บุพพสิกขาวรรณนา
🌷 บุพพสิกขาวรรณนา (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) วันพฤหัสที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕ ตรงกับ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู วันพระนี้ อาตมาภาพมีความตั้งใจจะพูดเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พอดีได้หนังสือบุพพสิกขาวรรณนา ซึ่งเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับภิกษุสงฆ์ทั้งเก่าและใหม่ (เพิ่งบวช) เมื่อศึกษาดีแล้ว ควรน้อมนำเอามาประพฤติปฏิบัติ เพื่อทำให้แลงดงามตามแบบฉบับพระภิกษุสงฆ์ ที่นำมาพูดนั้นเป็นเพียงบางส่วน ได้คัดย่อเฉพาะเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นั้น ก็บทอิติปิโส ที่พวกเราเคยสวดกันมาแล้วเกือบทั้งนั้น สำหรับผู้ที่เคยสวดฉบับแปลมาแล้ว ย่อมรู้ได้ดียิ่งขึ้น บุพพสิกขาวรรณนา นมตฺถุ รตนตฺตยสฺส รตนตฺตยํ นมิตฺวา นวานมนุสิกฺขิตุํ อาทิมฺหิ สฺยามภาสาย สํเขเปเนว ภาสิตา ยา จ ปุพฺพสิกฺขา ตสฺสาว โถกํ วิตฺถารวณฺณนํ กริสฺสํ ญาตุกามานํ ปณาเมน สุภํ ภเว ข้าพเจ้านอบน้อมมนัสการ ซึ่งพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว บุพพสิกขาอันใดที่ข้าพเจ้าภาษิต คือว่า แต่งไว้แล้ว เพื่อให้กุลบุตรทั้งหลายผู้เป็นคนใหม่ในศาสนา ศึกษาตามในกาลเป็นเบื้องต้น ด้วยเป็นสยามภาษา โดยสังเขปย่อนัก ข้าพเจ้าจะกระทำการวรรณนา แห่งซึ่งบุพพสิกขานั้น โดยพิสดารสักน้อยหนึ่ง เพื่อกุลบุตรทั้งหลายผู้ใคร่จะรู้จะศึกษา ในสิกขาบทบัญญัติปฏิบัติตามจะได้รู้ ด้วยข้าพเจ้านอบน้อมรัตนตรัย ขอความงามความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าเถิด คำว่า บุพพสิกขา นั้น ประสงค์เป็นชื่อคัมภีร์ เป็นของอันกุลบุตรจะพึงศึกษาแต่แรกก่อน จึ่งได้ชื่อว่าบุพพสิกขา เพราะฉะนั้นจึ่งได้กล่าวว่า ผู้จะอุปสมบท และอุปสมบทแล้ว พึงศึกษาข้อทั้ง ๗ นี้ก่อน ก็ข้อทั้ง ๗ นั้น คือ - รตนัตตยบัพพะ ข้อว่าด้วยรัตนตรัย ๑ - อาปัตตินามาทิบัพพะ ข้อว่าด้วยชื่อแห่งอาบัติ เป็นต้น ๑ - ปฏิปัตติมุขสิกขาบัพพะ ข้อว่าด้วยสิกขาบท เป็นปากเป็นทางแห่งความปฏิบัติโดยมาก ๑ - กาลิกบัพพะ ข้อว่าด้วยกาลิก ๑ - พินทวาธิฏฐานาทิบัพพะ ข้อว่าด้วยพิธี มีพินทุและอธิฏฐาน เป็นต้น ๑ - วิชหนาทิบัพพะ ข้อว่าด้วยขาดอธิฏฐาน เป็นต้น ๑ - อาปัตติเทสนาทิบัพพะ ข้อว่าด้วยแสดงอาบัติ เป็นต้น ๑ เป็น ๗ ข้อ ดังนี้ จะว่าด้วย รตนัตตยบัพพะ ข้อต้นก่อน คำว่า รตนตฺตยํ นั้น แปลว่าหมวดสามแห่งรัตนะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สามวัตถุ นี้ชื่อว่ารัตนะ เพราะว่าเป็นของประเสริฐกว่าสวิญญาณกรัตนะและอวิญญาณกรัตนะ ซึ่งมีในไตรภพ อนึ่งเพราะเป็นของทำความยินดีให้บังเกิดแก่โลกทั้งสาม จะกล่าวด้วย พระพุทธรัตนะ ก่อน ถามว่า เรียกกันว่าพุทธะๆ นั้น อะไรเป็นพุทธะ ? แก้ว่า พุทธะนั้น ว่าโดยปรมัตถโวหาร วิสุทธขันธสันดาน คือ กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ซึ่งเป็นของมีต่อมาแต่ภพก่อน เป็นของบริสุทธิ์จากปาปธรรมอุปกิเลส คือไม่มีอกุศลเจตสิก เป็นแต่อพยากตเจตสิก ซึ่งบังเกิดแต่กุศลเจตสิก นั่นแลเป็นพระพุทธเจ้า ว่าโดยโลกยโวหาร สัตว์พิเศษผู้หนึ่ง ใช่พรหมใช่มารใช่เทพดาใช่อมนุษย์ เป็นมนุษยชาติ แต่เป็นมนุษย์อัศจรรย์ มีปัญญาฉลาดล่วงสมณเทพดามารพรหม และทำสัตว์ให้บริสุทธิ์จากปาปธรรมอุปกิเลสได้ และสอนสัตว์อื่นให้ได้ความบริสุทธิ์ได้ด้วย นั่นแลเป็นพระพุทธเจ้า ถามว่า พุทธะๆ นั้น แปลว่าอะไร ? แก้ว่า แปลว่าผู้รู้เท่าสังขารทั้งปวงด้วยตนเอง และให้ผู้อื่นรู้เท่าสังขารด้วย เป็นผู้บานแล้วเต็มที่ ปุถุชนเช่นเราชื่อว่าเป็นคนเขลา ไม่รู้เท่าสังขาร จึ่งต้องโศกเศร้าเมื่อเวลาสังขารนั้นวิบัติ ถามว่า อะไรเป็นสังขาร ? แก้ว่า สิ่งทั้งปวงที่เป็นของภายในและภายนอก ประกอบด้วยวิญญาณและหาวิญญาณมิได้ ที่มีขึ้นเป็นขึ้นด้วยเหตุภายใน มีกรรม เป็นต้น หรือด้วยเหตุภายนอก มีฤดู เป็นต้น นี้แลชื่อว่าสังขาร รู้เท่าสังขารนั้นอย่างไร ? รู้ความเป็นเองของสังขาร รู้เหตุที่ให้เกิดสังขาร รู้ที่ดับสังขาร รู้หนทางดำเนินไปยังที่ดับสังขาร นี่แลชื่อว่ารู้เท่าสังขาร ท่านรู้ความเป็นเองของสังขารอย่างไร ? พระองค์รู้ว่าสรรพสังขารทั้งปวงไม่เที่ยงแท้ ย่อมแปรปรวนไปต่างๆ มีแล้วหาไม่ เกิดแล้วดับไป สรรพธรรมทั้งปวงใช่ตัวใช่ตน ด้วยไม่อยู่ในอำนาจบังคับของผู้ใด เพราะไม่เที่ยงเพราะใช่ตนนั้นเป็นแต่กองทุกข์ นี่แลเป็นความจริง เป็นความเป็นเองของสังขาร พระองค์กำหนดรู้ดังนี้ด้วยปริญญาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่า รู้ความเป็นเองแห่งสังขาร รู้เหตุที่ให้เกิดสังขารอย่างไร ? พระองค์รู้ว่าตัณหาคือความดิ้นรนด้วยอยากได้นี้เอง เป็นผู้สร้างสังขารภายใน เพราะตัณหามี แล้วให้สัตว์กระทำกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ที่จะตกแต่งสังขารเป็นกองทุกข์ แล้วท่านมละตัณหานั้นเสียได้ด้วยปหานาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่า รู้เหตุที่ให้เกิดสังขาร รู้ที่ดับแห่งสังขารนั้นอย่างไร ? พระองค์รู้ว่าพระนิพพานเป็นที่ดับตัณหาที่ให้เกิดทุกข์ แล้วกระทำพระนิพพานให้แจ้งประจักษ์ขึ้นในพระหฤทัย ด้วยสัจฉิกิริยาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่า ท่านรู้ที่ดับแห่งสังขาร พระองค์รู้หนทางดำเนินไปยังที่ดับสังขารนั้นอย่างไร ? พระองค์รู้ว่ามรรคประดับด้วยองค์แปด มีสัมมาทิฐิเป็นต้นที่เกิดขึ้นแล้ว กำหนดรู้ความทุกข์ มละตัณหา เห็นพระนิพพาน นี้แลเป็นหนทางให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ และพระองค์ทำมรรคนั้น ให้มีให้เป็นให้เกิดขึ้นในพระหฤทัยด้วยภาวนาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่า ท่านรู้หนทางดำเนินไปยังที่ดับสังขาร พระองค์รู้ความรู้ ๔ อย่างนี้พร้อมกันแล้ว จึ่งได้ความบริสุทธิ์จนไม่ยินดี ถือว่าเรารู้เราเห็น แม้สังขารคือร่างกายของพระองค์จะวิบัติเป็นประการใดๆ ก็ไม่เศร้าไม่โศกเสียใจเหมือนปุถุชน อย่างนี้แลชื่อว่า พระองค์รู้เท่าสังขารทั้งปวง ถามว่า พระองค์แสวงหากุศลธรรมนั้นอย่างไร ? แก้ว่า พระองค์แสวงหาด้วยอุบายต่างๆ จนถึงกลั้นลมหายใจ อดอาหาร ก็ไม่ได้ธรรมวิเศษสิ่งใด ภายหลังพระองค์จึ่งทรงนึกได้ถึงอานาปานสติฌาน ที่พระองค์ได้เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่ครั้งหนึ่ง ว่าเป็นของอัศจรรย์ชอบกลนักหนา เห็นจะเป็นทางแห่งความตรัสรู้ได้ พระองค์จึ่งกลับเสวยอาหาร แล้วเสร็จไปทรงนั่ง ณ โคนไม้อัสสัตถะ เจริญอานาปานสติ คือตั้งสติเฉพาะลมหายใจออกเข้าอย่างเดียว ไม่ส่งจิตไปอื่น รำงับกามฉันทะ ความใคร่ความพอใจ พยาบาท ความปองร้าย ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงเหล่านี้ ที่เป็นนิวรณ์เครื่องห้ามสมาธิ เครื่องหมองใจ เป็นของทำปัญญาให้เสียไป ฯลฯ แล้วพระองค์ทำฌานทั้ง ๔ นั้น ให้ชำนาญคล่องแคล่วด้วยการนึกและการเข้า เป็นต้น ครั้นจิตใสบริสุทธิ์ละเอียดดีแล้วด้วยอำนาจจตุตถฌาน พระองค์จึ่งน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือปัญญาที่ตามระลึกซึ่งขันธ์ที่ตนและสัตว์อื่นอยู่แล้วในภพก่อนชาติก่อนก็ระลึกได้ ซึ่งชาติหลังตั้งแต่ชาติหนึ่งจนถึงอเนกสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป ความสงสัยว่า ภพก่อนชาติก่อนจะมีหรือหาไม่นั้นก็สิ้น เห็นชัดว่าภพก่อนชาติก่อนมีแน่แท้ แต่ถ้าว่าเห็นว่าสังสารวัฏมีเบื้องต้นแม้บุคคลระลึกตามไปก็ไม่รู้ อันนี้เป็นวิชชาที่ต้น พระองค์ได้ในปฐมยาม ครั้งมัชฌิมยาม พระองค์จึ่งน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ คือปัญญาที่รู้ที่เป็นจุติ ปฏิสนธิแห่งสัตว์ พระองค์ก็ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายที่ประพฤติทุจริตทั้งสาม กอปรด้วยมิจฉาทิฐิ จุติแล้วไปบังเกิดในอบายภูมิด้วยอกุศลกรรมนั้น และสัตว์ทั้งหลายที่ประพฤติสุจริตทั้งสาม กอปรด้วยสัมมาทิฐิ ครั้นจุติแล้วไปบังเกิดในสุคติภูมิด้วยกุศลกรรมนั้น พระองค์เห็นชัดด้วยทิพยจักษุญาณ ดังนี้ ความสงสัยว่าสิ่งไรเป็นของแต่งให้สัตว์ได้ดีได้ชั่ว และความสงสัยว่าชาติมาแต่ไหนก็สิ้น ด้วยเห็นชัดว่า กรรมคือบุญบาปเป็นของแต่งสัตว์ให้ดีให้ชั่ว ชาติมาแต่กรรมภพ อันนี้เป็นวิชชาที่สอง พระองค์ได้ในยามกลาง ครั้นวิชชาทั้งสองชำระทางปัญญาให้บริสุทธิ์แล้ว พระองค์น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ปัญญารู้ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสิ้นอาสวะ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน ถามว่า ในบุพพสิกขาว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยอริยสัจ ๔ มละนิวรณ์ ๕ ตั้งจิตในสติปัฏฐาน ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ จึ่งเป็นพระพุทธเจ้า ในที่นี้ว่าตรัสรู้ได้ด้วยวิชชา ๓ จึ่งเป็นพระพุทธเจ้า จักรพรรณนา ธรรมรัตนะ ถามว่า ธรรมๆ นั้น อะไรเป็นธรรม สิ่งที่ดีก็กล่าวว่าธรรม สิ่งที่ชั่วก็กล่าวว่าธรรม สิ่งที่ไม่ดีไม่ชั่วก็กล่าวว่าธรรม ดังบาลีว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา ดังนี้ อะไรเป็นธรรมในธรรมรัตนะนี้ ? แก้ว่า ความดีจริงเป็นธรรม ในธรรมรัตนะนี้ ความดีแต่ไม่จริงไม่เป็นธรรม ความจริงแต่ไม่ดีก็ไม่เป็นธรรม ความไม่ดีไม่จริงก็ไม่เป็นธรรม ความเห็นว่าผลแห่งบุญและบาปไม่มี อิธโลกก็ไม่มี ดังนี้ เป็นต้น ชื่อว่า ความไม่ดีไม่จริง ความเห็นว่าอาทิตย์เป็นของส่องโลกให้สว่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นที่อาศัยของสัตว์ แล้วแลกราบไหว้บูชาของเหล่านั้น อย่างนี้ ชื่อว่า ความจริงแต่ไม่ดี ปฏิบัติของบุคคลบางพวก ดังนี้ เมื่อเวลาราคะ โทสะ เกิดขึ้นในจิต เห็นว่าราคะ โทสะ เป็นของไม่ดี แล้วหันหน้าสู้ด้วยอุบายดังนี้ ว่าพระเป็นเจ้าผู้สร้างโลกอยู่ในที่ทั้งปวง รู้เห็นอยู่ในกาลทั้งปวง ท่านเห็นเราลุอำนาจราคะ โทสะ ไม่ข่มเสีย ท่านจะจดบัญชีลงชื่อเราไว้ แล้วแลปรับโทษในภายหลัง ใช้อุบายดังนี้แล้วแล ข่มราคะ โทสะ เสียดังนี้ ชื่อ ความดีแต่ไม่จริง เพราะหันหน้าสู้ข่ม ราคะ โทสะ ซึ่งเป็นกิเลสเป็นความดี แต่พระเป็นเจ้าเช่นนั้นไม่มีจริง ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่บุคคลทำให้มีให้เป็นขึ้นด้วยอุบายที่จริงที่แท้ ใช้ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่มีในเวลานอนหลับ เป็นต้นก็ดี หรือความเป็นเองที่ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง เพราะไม่มีสังสารเป็นที่ตั้งก็ดี ชื่อว่า ความดีจริง ถามว่า ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่บุคคลทำให้มีให้เป็นขึ้น ด้วยอุบายที่จริงที่แท้ ชื่อว่าความดีจริงนั้นอย่างไร ? แก้ว่า เหมือนอย่างบุคคลคิดเห็นว่าร่างกายที่มีวิญญาณครองและรู้สุขรู้ทุกข์ ชื่อว่าสัตว์นี้ จะเป็นมนุษย์ก็ตาม ดิรัจฉานก็ตาม ย่อมเกลียดทุกข์ รักสุขทั่วทุกตัวตน เมื่อกำหนดเห็นฉะนั้นแล้ว และไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นให้ได้ความทุกข์ด้วยกายและวาจาของตน คิดความสุขให้แก่สัตว์อื่น ข่มความโลภ ความโกรธเสียด้วยอุบายดังนี้ ด้วยเห็นว่าการประพฤติเช่นนี้เป็นความดีจะให้ได้สุขข้างหน้า ชื่อว่า ความดีจริง อนึ่ง รำพึงถึงความตายได้ความสลดใจก็ดี หรือรำพึงว่ากองกายนี้เต็มด้วยเครื่องโสโครก มี ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น มีปฏิกูลสัญญาบังเกิดขึ้น รำงับเสียซึ่งความกำหนัด ความโกรธ ความหลงได้ ก็ดี หรือเห็นละเอียดลงไปว่า สรรพสิ่งทั้งปวง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ใช่ตนด้วยเหตุนี้ๆ แล้วไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยเห็นว่าปฏิบัติอย่างนี้ จะให้ตนได้สุขภายหน้าและพ้นทุกข์ทั้งปวงดังนี้ ก็ดี นี่แลชื่อว่าความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มีขึ้นเป็นขึ้นด้วยอุบายที่แท้ที่จริง ชื่อว่า ความดีจริง เมื่อกล่าวดังนี้ ทานคือจาคเจตนา ก็ดี ศีลคือทุจริตวิรัติ ภาวนาคือความที่ยังกุศลให้มีให้เป็นขึ้น ซึ่งเป็นความดีจริง ดังนี้ ก็ดี หรือระเบียบถ้อยคำที่ประกาศความดีจริงนั้น ก็ดี ชื่อว่าธรรม ถามว่า ธรรม แปลว่าอะไร ? แก้ว่า ธรรม แปลว่า ของทรงไว้ซึ่งสัตว์ที่ทรงไว้ซึ่งตน อย่างหนึ่งว่าของอันบุคคลพึงทรงไว้ ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่บังเกิดขึ้นด้วยอุบายที่จริงที่แท้ ดังกล่าวมาแล้วนั้น บุคคลผู้ใดทำให้มีให้เป็นขึ้นในตน ผู้นั้นชื่อว่าธรรมจารี ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมๆ นั้น และย่อมจะทรงผู้นั้นไว้ คือไม่ให้ตกไปในที่กอบด้วยความทุกข์ มีนรก เป็นต้น เพราะเหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึ่งได้ทรงภาษิตไว้ว่า "ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี (ความว่า) ธรรมนั้นเทียวใช่อื่น ย่อมรักษาไว้ คือว่าทรงไว้ซึ่งบุคคลผู้ประพฤติซึ่งธรรม ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำมาซึ่งสุข อันนี้เป็นอานิสงส์ในธรรมอันบุคคลประพฤติแล้วดี คือผู้ประพฤติซึ่งธรรมย่อมไม่ไปยังทุคติ" ซึ่งแปลว่าของอันบุคคลจะพึงทรงไว้นั้น ได้ในปริยัติธรรมอันประกาศซึ่งความดีจริงนั้น เพราะปริยัติธรรมเป็นระเบียบบท บุคคลจะพึงเล่าท่องทำทรงไว้ อนึ่ง ปริยัติธรรม จะแปลว่า ทรงไว้ซึ่งผู้ทรงไว้ซึ่งตนด้วยก็ได้ เพราะว่าปริยัติธรรม ผู้ใดทรงท่านไว้ด้วยหวังจะปฏิบัติตาม ท่านย่อมจะทรงผู้นั้นไว้ด้วย ให้ความเจริญด้วยพาหุสัจจะแล้ว และพ้นจากที่กอบด้วยทุกข์ มีอบาย เป็นต้นได้ ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ซึ่งเป็นความดีจริงนั้น ที่ยั่งยืนก็มี ที่ไม่ยั่งยืนก็มี ที่ไม่ยั่งยืนนั้น คือ เกิดขึ้นแล้วดับไป มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นได้อีก ได้แก่ โลกิยกุศลธรรม ซึ่งเป็นไปในภูมิสาม คือ กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ที่ยั่งยืนนั้น คือ เกิดขึ้นแล้วแม้ดับไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่กลับเกิดอีกได้เลย ได้แก่ โลกุตรธรรม ฯลฯ ถามว่า สิ่งไรเป็นปฏิปัตติสัทธรรม ? แก้ว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ สิกขานี้ ชื่อว่าปฏิปัตติสัทธรรม ศีล คือความสำรวมกายวาจาตามสิกขาบทบัญญัติ ได้แก่ ปาติโมกขสังวรศีล ซึ่งเป็นเชฏฐกศีลสำเร็จด้วยอริยาสมมติ และวิรัติ ความเว้นจากวจีทุจริต ๔ กายทุจริต ๓ มิจฉาชีพ ๑ ซึ่งเรียกว่า อาชีวมัฏฐกศีล อาชีวมัฏฐกศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ อันเป็นอาทิพรหมจริยกาสิกขา สำเร็จด้วยสมาทาน เจตนาก็ดี ชื่อว่า ศีลสิกขา สมาธิ ความตั้งใจอยู่ในอารมณ์อันเดียว คือ กุสเลกัคตา ความที่แห่งจิตมีอารมณ์อันเดียว เป็นกุศลอันเกิดขึ้นด้วยสมถกรรมฐาน มีกสิณปริกรรมและอสุภปริกรรม เป็นต้น ที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ เพราะเป็นสมาธิแอบแนบแน่นในอารมณ์ หรือเรียกว่า อัปปนาฌาน เพราะเป็นของแอบแนบแน่นเพ่งอารมณ์มีกสิณ เป็นต้นอยู่ก็ดี และอุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิยังไม่ถึงอัปปนาก็ดี ชื่อว่า สมาธิสิกขา ปัญญา ความรู้เท่าสังขาร คือนามรูปและปัญจขันธ์ เป็นต้น ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ใช่ตน ได้แก่ วิปัสสนาปัญญา ตั้งแต่สัมมสนญาณจนถึงอนุโลมญาณ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยวิปัสสนากรรมฐานนั้น ชื่อว่าปัญญาสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ นี้ ชื่อว่าสิกขา เพราะเป็นกิจการในศาสนาอันบุคคลผู้ประสงค์ความสิ้นทุกข์ จะพึงศึกษาสำเหนียกกระทำปฏิบัติตาม สิกขา ศัพท์นี้ จะแปลว่าความศึกษาก็ได้ จะแปลว่าธรรมชาติอันบุคคลพึงศึกษาก็ได้ แต่ในที่นี้ต้องแปลว่า ธรรมชาติอันบุคคลพึงศึกษา เพราะ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมชาติอันบุคคลพึงศึกษา ด้วยกล่าวไตรสิกขาว่าเป็นปฏิปัตติสัทธรรมนี้ แต่นี้จะพรรณนาสังฆรัตนะ ถามว่า อะไรเป็นสงฆ์ สงฆ์จะมีสักกี่อย่าง สังฆะนั้นแปลว่าอะไร ? แก้ว่า หมู่บุคคลผู้ฟังคำสอนแห่งพระพุทธเจ้า แล้วแลตรัสรู้ตามเสร็จพระพุทธเจ้า ชื่อว่าสงฆ์ในที่นี้ ที่เรียกว่าสงฆ์นั้นมี ๒ อย่าง คือ สมมติสงฆ์ อริยสงฆ์ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป นั่งในภายในสีมาไม่ละหัตถบาสกัน มีอำนาจให้สำเร็จสังฆกรรมนั้นๆ มีอุโบสถ เป็นต้น ได้ชื่อว่า สมมติสงฆ์ แปลว่าสงฆ์โดยสมมติ หมู่สาวกแห่งพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นอริยสาวก ชื่อว่า อริยสงฆ์ แปลว่าหมู่แห่งอริยเจ้า หรือหมู่เป็นพระอริยเจ้า จะกล่าวด้วยสาวกแห่งพระผู้มีพระภาคก่อน สาวก แปลว่า คนผู้ฟังคำสอนแห่งพระผู้มีพระภาค ก็แลคนผู้ฟังคำสอนซึ่งชื่อว่าสาวกนั้น มี ๒ คือ ปุถุชนสาวก อริยสาวก บุคคลจำพวกใด ได้ฟังโอวาทแต่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค หรือฟังแต่สำนักสาวสกของพระผู้มีพระภาคก็ดี ไม่ได้ความตรัสรู้มรรคผลธรรมวิเศษสิ่งใด ได้แต่ศรัทธา ความเชื่อในพระรัตนตรัยดำรงอยู่ในสรณคมน์ บุคคลจำพวกนั้น ชื่อว่าปุถุชนสาวก สาวกเป็นปุถุชน บุคคลจำพวกใด ได้สดับธรรมานุศาสน์ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเองก็ดี หรือสาวกแห่งพระผู้มีพระภาคผู้ใดผู้หนึ่งในพุทธกาล หรือภายหลังแต่พุทธกาลแสดงก็ดี และผู้นั้นย่อมได้โลกุตราภิสมัยมรรคผลในขณะเมื่อฟังก็ดี หรือปฏิบัติตามคำสอนแล้วแลได้ในภายหลังก็ดี เหล่านี้ชื่อว่าอริยสาวก แปลว่า สาวกผู้ไปจากข้าศึก คือกิเลส ในที่นี้ไม่ประสงค์ปุถุชนสาวก ประสงค์แต่อริยสาวกจำพวกเดียว ก็แลอริยสาวกนั้นจัดเป็นคู่ ได้ ๔ คู่ คือ - โสตาปัตติมัคคัฏฐะ โสตาปัตติผลัฏฐะ คู่ ๑ - สกิทาคามิมัคคัฏฐะ สกิทาคามิผลัฏฐะ คู่ ๑ - อนาคามิมัคคัฏฐะ อนาคามิผลัฏฐะ คู่ ๑ - อรหัตมัคคัฏฐะ อรหัตผลัฏฐะ คู่ ๑ เรียงเป็นตัวบุคคลเป็น ๘ ก็แลชื่อพระอริยเจ้ามี คือ ชื่อว่า โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ๔ ชื่อนี้ อาศัยท่านผู้ตั้งอยู่แล้วในผล กล่าวโดยคุณ คือ มละกิเลสนั้นๆ ด้วยมรรคนั้นๆ แล้วแลตั้งอยู่ในผล พระโสดาบัน มละสังโยชน์ ๓ ได้ คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา ลีลัพพตปรามาส ดังกล่าวแล้วในโสดาปัตติมรรค กับมละกามราคะพยาบาทส่วนที่หยาบ ซึ่งจะให้เกิดทุจริต ๓ เป็นอบายคามิอกุศลให้ถึงอบาย ท่านเป็นคนมีธรรมเป็นเครื่องไม่ให้ตกไปในอบาย เป็นคนเที่ยง เป็นคนมีอันจะตรัสรู้อรหัตผล เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เป็นพระอริยเจ้าแรกถึงพระนิพพาน ขณะเมื่อท่านถึงโสดาปัตติมรรค ชื่อว่า โสตาปัตติมัคคัฏฐะ แปลว่า ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ขณะเมื่อท่านถึงโสดาปัตติผล ชื่อว่า โสตาปัตติผลัฏฐะ แปลว่า ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล อนึ่ง ชื่อว่า โสดาบัน แปลว่า ท่านผู้แรกถึงกระแสแห่งพระนิพพานคือมรรค พระโสดาบันมี ๓ จำพวก คือ - เอกพีชี มีพืช คือภพอันเดียว เพราะจะต้องเกิดในมนุษยโลกหรือเทวโลกอีกครั้งเดียว แล้วกระทำให้แจ้งอรหัตผลสิ้นภพหน้า จำพวก ๑ - ชื่อ โกลังโกละ คือเกิดอีก ๒ ภพ หรือ ๓ ภพ กระทำให้แจ้งพระอรหัตผล จำพวก ๑ - ชื่อ สัตตักขัตตุงปรมะ คือยังท่องเที่ยวอยู่ในมนุษยโลกและเทวโลกอีก ๗ ครั้ง ๗ ชาติ เป็นอย่างยิ่งไม่ถึงชาติที่ ๘ คงจะทำให้แจ้งอรหัตผลด้วยขันธปรินิพพานในภพที่ ๗ เป็นแท้จำพวก ๑ เป็น ๓ จำพวกนี้ พระสกิทาคามี ท่านย่อมทำราคะ โทสะ โมหะซึ่งเป็นอกุศลมูลให้น้อยให้บางไป ดังต้นหญ้าเกิดในร่ม ท่านมาเกิดในกามภพนี้อีกคราวเดียว แล้วกระทำให้แจ้งชึ่งอรหัตผล อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ดับขันธปรินิพพาน ก็แลขณะเมื่อท่านถึงสกิทาคามิมรรค ท่านชื่อว่า สกิทาคามิมัคคัฏฐะ แปลว่าท่านผู้ตั้งอยู่ในสกิทาคามิมรรค ขณะเมื่อท่านถึงสกิทาคามิผลแล้ว ท่านชื่อว่าสกิทาคามิผลัฏฐะ แปลว่า ท่านผู้ตั้งอยู่ในสกิทาคามิผล หรืออนึ่ง ชื่อว่าสกิทาคามี แปลว่า ท่านผู้มายังกามภพนี้อีกคราวเดียว พระอนาคามี ท่านย่อมมละสังโยชน์ ๒ คือ กามราคะ พยาบาทได้ ดับขันธ์แล้วท่านย่อมไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมโลกทั้ง ๕ แห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วดับขันธปรินิพพานในสุทธาวาสนั้น มีอันไม่กลับจากพรหมโลกนั้นเป็นธรรมดา ก็แลขณะเมื่อท่านถึงอนาคามิมรรค ท่านชื่อว่าอนาคามิมัคคัฏฐะ แปลว่า ท่านผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค ขณะเมื่อท่านถึงอนาคามิผล ท่านชื่อว่าอนาคามิผลัฏฐะ แปลว่าท่านผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล หรืออนึ่ง ท่านชื่อว่าอนาคามี แปลว่า ท่านผู้ไม่มายังกามภพนี้อีก พระอนาคามีนั้นมี ๕ จำพวก - ชื่อว่า อันตราปรินิพพายี ผู้ดับในระหว่าง คือว่าเกิดขึ้นในสุทธาวาสพรหมโลกแล้ว และยังไม่ทันถึงท่ามกลางอายุ ท่านย่อมยังอรหัตมรรคให้บังเกิดขึ้น เพื่อมละสังโยชน์เบื้องบนได้ จำพวก ๑ - ชื่อว่า อุปหัจจปรินิพพายี ท่านผู้เข้าจดแล้วและดับ คือว่าท่านเกินท่ามกลางอายุขึ้นไปจวนกาลอายุจะสิ้น ยังอรหัตมรรคให้บังเกิดขึ้น เพื่อมละสังโยชน์เบื้องบน ๕ ได้ จำพวก ๑ - ชื่อว่า อสังขารปรินิพพายี ผู้ดับด้วยอสังขาร คือว่าท่านยังอรหัตมรรคให้บังเกิดขึ้น เพื่อมละสังโยชน์ ๕ เบื้องบนด้วยไม่ยาก ไม่ต้องประกอบความเพียรยิ่งใหญ่ จำพวก ๑ - ชื่อว่า สสังขารปรินิพพายี ผู้ดับด้วยสสังขาร คือว่าท่านยังอรหัตมรรคให้บังเกิดขึ้นด้วยยาก ต้องประกอบประโยคยิ่งใหญ่จำพวก ๑ - ชื่อว่า อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่ภพชื่อว่าอกนิฏฐะ คือ จุติจากอวิหพรหมโลกแล้ว ไปยังอตัปปพรหมโลกแล้ว จุติจากอตัปปพรหมโลกแล้ว ไปยังสุทัสสพรหมโลก จุติจากสุทัสสพรหมโลกแล้ว ไปยังอกนิฏฐพรหมโลก ยังอรหัตมรรคให้เกิดขึ้น มละสังโยชน์เบื้องบนในพรหมโลกนั้นจำพวก ๑ เป็น ๕ จำพวก ดังนี้ พระอรหันต์ ย่อมมละสังโยชน์เบื้องบน ๕ ได้ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ซึ่งเป็นกิเลสละเอียด สิ้นภพในเบื้องหน้า ดับขันธปรินิพพาน ก็แลขณะเมื่อท่านถึงอรหัตมรรค ท่านชื่อว่าอรหัตมัคคัฎฐะ แปลว่าท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรค ขณะเมื่อท่านถึงอรหัตผล ท่านชื่อว่าอรหัตผลัฏฐะ แปลว่าท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผล หรืออนึ่ง ชื่อว่าอรหันต์ แปลว่าท่านผู้ควรผู้ไกลกิเลส พระอรหันต์นั้น โดยคุณนามที่ปรากฏอยู่มี ๔ จำพวก คือ - สุกฺขวิปสฺสโก ท่านผู้มีวิปัสสนา อันแห้ง เพราะไม่มียางคือสมถภาวนา ได้เจริญวิปัสสนาอย่างเดียว บรรลุพระอรหัต ไม่ประกอบด้วยฤทธิวิเศษสิ่งใด จำพวก ๑ - ชื่อว่า เตวิชฺโช ท่านผู้ประกอบด้วยวิชชา ๓ จำพวก ๑ - ชื่อว่า ฉฬภิญโญ ท่านผู้ประกอบด้วยอภิญญา ๖ จำพวก ๑ - ชื่อว่า ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต ท่านผู้ถึงปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ จำพวก ๑ เป็น ๔ จำพวก ดังนี้. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕ การรู้จักจิตผิดๆ ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดตลอดแนว
🌷 การรู้จักจิตผิดๆ ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดตลอดแนว วันพุธที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู มีสุข สวัสดี ถึงเวลาฟังพระธรรมเทศนา วันพระนี้อาตมาภาพตั้งใจว่าจะพูดถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เรื่องนั้นก็คือจิต เมื่อพูดถึงจิต ทุกคนย่อมรู้อยู่ว่าตนเองนั้นก็มีจิตกับเค้าเหมือนกัน เพราะถ้าไม่มีจิต ต้องไปอยู่ตามห้องดับจิตในโรงพยาบาลแน่นอน เห็นมั๊ยเค้าใช้คำว่า ดับจิต ไปจากรูปร่างกายนี้ เพื่อจิตจะได้ไปจุติ (เคลื่อนออกไป) หาที่เกิดใหม่ ตามภพภูมิของตน ด้วยอำนาจแห่งการกระทำกิเลส กรรม วิบากไว้ ไม่ใช่จิตดับตายหายสูญไปไหน จิตไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนเลย ดังพระบาลีในมหาปรินิพพานสูตรว่า "จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ" แปลว่า "ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะไม่รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้" ชัดเจนว่า จิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปเวียนว่ายจากพระชาติหนึ่งไปยังอีกพระชาติหนึ่ง ติดต่อกันไปหลายพระชาติ เป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วนก่อนทรงตรัสรู้ และจิตของพระองค์ได้ยืนตัวเป็นประธานทุกชาติ ไม่ว่าจะเปลี่ยนพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม การที่รู้จักจิตผิดไปจากความจริง ย่อมทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาพลาดออกไปจากเป้าหมาย ซึ่งเป็นแก่นแท้หรือธรรมแท้ของพระพุทธศาสนาเช่นกัน ทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น การที่เรารู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดไปจากความเป็นจริงตลอดแนวด้วยเช่นกัน เพราะการรู้จักเรื่องจิตผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมทำให้การเรียนรู้และการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้คือพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนาผิดไปตลอดแนว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แม้ในสัทธรรมปฏิรูปสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระมหากัสสปในข้อสุดท้ายว่า เพราะพุทธบริษัทไม่ใส่ใจและไม่สนใจในการทำสมาธิ (สัมมาสมาธิ) เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นแค่สมถะและเป็นเรื่องของฤาษีชีไพรไปเสีย เช่นเดียวกับบุคคลที่ติดกระดุมเสื้อเม็ดแรกผิด เราก็ยังติดเม็ดต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้หรอกว่าตนเองติดผิด เพราะยังสามารถติดเม็ดต่อๆ ไปได้ แต่จะทำให้ติดผิดตามไปด้วยตลอดแนวของการปฏิบัติธรรม การเปรียบเทียบแบบนี้ จะทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน ถึงเหตุแห่งความเข้าใจผิดๆ นั้น แต่กลับไปนึกเองเออเองแบบผิดๆ ว่า สิ่งที่ตนเข้าใจนั้นถูกต้องแล้ว เพราะยังไม่เคยรับฟังจากผู้รู้ ผู้ได้ที่พึ่งแล้ว หรือกาลามสูตรกังขานิยฐาน ๑๐ พระสูตรที่ว่าด้วย อย่าเพิ่งปลงใจเชื่ออะไรง่ายๆ ในเรื่องที่ควรสงสัย การติดกระดุมเม็ดแรกผิด เราก็ยังสามารถติดกระดุมเม็ดต่อไปได้ตลอดแนวเช่นกัน แต่เป็นแถวเป็นแนวที่ผิดรูปไป ไม่ลงตัวกันพอดีขาดสมดุลย์ไปเท่านั้น โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวเลย เนื่องจากตนเองนั้นใส่เสื้อตัวนั้นอยู่ ทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่ตนเองทำลงไป แต่ก็ไม่ถึงกับไม่รู้เลย เพียงแต่คุ้นชินกับสิ่งที่ทำลงไปนั้น ต้องให้บุคคลอื่นที่เคยผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว ชี้ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่ใช่เป็นยังไง ที่ไม่ใช่เป็นยังไง เนื่องจากบุคคลที่เคยผ่านการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา ตามแนวสติปัฏฐานที่ถูกต้องมาแล้วนั้น ย่อมมีวิธีการที่จะติดกระดุมเม็ดแรกไม่ให้ผิดพลาดได้ โดยพระพุทธพจน์จะเป็นกระจกคอยส่องนำทางให้เห็นได้อย่างชัดเจน ถึงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ติดกระดุมเม็ดแรก เราควรต้องคอยเอาพระพุทธพจน์มาเทียบเคียง กับผลของการปฏิบัติธรรมที่ผ่านๆ มา ว่าเรายังหลงทางอยู่หรือไม่ การเริ่มต้นปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้นสำคัญมากๆ เมื่อเริ่มต้นผิดก็จะทำให้ผิดตลอดแนวได้ หรือถ้าเริ่มต้นด้วยความถูกตรงต่อพระธรรมคำสั่งสอนที่เป็นธรรมแท้ เป็นแก่นแท้ก็สามารถเดินทางสู่ความเป็นอริยะ (อริยมรรค) ได้ตลอดแนวเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องจิต ซึ่งเป็นหัวใจหลักในพระพุทธศาสนาของเรา พวกเราชาวพุทธพึงต้องศึกษาเรื่องจิตให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามพระพุทธพจน์ จึงจะทำให้การปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความสงบระงับดับตัณหา เพื่อความหลุดพ้น เพื่อพระนิพพานอย่างถูกต้อง ในโอวาทปาฏิโมกข์นั้น พระพุทธองค์ท่านทรงกล่าวไว้ชัดเจนว่า ให้เราชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่สำคัญมาก เพื่ออะไร? เพื่อให้จิตหลุดพ้นหรือจิตพ้นวิเศษจากอารมณ์ต่างๆ (อุปกิเลสทั้งหลาย ทั้งดีทั้งชั่ว) ฉะนั้นจิตจึงเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้อุบัติขึ้นมาในโลกล้วนสั่งสอนให้ชำระจิตของตนทั้งสิ้น (อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ) เมื่อยังมีบุคคลอีกจำนวนมาก ที่มีความเข้าใจเรื่องจิตผิดไปจากความเป็นจริง ว่าจิตเป็นของเหลวไหล จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัยไม่ได้เลย เราจะชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองไปเพื่ออะไร? เราจะชำระได้ล่ะหรือ ในเมื่อจิตเกิดๆ ดับๆ หรือมีๆ หายๆอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อจิตเป็นของเหลวไหล เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ จะชำระจิตไปเพื่ออะไรในเมื่อหาประโยชน์มิได้ ถ้าจิตเป็นของแบบที่ว่ามานั้นแล้ว เราควรปล่อยจิตทิ้งไปหรือทำลายทิ้งไปเสียให้สิ้นไป ไม่ดีกว่าหรือ? ต้องไปชำระให้สะอาดบริสุทธิ์เพื่ออะไร? เพราะว่า เมื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจด (เป็นธรรมธาตุ) ได้แล้ว จิตก็ยังเป็นของเหลวไหล เกิดดับ เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้อยู่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้จะเสียเวลาไปทำไม เอาเวลาไปเรียนวิธีทำอาหารยังจะได้ประโยชน์เสียมากกว่า ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน พระพุทธองค์คงไม่สั่งสอนให้เรามัวไปเสียเวลากับการปฏิบัติธรรม ชำระของที่เกิดๆ ดับๆ เหลวไหลหาสาระไม่ได้ เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ ก่อนอื่น เราชาวพุทธต้องมารู้จักจิตที่แท้จริงเสียก่อน คำว่า "จิต" คือธาตุรู้ เมื่อเป็นธาตุรู้ จะต้องทรงไว้ซึ่งความรู้ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรดับไปก็รู้ ไม่รู้ก็รู้ว่าไม่รู้ เพราะธาตุรู้ย่อมต้องทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัย ถ้าตัวมันเองเกิดๆ ดับๆ จิตต้องเป็นสภาพธรรมที่รู้บ้างไม่รู้บ้างสิ จะมาเรียกว่าธาตุรู้ไม่ได้เลย เพราะเดี๋ยวรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ต้องเรียกว่าธาตุรู้บ้างไม่รู้บ้าง จึงจะถูกต้อง เมื่อเป็นธาตุรู้ หรืออสังขตธาตุ ธาตุแท้ที่ไม่ต้องมีปัจจัยอะไรมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ย่อมไม่กลับกลายเป็นธาตุอื่นไปได้ ย่อมต้องเป็นธาตุรู้อยู่ต่อไปตลอดเวลาวันยังค่ำ เพียงแต่การรู้นั้นมีการรู้ถูก คือรู้เห็นตามความเป็นจริงโดยปราศจากความกำหนัด หรือการรู้ผิดไปจากความเป็นจริงเท่านั้น ถ้ารู้ถูกตามความเป็นจริงก็จะเกิดวิชชาขึ้นที่จิต จิตย่อมมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต ส่วนที่จิตรู้ผิดนั้น เพราะจิตรู้ผิดไปจากความเป็นจริง ด้วยถูกอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำมานานแล้ว แม้ผู้มีปัญญายังไม่รู้เลยว่า จิตถูกอวิชชาครอบงำมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ลักษณะของบุคคลที่ถูกอวิชชาครอบงำ ๑. ทุกเข อัญญาณัง ไม่รู้จักทุกข์ ๒. ทุกขสมุทเย