ความเข้าใจเรื่อง "กฐิน" (ภาคจบ)

ความเข้าใจเรื่อง "กฐิน"  (ภาคจบ)


 


 


ถ้าต้องการทอดกฐิน ต้องทำอย่างไร


 


          พุทธศาสนิกชนผู้ต้องการจะทำบุญถวายผ้ากฐินในวัดต่างๆ ขอแนะนำข้อปฏิบัติดังนี้


          ๑. สอบถามพระภิกษุในวัด หรือสอบถามกับกรรมการวัด ว่า ที่วัดมีเจ้าภาพมาจองกฐินหรือยัง ถ้ายังไม่มี  ก็บอกเพื่อขอจองที่จะเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน


          ๒. บอกบุญ แจ้งข่าวการทอดกฐินให้ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ให้ได้รับทราบ ถ้าหากมีศรัทธาก็ร่วมกันอนุโมทนา หรือร่วมบุญร่วมกุศล


          ๓. ติดป้ายประกาศไว้ที่หน้าวัด หรือในบริเวณวัด เพื่อประกาศว่าวัดแห่งนี้มีเจ้าภาพจะทอดกฐินแล้ว


          ๔. เตรียมการทอดกฐิน หาซื้อไตรจีวรไว้ให้พร้อม ส่วนบริวารกฐิน เช่นเงินทำบุญเข้าวัด หรืออัฏฐบริขาร บาตร จีวรผืนอื่นๆ ตาลปัตร เครื่องโยธา ไทยธรรม ของใช้ต่างๆ ก็แล้วแต่ศรัทธาที่จะเตรียมถวาย



         
๕. สำหรับ ผู้ที่ต้องการทอดกฐินพระราชทาน คือกฐินที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้หน่วยงานราชการ หรือเอกชนผู้มีศรัทธา นำไปทอดถวายที่ วัดหลวง  (เว้นวัดที่ทรงมีพระราชศรัทธา เสด็จไปทอดถวายด้วยพระองค์เอง หรือทรงมอบให้ผู้แทนพระองค์นำไปทอดถวาย) ซึ่งเอกชนผู้มีศรัทธาจะทำบุญทอดกฐินพระราชทาน สามารถทำได้สองวิธี


          ๑) แจ้งหรือสอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ว่าต้องการขอรับผ้ากฐินพระราชทานเพื่อทอดถวายที่วัดหลวง แล้วสอบถามว่าวัดไหนยังไม่มีผู้ขอรับพระราชทานบ้าง เมื่อทราบแล้ว ก็ติดต่อขอรับพระราชทานผ้ากฐิน เพื่อไปทอดในวัดนั้น


          ๒) ติดต่อเจ้าอาวาสวัดหลวงนั้น โดยตรง ทางวัดก็จะติดต่อไปยังหน่วยงานรับผิดชอบ ให้ดำเนินการขอพระราชทานให้ (ในกรณีที่วัดนั้นยังไม่มีผู้ใดมาขอพระราชทาน)


          ในการติดต่อเพื่อขอรับพระราชทานผ้ากฐิน จะมีรายละเอียดว่าจะทอดวันไหน เวลาเท่าไหร่ ทางหน่วยงานราชการที่รับเรื่อง ก็จะทำการขอพระราชทานให้ และจะติดต่อให้ไปรับผ้ากฐินพระราชทานในวันที่กำหนดต่อไป


          สำหรับกฐินพระราชทานนั้น จะมีผ้ากฐินพระราชทานเป็นหลัก และบริวารกฐินอยู่แล้วส่วนหนึ่ง ผู้ขอพระราชทานผ้ากฐิน สามารถจัดบริวารกฐินเพิ่มเติมเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลได้ตามกำลังศรัทธา


 


ขั้นตอนการเตรียมทอดกฐิน



         
๑. เมื่อจองกฐินกับทางวัดแล้ว ก็บอกต่อเจ้าอาวาส ว่าจะทอดกฐินในวันนั้นวันนี้ เวลานั้นเวลานี้


          ๒. จัดเตรียมผ้ากฐิน รวมถึงบริวารกฐินที่มีศรัทธาจะถวาย ให้เรียบร้อย


          ๓. นัดหมายกับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หรือบุคคลที่รู้จักรักใคร่ หรือเคารพนับถือ ว่าจะทอดกฐินที่วัดนั้น ในวันนั้น เวลานั้น ให้มาร่วมกันอนุโมทนา


