ความเข้าใจเรื่อง "การใส่บาตร, ตักบาตร"
การทำบุญตักบาตร คำว่า "บิณฑบาต" มาจากคำเดิมในภาษาบาลีว่า ปิณฺฑปาต (ปิณฑะปาตะ) ซึ่งมาจากคำสองคำ คือ ปิณฑะ แปลว่า ก้อนข้าว และ ปาตะ แปลว่า ตก, ตกไป รวมแปลว่า ปิณฑปาตะ - การตกไปแห่งก้อนข้าว โดยใช้หมายถึงอาหารที่ชาวบ้าน ถวายแด่พระสงฆ์โดยการใส่ลงในบาตร ส่วนคำว่า "ตักบาตร" , "ใส่บาตร" คือกิริยาที่ชาวบ้านใส่ข้าว ใส่อาหาร ลงในบาตรพระสงฆ์ โดยปกติเรามักเข้าใจว่า กิริยาที่พระสงฆ์อุ้มบาตร (หรือสะพายบาตร) ไปในตอนเช้าเพื่อรับอาหาร จะเรียกว่า บิณฑบาต แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ในทางภาษาบาลี มักไม่เรียกอาการที่พระสงฆ์ไปรับอาหาร ว่า บิณฑบาต แต่จะเรียกว่า ปิณฑจาริก (เที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว, เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต) และจะมีวัตรปฏิบัติสำหรับพระภิกษุที่เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตว่า "ปิณฑจาริกะวัตร" สรุปได้ว่า ๑. กิริยาที่พระภิกษุสงฆ์ไปรับอาหารในยามเช้า เรียกว่า ปิณฑจาริก ๒. กิริยาที่ชาวบ้านถวายอาหารแด่พระสงฆ์โดยใส่ลงในบาตรของท่าน เรียกว่า ตักบาตร , ใส่บาตร ๓. อาหารที่อยู่ในบาตร เรียกว่า บิณฑบาต (ปิณฑปาตะ - ก้อนข้าวที่ตกลงในบาตร) การถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการทำบุญประเภทหนึ่งที่ชาวพุทธ โดยเฉพาะชาวไทย นิยมทำ สาเหตุเพราะทำได้ง่าย และในปัจจุบันก็เริ่มมีธุรกิจจำพวก ขายอาหารบิณฑบาต หรือธุรกิจร้านขายข้าวใส่บาตรถวายแด่พระสงฆ์ ตามตลาดหรือสถานที่ใกล้วัดมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่ไม่ควรมีเวลาทำอาหารในช่วงเช้า มีความต้องการบุญ อยากจะตักบาตร ก็สามารถซื้ออาหารใส่บาตรพระได้โดยง่าย แต่ถ้าพูดกันตามตรงแล้ว แม้ธุรกิจการขายอาหารใส่บาตร จะเป็นการค้าที่ทำรายได้พอสมควร เพราะอาศัยความหวังในผลบุญกุศลของพุทธศาสนิกชน แต่ก็มีหลายราย หลายร้าน ที่หวังแต่เรื่องผลประโยชน์ จึงมักพบปัญหาว่า มีร้านค้าขายอาหารใส่บาตรบางร้าน นำเอาอาหารไม่ค่อยมีคุณภาพ บางทีก็เก่า ค้าง บางทีถึงขั้นบูดเอาก็มี ชาวบ้านที่มีศรัทธาแต่มีข้อขัดข้องเรื่องธุระส่วนตัวมาก ไม่สามารถหาซื้ออาหารที่ดีกว่า หรือทำเองได้ ก็เลยต้องซื้ออาหารจากร้านนั้นๆ ใส่บาตรพระ ถ้าหากพระสงฆ์ท่านรับไปฉัน ก็อาจเป็นโทษเป็นภัยแก่ร่างกายของท่าน ร้านขายอาหารใส่บาตร ควรรำลึกเสมอว่า ตนเองนั้นประกอบอาชีพที่อยู่ใกล้ปากทางนรกและสวรรค์ จึงควรกระทำให้เหมาะสม ประณีต