อัญญาณัง ไม่รู้จักเหตุให้ทุกข์เกิด ๓. ทุกขนิโรเธ อัญญาณัง ไม่รู้จักการดับทุกข์ ๔. ทุกขนิโรธคามินียา ปฏิปทายะ อัญญาณัง ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์ รวมทั้งสิ้น ๔ ประการ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตที่โง่เขลาเบาปัญญาทั้งสิ้น การที่ไม่รู้อะไรอย่างอื่นนอกจาก ๔ ประการนี้แล้ว เราจัดว่าไม่ใช่อวิชชาในทางพระพุทธศาสนา แต่จิตที่เข้ามาเกิดในภพภูมิต่างๆ เช่น ภพภูมิของพรหม ภพภูมิของเทวดา ภพภูมิของมนุษย์ ภพภูมิของสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และอื่นๆ นั้น เพราะกิเลส กรรม วิบาก ที่นอนเนื่องอยู่ที่จิต เป็นตัวเหตุที่ผลักดันให้เข้ามาเกิดในภพภูมิต่างๆ เพื่อมาชดใช้กิเลส กรรม วิบาก ในสิ่งที่ตนได้เคยก่อไว้ ไม่ใช่มาชดใช้กิเลส กรรม วิบาก ของใครผู้หนึ่งผู้ใดที่เคยก่อไว้เลย มาชดใช้แทนกันไม่ได้ นอกจากเคยมีสายบุญสายกรรมร่วมกันมาก่อน เป็นการชดใช้ กิเลส กรรม วิบาก ของตนเองแท้ๆ นั่นเทียวที่ได้เคยก่อไว้ การชดใช้กิเลส กรรม วิบาก ของใครของเค้า จิตเรา กิเลส กรรม วิบาก ก็เป็นของเราที่เคยก่อไว้ จะเป็นของคนอื่นใดที่เคยก่อไว้เป็นไปไม่ได้เลย และรับชดใช้กิเลส กรรม วิบากให้แทนกันก็ไม่ได้ เช่นบิดาเคยได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้ต่างๆ นานา กรรมที่บิดาทำไว้นั้นจะมาส่งต่อตกเป็นของลูกเพื่อให้ใช้แทนนั้น เป็นสิ่งที่ขาดเหตุ เพราะในบางครั้งเราจะเห็นเหมือนกับว่าลูกได้รับกรรมที่คล้ายกับที่บิดาของตนเคยทำไว้ สืบเนืองจากกิเลส กรรม วิบากที่เคยทำร่วมกันมาก่อนให้ผล การได้เกิดมาในครอบครัวเดียวกันนั้น ย่อมต้องมีสายบุญสายกรรมร่วมกันมาก่อน จึงจะมีเหตุให้เกิดในครอบครัวเดียวกันได้ ดังพระพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ว่า "ใครที่ทำกรรมดีกรรมชั่วเช่นใด ย่อมได้รับผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วเช่นนั้น" ฉะนั้น จิตจึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญอย่างมากหรือเป็นธรรมแท้ ที่พวกเราชาวพุทธต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิต ให้จิตเกิดความชำนิชำนาญในการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว (สติปัญญา) ดังมีในพระสูตรดังนี้ สาวัตถี พระพุทธองค์ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายนั้น มีได้สำหรับผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ คือรู้เห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ [เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เมโส อตฺตาติ แปลว่า สิ่งนั้นไม่ใช่เรา (จิต) เรา (จิต) ไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา (จิต)] ขันธ์เป็นอย่างนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุอย่างนี้ ดับสิ้นไปเพราะอย่างนี้ ทรงตรัสว่า ภิกษุไม่หมั่นประกอบความเพียรในการฝึกอบรมจิต ด้วยภาวนานุโยค (สัมมาสมาธิ) ถึงจะปรารถนาให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย จิตของเธอก็หาหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายได้ไม่ การฝึกฝนอบรมจิตด้วยภาวนานุโยคนั้น หมายถึงการอบรมจิตในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ไม่ใช่ใช้เพียงแค่สัญญาที่ตนเองเข้าใจผิดๆ คิดว่าเป็นปัญญา นึกว่าปล่อยวางได้ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่การปล่อยวางอารมณ์ออกไป เป็นแค่เปลี่ยนการอารมณ์จากอารมณ์หนึ่งไปสู่อีกอารมณ์หนึ่งที่ได้จดจำไว้เท่านั้น ในขณะที่จิตใจของตนเองยังคุกรุ่นอยู่กับอารมณ์เหล่านั้น และเก็บกักอารมณ์เหล่านั้นไว้เป็นธรรมารมณ์ต่อไป พร้อมที่จะระเบิดอารมณ์เหล่านั้นออกมาได้อีกตลอดเวลา เมื่อมีเหตุปัจจัยเหมาะสมสิ่งแวดล้อมหนุนเนื่องเกิดขึ้นอย่างพร้อมมูลในเวลาใด จะเป็นเวลาที่ระเบิดอารมณ์ที่ได้เก็บกดไว้ออกมาอย่างลืมตัว โดยสัญญาอารมณ์ที่ได้เคยฝึกจดจำไว้ก็เอามาช่วยได้ไม่ทันท่วงที เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราควรต้องฝึกฝนอบรมจิตของเรา ให้รู้จักการปล่อยวางความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ (อุปกิเลส) ทั้งหลาย ไม่ใช่เที่ยวไปอบรมจิตของใคร (คนอื่น) ไม่ได้หรอก ต้องเป็นจิตของใครของมันที่ต้องอบรมจิตของตนเอง เราต้องฝึกฝนอบรมจิตของเราหรือของใครของมัน ให้เกิดสติปัญญา (การปล่อยวางอารมณ์) ให้ได้ เมื่อจิตถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ และอุปกิเลสต่างๆ ทั้งหลายได้ จนจิตบริสุทธิ์หลุดพ้นกลายเป็นธรรมธาตุไปแล้ว จิตจะกลับกลายมายึดมั่นถือมั่นในตนเอง (จิต) เพื่ออะไรอีก? ในเมื่อตนเอง (จิต) รู้จักการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้แล้ว จิตจะกลับยึดมั่นถือมั่นในตัวเองเพื่ออะไรมิทราบ ในเมื่อรู้แล้วว่าการยึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ย่อมเป็นทุกข์ จะโง่กลับมายึดเอาตัวเองอีกไปทำไม เมื่อรู้แล้ว ฉลาดแล้ว มีปัญญาแล้วว่า วิราคธรรมคือธรรมที่แยกแล้วจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน โดยหลักการแล้ว เราต้องมารู้จักสักกายทิฐิ (ความเห็นเรื่องกาย) ที่ถูกต้องที่ควรว่าเป็นอย่างไร? มีมาในพระพุทธพจน์เรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง" เพื่อให้มารู้จักกายในกายหรือนามกาย เมื่อรู้จักกายในกาย (นามกาย) ย่อมรู้จักเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมแบบต่อเนื่องได้ เมื่อถึงขั้นนี้แล้วย่อมรู้จักจิตที่แท้จริง และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ เมื่อรู้จักจิตที่แท้จริงแล้ว ผู้ปฏิบัติ (เรา) จะตั้งจิตที่มีสติไว้ที่ฐานไหนก็ตามย่อมต่อเนื่องถึงกันได้เช่นกัน เพราะสติปัฏฐาน ๔ เป็นเรื่องของการสร้าง ฝึกสติให้เกิดขึ้นที่จิตอย่างต่อเนื่อง นอกนั้นจัดไปตามอาการทั้ง ๔ มารวมอยู่ในจุดเดียว คือ มีสติกำหนดรู้ที่กาย ส่วนใครที่บอกว่า เริ่มต้นจากฐานไหนก็ได้นั้น เป็นการกล่าวแบบไม่รู้จักการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาตามความเป็นจริง เพราะยังไม่เคยรู้จักจิตที่แท้จริง และยังเข้าไม่ถึงกายในกายเป็นภายในเลย เมื่อยังเข้าใจแบบผิดๆ ไปว่าจิตบังคับไม่ได้ ถ้าจิตบังคับบัญชาไม่ได้แล้ว เรายังจะมาฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้เป็นไปอย่างใจหวังได้ไปเพื่ออะไร? เพราะถ้าบังคับจิตของตนไม่ได้ พวกราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต ย่อมทำตามความชอบใจของตน (จิต) คุกตารางมีเท่าไหร่ คงไม่พอที่จะขังบุคคลเหล่านี้ มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า "จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำสุขมาให้" แสดงว่าจิตไม่ใช้ตัวทุกข์ และต้องฝึกฝนบังคับบัญชาได้ จึงนำสุขมาให้ได้ ตัวอย่างเช่นคนที่เคยทำผิดคิดมิชอบมาก่อน ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องได้กลับตัวกลับใจกันเลยสิ ถ้ายังเข้าใจแบบผิดๆ ไปว่าจิตของตนเองนั้นไม่สามารถบังคับบัญชาให้กลับตัวกลับใจได้ อีกประเด็นที่เข้าใจกันผิดๆ คือ เชื่อไปได้ว่า "จิตเป็นกองทุกข์" หรือ "จิตเป็นตัวทุกข์" ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าจิตตัวมันเองเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์เสียแล้ว จะเป็นการสอนที่ขัดแย้งกับพระพุทธวจนะ เท่ากับเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์ดีๆ นั่นเอง โอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ดีแล้ว ก็จะเสียหายไปด้วย โอวาทปาฏิโมกข์ ข้อ ๑ ละชั่ว ข้อ ๒ ทำดี ข้อ ๓ ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ถ้าลองพิจารณาให้ดี ก็จะพบว่าพระองค์ทรงตรัสถึงเรื่องจิตล้วนๆ ทั้ง ๓ ข้อเลย ข้อ ๑ การละชั่ว ละกันที่ไหน ถ้าไม่ใช่ละชั่วกันที่จิต ข้อ ๒ การทำดี ทำกันที่ไหน ถ้าไม่ใช่ทำดีกันที่จิตอีกนั่นแหละ ในข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้นล้วนมีสอนกันอยู่ในทุกๆ ศาสนา เช่นเดียวกันกับพระพุทธศาสนาของเรา แต่ในข้อที่ ๓ ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองนั้น จะมีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ที่เทียบเท่ากับ "อริยมรรค ๘" หรือ "อธิจิตตสิกขา" ถ้าจิตเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์เสียเองแล้ว คำว่า อธิจิต เราจะแปลว่ายังไงดีล่ะ คงต้องแปลว่า จิตเป็นกองทุกข์อันยิ่ง ใช่หรือไม่? เรายังจะชำระจิตไปเพื่ออะไร เมื่อชำระจิตได้แล้ว แทนที่จิตจะสะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง หลุดพ้นไปได้ หรือกลายเป็นอธิจิต ซึ่งอธิจิตจะนำให้เกิดอธิปัญญาตามมาได้ เพราะอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เป็นเรื่องที่ต้องร้อยรัดกันเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกัน สืบเนื่องจากมีความเชื่อกันไปแล้วว่า จิตเป็นกองทุกข์ หรือเป็นตัวทุกข์ ในเมื่อจิตตัวมันเองเป็นตัวทุกข์ เสียแล้ว หรือเป็นกองทุกข์ซะแล้ว มันก็ต้องเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์อยู่อย่างนั้นเองวันยังค่ำ จะดัดแปลงแก้ไขใดๆ ให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย เพราะความเข้าใจเรื่องจิตผิดไปจากความเป็นจริง จึงได้เห็นจิตเป็นวิญญาณขันธ์ จึงเข้าใจผิดคิดว่าจิตเป็นกองทุกข์ เพราะวิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ถูกจัดไว้อยู่ในกองทุกข์ นั่นเอง มีพระบาลีกล่าวไว้ชัดเจน "ปัญจุปาทา นักขันธา ทุกขา อุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งหลายล้วนเป็นตัวทุกข์" ใครที่เป็นผู้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ล่ะ ถ้าไม่ใช่ "จิตของตน" เพราะจิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่จิต มีตรัสไว้ชัดเจนแล้วในสมุทยสูตร สาวัตถี ฯ ตรัสอธิบายความเกิดและความดับแห่งสติปัฏฐาน ๔ ว่า ความเกิดแห่งกายมี เพราะมีอาหาร กายไม่มี เพราะไม่มีอาหาร ความเกิดแห่งเวทนามี เพราะมีผัสสะ เวทนาไม่มี เพราะไม่มีผัสสะ ความเกิดแห่งจิตมี เพราะมีนามรูป (ขันธ์ ๕) จิตไม่มี เพราะไม่มีนามรูป (ขันธ์ ๕) ความเกิดแห่งธรรมมี เพราะมีมนสิการ (ความใส่ใจ ความนึกคิด) ธรรมไม่มี เพราะไม่มีมนสิการ และในอนัตตลักขณสูตร ก็รับรองเช่นกันว่า จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่จิต ดังนี้ เรื่องราวต่างๆ ในโลกที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนสืบเนื่องมาจาก การที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูป คืออารมณ์ และนามคืออาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เข้ามาเป็นของๆ ตน (คือจิต) นั่นเอง เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (ความนึกคิดในใจ) ทั้งหลาย ที่รัก ที่ชอบ ฯลฯ จิตก็จะเป็นสุขไปด้วยกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่รักที่ชอบ ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ชอบใจ ขัดใจ ชิงชัง ฯลฯ จิตก็จะหงุดหงิด เศร้าหมองจนเป็นทุกข์ไปด้วยกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าจิตไม่ใช่เป็นกองทุกข์แน่นอน เพราะในบางครั้งบางคราว จิตก็เป็นตัวสุข หรือเป็นกองสุข (สุขเวทนา) ขึ้นมาได้เช่นกัน ฉะนั้น จิตไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น ที่จิตเป็นสุข หรือจิตเป็นทุกข์ขึ้นมานั้น ล้วนเพราะตัวจิตเองหลง (โมหะ) เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นว่าเป็นของๆ ตนนั่นเอง เมื่อได้ลงมือปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาด้วยความเพียรจนสำเร็จกิจ จิตจะมีสติอย่างต่อเนื่อง (สันตติ) เป็นจิตที่มีคุณภาพ อ่อน ควรแก่การงาน และจิตเองก็จะปฏิเสธ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัสทั้งหลายในกาลก่อนไปด้วย เพราะจิตปล่อยวาง (ละ) อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายทั้งที่ดี ทั้งที่ชั่ว ที่เกิดขึ้น และปล่อยวาง (ละ) ความยึดมั่นถือมั่นที่เกิดขึ้น ณ ภายในจิตของตนเข้าถึง "อธิจิต" ได้ ดังมีพระพุทธวจนะรับรองไว้ดังนี้ มีพระบาลีธรรมบทดังนี้ "จิตฺตสงฺกิเลสา ภิกฺขเว สตฺตา สงฺกิลิสฺสนฺติ จิตฺตโวทานา สตฺตา วิสุชฺฌนฺติ ตสฺมา ตีห ภิกฺขเว อภิกฺขณํ สกํ จิตฺตํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ ทีฆรตฺตมิทํ จิตฺตํ สงฺกิลิฏฺฐํ ราเคน โทเสน โมเหนาติ" แปลว่า "สัตว์ทั้งหลาย (จิตที่ข้องในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด) ย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลาย (จิตที่ข้องในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด) ย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตของตนบ่อยๆ เนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองด้วย ราคะ โทสะ โมหะ มาตลอดกาลนาน ดังนี้" (คัททูลสูตรที่ ๒) มีพระบาลีดังนี้ "ปุริมา ภิกฺขเว โกฏิ น ปญฺญายติ อวิชฺชาย, อวิชฺชา ปุพฺเพ นาโหสิ อถ ปจฺฉา สมฺภวิ" แปลว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏในกาลก่อน แต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงเกิดมีขึ้น" [อวิชชาไม่ได้เกิดมีขึ้นก่อนมีจิต แต่ได้เกิดขึ้นที่จิตในภายหลัง ส่วนอวิชชาจะเกิดขึ้นมาแต่ครั้งใด รู้ไม่ได้] (อวิชชาสูตร) มีพระบาลีในอนมตัคคสูตรกล่าวไว้ ดังนี้ "อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สงฺสาโร ปุพฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ" แปลว่า "จิต นี้มีมานานแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าเริ่มต้นมาจากไหน และจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อไร เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ" "ปภสฺสรมิทํภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เหตุเพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง" พระพุทธวจนะที่ยกมานี้ พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่า จิตจะเศร้าหมองเป็นทุกข์ หรือผ่องแผ้วเป็นสุขนั้น เกิดจากการที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นมา จึงจัดเป็นกิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามา ณ ภายในจิตผู้นั้น ถ้าจิตของตนไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และหรืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา (นามรูป) จะจัดเป็นกิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามาของจิต ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย จิตก็อยู่ส่วนจิต กิเลสก็อยู่ส่วนกิเลส กิเลสย่อมมีอยู่ ซึ่งเป็นของคู่โลก ขึ้นอยู่กับจิตของตนเอง จะยึดหรือไม่ยึด ที่ยึดก็เพราะแจ้งในอารมณ์ (วิญญาณ) นั้นๆ เช่น ตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณ ๓ สิ่งนี้มารวมกัน ย่อมเกิดผัสสะ เมื่อเกิดผัสสะ ย่อมเกิดเวทนา เมื่อเกิดเวทนา ย่อมเกิดตัณหา ฯลฯ สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ที่ไม่ยึดเพราะรู้เท่าทันอารมณ์ เช่น ตาเห็นรูป แล้วไม่เกิดจักขุวิญญาณ เห็นสักแต่ว่าเห็น สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ จากบาลีพระธรรมบทต่างๆ ที่นำมานั้น ล้วนแสดงให้เห็นว่า จิตเป็นประธานของธรรมทั้งปวง มีพระบาลี ดังนี้ "จิตฺเตน นิยติโลโก, จิตฺเตน ปริกสฺสติ จิตฺตสฺส เอก ธมฺมสฺส สพฺเพว วสมนฺวคู" แปลว่า "โลกย่อมหมุนไปตามจิต ธรรมทั้งปวงย่อมขึ้นแก่ธรรมอันเดียว ธรรมอันนั้นคือ จิต เท่านั้น" เอวัง พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม วันพระ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ "ทิฏฐิ" ที่เป็น "สัมมา" ไม่ใช่ได้มาโดยความรู้สึกนึกคิด
