วันเวลาที่ผ่านไปของแต่ละชีวิต ที่ลิขิตด้วยตนเอง

ผลของกรรม



ผลของกรรม

จูฬกัมมวิภังคสูตร (๑๔/๕๗๙) พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลของกรรมดีกรรมชั่ว ๗ คู่ ดังนี้

๑.ผลการฆ่าสัตว์ ตายไปจะเข้าถึงอบาย หากไม่เข้าถึงอบาย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุสั้น ผลการไม่ฆ่าสัตว์ ตายไปจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุยืน

๒.ผลการเบียดเบียนสัตว์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคมาก ผลการไม่เบียดเบียนสัตว์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคน้อย

๓.ผลการเป็นคนมักโกรธ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณทราม ผลการเป็นคนไม่มักโกรธ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณงาม

๔.ผลการริษยาในลาภสักการะของคนอื่น ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์ต่ำ ผลการไม่ริษยาในลาภสักการะของคนอื่น ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์สูง

๕.ผลการไม่ให้ทาน ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากจน ผลการให้ทาน ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ร่ำรวย

๖.ผลของความกระด้างเย่อหยิ่ง ไม่ไหว้คนที่ควรไหว้ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลต่ำ ผลของความไม่กระด้างเย่อหยิ่งไหว้คนที่ควรไหว้ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลสูง

๗.ผลการไม่เข้าไปหาผู้รู้ ไม่สนใจถามเรื่องบาป บุญ ดี ชั่ว ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็โง่เขลา ผลการเข้าไปหาผู้รู้ สนใจถามเรื่องบาปบุญ ดี ชั่ว ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีปัญญาดี

ทักขินาวิภุงคสูตร (๑๔/๗๑๑) พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลการให้ทานว่า


๑.ให้ทานในสัตว์เดรัจฉานได้ผลร้อยเท่า

๒.ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีลได้ผลพันเท่า

๓.ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีลได้ผลแสนเท่า

๔.ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนักในกามได้ผลแสนโกฏิเท่า

๕.ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้งได้ผลนับประมาณไม่ได้

๖.ถ้าให้ทานในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลยิ่งไม่อาจนับประมาณได้เลย

สัปปุริสทานสูตร (๒๒/๑๔๘) พระพุทธเจ้าตรัสถึงทาน ๕ ประการ

๑.ทานที่ให้ด้วยศรัทธา ทำให้ร่ำรวยและมีรูปงาม

๒.ทานที่ให้โดยเคารพ ทำให้ร่ำรวยและมีบุตร ภรรยา บริวาร ที่เชื่อฟัง

๓.ทานให้โดยกาลอันควร ทำให้ร่ำรวยตั้งแต่ปฐมวัย

๔.ทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้ร่ำรวยและพอใจใช้ของดีๆ

๕.ทานที่ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ทำให้ร่ำรวยและทรัพย์นั้นปลอดภัยจากไฟ น้ำ หรือการแย่งชิงของผู้อื่น

ทานสูตร (๒๓/๔๙) พระพุทธเจ้าตรัสถึงกานให้ทาน ๗ อย่าง

๑.การให้ทานโดยคิดว่า ตายไปจักได้เสวยผลทานนั้น เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา

๒.การให้ทานโดยคิดว่า ทานเป็นการดี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

๓.การให้ทานโดยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้ เราไม่ควรทำเสียประเพณี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นยามา

๔.การให้ทาโดยคิดว่า เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทาก่สมณะผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

๕.การให้ทานโดยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤษีครั้งก่อน เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี

๖.การให้ทานโดยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใสเกิดความปลื้มใจสุขใจ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี

๗.การให้เพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในพรหมโลก (ชั้นสุทธาวาส) ภายหลังย่อมปรินิพพานมนภพนั้นเอง (อรรถกถาอธิบายว่า เขาไม่อาจไปเกิดในพรหมโลกด้วยทาน แต่ด้วยจิตอันประดับด้วยทานนั้น เขาทำฌานและอริยมรรคให้บังเกิด ย่อมเกิดในพรหมโลกด้วยฌาน

อรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ กล่าวถึงทาน ๔ ประการคือ

๑.ให้ทานด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อใได้โภคสมบัตร ไม่ได้บริวารสมบัติ

๒.ชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน ย่อมได้บริวารสมบัติ ไม่ได้โภคสมบัติ

