คำภาษาบาลี ที่เปลี่ยนความหมายไปในภาษาไทย

มีคำภาษาบาลีที่เป็นศัพท์ธรรมะอยู่หลายคำ ที่พอมาอยู่ในภาษาไทยแล้ว คนใช้กันจนความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม หรือถึงกับความหมายผิดเพี้ยนไปไกลก็มี


วันนี้ก็คิดว่าจะนำเสนอคำบาลีบางคำที่พอมาอยู่ในภาษาไทยแล้วความหมายคลาดเคลื่อน หรือเปลี่ยนไป ซัก ๓ คำ


๑. เวทนา


คำว่า เวทนา ในภาษาบาลีหมายถึงการรับรู้อารมณ์ หรือ ความรู้สึก มีทั้งที่แบ่งเป็น เวทนา ๓ คือเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา และความรู้สึกที่ไม่สุขและไม่ทุกข์ คือรู้สึกเฉยๆ เรียกว่า อะทุกขะมะสุขะเวทนา


หรือบางทีก็แบ่งแยกเป็นสองพวก คือแยกเป็นความรู้สึกทางกายและใจ โดยแบ่งเป็น เวทนา ๕ คือ สุขเวทนา - สุขทางกาย, ทุกขเวทนา - ทุกข์ทางกาย, โสมนัสเวทนา -สุขทางใจ, โทมนัสเวทนา-ทุกข์ทางใจ , อุเบกขาเวทนา-ความรู้สึกที่ไม่ใช่ทั้งสุขและทุกข์ และโสมนัส-โทมนัส คือรู้สึกเฉยๆ


ในภาษาไทย คำว่า เวทนา จะ้ใช้ในความหมายว่า "รู้สึกสงสาร" หรือ "น่าสงสาร" ซึ่งคลาดเคลื่อนจากความหมายเดิม แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะให้ึความหมายของ เวทนา ไว้สองแบบ คือ ถ้าคำว่า เวทนา นี้ ออกเสียงว่า เว-ทะ-นา ก็จะหมายถึงความรู้สึก ตามความหมายเิดิมในภาษาบาลี แต่ถ้าออกเสียงว่า เวด-ทะ-นา จะหมายถึงความรู้สึกสงสาร


๒. สงสาร


คำว่า สงสาร ในภาษาบาลี หมายถึง ท่่องเที่ยว หรือ เที่ยวไป โดยมากก็หมายถึงการเวียนว่ายตายเิกิด แต่ในภาษาไทยกลับใช้ในความหมายว่า รู้สึกไม่สบายใจหรือทุกข์ใจ หรือ เห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้สองแบบ เช่นเดียวกับคำว่า เวทนา


๓. วาสนา


คำว่า วาสนา ในทางภาษาบาลี หมายถึง ความประพฤติทางกายวาจาที่คุ้นชิน คุ้นเคย ติดตัวมาเป็นเวลานาน และแก้ไขได้ยาก เพราะติดตัวมาหลายภพชาติ ประพฤติมาหลายภพชาติ ในทางอภิธรรม ท่านแบ่งว่า วาสนา มีทั้งที่เป็นกุศล ก็มี อกุศลก็มี อัพยากะตะ ก็มี คือมีทั้งที่ดี ไม่ดี และที่ธรรมดาๆ ไม่ดีไม่ชั่ว


วาสนาในทางไม่ดี มีทั้ง (๑) แบบที่อาจทำให้ลงอบาย คือความประพฤติติดตัว คุ้นเคย แก้ไขไม่ได้ และความประพฤตินั้น อาจเป็นเหตุให้กระทำชั่ว เช่น ติดนิสัยขโมยของ ติดนิสัยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และ (๒) ความประพฤติที่เป็นกิริยาที่ดูไม่เรียบร้อย หรือไม่เหมาะสม


ในวาสนาทางไม่ดีทั้งสองแบบนั้น พระอรหันต์ทั่วไป ละได้ในแบบที่ ๑ แต่ แบบที่ ๒ ละไม่ได้ หรือละได้ยาก คืออาจมีความประพฤติไม่เรียบร้อยอยู่บ้างตามอุปนิสัยดั้งเดิม แต่ถ้าเป็น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงละวาสนาได้ ทั้งสองประเภท กล่าวเป็นสำนวนได้ว่า "พระอรหันต์ ละได้แต่กิเลส วา่สนาละไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้า ทรงละได้ทั้งกิเลสและวาสนา"


ในทางภาษาไทย คำว่า วาสนา ถูกใช้ในความหมายที่คลาดเคลื่อนจากเดิมไปมาก คือใช้ในความหมายว่า เป็นกุศลผลบุญที่สืบมาแต่ชาติก่อน (แม้แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ให้ความหมายแบบไทย ซึ่งผิดจากความหมายเดิมในภาษาบาลีเหมือนกัน) โดยมักใช้ควบคู่กับคำว่าบุญ เ่ช่น บุญวาสนา โดยมักมีสำนวนพูดว่า "แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนา แข่งไม่ได้" ซึ่งเป็นการใช้ผิดความหมายเดิม ควรเปลี่ยนเสียใหม่ว่า "เรื่องบุญต้องแข่ง แต่วาสนาไม่ใช่เรื่องต้องแข่ง แต่ต้องละ ต้องแก้ไข"



วันนี้ยกมาว่ากันเพียง ๓ คำ ไว้วันหลังจะคัดเอาคำอื่นๆที่มักใช้ผิดความหมายในภาษาบาลี มาว่ากันอีก





Create Date : 03 ตุลาคม 2554
Last Update : 3 ตุลาคม 2554 20:16:34 น. 0 comments
Counter : 4136 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

chohokun
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




[Add chohokun's blog to your web]