็นความดี แต่พระเป็นเจ้าเช่นนั้นไม่มีจริง 

ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่บุคคลทำให้มีให้เป็นขึ้นด้วยอุบายที่จริงที่แท้ ใช้ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่มีในเวลานอนหลับ เป็นต้นก็ดี หรือความเป็นเองที่ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง เพราะไม่มีสังสารเป็นที่ตั้งก็ดี ชื่อว่า ความดีจริง

ถามว่า ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่บุคคลทำให้มีให้เป็นขึ้น ด้วยอุบายที่จริงที่แท้  ชื่อว่าความดีจริงนั้นอย่างไร ? 

แก้ว่า เหมือนอย่างบุคคลคิดเห็นว่าร่างกายที่มีวิญญาณครองและรู้สุขรู้ทุกข์ ชื่อว่าสัตว์นี้ จะเป็นมนุษย์ก็ตาม ดิรัจฉานก็ตาม ย่อมเกลียดทุกข์ รักสุขทั่วทุกตัวตน เมื่อกำหนดเห็นฉะนั้นแล้ว และไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นให้ได้ความทุกข์ด้วยกายและวาจาของตน คิดความสุขให้แก่สัตว์อื่น ข่มความโลภ ความโกรธเสียด้วยอุบายดังนี้ ด้วยเห็นว่าการประพฤติเช่นนี้เป็นความดีจะให้ได้สุขข้างหน้า ชื่อว่า ความดีจริง

อนึ่ง รำพึงถึงความตายได้ความสลดใจก็ดี หรือรำพึงว่ากองกายนี้เต็มด้วยเครื่องโสโครก มี ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น มีปฏิกูลสัญญาบังเกิดขึ้น รำงับเสียซึ่งความกำหนัด ความโกรธ ความหลงได้ ก็ดี หรือเห็นละเอียดลงไปว่า สรรพสิ่งทั้งปวง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ใช่ตนด้วยเหตุนี้ๆ แล้วไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยเห็นว่าปฏิบัติอย่างนี้ จะให้ตนได้สุขภายหน้าและพ้นทุกข์ทั้งปวงดังนี้ ก็ดี นี่แลชื่อว่าความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มีขึ้นเป็นขึ้นด้วยอุบายที่แท้ที่จริง ชื่อว่า ความดีจริง 

เมื่อกล่าวดังนี้ ทานคือจาคเจตนา ก็ดี ศีลคือทุจริตวิรัติ ภาวนาคือความที่ยังกุศลให้มีให้เป็นขึ้น ซึ่งเป็นความดีจริง ดังนี้ ก็ดี หรือระเบียบถ้อยคำที่ประกาศความดีจริงนั้น ก็ดี ชื่อว่าธรรม

ถามว่า ธรรม แปลว่าอะไร ? 
แก้ว่า ธรรม แปลว่า ของทรงไว้ซึ่งสัตว์ที่ทรงไว้ซึ่งตน อย่างหนึ่งว่าของอันบุคคลพึงทรงไว้ ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่บังเกิดขึ้นด้วยอุบายที่จริงที่แท้ ดังกล่าวมาแล้วนั้น บุคคลผู้ใดทำให้มีให้เป็นขึ้นในตน ผู้นั้นชื่อว่าธรรมจารี ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมๆ นั้น และย่อมจะทรงผู้นั้นไว้ คือไม่ให้ตกไปในที่กอบด้วยความทุกข์ มีนรก เป็นต้น 

เพราะเหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึ่งได้ทรงภาษิตไว้ว่า
"ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ
น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี

(ความว่า) ธรรมนั้นเทียวใช่อื่น ย่อมรักษาไว้ คือว่าทรงไว้ซึ่งบุคคลผู้ประพฤติซึ่งธรรม ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำมาซึ่งสุข อันนี้เป็นอานิสงส์ในธรรมอันบุคคลประพฤติแล้วดี คือผู้ประพฤติซึ่งธรรมย่อมไม่ไปยังทุคติ" 

