ห้องเรียนชุมชนใจอาสา

ห้องเรียนชุมชนที่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
 

 

การเรียนรู้ในโลกยุคดิจิตอล ทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย เพียงพิมพ์สิ่งที่ต้องการรู้ใน กูเกิ้ล ข่าวสาร บทความ รูปภาพ แผนที่ แม้แต่ตำราเล่มหนาๆ ก็สามารถเข้าไปอ่านได้ในทุกที่ทุกเวลา

แต่ถ้าต้องการเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง โดยตรงกับต้นเรื่อง แบบตัวจริงเสียงจริงแล้ว คงต้องดั้นด้นเดินทางไปให้ถึงต้นตอ เรียนรู้ทุกๆ อย่างที่ตั้งใจ และถ้าต้องการให้เข้าถึงองค์แห่งความรู้จริงๆ ก็ต้องลงมือทำด้วยตัวเอง กับเจ้าของภูมิปัญญานั้น

ห้องเรียนชุมชนกับคนใจอาสา คือความมุ่งมั่นตั้งใจที่พวกเรา “กลุ่มสูงวัยใจอาสา” กับโครงการสานต่อเพื่อพ่อของแผ่นดิน กำลังเดินหน้า เพื่อนำเอาภูมิปัญญาของจิตอาสาต้นแบบ มาถ่ายทอดให้เยาวชน ชุมชน และผู้สนใจได้รับรู้

* เพราะความรู้ไม่ได้อยู่แต่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม เหมือนแต่ก่อน

วันนี้เรามาเปิดห้องเรียนที่ “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” ของป้านา เกษตรกรคนเก่ง ที่ลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี

เป็นการเปิด “ห้องเรียนชุมชน” อย่างเป็นทางการ หลังจากได้ประชุมเครือข่าย “อาชีพชุมชนครั้งที่ 1/2559” ที่บ้านธรรมชาติบำบัด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา  https://www.jairsa.com/articles/42312439/อาชีพชุมชนกับคนสูงวัย.html

 

ห้องเรียนชุมชนวันนี้ เป็นการต่อยอดของสมาชิกกลุ่มสานต่อเพื่อพ่อ มาทำกิจกรรมร่วมกัน นำของดีของชุมชน และภูมิปัญญาต้นแบบของแต่ละคน มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และหาจุดกลางประสานประโยชน์ร่วมกันในเครือข่าย

เป็นการออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยม มาสู่ท้องทุ่งนาและบรรยากาศของธรรมชาติ ที่เปิดโล่ง เย็นสบายจากสายลมที่พัดเอาอ็อกซิเจนบริสุทธิ์จากต้นไม้รอบๆ ห้องเรียน

 

วันนี้มีป้านา เป็นหัวหน้าชั้น สอนการนำเห็ดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างงานในชุมชน สำหรับสมาชิกในกลุ่มและผู้สูงอายุในชุมชน

ของว่างทานเล่นระหว่างการแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นหมี่กรอบโบราณของป้าต้อย และ ครูนิ ส่วนเครื่องดื่ม เป็นน้ำมะตูม และ ชาดาวอินคาของป้าหม่วย

หลักสูตรของห้องเรียนชุมชน เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ของแต่ละชุมชน ที่ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ว่างงาน ก่อนจะสรุปร่วมเป็นแนวคิด ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันให้เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานในนามของ “ผลิตภัณฑ์ใจอาสา” ในอนาคต

มื้อกลางวันเป็นเมนูเด็ดของบ้านเห็ดพอเพียง ซึ่งจัดเตรียมเป็นพิเศษ นอกจาก ผัดไทยเห็ดรสเด็ดแล้ว มีอาหารพื้นบ้านจากผลิตภัณฑ์เห็ด คือ น้ำพริกเห็ดเผา เห็ดบอง ต้มเห็ดผักรวมมิตร และปลานิลทอดกรอบใหม่ๆ หอมเรียกน้ำย่อยจนต้องหยุดพักทานอาหารเที่ยง  เป็นมื้อที่เจริญอาหารสุดๆ ของทุกคน ตบท้ายด้วยมะพูดลอยแก้ว ผลไม้พื้นบ้านที่หาทานยาก จากบ้านสวนพอเพียง วิจิตรโอฬาร

สรุปบทเรียนในช่วงกลางวัน ได้นำข้อเสนอการทำหมี่กรอบสูตรโบราณ ของป้าต้อย บ้านกระแชง และครูนิ กรรณิการ์ เป็นการนำขนมทานเล่นพื้นบ้าน มานำเสนอสองรูปแบบ คือของเก่าสูตรดั่งเดิม กับของคนรุ่นใหม่ ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ แต่ปรับปรุงรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย ข้อสรุปที่ได้จากห้องเรียนชุมชนครั้งนี้ จะเป็นก้าวแรกของผลิตภัณฑ์กลุ่มในนาม “สูงวัยใจอาสา”

หลังจบบทเรียน ทั้งหมดได้สรุปข้อเสนอแนะ ปรับปรุงแก้ไข แล้วมีความเห็นร่วมกันว่าน่าจะผลิตออกจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับสมาชิกผู้สูงอายุ ในชุมชนบ้านกระแชง และเห็นด้วยกับการนำสินค้าชุมชนของแต่ละกลุ่มเข้าร่วมเป็นเครือข่าย รวมทั้งทิศทางการดำเนินงานของโครงการสานต่อเพื่อพ่อของแผ่นดิน และได้ถ่ายรูปร่วมกัน ประสานใจเป็นหนึ่ง ว่าเรา “ก้าวไปด้วยกัน…ไปได้ไกล”

บทความที่เกี่ยวข้อง :
 https://www.jairsa.com/articles/42311184/ห้องเรียนชุมชน.html

พิสุทธิ์ สมประสงค์
ประธานชมรมสูงวัยใจอาสา
20 พฤศจิกายน 2559




Create Date : 03 กรกฎาคม 2560
Last Update : 5 กรกฎาคม 2562 9:44:34 น.
Counter : 589 Pageviews.

1 comment
อาชีพชุมชน 60

น้ำพริกตำมือกลุ่มแม่บ้านคลองขวางบน : 
 

การพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงวัย และกลุ่มแม่บ้าน โดยนำเอาทรัพยากร ธรรมชาติในพื้นที่  และแรงงานในชุมชนมาทำกิจกรรมสร้างรายได้ เป็นการตอบโจทย์ ที่ตรงประเด็นของกลุ่มแม่บ้านคลองขวางบน  หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ของอำเภอลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี

วันนี้กลุ่มสูงวัยใจอาสา มาเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้เห็ดพอเพียงของป้านา เพื่อมาดูการปรับปรุงสถานที่รอบศูนย์ฯ ครั้งใหญ่ ให้พร้อมต้อนรับการเข้ามาศึกษาดูงานของกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน และเยาวชน ในช่วง มีนา - เมษา นี้

ศูนย์เรียนรู้เห็ดพอเพียงของป้านา เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบปี 2558 ของจังหวัดปทุมธานี ป้านาเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสม ใช้พื้นที่ดั่งเดิม ประมาณ 10 ไร่ ทำนา 6 ไร่ ที่เหลือทำบ่อเลี้ยงปลา ทำสวนไม้ผล และยืนต้น เช่น  ขนุน มะพร้าว กล้วย สะเดา ขี้เหล็ก และไผ่ตง

นอกจากนี้ยังเลี้ยงไก่ ทำแปลงผักสวนครัวรอบๆ พื้นที่ ไว้กินเอง เช่น มะเขือ พริก  มะนาว บวบ แคบ้าน อัญชัน และวอเตอร์เครส ฯล ซึ่งนำมาใช้ทำผัดไทย และประกอบอาหาร รับรองแขกที่มาเยือน

ฟาร์มเห็ดพอเพียง เป็นความสำเร็จที่ป้านาภูมิใจ และตั้งใจให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้ของชุมชน ทำให้มีผู้สนใจ นักศึกษา และสื่อโทรทัศน์เข้ามาขอถ่ายทำ นำไปเผยแพร่ตลอดทั้งปี ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ในชุมชน

น้ำพริกตำมือ เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่เกษตรกรคนเก่ง อยากนำเสนอผ่าน “ใจอาสา” ให้เป็นตัวอย่างของกิจกรรมกลุ่มแม่บ้านฯ ที่บอกว่า ในเมื่อทุกบ้านต้องซื้อน้ำพริกแกงมาประกอบอาหารกันเป็นประจำอยู่แล้ว ทำไมทางกลุ่มฯ ไม่มาช่วยกันตำไว้ใช้เอง และส่งขายสร้างรายได้เข้ากลุ่มฯ

สมาชิกกลุ่มฯ ทั้งหมดเป็นคนในพื้นที่ เมื่อมีกิจกรรมจะมารวมตัวกัน ช่วยกันทำด้วยความสามัคคี หลายคนบอกชอบเพราะ ได้พบปะ พูดคุย ได้ออกกำลัง ได้ทำอาหารกินด้วยกัน บางครั้งก็ทำไปร้องเพลงไป สนุกสนาน ไม่เครียด

เสน่ห์ของน้ำพริกตำมือ คือความลงตัวของส่วนผสมที่สด ใหม่ คัดเอาแต่ของดีที่นำมาทำ “คนอื่นจะได้กินของดี เหมือนที่เราทำกินเอง”

ผู้สนใจที่แวะเข้ามาเยี่ยมศูนย์เห็ดพอเพียงฯ สามารถซื้อเป็นของฝากกลับบ้าน หรืออยากเป็นตัวแทนส่งเสริมกลุ่มแม่บ้านคลองขวางบน สามารถติดตอได้ที่ ป้านา โทร. 061 590 7638 ครับ

สินค้าชุมชน ทำดิน กินเห็ด มีทั้งเห็ดสด เห็ดแปรรูป และที่ขึ้นชื่่อ ผัดไทยเห็ด

บทความที่เกี่ยวข้อง :  
https://www.jairsa.com/articles/42312439/อาชีพชุมชนกับคนสูงวัย.html

 

พิสุทธิ์ สมประสงค์
ชมรมสูงวัยใจอาสา 
21 กุมภาพันธ์ 2560

 




Create Date : 03 กรกฎาคม 2560
Last Update : 5 กรกฎาคม 2562 11:27:01 น.
Counter : 619 Pageviews.

1 comment
กศน. การศึกษาในชุมชน

การจัดการขยะในชุมชน
 

ความเท่าเทียบด้านการศึกษา เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล แต่โอกาสทางการศึกษาของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความจำเป็นในช่วงนั้นๆ ดังนั้น กศน. จึงเป็นทางเลือกของคนที่ขาดโอกาส แต่ต้องการเติมเต็มในส่วนที่ขาด เพื่อชีวิตที่ดีกว่าภายใต้กฎระเบียบของสังคม

วันนี้ยินดีอย่างมาก ที่ได้รับเชิญมาให้ความรู้น้องๆ ที่ กศน. ตำบลบ้านกระแชง อำเภอเมืองปทุมธานี ในโครงการขยะชุมชน ร่วมกับครูพิสุทธิ์ สมประสงค์ ประธานชมรมสูงวัยใจอาสา และเว็บมาสเตอร์ www.jairsa.com

ความจริงแล้ว กศน. กับชมรมผู้สูงอายุใกล้ชิดกันมาก เพราะเราจะร่วมกิจกรรมงานประเพณีกันตลอด บ่อยครั้งที่ กศน. มาขอใช้สถานที่ ในการเรียนรู้ด้านงานอาชีพ หรือมาให้ความรู้ใหม่ๆ กับผู้สูงอายุในชุมชน เช่น เรื่องอินเตอร์เน็ตและการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือการรณรงค์ให้ความรู้ และมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ประชาธิปไตยชุมชน เป็นต้น

ความสัมพันธ์ของการศึกษากับชุมชนแยกกันไม่ได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะแต่ละท่านผ่านประสบการณ์ และมีความรอบรู้ที่ถือว่าเป็นภูมิปัญญา สามารถนำมาถ่ายทอด เป็นประสบการณ์ตรง ที่หาไม่ได้ในโรงเรียน

ขณะเดียวกันหนุ่มสาวเหล่านี้ ก็เป็นแรงงานและสีสันของกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน เป็นการแลกเปลี่ยน และรับ-ส่ง ซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะสม โดยมีครู กศน. เป็นตัวกลางประสานประโยชน์

ในอนาคตน้องๆ เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างงาน สร้างอาชีพร่วมกับกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มอาชีพแม่บ้านในชุมชน

 

ครูบรรจง ทองย่น
ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลบ้านกระแชง
20 มิถุนายน 2560

 




Create Date : 03 กรกฎาคม 2560
Last Update : 5 กรกฎาคม 2562 11:27:31 น.
Counter : 466 Pageviews.

1 comment
ดอกไม้จันทร์จากฟางข้าว
 

ปิดโครงอนุรักษ์พันธุกรรมพืชจากข้าวปทุมธานี อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่ราชมงคลธัญบุรี นำมาถ่ายทอดให้กลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน และผู้สนใจในบริเวณใกล้เคียง เพื่อเสริมสร้างรายได้และการสร้างงานในชุมชน

วันที9-10 มีนาคม มีการประเมินผลของโครงการโดยคณาจารย์จากสาขาต่างๆ เพื่อผลักดันให้การถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมด ได้ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน สร้างกลุ่มงาน และวิทยากรในพื้นที่ เป็นการสานต่อให้เกิดความยั่งยืน

กลุ่มแม่บ้านแสงตะวันจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 มี คุณยาย ชมบุญ บัวหลวง เป็นแกนนำ และคุณบุญนภา บัวหลวง เป็นผู้ประสานงานกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน สินค้าของกลุ่มฯ ส่วนใหญ่ เป็นการนำวัตถุดิบในชุมชนมาสร้างรายได้ เช่น การทำข้าวหลาม การทำสาหร่ายทอด ทำกล้วยฉาบ ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลและความต้องการของตลาด

นางสาวอรพินท์ สุขยศ หัวหน้าสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดปทุมธานี พื้นที่ส่วนใหญ่ทำนา ฟางข้าวที่เหลือส่วนหนึ่งจะถูกเผ่าทิ้งไป ไม่ได้มีมูลค่า ทั้งสร้างมลภาวะทางอากาศ การนำฟางข้าวกลับมาใช้ประโยชน์ ในลักษณะของกระดาษจากฟางข้าว ที่มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน เป็นการนำวัตถุดิบที่มีในชุมชนมาใช้ ตามศาสตร์ของพระราชา ความพอเพียงที่ยั่งยืน

วิจิตร สนหอม อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์  ให้รายละเอียดว่า ด้วยลวดลายเฉพาะตัวของกระดาษจากฟางข้าว นำมาตัดเป็นกลีบดอก ประกอบแต่ละกลีบเป็นดอก ลักษณะคล้ายดอกกุหลาบ นำมาจัดเป็นช่อ ผูกด้วยริบบิ้นสีดำให้สวยงาม เป็นการเพิ่มมูลค่า เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค

จิตอาสา “เจมส์” รัฐพงศ์ เรือสุวรรณ นักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ พูดถึงกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ว่าส่วนใหญ่ที่มาอบรมในโครงการนี้ เป็นกลุ่มช่วงวัยผู้สูงอายุ แต่ทุกคนตั้งใจเรียนการทำดอกไม้จันทน์ประดิษฐ์จากฟางข้าวมาก ตอนแรกๆ ทุกคนจะดูตื่นเต้น ไม่กล้าที่จะหยิบจับ แต่เมื่อสอนผ่านไปประมาณชั่วโมง ทุกคนกล้าที่จะลงมือปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งกลุ่มแม่บ้านที่นี่เรียนรู้เร็ว ระหว่างที่สอนยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ ที่เป็นประโยชน์ และบอกว่า “ถ้ามีโอกาสจะเข้าร่วมโครงการบริการวิชาการกับอาจารย์อีก เพราะว่าได้นำความรู้ไปถ่ายทอดต่อ เป็นการฝึกประสบการณ์ และความรู้ที่นำไปถ่ายทอดยังสร้างอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้านอีกด้วย”

จากการสอบถามจากผู้เข้าร่วมโครงการ ทุกคนสนใจ และอยากนำไปต่อยอด เพราะทำได้ง่าย  “สามารถนำดอกไม้จันทน์จากฟางข้าวกลับไปทำที่บ้านในเวลาว่าง หลังจากการทำอาชีพหลัก” คุณบุญนภา บอกตอนนี้ได้หาตลาดรองรับดอกไม้จันทน์จากฟางข้าวให้กับกลุ่มแม่บ้านแล้ว สำหรับผู้สนใจกระดาษจากฟางข้าว และดอกไม้จันทน์จากฟางข้าว สามารถติดต่อมาได้ เป็นการช่วยหารายได้เสริมให้กับกลุ่มแม่บ้านอีกทางหนึ่ง

แม่บ้านใดสนใจ การบริการวิชาการสังคมของทางสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ติดต่อสอบถามได้ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ โทร.0-2549-3160
ผู้สนใจกระดาษจากฟางข้าว และดอกไม้จันทน์จากฟางข้าว สามารถติดต่อไปยังกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ได้ที่ 10/1 หมู่ 1, ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 12160  โทร. 0-2741-7773, 0-2549-4994  หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณบุญนภา โทร. 081-4513705

ศูนย์ข่าวใจอาสา รายงาน

ขอขอบคุณ :  https://www.pr.rmutt.ac.th/news/7724



Create Date : 03 กรกฎาคม 2560
Last Update : 5 กรกฎาคม 2562 11:27:55 น.
Counter : 733 Pageviews.

1 comment
สูงวัยวาไรตี้ : ครูนิ : มงกุฎดอกไม้สด
 

กิจกรรมดีดี ของคนสูงวัยใจอาสา ยุคไทยแลนด์ 4.0

สัมผัสกับพลังบวกภายใน กับหัวใจที่มุ่งมั่นของกลุ่มคนเล็กๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไปในแต่ละชุมชน ที่นำเรื่องราวดีดี มาบอกเล่าให้สังคมรับรู้ และช่วยกันออกมาประสาน ประโยชน์ เพื่อสร้างสังคมใหม่ “สูงวัยวาไรตี้”

ความอบอุ่นของผู้สูงอายุคือได้มาทำกิจกรรมร่วมกันทำอาหารกลางวันทานกันเองได้รับความบันเทิงเป็นอีกสังคมหนึ่ง ที่ครูบรรจง ทองย่น ข้าราชการเกษียณ วัย 65 ปี ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลบ้านกระแชง เข้าใจความรู้สึก ความเงียบเหงา และว้าเหว่ ของกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน จึงใช้บ้านธรรมชาติบำบัด เป็นศูนย์กลางเพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน พบปะพูดคุย ร่วมออกกำลังกาย และร้องเพลง อย่างเช่นในวันนี้

