ใจสู้ แต่รู้จักนิ่ง
กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อคุณป้าชาซาซุน(Cha Sa-Soon)สอบใบขับขี่ได้ เมื่อกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว คุณป่าวัย ๖๘ ชาวเกาหลีใต้ผู้นี้เคยเป็นข่าวมาครั้งหนึ่งแล้วเนื่องจากเธอสอบใบขับขี่มาแล้วถึง ๗๗๕ ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นใครที่รู้ข่าวก็เอาใจช่วยเธอมาโดยตลอด ส่วนคุณป้าก็ไม่ท้อแท้ เธอไปสอบแทบทุกวัน จนกระทั่งสอบได้ในที่สุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการสอบครั้งที่ ๙๕๐ ของเธอ!

เรื่องแบบนี้ไม่มีวันเกิดขึ้นที่เมืองไทย ไม่ใช่เพราะข้อสอบในบ้านเราง่ายกว่าที่เกาหลีใต้ แต่เป็นเพราะเรามีวิธีการที่ง่ายกว่านั้นในการได้ใบขับขี่ (เช่น ใช้เส้นหรือใช้เงิน) วิธีการอย่างนั้นคงใช้ไม่ได้ที่เกาหลีใต้ จะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของเขาซื่อสัตย์กว่าที่เมืองไทย หรือเป็นเพราะระบบของเขาเข้มงวดกว่าที่บ้านเรา ก็ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ ๆ คือคุณป้าผู้นี้เลือกที่จะเข้าสอบโดยใช้ความสามารถของเธอเอง

ที่จริงคุณป้าชาผ่านแค่การสอบข้อเขียนเท่านั้น ยังต้องสอบขั้นปฏิบัติอีก แต่นั่นคงไม่ยากแล้วสำหรับเธอซึ่งเป็นแม่ค้าขายผัก ในเกาหลีใต้ผู้ที่สอบข้อเขียนผ่านต้องได้คะแนนตั้งแต่ ๖๐ ขึ้นไป (คะแนนเต็ม ๑๐๐) โดยมีข้อสอบปรนัย ๕๐ ข้อ ความที่เป็นชาวบ้านธรรมดา การศึกษาน้อย คุณป้าจึงไม่เคยตอบถูกถึง ๓๐ ข้อเลยจนกระทั่งครั้งล่าสุดนี้

คุณป้าเริ่มสอบใบขับขี่ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๔๘ หลังจากนั้นก็เข้าสอบแทบทุกวัน โดยไม่ย่อท้อเลย คุณป้าอยากได้ใบขับขี่มาก ๆ ก็เพื่อจะได้ขับรถไปขายผักตามที่ต่าง ๆ จะว่านี้เป็นความใฝ่ฝันของเธอก็ได้ เมื่อมีคนถามว่าทำไมเธอจึงสอบไม่หยุดทั้ง ๆ ที่สอบตกมาแล้วหลายร้อยครั้ง คุณป้าตอบว่า “ฉันเชื่อว่าคุณสามารถไปถึงเป้าหมายได้ถ้ามีความเพียรไม่หยุดหย่อน” เธอยังกล่าวอีกว่า “อย่าละทิ้งความฝันเหมือนฉัน เข้มแข็งเอาไว้และทำให้ดีที่สุด”

คุณป้าชาเป็นตัวอย่างของคนที่เชื่อว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ถ้าหากว่าพยายามแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ นั่นแสดงว่ายังพยายามไม่พอ กล่าวอีกนัยหนึ่ง มีแต่การล้มเลิกเท่านั้นที่นำไปสู่ความล้มเหลว อย่างไรก็ตามไม่ง่ายเลยที่ใครสักคนจะยังมีความเพียรและความมุ่งมั่นหลังจากที่ล้มเหลวมานับร้อยครั้ง จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีทั้งความใฝ่ฝันและความรักในสิ่งที่ทำนั้น

เบื้องหลังความสำเร็จของผู้คนเป็นอันมาก มิใช่อัจฉริยภาพแต่เป็นความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด เซซาน เป็นศิลปินชื่อก้องชาวฝรั่งเศส ซึ่งโลกรู้จักในฐานะผู้วางรากฐานให้แก่ศิลปะตะวันตกในศตวรรษที่ ๒๐ และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อปิกัสโซ แต่น้อยคนที่รู้ว่ากว่าเขาจะมาถึงจุดนั้นได้เขาต้องใช้ความอุตสาหะเพียงใด