          ๔. ก่อนวันที่จะมีพิธีทอดกฐินหนึ่งวัน ตามประเพณีมักจะมีพิธีทำบุญ เจริญพระพุทธมนต์ฉลององค์กฐิน ก็ให้เตรียมผ้ากฐิน และบริวารกฐินบางส่วน นำมาตั้งไว้ที่ศาลาการเปรียญ หรือที่ใดที่หนึ่งในวัด แล้วอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ฉลององค์กฐิน



ขั้นตอนในพิธีทำบุญทอดกฐิน



         
๑. จัดเตรียมผ้ากฐิน และบริวารกฐินที่จะมีการถวายให้พร้อม แล้วนำไปทำพิธีทอดถวายผ้ากฐิน ตามประเพณีจะจัดเป็นขบวนแห่  มีวงดนตรีจำพวกแตรวง เถิดเทิง กลองยาว เป็นต้นบ้าง


          ๒. การทอดกฐิน จะทอดถวายที่โรงอุโบสถ หรือที่ไหนในวัดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทอดในอุโบสถเพียงที่เดียว แต่ถ้าทอดถวายแล้ว พระภิกษุสงฆ์ในวัดจะทำการกรานกฐิน ต้องไปทำพิธีกรานกฐินในเขตสีมา คือโรงอุโบสถเท่านั้น  


          เนื่องจากสมัยนี้นิยมกันว่า เมื่อทำพิธีทอดถวายผ้ากฐินแล้ว พระสงฆ์ท่านจะทำพิธีกรานกฐินในเวลานั้นเลย จึงมักไปทอดถวายกันที่โรงอุโบสถ เมื่อไปถึงแล้ว ก็แห่ขบวนกฐินเวียนรอบโบสถ์สามรอบ


          ๓. เมื่อเวียนครบสามรอบแล้ว นำผ้ากฐินแล้วบริวารกฐินเป็นต้น จัดเตรียมไว้ในอุโบสถ โดยให้ตัวผ้ากฐิน และผ้าบริวารกฐิน อยู่ด้านหน้าสุด เพื่อสะดวกแก่การถวาย


          ๔. เมื่อพระภิกษุสงฆ์ในวัดมาประชุมพร้อมกันที่อุโบสถแล้ว เจ้าภาพ หรือผู้นำทำพิธี (อาจเป็นมัคทายกประจำวัดนั้น) กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย , อาราธนาศีล  พระสงฆ์ให้ศีลแล้ว หลังจากนั้น กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ดังนี้



          อิมัง  ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง,  สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน  ภันเต,  สังโฆ, อิมัง,  สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ,  ปะฏิคคะเหตวา  จะ, อิมินา  ทุสเสนะ,  กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง,  หิตายะ, สุขายะ,


          (คำแปล)   ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย  ขอน้อมถวาย  ผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้  แก่พระสงฆ์  ของพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน  กับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย  ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐิน  ด้วยผ้านี้  เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย  สิ้นกาลนาน เทอญ.



          ๕. หลังจากนั้น พระคู่สวด ในที่ประชุมสงฆ์ กล่าวคำอปโลกน์กฐินแล้ว  เจ้าภาพประเคนผ้าไตรจีวร ให้พระคู่สวด พระคู่สวดพินทุ อธิษฐานผ้าแล้ว ออกไปห่มผ้า เสร็จแล้วกลับมา สวดญัตติทุติยะกรรมวาจาให้ผ้ากฐิน เมื่อตกลงมอบผ้ากฐินให้กับพระรูปใดแล้ว(ตามที่สวดญัตตินั้น) พระคู่สวดก็จะประเคนผ้ากฐินแด่พระผู้ครองกฐิน


          ๖. พระผู้ครองกฐินทำพินทุผ้า ห่มผ้าเรียบร้อยแล้ว อธิษฐานผ้ากฐิน (คือ ทำการ กรานกฐิน) ประกาศการกรานกฐินเป็นธรรม (ประกาศว่ากรานกฐินเสร็จสมบูรณ์ ถูกต้องแล้ว) ที่ประชุมสงฆ์อนุโมทนา   


          ๗. เจ้าภาพถวายบริวารกฐิน และจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ เสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา ให้พร  เจ้าภาพกรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธีการทอดกฐิน  



ขั้นตอนในพิธีทอดกฐินนี้ เป็นแบบสามัญทั่วไป  ในบางถิ่นบางแห่ง อาจไม่ได้มีขั้นตอนแบบนี้ มีแตกต่างกันไปบ้าง



