หงุดหงิดกับ The Last Samurai (rerun)
พอใช้ได้ในครึ่งแรกและห่วยครึ่งหลัง คือบทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้ และถ้าอ่านต่อไปจะมี spoiler หน่อยๆ เผอิญที่ผู้เขียนค่อนข้างจะสนใจวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศญี่ปุ่นอยู่พอสมควร จึงพอจะเห็นได้ว่าเรื่อง เดอะลาสต์ ซามูไร นั้น ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ความเป็นจริงแค่ไหน และเอาเถอะถึงแม้ว่าจะพอทำใจก่อนเข้าโรง (และระหว่างชม) ว่ามันเป็นแค่ภาพยนตร์ จะเอาอะไรให้สมจริงกันนักกันหนา แต่ก็ยังคงรู้สึกได้อยู่ดีว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ ช่างไม่ตรงกับความเป็นจริง และสื่อความหมายที่ผิดพลาดออกมามากมายเสียเหลือเกิน หลังจากที่ได้ชม preview ของภาพยนตร์ และภาพสวยๆ ในใจก็จินตนาการไปก่อนว่า คนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คงจะเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นและแนวคิดของซามูไรอย่างลึกซึ้งในระดับหนึ่ง เลยคิดไว้ว่านี่คงเป็นภาพยนตร์ที่น่าสนใจและตั้งใจไว้ว่าจะไปชมให้ได้ ช่วงแรกหนังปูพื้นถึงตัวเอกของเรื่องสองตัวคือ อัลเกรน และคัทสุโมโต้ และโชคชะตาที่นำพาสองคนนี้มาพบกันในดินแดนที่กำลังมีการปฏิรูปไปสู่ความทันสมัย อัลเกรนได้รับว่าจ้างให้มาฝึกกองทหารสมัยใหม่ของญี่ปุ่นให้รู้จักใช้อาวุธปืน และภาระกิจแรกของกองทหารสมัยใหม่คือการกำจัดกองทัพซามูไร ของคัทสุโมโต้นั่นเอง ด้วยความไม่พร้อมของกองทหารสมัยใหม่จึงเสียทีให้กับกองทัพซามูไรของคัทสุโมโต้ อัลเกรนจึงถูกจับกุมเป็นเชลย และหลังจากนั้นการเรียนรู้วิถีชีวิตที่มีความสงบเรียบง่ายและสง่างาม ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตของอัลเกรนเอง หลังจากเริ่มๆดูไป ก็รู้สึกว่าชะรอยภาพยนตร์เรื่องนี้คงจะเลียนแบบความสำเร็จของ Dances with wolf เป็นแน่แท้ แถมตัวอัลเกรนเองก็ยังมีอดีตและประวัติกับอินเดียนแดงไม่น้อย แล้วพอยิ่งชมก็ยิ่งรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้พยายามจะเปรียบเทียบวิถีชีวิตซามูไร กับวิถีชีวิตของอินเดียนแดง ยังไงชอบกล ทั้งๆที่ความจริงแล้ววัฒนธรรมทั้งสอง (แม้จะเน้นที่การมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน) มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น เรื่องการใช้ธนูและดาบกับปืน ในยุคที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวถึง ญี่ปุ่นนั้นรู้จักกับ "ปืนไฟ" มาเป็นเวลากว่า 400 ปีแล้วตั้งแต่สมัยที่ โอดะ โนบุนากะ ทำสงครามกับไดเมียว (เจ้าแคว้น) เพื่อแย่งชิงตำแหน่งโชกุน และกองทหารปืนไฟ ก็เป็นกองทหารหลักของเหล่าไดเมียวมานานแล้วเช่นกัน ==== ตัวละครคัทสุโมโต้นั้นถูกดัดแปลงมาจากต้นแบบคือ ไซโก ทาคาโมริ ผู้นำทางทหารแห่งแคว้นซัทสุมา หนึ่งในสามแคว้นใหญ่ โจชู-โทสะ-ซัทสุมา ที่เป็นแกนนำในการปฏิวัติสมัยเมย์จิ เปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองจากโชกุนตระกูลโตกุกาวา มาสู่จักรพรรดิซึ่งเคยเป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งอำนาจในสมัยโตกุกาวาเท่านั้น เมื่อการปฏิวัติประสบความสำเร็จ ไซโกจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารประจำมิคาโดะ แต่ภายหลังเขาก็ขอลาออกเนื่องจากไซโกเป็นคนเสนอให้กองทัพทำการผนวกดินแดนเกาหลี เพราะเขาเห็นว่าเกาหลีนั้นมีศักยภาพซ่อนเร้นอยู่ เพียงแต่ชาติตะวันตกยังมองไม่ออกเท่านั้นเอง แต่ข้อเสนอของเขาได้รับการปฏิเสธจากสภาไดเอ็ท เข้าใจว่าสภาคงเห็นว่ากองทัพญี่ปุ่นยุคใหม่ยังไม่พร้อม เพราะพึ่งปฏิวัติเสร็จใหม่ๆ แต่อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นก็ได้บรรลุแผนผนวกดินแดนเกาหลีในกาลต่อมา สมัยสงครามญี่ปุ่น-จีน (Nippon-Sino war) และเป็นต้นกำเนิดสงครามทางการฑูตที่ชิงไหวชิงพริบที่สุด ระหว่างจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นและราชวงศ์ชิงผู้เป็นรัฐบาลของประเทศจีนในขณะนั้น และได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ เคน-เคน-โรคุ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ญี่ปุ่นดูจะได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจแห่งเอเชียบูรพา เคียงคู่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เยอรมนีฝรั่งเศษ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา แต่ในภายหลังไซโกก็ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกทำการปฏิวัติรัฐบาลใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง ไม่มีเหตุผลชัดเจนว่าเหตุใดไซโก ผู้ที่ทุกคนเห็นว่ามีความอ่อนน้อมถ่อมตนจะกล้ากระทำการดังนั้นอีกครั้ง แต่ก็มีเรื่องเล่าว่าเป็นเพราะเหล่าผู้สนับสนุนซึ่งเป็นซามูไรยุคเก่าเริ่มเห็นว่าทหารสมัยใหม่ขาดจิตวิญญาณซามูไร จึงเสนอให้ไซโกทำการปฏิวัติ และไซโกก็ทำตามด้วยขัดลูกน้องไม่ได้ หรืออีกเหตุผลหนึ่งก็คงเป็นเพราะ คนระดับอดีตผู้บัญชาการทหารอยู่ดีๆ ก็ลาออกมาใช้ชีวิตสันโดษ ผู้ครองอำนาจในสภาไดเอ็ทคงเห็นเป็นหอกข้างแคร่ ต้องหาทางกำจัดให้ได้ไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งไซโกก็มองออกและก็ชิงทำการปฏิวัติขึ้นมาจริงๆเสียเลย ด้วยกำลังที่น้อยกว่า กองกำลังของไซโกจึงถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ในที่สุดไซโกก็ทำพิธีเซ็ปปุกุ (การฆ่าตัวตาย) ด้วยการฮาราคีรี (คว้านท้อง) และให้คนสนิทของเขาตัดศีรษะถวายเป็นบรรณาการแด่จักรพรรดิ สมเกียรติยศเยี่ยงนักรบซามูไรผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต ไซโก ทาคาโมริจึง ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งซามูไรยุคใหม่ และเป็นบุคคลร่วมสมัยผู้มีอิทธิพลกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกับรัฐบุรุษผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นท่านอื่นๆ เช่น ซากาโมโต้ เรียวม่า -- ผู้พัฒนาพาณิชย์นาวีสมัยใหม่ของญี่ปุ่น (ต้นแบบของบริษัทมิตซุยและมิทซูบิชิ) เป็นต้น ==== ด้วยประวัติที่โลดโผนของไซโก คงเป็นที่ถูกใจของทางผู้กำกับภาพยนตร์ และถอดแบบออกมาเป็น คัทสูโมโต้ในที่สุด และนิยามว่าคัทสุโมโต้ หรืออันที่จริงคือไซโกนั้นคือ The Last Samurai -- ซามูไรคนสุดท้าย ของญี่ปุ่น แต่จริงๆแล้ว ไซโก เป็น The Last Samurai จริงๆหรือ? เปล่าเลย! ภาพยนตร์เรื่องนี้มองซามูไรเป็นเสมือนอินเดียนแดงเผ่าหนึ่งและอินเดียนแดงเผ่านี้เลือกที่จะใช้ชีวิตท่ามกลางความสงบกับธรรมชาติ แทนที่จะยอมรับอารยธรรมใหม่ และในที่สุดก็ต้องสูญสลายไปท่ามกลางจังหวะก้าวเดินของอารยธรรมใหม่ นี่เป็นมุมมองเหยียดเชื้อชาติชัดๆ (เหมือน Dances with wolf หรือ last mohigan) อย่างที่ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของซามูไรและญี่ปุ่นมาแล้ว คงพอจะเห็นว่าญี่ปุ่นนั้นหาได้ปฏิเสธการปฏิวัติทางเทคโนโลยีแต่อย่างใดไม่ (ยิ่งเป็นอาวุธทางทหารดูจะยิ่งให้การตอบรับด้วยซ้ำ) เพียงแต่ปัญหาคือ ญี่ปุ่นนั้นปิดประเทศเพราะโตกุกาว่าไม่ต้องการให้ ประเทศ (อันที่จริงคือแคว้นต่างๆ) ใต้ปกครอง มีโอกาสขึ้นมาท้าทายอำนาจของตนเองได้ และโตกุกาว่าก็ทำได้สำเร็จมาเป็นเวลาเกือบ 400 ปี จนในที่สุดเรือดำของอเมริกาก็มาจ่อคอหอยบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ หรือในอีกนัยหนึ่งคือให้ลัทธิจักรวรรดินิยมเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์เสียที และนั่นก็กลายเป็นจุดสิ้นสุดของอำนาจของโตกุกาว่า พร้อมกับเป็นชนวนแห่งการปฏิวัติญี่ปุ่นไปสู่ยุคสมัยใหม่ไปพร้อมๆกัน กับการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆให้กับวีรบุรุษสมัยยุคปฏิวัติเมย์จิ และโลกนี้ในสายตาของคนญี่ปุ่นมิได้มีเพียงแค่แผ่นดินเกาะญี่ปุ่นเพียงสี่เกาะอีกต่อไป (โปรดจินตนาการว่า คนญี่ปุ่นโบราณนั้นถือว่าประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศคือโลก และแต่ละแคว้นก็คือแต่ละประเทศนั่นเอง) เรื่องนี้ทำได้ดีในการพยายามนำเสนอวิถีชีวิตที่สงบเงียบและกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยผ่านทางชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในหมู่บ้านเรือนพักที่เป็นอาคารไม้ ท่ามกลางขุนเขา หยาดฝนและละอองหิมะ หากแต่วิถีแห่งซามูไรที่แท้จริงซึ่งมีต้นแบบมาจาก "ฮางาคุเร" ซึ่งเป็นบันทึกคำสนทนาของ โจโช ยามาโมโต นั้น ยังคงมีอิทธิพลกับความคิดของคนญี่ปุ่นต่อมา แม้เมื่อหลังจากการจากไปของไซโกแล้ว ดังเราจะได้เห็นการอาศัยฮางาคุเรเป็นเครื่องปลุกระดมเด็กหนุ่มให้ขับเครื่องบินเข้าชนเรือรบข้าศึก ในฝูงบินกามิกาเซ่ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง "ความตายในแบบฉบับของโจโชนั้น ประหลาด ใสสะอาด และแจ่มจรัสเหมือนท้องฟ้าในฤดูร้อน" และแม้แต่วีรกรรม ของนักเขียนชื่อดังในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง -- ยูคิโอะ มิชิมา ซึ่งเขาได้บุกเดี่ยวเข้าไปในห้องผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น พร้อมทั้งทำฮาราคีรี (คว้านท้อง) และขอให้คนสนิท ลงดาบปลิดศีรษะเขา "ลูกผู้ชายต้องคงสีหน้าอันสดชื่นเหมือนดอกเชอรี่ไว้ จนกระทั่งนาทีสุดท้ายของชีวิต" เป็นที่แน่ชัดว่าวิถีแห่งฮางาคุเรนั้น กล่าวถึงการมีชีวิตอยู่ เพื่อเตรียมตัวตาย และทัศนคติที่ถูกต้องต่อความตาย (ซึ่งก็คือความหมายลึกซึ้งในช่วงท้ายของภาพยนตร์ซึ่งเป็นคำสนทนาสั้นๆระหว่างจักรพรรดิและอัลเกรน) น่ายินดีที่ในปัจจุบันฮางาคุเรได้รับการพัฒนาให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ลดด้านที่รุนแรงลง และหันไปเสริมสร้างความแข็งแกร่งในจิตในแทนซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของปรัชญาเซนมากขึ้น ใครก็ตามที่ยังคงฝึกศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น หรือฝึกซาเซ็น จะทราบดีว่าคำสอนอันสูงสุดคือเพื่อให้บรรลุคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ และหากเป็นดังนั้นซามูไรจะมีคนสุดท้ายได้อย่างไร หากจิตใจของเขายังเป็นฮางาคุเรอยู่ เนื่องเพราะรูปแบบภายนอกหาได้มีความสำคัญอันใดเหนือกว่าปรัชญาในจิตใจคนแม้แต่น้อย วิถีซามูไรปลอมๆที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอจึงมิได้ต่างอะไรจาก มายาแห่งความว่างเปล่าของฮอลลีวู้ดที่พยายามจะนำเสนอภาพว่าอารยธรรมใหม่ (ของตะวันตก) นั้นเป็นสิ่งที่ต้องสยบยอม หากปฏิเสธย่อมต้องพบกับสัจธรรมแห่งความสูญสลาย พร้อมละเลยความจริงแท้ที่ว่า แม้อเมริกันจะเป็นผู้เปิดประตู หากแต่ญี่ปุ่นนั้นก็เรียนรู้ได้เท่าทัน พร้อมทั้งเป็นผู้ก้าวเดินออกมาสู่หนทางแห่งมหาอำนาจเพราะทุกชนชาติย่อมมีวิถีทางของตนเอง ยกเว้นเสียแต่ว่า เราจะมองมันเสมือนว่านี่เป็นเพียงฮีโร่สไตล์ฮอลลีวู้ดอีกเรื่องเท่านั้น!!! ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม :อนุสาวรีย์ของไซโก ทาคาโมริ ประวัติและวีรกรรมของเขาสมัยปฏิวัติเมย์จิ พูดถึงภาพยนตร์ว่ามีที่มาอย่างไร หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน ถนนนักเขียน [19 พค 47]
Create Date : 16 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2548 12:28:09 น.
2 comments
Counter : 1188 Pageviews.
โดย: a_somjai วันที่: 26 พฤศจิกายน 2548 เวลา:4:21:05 น.
โดย: ฮันโซ วันที่: 27 พฤศจิกายน 2548 เวลา:11:48:28 น.
สหายสิกขา Lite version
สหายสิกขาตั้งคำถามกับการเป็นอยู่ของสรรพสิ่งตรงหน้า พร้อมกันนั้นก็เปิดรับแนวคิดของคำตอบในมุมมองที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน สหายสิกขาจะมีความยินดียิ่ง หากคุณได้นำความรู้ที่ได้จุดประกายนี้ไปตีความต่อให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น เพราะยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งถกเถียงยิ่งสนทนาก็สามารถแตกประเด็นไปอีกได้มาก สหายสิกขาต้องการกระตุ้นให้คนอ่านได้คิด และสัมผัสถึงขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดแห่งจินตนาการ พร้อมกันนั้นสหายสิกขา ก็พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อนสนทนา เพื่อจับมือกันเรียนรู้ไปในโลกกว้าง ...ด้วยกัน
Free counter
ชอบเรื่องนี้ "เพราะนางเอกสวยจริง ๆ นางงามในฝันของเรา"
ก็อย่างที่ว่า ดูแบบว่า ศิลปะ แบบฮอลลี่วูด ไม่ต้องคิดมาก
ถ้าจะเอาญี่ปุ่นแบบวิชาการหน่อย ก็ต้อง "โชกุน"
ไม่ลอง ฟื้น หนังสือ "โชกุน" มาอ่าน วิจารณ์กันดูบ้าง คงประเทืองปัญญาดี