ความเข้าใจเรื่อง "การปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ"

ความเข้าใจเรื่อง "การปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ"


 


          พิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ คือพิธีที่ผู้ต้องการเป็นชาวพุทธ ได้ประกาศปฏิญาณตน ในที่ประชุมสงฆ์ ผู้จะเข้าพิธีนี้ ยกตัวอย่างเช่น


          - ผู้นับถือศาสนาอื่นมาแต่เดิมแล้ว ต้องการเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ


          - ผู้ที่มีชื่อว่าเป็นชาวพุทธ แต่อาจจะไม่ได้ประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดในวิถีของชาวพุทธมาแต่เดิม เมื่อได้ศึกษาคำสอนใน ทางพระพุทธศาสนาแล้ว มีความศรัทธาเลื่อมใส ต้องการยืนยันความเป็นชาวพุทธของตนเองให้หนักแน่นยิ่งขึ้น


          - เด็กและเยาวชนที่เพิ่งเข้าเรียนใหม่ๆ ครูอาจารย์นิยมให้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อให้ได้เข้าใกล้ชิดพระศาสนา รู้จักพระสงฆ์ และได้รับศีล ๕


 


ความเป็นมาของการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ


 


          แต่ดั้งเดิมในครั้งพุทธกาล เมื่อมีผู้ใดที่เคยนับถือลัทธิศาสนาอื่นมาก่อน ได้ฟังพระธรรมคำสอนจากพระพุทธเจ้า หรือจากพระสาวกก็ตาม แล้วมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  ก็จะประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนา  ด้วยคำว่า


 


          "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ  เปิดของที่ปิด  บอกทางแก่คนที่หลงทาง  หรือตามประทีปในที่มืด  ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้  ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า  พระธรรม  และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสก (หรืออุบาสิกา)  ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต    ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป."


 


          หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว   เมื่อมีผู้ที่จะแสดงความเลื่อมใส และจะประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนา ก็จะใช้คำว่า  "ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว.."   ดังเช่นเท่าที่พบหลักฐานชัดเจน ก็คือใน มธุรสูตร (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์  ข้อที่ ๔๖๔ - ๔๘๕)  เนื้อหาโดยย่อก็คือ  พระกัจจานะ หรือ พระมหากัจจายนะ  ท่านได้แสดงธรรมโดยการตอบปัญหา กับพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ในเรื่องวรรณะ ๔ เมื่อตอบจนแจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้ามธุรราช ได้แสดงความเลื่อมใส โดยเนื้อความว่า


 


          "ข้าแต่พระกัจจานะผู้เจริญ     ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนักข้าแต่พระกัจจานะผู้เจริญ     ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก     เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ  เปิดของที่ปิด  บอกทางแก่คนหลงทาง  หรือตามประทีปในทีมืดด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป  ดังนี้  ฉันใด  พระกัจจานะผู้เจริญประกาศธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน   ข้าแต่พระกัจจานะผู้เจริญ   ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระกัจจานะผู้เจริญ  พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระกัจจานะผู้เจริญ จงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"


          ซึ่งพระกัจจานะได้กล่าวว่า อย่ากล่าวขอถึงตัวท่านเป็นสรณะเลย เพราะตัวท่านเองนั้น ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสรณะ  แล้วขอให้พระเจ้ามธุรราช ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นสรณะเถิด 


          เมื่อพระเจ้ามธุรราชได้ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ขณะนี้ประทับอยู่ที่ไหน  เมื่อพระกัจจานะตอบว่า  "พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว"  พระเจ้ามธุรราชได้สดับเช่นนั้น จึงตรัสว่า


          ข้าแต่พระกัจจานะผู้เจริญ   ก็ถ้าข้าพเจ้าพึงได้ฟังว่า   พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น   [ประทับอยู่]   ในทางสิบโยชน์   ข้าพเจ้าก็พึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แม้สิ้นทางสิบโยชน์. ..  สามสิบโยชน์...  สี่สิบโยชน์...  ห้าสิบโยชน์... แม้ร้อยโยชน์ ข้าพเจ้าก็จะพึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น  แม้สิ้นทางร้อยโยชน์ 


          แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น   เสด็จปรินิพพานเสียแล้ว    ข้าพเจ้าจึงขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า   แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว  พร้อมทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์  ว่าเป็นสรณะ  ขอพระกัจจานะผู้เจริญ  จงจำคำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก  ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.