๓.ไม่ให้ด้วยตน ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ

๔.ให้ด้วยตนเอง ทั้งชักชวนผู้อื่น ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ

อรรถกถากล่าวว่า ทานที่มีผลมากประกอบด้วยองค์ ๓ คือ

๑.ผู้รับมีศีลมีคุณธรรม

๒.ของที่ให้ได้มาอย่างสุจริต มีประโยชน์และสมควรแก่ผู้รับ

๓.มีเจตนาบริสุทธิ์ มีจิตใจที่ยินดี แจ่มใส เบิกบาน ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และเมื่อให้แล้ว

อรรถกถากล่าวว่า ผลแห่งบาปจะมากหรือน้อยขึ้นกับองค์ ๓ คือ

๑.ถ้า คน สัตว์ หรือสิ่งของที่ล่วงละเมิด มีความดี มีประโยชน์ หรือมูลค่ามาก บาปก็มาก ถ้าความดี ประโยชน์หรือมูลค่าน้อย บาปก็น้อย

๒.ถ้าความพยายามมากก็บาปมาก ถ้าความพยายามน้อยก็บาปน้อย

๓.ถ้าเหตุจูงใจคือราคะโทสะโมหะมากก็บาปมาก ถ้าราคะโทสะโมหะน้อยก็บาปน้อย




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 26 กรกฎาคม 2553 15:44:04 น.
Counter : 1206 Pageviews.  

กรรมลิขิค(๓) กรรมชั่วและกรรมดี

กรรมชั่วและกรรมดี

การวินิจฉัยว่า สิ่งใดเป็นกรรมดี สิ่งใดเป็นกรรมชั่ว สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

๑.การกระทำที่มีเหตุมาจากกุศลมูลคือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ ถ้ามีเหตุมาจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ

๒.การกระทำที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนใครๆ มีสุขเป็นผลไม่ทำให้ร้อนใจภายหลัง การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ ถ้าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนหรือผู้อื่น มีทุกข์เป็นผล หรือทำให้ร้อนใจภายหลัง การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ

๓.การกระทำที่ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ ถ้าทำให้กุศลธรรมเสื่อมไป อกุศลธรรมเจริญขึ้น การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ

การกระทำความดีที่สมบูรณ์แบบนั้น ต้องทำให้ครบวงจร คือ ดีทั้งเหตุ ดีทั้งผล และทุกคนที่มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องต่างได้รับผลดี เช่น ในการปล่อยสัตว์ ผู้ปล่อยก็ได้บุญ คือ รู้สึกดีใจชื่นใจที่ตนได้ทำความดี สัตว์ที่ถูกปล่อยก็ดีใจที่มีชีวิตรอดพ้นจากความตาย หรือพ้นจากการจองจำ

การกระทำบางอย่าง เช่น หลับในเวลาเรียน แม้จะไม่ใช่กรรมชั่วแต่ก็ไม่เป็นสิ่งที่สมควร ดังนั้นนอกจากพิจารณาเหตุและผลดังกล่าวแล้ว ก่อนจะทำอะไรลงไป ควรพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้

๑.กฎหมาย การทำผิดกฎหมายย่อมไม่สมควร เช่น การจอดรถในที่ห้ามจอด

๒.ศีล การกระทำบางอย่าง เช่น การฆ่าสัตว์โดยมีอาชญาบัตรถูกต้อง แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดศีล จึงไม่ควรทำ สำหรับคฤหัสถ์ควรรักษาศีลห้าเป็นอย่างน้อย

๓.ฐานะ การกระทำใดถ้าไม่เหมาะกับเพศ วัย ความรู้ กำลัง ยศ ตระกูล หรือ ฐานะในสังคมของตน การกระทำนั้นไม่สมควร เช่น เป็นชายแต่แต่งกายเหมือนหญิง มีรายได้น้อยแต่ชอบใช้ของแพง

๔.คำตำหนิ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ติตนเองด้วยสิ่งใด ไม่ควรทำสิ่งนั้น ดังนั้น การกระทำใด ถ้าตนเองตำหนิ หรือ ผู้รู้ (จักผิดชอบชั่วดี) ตำหนิ การกระทำนั้นไม่สมควร คำตำหนิของผู้รู้เปรียบเหมือนลายแทงขุมทรัพย์ ผู้นำมาพิจารณาโดยแยบคายจะได้รับประโยชน์คือ รู้ข้อบกพร่องในตัว แล้วก้ไขเสีย