รายการเก๋าไม่แก่ได้เข้ามาบันทึกรายการ เพื่อนำเอาบรรยากาศน่ารักๆ ของกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ให้สมาชิกในกลุ่มสูงวัยใจอาสา ของครูนิ กรรณิกา พุ่มคำ จากตำบลบ้านกลาง และครูเปียก สายพิณ วสุวัต จากตำบลบางคูวัด ในช่วงเก๋าพารวย ทางช่อง 5

วันนี้ครูนิ อาสามาสอนการทำมงกุฎดอกไม้สด จากวัสดุธรรมชาติรอบๆ ชุมชน โดยไม่ต้องซื้อ เช่น ดอกดาวเรือง ดอกบานชื่น ดอกเข็ม ดอกพวงชมพู ดอกเบญจมาศ และดอกกุหลาบ

ขั้นตอนการทำง่าย ผู้สูงอายุสามารถทำเองได้ หรือทำร่วมกับสมาชิกในครอบครัว ในโอกาสต่างๆ เช่น งานรับปริญญา ของลูกหลาน พี่น้อง และญาติๆ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ ที่ถูกบันทึกไว้ กลับมาดูภายหลัง ก็ยังจดจำได้ว่ามงกุฎนี้ แม่กับยายเป็นคนทำให้

การจัดดอกไม้สด เป็นการเพิ่มความสดชื่น สวยงาม และทำได้ในทุกๆ โอกาส เช่น งานประจำปี งานสงกรานต์ แต่งชุดไทยสวยๆ มีเครื่องประดับบนศีรษะ ที่ทำจากดอกไม้สดจากธรรมชาติ ซึ่งมีสีสันสวยงาม มีกลิ่นหอม มีความสดชื่นในตัวอยู่แล้ว นำมาประดิษฐ์ตกแต่งเพิ่มเติม ก็จะยิ่งมีคุณค่าคู่กับวัฒนธรรมไทย

อุปกรณ์  มีลวดขนาดเล็ก ผักตบชวา (ตากแดด 1 วัน) ดอกไม้ที่นำมาตกแต่ง กรรไกร ด้ายเย็บผ้า

วิธีทำ นำลวดมาดัดโค้งให้พอดีกับศีรษะ ใช้ผักตบชวามาหุ้มลวดให้มิด ใช้ด้ายพันให้แน่น นำดอกไม้สดมาทาบกันโครง ทีละดอก จัดวางให้ดูสวยงาม แล้วใช้ด้ายพันให้แน่น จนรอบวงกลม

ดอกไม้บ้านเรามีมากมายหลายชนิด ลองเลือกเอามาสลับ ปรับเปลี่ยน ให้เหมาะสมกับวาระโอกาส โดยเฉพาะดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม จะทำให้ผู้สวมมงกุฎ ดูสดใส และสวยงามประทับใจ

ลองทำดูนะคะ ติดขัด อยากได้ความรู้อะไรเพิ่มเติม แอ็ดไลน์ ถามไถ่มาได้ ยินดีให้คำแนะนำ หรือจะเชิญไปเป็นวิทยากร ด้านงานประดิษฐ์ แกะสลักผัก ผลไม้ สบู่ และการจัดซุ้มดอกไม้ ยินดีเสมอค่ะ

ติดตามชม การประดิษฐ์มงกุฎดอกไม้สด ในรายการเก๋าไม่แก่ ช่วงเก๋าพารวย ได้ทางช่อง 5 ออกอากาศจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ เวลา 16.00 ค่ะ

ชมรายการย้อนหลัง : 
https://www.youtube.com/watch?v=hxGEl0Tro8A

ครูนิ กรรณกา พุ่มคำ
ชมรมสูงวัยใจอาสา
11 กุมภาพันธ์ 2560

 




Create Date : 02 กรกฎาคม 2560
Last Update : 23 กันยายน 2565 7:05:17 น.
Counter : 1556 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  

idea4thai
Location :
ปทุมธานี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]



ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเยาวชนและชุมชมไทย

All Blog