          ข้อความท่อนที่ขีดเส้นใต้ไว้ ว่า ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว... นี้เอง ได้เป็นที่มาของคำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะในปัจจุบัน


 


พิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ


          ผู้ต้องการเข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ มีรายละเอียดข้อปฏิบัติโดยสังเขป ดังนี้


เตรียมการ


          - เข้าไปในวัด นำธูปเทียนดอกไม้ ใส่พาน ไปถวายพระเถระที่จะให้เป็นประธานสงฆ์ในพิธี แล้วเรียนท่านให้ทราบว่าต้องการจัดพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ  ขอให้ท่านเป็นประธานสงฆ์ พร้อมทั้งนิมนต์พระภิกษุอีก ๔ รูป (เป็นอย่างน้อย)


          - จัดเตรียมสถานที่ จะใช้อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ หรือที่ใดที่หนึ่งตามแต่โอกาสและสถานที่จะอำนวย ถ้าไม่จัดที่วัด อาจเป็นสถานที่เหมาะสมอื่นๆ เช่นหอประชุม หรือโรงเรียนก็ได้ ที่สำคัญคือให้มีพระพุทธรูปและโต๊ะหมู่บูชาให้เรียบร้อย จัดอาสนะสงฆ์ให้เรียบร้อยเหมาะสม


 


พิธีการ


          - เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมแล้ว ผู้จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะ (ถ้ามีหลายคน ให้มีคนหนึ่งเป็นประธาน)  จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วเปล่งวาจาบูชาพระรัตนตรัยว่า   



คำบูชาพระรัตนตรัย


                           อิมินา  สักกาเรนะ  พุทธัง  ปูเชมิ
                           อิมินา
  สักกาเรนะ   ธัมมัง  ปูเชมิ
                           อิมินา
  สักกาเรนะ   สังฆัง  ปูเชมิ


          หลังจากนั้นกล่าวคำนมัสการ (ตั้งนะโม ๓ จบ) แล้วกล่าวคำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ดังนี้


          เอสาหัง ภันเต สุจิระ ปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ พุทธะมามะโกติ มัง สังโฆ ธาเรตุ


          (แปล) "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานนานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือผู้นับถือพระพุทธเจ้า"


          (ถ้าเป็นผู้หญิงคนเดียว ให้เปลี่ยน พุทธะมามะโกติ เป็น พุทธะมามะกาติ     ถ้าปฏิญาณพร้อมกันหลายคน ผู้ชาย เปลี่ยนเอสาหังเป็น เอเต มะยัง ผู้หญิง เป็น เอตา มะยัง  และทั้งชายและหญิง เปลี่ยน คัจฉามิ เป็น คัจฉามะพุทธะมามะโกติ มัง เปลี่ยนเป็น พุทธะมามะกาติ โน)


          - หลังจากนั้นฟังประธานสงฆ์ให้โอวาท จบแล้วรับคำว่า สาธุ
          - กล่าวคำอาราธนาเบญจศีล  พระสงฆ์ให้ศีล จบแล้ว กราบ ๓ หน
          - ถวายไทยธรรม (ถ้ามี) แด่พระภิกษุสงฆ์ พระสงฆ์รับแล้ว อนุโมทนา รับพรจากพระสงฆ์ เสร็จแล้วคุกเข่ากราบ ๓ ครั้ง เป็นเสร็จพิธี






Free TextEditor


Create Date : 02 ตุลาคม 2554
Last Update : 3 ตุลาคม 2554 20:14:22 น. 1 comments
Counter : 3731 Pageviews.  

 
โมทนาสาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 2 ตุลาคม 2554 เวลา:12:34:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

chohokun
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




[Add chohokun's blog to your web]