"ทิฏฐิ" ที่เป็น "สัมมา" ไม่ใช่ได้มาโดยความรู้สึกนึกคิด


🌷 "ทิฏฐิ" ที่เป็น "สัมมา" ไม่ใช่ได้มาโดยความรู้สึกนึกคิด

วันพฤหัสที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือนสาม ปีฉลู

เจริญสุข สวัสดี สาธุชนทั้งหลาย ที่ยังแสวงหาธรรมะที่ชอบ ที่ใช่ ที่ใช้ได้จริง สามารถน้อมนำเอาไปปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริง 

พูดถึง "ทิฏฐิ" ที่เป็น "สัมมา" ไม่ใช่ได้มาโดยความรู้สึกนึกคิด ที่คิดแล้วคิดเล่าเฝ้าแต่คิด จนความคิดเหล่านั้นที่ได้ยินมาด้วยการฟัง ได้มาด้วยการอ่าน หรือการศึกษา และได้นำความคิดเหล่านั้นกลับมาทบทวนแล้วทบทวนเล่า จนความคิดเหล่านั้นได้ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ขึ้นมา พอที่จะนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้บ้างตามสมควร และเข้าใจไปเองว่านั่นแหละตนได้ปัญญาที่เป็นสัมมา (ชอบ) แล้ว 

เราคงเคยได้ยินมาบ้างแล้ว คำว่า ทิฏฐิพระ มานะโยมนั้น ไม่ผิดเลยจากความเป็นจริง ผู้ที่บวชเข้ามาสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ในพระพุทธศาสนานั้น โดยมากแล้วที่บวชเข้ามานั้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ บวชเพื่อหนีสงสาร บวชสนุกตามเพื่อน บวชตามประเพณีนิยม มีอีกมากมาย ยิ่งอยู่ในผ้าเหลืองมานาน มานะทิฏฐิยิ่งล้นจนอหังการ มมังการไปเลย ถึงจะสอนผิดยังไง ใครเตือนไปก็ไม่ค่อยจะรับฟัง แต่กลับถูกเก็บไว้ในใจ โอกาสมีมาเมื่อไหร่มักจะเอาคืนเมื่อนั้น โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมอันงามและการปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดออกไป เพราะยังไม่รู้จักและยังเข้าไม่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงนั่นเอง

คำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น แตกต่างกันโดยสมมุติเท่านั้น แต่อยู่ที่เดียวกันคือที่วิราคจิต (จิตที่แยกจากอารมณ์แล้ว) หรือที่นิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดทุกข์นั่นเอง 

พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้เรื่องการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดผ่องแผ้ว 

พระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อให้นำไปปฏิบัติจนจิตผู้นั้นบริสุทธิ์หลุดพ้น 

ส่วนพระสงฆ์ คือบุคคลผู้ซึ่งได้น้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนเหล่านั้น ไปปฏิบัติอย่างจริงจังจนกระทั่งจิตของตนบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ เช่นกัน 

ฉะนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน รอยเดียวกัน เป็นเรื่องของจิตบริสุทธิ์หลุดพ้น 

เมื่อได้บวชเข้ามาแล้ว ภิกษุทุกรูปต้องประพฤติปฏิบัติธรรมในการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ขาวรอบ นี่จึงเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่อุบัติขึ้นมาในโลก (สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ) ไม่ใช่บวชเข้ามาเพียงเพื่อนับพรรษากัน พรรษาก็เป็นเพียงแค่วันเวลาที่ผ่านไปเท่านั้น ส่วนภูมิรู้ ภูมิธรรมไม่ต้องพูดถึง มีแต่ภูมิใจล้วนๆ ที่ได้บวชผลาญข้าวสุกมานาน 

เมื่อพูดถึงภูมิรู้ ภูมิธรรม ไม่ใช่ภูมิรู้ ภูมิธรรมที่ได้มาจากการเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก หรือบาลีเปรียญธรรมมา นั่นยังเป็นเพียงปัญญาทางโลก ไม่อาจช่วยให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้เลย แต่ต้องเป็นภูมิรู้ ภูมิธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาหรือสัมมาสมาธิในองค์อริยมรรค จนมีความชำนาญในการเข้าออกฌานได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะรู้จักการวางจิตของตนยังไง จึงทำให้จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เข้ามากระทบได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำมาใช้งานได้จริงทั้งลืมตาและหลับตา 