ข้อควรทราบในการทำบุญทอดกฐินก็คือ ไม่ว่าจะมีการฉลองประการใดก็ตาม ขอแนะนำและเตือนว่า  ไม่ควรมีเหล้า เบียร์ ของมึนเมา และการมหรสพผิดศีลธรรม โดยประการทั้งปวง  เพราะในเมื่อบอกว่ามาทำบุุญ ก็ไม่ควรเปลี่ยนงานบุญให้เป็นงานบาป    อย่างที่หลวงพ่อ พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ เคยเตือนมาบ่อยครั้งว่า "กฐินเมา มันเป็นกฐินบาป"




ความหมายของธงกฐินแต่ละผืน



         
ตามประเพณีการทอดกฐินนั้น ในขบวนแห่และในกองกฐิน จะมีธงกฐิน ไปในขบวนแห่ด้วย บางท่านก็ให้ความหมายของธงกฐินแตกต่างกันไป จึงขอเสนอความหมายอีกแบบหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงและรู้จักกันมากนัก


          เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า เมื่อเสร็จการทอดกฐินแล้ว พระบวชใหม่ในพรรษา ๓ เดือน มักจะลาสิกขากัน เพราะเป็นการบวชตามประเพณี เมื่อครบ ๓เดือน  ก็เลยจะลาสิกขากัน ธงกฐินที่นำมาประดับในพิธีนั้น นอกจากจะมีความหมายอื่นตามตำนานเล่าขานแล้ว นักปราชญ์ท่านยังให้ความหมายของธงแต่ละผืน เป็นการเตือนพระบวชใหม่ หรือพระภิกษุสงฆ์ ถึงภัยของพระภิกษุผู้บวชใหม่ อีกด้วย 


          เรื่องภัยของพระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะผู้บวชใหม่นั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้ใน ทุติยะภะยะสูตร (อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อที่ ๑๒๒) มีเนื้อหาสรุปว่า


          ภัยของผู้ลงไปในทะเลหรือมหาสมุทร มีอยู่ ๔ ประการ คือ ภัยจากคลื่น , ภัยจากจระเข้ , ภัยจากน้ำวน และภัยจากปลาร้าย ส่วนภัยของพระภิกษุผู้บวชใหม่ก็เหมือนกัน มีภัยอยู่ ๔ ประการ คือ


          ๑.ภัยจากคลื่น คือการไม่สามารถทนต่อการแนะนำพร่ำสอนจากพระเถระ หรือเพื่อนสพรหมจารีได้ จนต้องลาสิกขา


          ๒.ภัยจากจระเข้ คือ การเห็นแก่ปากแก่ท้อง พอเจอกฏวินัยที่ห้ามดื่ม ห้ามฉัน ห้ามกิน สิ่งนั้นสิ่งนี้ ในเวลานั้นเวลานี้ ก็ทนไม่ได้ ต้องลาสิกขา (การที่เห็นแก่ปากแก่ท้อง เปรียบเหมือนจระเข้ ที่เห็นแก่ปากแก่ท้อง กินสัตว์ทุกชนิดที่ลงในน้ำหรือทะเล

          ๓. ภัยจากน้ำวน คือทนต่อการ อด หรือระงับจากสิ่งเสพบริโภค จากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ได้ (คือทนต่อกามคุณ ๕ ไม่ได้) จนต้องลาสิกขา

           ๔. ภัยจากปลาร้าย คือ ทนต่อมาตุคาม, ผู้หญิง ไม่ได้ จนต้องลาสิกขาไป


****************


          ภัยทั้ง๔ ประเภทนี้ นักปราชญ์ท่านสรุปไว้ในความหมายของธงกฐินแต่ละผืน ที่เป็นจุดสำคัญ คือธงจระเข้ กับธงนางมัจฉา  ไว้ว่า


          ๑. ธงจระเข้ หมายถึงภัยจากคลื่น และภัยจากจระเข้

         
๒. ธงนางมัจฉา หมายถึง ภัยจากน้ำวน และภัยจากปลาร้าย (ปลาร้ายเปรียบเหมือนผู้หญิง จึงทำเป็นรูปนางมัจฉา)


          ที่ต้องมีธงเหล่านี้ประดับไว้ในงานกฐิน ก็เพื่อเป็นเครื่องย้ำเตือนพระภิกษุ ให้ระวังภัยทั้ง ๔ ประการนี้ อย่ายอมแพ้จนต้องลาสิกขาไปเสียก่อน




 





Create Date : 11 ตุลาคม 2554
Last Update : 11 ตุลาคม 2554 21:42:41 น. 0 comments
Counter : 2204 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

chohokun
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




[Add chohokun's blog to your web]