ถ้าสักแต่ว่าทำให้ขายได้ จนไม่สนใจว่าอาหารที่ตนขายไป พระท่านฉันไปแล้วเป็นโทษภัย บาปกรรมก็จะส่งผลถึงผู้ทำการค้านั้นๆด้วยเหมือนกัน ส่วนพุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธา ควรพิจารณาด้วยปัญญาว่า อาหารที่ตนถวายไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นของมีราคามาก ของประณีตมาก หรือจะเป็นของที่หาได้ตามสภาพกำลังทรัพย์ของตน อย่างใดๆก็ตาม ก็ควร เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าต่อร่างกาย พระสงฆ์ฉันไปแล้วก็บรรเทาความหิวและไม่ก่อโรคภัยแก่ท่าน ทำให้ท่านมีกำลังปฏิบัติกิจทางพระศาสนาได้อย่างเต็มที่แล้ว ย่อมจะเกิดเป็นกุศลผลบุญแก่ผู้ถวายอย่างบริบูรณ์ด้วยเช่นกัน ในส่วนของพระภิกษุสงฆ์เอง ก็พึงระลึกเสมอว่า การบิณฑบาตนี้ ไม่ใช่เพียงการไปรับอาหารจากญาติโยมที่มีศรัทธาเท่านั้น แต่ยังทำให้ญาติโยมได้เกิด มงคล คือ "สมณานัญจะ ทัสสะนัง" (การได้เห็นสมณะนักบวช) อีกด้วย ดังนั้นพึงบิณฑบาตโดยอาการสำรวมระวัง ไม่ควรตั้งเจตนาว่าจะไปเพื่อจะหาลาภผลหรือปัจจัยใดๆ พึงบิณฑบาตเพื่อนำอาหารมาฉัน พอให้ร่างกายดำรงอยู่เพื่อประพฤติพรหมจรรย์เท่านั้น และตั้งจิตเมตตาในชนทั้งหลายให้เสมอกันในทุกรูปนาม และอนุโมทนาในทานของญาติโยมผู้ถวายทุกคน โดยไม่เลือกว่าจะเป็นผู้มีฐานะอย่างใด มีเพศอย่างใด รูปร่างหน้าตาอย่างใด หรือมีอาหารหยาบ ประณีตอย่างใด
วิธีการถวายอาหารบิณฑบาตด้วยความเคารพ และถูกต้อง - เตรียมอาหารที่จะถวายแด่พระสงฆ์ไว้ให้พร้อม และยืนในที่ๆจะมีพระภิกษุ หรือสามเณร ผ่านมา - อาราธนาให้ท่านรับอาหารบิณฑบาต โดยกล่าวว่า "นิมนต์ครับ/เจ้าค่ะ พระคุณเจ้า" หรือ "นิมนต์รับบิณฑบาตครับ / ค่ะ พระคุณเจ้า" (อาจใช้สรรพนามอื่นแทนคำว่าพระคุณเจ้า เช่น หลวงปู่, หลวงตา, หลวงพ่อ, หลวงพี่, สามเณร ก็ได้) - ยกภาชนะใส่อาหารขึ้นเหนือศีรษะ แล้วกล่าวคำอธิฏฐาน ดังนี้ (มี ๓ แบบ เลือกแบบใดก็ได้)
คำอธิษฐานก่อนใส่บาตร แบบที่๑ ข้าวของข้าพเจ้า ขาวดังดอกบัว ยกขึ้นเหนือหัว ถวายแด่พระสงฆ์ ตั้งจิตจำนงค์ ตรงต่อพระนิพพาน ขอให้ได้ดวงแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้ทันศาสนาพระศรีอาริย์ ในอนาคตกาล เบื้องหน้าโน้นเ ทอญ.
คำอธิษฐานก่อนใส่บาตร (แบบที่ ๒) ข้าวของข้าพเจ้า ขาวดังดอกบัว ยกขึ้นเหนือหัว ถวายแด่พระสงฆ์ ตั้งจิตจำนงค์ ตรงต่อพระนิพพาน ขอให้พบมิตรแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้มีปัญญาญาณ เกิดชาติใดพึงเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ตลอดกาล เทอญ.