๕.กาลเวลา การกระทำที่ไม่เหมาะสมกับกาลเวลาแบ่งได้ ๔ ลักษณะคือ
๕.๑ ควรจะรีบแต่กลับเฉื่อยชา เช่น การปฐมพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุหรือป่วยหนักต้องทำอย่างรีบด่วน ถ้าช้าอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
๕.๒ ควรจะช้าแต่กลับเร็ว เช่น การรีบกลืนอาหารโดยไม่เคี้ยวให้ละเอียดทำให้อาหารย่อยยาก
๕.๓ ผิดเวลา ถ้าพูดไม่ถูกกาลเวลา เช่น การพูดกับคนที่กำลังโกรธมักจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี การทำผิดเวลา เช่น ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว ย่อมได้ของแพง เพราะไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า
๕.๔ ผิดลำดับ คือ ควรทำก่อนแต่กลับทำทีหลัง ควรทำทีหลังกลับทำก่อน

อรรถกาถาอาวาริยชาดกกล่าวถึงคนแจวเรือจ้างข้ามฟาก เขาส่งผู้โดยสารข้ามแม่น้ำคงคาก่อนแล้วค่อยทวงค่าจ้างภายหลัง การทำผิดลำดับทำให้เขาต้องทะเลาะกับผู้โดยสารที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง เขาต้องใช้วิธีด่าและทุบตีผู้โดยสาร จึงจะได้ค่าจ้าง ถ้าเขาใช้นโยบาย จ่ายก่อน จรทีหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้อง เขาจะเรียกร้องค่าจ้างได้มากตามต้องการ เพราะผู้โดยสารที่อยากจะข้ามฟาก แม้เกินราคาคาค่าจ้างก็ให้ได้

๖. สถานที่ การกระทำที่ไม่เหมาะกับสถานที่มี ๒ ลักษณะ คือ
๖.๑ ขัดกับประเพณีอันดีงาม เช่น การแต่งกายด้วยสีฉูดฉาดไปในงานศพ คนไทยเราไม่นิยมทำกัน ท่านจึงสอนว่าเข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
๖.๒ ขัดกับสภาพแวดล้อม เช่น การสวมเสื้อผ้าสีดำหรือสีที่มืดทึบในขณะที่อากาศร้อนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะสีดำจะดูดความร้อนได้ดีทำให้ร่างกายร้อนมาก เมื่อกลางปี ๒๕๓๘ ในสหรัฐอเมริกา อากาศร้อนจัดมาก มีผู้เสียชีวิตเกือบพันคนเพราะปรับตัวให้เข้ากับอากาศที่ร้อนจัดไม่ได้

อนึ่งการอยู่ในถิ่นที่มีมลพิษมากห่างไกลจากที่ทำงานไกลจากวัดมีแหล่งอบายมุขมาก เป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะอันตรายแก่สุขภาพและไม่สะดวกในการประกอบอาชีพและการปฎิบัติธรรม

๗. ความพอดี การกระทำที่ไม่พอดี คือ ทำยังไม่ถึงดีหรือทำเลยดี ทำให้ผลที่ออกมาไม่ดี เช่น การหุงข้าวนานจนเลยความพอดีย่อมได้ข้าวไหม้ ถ้าหุงยังไม่ถึงจุดที่พอดี ก็เลิกหุงเสียก่อน ข้าวก็สุกๆดิบๆ