ในครั้งพุทธกาล ภิกษุเคารพกันที่ภูมิรู้ ภูมิธรรมด้วย พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า เถระ กรณธรรม คือ ธรรมที่ทำให้เป็นเถระ (ผู้ใหญ่) มี ๔ อย่าง คือ ๑ เป็นผู้มีศีล ๒ เป็นพหูสูต ๓ เป็นผู้เข้าฌานได้ทุกเมื่อตามที่ต้องการ ๔ เป็นพระอรหันต์ จากที่กล่าวมานี้ ผู้ใดที่ได้อยู่ใกล้กับบุคคลเหล่านี้ เหมือนได้มีกัลยาณมิตรชั้นเลิศ ที่คอยชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ชักนำเราไปในทาง (มรรค) ที่ถูก ที่ควร ที่ใช่ ไม่ใช่ที่ชอบ

คำว่า "ทิฏฐิ" นั้นเป็นคำกลางๆ หมายถึง "ความคิดเห็น" จะถูกหรือผิดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับ อีกทั้งรายละเอียดที่แวดล้อมอยู่ 

หลักเกณฑ์สำหรับใช้ในการตัดสินใจเชื่อเรื่อง เห็นถูก (สัมมา) หรือ เห็นผิด (มิจฉา) ในพระพุทธศาสนา

มีพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตร ตรัสไว้ดังนี้คือ เอวะ เมตัง ยะถาภูตัง สัมมัปปัญญายะ ทัฏฐัพพัง แปลว่า ท่านทั้งหลายพึงเห็นเรื่องนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบ ดังนั้น จึงใช้หลักแห่งความเป็นจริง สำหรับตัดสินใจเชื่อในเรื่องเห็นถูกหรือเห็นผิดที่ยกมากล่าวนี้ 

๑. เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าเที่ยง คือ เห็นอสังขตธรรม ได้แก่ ธาตุแท้ทั้ง ๖ ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ปรุงแต่ง ว่าเป็นสภาพธรรมที่ดำรงตนอยู่เช่นนั้นตลอดไปได้ โดยไม่มีการดับตายหายสูญไปไหน ตามที่เป็นจริง จัดเป็นสัมมาทิฏฐิ 

๒. เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง คือ เห็นสังขตธรรม ได้แก่ สังขารทั้งหลายที่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุแท้ทั้ง ๖ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจดำรงตนอย่างยืนยาวตลอดกาลไปได้ ย่อมดับตายหายสูญไปเป็นธรรมดา จัดเป็นสัมมาทิฏฐิ 

๓. เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง คือเห็นผิดจากความเป็นจริงว่า สังขตธรรม อันได้แก่ สังขารทั้งหลายที่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุแท้ทั้ง ๖ สามารถดำรงตนเองอย่างยืนยาวไปได้ตลอดกาล เช่น เห็นว่าขันธ์ ๕ เที่ยงแท้ถาวร เป็นต้น จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฝ่ายสัสสตทิฏฐิ (เห็นผิดว่าอารมณ์เที่ยง) 

๔. เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าไม่เที่ยง คือ เห็นผิดจากความเป็นจริงว่า อสังขตธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรม ที่ดำรงตนเองอยู่ได้เช่นนั้นตลอดไป ต้องพลอยดับตายหายสูญไปด้วยเมื่อรูปร่างกายของสัตว์ตายลง เช่น เห็นว่าจิตไม่จุติออกไปเพื่อสืบต่อภพชาติใหม่ต่อไปอีก จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ (เห็นผิดว่าขาดสูญเมื่อสัตว์ตายลงไป) 

ข้อ ๑ กับ ข้อ ๒ นั้น จัดเป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ 
ข้อ ๓ กับ ข้อ ๔ นั้น จัดเป็นความรู้เห็นกลับตาลปัตรผิดจากความเป็นจริง นับเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฝ่ายสัสสตทิฏฐิ (เห็นผิดว่าอารมณ์หรือโลกเที่ยง) 