คำอธิษฐานก่อนใส่บาตร แบบที่ ๓ (แบบนายอันนภาระ)[1] อิมินา ปะนะ ทาเนนะ มา เม ทาลิททิยัง อะหุ นัตถีติ วะจะนัง นามะ มา อะโหสิ ภะวาภะเวฯ (แปล) ก็ด้วยผลทานอันนี้ ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้มีความขัดสน และคำว่า "ไม่มี" ก็จงอย่าเกิดแก่ข้าพเจ้า แม้ในภพน้อยภพใหญ่ - นำอาหารใส่ลงในบาตรพระสงฆ์ เช่น ใช้ทัพพีตักข้าวลงในบาตร, ถวายอาหารที่บรรจุถุง ใส่ลงในย่ามของท่าน เสร็จแล้ว พนมมือไหว้ ด้วยอาการอันเคารพ เป็นเสร็จพิธี
พระสงฆ์จำเป็นต้องให้พรหลังรับบิณฑบาตแล้วหรือไม่? เนื่องจากมีชาวพุทธจำนวนมากเข้าใจว่า พระสงฆ์เมื่อรับอาหารบิณฑบาตแล้วก็ต้อง ให้พร พระรูปไหนไม่ให้พร เป็นอันใช้ไม่ได้ หรือ ไม่ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ และเชื่อกันจนคิดว่า "ถ้าพระไม่ให้พร เราก็จะไม่ได้บุญ" จนเป็นเหตุตำหนิพระเลยก็ว่าได้ พระคุณเจ้าที่รู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องนี้ ก็อยากจะฉลองศรัทธาญาติโยม ก็เลยให้พรตามที่ญาติโยมต้องการ จนบางทีก็เกินไป เช่น ให้พรเสียงดังบ้าง ให้พรจนยืดยาวบ้าง บางรูปให้ยถา - สัพพี แล้วต่อด้วย ภะวะตุสัพฯ เลยก็มี บางทีก็แทบจะกลายเป็นพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารแบบย่อมๆ เลยทีเดียว ความจริงแล้วการให้พรขณะบิณฑบาตนั้น ไม่ว่าพระท่านจะให้หรือไม่ก็ตาม บุญก็สำเร็จตั้งแต่เมื่อผู้มีศรัทธาได้ถวายอาหารนั้นไปแล้ว การให้พรของท่าน ก็เป็นเพียงการอนุโมทนาในทานที่ถวายเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องว่าจะได้บุญหรือไม่ได้บุญ จากคำให้พรเหล่านั้นเลย อีกอย่างหนึ่ง สาเหตุที่พระสงฆ์บางรูปท่านไม่ได้ให้พรหลังจากรับอาหารบิณฑบาต ท่านทำแต่เพียงยืนสงบนิ่งครู่หนึ่ง แล้วก็เดินต่อไป ก็เป็นเพราะท่านปฏิบัติตามพระวินัยว่า "พระภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่ จะไม่แสดงธรรมแก่ผู้ไม่เป็นไข้ นั่งอยู่" พระวินัยข้อนี้ อยู่ในเสขิยวัตร ข้อปฏิบัติของพระ ว่าด้วยเรื่องการแสดงธรรม คือพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ให้พระภิกษุ ที่ยืนอยู่ ไม่แสดงธรรมให้กับผู้ไม่เจ็บป่วย ที่นั่งอยู่ ถามว่าสิกขาบทข้อนี้เกี่ยวอะไรกับเรื่องการให้พร ก็เพราะการให้พรนั้น มักให้พรเป็นภาษาบาลี และเป็นเรื่องที่เนื่องด้วยธรรม คือการแสดงธรรมอยู่แล้ว และบทให้พรบางบท ก็เป็นการแสดงธรรมโดยตรงเลยทีเดียว เช่นบทที่เรียกกันว่า "สัพพีฯ" ในตอนท้ายเป็นคำแสดงธรรมแบบหนึ่ง ที่ว่า "อภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมาวัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง" ซึ่งแปลว่า ธรรมะสี่ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญ บังเกิดขึ้นแก่ผู้มีปกติกราบไหว้ และอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ เนื่องจากการให้พรนั้น