เซซานมุ่งมั่นเป็นศิลปินตั้งแต่อายุ ๒๑ แต่กว่าเขาจะมีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นที่ยอมรับของโลกตะวันตกได้ เขาต้องใช้ความเพียรพยายามนานถึง ๓๐ ปี ระหว่างนั้นเขาต้องขับเคี่ยวตัวเองอย่างหนักเพื่อแสวงหาแนวทางของตัวเอง เมื่อเขาวาดภาพเหมือนให้กับนักวิจารณ์คนหนึ่ง เขาใช้เวลาถึง ๓ เดือน โดยให้นายแบบมานั่งถึง ๘๐ ครั้ง กระนั้นก็ยังไม่พอใจกับผลงาน (ซึ่งต่อมากลายเป็นงานชั้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งของเขา) แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับการวาดภาพเหมือนให้กับตัวแทนขายภาพของเขา ทุกวันนายแบบต้องมานั่งตั้งแต่ ๘ โมงเช้าจนถึง ๑๑ โมงครึ่งโดยไม่มีหยุดพัก เขาใช้เวลาวาดถึง ๑๕๐ วัน วาดแล้ววาดอีก นับครั้งไม่ถ้วน แต่สุดท้ายก็เลิกเพราะผลงานยังไม่ถูกใจ

เป็นเวลานานร่วม ๒ ทศวรรษที่ผลงานของเขาถูกปฏิเสธจากวงการ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการที่เขายังไม่พอใจผลงานของตน เขาใช้ความอุตสาหะอยู่นานจนพบแนวทางของตน ถึงตอนนั้นก็ไม่สำคัญแล้วว่าผู้คนจะให้การยอมรับผลงานของเขาหรือไม่ แน่นอนคงมีสักครั้งที่เขารู้สึกท้อแท้สับสน แต่ความรักในศิลปะทำให้เขายังบากบั่นพากเพียรต่อไป ยิ่งได้รับความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากเพื่อน ๆ ก็ยิ่งทำให้มีกำลังสร้างสรรค์ผลงานต่อไป

ความเพียรเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเพียรเป็นแค่เครื่องมือหรืออุปกรณ์เท่านั้น แท้ที่จริงความเพียรยังเป็นเป้าหมายหรือคุณค่าในตัวเอง โดยเฉพาะความเพียรในสิ่งที่ถูกต้อง ยิ่งถ้ามั่นใจว่าความเพียรนั้นสอดคล้องหรือตรงกับเป้าหมายที่พึงประสงค์ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องเป้าหมายอีกต่อไป เพียงแค่จดจ่อใส่ใจหรือทุ่มเทให้กับความเพียรนั้นก็พอแล้ว สำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พระมหาชนกเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ตอนที่ท่านลอยคออยู่กลางมหาสมุทรเนื่องจากเรือล่ม แม้จะมองไม่เห็นฝั่งแต่ท่านก็ว่ายน้ำไม่หยุด ผ่านไป ๗ วัน ๗ คืนก็ยังว่ายอยู่ จนนางมณีเมขลาซึ่งเฝ้าท้องทะเลมาเห็น จึงลงมาถามว่า “ทำไมในเมื่อไม่เห็นฝั่ง ท่านจึงยังอุตสาหะว่ายกลางมหาสมุทร ไม่มีประโยชน์อันใดเลย”

พระมหาชนกตอบว่า “ข้าพเจ้าเห็นประโยชน์ของความเพียร แม้ไม่เห็นฝั่งก็พยายามว่ายต่อไป” นางมณีเมขลาจึงแย้งว่า “ฝั่งอยู่ไกลเหลือประมาณ ความพยายามที่เปล่าประโยชน์ย่อมนำความตายมาถึงท่านก่อนถึงฝั่ง”

มาถึงตรงนี้พระมหาชนกจึงตอบว่า “ บุคคลเมื่อทำความเพียร เมื่อจะตายก็ได้ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ ไม่ถูกญาติ เทวดา มารดาและบิดาติเตียน....บุคคลเมื่อเห็นความประสงค์ของตนและทำการทั้งหลายด้วยความเพียร แม้กิจนั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตามที ผลแห่งการงานนั้นย่อมประจักษ์แก่ตน”