กรรมชั่วมีมากในที่นี้จะกล่าวถึง ทุจริต ๓ชนิดรวม๑๐อย่างคือ
๑. กายทุจริต ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
๒. วจีทุจริต ได้แก่ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ
๓. มโนทุจริต ได้แก่ อยากได้ของเขาในทางไม่ชอบ ปองร้ายเขา มีความเห็นผิด (เช่น ทานไม่มีผล กรรมดีกรรมชั่วไม่มีผล นรกสวรรค์ไม่มี พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ)
เมื่อแบ่งย่อยออกไปอีก คือ ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ พอใจในการฆ่าสัตว์ กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์...กล่าวสรรเสริญการเห็นผิด รวม ๔๐ เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๔๐
กรรมชั่วย่อมนำไปสู่คุกตะรางหรือนรก ควรเว้นเสีย และควรเว้นอบายมุขซึ่งเป็นเหตุให้ฉิบหาย เช่น น้ำเมา การพนัน คนชั่ว ความเกียจคร้าน เป็นต้น
กรรมดีมีมาก เช่น กุศลกรรมบถ ๔๐ (การละเว้นอกุศลกรรมบถ ๔๐)
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ กรรมดีหรือบุญที่เกิดจาการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การออ่นน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ การขวนขวายในกิจที่ชอบ การให้ส่วนบุญ การอนุโมทนาส้วนบุญ การฟังธรรม การแสดงธรรม การทำความเห็ให้ตรง
มงคล ๓๘ คือเหตุแห่งความเจริญ เช่น ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต ไม่ประมาท สันโดษ อดทน เป็นต้น
กรรมดีเป็นสิ่งที่ควรกระทำเพราะนำความสุขมาให้ทั้งในชาตินี้ และชาติหน้า








 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 10 กรกฎาคม 2553 14:51:43 น.
Counter : 1197 Pageviews.  

กรรมลิขิต

กรรมลิขิต(๑)

กัลยาณการี กัลยาณัง ปาปการี จะ ปาปกัง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คัดลอกจากหนังสือ กรรมลิขิต โดย ธัมมะวัฑโฒ ภิกขุ

กรรมหมายถึงการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาเมื่อจงใจแล้วก็ย่อมทำกรรมทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ เรียกว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ตามลำดับ กรรมจึงเป็นคำกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า กรรมหมายถึงบาปหรือเคราะห์ เป็นการเข้าใจไปในทางร้ายแต่อย่างเดียว เช่น คนที่เกิดมาจนหรือพิการ ก็พูดว่าคนมีกรรม
พุทธศาสนาสอนว่า ความเป็นอยู่หรือชะตาชีวิตของคนเรานั้นไม่ขึ้นกับเวลาตกฟาก ไม่ขึ้นกับอำนาจดวงดาว ไม่ขึ้นกับอำนาจพรหมลิขิต แต่ขึ้นอยู่กับกรรม กรรมต่างหากเป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตหรืออนาคตของคนเรา ทุกคนต่างลิขิตโชคดีโชคร้าย ลิขิตความเจริญความเสื่อมให้แก่ชีวิตด้วยกรรมของตนเอง กล่าวคือ ถ้าอยากได้ดีมีความสุขความเจริญ ก็ต้องทำแต่กรรมดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าทำกรรมชั่ว ชีวิตก็จะมีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน เป็นไปตามพระบาลีที่ว่า"กัลยาณการี กัลยาณัง ปาปการี จะ ปาปกัง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว"
คนที่เชื่อมั่นในหลัก "กรรมลิขิต" ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" ย่อมทำแต่ความดีหลีกหนีความชั่ว รู้จักพึ่งตนเอง ขยันทำกิจการ ไม่เกียจคร้าน ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่สร้างวิมานในอากาศ ประสงค์สิ่งใดก็ลงมือทำ เพื่อให้เป็นจริงตามปราถนา เมื่อมีอุปสรรคเกิดขึ้นก็ไม่ย่อท้อ พยายามหาทางแก้ไขและต่อสู้จนประสบความสำเร็จ คนประเภทนี้แม้จะเกิดมายากจน เพราะอำนาจของกรรมชั่วที่ทำไว้ในอดีตก็มักจะก่อร่างสร้างตัวจนฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ด้วยอำนาจกรรมดีที่ทำในปัจจุบัน ไม่มัวแต่เพ้อฝันอยากได้ดีลอยๆ โดยไม่ลงมือทำ ถ้าความอยากได้ดีลอยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร จะเป็นเหตุให้สำเร็จความปราถนาแล้ว ใครเล่าในโลกนี้จะยากจน หรือพลาดจากสิ่งที่หว้ง
กรรมลิขิต(๒)นิยาม ๕