เป็นการแสดงธรรมแบบหนึ่ง และชาวบ้านผู้มาใส่บาตร เมื่อใส่เสร็จแล้ว ก็นั่งยองๆ อยู่ ซึ่งถ้าหากท่านให้พรไป ก็จะเป็นการแสดงธรรมแก่ผู้นั่งอยู่ โดยที่ตัวท่านเองก็ยืนอยู่ การแสดงธรรม (ให้พร) ไปในลักษณะนั้น ก็เท่ากับเป็นการไม่เคารพพระธรรม ดังนั้นพระคุณเจ้าหลายๆรูปที่รู้พระวินัยดี จึงกระทำเพียง ยืนสงบนิ่ง ตั้งจิตเมตตาปรารถนาดี อนุโมทนาทาน ต่อผู้ถวายอาหารบิณฑบาต แล้วก็เดินต่อไป จนชาวบ้านที่ไม่เข้าใจ ก็นึกตำหนิว่า " พระอะไรใช้ไม่ได้ รับอาหารแล้วก็ยืนนิ่ง ไม่ยอมให้พร " ดังนั้นถ้าหากผู้มีศรัทธา มีจิตเป็นบุญกุศล ถวายอาหารบิณฑบาตแล้ว ก็ควรเอื้อเฟื้อพระคุณเจ้าตามพระวินัยของท่านด้วย ไม่ควรให้ท่านต้องฝ่าฝืนพระวินัย แม้จะเป็นข้อเล็กน้อยก็ตาม การที่เราได้ถวายอาหารบิณฑบาต บุญกุศลก็เกิดขึ้นแก่เราอยู่แล้ว จะได้รับพรหรือไม่ ก็ไม่ต่างกัน อนึ่ง โดยปกติพระภิกษุท่านมารับอาหารบิณฑบาต ท่านก็ต้องตั้งจิตเมตตาปรารถนาดีเป็นเบื้องหน้ากับทุกผู้คนอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยปากให้พรเสียยืดยาว สำหรับท่านที่ยังต้องการจะรับพรอยู่ (อาจเพื่อความสบายใจ หรือเพื่อเจริญศรัทธามากขึ้น) ก็ควรกระทำให้ถูกต้อง เพื่อรักษาพระวินัยของพระสงฆ์ โดยเมื่อถวายอาหารเสร็จแล้ว ก็ควรถอดรองเท้า (บางท่านถอดรองเท้าตั้งแต่ก่อนใส่บาตรแล้ว) หุบร่ม ถอดหมวก (ถ้ามี) แล้วยืนพนมมือ กล่าวกับพระคุณเจ้าว่า "ขอนิมนต์พระคุณเจ้าได้โปรดอนุโมทนา ให้พร แก่กระผม / ดิฉัน หรือ ให้พรแก่โยม ด้วย" แล้วก็ยืนพนมมือรับพร หรือถ้าจะรับในท่านั่ง ก็หาเก้าอี้มาให้พระคุณเจ้าได้นั่ง แล้วผู้จะรับพรก็นั่งคุกเข่า หรือนั่งกระโหย่ง พนมมือรับพร การทำแบบนี้ นอกจากจะเป็นการเคารพในพระธรรม ในพรที่ท่านให้มาแล้ว ก็ยังเป็นการช่วยเอื้อเฟื้อให้พระสงฆ์ไม่ต้องผิดพระวินัยอีกด้วย
การถวายปัจจัย (เงิน) แด่พระภิกษุสงฆ์ ขณะบิณฑบาต สมควรหรือไม่? มักมีพุทธศาสนิกชนบางท่าน ถือเอาแต่ความสะดวก (จนเกินควร) ในการทำบุญ เช่นเวลาใส่บาตร แทนที่จะไปซื้อหา หรือทำอาหาร มาใส่บาตร ก็ใช้วิธีง่ายๆ เช่นว่า เอาเงินใส่ หรือไม่ใส่ซองก็แล้วแต่ นำมาใส่บาตรพระ หรือโดยส่วนมากก็จะใส่ย่าม แล้วก็คิดว่าได้ทำบุญใส่บาตรท่านแล้ว บางท่านก็คิดไปถึงว่า "เผื่อว่าพระท่านจะได้เอาเงินปัจจัย ให้คนไปซื้ออาหารที่ท่านชอบมาฉัน" ความจริงแล้วการถวายเงินแด่พระภิกษุสงฆ์นั้น มีปัญหาอยู่มาก เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว พระภิกษุสงฆ์ไม่สามารถรับเงินเก็บไว้เพื่อตนเองได้ เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเรื่องเงินและทองนี้ไว้แต่เพียงว่า ผู้มีศรัทธา มอบเงินไว้กับกัปปิยะการก (ผู้ดูแลจัดหาสิ่งต่างๆที่สมควร ถวายแก่พระสงฆ์) เสร็จแล้วบอกต่อพระภิกษุรูปนั้นๆว่า หากพระคุณเจ้าต้องการสิ่งของใด ก็ให้บอกต่อกัปปิยะการกคนนั้นๆ ให้เขาจัดหามาให้ (ต้องการสิ่งของ ไม่ใช่ต้องการเงิน) สมัยนี้ กัปปิยะการกที่จะมาคอยดูแลจัดหาของถวายพระนั้น หายากเต็มทน สาเหตุเพราะไม่มีใครที่จะตั้งใจมาบำเพ็ญประโยชน์เช่นนั้น และใครที่จะมีใจบริสุทธิ์ คอยดูแล และเก็บรักษาทรัพย์นั้นโดยไม่คิดยักยอก ชาวบ้านจึงมักถือเอาความสะดวกว่า ถวายเงินให้กับพระท่านตรงๆไปเลย ก็เลยกลายเป็นว่า ทำให้พระท่านต้องอาบัติไปโดยไม่รู้ตัว แต่เนื่องจากถือกันโดยอนุโลมว่า ในงานพิธีต่างๆ มีการถวายปัจจัยให้กับพระภิกษุสงฆ์ เพราะเป็นประเพณีไปแล้ว และแก้ไขก็ยาก อนึ่ง สมัยนี้เรื่องค่าน้ำค่าไฟ ตำราการศึกษาเล่าเรียน การเดินทางต่างๆ การสาธารณสงเคราะห์ การสาธารณูปการ ก็ต้องอาศัยเงินปัจจัยทั้งนั้น พระคุณเจ้าจึงจำเป็นต้องรับ บางรูปก็นำไปทำประโยชน์ของพระศาสนา บางรูปก็ใช้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาเล่าเรียน ก็ยังพอรับได้ แต่ที่น่าตำหนิก็คือนำไปเพื่อใช้ประโยชน์หาเลี้ยงชีพ หรือแม้แต่ส่งเสียเลี้ยงครอบครัว จนกลายเป็นว่า บวชมาเพื่ออาศัยพระศาสนาหาเลี้ยงชีพ แต่ในเรื่องการเที่ยวบิณฑบาตของพระภิกษุสงฆ์นั้น มีจุดประสงค์คือไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้มีศรัทธา และเพื่อให้ชาวบ้านได้บำเพ็ญบุญกุศล โดยการถวายภัตตาหาร และบาตรของท่าน ก็ควรจะมีไว้เพื่อรับอาหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา หรืออาจจะเป็นสิ่งของเครื่องกัปปิยะภัณฑ์ต่างๆ ผู้ศรัทธาและปรารถนาบุญ จึงไม่ควรจะเอาเงินปัจจัยมาถวายท่าน ในขณะที่ท่านรับบิณฑบาต ชาวพุทธไม่ควรถือเอาความมักง่ายสบายจนเกินควร หรือแม้แต่ถือเอาความเชื่อผิดๆว่า ถวายเงินแล้วจะได้บุญมากกว่าถวายแต่ข้าวหรืออาหาร นอกจากนั้น การที่มีความนิยมถวายเงินในขณะที่พระรับบิณฑบาต ก็กลายเป็นช่องทางให้พวกมิจฉาชีพ ปลอมเป็นพระภิกษุ หาจีวรมาห่ม หาบาตรมาถือ แล้วก็เที่ยวบิณฑบาต โดยหวังจะได้เงิน (หรือแม้แต่ที่หนักกว่านั้นคือ ขอรับแต่เงินตรงๆ) จนกลายเป็นที่เสื่อมศรัทธาของชาวบ้าน เป็นเสี้ยนหนามของพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนควรคำนึงถึงเรื่องพระวินัยของพระภิกษุสงฆ์ ควรเอื้อเฟื้อ ไม่ให้ท่านต้องอาบัติ และตั้งใจถวายเพียงอาหารหรือกัปปิยภัณฑ์ (ของใช้ที่สมควรแก่พระสงฆ์) เท่านั้น เพื่อให้เกิดบุญกุศลอย่างเต็มที่ ไม่ควรจะไปถวายเงินในเวลาที่พระสงฆ์รับบิณฑบาต ก็จะช่วยรักษาพระวินัยของพระสงฆ์ นอกจากนั้นยังช่วยลดปัญหากลุ่มมิจฉาชีพปลอมบวช อาศัยพระพุทธศาสนาหากินได้อีกด้วย การอุทิศส่วนกุศลหลังจากใส่บาตร