🌻 สัสสตทิฏฐิ

คำว่า สัสสตทิฏฐิ นี้เป็นไวพจน์กับคำว่า อัตตานุทิฏฐิ หรือ สักกายทิฏฐิ ซึ่งรวมแล้วแปลว่า เห็นอารมณ์หรือขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน หรือเป็นรูปร่างกายอันเที่ยงแท้ถาวรของตน ดังเช่น ศาสนาพราหมณ์เห็นว่าพระพรหมเป็นสภาพธรรมที่ดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงดิ่งตลอดไป พระพุทธองค์ได้ตรัสปฏิเสธว่า พระพรหมถึงแม้จะมีอายุยืนยาวสักเพียงใดก็ตาม ก็ยังเป็นสังขารธรรมที่ถูกอารมณ์ฌานปรุงแต่งอยู่ ดังนั้น จึงยังไม่พ้นจากความครอบงำของพระไตรลักษณ์ไปได้ สักวันหนึ่งข้างหน้าพระพรหมก็จะต้องจุติเปลี่ยนสภาพไปสู่ภพภูมิอื่น เป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้ ความเห็นของศาสนาพราหมณ์จึงจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฝ่ายสัสสตทิฏฐิ เพราะเห็นว่าอารมณ์เที่ยง 

เท่าที่ปรากฏอยู่ในวิชาธรรมะ คำที่มีความหมายเป็นไวพจน์เกื้อกูลกับคำว่า อารมณ์ คือขันธ์ ๕ รูปนาม สังขาร สังขตะ โลก ทุกข์ เหล่านี้ มักใช้แทนกันได้ ตามสำนวนที่กำลังเอ่ยถึงอยู่ในขณะนั้น ดังนั้น แต่ละคำเหล่านี้ จึงล้วนแล้วแต่มีความหมายว่า ไม่เที่ยงแท้ถาวรทั้งสิ้น ถ้าหากใครเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่เที่ยงแล้ว ก็ย่อมเห็นผิดจากความเป็นจริง เช่นเห็นว่าพระพรหมดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงดิ่ง เช่นนี้ตลอดไป เป็นต้น ก็เรียกว่าเห็นกลับตาลปัตร ไปจากความเป็นจริง ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น 

นอกจากนี้ ถ้าเห็นว่าเมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็เป็นมนุษย์ตลอดไป หรือเมื่อได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว ก็เป็นสัตว์เดรัจฉานตลอดไป ตายแล้วก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นตามคติของกรรมที่ตนได้ทำไว้ ก็จัดเป็นสัสสตทิฏฐิ 

แต่ถ้าเห็นว่า จิตของมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายจะต้องจุติไปเกิดอีกหลังจากที่ตายแล้ว ในเมื่อยังไม่หมดกิเลส ก็จัดว่าเป็นสัมมาทิฏฐิในพุทธศาสนา ไม่ใช่สัสสตทิฏฐิ 

สำหรับเรื่องสัสสตทิฏฐินี้ ผู้ที่เริ่มเข้ามาศึกษาธรรมะใหม่ๆ มักจะถูกผู้อื่นเอาสัสสตทิฏฐิปลอมๆ ซึ่งฝ่าฝืนเหตุผลมาขู่ให้กลัวเกรง ทำให้ลืมเรื่องราวที่ดีที่ชอบ ประกอบด้วยเหตุผลไปเสีย จนทำให้ต้องเห็นคล้อยตามคำขู่นั้นไปด้วย เช่น เห็นว่าเมื่อสัตว์ตาย แต่จิตเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตายสูญหายไปไหน ย่อมจุติออกไปถือกำเนิดในภพชาติใหม่ต่อไปอีก ไม่มีที่สิ้นสุด ก็ขู่ว่านี่เป็นสัสสตทิฏฐิ หรือเห็นว่า ในอัตตภาพของคนและสัตว์ ซึ่งประชุมพร้อมด้วยรูปธรรม-นามธรรมนี้ มีอยู่ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เป็นสภาพยั่งยืนสำหรับรับผลกรรมที่ได้ทำไว้ ไม่ได้ดับตายหายสูญไปตามร่างกายที่ตายไปด้วย ก็ขู่ว่านี่เป็นสัสสตทิฏฐิ 