🌷 "ทิฏฐิ" ที่เป็น "สัมมา" ไม่ใช่ได้มาโดยความรู้สึกนึกคิด วันพฤหัสที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือนสาม ปีฉลู เจริญสุข สวัสดี สาธุชนทั้งหลาย ที่ยังแสวงหาธรรมะที่ชอบ ที่ใช่ ที่ใช้ได้จริง สามารถน้อมนำเอาไปปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริง พูดถึง "ทิฏฐิ" ที่เป็น "สัมมา" ไม่ใช่ได้มาโดยความรู้สึกนึกคิด ที่คิดแล้วคิดเล่าเฝ้าแต่คิด จนความคิดเหล่านั้นที่ได้ยินมาด้วยการฟัง ได้มาด้วยการอ่าน หรือการศึกษา และได้นำความคิดเหล่านั้นกลับมาทบทวนแล้วทบทวนเล่า จนความคิดเหล่านั้นได้ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ขึ้นมา พอที่จะนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้บ้างตามสมควร และเข้าใจไปเองว่านั่นแหละตนได้ปัญญาที่เป็นสัมมา (ชอบ) แล้ว เราคงเคยได้ยินมาบ้างแล้ว คำว่า ทิฏฐิพระ มานะโยมนั้น ไม่ผิดเลยจากความเป็นจริง ผู้ที่บวชเข้ามาสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ในพระพุทธศาสนานั้น โดยมากแล้วที่บวชเข้ามานั้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ บวชเพื่อหนีสงสาร บวชสนุกตามเพื่อน บวชตามประเพณีนิยม มีอีกมากมาย ยิ่งอยู่ในผ้าเหลืองมานาน มานะทิฏฐิยิ่งล้นจนอหังการ มมังการไปเลย ถึงจะสอนผิดยังไง ใครเตือนไปก็ไม่ค่อยจะรับฟัง แต่กลับถูกเก็บไว้ในใจ โอกาสมีมาเมื่อไหร่มักจะเอาคืนเมื่อนั้น โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมอันงามและการปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดออกไป เพราะยังไม่รู้จักและยังเข้าไม่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงนั่นเอง คำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น แตกต่างกันโดยสมมุติเท่านั้น แต่อยู่ที่เดียวกันคือที่วิราคจิต (จิตที่แยกจากอารมณ์แล้ว) หรือที่นิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดทุกข์นั่นเอง พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้เรื่องการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดผ่องแผ้ว พระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อให้นำไปปฏิบัติจนจิตผู้นั้นบริสุทธิ์หลุดพ้น ส่วนพระสงฆ์ คือบุคคลผู้ซึ่งได้น้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนเหล่านั้น ไปปฏิบัติอย่างจริงจังจนกระทั่งจิตของตนบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ เช่นกัน ฉะนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน รอยเดียวกัน เป็นเรื่องของจิตบริสุทธิ์หลุดพ้น เมื่อได้บวชเข้ามาแล้ว ภิกษุทุกรูปต้องประพฤติปฏิบัติธรรมในการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ขาวรอบ นี่จึงเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่อุบัติขึ้นมาในโลก (สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ) ไม่ใช่บวชเข้ามาเพียงเพื่อนับพรรษากัน พรรษาก็เป็นเพียงแค่วันเวลาที่ผ่านไปเท่านั้น ส่วนภูมิรู้ ภูมิธรรมไม่ต้องพูดถึง มีแต่ภูมิใจล้วนๆ ที่ได้บวชผลาญข้าวสุกมานาน เมื่อพูดถึงภูมิรู้ ภูมิธรรม ไม่ใช่ภูมิรู้ ภูมิธรรมที่ได้มาจากการเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก หรือบาลีเปรียญธรรมมา นั่นยังเป็นเพียงปัญญาทางโลก ไม่อาจช่วยให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้เลย แต่ต้องเป็นภูมิรู้ ภูมิธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาหรือสัมมาสมาธิในองค์อริยมรรค จนมีความชำนาญในการเข้าออกฌานได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะรู้จักการวางจิตของตนยังไง จึงทำให้จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เข้ามากระทบได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำมาใช้งานได้จริงทั้งลืมตาและหลับตา ในครั้งพุทธกาล ภิกษุเคารพกันที่ภูมิรู้ ภูมิธรรมด้วย พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า เถระ กรณธรรม คือ ธรรมที่ทำให้เป็นเถระ (ผู้ใหญ่) มี ๔ อย่าง คือ ๑ เป็นผู้มีศีล ๒ เป็นพหูสูต ๓ เป็นผู้เข้าฌานได้ทุกเมื่อตามที่ต้องการ ๔ เป็นพระอรหันต์ จากที่กล่าวมานี้ ผู้ใดที่ได้อยู่ใกล้กับบุคคลเหล่านี้ เหมือนได้มีกัลยาณมิตรชั้นเลิศ ที่คอยชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ชักนำเราไปในทาง (มรรค) ที่ถูก ที่ควร ที่ใช่ ไม่ใช่ที่ชอบ คำว่า "ทิฏฐิ" นั้นเป็นคำกลางๆ หมายถึง "ความคิดเห็น" จะถูกหรือผิดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับ อีกทั้งรายละเอียดที่แวดล้อมอยู่ หลักเกณฑ์สำหรับใช้ในการตัดสินใจเชื่อเรื่อง เห็นถูก (สัมมา) หรือ เห็นผิด (มิจฉา) ในพระพุทธศาสนา มีพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตร ตรัสไว้ดังนี้คือ เอวะ เมตัง ยะถาภูตัง สัมมัปปัญญายะ ทัฏฐัพพัง แปลว่า ท่านทั้งหลายพึงเห็นเรื่องนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบ ดังนั้น จึงใช้หลักแห่งความเป็นจริง สำหรับตัดสินใจเชื่อในเรื่องเห็นถูกหรือเห็นผิดที่ยกมากล่าวนี้ ๑. เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าเที่ยง คือ เห็นอสังขตธรรม ได้แก่ ธาตุแท้ทั้ง ๖ ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ปรุงแต่ง ว่าเป็นสภาพธรรมที่ดำรงตนอยู่เช่นนั้นตลอดไปได้ โดยไม่มีการดับตายหายสูญไปไหน ตามที่เป็นจริง จัดเป็นสัมมาทิฏฐิ ๒. เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง คือ เห็นสังขตธรรม ได้แก่ สังขารทั้งหลายที่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุแท้ทั้ง ๖ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจดำรงตนอย่างยืนยาวตลอดกาลไปได้ ย่อมดับตายหายสูญไปเป็นธรรมดา จัดเป็นสัมมาทิฏฐิ ๓. เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง คือเห็นผิดจากความเป็นจริงว่า สังขตธรรม อันได้แก่ สังขารทั้งหลายที่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุแท้ทั้ง ๖ สามารถดำรงตนเองอย่างยืนยาวไปได้ตลอดกาล เช่น เห็นว่าขันธ์ ๕ เที่ยงแท้ถาวร เป็นต้น จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฝ่ายสัสสตทิฏฐิ (เห็นผิดว่าอารมณ์เที่ยง) ๔. เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าไม่เที่ยง คือ เห็นผิดจากความเป็นจริงว่า อสังขตธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรม ที่ดำรงตนเองอยู่ได้เช่นนั้นตลอดไป ต้องพลอยดับตายหายสูญไปด้วยเมื่อรูปร่างกายของสัตว์ตายลง เช่น เห็นว่าจิตไม่จุติออกไปเพื่อสืบต่อภพชาติใหม่ต่อไปอีก จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ (เห็นผิดว่าขาดสูญเมื่อสัตว์ตายลงไป) ข้อ ๑ กับ ข้อ ๒ นั้น จัดเป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ ข้อ ๓ กับ ข้อ ๔ นั้น จัดเป็นความรู้เห็นกลับตาลปัตรผิดจากความเป็นจริง นับเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฝ่ายสัสสตทิฏฐิ (เห็นผิดว่าอารมณ์หรือโลกเที่ยง) 🌻 สัสสตทิฏฐิ คำว่า สัสสตทิฏฐิ นี้เป็นไวพจน์กับคำว่า อัตตานุทิฏฐิ หรือ สักกายทิฏฐิ ซึ่งรวมแล้วแปลว่า เห็นอารมณ์หรือขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน หรือเป็นรูปร่างกายอันเที่ยงแท้ถาวรของตน ดังเช่น ศาสนาพราหมณ์เห็นว่าพระพรหมเป็นสภาพธรรมที่ดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงดิ่งตลอดไป พระพุทธองค์ได้ตรัสปฏิเสธว่า พระพรหมถึงแม้จะมีอายุยืนยาวสักเพียงใดก็ตาม ก็ยังเป็นสังขารธรรมที่ถูกอารมณ์ฌานปรุงแต่งอยู่ ดังนั้น จึงยังไม่พ้นจากความครอบงำของพระไตรลักษณ์ไปได้ สักวันหนึ่งข้างหน้าพระพรหมก็จะต้องจุติเปลี่ยนสภาพไปสู่ภพภูมิอื่น เป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้ ความเห็นของศาสนาพราหมณ์จึงจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฝ่ายสัสสตทิฏฐิ เพราะเห็นว่าอารมณ์เที่ยง เท่าที่ปรากฏอยู่ในวิชาธรรมะ คำที่มีความหมายเป็นไวพจน์เกื้อกูลกับคำว่า อารมณ์ คือขันธ์ ๕ รูปนาม สังขาร สังขตะ โลก ทุกข์ เหล่านี้ มักใช้แทนกันได้ ตามสำนวนที่กำลังเอ่ยถึงอยู่ในขณะนั้น ดังนั้น แต่ละคำเหล่านี้ จึงล้วนแล้วแต่มีความหมายว่า ไม่เที่ยงแท้ถาวรทั้งสิ้น ถ้าหากใครเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่เที่ยงแล้ว ก็ย่อมเห็นผิดจากความเป็นจริง เช่นเห็นว่าพระพรหมดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงดิ่ง เช่นนี้ตลอดไป เป็นต้น ก็เรียกว่าเห็นกลับตาลปัตร ไปจากความเป็นจริง ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น นอกจากนี้ ถ้าเห็นว่าเมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็เป็นมนุษย์ตลอดไป หรือเมื่อได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว ก็เป็นสัตว์เดรัจฉานตลอดไป ตายแล้วก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นตามคติของกรรมที่ตนได้ทำไว้ ก็จัดเป็นสัสสตทิฏฐิ แต่ถ้าเห็นว่า จิตของมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายจะต้องจุติไปเกิดอีกหลังจากที่ตายแล้ว ในเมื่อยังไม่หมดกิเลส ก็จัดว่าเป็นสัมมาทิฏฐิในพุทธศาสนา ไม่ใช่สัสสตทิฏฐิ สำหรับเรื่องสัสสตทิฏฐินี้ ผู้ที่เริ่มเข้ามาศึกษาธรรมะใหม่ๆ มักจะถูกผู้อื่นเอาสัสสตทิฏฐิปลอมๆ ซึ่งฝ่าฝืนเหตุผลมาขู่ให้กลัวเกรง ทำให้ลืมเรื่องราวที่ดีที่ชอบ ประกอบด้วยเหตุผลไปเสีย จนทำให้ต้องเห็นคล้อยตามคำขู่นั้นไปด้วย เช่น เห็นว่าเมื่อสัตว์ตาย แต่จิตเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตายสูญหายไปไหน ย่อมจุติออกไปถือกำเนิดในภพชาติใหม่ต่อไปอีก ไม่มีที่สิ้นสุด ก็ขู่ว่านี่เป็นสัสสตทิฏฐิ หรือเห็นว่า ในอัตตภาพของคนและสัตว์ ซึ่งประชุมพร้อมด้วยรูปธรรม-นามธรรมนี้ มีอยู่ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เป็นสภาพยั่งยืนสำหรับรับผลกรรมที่ได้ทำไว้ ไม่ได้ดับตายหายสูญไปตามร่างกายที่ตายไปด้วย ก็ขู่ว่านี่เป็นสัสสตทิฏฐิ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เริ่มศึกษาธรรมะหันกลับมาเชื่อตามผู้ขู่ว่า ทั้งร่างกายและจิตใจที่ได้ประชุมพร้อมกันอยู่นี้ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักนิด จึงหาประโยชน์มิได้และดับตายหายสูญไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อสัตว์ตายลง เช่นเดียวกับบุญ บาป กิเลสอาสวะที่ได้สั่งสมรวมไว้ในจิตด้วยเหมือนกัน จิตที่ไปเกิดใหม่นั้น เป็นจิตดวงใหม่ แต่สามารถถ่ายทอดรับช่วงบุญบาปจากจิตดวงเก่าที่ดับไปแล้วได้ อุปมาดังพ่อทำบาปสะสมไว้ พอตายไป ก็ถ่ายทอดบาปกรรมเช่นนั้น ให้ลูกที่เกิดในภายหลัง เป็นผู้รับมรดกต่อไปอีก ซึ่งเป็นคำขู่ที่เชื่อถือไม่ได้เลย ความจริงนั้น พระพรหมก็ดี หรือที่เรียกว่าขันธ์ ๕ ก็ดี เป็นสภาพธรรมฝ่ายผล (วิบาก) ที่เกิดจากจิตถูกอารมณ์ฌานปรุงแต่งให้มีให้เป็นทั้งสิ้น เมื่อหมดอารมณ์ฌานที่ปรุงแต่งอยู่นั้น จิตก็ย่อมถูกอารมณ์อย่างอื่นทยอยกันเข้ามาปรุงแต่งตามลำดับติดต่อกันไป อุปมาดังน้ำสะอาดที่ถูกนำเอาสีเข้ามาผสมปรุงแต่ง ทำให้น้ำมีสีเหมือนกับสีที่เข้ามาผสม แต่ละสีที่ผสมแต่ละครั้ง ฉันใดก็ฉันนั้น เราจะเห็นว่าทั้งจิตและน้ำได้ยืนตัวเป็นประธานให้สิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งอยู่ ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน แต่สิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่คงที่เสมอไป ดังนั้น ถ้าเรากล่าวว่า จิตเป็นธาตุที่ทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัยตามที่เป็นจริง ย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ และในขณะเดียวกัน ถ้าเรากล่าวว่าอารมณ์ฌานที่เข้ามาปรุงแต่งจิตนั้นเที่ยงแท้แน่นอน ก็เป็นสัสสตทิฏฐิ 🌻 อุจเฉททิฏฐิ (เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าไม่เที่ยง หรือเห็นว่าขาดสูญ) อุจเฉททิฏฐินี้เป็นความเห็นผิดที่มีโทษร้ายแรงมาก ถึงกับต้องห้ามมรรคผลของตัวเองเลยทีเดียว ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาให้รู้จักอสังขตธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ปรุงแต่งให้มี ให้เป็น เป็นธรรมที่รักษาสภาพเดิมของตนไว้ตลอดทุกกาลสมัย แต่ผู้ที่เห็นผิดกลับเข้าใจว่า ไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารถาวร บุคคลพวกนี้เห็นว่าทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเกิดมาจากความสนุกสนานร่าเริงของบิดามารดา จึงทำให้เกิดรูปร่างกายของตัวเองขึ้นมา และเมื่อเกิดรูปร่างกายขึ้นมาแล้ว ก็มีจิตใจพลอยเกิดขึ้นตามมาด้วยโดยอัตโนมัติ ดังนั้น เมื่อร่างกายตายลงเมื่อใด จิตก็ต้องพลอยพินาศดับสูญไปด้วยเช่นกัน เกิดหนเดียว ตายหนเดียวเท่านั้น ไม่มีการสืบภพชาติต่อไปอีกแต่ประการใด ความเห็นเช่นนี้จัดว่า เป็นอุจเฉททิฏฐิ (เห็นว่าขาดสูญ) ความเห็นผิดเช่นนี้ มีอยู่มากมายในปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้ มักมีจิตใจกระด้าง หยาบคายเป็นส่วนใหญ่ มักไม่เห็นความถูกต้องของการกำเนิดชีวิตในสังคมว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงมักประพฤติตนตามชอบใจและสวนทางกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา บางทีก็บิดเบือนสัจธรรมให้ผิดไป ทำให้ส่งผลให้เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่เชื่อถือเช่นนี้ จะละเลยการประกอบคุณงามความดี และหันเข้าประกอบแต่ความชั่ว กอบโกยผลประโยชน์แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา โดยไม่คำนึงถึงผลของกรรมที่จะได้รับข้างหน้า เพราะได้เข้าใจผิดเสียแล้วว่า ใครจะทำอะไรลงไป ก็ย่อมขาดตายหายสูญ เมื่อตายลงจึงไม่ต้องชดใช้กรรม หรือรับผลของกรรมแต่ประการใดเลย ดังนั้นผู้ศึกษาธรรมะที่หลงพาตัวเองเข้าไปอยู่ในข่ายความเห็นผิดว่าตายสูญ เพราะเหมาเอาว่าตายไปแล้วจะพ้นทุกข์ไปด้วยเช่นนั้น ย่อมขัดแย้งกับพระพุทธศาสนา ดังมีพุทธดำรัสที่มีมาใน อปัณณกสูตร ว่า "พระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าปรโลกมีอยู่ ฉะนั้นผู้ที่ถือว่าปรโลกไม่มี จึงได้ชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ทั้งหลาย ในเมื่อตนเองถือเช่นนั้น (ถือว่าตายสูญ) แล้วสอนผู้อื่นให้เชื่อตาม จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกาศอสัทธรรม และด้วยอสัทธรรมที่ได้ประกาศออกมาเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ยกตนข่มผู้อื่นอีกด้วย ย่อมละศีลได้ง่าย และประพฤติตนในทางทุศีล ดูก่อนคหบดีทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ย่อมก่อให้เกิดอกุศลกรรม ไม่ใช่น้อยทีเดียว ดูก่อนคหบดี ในเรื่องปรโลกนี้ สำหรับคนที่ฉลาด ย่อมคิดอย่างนี้ว่า ถ้าปรโลกไม่มี คนที่ทำบาปไว้ก็ปลอดภัยไป แต่ถ้าปรโลกมีจริง คนที่ทำบาปไว้ ตายไปแล้ว ก็จะเข้าถึงทุคติ วินิบาตนรก หรือแม้เราไม่พูดถึงปรโลก แต่คนที่เห็นผิดและทำทุศีล ก็ย่อมถูกวิญญูชนทั้งหลายติเตียนเอาได้ในโลกนี้เอง เพราะฉะนั้น คนที่มีความเห็นผิด จึงต้องประสบผลร้ายถึง ๒ ทางด้วยกัน คือ ถูกวิญญูชนติเตียนในโลกนี้ และเมื่อตายลงไปแล้ว ก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรกอีกด้วย" สรุปความแล้ว ผู้ที่เห็นว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่ต้องดับตายหายสูญ เมื่อรูปร่างกายนี้ตายลง จัดว่าเป็น อุจเฉททิฐิ ในพระพุทธศาสนา 🌻 สัมมาทิฏฐิ ส่วน "สัมมาทิฏฐิ" ที่มีให้เห็นในทุกวันนี้ เป็น "สัมมาทิฏฐิ" ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดของตนเองล้วนๆ แทบไม่มีส่วนผสมของโลกุตตระเอาเสียเลย เพราะไม่เคยนำสิ่งได้รู้ ได้ฟัง ได้ศึกษามาสอบสวน ตรวจสอบ เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยเลย เป็นความเชื่อความศรัทธาในตัวบุคคลล้วนๆ เสียมากกว่า เป็นการเชื่อในความนึกคิดที่ยึดติดในความรู้สึกของตนเองเกี่ยวกับบุคคลนั้น โดยไม่เคยนำเอามาสอบสวนตรวจสอบดูว่า ผู้รู้หรือวิญญูชนทั้งหลายติเตียนหรือไม่ และมักมองข้ามหลักฐานความจริงของข้อมูลรายละเอียดที่มีปรากฏในพระสูตรต่างๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว โดยเฉพาะ "ทิฏฐิ" ที่ได้รับจากบุคคลผู้น่าเชื่อถือ มีหน้ามีตา มีหน้าที่การงาน อีกทั้งมีฐานะทางสังคมชั้นสูงด้วยแล้ว เมื่อได้สอนอะไรไป ผู้ฟังมักปักธงลงไปว่าขอเชื่อไว้ก่อน ว่าที่สอนมานั้นถูกต้องแล้ว เป็น "สัมมาทิฏฐิ" ทั้งๆ ที่ "ทิฏฐิ" ที่ว่ามานั้น เป็นเพียงความเชื่อ ความศรัทธาที่เกิดขึ้นจากความนึกคิดที่ยึดติดในความรู้สึกของตนเองเท่านั้น มีพระพุทธพจน์ตรัสเพื่อป้องกันเรื่องเหล่านี้ไว้ในกาลามสูตร ทรงตรัสถึงความเชื่อ ๑๐ ประการว่า อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เอถ ตุเมฺห กาลามา ๑. มา อนุสฺสเวน อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยฟังตามๆ กันมา ๒. มา ปรมฺปราย อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ ถือว่าเป็นของเก่าสืบๆ กันมา ๓. มา อิติกิราย อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยมงคลตื่นข่าว ๔. มา ปิฏกฺสมฺปทาเนน อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยอ้างตำราหรือคัมภีร์ ๕. มา ตกฺกเหตุ อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยเหตุนึกเดาเอา (ตรรกะ) ๖. มา นยเหตุ อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยใข้การคาดคะเน (อนุมาน) เอา ๗. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยตรึกตามอาการ ๘. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน ๙. มา ภพฺพรูปตาย อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อถือได้ ๑๐. มา สมโณ โน ครูติ อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ โดยนับถือว่าสมณะรูปนี้เป็นครูของเรา ต้องสมาทานนำมาปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ให้ทราบตามความเป็นจริง เห็นผลที่ประจักษ์ได้แล้ว ค่อยเชื่อก็ยังไม่สาย แต่เชื่อมั๊ยว่า ทั้ง ๑๐ ประการที่ว่านี้ ชาวพุทธเราทุกวันนี้ปลงใจเชื่อไปเรียบร้อยแล้วด้วยคำว่า ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ ทำไมถึงสอนเรื่องนี้ เพราะในครั้งพุทธกาลมีเจ้าลัทธิมากมายนับไม่ถ้วน แต่หลักๆ ที่มีสานุศิษย์มากมายนั้นอยู่ประมาณ ๖ ลัทธิ อันมี ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถ์นาฏบุตร เมื่อท่านทั้งหลายดังกล่าวผ่านไปยังเกสปุตตนิคม ซึ่งมีชาวกาลามะอาศัยอยู่ ทุกท่านยกตนเองว่าเป็นผู้เข้าถึงคุณวิเศษ และข่มลัทธิอื่นที่มีอยู่เช่นกันหมด จนเมื่อพระพุทธองค์ได้ผ่านไปจึงได้สั่งสอนให้รู้จักการจะเชื่ออะไรนั้น ต้องควรตั้งใจฟังให้ดี ศึกษาด้วยดี ที่สำคัญคือ ต้องนำสิ่งที่รู้เห็น ศึกษามานั้น สมาทานอย่างเต็มที่แล้ว พึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้หรือวิญญูชนไม่ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติ บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ธรรมเหล่านั้นควรเชื่อได้ แต่ในปัจจุบัน คำสอนมักเป็นไปในแบบเอาอกเอาใจกัน เป็นไปในแบบง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้นเสียมากกว่าคำสอนที่เป็นแก่นแท้หรือธรรมแท้ แต่สำหรับบุคคลผู้ที่มีจิตศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา การสอนก็มักเป็นไปในรูปแบบให้กำลังใจ เพื่อให้เกิดความเชื่อ ความศรัทธายิ่งๆ ขึ้น โดยขาดการเน้นย้ำในส่วนสาระสำคัญที่เป็นเรื่องของความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ อริยสัจ ๔ มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่เพราะปัจจุบันนี้ ชาวพุทธเรามักง่ายขึ้น มักชอบเลือกเอาแต่แบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ลงทุนน้อย แต่คาดหวังเอาไว้มากๆ จนกระทั่งลืมเลือนไป และไม่ให้ความสนใจในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) ซึ่งมีต้นทุนสูง แต่ก็คุ้มทุนทุกครั้งที่ลงทุนไป ไม่เป็นหมัน อริยสัจ ๔ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการนี้ ที่ทรงบอกเรื่องนี้ เพราะเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เป็นไปเพื่อนิพพาน เป็นการไม่ให้เชื่อในความนึกคิด ติดในความรู้สึกที่ตกผลึกของตน และเข้าใจไปเองว่านั่นแหละปัญญาที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิ เนื้อแท้ต้องปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพื่อพิสูจน์ให้เข้าถึงความเชื่อนั้น ความศรัทธานั้น "ทิฏฐิ" ความคิดเห็นที่ตนเองคิดว่าถูกนั้น จึงจะเป็น "สัมมาทิฏฐิ" คือเป็นความคิดเห็นที่ชอบ หรือการรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว หมายถึงการได้ผ่านการพิสูจน์ทราบทางการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา จนเข้าถึงรู้จักที่ใช่ และปฏิเสธที่ไม่ใช่ เพื่อให้รู้เห็นตามความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะเป็น "สัมมาทิฏฐิ" ที่เป็นเพียงสาสวะ (มีกิเลส) ก็ตาม มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ในตอนต้นพระสูตร มหาจัตตารีสกสูตร เกี่ยวกับ "สัมมาสมาธิ" ของพระอริยเจ้า อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ ที่แวดล้อมไปด้วยอริยมรรคอีก ๗ องค์ ในบรรดาอริยมรรคทั้ง ๗ นั้น ยกให้ "สัมมาทิฏฐิ" เป็นประธาน โดยทรงกล่าวถึง "สัมมาทิฏฐิ" ที่เป็นประธานอยู่นั้นมี ๒ อย่าง คือ ๑. สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ๒. สัมมาทิฏฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ๑. สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน? คือ ความเห็นดังนี้ว่า - ทานที่ให้แล้ว มีผล - ยัญที่บูชาแล้ว มีผล - สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล - ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้ว มีอยู่ - โลกนี้ มี - โลกหน้า มี - มารดา มี - บิดา มี - สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะ มี - สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่ นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ฯ "สัมมาทิฏฐิ" ที่ยังเป็นสาสวะ ยังต้องมีพื้นฐานสำคัญในเรื่องกำลังสมาธิของจิต มีสติสงบตั้งมั่น แต่ยังคงมีความหวั่นไหวอยู่บ้าง ไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันละเอียดหรือที่ประทับใจมากๆ เข้ามากระทบจิตของตน ให้สะดุ้ง กระเทือน กระเพื่อม เพื่อเตือนให้รู้ทันต่ออารมณ์ ไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านมากมายไปตามอารมณ์นั้นๆ ทำไมต้องมีกำลังของ "สมาธิ" ด้วย? เพราะบุคคลที่จิตมีกำลังสติสงบตั้งมั่นได้นั้น เป็นบุคคลที่สร้างสติให้เกิดขึ้นได้แล้ว คุณธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น พิจารณาดำเนินกิจกรรมออกไปในทิศทางที่ถูกต้อง ย่อมเป็นบุคคลที่มีส่วนในทางทำให้เกิดกุศล กุศลทั้งหลายล้วนเป็นเรื่องของบุญ เช่น เคารพพ่อแม่ ทำความดี ให้ทาน เชื่อเรื่องวิบากกรรม เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจิตใจที่สุขสงบร่มเย็น การกระทำเหล่านี้ จึงเป็นบุญที่ให้ผลแก่ขันธ์ เช่น เวทนาขันธ์ ก็ได้รับแต่สุขเวทนา สัญญาขันธ์ จดจำแต่สิ่งที่ดีเป็นบุญกุศล สังขารขันธ์ ปรุงแต่งในสิ่งดีๆ มีประโยชน์ วิญญาณขันธ์ แจ้งแต่ในอารมณ์อันละเอียดเป็นสุข สงบร่มเย็น ๒. สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฏฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฏฐิ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาทิฏฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฏฐิอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาทิฏฐิของภิกษุนั้น ฯ จากพระสูตรดังกล่าว แต่ละบรรพะขององค์มรรค ที่ต้องการละจาก "มิจฉาทิฏฐิ" มาสู่ "สัมมาทิฏฐิ" นั้น ล้วนต้องมีองค์ประกอบของ "สัมมาวายามะ" และ "สัมมาสติ" ในทุกๆ บรรพะ ทั้ง ๑๐ บรรพะ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ) "สัมมาวายามะ" และ "สัมมาสติ" ทั้ง ๒ องค์แห่งอริยมรรค ๘ เป็นส่วนประกอบของหมวด "สมาธิ" [สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จิตรวมลงเป็น "สมาธิ" สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว] คำว่า "สัมมาสมาธิ" ได้ถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจ การละ "มิจฉาทิฏฐิ" เพื่อบรรลุ "สัมมาทิฏฐิ" นั้น ต้องเข้าถึงอริยสัจ ๔ คือการรู้เห็นตามความเป็นจริงอันประเสริฐ ไมใช่อาศัยเพียงความรู้สึกนึกคิดที่ตกผลึกแล้ว นั่นเป็นเพียง "ทิฏฐิ" ความเชื่อ ความศรัทธาที่คิดเองว่าถูก ยังขาดการปฏิบัติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ จึงจะเป็น "สัมมา" มีพระพุทธพจน์ในสมาธิสูตร รับรองไว้ดังนี้ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งอะไรเล่า? รู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐว่า - นี้เป็นทุกข์ - นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ - นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ - นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์" เปรียบเหมือนบุคคลผู้ที่ต้องการ "กำหนดรู้" หรือรู้เรื่องราวความเป็นจริงอะไรสักอย่าง จำเป็นต้องลงพื้นที่จริง หรืออยู่ในสภาวธรรมตามความเป็นจริง จึงจะ "กำหนดรู้" ได้ถูกต้อง เช่น ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละเสีย ฯลฯ จะอาศัยเพียงแค่ "สัญญา" ที่เข้าใจว่าเป็น "ปัญญา" มากำหนดรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง แล้วละได้บ้าง ไม่ได้บ้างนั้น เป็นเพียงความรู้สึกที่นึกคิดเอาเองว่า "ใช่" แต่ยังไม่ "ชอบ" ปัญญาชอบนั้น ต้องเป็นปัญญาที่ประกอบไปด้วย จิตที่มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว รู้แล้วละเรื่องที่รู้ ไม่ปรุงแต่งต่อ ส่วนบุคคลผู้ซึ่งลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานหรือเดินจงกรม เพื่อให้รู้เห็นตามความจริง (สัมมาทิฏฐิ) เปรียบเหมือนการลงพื้นที่ หรืออยู่ในสภาวธรรมที่เป็นจริง เช่น เมื่อกำลังปฏิบัติธรรมกรรมฐาน หรือเดินจงกรมอยู่นั้น ทำไมจึงยังไม่สามารถประคองสติให้จิตสงบตั้งมั่นได้ ก็ควรกำหนดรู้ลงไปว่า ความรู้สึกนึกคิด ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ฯลฯ ล้วนเป็นทุกข์ เรื่องอะไรที่ทำให้ไม่สามารถประคองสติ เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นได้ เมื่อกำหนดรู้แล้ว ควรละเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นเสีย ทุกข์ดับไปได้ชั่วคราวในขณะนั้น เพราะมีสติกำกับอยู่ ต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนบ่อยๆ เนืองๆ จนเกิดความชำนาญ จิตสิ้นการปรุงแต่ง เพราะสิ้นตัณหา รู้จักการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายไป เป็นเส้นทางสู่ความเป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค เป็นสัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ ดังนี้ ... สาธุ พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรมวันพระ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ โอวาทปาฏิโมกข์ หรือก็คือ หัวใจพระพุทธศาสนา
🌷 โอวาทปาฏิโมกข์ หรือก็คือ หัวใจพระพุทธศาสนา วันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู เป็นวันมาฆบูชา ซึ่งวันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ คือ ๑. เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่เราเรียกว่า "วันอุโบสถ" พระจันทร์เต็มดวง ดวงจันทร์เสวยมาฆะฤกษ์ ๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้มีการนัดหมายทางวาจา กล่าวคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ใช้ให้ใครไปเรียกมา แต่ต่างองค์ต่างรู้ด้วยญาณทัศนะของท่าน แล้วก็ต่างองค์ก็ต่างมาจากแต่ละทิศ ๓. พระภิกษุทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ทรงอภิญญา มีฤทธิ์ มีตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้ใจผู้อื่น ๔. พระภิกษุทั้งหมด ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการอุปสมบทจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระภิกษุทั้งหมดมาประชุมพร้อมกันแล้ว พระบรมศาสดาทรงประทานโอวาท ที่เรียกว่า "โอวาทปาฏิโมกข์" อันเป็นอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ในการเผยแผ่คำสอนของพระองค์ ดังนั้น จึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" เป็นวันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ [เดือนเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่นเจิดจ้า นบองค์พระศาสดา วันมาฆปุณณมี น้อมดวงใจส่งถึงพระชินสีห์ ล่วงกาลผ่านไปสองพันกว่าปี โลกนี้ร่มเย็นเรื่อยมา พระพุทธองค์ได้ทรงประทานโอวาท] *เพลงวันมาฆบูชา คำร้อง : ธรรมรักษ์ ทำนอง/เรียบเรียง/ขับร้อง : ปัญจสิขะ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" หรือก็คือ "หัวใจพระพุทธศาสนา" อันมีใจความสำคัญ ดังนี้ ๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญแต่ความดี ๓. สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วปราศจากกิเลสทั้งหลาย เอตํ พุทธานสาสนํฯ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ แสดงว่าโอวาทที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้นั้น เป็นหัวใจสำคัญในทางปฏิบัติธรรมฉบับย่นย่อที่ตรงต่อความหลุดพ้น เป็นการชำระกาย ชำระใจหรือจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เมื่อพิจารณาข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้น จะเห็นว่า เป็นการชำระกายวาจาของตน ส่วนใหญ่ใจความสำคัญนั้นไปรวมอยู่ที่ข้อที่ ๓ นั่นเอง ถ้าเราสามารถปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาจนชำระจิตของตนให้ขาวรอบได้ เป็นการการันตีได้ว่าข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้น ย่อมต้องสำเร็จดังใจหมายตามไปด้วยเช่นกัน แล้วทำไมล่ะ ต้องละความชั่วทั้งปวงก่อน ข้อนี้เป็นสำคัญ เมื่อละข้อนี้ไม่ได้ ก็อย่าได้หมายว่าจะชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์เลย เพราะความชั่วที่ซ่อนไว้จะคอยมารบกวนจิตใจ ในยามที่เราลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานอย่างจริงจัง ทุกวันนี้ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากสื่อต่างๆ หรือเห็นด้วยตาของตนเองว่า คนที่มีพฤติกรรมชอบซ่อนเร้นความชั่วของตัวเองกันเยอะมากในสังคม โดยไม่มีความละอายต่อบาปกรรมที่ได้เคยทำไว้เลย พอมีความรู้สึกว่าสังคมขณะนี้กำลังจับตาดูพฤติกรรมของเราอยู่ ก็จะออกมาสร้างภาพในการทำความดี ให้เห็นว่าตนเองนั้นมีจิตใจที่โอบอ้อมอารี เป็นดีของสังคม และก็แปลกแต่จริงที่ว่า คนส่วนใหญ่ก็มักจะคล้อยตามไปกับการเสแสร้งเช่นนั้นด้วย ทั้งที่พฤติกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำนั้น ก็เอารัดเอาเปรียบหรือคดโกงต่างๆ นานาต่อสังคม แต่เพราะมักคอยสร้างภาพอยู่ไม่ว่างเว้น จึงทำให้ผู้คนส่วนมากมองไม่เห็น ที่ไม่อาจมองข้ามไปอีกเรื่องหนึ่ง