มักมีชาวพุทธบางท่านเข้าใจผิดว่า การอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ล่วงลับนั้น เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ จึงมักปรากฏว่า เมื่อทำบุญตักบาตรเสร็จแล้ว บางท่านก็จะบอกกับพระสงฆ์ว่า "ขอให้ท่านช่วยอุทิศส่วนกุศลให้กับคนชื่อนี้ๆด้วย" จนพระสงฆ์บางรูปท่านก็งง เพราะไม่รู้ว่าจะช่วยอุทิศส่วนกุศลให้ได้อย่างไร เนื่องจากว่า ผู้ใดได้ทำบุญ ผู้นั้นจึงจะสามารถอุทิศบุญนั้นเอง แม้จริงอยู่ว่า พระภิกษุสงฆ์ท่านเป็นผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ศึกษา ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ท่านก็ย่อมมีผลบุญกุศลอยู่เองแล้ว แต่ในเมื่อชาวบ้านได้สร้างบุญสร้างกุศล ทำบุญตักบาตรแล้ว ก็ย่อมเกิดผลบุญขึ้นแก่ตนเอง จึงควรทราบว่า ตนเอง คือผู้ใส่บาตรนั่นแหละ มีบุญที่จะอุทิศแก่ผู้อื่นได้แล้ว ไม่ควรเข้าใจผิดว่า หน้าที่การอุทิศผลบุญกุศล เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ ชาวพุทธหลายๆท่านมักเข้าใจกันผิดๆ ในเรื่องการทำบุญกุศล โดยเฉพาะการอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ล่วงลับ คือนึกคล้ายๆกับว่า พระสงฆ์ทำหน้าที่เหมือนเป็น บุรุษไปรษณีย์ ตนเองอยากจะส่งอะไรไปถึงผู้ล่วงลับ ก็ส่งผ่านพระสงฆ์ จนกระทั่งว่ามีพิธีการทำบุญแบบแปลกๆ ประหลาดๆขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นว่า ต้องการอุทิศส่วนกุศลแก่ลูกที่เสียชีวิตไป หรืออาจจะเคยทำแท้งมา ต้องการจะอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณเด็ก ก็เอาสิ่งของจำพวกของใช้เด็กอ่อน เสื้อผ้าเด็ก นมผง ฯลฯ มาถวายพระ แล้วขอให้พระท่านช่วย ส่ง หรือ อุทิศ ไปถึงเด็กที่ตายไป ความจริงแล้วการทำบุญ ถวายทานต่างๆนั้น เราทำเพื่อ บำรุงพระพุทธศาสนา และ อุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้ท่านได้มีกำลังในการปฏิบัติกิจทางพระศาสนา คือ ศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่พระพุทธศาสนา นำธรรมะมาให้กับสังคม ไม่ใช่ทำหน้าที่เหมือนผู้คอยส่งของให้กับผู้ล่วงลับ การถวายสิ่งใดก็ตามเพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ จึงควรถวายสิ่งที่ท่านสามารถใช้อุปโภค บริโภค เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตในสมณเพศ และทำกิจของสงฆ์ได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ถวายอะไรที่คิดว่าต้องการให้ญาติผู้ล่วงลับจะได้รับไป แต่ของนั้นไม่สำเร็จประโยชน์แก่พระสงฆ์ หรือแม้แต่เป็นโทษแก่พระสงฆ์ บางท่านฝันว่า ญาติผู้ล่วงลับ ต้องการจะดื่มสุรา ก็จัดแจงหาเหล้าขาวเป็นต้น ใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ แล้วนำไปใส่บาตร (หรือใส่ย่าม) เวลาพระท่านมารับบิณฑบาต พอพระถามว่า "อะไรน่ะโยม น้ำดื่มหรือ?" โยมก็ตอบว่า "ไม่ใช่ค่ะท่าน เป็นเหล้าขาว" พระท่านก็ตกใจ แล้วถามว่าทำไมเอาของอย่างนี้มาถวายพระ เพราะพระรับไม่ได้ ผิดพระวินัย โยมก็พยายามบอกว่า "พอดีญาติมาเข้าฝันว่าอยากกินเหล้า ก็เลยต้องเอาเหล้ามาใส่บาตร ขอให้ท่านช่วยอุทิศไปให้เขาด้วย" พระคุณเจ้าเจอแบบนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จะอธิบายไปเขาก็ไม่ฟัง ก็เลยต้องรับอย่างเลี่ยงไม่ได้ พอกลับถึงวัดก็ต้องให้ลูกศิษย์เอาไปทิ้ง แต่บางรูปยังไม่ทันกลับถึงวัด ถุงใส่เหล้าขาวก็ดันแตกเสียก่อน จนส่งกลิ่นไปทั่ว ชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องก็นึกว่าพระดื่มเหล้า และนึกตำหนิพระเอาเสียอีก ควรทำความเข้าใจเสียใหม่ในเรื่องการอุทิศส่วนบุญกุศล ดังนี้ว่า ๑. การอุทิศส่วนบุญกุศล ก็คือเราได้กระทำบุญแล้ว อุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่ผู้อื่น ๒. พระภิกษุสงฆ์ท่านทำหน้าที่ในการปฏิบัติกิจทางพระศาสนา การอุปถัมภ์พระสงฆ์ก็ควรจะทำในทางที่เหมาะสม เช่นการถวายทาน ก็ควรถวายของที่มีประโยชน์ ที่พระสงฆ์จะใช้ จะฉันได้ ไม่ควรถวายของที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเข้าใจผิดๆว่าพระเป็นเหมือนบุรุษไปรษณีย์ที่คอยเอาของไปส่งให้ผู้ล่วงลับ ๓. การถวายสิ่งของที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือบางอย่างถึงขั้นเป็นโทษทางพระวินัยสำหรับพระสงฆ์ เพราะความเข้าใจผิดๆนั้น นอกจากญาติผู้ล่วงลับจะไม่ได้รับผลบุญกุศลที่อุทิศให้แล้ว ผู้ถวายก็เป็นบาปกรรมแก่ตนเองด้วย เพราะนำสิ่งที่ไม่สมควร และเป็นโทษแก่พระสงฆ์ มาถวายท่าน นอกจากจะไม่ได้บุญแล้ว ก็ยังได้บาปติดตัวไปอีก สำหรับชาวพุทธที่ได้ตั้งใจทำบุญตักบาตร ถวายอาหารที่ประณีต เหมาะสม สะอาด มีประโยชน์ แด่พระสงฆ์ ก็ย่อมเกิดผลบุญกุศลตามสมควร หลังจากทำบุญเสร็จแล้ว รำลึกถึงญาติผู้ล่วงลับ ก็ตั้งใจอุทิศผลบุญนั้นด้วยตนเอง จะถูกต้องกว่า วิธีการอุทิศส่วนกุศลนั้น ทำได้หลายลักษณะ จะใช้น้ำเป็นสื่อ หรือไม่ใช้ก็ได้ เพียงตั้งจิต อุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ล่วงลับ ก็เป็นอันเรียบร้อย
คำกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ล่วงลับ อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติของข้าพเจ้า ขอญาติของข้าพเจ้า จงเป็นสุขเถิด ถ้าใช้น้ำเป็นสื่อ ก็กล่าวคำกรวดน้ำ และเทน้ำลงที่โคนต้นไม้ หรือลงพื้นดินก็ได้ บางท่านสงสัยว่า ถ้าหากว่าตั้งใจจะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล แต่ลืม หรือเผลอไป มานึกได้ในภายหลัง จะสามารถอุทิศส่วนกุศล ในเวลาที่นึกได้หรือไม่? ตอบได้ว่า ก็สามารถตั้งใจอุทิศส่วนกุศลได้เช่นกัน แต่เนื่องจากว่าเมื่อเราได้กระทำบุญแล้ว ควรอุทิศส่วนกุศลในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน หรือทำทันที เพราะในเวลานั้น จิตใจยังรำลึกถึงการทำบุญ มีความผ่องใสเบิกบานอยู่ จะทำให้ตั้งจิตอุทิศบุญได้อย่างเต็มที่ . [1] นายอันนภาระ เป็นอดีตชาติของพระอรหันต์อนุรุทธะ ได้เคยกล่าวคำอธิษฐานนี้ ก่อนใส่บาตรกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ทำให้เกิดชาติใดๆ ไม่เคยได้ยินคำว่า "ไม่มี" เลย
Create Date : 02 ตุลาคม 2554 |
Last Update : 3 ตุลาคม 2554 20:14:13 น. |
|
4 comments
|
Counter : 17202 Pageviews. |
|
 |
|