ตามหลักของพุทธศาสนา นิยามหรือกฏธรรมชาติ มี ๕ อย่างคือ
๑.พืชนิยาม กฏแห่งพืช ธรรมดาของพืช เช่น ปลูกถั่วได้ถั่ว (ไม่ใช่งา) ออ้ยมีรสหวาน ดอกทานตะวันหันหน้าไปทางดวงอาทิตย์
๒.อุตุนิยาม กฏแห่งฤดู ธรรมดาของฤดู เช่นฝนตก แดดออก ลมพัด ลมไม่พัด น้ำขึ้น น้ำลง ดอกบัวกลางวันแย้ม กลางคืนหุบ ดอกแก้วต่างต้นบานพร้อมกัน
๓.กรรมนิยาม กฏแห่งกรรม ว่าด้วยการกระทำของมนุษย์ คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
๔.จิตนิยาม กฏแห่งจิต ธรรมชาติของจิต เช่น เกิดดับตลอดเวลารับอารมณ์ทีละอย่าง
๕.ธรรมนิยาม กฏแห่งธรรมะ คือ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา การที่สิ่งมีชีวิตต้องวนเวียนเกิดแก่เจ็บตาย ยากจะหลุดพ้นได้ ก็เป็นไปตามธรรมนิยามนี้เอง

เนื่องจากนิยามมี ๕ (แต่นิยามอื่นล้วนสรุปลงในธรรมนิยาม)ปรากฏการณ์ต่างๆ จึงเกิดจากกฏธรรมชาติหลายอย่างรวมกัน ดังนั้นความเข้าใจที่ว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนขึ้นกับธรรมนิยาม จึงเป็นความเข้าใจที่ผิด อย่างไรก็ตาม กรรมนิยามเป็นนิยามที่สำคัญมากสำหรับมนุษย์เพราะเกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะเลือกทำกรรมตามความพอใจ แล้วกรรมนั้นจะเป็นผู้ลิขิตโชคชะตาหรืออนาคตของมนุษย์ ส่วนนิยามอื่นๆเป็นเรื่องของธรรมชาติ เช่น กลางวัน กลางคืน ฤดูหนาว ฤดูร้อน เกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ มนุษย์จะห้ามปรามหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มนุษย์จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ เช่น ประดิษฐ์หลอดไฟเพื่อให้แสงสว่างในเวลากลางคืน ประดิษฐ์เครื่องปรับอากาศเพื่อผ่อนคลายความหนาวร้อน สุขทุกข์ของมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับกรรมนิยามเป็นสำคัญ












 

Create Date : 30 มิถุนายน 2553    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2553 14:43:41 น.
Counter : 1221 Pageviews.  

พระโอวาทของท่านอรหันต์จี้กง

ปีใหม่แล้ว ขอเอาพระโอวาทของท่านอรหันต์จี้กง แทนคำอวยพร ให้กับชาวบล๊อกทุกท่าน ขอให้มีความสุข ความเจริญ ไม่เจ็บไม่ไข้และร่ำรวย ตลอดไปนะครับ

อ่านแล้วเก็บรักษา บุญรักษาเนืองนอง
รู้แล้วบอกกันทั่ว บุญกุศลเรืองรอง


๑.ชีวิตย่อมเป็นไปตามวิถีแห่งกรรมที่ลิขิต (ละชั่วทำดี) วอนขออะไร

๒.วันนี้ไม่รู้เหตุการณ์ในวันพรุ่งนี้ กลุ้มเรื่องอะไร

๓.ไม่เคารพพ่อแม่แต่เคารพพระพุทธองค์ เคารพทำไม

๔.พี่น้องตือผู้ที่เกิดตามกันมา ทะเลาะกันทำไม

๕.ลูกหลานทุกคนล้วนมีบุญตามลิขิต ห่วงใยทำไม

๖.ชีวิตย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ ร้อนใจทำไม

๗.ชีวิตใช่จะพบเห็นรอยยิ้มกันได้ง่าย ทุกข์ใจทำไม

๘.ผ้าขาดปะแล้วกันหนาวได้ อวดโก้ทำไม

๙.อาหารผ่านลิ้นแล้วกลายเป็นอะไร อร่อยไปใย

๑๐.ตายแล้วบาทเดียวก็เอาไปไม่ได้ ขี้เหนียวทำไม

๑๑.ที่ดินคือสิ่งที่สืบทอดแก่คนรุ่นหลัง โกงกันทำไม

๑๒.โอกาสจะได้ กลายเป็นเสีย โลภมากทำไม

๑๓.สิ่งศักดิสิทธิ์อยู่เหนือศรีษะเพียง ๓ ฟุต ข่มเหงกันทำไม

๑๔.ลาภยศเหมือนดอกไม้ที่บานอยู่ไม่นาน หยิ่งผยองทำไม

๑๕.ทุกคนย่อมมีลาภยศตามวาสนาที่ลิขิต อิจฉากันทำไม

๑๖.ชีวิตลำเค็ญเพราะชาติก่อนไม่บำเพ็ญ แค้นใจทำไม (บำเพ็ญไวๆ)

๑๗.นักเล่นการพนันล้วนตกต่ำ เล่นการพนันทำไม

๑๘.ครองเรือนด้วยความขยันประหยัด ดีกว่าไปขอพึ่งผู้อื่น สุรุ่ยสุร่ายทำไม

๑๙.จองเวรจองกรรมเมื่อไหร่จะจบสิ้น อาฆาตทำไม

๒๐.ชีวิตเหมือนเกมหมากรุก คิดลึกทำไม

๒๑.ฉลาดมากเกิน จึงเสียรู้ รู้มากทำไม

๒๒.พูดเท็จทอนบุญ จนบุญหมด โกหกทำไม

๒๓.ดีชั่วย่อมรู้กันทั่วในที่สุด โต้เถียงกันทำไม

๒๔.ใครจะป้องกันมิให้มีเรื่องเกิดขึ้นได้ตลอด หัวเราะเยาะกันทำไม

๒๕.ฮวงซุ้ยที่ดีอยู่ในจิต ไม่ใช่อยู่ที่ภูเขา แสวงหาทำไม

๒๖.ข่มเหงผู้อื่นคือทุกข์ รู้ให้อภัยคือบุญ ถามโหรเรื่องอะไร

๒๗.ทุกสิ่งจบสิ้นด้วยความตาย วุ่นวายทำไม


**********************




 

Create Date : 02 มกราคม 2551    
Last Update : 2 มกราคม 2551 3:13:39 น.
Counter : 548 Pageviews.  

ข้อคิดจากธรรมะ

๑๕ นิยามชีวิต

๑. การชนะใจตนเอง เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ๒. ลาภใดก็ไม่เท่า ความไม่มีโรค ๓. สุขภาพดี เป็นยอดปราถนา ๔. ของขวัญอันล้ำค่า คือการให้อภัย ๕. สิ่งที่ภูมิใจ คือความวิริยะอุตสาหะ ๖. ความหายนะ คือการแพ้ตัวเอง ๗. ศัตรูที่น่ากลัวเกรง คือตัวเราเอง ๘. ความอิจฉาริษยา ทำให้อับเฉาเดือดร้อน ๙. ติดก่อนทำ นำความซึ่งถูกต้อง ๑๐. มองโลกในแง่ร้าย มิวายเป็นทุกข์ ๑๑. สุขหรือทุกข์ เกิดมาจากใจ ๑๒. สุขใดๆก็เปรียบไม่ได้ เท่าสุขใจ ๑๓. เพ็ชรที่ใส ยังแพ้ที่ใจบริสุทธิ์ ๑๔. สุดผุดผ่องและเบิกบาน จากการให้ทาน ๑๕. พบนิพพาน เมื่อพ้นทุกข์

ถ้าท่านทำตัวแข่งกับสังคม ความล่มจมกำลังจะตามมา ถ้าท่านทำงานเห็นแก่หน้า ท่านจะพบกับปัญหาเรื่อยไป ถ้าท่านทำตัวเห็นแก่ได้ ท่านอย่าหวังน้ำใจจากเพื่อนฝูง ถ้าท่านกลัวจนเกินไป ท่านจะทำอะไรไม่ได้ ถ้าท่านกล้าจนเกินไป ท่านจะพบกับความเดือดร้อน ถ้าท่านขาดความพอดี ท่านจะเป็นหนี้ตลอดกาล ถ้าท่านหวังแต่ความสนุก ท่านจะพบกับความทุกข์มหันต์ ถ้าท่านขาดความยั้งคิด ชีวิตทั้งชีวิตจะหมดความหมาย ถ้าท่านทำใจให้สงบ ท่านจะพบกับความสุขและเยือกเย็น