ที่แทบจะเป็นนิสัยถาวรไปเลยนั้น ก็คือ การชอบโกหกทั้งๆ ที่รู้อยู่ มีพุทธพจน์ทรงตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลยังไม่ละธรรมข้อหนึ่ง คือการพูดปดทั้งๆ ที่รู้ เราย่อมไม่กล่าวว่า มีบาปกรรมอะไรบ้าง ที่ผู้นั้นจะทำไม่ได้" บุคคลจำพวกนี้กลับชอบเฉียดผ่านวัด แต่ไม่รู้จักจะน้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอน ไปปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความชั่วเหล่านั้น ถ้าได้น้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนไปปฏิบัติ ก็จะทำให้จิตมีพลังในการปล่อยวางความชั่วทั้งปวงออกไปได้ จากจิตของตน ดังพระบาลีที่ว่า "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ, ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา" จากพระบาลีธรรมบท จะเห็นว่า จิตเมื่อสิ้นการปรุงแต่งจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดยินดี-ยินร้ายที่เข้ามากระทบได้ ก็ด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาเท่านั้น เพื่อให้จิตของตนสิ้นความทะยายอยาก (ตัณหา) ออกไปหาอารมณ์ ส่วนการปฏิบัติธรรมนั้น เราจะปฏิบัติธรรมที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดถึงจะปฏิบัติธรรมได้ ถ้าเรารู้จักหลักในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาแล้ว ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เราย่อมภาวนาได้เช่นกัน แต่ในระยะแรกๆ นั้น ควรฝึกฝนจากการหลับตาก่อน เมื่อชำนาญดีแล้ว จะหลับตาหรือลืมตาก็จะมีค่าเท่ากัน เมื่อกล่าวถึง "หัวใจพระพุทธศาสนา" แล้ว เรามักคิดไปถึงการที่ชาวพุทธทั้งหลาย ต้องไปเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญบุญ รับศีล และขอพรจากพระสงฆ์ เพียงเท่านั้น ความจริงแล้วเรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศลทั้งหลายนั้น ก็ล้วนรวมอยู่ในทาน ศีล ภาวนา อาทิเช่น การให้ทานในรูปแบบต่างๆ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้อื่น และความเสียสละแรงกาย แรงใจ ล้วนจัดอยู่ในอยู่ในทาน เป็นธรรมฝ่ายกุศลทั้งสิ้น แต่ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลจะเกิดขึ้นได้แบบจริงแท้ถาวรนั้น ต้องพิจารณาถึงธรรมข้อแรกที่ทรงตรัสไว้ว่า ให้ละการทำชั่วทั้งปวง ซึ่งเป็นข้อแรก เป็นธรรมฝ่ายการละอกุศล เป็นการลด ละ เลิก ที่ทำได้ยากยิ่งกว่าการทำบุญทำกุศลทั้งหลาย (บำเพ็ญความดี) เสียอีก ต้องอาศัยกำลังใจและพลังจิตของตนเป็นอย่างมาก จิตต้องเข้มแข็งเพียงพอที่จะทำการ ลด ละ เลิก ในการทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามที่ทำจนเป็นนิสัย ซึ่งเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมโดยรวม การที่กล่าวว่าการละบาปนั้นทำได้ยากยิ่งกว่าทำบุญกุศลเป็นเรื่องจริง ที่เราสามารถพบเห็นได้ในสังคมอยู่ทุกวันนี้ ในหลายอาชีพการงาน เราจะพบคนที่ยังชอบทำความชั่ว เอารัดเอาเปรียบ คดโกง ติดยาเสพติด อีกมากมาย และยังมีสารพัดสิ่งต่างๆ รอบตัวที่จะทำให้เกิดการเสพติดได้นั้น ก็มากมายอีกเช่นกัน และทำให้เกิดการทำความชั่วได้ แต่เราก็ยังพบเห็นบุคคลเหล่านี้บางพวกที่ชอบสร้างภาพ โดยการเข้าวัดเข้าวา ทำบุญกุศล บริจาคทาน ช่วยเหลือเจือจานต่อสังคม ที่สาธารณชนคนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ เป็นการทำความดีเหมือนกัน และโดยความเป็นจริงของสังคมแล้ว ปรากฏว่ายังมีบุคคลที่อยู่ในกลุ่มนี้ มีความต้องการที่จะ ลด ละ เลิก การทำความชั่วทั้งปวงอย่างแท้จริง แต่ก็ยังขาดซึ่งพลังจิตที่จะมาใช้ในการลด ละ เลิก ความชั่วเหล่านั้นไป แต่มีพลังจิตไม่มากพอในการนี้ เมื่อบุคคลเหล่านี้ มักได้แต่มีความคิดเพียงแค่ว่า อยากจะ ลด ละ เลิก ก็ได้แต่เพียงคิดไปว่าเท่านั้น เป็นความอยากล้วนๆ ไม่มีส่วนผสมของความเป็นไปได้ คงเป็นความจริงขึ้นมาไม่ได้ เพราะยังขาดการฝึกฝนอบรมจิตของตนให้มีพลังจิตในการลด ละ เลิกให้ได้ ต่อให้บุคคลเหล่านั้นเข้าวัดไปขอพรเพื่ออำนวยผลให้ และการรับปากต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าจะลด ละ เลิก ก็ยังเชื่อถือและไว้ใจไม่ได้อยู่ดี ว่าจะทำสิ่งนั้นสำเร็จได้จริง เพราะขาดซึ่งพลังจิตในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้นึกคิดฝ่ายชั่วออกไป ต้องเป็นบุคคลที่เคยมีพื้นฐานอบรมจิตด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนามาอย่างจริงจัง มาบ้างไม่มากก็น้อยตามควร จึงอาจจะทำให้เกิดผลในการลด ละ เลิก ให้เบาบางลงได้จริง แต่นัยยะที่สำคัญในเรื่องนี้ เราต้องพึ่งพาธรรมข้อที่ ๓ ใน "หัวใจพระพุทธศาสนา" ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า "สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ แปลว่า การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์" แล้วจะทำอย่างไรได้ล่ะ ? การจะกระทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วได้นั้น จะมีโดยเฉพาะในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้นที่ทำได้ ลัทธินอกจากนี้เป็นเพียงการสร้างตบะบารมีให้เกิดขึ้นในตน เพียงแต่ทำให้กิเลสเบาบางลงได้ หรือที่เรียกว่ามีผงธุลีในตาน้อยจริง จากการฝึกฝนอบรมจิตของตนจนชำนาญเป็นวสี ในปล่อยวางอารมณ์ที่หยาบเข้าหาอารมณ์ละเอียดที่ตนเองฝึกฝนจนชำนาญแทน และติดสุขอยู่ในอารมณ์ละเอียดนั้น เพราะปล่อยวางอารมณ์ออกไปไม่เป็น ยึดเอาอารมณ์ละเอียดนั้นอย่างเหนียวแน่น เห็นอริยสัจไม่ได้ มีแต่วิธีการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) ในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ที่ทำให้มีพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ขึ้นมา เกิดจากการที่ได้ลงมือปฎิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจัง ที่ตรงต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นย้ำถึงเรื่อง "อริยสัจ ๔" เพราะเหตุใดพระองค์จึงบอกเล่าเรื่องนี้ ก็เพราะว่า เรื่องนี้ประกอบด้วยประโยชน์เป็นอย่างมาก เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เป็นไปเพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้นแล พวกท่านจึงควรกระทำความเพียรเพ่ง เพื่อรู้เห็นซึ่งอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ว่านี่ทุกข์ นี่เหตุให้ทุกข์เกิด นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากมีคนมากล่าวว่า ตนไม่ต้องตรัสรู้อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ตามความเป็นจริง ก็จะกระทำที่สุดทุกข์โดยชอบได้ (พ้นจากทุกข์ได้) ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนคนที่มากล่าวว่า ตนจะเอาใบตะเคียนใบทองกราว ใบมะขามป้อม มาทำกระทงใส่น้ำหรือใส่ใบตาล ย่อมมิใช่ฐานะที่มีได้ ฉะนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงถึงหนทางในอันจะนำบุคคลไปสู่ความเป็นอริยบุคคล ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้อย่างชัดเจนว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุให้ทุกข์เกิด นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ การที่เข้าถึงหนทางนี้ได้ จะต้องลงมือปฎิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าถึงธรรมอันเอกที่ผุดขึ้นมา เป็นธรรมที่เหนือกว่าธรรมฝ่ายที่เป็นกุศลและฝ่ายที่เป็นอกุศลทั้งหลาย คือ ความชั่วก็ไม่เอา ความดีก็ไม่เอา และละความยินดี-ยินร้ายทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตออกไป เป็นการตัดฉันทราคะทิ้งไปเสียสิ้น อันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงได้ แต่อย่างน้อยการปฎิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาตามหนทางนี้ สามารถทำให้พลังจิตเข้มแข็งตั้งมั่นไม่หวั่นไหวพอ ต่อการลด ละ เลิก การไม่ทำความชั่วในที่ทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดแน่นอน แต่ปัจจุบันนี้ กลับมีความพยายามที่จะสอนการปฎิบัติธรรมกรรมฐานกันแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ซึ่งไม่ต้องเพียรเพ่งภาวนาพยายามในการนั่งกรรมฐานใดๆ เลย คำสอนแบบนี้ไม่มีอยู่จริงในพระพุทธศาสนา เป็นเพียงคำสอนแบบเอาใจ เป็นคำสอนแบบให้กำลังใจกัน เป็นรูปแบบคำสอนที่เกิดขึ้นตามมติความคิดเห็นของตนเองล้วนๆ เท่านั้น โดยมีการอ้างอิงและแอบอ้างว่าเป็นคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น สำหรับชาวพุทธที่ยังมีอนุสัยปัจจัยยังอ่อนอยู่นั้น จิตยังมีความสับสนวุ่นวายไม่เข้มแข็งมากพอที่จะพิจารณาถึงคำสอนเหล่านั้น ว่าถูกต้องเที่ยงตรงพระนิพพานหรือไม่ ส่วนตนเองก็ยังไม่มีพลังจิตมากพอที่จะมุ่งมั่นตั้งใจแบบตัดเป็น ตัดตาย เอาชีวิตเข้าแลก ลงมือปฎิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้นจริง ทั้งๆ ที่มีพระพุทธพจน์ทรงตรัสรับรองไว้ดีแล้วมากมาย เช่น "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยัง (สัมมา) สมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) ดังนี้" จากบาลีพระธรรมบท เราพอจะสรุปได้ว่า คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายนั้น ก็เป็นอันชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ คือหมายถึงภิกษุทุกรูปที่ต้องยังสมาธิให้เกิดขึ้นมีขึ้น เพราะพระองค์เองมิได้ทรงยกเว้นให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเลย ดังมีปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ ที่ชอบแอบอ้างว่ามีการยกเว้นให้บุคคลผู้มีปัญญามากจำพวกสุขวิปัสสโก โดยลืมพิจารณาไปถึงว่า เมื่อกล่าวถึงบุคคลผู้มีปัญญาเป็นเลิศ คงหนีไม่พ้นพระพุทธองค์ของเรา ไม่ใช่หรือ แม้แต่พระองค์เอง ก็ต้องยังสมาธิให้เกิดขึ้นกับพระองค์ จึงได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง โดยนั่งคู้บรรลังก์ ณ ใต้ต้นสาละ ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ อันมีรอบ ๓ อาการ ๑๒ จนสำเร็จเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสอนที่ชอบแอบอ้างกันว่าไม่ต้องทำสมาธิ หรือทำสมาธินิดๆ หน่อยๆ ก็พอนั้น ควรยกขึ้นไว้เพื่อป้องกันมิให้พระสัทธรรมนั้นต้องปฏิรูปไป พระองค์ทรงตรัสไว้ในเรื่องสัทธรรมปฏิรูป ถึงมูลเหตุให้ฟังและได้ทรงเน้นว่า "การที่มีบุคคลนำเอาคำสอนนอกศาสนา มาอ้างอิงว่านั่นเป็นคำสอนของพระองค์ เป็นมูลเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้คุณค่าของศาสนาน้อยด้อยค่าลงไปในที่สุด" เมื่อพูดถึงการยังสมาธิให้เกิดขึ้น เราต้องมาพิจารณาโดยแยบคายว่า สมาธิหลักๆ ในพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง ซึ่งก็หนีไม่พ้นสมาธิในอริยมรรคอันมีองค์ ๘ อันเป็นทางเดินของจิตนำไปสู่ความเป็นอริยเจ้า ซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น เราแบ่งเป็นหมวดๆ ไว้ดังนี้ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเป็นหมวดปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเป็นหมวดของศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเป็นหมวดสมาธิ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล อันงามในเบื้องต้น สมาธิ อันงามในท่ามกลาง ปัญญา อันงามในที่สุด เมื่อเรายังสมาธิให้เกิดขึ้นดีแล้ว สมาธิย่อมสามารถร้อยเรียงเอาศีลและปัญญาเข้ามาอยู่ร่วมกัน เป็นมรรคสมังคี ทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ทุกวันนี้มักมีการถกเถียงกันในเรื่องนี้ไม่ใช่น้อย ยกตนข่มท่านบ้างล่ะ อวดคุณวิเศษบ้างล่ะ และอีกมากมาย ต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันนั่งยันในความคิดเห็นของตนว่าถูกต้องตรงต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธ ข้อนี้ขอยกไว้ ความเชื่อก็คือความเชื่อ ส่วนความจริงนั้นต้องมาว่ากันอีกทีหนึ่ง ไม่อย่างนั้นเราจะเรียกว่าความเชื่อหรือ ยังมีพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่องแบบนี้ให้ไว้ให้พิจารณาดังนี้ เธอทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะ (ทั้งข้อความและถ้อยคำ) เหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในพระสูตร เทียบดูในพระวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในพระวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี่มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่นอน ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น พระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) ถือไว้ผิด พึงทิ้งเสีย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรก็ได้ เทียบเข้าในพระวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่แท้ ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น เถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) รับมาด้วยดี เมื่อเรานำเอาความรู้ที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษามาแล้ว ลองเอาเทียบเคียงกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ทรงตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งจัดเป็นหลักสูตรปฏิบัติธรรมที่ละเอียดที่สุดในพระพุทธศาสนา ทรงกล่าวนำว่า เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางอันเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย (คำว่า สัตว์ ในที่นี้หมายถึง ผู้ติดข้องในอารมณ์) เพื่อก้าวล่วงความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน เพื่อความดับไปแห่งทุกข์และโทมนัสทั้งหลาย เพื่อบรรลุญายะธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง บรรพะแรกที่กล่าวถึงเลยก็คือ อานาปานสติ การมีสติกำหนดรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าและทุกลมหายใจออก จนจิตมีสติสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ จัดเป็นสัมมาสมาธิ และในทุกบรรพะนั้น จะต้องมีการกล่าวถึงให้พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง เป็นภายนอกบ้าง และพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ทั้งภายในและภายนอกบ้าง ที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะคนเรานั้นล้วนมีอารมณ์ที่เกิดขึ้น ณภายในตน (จิต) ซึ่งเรียกว่าธรรมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อกระทบเข้ากับ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย ถูกเก็บไว้ที่ใจในรูปธรรมารมณ์ ส่วนที่พิจารณาเป็นภายนอกนั้นก็เช่นกันต่างกันที่ เมื่อมีอารมณ์ที่เข้าทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และกระทบเข้ากับ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย เมื่อกระทบกันแล้วย่อมเกิดวิญญาณขึ้นทางอายตนะนั้นๆ เมื่อเกิดวิญญาณขึ้นที่อายตนะนั้นๆ ผัสสะย่อมต้องตามมา จากนั้นขบวนการปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดก็มีติดตามขึ้นมาตลอดแนว ทั้งภายในและภายนอกเช่นกัน ฉะนั้น จึงต้องเริ่มต้นฝึกฝนอบรมจิตของตน ด้วยการพิจารณากายในกายเป็นภายในให้สำเร็จเสียก่อน โดยการนั่งคู้บรรลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เป็นฝึกสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้น หลับตาลงเบาๆ เพื่อเป็นการลดช่องทางการรับรู้อารมณ์ให้น้อยลงมากที่สุด เพื่อฝึกสติให้ตั้งมั่นกำหนดรู้เฉพาะลมหายใจเข้า-ออกเท่านั้น โดยให้มารู้สึกชัดอยู่ที่จุดลมกระทบ ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ อย่าตามลมเข้า-ออกโดยเด็ดขาด ให้มีสติระมัดระวังคอยควบคุมจิตของตนไม่ให้แลบหนีออกไปจากจุดนี้ ถ้าเผลอไผลแลบหนีออกไปหาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเมื่อไหร่ พอรู้สึกตัวระลึกได้ให้รีบดึงจิตกลับมา ณ จุดที่ตั้งอยู่นั้น ขั้นนี้ต้องอาศัยปัญญา ถ้าลองขาดซึ่งปัญญาเสียแล้ว ให้ดึงยังไงก็ไม่ยอมกลับออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น ลมหายใจ คือกายสังขารที่ปรุงแต่งกายเนื้ออยู่ตลอดเวลา ที่มีชึ้นเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยความคิด ส่วนกายในกายหรือนามกาย หรืออทิสมานกาย (กายทิพย์) นั้น คือความนึกคิด เราเอาความนึกคิดที่มีสติมาแนบลง หรือรู้ชัดลงที่จุดลมกระทบ แล้วเอาความนึกคิดมารู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออกที่เกิดขึ้นมีขึ้นโดยไม่ต้องคิด เมื่อประคองจิตของตนให้รู้ชัดได้สำเร็จ จิตก็จะสงบตั้งมั่นโดยลำพงตนเอง (ไม่ต้องคิด) เท่ากับว่าฝึกฝนอบรมจิตของตนอยู่ รู้จักวิธีการหยุดคิด หยุดเป็นเย็นได้ หยุดไม่เป็นเย็นไม่ได้ หยุดนั่นแหละตัวสำเร็จ เมื่อหมั่นเพียรฝึกฝนจนชำนาญแล้ว ก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า จะวางจิตของตนให้สงบตั้งมั่น (ที่นิมิตหมายแห่งจิต) โดยหยุดนึกคิดปรุงแต่งได้อย่างไร โดยไม่ต้องเสียเวลา จากนั้นขั้นตอนต่อไป คือพิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง เป็นขั้นตอนวิปัสสนา นำมาใช้ในขณะลืมตา หรือในชีวิตประจำวัน ที่ยังต้องอาศัยความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งต่อเรื่องราวต่างๆ อยู่ จะขอพูดนิดหนึ่งเรื่องขั้นตอนวิปัสสนา คำๆ นี้เป็นคำที่มีขึ้น เกิดขึ้นในภายหลัง ให้ฟังดูเท่ๆ รู้สึกอยู่เหนือคนอื่นเท่านั้น คำว่าวิปัสสนาเมื่อแปลออกมา ก็คือการรู้เห็นอย่างวิเศษ หรือรู้เห็นตามความเป็นจริงนั่นเอง แน่นอนที่สุดเพราะขั้นตอนที่สองนี้เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อเราชำนาญในการวางจิตให้สงบตั้งมั่น (ที่นิมิตหมายแห่งจิต) ด้วยการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้ในขณะหลับตา ข้อนี้เป็นเพราะว่าเราได้นิมิตหมายแห่งจิต อันเป็นสมาบัติ (ความสงบอันปราณีตที่พึงมี) ธรรมเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน มีสติ มีสัมปชัญญะ เมื่อกระทบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เราก็สามารถปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้นออกไปได้ในทันทีทันใดเช่นกัน (ขึ้นอยู่กับความสามารถในการฝึกฝนด้วย) จากนั้นขั้นตอนสุดท้าย พิจารณากายในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง เป็นการฝึกฝนทบทวนความชำนาญในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกให้สมดุลกัน สติปัฏฐานเป็นการฝึกสร้างสติโดยตรง เมื่อชำนาญในฐานใดฐานหนึ่งแล้ว ที่เหลือย่อมกระเทือนถึงกันเพราะเป็นการฝึกสร้างสติเช่นกัน ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ (อินทรียภาวนาสูตร ที่ ๑๐) จากพระสูตรจะเห็นว่า ทรงเน้นให้หาที่เป็นสัปปายะ เป็นที่ๆ เงียบสงบไม่พลุกพล่าน เหมาะที่จะภาวนา นั่นโคนไม้ นั่นราวป่า จากนั้นน่าจะที่ว่างจากเรือน ไม่ใช่เรือนว่าง เธอทั้งหลายหมายถึงภิกษุทุกรูป จงเพ่งฌาน ตรงคำว่า จงเพ่งฌานนี้ มีอยู่มากมายหลายสำนักที่รับไม่ได้ โดยได้กล่าวหาว่านั่นเป็นเพียงสมถะกรรมฐานเท่านั้น เปรียบเหมือนหินทับหญ้า เอาหินออกหญ้าก็ขึ้นมาใหม่อีก ไม่อาจทำให้เกิดปัญญาได้ ทั้งที่ต้นทางของสำนักเหล่านั้น ได้รจนาบาลีธรรมบทขึ้นมาว่า "นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญา จ ส เว นิพฺพานสนฺติเก แปลว่า ผู้ไม่มีฌาน ย่อมไม่มีปัญญา ผู้ไม่มีปัญญา ย่อมไม่มีฌาน ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา ผู้นั้นย่อมเข้าใกล้พระนิพพานดังนี้" ที่รับไม่ได้เพราะคำว่าเพ่ง ซึ่งไปพร้องกับความเพียรเพ่งของพราหมณ์ จึงเหมารวมว่าเป็นอันเดียวกัน โดยความเป็นจริงแล้วคำว่าเพ่งนั้น หมายความถึงการที่เรารับรู้อะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง และรู้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ไม่ให้หลุดออกจากความรู้สึกนึกคิดของเราเลย นั่นจัดว่าเป็นการเพ่งเช่นกัน ความเพียรเพ่งของพุทธกับของพราหมณ์นั้น ต่างกันโดยสิ้นเชิง ของพุทธนั้นให้เพียรเพ่งลงที่ กาย เวทนา จิต และธรรม ทำให้จิตรู้เห็นตามความเป็นจริงในไตรลักษณ์ได้ ส่วนของพราหมณ์นั้น ให้เพียรเพ่งลงที่อารมณ์รูปและนามอันปราศจากกาม มักเกาะอารมณ์ฌานเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่น ปล่อยวางไม่เป็น สรุปว่าของพุทธ รู้อยู่ที่รู้ ของพราหมณ์รู้อยู่ที่เรื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ รู้อยู่ที่รู้ ย่อมเป็นผู้ไม่เดือดร้อนในภายหลัง ถ้ารู้อยู่ที่เรื่อง ย่อมมีโอกาสขัดเคืองใจได้ตลอดเวลา "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้แล ฯ ภิกษุผู้มีความเพียร มีเรี่ยวแรง มีปัญญา เพ่งพินิจ มีสติ คุ้มครองอินทรีย์ พึงครอบงำทั่วทุกทิศ ด้วยอัปปนาสมาธิ ประพฤติทั้งอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ฯลฯ ภิกษุเช่นนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบ เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้ถึงที่สุดของการปฏิบัติในโลก ท่านผู้ประกอบด้วยวิมุตติอันเป็นที่สิ้นตัณหา ย่อมมีจิตหลุดพ้นจากสังขารธรรม เพราะวิญญาณดับสนิท เหมือนความดับของประทีป ฉะนั้น ฯ" สรุปสุดท้าย "หัวใจพระพุทธศาสนา" นั้น เปรียบได้กับ ทาน ศีล ภาวนา รวมลงที่กายยาววา หนาคืบ กว้างศอก อันมีจิตครอง "ธรรมทั้งปวงล้วนรวมลงที่จิต" ให้ดูที่จิต เมื่อจะแก้ก็ควรต้องแก้กันที่จิตของตน ไม่ใช่อาศัยเพียงความรู้สึกนึกคิดที่ตกผลึก (สัญญา) แล้วจะแก้ได้ แต่ต้องมีความเพียรเพ่งนึก (ระลึก) ลงที่กาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อให้จิตหยุดการปรุงแต่ง หยุดคิดให้เป็น หยุดนั่นแหละตัวสำเร็จ จิตจึงจะมีพลังมากพอในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายให้ออกไปจากจิตของตนได้แล เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรมวันมาฆบูชา ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ความเพียรมีผล ความพยายามมีผล
🌷 ความเพียรมีผล ความพยายามมีผล วันพุธที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู เจริญพร มีสุขสวัสดี อาตมาภาพคงต้องว่าเรื่องสมาธิ ซึ่งเป็นธรรมอันงามในท่ามกลางระหว่างศีลกับปัญญา ถ้าลองได้ขาดเรื่องสมาธิ (สัมมาสมาธิ) ไป ศีลและปัญญาก็ไม่อาจจะเชื่อมติดกันได้ ศีลก็เป็นเพียงแค่รับเอาเท่านั้น ไม่มีกำลังในการวิรัติ (งดเว้น) ได้ ส่วนปัญญาก็เป็นเพียงสัญญาอารมณ์เท่านั้น ไม่มีกำลังในการปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตของตน ทุกวันนี้มีอาจารย์ใหญ่มากมายที่เป็นบุคคลน่าเชื่อถือไม่น้อยเลย เวลาท่านเทศน์สอนกลับไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสมาธิ มองไปว่าเป็นเพียงแค่สมถะ เปรียบเหมือนหินทับหญ้า ไม่สามารถเข้านิพพานได้ มองข้ามศีลและสมาธิไปเลย ตรงไปใช้วิปัสสนาหรือปัญญา (สัญญา) อย่างเดียว อาตมากล้าพูดได้เลยว่า อาจารย์เหล่านี้ยังไม่ได้ที่พึ่ง เพราะว่ายังปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาไม่เป็น รู้เห็นตามความเป็นจริงไม่ได้ จึงได้มองไปว่าการทำสมาธิสงบนิ่งลึกลงไประดับหนึ่งก็แค่รูปฌาน ยิ่งลึกลงไปอีกก็เป็นอรูปฌานไปนั่น ยังสอนต่ออีกว่าจะนิ่งได้เฉพาะตอนอยู่ในสมาธิเท่านั้น พอจากสมาธิก็วุ่นวายเหมือนเดิม เป็นความเข้าใจผิดอย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ ทั้งที่เป็นพุทธบุตรโดยตรง ย่อมต้องรู้ว่ารูปฌาน อรูปฌานนั้น พระพุทธองค์ทรงได้ปฏิเสธไปตั้งแต่ก่อนพระพุทธองค์จะตรัสรู้เสียอีก ไม่ควรนำมาปนเปกับสัมมาสมาธิในองค์อริยมรรคเลย ที่ไม่ใช่ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ อันมี สัมมาสมาธิเป็นหนึ่งในนี้เท่านั้น ที่ชื่อว่าเป็นปฏิปทาที่ทำให้ถึงความดับแห่งสังขาร เมื่ออวิชชาเกิด สังขารจึงเกิด เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ เมื่ออวิชชาดับ วิชชาแจ้งในความหลุดพ้น ถึงซึ่งพระนิพพานจึงเกิดขึ้น เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดปัจจัยอย่างนี้ รู้ชัดความเกิดแห่งปัจจัยอย่างนี้ รู้ชัดความดับแห่งปัจจัยอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งปัจจัยอย่างนี้ มีพระบาลีรับรองไว้ดังนี้ "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่าจิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา" เมื่อนั้นอริยสาวกนี้ เราเรียกว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ผู้ถึงพร้อมด้วยทัศนะบ้าง ผู้ถึงพร้อมด้วยสัทธรรมนี้บ้าง เห็นสัทธรรมนี้บ้าง ประกอบด้วยญาณอันเป็นเสขะบ้าง ประกอบด้วยวิชชาอันเป็นเสขะบ้าง บรรลุกระแสแห่งธรรมบ้าง เป็นพระอริยะผู้มีปัญญาเพิกถอนบ้าง ดำรงอยู่ใกล้ประตูอมตะนิพพานบ้าง พวกเราชาวพุทธควรเดินตามแนวแห่งพุทธะเท่านั้นอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น ชื่อว่าปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในธัมมจักกัปปวตนสูตรว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น เป็นธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ใดมาก่อน จึงทำให้พระปัญจวัคคีย์เชื่อ เพราะในยุคสมัยนั้นมีเจ้าลัทธิเกิดขึ้นมามากมาย ล้วนประกาศตนเองว่าเป็นผู้รู้แจ้ง เข้าถึงนิพพานแล้ว เมื่อพระองค์ทรงออกค้นหาโมกขธรรมแล้วศึกษาดูจึงรู้ว่า เป็นความเข้าใจผิดของเจ้าลัทธิเหล่านั้นเอง และทรงตรัสรู้เองโดยชอบ ณ ใต้ต้นสาละในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ด้วยการนั่งสมาธิภาวนา (สัมมาสมาธิ) จนตลอดรุ่ง และได้วิชชา ๓ มาด้วย อันมี ๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเหตุให้ระลึกรู้ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้ ระลึกชาติได้ ๒. จุตูปปาตญาณ ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทิพยจักขุญาณ ๓. อาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ความตรัสรู้และการตรัสรู้ในครั้งกระนั้น เราเรียกโดยพิสดารได้ว่า ตรัสรู้อริยสัจ ๔ อันมี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทรงตรัสรู้อย่างไร ทรงตรัสรู้ด้วยรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ ก็คือนี่ทุกข์ นี่เหตุแห่งทุกข์ นี่คือความดับทุกข์ นี่คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รอบ ๓ อันมี สัจญาณ (ความหยั่งรู้สัจจะ) คือ นี่ทุกข์ นี่เหตุให้ทุกข์เกิด นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ กิจญาณ (ความหยั่งรู้กิจ) คือ ทุกข์ควรกำหนดรู้ (ปริญเญยธรรม) เหตุให้เกิดทุกข์ ควรละ (ปหาตัพพธรรม) ความดับทุกข์ควรกระทำให้แจ้ง (สัจฉิกาตัพพธรรม) ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ควรกระทำให้เจริญขึ้น (ภาเวตัพพธรรม) กตญาณ (หยั่งรู้การทำให้แล้ว) คือ ทุกข์-กำหนดรู้แล้ว เหตุให้ทุกข์เกิด-ละได้แล้ว ความดับทุกข์-กระทำให้แจ้งแล้ว ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์-ได้ทำให้เจริญแล้ว ล้วนเป็นกิจของโลกที่ควรกระทำและได้ทำสำเร็จแล้ว ทุกข์ ควรกำหนดรู้ เพราะเรื่องในโลก ไม่ว่าเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องใหญ่ เรื่องเล็ก เรื่องเลว เรื่องร้าย สารพัดเรื่องที่เกิดขึ้น หรือธรรมที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นทุกข์ แต่เราไม่เคยได้กำหนดรู้เลยว่าเรื่องในโลกนั้นล้วนเป็นทุกข์ เมื่อเราคิดว่ามันเป็นสุข ก็เพราะเราไม่เคยกำหนดรู้ลงไปว่า จริงๆ แล้วสุขที่ได้รับอยู่ในขณะนั้น ด้วยไม่เคยกำหนดรู้ให้เห็นตามความเป็นจริงมาก่อน พอสุขเป็นแขกจรเข้ามาก็รีบรับมันจนล้น โดยไม่เคยคิดพิจารณาหรอกว่าเดี๋ยวสุขที่มีอยู่มันก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น เมื่อสุขที่มีอยู่นั้นจืดจางหายไป เหตุแห่งทุกข์ ควรกำหนดละ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า "เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณติ แปลว่า ธรรมทั้งหลายล้วนเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงบอกเหตุและความดับแห่งเหตุของธรรมเหล่านั้น เป็นปกติของพระมหาสมณะเจ้า ทรงสั่งสอนไว้อย่างนี้" ธรรมทั้งหลายล้วนเกิดแต่เหตุ เหตุเพราะเวทนาเป็นเหตุให้เกิดความทะยานอยาก คือตัณหา พอทะยานอยากออกไปก็เกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความยินดียินร้ายนั้น เพราะเรายังมีความยึดถือว่าสรีรยนต์หรือรูปนาม ขันธ์ ๕ นี้ นั่นเป็นเรา นั่นเป็นของเรา ใครมาแย่งชิงของเราไป ล้วนทำให้เกิดความยินดียินร้ายทั้งสิ้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ย่อมดับเพราะสิ้นเหตุ การจะสิ้นเหตุได้นั้น ต้องตัดความทะยานอยากออกไปได้ (ตัณหักขโย) โดยปกติแล้ว จิตของเราทุกวันนี้ วันทั้งวันจะคอยส่งจิตออกไปสู่อารมณ์ภายนอก คือ คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ทั้งชอบ ทั้งชัง ทั้งขัดเคือง ทั้งโกรธ ทั้งดีใจ ทั้งเสียใจ ตลอดทั้งวัน โดยที่เราไม่เคยหันกลับมาดูที่จิตของตนเลย เพราะเราไม่เคยฝึกฝนอบรมเอาสติมาแนบไว้ที่กายเลย หรือที่เรียกว่า สร้างฐานที่ตั้งของสติ เราคุ้นเคยกับการส่งจิตออกไปตลอดเวลา แม้แต่ตอนที่ว่างจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดชั่วขณะหนึ่ง บางครั้ง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่จิตประภัสสร เพราะไม่มีอารมณ์มากระทบ หรือมาครอบครอง เราก็ไม่เคยที่จะนึกถึงการดึงจิตให้มาแนบอยู่กับกายเลย การที่จะให้จิตมีสติมาอยู่กับกายได้นั้น เราต้องเอากายเป็นอารมณ์ หรือพิจารณากายในกาย เพื่อให้สติระลึกรู้อยู่ที่กาย คือเอาสติมาแนบกายให้ได้ ทุกข์ และสมุทัย จึงจัดเป็นธรรมฝ่ายเกิด เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด แล้วธรรมฝ่ายดับ หรือปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ สังขารดับ อวิชชาดับ เป็นการดับอกุศลทั้งมวล ให้เกิดกุศลเจริญขึ้น เจริญยิ่งๆ ขึ้น นั่นก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ ทางไปสู่ความเป็นอริยะ หรือทางไปสู่พรหมจรรย์ และที่สุดแห่งพรหมจรรย์ก็คือ ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ เมื่อเราสามารถปฏิบัติธรรมอริยมรรคมีองค์ ๘ จนมรรคสมังคี เป็นหนึ่งเดียว ฉะนั้น มรรคจึงเป็นเครื่องมือในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปจากจิตจนหมดสิ้น ด้วยการหมั่นฝึกฝนอบรมให้รู้จักการปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้น ต้องมารู้จักว่า มรรค ๘ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น มีอะไรบ้าง อย่างถ่องแท้ จึงจะทำให้อริยมรรคนั้นสมังคีได้ ๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้ นี่ทุกข์ นี่เหตุแห่งทุกข์ นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ สัมมาทิฏฐิมี ๒ แบบ สัมมาทิฏฐิที่เป็นสาสวะ (ความเห็นชอบของปุถุชน) เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ กับสัมมาทิฏฐิที่เป็นอนาสวะ เป็นความเห็นชอบของพระอริยะ ๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ดำริในการที่จะออกจากกาม ดำริในความไม่พยาบาท ดำริในอันไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่นให้ได้รับความลำบาก ๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ เลี้ยงชีวิตโดยไม่เบียดเบียน การไม่โกง การไม่ล่อหลอก การไม่ตลบตะแลง การไม่ทำอุบายใช้เล่ห์ การไม่เอาลาภมาต่อลาภ ส่วนอีก ๓ ข้อที่เหลือในอริยมรรคนั้น สำคัญอย่างยิ่งคือ ข้อที่ ๖ ข้อที่ ๗ ข้อที่ ๘ ที่จัดเข้าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ที่พระองค์ได้เคยกล่าวไว้ในโอวาทปาติโมกข์ ๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำชั่วทั้งปวง ๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำความดีทั้งปวง ๓. สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ขาวรอบ โดยนำเอาข้อ ๑ และข้อ ๒ ในโอวาทปาติโมกข์ มาเทียบลงได้กับข้อ ๖ และข้อ ๗ ในอริยมรรค ส่วนข้อ ๓ ของโอวาทปาติโมกข์นั้น เทียบได้กับข้อ ๘ ในอริยมรรค ที่เป็นใหญ่เป็นประธานในมรรคมีองค์ ๘ ดังนี้ ๖. สัมมาวายามะ เพียรประคองที่ชอบ ประคองที่ใช่ คือ เพียรประคองจิตให้ละอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด - ไม่ให้เกิดขึ้น ละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว - ให้หมดไป (ละความชั่วทั้งปวง) เพียรกระทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด - ให้เกิดขึ้น กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว - ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น (ทำความดีทั้งปวง) การกระทำคุณธรรมเหล่านี้ ต้องมีความเพียรชอบ คอยระลึกรู้กำกับอยู่ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออก จึงจะบรรลุผล มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว ที่ทำให้เกิดขึ้นได้คือ การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) เมื่อพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ระหว่างที่เราปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาและประคองจิตของตนให้อยู่ที่องค์กรรมฐานภาวนานั้น ลองสังเกตให้ดีว่า อกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่สามารถเข้ามาประชิดติดจิตของตนได้ เพราะเราไม่ส่งจิตออกไปรับอารมณ์เหล่านั้น อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นมาไม่ได้ และที่กำลังจะเกิดขึ้น เราก็ระงับยับยั้งไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ ทำให้มันหมดไป คือคอยประคองจิตมาอยู่ที่องค์กรรมฐานภาวนา หรืออยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ด้วยการดำรงสติระลึกรู้เป็นอารมณ์ เราจะเห็นชัดว่า นี่คือการละความชั่วทั้งปวง สพฺพปาปสฺส อกรณํ ทำไมต้องละชั่วก่อน เพราะยังมีบุคคลที่ความชั่วก็ยังทำอยู่ แต่ความดีก็ไม่ละทิ้ง เพื่อเอามาหักกลบลบล้างกัน ซึ่งหักกลบลบล้างกันไม่ได้ (ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว) ถ้าไม่ละชั่วก่อน ให้ทำความดี ทำกุศล มันก็เหมือนกับหม้อที่มีก้นรั่ว เมื่อยังละความชั่วไม่ได้ ให้ทำดี ทำกุศลยังไงก็ไม่มีทางที่จะหักกลบลบล้างความชั่วได้ ในเมื่อหม้อมันยังมีก้นรั่ว นานวันไปน้ำ มันก็ต้องไหลออกมาเลอะเทอะให้คนเห็นอยู่ดี ในความเลวร้ายของตนเองปรากฏ ฉะนั้น ในสัมมาวายามะ ถึงได้บอกว่าเป็นความเพียรที่ใช่ ที่ชอบ เพราะเมื่อเราภาวนาอยู่ที่องค์กรรมฐานภาวนา ประคองจิต ประคองใจของตน ไม่ให้ซัดส่ายส่งออกไปกับอารมณ์ภายนอก ให้รู้อยู่ที่องค์กรรมฐาน องค์ภาวนา องค์ฌาน องค์สมาธิของตน เป็นการยังบุญยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะเจริญยิ่งๆ ขึ้น เมื่อสร้างสติให้เกิดขึ้นแล้ว คุณธรรมทั้งหลายฝ่ายต่างๆ ก็มารวมอยู่ตรงนั้น ความรู้สึกนึกคิดก็ย่อมเป็นไปในฝ่ายกุศล มีระเบียบ และพิจารณดำเนินกิจกรรมออกมาในทิศทางที่ถูกต้องไปด้วย คือ การทำความดีทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การที่คนเราไม่ปล่อยจิตปล่อยใจของตนให้ออกไปปรุงแต่งหรือรับรู้อารมณ์เข้ามา ก็ถือว่าเป็นกุศลธรรม เพราะการที่รับรู้อารมณ์แต่ละครั้ง ขณะที่เราใช้ชีวิตอยู่นี่ ให้สังเกตว่า การรับรู้อารมณ์แต่ละครั้ง มีทั้งอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี อารมณ์โกรธ อารมณ์ชอบ อารมณ์ชัง อารมณ์ดีใจเสียใจ ทุกครั้งที่มีการรับรู้อารมณ์จะต้องเกิดสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความยินดียินร้ายตามขึ้นมาด้วยทุกครั้ง ฉะนั้นเมื่อเราหมั่นประคองจิตให้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ หรืออยู่ที่องค์กรรมฐานภาวนา เป็นการสร้างกุศลธรรมแบบพุทธแท้ คือ เป็นการสร้างกุศลแบบปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตของตน (สัมมาสมาธิ) พอเรายิ่งเจริญให้มาก กระทำให้มากเข้า กุศลที่เกิดขึ้นก็จะเจริญยิ่งๆ ขึ้น จึงได้บอกว่าเราต้องหมั่นฝึกกรรมฐานภาวนาเพื่อให้กุศลเจริญยิ่งๆ ขึ้น เหมือนกับเรารู้ทางเดินรู้ระยะทางแล้ว แต่เราก็ยังป้วนเปี้ยนอยู่แถวปากทาง ไม่ยอมเดินต่อไปเสียที ๗. สัมมาสติ ตั้งสติชอบ สติที่ใช่ ควรตั้งไว้ที่ไหน ตั้งไว้ที่กรรมฐาน หรือฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต สติปัฏฐาน ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่องเนืองๆ แม้จะลืมตา หลับตา เราก็ต้องหมั่นประคองจิตให้มีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐาน กุศลธรรมที่เราทำอยู่ ก็จะเจริญยิ่งๆ ขึ้น ๘. สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จึงทำให้จิตรวมลงเป็นสมาธิ ทำไมต้องให้จิตรวมลงเป็นสมาธิ เพราะการที่จิตเป็นสมาธินั้น จิตจะสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นแขกจรเข้ามา เราก็จะรู้เองเห็นเองว่า นั่น "เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ ที่นี่สงบหนอ (แม้กระทั่งลมหายใจ) ที่นี่ประณีตหนอ ณ ที่นี่สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงดับเงียบไป คืนความยึดติดทั้งปวงออกไป สิ้นตัณหา สิ้นความยินดี ดับกิเลส เป็นนิพพาน" จิตได้รู้จักที่สงบระงับดับสังขาร ว่าที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ เมื่อมาเทียบกับขณะที่จิตเราซัดส่ายออกไปหาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เราเรียกว่า จิตสังขาร นั้น มันเป็นยังไง มันก็มีการปรุงแต่ง เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดสัญญาอารมณ์ เกิดสังขาร เกิดวิญญาณที่แจ้งในอารมณ์นั้นๆ ทำให้จิตของเราสับสนวุ่นวายเศร้าหมองไปกับ ราคะ โทสะ โมหะ เมื่อมีคนถามว่าว่า ราคะ โทสะ โมหะ เนี่ย มันต่างกันยังไง เราก็จะตอบได้ว่า ราคะมีโทษน้อยก็จริง แต่อยู่นาน คลายช้า ส่วนโทสะล่ะ โทษมาก พอเกิดโทสะอะไรขึ้นเนี่ย มีการทะเลาะเบาะแว้งลงมือตบตี โทษมาก แต่คลายเร็ว แปบเดียว ต่างก็พยายามละเรื่องโกรธ เรื่องขัดเคือง เกิดความละอายใจในภายหลัง แต่ยกเว้นไว้สำหรับบุคคลบางจำพวก โมหะนั้น ทั้งมีโทษมาก ทั้งคลายช้า คนที่มีโมหะ หลง หลงในทางโลก คนลองได้หลง กว่าจะหาทางกลับต้องใช้เวลาไม่น้อย และไม่ค่อยจะยอมเดินเข้ามาในทางธรรมบ้างเลย นี่แแหละเรียกว่าโทษมากและคลายช้า เราก็จะเห็นแล้วว่า สัมมาสมาธิเนี่ย เป็นใหญ่เป็นประธาน มีกล่าวไว้ชัดเจนว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะมีองค์ประกอบอีก ๗ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ประกอบเป็นองค์มรรคสมังคีขึ้นมา ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงเน้นนักเน้นหนาให้ปฏิบัติ "เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา, เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปชฺชถ มารเสนปฺปโมหนํ ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้จิตบริสุทธิ์หมดจด ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว เป็นทางที่มารและเสนามารหลง" นั่นก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้กับพระอานนท์เรื่องอานาปานสติ ก็คือ สัมมาสมาธิดีๆ นั่นเอง ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐานภาวนาในครั้งพุทธกาลเป็นหลัก ตามที่หลวงพ่อสนองท่านเคยเทศน์ไว้บ่อยๆ แต่ครูบาอาจารย์ในรุ่นใหม่ ท่านก็ผูกเอา พุทโธบ้าง สัมมาอรหังบ้าง นะมะพะธะบ้าง เพื่อให้ง่ายขึ้นในการภาวนา เพราะว่าถ้าเป็นลมหายใจ บางคนไม่สามารถจับลมได้เลย เพราะลมไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้ แต่ว่าเรารู้ได้ เพราะเรามีลมหายใจ จึงมีชีวิตินทรีย์อยู่จนทุกวันนี้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้เน้นกับพระอานนท์ว่า "อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย จงยังสติระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อพวกเธอทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมทำให้ สติปัฏฐานสี่นี้บริบูรณ์ สติปัฏฐานสี่นี้บริบูรณ์แล้ว เมื่อพวกเธอทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมยังให้โพชฌงค์เจ็ดนี้บริบูรณ์ โพชฌงค์เจ็ดนี้บริบูรณ์แล้ว เมื่อพวกเธอทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมทำให้เกิดวิชชา เพื่อวิมุตติ จิตหลุดพ้น เพื่อนิพพิทา เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธะ เพื่ออุปสมะ เพื่ออภิญญา เพื่อสัมโพธะ เพื่อนิพพาน นี่แหละ อานาปานสติ หรือสัมมาสมาธิ พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง บุคคลผู้กระทำให้มาก เจริญให้มาก ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมเข้าถึงอมตธรรม โดยได้กล่าวเป็นพระคาถาว่า "ในหมู่มวลมนุษย์ ผู้ที่ข้ามฝั่งพระนิพพานนั้นมีอยู่จำนวนน้อย ส่วนที่เหลือนั้นวิ่งเลาะอยู่ริมฝั่ง" ทำไมถึงใช้คำว่าวิ่งเลาะอยู่ริมฝั่ง เพราะไม่หาจุดเริ่ม หาฐานที่ตั้งเพื่อจะข้ามฝั่ง มัวแต่วิ่งเลาะไปเรื่อยเพื่อแสวงหา หาความพอดีไม่ได้ โดยไม่เพียรสร้าง อย่าลืมว่า อริยมรรคมีอยู่ แต่เราต้องสร้างให้เกิดขึ้น เราต้องสร้างมันขึ้นมา ฉะนั้น ถ้ามัววิ่งเลาะไปเรื่อยอยู่ริมฝั่ง หรือบางคนเจอจุดข้ามแล้ว แต่ยังมัวคิดว่าจะออกจากจุดข้ามไป (มัวแต่ลังเลสงสัย) แล้วก็ย้อนกลับไปกลับมาอีก ไม่ทำให้จุดหมายที่ตั้งไว้นั้นให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควรทำให้เหมือนกับการพายเรือไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุด ไม่พัก เพื่อข้ามให้ถึงฝั่งวัฏฏสงสารให้ได้ เห็นมั๊ยว่า ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้วนั้น แม้ถึงจะข้ามได้โดยยาก ความเพียรทำให้ถึงฝั่งได้จริง ความเพียรมีผล ความพยายามมีผล ไม่สูญเปล่าเลย บัณฑิตทั้งหลายพึงละกรรมดำ คำว่าบัณฑิต ไม่ใช่คนคงแก่เรียน หรือคนมีฐานะ หรือผู้ลากมากดี คำว่าบัณฑิตในทางพุทธศาสนาหมายถึง ผู้ที่มีกิเลสเบาบาง ดังที่พระพุทธองค์เคยตรัสถึงอาฬารดาบสว่า เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีผงธุลีในตาน้อยมานานแล้ว มีกิเลสเบาบางมานานแล้ว เรียกว่าบัณฑิตพึงละกรรมดำ เจริญกรรมขาว อาลยสมุคฺฆาโต ควรตัดความห่วงอาลัยเสีย แล้วพระองค์ยังตรัสคาถาต่ออีกว่า ธรรมที่มีอุปการะมาก ที่ยังให้อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ให้บริบูรณ์ขึ้น ทรงได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า ไม่เคยได้ทรงเล็งเห็นธรรมอย่างนี้จากที่อื่นเลย ธรรมที่กล่าวนั้นมีดังนี้ ๑. การมีกัลยาณมิตร ๒. ความถึงพร้อมแห่งศีล ๓. ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ ๔. ความถึงพร้อมแห่งจิต ๕. ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ ๖. ความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาท ๗. ความถึงพร้อมแห่งโยนิโสมนสิการ ทำไมพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ธรรมเหล่านี้ถึงมีอุปการะมาก ในการยังให้อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ให้บริบูรณ์ขึ้น ๑. การที่เรามีกัลยาณมิตร มิตรที่เป็นกัลยาณมิตรที่ดีกับเรา จะต้องชักนำเราให้มาสู่หนทางที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ คือ การเข้ามาวัด มาถวายทาน มารักษาศีลบ้าง ทำสมาธิกรรมฐานภาวนา ถ้ามีมิตรดี ก็จะชักชวนให้อยู่ในฝ่ายกุศลฝ่ายบุญ มาสร้างเสบียงบุญสะสมไว้ มาสร้างกุศลธรรม สร้างบารมีธรรม นำไปสู่ความหลุดพ้น กัลยาณมิตรข้อเดียวก็มีอุปการะมากแล้ว ๒. ความถึงพร้อมแห่งศีล บุคคลที่จะถึงพร้อมด้วยศีล บุคคลนั้นต้องเป็นโสดาบันอย่างน้อย เพราะโสดาบันต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์เท่านั้น คนที่มีความถึงพร้อมแห่งศีล เป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ย่อมชักนำให้เราไปสู่ความพ้นทุกข์เท่านั้น ไม่มีทางอื่นเลยที่จะให้ไป เพราะนอกนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมทั้งนั้น ๓. ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ ฉันทะ เราพอใจแล้ว อย่างเช่น เราพอใจที่จะมาวัด เราพอใจที่จะนั่งสมาธิ บางคนสงสัยว่า ต้องละฉันทะไม่ใช่หรือ ตอบว่าใช่ การเริ่มหัดทำสมาธิ เราต้องมีศรัทธา มีความพอใจ (ฉันทะ) เป็นที่ตั้งก่อน เมื่อเรามีฉันทะ อาศัยวิริยะจนเข้าถึงกรรมฐานภาวนาได้ รู้เห็นได้ ความพอใจก็จะดับไปเอง ๔. ความถึงพร้อมแห่งจิต คือ อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ เมื่อปฏิบัติจนถึงจิตตัวในแล้ว ย่อมเข้าสู่ความสงบ คนที่ถึงพร้อมแห่งจิตแล้ว ถ้าเราได้เข้าใกล้ ได้คลุกคลี คนพวกนี้มีแต่คุณประโยชน์ หาโทษใดๆ ไม่ได้เลย อย่างน้อยๆ ก็จะพยายามชักจูงเราให้มาสู่การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอย่างเดียว ไม่ชักจูงเราออกไปทางอื่น (อบาย) ซึ่งเป็นการที่ไม่ถูกไม่ควร ๕. ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ ทิฏฐิ ความเห็น คนที่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิแล้ว ก็คือ สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิที่ชอบ ที่ใช่ ที่ถูก ก็จะชักจูงให้เรารู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง รู้ถึงคุณ โทษ เหตุเกิด ความดับแห่งอายตนะภายในและอายตนะภายนอก ตัดรอบเป็น เห็นทางหลุดพ้นได้ ๖. ความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า "อปฺปมาโท อมตํ ปทํ, ปมาโท มจฺจุโน ปทํ, อปฺปมตฺตา น มิยฺยนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา" แปลว่า "ความไม่ประมาทเป็นทางอันไปสู่ความไม่ตาย ความประมาทเป็นทางอันไปสู่ความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย ผู้ประมาทเหมือนคนที่ตายไปแล้ว" คำว่า ความไม่ประมาทที่กล่าวนั้น ซึ่งในปัจฉิมโอวาทชัดเจนว่า “หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนท่านทั้งหลายไว้ดังนี้ วะระธัมมา สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม นี่แหละถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาท อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา นี่แหละคือพระวาจาครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า" ต้องมีสติคอยระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก นี่ถึงเรียกว่า ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทแบบเต็มรอบ ๗. ความถึงพร้อมแห่งโยนิโสมนสิการ ความพิจารณาน้อมนำด้วยความแยบคาย พิจารณาธรรมทั้งหลาย เช่น ชักชวนให้เราพิจารณาเห็นโพชฌงค์ ๗ องค์ธรรมเครื่องตรัสรู้เหล่านี้ ล้วนเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก องค์ธรรมดังที่กล่าวมานั้น ล้วนเป็นองค์ธรรมที่สนับสนุนความเพียรทั้งสิ้น โดยสนับสนุนความเพียรเพ่งฌาน อย่าได้เกียจคร้าน อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี่เป็นอนุสาสนีย์ของเรา (พระพุทธเจ้า) สำหรับภิกษุทั้งหลาย เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม วันพระ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ |
ในความฝันของใครสักคน
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?] หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |