ขอความเห็นจากทุกศาสนา เรื่องการรับลูกคนอื่นมาเลี้ยงดู
[คุณ cream cupcake ได้ถามไว้ในเว็บบอร์ดพันทิป ห้องศาสนา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 54 17:09:28 ว่า] ขอความเห็นจากทุกศาสนาค่ะ การที่เรารับลูกคนอื่นมาเลี้ยงดู ถือเป็นการสร้างบาปให้ตัวเองหรือไม่คะ มีแนวโน้มว่าตัวเราและสามีจะไม่สามารถมีลูกได้ เนื่องจากเราแต่งงานอยู่กินกันอายุมากแล้ว สามี 40 ปลาย ๆ เราเอง 30 ปลาย ๆ พยามยามมีลูกมาแล้วทุกวิถีทาง แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้งจนท้อ ไม่ทราบว่าเราทั้งคู่โชคดีหรือโชคร้ายที่ไม่มีลูก แต่เราทั้งคู่มีความพร้อมในทุกด้านจริง ๆ และทุกวันเห็นข่าวเอาเด็กทารกไปทิ้งตามที่ต่าง ๆ วันละมากมาย บ้างก็ทำแ้งทำลายกันเห็น ๆ จึงเกิดความคิดว่าถ้าเรา ขอรับเลี้ยงเด็กพวกนั้น เราจะบาปไหม ความคิดเราแบ่งเป็นสองทาง ทางแรก "เราทำบาป" 1. เราอาจบาป เพราะพรากลูกพรากแม่ ถ้าเราไม่รับเขามาเลี้ยง วันนึงแม่เขามีความพร้อมก็อาจมารับลูกเขาไปเอง 2. เราบาป เพราะเด็กนั้นไม่ไช่ลูกเราเอง ถ้าเด็กรู้ความจริงจะเกิดทุกข์เวททนา ทำบาปแก่เด็ก 3. เราบาป เพราะฝืนดวงชะตา ดวงเราเขากำหนดไม่ให้มีลูก แต่เราฝืนชะตาดิ้นรนหาเด็กมาเลี้ยงเป็นลูก สร้างเวรสร้างกรรมต่อภพต่อชาติ ชดใช้กรรมกันไปไม่มีที่สิ้นสุด อีกความคิดคือ "เราทำบุญ" เพราะ 1. เรารับเลี้ยงเขาด้วยใจบริสุทธ์ ต้องการให้เขามีความสุขและเป็นคนดี ถ้าไม่รับเขามา เขาอยู่สถานกำพร้า ชีวิตย่อมเจริญก้าวหน้าน้อยกว่า 2. พ่อแม่ทิ้งเขา เขาต้องเติบโตมาอย่างมีปมด้อย มีทุกข์ แต่เราคือพ่อแม่ที่รักเขาเหมือนลูกแท้ ๆ เพราะเราทั้งคู่รักเด็กมาก พร้อมเลี้ยงดูเขาอย่างดี แบบนี้ถือว่าเราได้บุญ 3. ถ้าไม่รับมาเลี้ยง เขากลายเป็นขอทาน เกเร เร่ร่อน เป็นโจร ก่อกรรมให้คนอื่น แต่ถ้ามาอยู่กับเราเราตั้งใจที่สุดและมั่นใจว่า ชีวิตเขาต้องดีกว่าไปเร่ร่อนอย่างแน่นอน ขอตอบเป็นข้อๆดังนี้ครับ ๑. เราอาจบาป เพราะพรากลูกพรากแม่ ถ้าเราไม่รับเขามาเลี้ยง วันนึงแม่เขามีความพร้อมก็อาจมารับลูกเขาไปเอง ตอบ ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงกันชัดเจนแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ อย่าไปคิดเรื่องพรากลูกพรากแม่อะไรทำนองนั้นเลย เราไม่ได้ไปขโมยลูกเขามาเลี้ยง แต่ถ้าเป็นกรณีที่ว่า เขาเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งจริงๆ เช่นว่าถูกทิ้งไว้อยู่ในที่ๆจะมีอันตราย เรารับเขามาเลี้ยงดู ก็เท่ากับช่วยปกป้องอันตราย อย่างนี้ไม่มีบาปตรงไหน เป็นบุญด้วยซ้ำ ๒. เราบาป เพราะเด็กนั้นไม่ไช่ลูกเราเอง ถ้าเด็กรู้ความจริงจะเกิดทุกข์เวทนา ทำบาปแก่เด็ก
