Group Blog
 
All Blogs
 
ความในใจเกี่ยวกับการทดสอบสายสัญญาณทางเครื่องเสียง

ผมคิดว่ามีเพื่อนๆหลายคน หรือบางท่านที่อาจจะมีคำถามอยู่ในใจ ว่าในระบบเครื่องเสียงนั้น สายนำสัญญาณประเภทดิจิตอลควรมีผลต่อเสียงมากน้อยแค่ไหน???

ยกตัวอย่าง ปัญหาทางดิจิตอล ถ้าคุณเคยโหลดบิท จะเคยเจอไฟล์ที่โหลดมาแล้วเปิดไม่ได้ แต่พอโหลดซ้ำก็สามารถใช้ได้ปกติใช่ไหมครับ เพราะถึงแม้ว่ามันจะมี Parity Check ก็จริง สมมติต้นทางค่า Sum เป็น Even แต่ถ้าเกิดมันผิดพร้อมๆกันสองบิทขึ้นมา ปลายทางก็จะมีค่า Sum เป็น Even เหมือนกัน ซึ่งก็หมายความว่าอุปกรณ์รับสัญญาณมองว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องนั่นเองครับ นั่นคือความผิดพลาดทางดิจิตอลที่อุปกรณ์เองก็ยังมองไม่เห็น

ผมจะยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมเคยเจอมาคือสายแลนยาวๆ ประมาณสิบเมตร ซื้อมาแบบถูกๆ ปรากฏว่าเนทช้ามากครับ ไล่เช็คทุกที่ก็ปกติ ไล่สายดูก็ไม่ขาด แต่พอเช็ค Data Packet ที่มันวิ่งปรากฏว่ามหาศาลเลยครับ ผมจำไม่ได้ว่าดูตรงไหน แต่เคสนั้นสรุปว่ามันทวนสัญญาณซ้ำหลายรอบ ก็ยังไม่ได้ค่าที่ถูกต้อง เนทเลยช้า ถึงแม้ว่าจะได้ค่า Parity Check ที่น่าจะถูกต้องมา พอลองเปิดไฟล์ที่โหลดเสร็จแล้วดู ก็ดันเป็นไฟล์เสียซะอีก ซึ่งสาเหตุก็มาจากสายนั่นเองครับ พอเปลี่ยนสายให้สั้นลง หรือมีคุณภาพที่ดีขึ้น ก็หายเป็นปกติ

ในส่วนของสาย USB นี้ สังเกตุได้ง่ายๆก็คือเวลาฟังเพลงเสียงมันจะกระตุกนั่นแหละครับ ฟังไม่ยาก "แต่ส่วนที่ยาก"ก็คือผลทางด้านเสียงที่เปลี่ยนไปนี่แหละครับ เท่าที่ฟังในส่วนนี้ผมก็เชื่อว่ามันมีผลจริงแหละ โดยเฉพาะในรีวิวล่าสุดที่ได้ลองกับเครื่องเสียงในระดับราคาเป็นล้าน เป็นความ"รู้สึก"ที่ชัดมาก จึงกล้าเขียนไปขนาดนั้น แต่ก็พยายามหาทฤษฎีมาสนับสนุนอยู่ ผมคิดว่าเจ้าของแบรนด์สายเค้าก็คงเข้าใจล่ะครับ เพราะได้ข่าวว่าเป็นศาสตราจารย์นักฟิสิกส์เหมือนกัน แต่ที่ผมพอจะลองคิดดูด้วยสมมติฐานส่วนตัวมันน่าจะเป็นแบบนี้ครับ....

คือผมเข้าใจว่าสายพวกนี้มันมีผลกับความถี่สูงๆ แต่ตามคอมมอนเซ้นของคนเราจะคิดว่าสัญญาณดิจิตอลมีความถี่เดียวใช่มั้ยครับ

สมมติสัญญาณขึ้นมาหลายๆแบบนะครับ อย่างแรก 00110011 อย่างที่สอง 00001111 และอย่างสุดท้าย 01010101 ทั้งหมดมีจำนวนบิทเท่ากันใช่มั้ยขรั่บ แต่ถ้าวาดภาพดูจะเห็นว่าความถี่มันไม่เท่ากันแล้วล่ะ!!!

ถ้าเบสกันตามทฤษฎี คือ เสียงความถี่ต่ำ กับเสียงความถี่สูง ถ้าแปลงให้อยู่ในรูปดิจิตอลแล้วมองเป็น Time Domain อาจจะมองง่ายกว่า ว่าถ้ามองเป็นภาพรวมแล้วความถี่ของสัญญาณอนาล็อกน่าจะแปรผันกับความถี่ของสัญญาณดิจิตอลด้วยเหมือนกัน ซึ่งตรงนั้นผมเองก็ยังไม่แน่ใจ เพราะยังไม่เคยพิสูจน์ชนิดจริงจัง และอีกส่วนหนึ่ง คนมักจะมองว่าสัญญาณดิจิตอลมันมีแค่ 0 กับ 1 ซึ่งมันก็ใช่นั่นแหละครับ แต่เท่าที่เคยเรียนมาในคลาสดิจิตอลก็คืออุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์มันไม่ได้อ่านค่าจากตรงกึ่งกลางสัญญาณของ 0 กับ 1

ความจริงแล้วอุปกรณ์มันจะดูตรงจุดที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือขอบของสัญญาณ ชิปบางตัวก็เลือกที่จะอ่านจากขอบเริ่มต้น ชิปบางตัวก็อ่านจากขอบท้าย ซึ่งโดยมากแล้วถ้าอ่านจากขอบเริ่มเนี่ย จะมีปัญหามาก เพราะสัญญาณที่ไม่ใช่อุดมคติมักจะมีขอบที่ไม่คมเป็น square wave แบบเป๊ะๆ หลายครั้งที่มีลักษณะคล้ายน๊อยส์ ดังนั้นสายที่มีการป้องกันสัญญาณรบกวน หรือ มีขั้วต่อที่แน่น ก็น่าจะลดปัญหาการอ่านค่าผิดพลาดจากขอบสัญญาณได้มากขึ้นนั่นเอง

แล้วถามว่าทำไมมันมีผลต่อเสียงสูง-ต่ำ ผมคิดเล่นๆอย่างงี้ครับว่าโดยปกติเครื่องเล่นพวก DAC อย่างที่ผมลองในรีวิว เข้าใจว่ามันจะมีการ Skip สัญญาณที่ Error ส่วนหนึ่งออกไป เพราะถ้ามันไม่ Skip เครื่องเล่นมันอาจจะหยุดการทำงานไปเลยในกรณีที่มีความผิดพลาดของสัญญาณดิจิตอลเกิดขึ้น ที่นี้ ถ้าเราจัดการสื่อตัวนำสัญญาณดี สัญญาณความถี่สูงๆมันก็จะส่งไปที่ปลายทางครบ ก็เลยได้รายละเอียดที่ครบตามไปด้วย แต่ถามว่าทำไมเสียงถึงไม่เงียบหรือที่เรียกว่าสัญญาณล้มไปเลย ตรงนี้ผมคิดว่าโดยปกติพวกอุปกรณ์พวกดิจิตอลมันจะล้มก็ต่อเมื่อเป็นสถานะ Float คือระบุไม่ได้ว่าเป็น 0 หรือ 1

ที่สัญญาณไม่ล้ม ก็อาจเป็นได้ว่าเพราะมันมอง 0 เป็น 1 หรือมอง 1 เป็น 0 ในกระบวนการที่มันแปลงออกมาเป็นอนาล็อก มันก็ยังมองว่ามีข้อมูลครบให้แปลงอยู่นั่นเอง แต่แปลงมาแล้วสัญญาณอนาล็อกจะเหมือนต้นทางหรือเปล่านั้นไม่รู้ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์เองมันก็ไม่รู้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น สัญญาณต้นทาง คือ 010101010101 แต่ถ้ามันวิ่งผ่านสายที่ตอบสนองความถี่สูงไม่ได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าปลายทางสัญญาณอาจจะกลายเป็น 000111000111 อะไรประมาณนี้นั่นเอง นี่ยังไม่รวมถึงผลจาก Loss ของสัญญาณอันเนื่องมาจากระยะทางของสาย ก็ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้สัญญาณที่รับส่งระหว่างเครื่องเล่นเกิดความผิดพลาดขึ้นได้เช่นกัน หรือแม้แต่ปรากฏการณ์ Crosstalk ซึ่งเกิดจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในตัวสายแผ่ออกมารบกวนสายอีกเส้นหนึ่งที่อยู่ขนานกัน ดังนั้น ถึงแม้ว่าสาย USB จะมีการส่งสัญญาณแบบ Differential แต่ยิ่งความถี่สูงมากเท่าไร Crosstalk ก็ยิ่งเพิ่มเป็นเงาตามตัว ก็คาดว่าน่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดได้อีกเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้ผมก็แค่พยายามตั้งสมมติฐานเอาน่ะครับ พูดง่ายๆก็คือมั่วล้วนๆ ความจริงอาจจะเป็นยังไงนั้นก็ไม่รู้จริงๆ สุดท้ายนี้ก็อยากจะสรุปว่า ผมมีความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าระดับเกรดของสายมีผลต่อความกระตุก หรือ ความลื่นไหลของเสียงเพลงที่ได้แน่นอนครับ แต่ผลทางด้านเสียงในแบบที่ว่าเสียงต่ำหนักแน่น เสียงแหลมจัดจ้าน อันนี้ผมรู้สึกและเชื่อว่ามีความแตกต่าง แต่ไม่ใช่กับชุดซิสเต็มทั้งหมด (ซึ่งก็น่าจะเป็นสาเหตุให้ AB test ที่จัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์ไม่ประสบความสำเร็จนั่นเองครับ) 

นอกจากนี้ผมไม่สามารถพิสูจน์หรือวัดได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ จึงไม่ขอยืนยันแบบหนักแน่น อย่างไรก็ตามขอให้ฟังด้วยหูตัวเองเป็นหลักแล้วค่อยตัดสินใจ ซึ่งผมมักจะใส่ประโยคลักษณะนี้แฝงเข้าไปเสมอๆ หรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกครั้งที่ผมรีวิวสายครับ

ตัวอย่างการทดสอบที่น่าสนใจในเรื่องความพยายามหาความแตกต่างด้วยเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ คือครั้งหนึ่ง ผมเคยทดสอบสายลำโพงบ้านหม้อเมตรละไม่ถึงสิบบาท กับสายลำโพงคู่ละพัน การทดลองผมใช้ Frequency Gen ป้อนสัญญาณเข้าทางหนึ่ง แล้วเอาเครื่องวัดออสซิลโลสโคป และ Spectrum Analyzer มาลองวัดดูอีกด้าน หมายมั่นว่าจะต้องมองเห็นความแตกต่างจากเครื่องวัดแน่ๆ และคงจะได้ Paper ที่น่าสนใจอีกฉบับหนึ่ง

ทว่าผลการทดสอบครั้งนั้นคือไม่มีความแตกต่างในเชิงการวัดเลยครับ แต่พอลองฟังด้วยหู เสียงมันยังกะฟ้ากับเหวเลยแหละ ซึ่งผมว่ามันชัดมาก ขนาดที่ใครฟังก็น่าจะฟังออก จากการทดลองนี้ ผมเลยคิดว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ต่อต้านเรื่องพวกนี้ แล้วอ้างผลการทดสอบว่าไม่แตกต่าง อาจจะยังทดสอบไม่ครอบคลุมทุกด้าน และหลายท่านน่าจะมีไบแอสหรืออคติในเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว กอปรกับไม่ใช่ผู้ที่เล่นเครื่องเสียง ทำให้ขาดความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่ตัวเองไม่เคยประสบ จึงไม่สนใจที่จะทดสอบให้ละเอียดรอบคอบอย่างจริงๆจังๆนั่นเองครับ

จะอย่างไรก็แล้วแต่ รีวิวเป็นเพียงเครื่องมือในการแนะนำแนวทางการเล่นอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่มีใครบังคับให้คุณเชื่อ และผู้เขียนเองก็มิได้หวังจะมอมเมาให้ผู้อ่านเกิดภาระหนี้สินใดๆจากกิเลสที่เกิดขึ้น การเล่นเครื่องเสียง สุดท้ายแล้วจะต้องอยู่บนความพอเหมาะพอดี เหมาะสมกับฐานะ ไม่อย่างนั้นแล้ว เครื่องเสียงก็มิอาจจะบรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ที่ประดิษฐ์มันขึ้นมาได้ นั่นก็คือ ความสุขนนั่นเองครับ

ยังไงก็ขอให้ทุกท่านฟังเพลงอย่างมีความสุขนะครับ

 




Create Date : 17 พฤษภาคม 2555
Last Update : 17 พฤษภาคม 2555 13:46:08 น. 2 comments
Counter : 771 Pageviews.

 
อ่านแล้วงง ไม่รู้เรื่อง 5555

แวะมาทักทายค่ะ นัทหายไปนานเลยไม่ได้เข้ามาเล่นบล๊อคเท่าไหร่

คุณอาร์ตสบายดีไหมคะ?? หวังว่าคงสบายกาย สบายใจดีนะคะ

have a nice day :)


โดย: Nattylicious วันที่: 17 พฤษภาคม 2555 เวลา:9:25:42 น.  

 
สบายดีจ้ะ


โดย: highfly วันที่: 17 พฤษภาคม 2555 เวลา:13:25:53 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

highfly
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add highfly's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.