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เริ่มศึกษาธรรมะหันกลับมาเชื่อตามผู้ขู่ว่า ทั้งร่างกายและจิตใจที่ได้ประชุมพร้อมกันอยู่นี้ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักนิด จึงหาประโยชน์มิได้และดับตายหายสูญไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อสัตว์ตายลง เช่นเดียวกับบุญ บาป กิเลสอาสวะที่ได้สั่งสมรวมไว้ในจิตด้วยเหมือนกัน จิตที่ไปเกิดใหม่นั้น เป็นจิตดวงใหม่ แต่สามารถถ่ายทอดรับช่วงบุญบาปจากจิตดวงเก่าที่ดับไปแล้วได้ อุปมาดังพ่อทำบาปสะสมไว้ พอตายไป ก็ถ่ายทอดบาปกรรมเช่นนั้น ให้ลูกที่เกิดในภายหลัง เป็นผู้รับมรดกต่อไปอีก ซึ่งเป็นคำขู่ที่เชื่อถือไม่ได้เลย 

ความจริงนั้น พระพรหมก็ดี หรือที่เรียกว่าขันธ์ ๕ ก็ดี เป็นสภาพธรรมฝ่ายผล (วิบาก) ที่เกิดจากจิตถูกอารมณ์ฌานปรุงแต่งให้มีให้เป็นทั้งสิ้น เมื่อหมดอารมณ์ฌานที่ปรุงแต่งอยู่นั้น จิตก็ย่อมถูกอารมณ์อย่างอื่นทยอยกันเข้ามาปรุงแต่งตามลำดับติดต่อกันไป อุปมาดังน้ำสะอาดที่ถูกนำเอาสีเข้ามาผสมปรุงแต่ง ทำให้น้ำมีสีเหมือนกับสีที่เข้ามาผสม แต่ละสีที่ผสมแต่ละครั้ง ฉันใดก็ฉันนั้น เราจะเห็นว่าทั้งจิตและน้ำได้ยืนตัวเป็นประธานให้สิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งอยู่ ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน แต่สิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่คงที่เสมอไป 

ดังนั้น ถ้าเรากล่าวว่า จิตเป็นธาตุที่ทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัยตามที่เป็นจริง ย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ และในขณะเดียวกัน ถ้าเรากล่าวว่าอารมณ์ฌานที่เข้ามาปรุงแต่งจิตนั้นเที่ยงแท้แน่นอน ก็เป็นสัสสตทิฏฐิ 

🌻 อุจเฉททิฏฐิ (เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าไม่เที่ยง หรือเห็นว่าขาดสูญ) 

อุจเฉททิฏฐินี้เป็นความเห็นผิดที่มีโทษร้ายแรงมาก ถึงกับต้องห้ามมรรคผลของตัวเองเลยทีเดียว ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาให้รู้จักอสังขตธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ปรุงแต่งให้มี ให้เป็น เป็นธรรมที่รักษาสภาพเดิมของตนไว้ตลอดทุกกาลสมัย 

แต่ผู้ที่เห็นผิดกลับเข้าใจว่า ไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารถาวร บุคคลพวกนี้เห็นว่าทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเกิดมาจากความสนุกสนานร่าเริงของบิดามารดา จึงทำให้เกิดรูปร่างกายของตัวเองขึ้นมา และเมื่อเกิดรูปร่างกายขึ้นมาแล้ว ก็มีจิตใจพลอยเกิดขึ้นตามมาด้วยโดยอัตโนมัติ ดังนั้น เมื่อร่างกายตายลงเมื่อใด จิตก็ต้องพลอยพินาศดับสูญไปด้วยเช่นกัน เกิดหนเดียว ตายหนเดียวเท่านั้น ไม่มีการสืบภพชาติต่อไปอีกแต่ประการใด ความเห็นเช่นนี้จัดว่า เป็นอุจเฉททิฏฐิ (เห็นว่าขาดสูญ) 