ความเชื่อทำให้ประสบความสำเร็จ

ความเชื่อ ทำให้เกิดจินตนาการของความคิดที่ดีๆ จงเชื่อว่ามีสิ่งดีๆจะเกิดกับชีวิตของตนในอนาคตอันใกล้นี้ จะทำให้ความคิดของตนสดชื่นแจ่มใสขึ้น ถ้าวันนี้ไม่ดี ต้องเชื่อว่า พรุ่งนี้จะดีขึ้น ถ้าวันนี้เป็นหนี้เขา จงเชื่อว่า อนาคตจะเป็นหนี้น้อยลง ความเชื่อไม่ใช่ความจริง แต่อาจเป็นจริงได้ ถ้านำมาใช้ให้ถูกทาง ทำไมต้องไปคิดว่าวันนี้ไม่ดี และวันพรุ่งนี้ต้องไม่ดีตามไปด้วย เราน่าจะคิดว่า พรุ่งนี้น่าจะดีขึ้นกว่าวันนี้ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ จะทำให้มีกำลังใจ มีชีวิตอยู่ต่อสู้ อดทนมากยิ่งขึ้น ความเชื่อ บวก ความสุข บวก ความหวัง จะ เป็นยาบำรุงกำลังให้จิตใจเราให้สดชื่น แจ่มใสขึ้นทุกวัน



การต่อสู้กับความทุกข์


เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น จงนึกว่ามีเหตุ เหตุแห่งความทุกข์อยู่ที่ตัวเราเอง ไม่ใช่ผู้อื่น สังคมภายนอกจะเป็นวัตถุหรือบุคคลก็ตาม มิใช่ตัวการสำคัญ อยู่ที่ตัวเราเองโดยแท้
จงหาเหตุของความทุกข์ในตนของตนเอง ในการค้นหานั้นต้องทำใจให้สงบ ด้วยการเข้าสวดมนต์ภาวนาเพื่อความสงบ
การสวดมนต์ภาวนาในพระพุทธศาสนานั้น มิใช่ออ้นวอนให้ใครๆมาช่วยตนเอง แต่ต้องการความสงบใจเท่านั้น เมื่อสงบใจได้แล้ว จงยกเอาปัญหาความทุกข์ขึ้นมาพิจารณาให้แตกหัก ด้วยความสุขุมรอบคอบ จนเห็นชัดว่า อะไรเป็นเหตุของความทุกข์นั้น
เมื่อพบแล้วจงแข็งใจตัดเหตุทิ้งเสีย อย่าทำตนเป็นคนออ่นแอ ยอมแพ้แก่ธรรมชาติฝ่ายต่ำเป็นอันขาด
ถ้าท่านปฏิบัติได้อย่างนี้ ท่านมีหวังพ้นทุกข์ได้
ค้คมาจากข้อเขียนของ
พระราชวินยาภรณ์ จ.เชียงใหม่


คำกลอน

อย่าริรักรักลองลองรักเล่น หรือรักเห็นเป็นของลองรักหรือ
รักมิใช่รักลองลองรักคือ รักนั้นหรือคือรักร้ายคล้ายรักลม
น้ำใจชายนี้หนอช่างร้ายนัก ปากว่ารักแต่น้ำจิตคิดเหนหวน
โลกหนอโลกโศกเพราะรักแล้วจักครวญ แม้นประมวลรักของชายก็คล้ายลม
อันนารีนี้พึงเทียบเปรียบบุบผา เจริญตาน่ารักถนอนสม
คราจะร้างหมางต้นต้องหล่นตรม ก็เพราะลมพาพัดสัมผัสโรย

กินเพื่ออยู่ไว้ต่อสู้เพื่อเริ่มต้น ยังเกิดผลตามมามีค่าหลาย
อยู่เพื่อกินจนหมดสิ้นน่าละอาย ถึงตัวตายก็ไม่วายคนนินทา

ได้แต่แก่แต่ไม่โตไร้ประโยชน์ ยังไปโทษผู้อื่นไม่สงสาร
ควรดูตนว่าทำดีมีหรือยัง มิเช่นนั้นคงได้แต่แก่ไม่โต

อันความดีทุกคนล้วนอยากได้ รู้หรือไม่ได้ดีมาจากไหน
มาจากกายวาจาหรือจากใจ ถ้าอยากได้ใคร่ฝึกไว้จึงได้ดี
จิตไม่ฝึกได้แต่นึกนั้นอย่าหมาย ว่าทำได้ทั้งกายใจได้สุขศรี
ใช่ข้าวของจะซื้อขายได้ทันที ต้องจิตนี้ฝึกทำประจำเอย