ตอบ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ก็อธิบายให้เขาทราบ พร้อมกับแนะนำให้เขารู้จักพ่อแม่ที่แท้จริงของเขาด้วย ให้เขาทราบเหตุผล และรู้ว่าทั้งฝ่ายคุณ และพ่อแม่ของเขา ก็รักเด็กคนนี้เหมือนกัน เรื่องทำบาปแก่เด็ก หรือทำให้เด็กเกิดทุกขเวทนานี่ อย่าไปคิดในแง่นั้นเลยครับ ในเมื่อเราเลี้ยงดูเขาเมตตากรุณา เหมือนเขาเป็นลูกเราจริงๆ แทนที่จะเป็นบาป กลับเป็นบุญเสียอีก เป็นบุญทั้งแก่เรา และเด็กเองก็มีความสุขด้วย ๓. เราบาป เพราะฝืนดวงชะตา ดวงเราเขากำหนดไม่ให้มีลูก แต่เราฝืนชะตาดิ้นรนหาเด็กมาเลี้ยงเป็นลูก สร้างเวรสร้างกรรมต่อภพต่อชาติ ชดใช้กรรมกันไปไม่มีที่สิ้นสุด
ตอบ คนจะมีลูกหรือไม่มีลูก ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเหตุผลทางวิบากกรรมบ้าง หรือแม้แต่เหตุผลด้านอุตุนิยาม (ด้านสภาพตามธรรมชาติของร่างกาย เช่นอาจเป็นหมันหรืออะไรก็แล้วแต่) อย่าไปคิดเรื่องว่าจะเป็นการฝืนดวงเลยครับ และที่เป็นกังวลว่า ดวงเรา เขากำหนดไม่ให้มีลูก นี่ ก็ไม่รู้ว่า "เขาที่ว่านี่มันใคร?" (ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีอะไรมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่กำหนด หรือคอยตั้งบังคับให้ใครเป็นอะไร หรือให้ใครมีดวงอย่างไร) ที่คุณกังวลว่า เป็นการสร้างเวรสร้างกรรมนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะคำว่า "เวร" หมายถึงการตั้งจิตพยาบาท อาฆาตเบียดเบียนบุคคลอื่น ถ้าเราเลี้ยงเขาด้วยคุณธรรมความดี ตามหน้าที่ของพ่อแม่ แม้จะเป็นพ่อแม่บุญธรรมก็ตาม แบบนั้นจะเป็นเวรอะไรกันได้อย่างไร ส่วนที่ว่า สร้างกรรมนั้น ก็ถ้าเราเลี้ยงเขาด้วยคุณธรรม ก็เป็นการสร้างกรรม "ฝ่ายกุศล" เป็นการสร้างกรรมดีด้วยซ้ำไป ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงน่าทุกข์ใจเลย มีแต่เรื่องน่าอนุโมทนาสาธุการ ส่วนเรื่องกังวลไปถึงภพชาตินี่ ภพชาติมันไม่มีสิ้นสุดอยู่แล้วสำหรับปุถุชน มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นแหละครับถึงจะตัดขาดภพชาติได้ ดังนั้นในเมื่อเป็นกังวลถึงภพชาติ ก็ให้สร้างแต่ "กรรมดี" ละเว้น "กรรมชั่ว" อย่างน้อยภพชาติที่ไม่สิ้นสุด ก็ยังพอหวังว่าจะยังเป็นภพชาติที่เป็นสุคติ ไม่ต้องไปเจอภพชาติที่เป็นทุคติ ผมขอตอบแค่กรณีที่คุณคิดว่า "คุณอาจทำบาป" ไม่ต้องตอบถึงประเด็นที่สอง เพราะเมื่อคุณรู้แล้วว่า "ไม่ได้เป็นการทำบาป" ก็ไม่มีอะไรอื่นอีกนอกจาก "เป็นบุญ" อยากจะเล่าเรื่องดีๆให้ฟังสักเรื่องหนึ่งว่า มีเด็กคนหนึ่ง เป็นลูกของเศรษฐีในเมืองโกสัมพี ในวันแรกที่เกิดมาใหม่ๆ พ่อแม่ได้ให้คนใช้ พาทารกไปอาบน้ำในแม่น้ำยมุนา ปรากฏว่าปลาใหญ่ในน้ำเห็นตัวเด็ก นึกว่าเป็นเหยื่อ ก็เลยฮุปไป เด็กทารกอยู่ในท้องปลา แต่ก็ไม่ตายเพราะมีบุญกุศลหล่อเลี้ยงชีวิต ปลาได้แหวกว่ายด้วยความเร่าร้อน จนไปติดอวนชาวประมงใน เมืองพาราณสี ชาวประมงจับปลาตัวนี้ได้ แล้วก็เอาไปตระเวนขาย เศรษฐีในเมืองพาราณสีเห็นก็เลยรับซื้อไว้ ภรรยาของเศรษฐี จะชำแหละตัวปลา พอผ่าจากหางมาถึงบริเวณท้อง แหวะท้องปลาออก ก็พบเด็กทารก ดีใจว่า ได้ลูกจากในท้องปลาแล้ว เศรษฐีก็ดีใจ เพราะไม่เคยมีลูกเลย แต่ก็ยังให้คนประกาศหาพ่อแม่ของเด็กทั่วเมือง พอไม่มีใครรับเป็นพ่อแม่ ก็เลยขอให้พระราชาช่วยตัดสิน พระราชาก็บอกว่า "งั้นท่านเศรษฐีเลี้ยงเอาไว้เป็นลูกก็แล้วกัน" เศรษฐีเมืองโกสัมพีที่เพิ่งสูญเสียลูกไป ได้ยินข่าวว่า มีเศรษฐีเมืองพาราณสีพบเด็กในท้องปลา ก็เลยเดินทางมาดูและขอคืน ทางฝ่ายเศรษฐีเมืองพาราณสีไม่ยอมให้ ก็เลยต้องให้พระราชาตัดสิน พระราชาบอกว่า "งั้นก็ให้เป็นลูกของคนสองตระกูลก็แล้วกัน" หลังจากนั้น ทั้งสองตระกูลก็ผลัดกันเลี้ยงเด็กคนนี้ด้วยความเมตตากรุณา ภายหลังเด็กคนนี้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ได้ออกบวชในพระพุทธศาสนา และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านมีนามว่า "พระพากุละ" (บางแห่งเรียก พระพักกุละ) ถ้าหากเราเลี้ยงดูลูกอย่างดี สอนเขาให้เป็นคนดีมีศีลธรรม เติบโตขึ้นมาก็ประพฤติแต่ความดี พ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่จริง หรือพ่อแม่บุญธรรม ก็ไม่ต้องไปกลัวบาปกรรมอะไรที่ไหนหรอกครับ เสริมเรื่องพรหมวิหารธรรม พรหมวิหาร เป็นธรรมะที่ว่าด้วยเรื่อง "วิถีชีวิตของผู้เป็นพรหม" คำว่าพรหมนี้ หมายถึงได้ทั้งผู้เป็นพ่อแม่ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ และความหมายกว้างกว่านั้นก็คือ ผู้ทีมีชีวิตอย่างประเสริฐ (สมัยนั้นคนเชื่อว่าผู้ประเสริฐสุดคือพรหม แต่พระพุทธเจ้าทรงให้ความหมายว่า คนที่มีวิถีชีวิตตามธรรมต่างหาก จึงจะเป็นพรหมผู้ประเสริฐแท้) ซึ่ง มีอยู่ ๔ประการ
๑. เมตตา - คือความต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข ถ้าเป็นการเลี้ยงดูลูก บุตรธิดา ก็เลี้ยงดูเขาอย่างดี ด้วยความต้องการให้เขามีความสุข
๒. กรุณา - คือความต้องการช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์ ถ้าเป็นการเลี้ยงดูลูก ก็คือเมื่อลูกประสบกับเรื่องไม่ดี ก็สงเคราะห์ช่วยเหลือ อุ้มชู ให้เขาพ้นจากความทุกข์
๓. มุทิตา - คือความพลอยร่วมยินดีเมื่อเขาประสบความสุข ถ้าเป็นการเลี้ยงดูลูก ก็คือการแสดงความยินดี กับลูก เมื่อเขาได้ประสบความสำเร็จในชีวิต มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
๔. อุเบกขา - คือความวางใจในตัวเขาได้ เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ สามารถยืนด้วยกำลังตัวเองได้ เราก็คอยดูเขาใช้ชีวิต โดยไม่มัวไปยุ่งหรือคอยดูแลจนเกินเหตุเกินควร ให้เป็นไปตามกลไกของธรรมชาติและกำลังของเขา ---------------------- * ตอบไว้เมื่อ 29 เม.ย. 54 17:52:08
Create Date : 29 เมษายน 2554 |
| |
|
Last Update : 3 พฤษภาคม 2554 11:40:47 น. |
| |
Counter : 3429 Pageviews. |
| |
|
|