ความเห็นผิดเช่นนี้ มีอยู่มากมายในปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้ มักมีจิตใจกระด้าง หยาบคายเป็นส่วนใหญ่ มักไม่เห็นความถูกต้องของการกำเนิดชีวิตในสังคมว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงมักประพฤติตนตามชอบใจและสวนทางกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา บางทีก็บิดเบือนสัจธรรมให้ผิดไป ทำให้ส่งผลให้เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง 

ผู้ที่เชื่อถือเช่นนี้ จะละเลยการประกอบคุณงามความดี และหันเข้าประกอบแต่ความชั่ว กอบโกยผลประโยชน์แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา โดยไม่คำนึงถึงผลของกรรมที่จะได้รับข้างหน้า เพราะได้เข้าใจผิดเสียแล้วว่า ใครจะทำอะไรลงไป ก็ย่อมขาดตายหายสูญ เมื่อตายลงจึงไม่ต้องชดใช้กรรม หรือรับผลของกรรมแต่ประการใดเลย 

ดังนั้นผู้ศึกษาธรรมะที่หลงพาตัวเองเข้าไปอยู่ในข่ายความเห็นผิดว่าตายสูญ เพราะเหมาเอาว่าตายไปแล้วจะพ้นทุกข์ไปด้วยเช่นนั้น ย่อมขัดแย้งกับพระพุทธศาสนา ดังมีพุทธดำรัสที่มีมาใน อปัณณกสูตร ว่า 

"พระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าปรโลกมีอยู่ ฉะนั้นผู้ที่ถือว่าปรโลกไม่มี จึงได้ชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ทั้งหลาย

ในเมื่อตนเองถือเช่นนั้น (ถือว่าตายสูญ) แล้วสอนผู้อื่นให้เชื่อตาม จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกาศอสัทธรรม และด้วยอสัทธรรมที่ได้ประกาศออกมาเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ยกตนข่มผู้อื่นอีกด้วย ย่อมละศีลได้ง่าย และประพฤติตนในทางทุศีล

ดูก่อนคหบดีทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ย่อมก่อให้เกิดอกุศลกรรม ไม่ใช่น้อยทีเดียว

ดูก่อนคหบดี ในเรื่องปรโลกนี้ สำหรับคนที่ฉลาด ย่อมคิดอย่างนี้ว่า ถ้าปรโลกไม่มี คนที่ทำบาปไว้ก็ปลอดภัยไป แต่ถ้าปรโลกมีจริง คนที่ทำบาปไว้ ตายไปแล้ว ก็จะเข้าถึงทุคติ วินิบาตนรก หรือแม้เราไม่พูดถึงปรโลก แต่คนที่เห็นผิดและทำทุศีล ก็ย่อมถูกวิญญูชนทั้งหลายติเตียนเอาได้ในโลกนี้เอง

เพราะฉะนั้น คนที่มีความเห็นผิด จึงต้องประสบผลร้ายถึง ๒ ทางด้วยกัน คือ ถูกวิญญูชนติเตียนในโลกนี้ และเมื่อตายลงไปแล้ว ก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรกอีกด้วย"

สรุปความแล้ว ผู้ที่เห็นว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่ต้องดับตายหายสูญ เมื่อรูปร่างกายนี้ตายลง จัดว่าเป็น อุจเฉททิฐิ ในพระพุทธศาสนา

🌻 สัมมาทิฏฐิ

ส่วน "สัมมาทิฏฐิ" ที่มีให้เห็นในทุกวันนี้ เป็น "สัมมาทิฏฐิ" ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดของตนเองล้วนๆ แทบไม่มีส่วนผสมของโลกุตตระเอาเสียเลย เพราะไม่เคยนำสิ่งได้รู้ ได้ฟัง ได้ศึกษามาสอบสวน ตรวจสอบ เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยเลย เป็นความเชื่อความศรัทธาในตัวบุคคลล้วนๆ เสียมากกว่า เป็นการเชื่อในความนึกคิดที่ยึดติดในความรู้สึกของตนเองเกี่ยวกับบุคคลนั้น โดยไม่เคยนำเอามาสอบสวนตรวจสอบดูว่า ผู้รู้หรือวิญญูชนทั้งหลายติเตียนหรือไม่  และมักมองข้ามหลักฐานความจริงของข้อมูลรายละเอียดที่มีปรากฏในพระสูตรต่างๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว

โดยเฉพาะ "ทิฏฐิ" ที่ได้รับจากบุคคลผู้น่าเชื่อถือ มีหน้ามีตา มีหน้าที่การงาน อีกทั้งมีฐานะทางสังคมชั้นสูงด้วยแล้ว เมื่อได้สอนอะไรไป ผู้ฟังมักปักธงลงไปว่าขอเชื่อไว้ก่อน ว่าที่สอนมานั้นถูกต้องแล้ว เป็น "สัมมาทิฏฐิ" ทั้งๆ ที่ "ทิฏฐิ" ที่ว่ามานั้น เป็นเพียงความเชื่อ ความศรัทธาที่เกิดขึ้นจากความนึกคิดที่ยึดติดในความรู้สึกของตนเองเท่านั้น

มีพระพุทธพจน์ตรัสเพื่อป้องกันเรื่องเหล่านี้ไว้ในกาลามสูตร ทรงตรัสถึงความเชื่อ ๑๐ ประการว่า อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เอถ ตุเมฺห กาลามา 
๑. มา อนุสฺสเวน อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยฟังตามๆ กันมา
๒. มา ปรมฺปราย อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ ถือว่าเป็นของเก่าสืบๆ กันมา
๓. มา อิติกิราย อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยมงคลตื่นข่าว
๔. มา ปิฏกฺสมฺปทาเนน อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยอ้างตำราหรือคัมภีร์
๕. มา ตกฺกเหตุ อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยเหตุนึกเดาเอา (ตรรกะ)
๖. มา นยเหตุ อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยใข้การคาดคะเน (อนุมาน) เอา
๗. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยตรึกตามอาการ
๘. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา  อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน
๙. มา ภพฺพรูปตาย  อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อถือได้
๑๐. มา สมโณ โน ครูติ   อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยนับถือว่าสมณะรูปนี้เป็นครูของเรา

ต้องสมาทานนำมาปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ให้ทราบตามความเป็นจริง เห็นผลที่ประจักษ์ได้แล้ว ค่อยเชื่อก็ยังไม่สาย แต่เชื่อมั๊ยว่า ทั้ง ๑๐ ประการที่ว่านี้ ชาวพุทธเราทุกวันนี้ปลงใจเชื่อไปเรียบร้อยแล้วด้วยคำว่า ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ ทำไมถึงสอนเรื่องนี้ เพราะในครั้งพุทธกาลมีเจ้าลัทธิมากมายนับไม่ถ้วน แต่หลักๆ ที่มีสานุศิษย์มากมายนั้นอยู่ประมาณ ๖ ลัทธิ อันมี ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถ์นาฏบุตร เมื่อท่านทั้งหลายดังกล่าวผ่านไปยังเกสปุตตนิคม ซึ่งมีชาวกาลามะอาศัยอยู่ ทุกท่านยกตนเองว่าเป็นผู้เข้าถึงคุณวิเศษ และข่มลัทธิอื่นที่มีอยู่เช่นกันหมด 

จนเมื่อพระพุทธองค์ได้ผ่านไปจึงได้สั่งสอนให้รู้จักการจะเชื่ออะไรนั้น ต้องควรตั้งใจฟังให้ดี ศึกษาด้วยดี ที่สำคัญคือ ต้องนำสิ่งที่รู้เห็น ศึกษามานั้น สมาทานอย่างเต็มที่แล้ว พึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้หรือวิญญูชนไม่ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติ บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ธรรมเหล่านั้นควรเชื่อได้

แต่ในปัจจุบัน คำสอนมักเป็นไปในแบบเอาอกเอาใจกัน เป็นไปในแบบง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้นเสียมากกว่าคำสอนที่เป็นแก่นแท้หรือธรรมแท้ แต่สำหรับบุคคลผู้ที่มีจิตศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา การสอนก็มักเป็นไปในรูปแบบให้กำลังใจ เพื่อให้เกิดความเชื่อ ความศรัทธายิ่งๆ ขึ้น โดยขาดการเน้นย้ำในส่วนสาระสำคัญที่เป็นเรื่องของความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ อริยสัจ ๔ มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