อันคนดีมิใช่ดีเพราะมีทรัพย์ หรือเพราะนับพงค์พันธุ์ชันษา
แต่คนดีดีด้วยการงานนานา และวิชาศีลธรรมนำให้ดี

จะคบคนตรวจตราให้ประจักษ์ ว่าเขารักเป็นมิตรคิดอุปถัมภ์
ชักฃวนเราสู่วิถีในทางธรรม หรือชักนำทางชั่วมามัวเมา
ถ้าเห็นว่ารักจริงประจักษ์จิต ก็ควรคิดคบค้าอย่ามัวเขลา
แม้ต่ำต้อยวาสนาไปกว่าเรา ก็ช่างเขาคบได้กับไม่มี

จนก็กินตามจนทนเอาไว้ สะกดใจรู้อดรสเปรี้ยวหวาน
มีก็กินตามมีพอดีจาน พึงประมาณดูตนว่าจนมี
คนร่ำรวยทำตนเป็นคนเข็ญ ที่ลำเค็ญกินจ่ายคล้ายเศรษฐี
มันผิดแบบผิดเป้าไม่เข้าที จนและมีต่างกันสถานใด

หัดขี้เกียจนั้นง่ายไม่ขยัน กินนอนนั่งไม่ทำอยู่เฉยๆ
คอยคนอื่นทำให้ได้สะเบย ไม่นึกเลยเอาเปรียบเกิดเป็นคน
ถ้าคนอื่นทำจึงถึงจะรู้ น่าอดสูดูดายไม่เหมาะสม
คิดแต่ได้เอาสบายมาใส่ตน จะเกิดผลทางร้ายทุกข์หน่ายไป
หัดทำดีต้องขยันนั้นทำยาก ต้องลำบากกายใจไปมากหลาย
ต้องอดทนต่อสู้ทั้งจิตใจ ของตนได้ใคร่หมายไปทำดี
ไม่ชนะกายใจจิตตนได้ อย่าใคร่หมายได้ดีมีสุขศรี
ไม่มีคุณมีแต่โทษซ้ำทวี ให้ใจนี้ไม่มีสุขเป็นทุกข์ไป

อันมนุษย์สุดเลิศเกิดมาสวย ควรเสริมด้วยความรู้มีความหมาย
เกิดเจ็บแก่หนีไม่พ้นทุกคนตาย สุขสบายหรือลำบากเนื่องจากกรรม

อนิจจังเพราะสังขารนั้นไม่เที่ยง ทุกข์จึงเลี่ยงหลีกหนีพ้นมิได้
อนัตตาไม่มีตนของคนใด จะถือไว้ครอบครองเป็นของตน

ชิงชังหนอนี่ชั่งชิงชังนัก ปากไม่รักชิงชักเป็นชังใหญ่
ชิงชังอยู่ทุกวันจะช้ำใจ เอาแต่ได้ใคร่ชิงชังต่อไป
ใจมนุษย์สุดคิดจะอยู่นิ่ง มาเจอชิงเจอชังนั้นสุดไหว
เราเกิดมาตัวเปล่าเอาอะไร ชิงทำไมชังอยู่กับชิงชัง

โลกทุกยุคทุกสมัยอยากได้สุข เกลียดกลัวทุกข์ท้อถอยคอยหลบหนี
ต้องการแต่เมตตาอารีย์ สามัคคีรักใคร่ไม่เบียนกัน
เห็นอกเขาอกเราเอามาเปรียบ ยึดระเบียบอย่าเบียดเบียนเราท่าน
ไม่อิจฉาริษยาตีฆ่ากัน โลกจะสันต์ติสุขทุกเวลา
จะอยู่เย็นเป็นสุขทุกประเทศ ไม่มีเหตุรบพุ่งมุ่งเข่นฆ่า
พลเมืองเรืองรองมีเมตตา ทุกชาติพาผาสุขทุกกาลเทอญ

อยากได้ดีไม่ทำดีนั้นมีมาก ได้แต่อยากไม่หัดทำน่าขำหนอ
อยากได้ดีต้องทำดีไม่รีรอ ดีแต่ขอรอแต่ดีไม่มีเอย
****************************






 

Create Date : 20 ตุลาคม 2550    
Last Update : 20 ตุลาคม 2550 15:57:37 น.
Counter : 865 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

ลมตะเภา
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับทุกท่านทุกเพศทุกวัย






Google



website analytics and web stats guide
powered by website analytics guide.

Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ลมตะเภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.