ซึ่งแปลว่าของอันบุคคลจะพึงทรงไว้นั้น ได้ในปริยัติธรรมอันประกาศซึ่งความดีจริงนั้น เพราะปริยัติธรรมเป็นระเบียบบท บุคคลจะพึงเล่าท่องทำทรงไว้ อนึ่ง ปริยัติธรรม จะแปลว่า ทรงไว้ซึ่งผู้ทรงไว้ซึ่งตนด้วยก็ได้ เพราะว่าปริยัติธรรม ผู้ใดทรงท่านไว้ด้วยหวังจะปฏิบัติตาม ท่านย่อมจะทรงผู้นั้นไว้ด้วย ให้ความเจริญด้วยพาหุสัจจะแล้ว และพ้นจากที่กอบด้วยทุกข์ มีอบาย เป็นต้นได้ 

ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ซึ่งเป็นความดีจริงนั้น ที่ยั่งยืนก็มี ที่ไม่ยั่งยืนก็มี ที่ไม่ยั่งยืนนั้น คือ เกิดขึ้นแล้วดับไป มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นได้อีก ได้แก่ โลกิยกุศลธรรม ซึ่งเป็นไปในภูมิสาม คือ กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ที่ยั่งยืนนั้น คือ เกิดขึ้นแล้วแม้ดับไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่กลับเกิดอีกได้เลย ได้แก่ โลกุตรธรรม
ฯลฯ

ถามว่า สิ่งไรเป็นปฏิปัตติสัทธรรม ? 
แก้ว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ สิกขานี้ ชื่อว่าปฏิปัตติสัทธรรม

ศีล คือความสำรวมกายวาจาตามสิกขาบทบัญญัติ ได้แก่ ปาติโมกขสังวรศีล ซึ่งเป็นเชฏฐกศีลสำเร็จด้วยอริยาสมมติ และวิรัติ ความเว้นจากวจีทุจริต ๔ กายทุจริต ๓ มิจฉาชีพ ๑ ซึ่งเรียกว่า อาชีวมัฏฐกศีล อาชีวมัฏฐกศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ อันเป็นอาทิพรหมจริยกาสิกขา สำเร็จด้วยสมาทาน เจตนาก็ดี ชื่อว่า ศีลสิกขา 

สมาธิ ความตั้งใจอยู่ในอารมณ์อันเดียว คือ กุสเลกัคตา ความที่แห่งจิตมีอารมณ์อันเดียว เป็นกุศลอันเกิดขึ้นด้วยสมถกรรมฐาน มีกสิณปริกรรมและอสุภปริกรรม เป็นต้น ที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ เพราะเป็นสมาธิแอบแนบแน่นในอารมณ์ หรือเรียกว่า อัปปนาฌาน เพราะเป็นของแอบแนบแน่นเพ่งอารมณ์มีกสิณ เป็นต้นอยู่ก็ดี และอุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิยังไม่ถึงอัปปนาก็ดี ชื่อว่า สมาธิสิกขา 

ปัญญา ความรู้เท่าสังขาร คือนามรูปและปัญจขันธ์ เป็นต้น ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ใช่ตน ได้แก่ วิปัสสนาปัญญา

ตั้งแต่สัมมสนญาณจนถึงอนุโลมญาณ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยวิปัสสนากรรมฐานนั้น ชื่อว่าปัญญาสิกขา 

ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ นี้ ชื่อว่าสิกขา เพราะเป็นกิจการในศาสนาอันบุคคลผู้ประสงค์ความสิ้นทุกข์ จะพึงศึกษาสำเหนียกกระทำปฏิบัติตาม 

สิกขา ศัพท์นี้ จะแปลว่าความศึกษาก็ได้ จะแปลว่าธรรมชาติอันบุคคลพึงศึกษาก็ได้ แต่ในที่นี้ต้องแปลว่า ธรรมชาติอันบุคคลพึงศึกษา เพราะ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมชาติอันบุคคลพึงศึกษา ด้วยกล่าวไตรสิกขาว่าเป็นปฏิปัตติสัทธรรมนี้ 

แต่นี้จะพรรณนาสังฆรัตนะ 

ถามว่า อะไรเป็นสงฆ์ สงฆ์จะมีสักกี่อย่าง สังฆะนั้นแปลว่าอะไร ? 