แต่เพราะปัจจุบันนี้ ชาวพุทธเรามักง่ายขึ้น มักชอบเลือกเอาแต่แบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ลงทุนน้อย แต่คาดหวังเอาไว้มากๆ จนกระทั่งลืมเลือนไป และไม่ให้ความสนใจในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) ซึ่งมีต้นทุนสูง แต่ก็คุ้มทุนทุกครั้งที่ลงทุนไป ไม่เป็นหมัน

อริยสัจ ๔ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการนี้ ที่ทรงบอกเรื่องนี้ เพราะเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เป็นไปเพื่อนิพพาน เป็นการไม่ให้เชื่อในความนึกคิด ติดในความรู้สึกที่ตกผลึกของตน และเข้าใจไปเองว่านั่นแหละปัญญาที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิ 

เนื้อแท้ต้องปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพื่อพิสูจน์ให้เข้าถึงความเชื่อนั้น ความศรัทธานั้น "ทิฏฐิ" ความคิดเห็นที่ตนเองคิดว่าถูกนั้น จึงจะเป็น "สัมมาทิฏฐิ" คือเป็นความคิดเห็นที่ชอบ หรือการรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว หมายถึงการได้ผ่านการพิสูจน์ทราบทางการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา จนเข้าถึงรู้จักที่ใช่ และปฏิเสธที่ไม่ใช่ เพื่อให้รู้เห็นตามความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะเป็น "สัมมาทิฏฐิ" ที่เป็นเพียงสาสวะ (มีกิเลส) ก็ตาม

มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ในตอนต้นพระสูตร มหาจัตตารีสกสูตร เกี่ยวกับ "สัมมาสมาธิ" ของพระอริยเจ้า อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ ที่แวดล้อมไปด้วยอริยมรรคอีก ๗ องค์ ในบรรดาอริยมรรคทั้ง ๗ นั้น ยกให้ "สัมมาทิฏฐิ" เป็นประธาน โดยทรงกล่าวถึง "สัมมาทิฏฐิ" ที่เป็นประธานอยู่นั้นมี ๒ อย่าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์
๒. สัมมาทิฏฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค

๑. สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน?
คือ ความเห็นดังนี้ว่า
- ทานที่ให้แล้ว มีผล
- ยัญที่บูชาแล้ว มีผล
- สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล
- ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้ว มีอยู่ 
- โลกนี้ มี
- โลกหน้า มี
- มารดา มี
- บิดา มี
- สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะ มี
- สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่
นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

"สัมมาทิฏฐิ" ที่ยังเป็นสาสวะ ยังต้องมีพื้นฐานสำคัญในเรื่องกำลังสมาธิของจิต มีสติสงบตั้งมั่น แต่ยังคงมีความหวั่นไหวอยู่บ้าง ไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันละเอียดหรือที่ประทับใจมากๆ เข้ามากระทบจิตของตน ให้สะดุ้ง กระเทือน กระเพื่อม เพื่อเตือนให้รู้ทันต่ออารมณ์ ไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านมากมายไปตามอารมณ์นั้นๆ

ทำไมต้องมีกำลังของ "สมาธิ" ด้วย? เพราะบุคคลที่จิตมีกำลังสติสงบตั้งมั่นได้นั้น เป็นบุคคลที่สร้างสติให้เกิดขึ้นได้แล้ว คุณธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น พิจารณาดำเนินกิจกรรมออกไปในทิศทางที่ถูกต้อง ย่อมเป็นบุคคลที่มีส่วนในทางทำให้เกิดกุศล กุศลทั้งหลายล้วนเป็นเรื่องของบุญ เช่น เคารพพ่อแม่ ทำความดี ให้ทาน เชื่อเรื่องวิบากกรรม เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจิตใจที่สุขสงบร่มเย็น

การกระทำเหล่านี้ จึงเป็นบุญที่ให้ผลแก่ขันธ์ เช่น 
เวทนาขันธ์ ก็ได้รับแต่สุขเวทนา 
สัญญาขันธ์ จดจำแต่สิ่งที่ดีเป็นบุญกุศล 
สังขารขันธ์ ปรุงแต่งในสิ่งดีๆ มีประโยชน์ 
วิญญาณขันธ์ แจ้งแต่ในอารมณ์อันละเอียดเป็นสุข สงบร่มเย็น