นางมณีเมขลาจำนนต่อเหตุผลของพระมหาชนก อดไม่ได้ที่จะสรรเสริญท่าน จากนั้นก็ประคองท่านพาไปส่งถึงฝั่ง

หากมั่นใจว่าทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ก็ควรเพียรไม่หยุด อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องหาเรื่องทำไม่หยุด อยู่เฉยไม่ได้ ความเพียรที่ถูกต้องนั้นต้องประกอบด้วยปัญญา คือการเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ทำ และรู้ว่าการกระทำนั้นพาไปสู่เป้าหมายได้ แต่ปัญญายังหมายถึงการรู้จักหยุดเมื่อมาถึงจุดที่ทำอะไรไม่ได้ รวมทั้งตระหนักว่าในบางสถานการณ์การ “ทำ” อาจก่อผลเสียมากกว่าการ “ไม่ทำ” ในสถานการณ์เช่นนั้น การอยู่นิ่งเฉยจึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่า

หญิงผู้หนึ่งเล่าว่า ขณะที่เธอกำลังว่ายน้ำที่เกาะสมุย จู่ ๆ ก็ถูกกระแสน้ำพัดออกห่างจากฝั่ง เธอจึงว่ายน้ำเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งถูกกระแสน้ำพัดไกลออกไปเรื่อย ๆ ด้วยความตกใจเธอจึงรวบรวมกำลังว่ายเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งเหนื่อย จนไม่มีแรงต้านกระแสน้ำ เพื่อนที่เห็นเหตุการณ์พยายามว่ายมาช่วยเธอ แต่พอเจอกระแสน้ำ รู้ว่าสู้ไม่ได้ จึงว่ายเข้าฝั่ง ตอนนั้นเธอรู้ว่าคงไม่รอดแล้ว ชั่วขณะนั้นเองเธอได้สติขึ้นมา จึงควบคุมจิตใจให้หายตื่นตระหนก แทนที่จะว่ายต่อ เธอตัดสินใจลอยคออยู่นิ่ง ๆ พร้อมรับความตายที่กำลังใกล้เข้ามา

หลังจากลอยคออยู่พักใหญ่ เธอสังเกตว่าคลื่นค่อย ๆ ซัดเธอเข้าฝั่ง เธอไม่รู้ว่าหลุดจากกระแสน้ำเมื่อไร แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเธอรู้ว่าตัดสินใจถูกที่อยู่นิ่ง ๆ เพราะหากยังขืนว่ายต่อไป นอกจากจะไม่ช่วยเธอแล้ว ยังทำให้เธอหมดแรงเร็วขึ้นจนอาจจมน้ำตายได้

เธอยังเล่าอีกว่าตอนที่ลอยคอนิ่ง ๆ พร้อมรับความตาย เธอรู้สึกสงบมาก ไม่มีความตื่นตระหนกหรืออาลัยอาวรณ์แต่อย่างใด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากเธอไม่ยอมรับความตาย ใจคงกระสับกระส่าย ทุรนทุราย ส่วนมือไม้ก็คงไม่อยู่เฉย ต้องดิ้นรนทำอะไรสักอย่าง ซึ่งก็มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

ความนิ่งเฉยหรือไม่ทำอะไรเลย ในบางสถานการณ์ก็มีประโยชน์กว่าการดิ้นรนขวนขวาย หากเป็นการนิ่งด้วยสติและปัญญา มิใช่เพราะท้อแท้ เกียจคร้าน หรือเพราะตื่นตระหนก ใช่หรือไม่ว่าบางครั้งเราอดไม่ได้ที่ต้องทำอะไรสักอย่างเพราะตกใจ ตื่นกลัว หรือขาดสติ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

การอยู่นิ่งเฉยบางครั้งจึงยากกว่าการไม่ยอมอยู่นิ่ง ยิ่งในยามที่ต้องเผชิญเหตุร้าย การอยู่นิ่งเฉยอาจทำให้พ้นอันตรายได้ การรู้ว่าเมื่อไรควรอยู่นิ่งเฉยจึงเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของชีวิต ในหนังสือเรื่องชวนม่วนชื่น พระอาจารย์พรหมเล่าถึงนายทหารชาวอังกฤษผู้หนึ่งซึ่งนำกองร้อยออกลาดตระเวนในป่าพม่าสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่กำลังหยุดพัก มีทหารมารายงานว่าพบกองทหารญี่ปุ่นหลายกองร้อยอยู่ในบริเวณนั้นและกำลังโอบล้อมอยู่ หลายคนคาดว่านายทหารผู้นั้นจะต้องออกคำสั่งให้ต่อสู้เพื่อตีฝ่าวงล้อมออกไป อย่างน้อยก็คงมีใครบางคนรอดตาย หรือถึงตายกันหมด ก็ยังได้ปลิดชีวิตข้าศึกให้ตายตามกันไปด้วย