แก้ว่า หมู่บุคคลผู้ฟังคำสอนแห่งพระพุทธเจ้า แล้วแลตรัสรู้ตามเสร็จพระพุทธเจ้า ชื่อว่าสงฆ์ในที่นี้ ที่เรียกว่าสงฆ์นั้นมี ๒ อย่าง คือ สมมติสงฆ์ อริยสงฆ์ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป นั่งในภายในสีมาไม่ละหัตถบาสกัน มีอำนาจให้สำเร็จสังฆกรรมนั้นๆ มีอุโบสถ เป็นต้น ได้ชื่อว่า สมมติสงฆ์ แปลว่าสงฆ์โดยสมมติ หมู่สาวกแห่งพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นอริยสาวก ชื่อว่า อริยสงฆ์ แปลว่าหมู่แห่งอริยเจ้า หรือหมู่เป็นพระอริยเจ้า 

จะกล่าวด้วยสาวกแห่งพระผู้มีพระภาคก่อน สาวก แปลว่า คนผู้ฟังคำสอนแห่งพระผู้มีพระภาค ก็แลคนผู้ฟังคำสอนซึ่งชื่อว่าสาวกนั้น มี ๒ คือ ปุถุชนสาวก อริยสาวก 

บุคคลจำพวกใด ได้ฟังโอวาทแต่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค หรือฟังแต่สำนักสาวสกของพระผู้มีพระภาคก็ดี ไม่ได้ความตรัสรู้มรรคผลธรรมวิเศษสิ่งใด ได้แต่ศรัทธา ความเชื่อในพระรัตนตรัยดำรงอยู่ในสรณคมน์ บุคคลจำพวกนั้น ชื่อว่าปุถุชนสาวก สาวกเป็นปุถุชน 

บุคคลจำพวกใด ได้สดับธรรมานุศาสน์ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเองก็ดี หรือสาวกแห่งพระผู้มีพระภาคผู้ใดผู้หนึ่งในพุทธกาล หรือภายหลังแต่พุทธกาลแสดงก็ดี และผู้นั้นย่อมได้โลกุตราภิสมัยมรรคผลในขณะเมื่อฟังก็ดี หรือปฏิบัติตามคำสอนแล้วแลได้ในภายหลังก็ดี เหล่านี้ชื่อว่าอริยสาวก แปลว่า สาวกผู้ไปจากข้าศึก คือกิเลส 

ในที่นี้ไม่ประสงค์ปุถุชนสาวก ประสงค์แต่อริยสาวกจำพวกเดียว 

ก็แลอริยสาวกนั้นจัดเป็นคู่ ได้ ๔ คู่ คือ
- โสตาปัตติมัคคัฏฐะ โสตาปัตติผลัฏฐะ คู่ ๑ 
- สกิทาคามิมัคคัฏฐะ สกิทาคามิผลัฏฐะ คู่ ๑ 
- อนาคามิมัคคัฏฐะ อนาคามิผลัฏฐะ คู่ ๑ 
- อรหัตมัคคัฏฐะ อรหัตผลัฏฐะ คู่ ๑ 
เรียงเป็นตัวบุคคลเป็น ๘ ก็แลชื่อพระอริยเจ้ามี คือ ชื่อว่า โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ๔ ชื่อนี้ อาศัยท่านผู้ตั้งอยู่แล้วในผล กล่าวโดยคุณ คือ มละกิเลสนั้นๆ ด้วยมรรคนั้นๆ แล้วแลตั้งอยู่ในผล 

พระโสดาบัน มละสังโยชน์ ๓ ได้ คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา ลีลัพพตปรามาส ดังกล่าวแล้วในโสดาปัตติมรรค กับมละกามราคะพยาบาทส่วนที่หยาบ ซึ่งจะให้เกิดทุจริต ๓ เป็นอบายคามิอกุศลให้ถึงอบาย ท่านเป็นคนมีธรรมเป็นเครื่องไม่ให้ตกไปในอบาย เป็นคนเที่ยง เป็นคนมีอันจะตรัสรู้อรหัตผล เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เป็นพระอริยเจ้าแรกถึงพระนิพพาน ขณะเมื่อท่านถึงโสดาปัตติมรรค ชื่อว่า โสตาปัตติมัคคัฏฐะ แปลว่า ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ขณะเมื่อท่านถึงโสดาปัตติผล ชื่อว่า โสตาปัตติผลัฏฐะ แปลว่า ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

อนึ่ง ชื่อว่า โสดาบัน แปลว่า ท่านผู้แรกถึงกระแสแห่งพระนิพพานคือมรรค พระโสดาบันมี ๓ จำพวก คือ 
- เอกพีชี มีพืช คือภพอันเดียว เพราะจะต้องเกิดในมนุษยโลกหรือเทวโลกอีกครั้งเดียว แล้วกระทำให้แจ้งอรหัตผลสิ้นภพหน้า จำพวก ๑ 
- ชื่อ โกลังโกละ คือเกิดอีก ๒ ภพ หรือ ๓ ภพ กระทำให้แจ้งพระอรหัตผล จำพวก ๑ 
- ชื่อ สัตตักขัตตุงปรมะ คือยังท่องเที่ยวอยู่ในมนุษยโลกและเทวโลกอีก ๗ ครั้ง ๗ ชาติ เป็นอย่างยิ่งไม่ถึงชาติที่ ๘ คงจะทำให้แจ้งอรหัตผลด้วยขันธปรินิพพานในภพที่ ๗ เป็นแท้จำพวก ๑ 
เป็น ๓ จำพวกนี้ 

พระสกิทาคามี ท่านย่อมทำราคะ โทสะ โมหะซึ่งเป็นอกุศลมูลให้น้อยให้บางไป ดังต้นหญ้าเกิดในร่ม ท่านมาเกิดในกามภพนี้อีกคราวเดียว แล้วกระทำให้แจ้งชึ่งอรหัตผล อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ดับขันธปรินิพพาน ก็แลขณะเมื่อท่านถึงสกิทาคามิมรรค ท่านชื่อว่า สกิทาคามิมัคคัฏฐะ แปลว่าท่านผู้ตั้งอยู่ในสกิทาคามิมรรค ขณะเมื่อท่านถึงสกิทาคามิผลแล้ว ท่านชื่อว่าสกิทาคามิผลัฏฐะ แปลว่า ท่านผู้ตั้งอยู่ในสกิทาคามิผล  หรืออนึ่ง ชื่อว่าสกิทาคามี แปลว่า ท่านผู้มายังกามภพนี้อีกคราวเดียว 

พระอนาคามี ท่านย่อมมละสังโยชน์ ๒ คือ กามราคะ พยาบาทได้ ดับขันธ์แล้วท่านย่อมไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมโลกทั้ง ๕ แห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วดับขันธปรินิพพานในสุทธาวาสนั้น มีอันไม่กลับจากพรหมโลกนั้นเป็นธรรมดา ก็แลขณะเมื่อท่านถึงอนาคามิมรรค ท่านชื่อว่าอนาคามิมัคคัฏฐะ แปลว่า ท่านผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค ขณะเมื่อท่านถึงอนาคามิผล ท่านชื่อว่าอนาคามิผลัฏฐะ แปลว่าท่านผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล หรืออนึ่ง ท่านชื่อว่าอนาคามี แปลว่า ท่านผู้ไม่มายังกามภพนี้อีก 

พระอนาคามีนั้นมี ๕ จำพวก
- ชื่อว่า อันตราปรินิพพายี ผู้ดับในระหว่าง คือว่าเกิดขึ้นในสุทธาวาสพรหมโลกแล้ว และยังไม่ทันถึงท่ามกลางอายุ ท่านย่อมยังอรหัตมรรคให้บังเกิดขึ้น เพื่อมละสังโยชน์เบื้องบนได้ จำพวก ๑ 
- ชื่อว่า อุปหัจจปรินิพพายี ท่านผู้เข้าจดแล้วและดับ คือว่าท่านเกินท่ามกลางอายุขึ้นไปจวนกาลอายุจะสิ้น ยังอรหัตมรรคให้บังเกิดขึ้น เพื่อมละสังโยชน์เบื้องบน ๕ ได้ จำพวก ๑ 
- ชื่อว่า อสังขารปรินิพพายี ผู้ดับด้วยอสังขาร คือว่าท่านยังอรหัตมรรคให้บังเกิดขึ้น เพื่อมละสังโยชน์ ๕ เบื้องบนด้วยไม่ยาก ไม่ต้องประกอบความเพียรยิ่งใหญ่ จำพวก ๑ 
- ชื่อว่า สสังขารปรินิพพายี ผู้ดับด้วยสสังขาร คือว่าท่านยังอรหัตมรรคให้บังเกิดขึ้นด้วยยาก ต้องประกอบประโยคยิ่งใหญ่จำพวก ๑ 
- ชื่อว่า อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่ภพชื่อว่าอกนิฏฐะ คือ จุติจากอวิหพรหมโลกแล้ว ไปยังอตัปปพรหมโลกแล้ว จุติจากอตัปปพรหมโลกแล้ว ไปยังสุทัสสพรหมโลก จุติจากสุทัสสพรหมโลกแล้ว ไปยังอกนิฏฐพรหมโลก ยังอรหัตมรรคให้เกิดขึ้น มละสังโยชน์เบื้องบนในพรหมโลกนั้นจำพวก ๑ 
เป็น ๕ จำพวก ดังนี้ 

พระอรหันต์ ย่อมมละสังโยชน์เบื้องบน ๕ ได้ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ซึ่งเป็นกิเลสละเอียด สิ้นภพในเบื้องหน้า ดับขันธปรินิพพาน ก็แลขณะเมื่อท่านถึงอรหัตมรรค ท่านชื่อว่าอรหัตมัคคัฎฐะ แปลว่าท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรค ขณะเมื่อท่านถึงอรหัตผล ท่านชื่อว่าอรหัตผลัฏฐะ แปลว่าท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผล หรืออนึ่ง ชื่อว่าอรหันต์ แปลว่าท่านผู้ควรผู้ไกลกิเลส พระอรหันต์นั้น โดยคุณนามที่ปรากฏอยู่มี ๔ จำพวก คือ 
- สุกฺขวิปสฺสโก ท่านผู้มีวิปัสสนา อันแห้ง เพราะไม่มียางคือสมถภาวนา ได้เจริญวิปัสสนาอย่างเดียว บรรลุพระอรหัต ไม่ประกอบด้วยฤทธิวิเศษสิ่งใด จำพวก ๑ 
- ชื่อว่า เตวิชฺโช ท่านผู้ประกอบด้วยวิชชา ๓ จำพวก ๑ 
- ชื่อว่า ฉฬภิญโญ ท่านผู้ประกอบด้วยอภิญญา ๖ จำพวก ๑ 
- ชื่อว่า ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต ท่านผู้ถึงปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ จำพวก ๑ 
เป็น ๔ จำพวก ดังนี้.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕




Create Date : 11 มีนาคม 2565
Last Update : 11 มีนาคม 2565 14:40:24 น.
Counter : 429 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์