๒. สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่
นี้แล สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฏฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฏฐิ
ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาทิฏฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฏฐิอยู่
สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ
ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาทิฏฐิของภิกษุนั้น ฯ

จากพระสูตรดังกล่าว แต่ละบรรพะขององค์มรรค ที่ต้องการละจาก "มิจฉาทิฏฐิ" มาสู่ "สัมมาทิฏฐิ" นั้น  ล้วนต้องมีองค์ประกอบของ "สัมมาวายามะ" และ "สัมมาสติ" ในทุกๆ บรรพะ ทั้ง ๑๐ บรรพะ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ)

"สัมมาวายามะ" และ "สัมมาสติ" ทั้ง ๒ องค์แห่งอริยมรรค ๘ เป็นส่วนประกอบของหมวด "สมาธิ" [สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จิตรวมลงเป็น "สมาธิ" สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว] คำว่า "สัมมาสมาธิ" ได้ถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจ

การละ "มิจฉาทิฏฐิ" เพื่อบรรลุ "สัมมาทิฏฐิ" นั้น ต้องเข้าถึงอริยสัจ ๔ คือการรู้เห็นตามความเป็นจริงอันประเสริฐ ไมใช่อาศัยเพียงความรู้สึกนึกคิดที่ตกผลึกแล้ว นั่นเป็นเพียง "ทิฏฐิ" ความเชื่อ ความศรัทธาที่คิดเองว่าถูก ยังขาดการปฏิบัติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ จึงจะเป็น "สัมมา"  

มีพระพุทธพจน์ในสมาธิสูตร รับรองไว้ดังนี้

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง
ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งอะไรเล่า?
รู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐว่า
- นี้เป็นทุกข์
- นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
- นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
- นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์"

เปรียบเหมือนบุคคลผู้ที่ต้องการ "กำหนดรู้" หรือรู้เรื่องราวความเป็นจริงอะไรสักอย่าง จำเป็นต้องลงพื้นที่จริง หรืออยู่ในสภาวธรรมตามความเป็นจริง จึงจะ "กำหนดรู้" ได้ถูกต้อง เช่น ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละเสีย  ฯลฯ   จะอาศัยเพียงแค่ "สัญญา"  ที่เข้าใจว่าเป็น "ปัญญา" มากำหนดรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง แล้วละได้บ้าง ไม่ได้บ้างนั้น เป็นเพียงความรู้สึกที่นึกคิดเอาเองว่า "ใช่" แต่ยังไม่ "ชอบ" ปัญญาชอบนั้น ต้องเป็นปัญญาที่ประกอบไปด้วย จิตที่มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว รู้แล้วละเรื่องที่รู้ ไม่ปรุงแต่งต่อ

ส่วนบุคคลผู้ซึ่งลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานหรือเดินจงกรม เพื่อให้รู้เห็นตามความจริง (สัมมาทิฏฐิ) เปรียบเหมือนการลงพื้นที่ หรืออยู่ในสภาวธรรมที่เป็นจริง เช่น เมื่อกำลังปฏิบัติธรรมกรรมฐาน หรือเดินจงกรมอยู่นั้น ทำไมจึงยังไม่สามารถประคองสติให้จิตสงบตั้งมั่นได้ ก็ควรกำหนดรู้ลงไปว่า ความรู้สึกนึกคิด ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ฯลฯ ล้วนเป็นทุกข์

เรื่องอะไรที่ทำให้ไม่สามารถประคองสติ เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นได้ เมื่อกำหนดรู้แล้ว ควรละเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นเสีย ทุกข์ดับไปได้ชั่วคราวในขณะนั้น เพราะมีสติกำกับอยู่ ต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนบ่อยๆ เนืองๆ จนเกิดความชำนาญ จิตสิ้นการปรุงแต่ง เพราะสิ้นตัณหา รู้จักการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายไป เป็นเส้นทางสู่ความเป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค เป็นสัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ ดังนี้ ... สาธุ

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันพระ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕




Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2565 18:15:49 น.
Counter : 725 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์