ตรงกันข้าม นายทหารกลับสั่งให้ลูกน้องอยู่เฉย ๆ นั่งลง แล้วชงชาดื่ม ทหารเกือบทั้งหมดประหลาดใจในคำสั่ง แต่ก็ต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หลายคนดื่มไปกระสับกระส่ายไป แต่ก่อนที่จะดื่มชาเสร็จ หน่วยลาดตระเวนก็มารายงานว่าข้าศึกได้เดินผ่านไปแล้ว ได้ฟังเช่นนั้นนายทหารก็สั่งให้ทุกคนรีบเก็บสัมภาระอย่างเงียบ ๆ แล้วเคลื่อนย้ายโดยเร็ว

นายทหารรู้ดีว่าในสถานการณ์เช่นนั้น ไม่มีอะไรดีกว่าการอยู่นิ่งและพร้อมรับมือกับเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น ในระหว่างที่รออีกฝ่ายเข้ามาปะทะ ไม่มีอะไรดีกว่าการดื่มชาให้สบายอารมณ์ อย่างน้อยก็ยังดีกว่าการจมอยู่ในความตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว

ความพากเพียรไม่ยอมวางมือแม้ประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า กับการอยู่นิ่งเฉย แม้มีอันตรายมาประชิดตัว หาใช่ขั้วตรงข้ามกันไม่ หากเป็นสิ่งที่หนุนเสริมกัน และต่างต้องอาศัยสติและปัญญาเป็นพื้นฐาน พากเพียรแต่ขาดปัญญาย่อมทำให้หลงทางและห่างไกลจากเป้าหมายที่ต้องการ การมีสติทำให้ไม่พะวงกับเป้าหมาย สามารถทุ่มเทจิตใจให้กับสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่ ในทำนองเดียวกัน ปัญญาก็ทำให้รู้ว่าเมื่อไรจึงควรนิ่งเฉย ส่วนสติก็ทำให้ใจสงบนิ่งไม่หวั่นไหวต่ออันตรายที่ใกล้เข้ามา ชีวิตไม่อาจเจริญงอกงามได้หากขาดอันใดอันหนึ่ง จะว่าไปแล้วหากทำเต็มที่ พยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว ขณะที่รอผลปรากฏออกมา ไม่มีอะไรดีกว่าการสงบนิ่ง เพราะใจที่ปลอดโปร่ง ไร้กังวล ย่อมดีกว่าใจที่กระสับกระส่าย ในเมื่อวิตกกังวลไปก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น มีแต่ทุกข์เปล่า ๆ แล้วจะกังวลไปทำไม

ใช่หรือไม่ว่า“ถ้าปัญหาแก้ได้ จะวิตกกังวลไปทำไม” ในยามนั้นสิ่งที่ควรทำคือลงมือแก้ไขอย่างเต็มที่ พากเพียรไม่หยุดหย่อนจนกว่าจะแก้ได้ในที่สุด “ แต่ถ้าปัญหานั้นแก้ไม่ได้ มีประโยชน์อะไรที่จะวิตกกังวล” ไม่ดีกว่าหรือหากจะทำใจสงบนิ่งและยอมรับความจริง เคล็ดลับแห่งการสร้างดุลยภาพระหว่างความเพียรกับการอยู่นิ่งมีอยู่แล้วในภาษิตธิเบตดังกล่าว

www.visalo.org



Create Date : 22 มีนาคม 2555
Last Update : 22 มีนาคม 2555 16:33:49 น.
Counter : 572 Pageviews.

1 comments
  
ถ้าปัญหานั้นแก้ไม่ได้ มีประโยชน์อะไรที่จะวิตกกังวล


ชอบประโยคนี้
โดย: ฝนโปรย วันที่: 22 มีนาคม 2555 เวลา:19:20:45 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Namkhiang-Nitcha
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]