Group Blog
 
All Blogs
 

สามก๊กอิ๋น เวรกรรมข้ามภพชาติ

สามก๊กอิ๋น แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย ช่วงที่พระนางซูสีไทเฮาเป็นใหญ่ แม้จะแต่งขึ้นหลังสุด แต่เนื้อความหลักๆในสามก๊กอิ๋นนั้นถูกแต่งขึ้นตั้งแต่มีการแต่งสามก๊กจี่เพงอ่วย(ซานกว๋อจื้อผิงหั้ว)แล้ว สามก๊กอิ๋น เป็นเพียงหนังสือที่นำเนื้อความที่ว่านี้ มาปรับปรุงและขยายความก็เท่านั้น ซึ่งหนังสือสามก๊กอิ๋นที่ว่านี้ มีฉบับภาษาไทยวางจำหน่ายแล้ว แต่ผมเองก็ยังหาไม่เจอว่าขายอยู่ที่ไหนเหมือนกัน

กลับมาว่าเรื่องเนื้อหาในสามก๊กอิ๋นต่อ เนื้อหาในสามก๊กฉบับนี้ปรับปรุงมาจากบทเปิดเรื่องของสามก๊กจี่เพงอ่วย ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในบทสามก๊กจี่เพงอ่วย ว่าเป็นเรื่องของบัณฑฺตสุมาเหมาตัดพ้อฟ้า และถูกยมทูตเอาตัวไปตัดสินคดีพิพาทบาดหมางของบุคคลในสมัยแผ่นดินไซ่ฮั่น ซึ่งสุมาเหมาได้พิพากษาให้แต่ละคนมาเกิดเป็นบุคคลต่างๆในสมัยสามก๊ก เพื่อชดใช้กรรมที่ตนเองก่อไว้ ซึ่งเรื่องการกลับชาติมาเกิดนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้งเหมือนกัน แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กับสามก๊กจี่เพงอ่วยอย่างเดียว เลยขอแยกเอามาเขียนต่างหากจะดีกว่า

ฉบับแรกสุดกล่าวไว้ว่า

"ฮั่นสิน หยินโป้ แพอวด เป็นโจทก์ร้องต่อพระเจ้าฮั่นโกโจ ฝ่ายพระเจ้าฮั่นโกโจก็ซัดทอดไปให้นางลิเฮา แลมีกวยถองเป็นพยานให้ฮั่นสิน หยินโป้ แพอวด พระเจ้าฮั่นโกโจและนางลิเฮาจึงถูกตัดสินว่าผิดจริง อันพระเจ้าฮั่นโกโจเล่าปังนั้นให้ไปจุติในครรภ์นางสนมหวังเหม่ยหยิน เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้พระมหากษัตริย์แผ่นดินตังฮั่นพระองค์สุดท้าย แลนางลิเฮานั้น ให้ไปเป็นนางฮกเฮาพระมเหสีพระเจ้าเหี้ยนเต้

ฝ่ายโจทก์อันมีฮั่นสิน หยินโป้ แพอวดนั้น ให้ไปเป็นคนข่มขี่พระมหากษัตริย์ในแผ่นดินให้ได้ความเดือดร้อน ฮั่นสินนั้นให้ไปเป็นโจโฉมหาอุปราชเป็นใหญ่ในแผ่นดินวุยก๊ก ข่มเหงพระเจ้าเหี้ยนเต้แลเข่นฆ่านางฮกเฮาเสียให้สมแค้น หยินโป้ให้ไปเป็นพระเจ้าซุนกวนเป็นใหญ่ในเมืองต๋องง่อ แลแพอวดให้ไปจุติเป็นพระเจ้าเล่าปี่เป็นพระมหากษัตริย์เมืองเสฉวน มีกวยถองซึ่งไปเกิดเป็นขงเบ้งที่ปรึกษาใหญ่นั้นช่วยราชการ แลโจโฉ ซุนกวน เล่าปี่นี้จะเป็นตัวการใหญ่ร่วมกันกระทำการให้แผ่นดินเกิดเป็นจลาจลแลราชวงศ์ฮั่นของพระเจ้าฮั่นโกโจก็จะสิ้นสูญไปสมดังความผิด

ฝ่ายเง็กเซียนฮ่องเต้เป็นใหญ่ในแดนสุขาวดีแจ้งว่าสุมาเหมาตัดสินคดีเป็นยุติธรรมดังนั้นก็โสมนัสเป็นกำลัง จึงให้ตัวสุมาเหมาผู้ตัดสินความนั้น ไปจุติเป็นสุมาอี้ขุนนางผู้ใหญ่เมืองฮูโต๋ ซึ่งสร้างรากฐานให้สามก๊กซึ่งจลาจลด้วยเหตุซึ่งฮั่นสิน หยินโป้ แพอวดทำนั้น ให้รวมเข้าเป็นหนึ่งเป็นประเทศจีน ให้อาณาประชาราษฎรสงบสุขสืบไป"

เมื่อล่อกวนตงนำสามก๊กมาเขียนเป็นนิยายสามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี(ซานกว๋อจื้อทงสู่เหยียนอี้) ก็ตัดบทนำเรื่องตรงตัดสินคดีอันนี้ออก ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง เฝิงเมิ่งกวีเอกในสมัยนั้นได้นำเรื่องราวตอนสุมาเหมาตัดสินคดีที่ว่านี้มาแต่งใหม่เป็นนิทานชื่อ "สุมาเหมาพิพากษาคดีในยมโลก" โดยเพิ่มคดีขึ้นอีกเป็นสี่คดี ผู้เสวยกรรมก็มีเพิ่มอีก เช่น ฆ้อฮอกเป็นบังทอง ห้วนโก้ยเป็นเตียวหุย(ก็เข้าเค้าดีเพราะห้วนโก้ยหรือฟั่นข่วยนี่ก็ค่อนข้างวู่วามมุทะลุไม่ค่อยมีปัญญาเหมือนกัน) ฌ้อปาอ๋องซึ่งแม้จะเบาปัญญาและบุ่มบ่าม แต่ก็ซื่อตรงไม่เป็นคนเจ้าความคิด จึงได้เกิดเป็นกวนอู แต่เนื่องจากเข่นฆ่าผู้คนไปมาก จึงต้องถูกตัดศีรษะตาย เป็นต้น นิทานที่ว่านี่เป็นที่นิยมแพร่หลายมาก

กาลล่วงถึงสมัยราชวงศ์ชิง กวีคนหนึ่งนำนิทานที่ว่านี้มาแต่งต่อ เพิ่มคดีความขึ้นอีก 5 คดีรวมเป็นเก้าคดีด้วยกัน บุคคลในไซ่ฮั่นที่ต้องมาเกิดใช้กรรมในสามก๊กก็มีเพิ่มอีกมากมาย และยังเปลี่ยนการเกิดใหม่ของบางคนให้สอดคล้องกับบุพกรรมเก่ามากขึ้นด้วย เช่นกวยถองที่เดิมให้ไปเป็นขงเบ้งนั้น ให้ไปเกิดเป็นชีซีแทน ให้ฟัมแจ้งกุนซือพระเจ้าฌ้อปาอ๋องนั้นไปเกิดเป็นขงเบ้งแทนกวยถอง (ซึ่งก็เหมาะสมแล้วเพราะฟัมแจ้งเองก็เป็นกุนซือที่เฉลียวฉลาดแต่เลือกนายไม่ดีและชะตาอาภัพ จึงไม่อาจทำการได้สำเร็จ ไม่ต่างอะไรกับขงเบ้ง) กีสินที่สละชีวิตให้พระเจ้าฮั่นโกโจทำศึกชนะพระเจ้าฌ้อปาอ๋องนั้น เพราะว่าน้ำใจจงรักภักดีต่อนาย สละชีวิตเอาโลหิตทาแผ่นดินไว้ให้ปรากฏ จึงให้ไปเกิดเป็นจูล่งขุนพลเอกเมืองเสฉวน ซึ่งแทบจะเป็นขุนพลคนเดียวในสามก๊กที่ได้นอนตายอย่างสงบที่บ้านด้วยความชราตามสังขาร ต่างจากขุนพลหลายคนที่ถูกประหารหรือตายในที่รบ

ส่วนลิปุดอุย(หลี่ปู้เหว่ย)ให้ไปเกิดเป็นลิโป้ จิ๋นซีฮ่องเต้เป็นตั๋งโต๊ะ นางจูกี๋(จ้าวจี)เป็นเตียวเสี้ยน ซึ่งตรงนี้ก็สอดคล้องกับเวรกรรมข้ามชาติเหมือนกัน เพราะในไซ่ฮั่นนั้น จิ๋นซีฮ่องเต้เข่นฆ่าลิปุดอุยซึ่งมีพระคุณ และเกือบจะให้เอานางจูกี๋มารดาไปตัดศีรษะ (ดีที่เหล่าขุนนางทัดทานไว้ นางจูกี๋จึงรอด แต่จิ๋นซีฮ่องเต้ก็ให้ไปกัดบริเวณไว้ไม่ให้เข้านอกออกในสะดวกเหมือนแต่ก่อน) มาถึงสามก๊กตั๋งโต๊ะจึงถูกลิโป้เนรคุณและถูกเตียวเสี้ยนยุยงให้แตกคอกับลิโป้จนต้องถูกฆ่าในที่สุดด้วย

เรื่องการเอาไซ่ฮั่นมาเชื่อมกับสามก๊กนี่ก็เหมาะสมดี เพราะไซ่ฮั่นเป็นการก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น ส่วนสามก๊กเป็นสงครามที่เป็นการล่มสลายอย่างสิ้นเชิงของราชวงศ์ฮั่น จึงเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นว่า เวรกรรมตามทันถึงรุ่นลูกรุ่นหลานนั่นเอง




 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 8 กรกฎาคม 2551 15:48:16 น.
Counter : 2068 Pageviews.  

สามก๊กอิ่งหงีหรือเอี้ยนหงี (San Guo Yan Yi)

ซานกว๋อจื้อเหยียนอี้(สามก๊กจี่อิ่งหงีหรือเอี้ยนหงี)

ประพันธ์โดยเหมาหลุน เหมาจ้งกังสองพ่อลูก ในสมัยราชวงศ์ชิง ทั้งสองได้ปรับปรุงสามก๊กแบบของล่อกวนตงอีกครั้งหนึ่ง และให้กิมเสี่ยถ่าง(จิ้นเซิ่งทั่น)เขียนคำนำเรื่อง(มีแปลไว้ในหนังสือ ตำนานนิทานสามก๊ก โดย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) และในหนังสือ ขุนพลสามก๊ก ที่แต่งโดย คุณทองแถม นาถจำนง ก็มีแปลไว้ครบถ้วนเช่นกัน

สามก๊กฉบับที่เหมาหลุน-เหมาจ้งกังปรับเปลี่ยนแก้นั้น มีจุดบกพร่องประการสำคัญที่มีผู้กล่าวไว้ก็คือ เหมาจ้งกังยึดแนวคิดให้ก๊กเล่าปี่เป็นรัฐเจิ้งถุ่ง(ราชวงศ์ที่ถูกต้องของแผ่นดินจีน)อย่างสุดโต่ง เขียนเข้าข้างเล่าปี่ขยี้โจโฉสุดฤทธิ์ ทำให้มีผู้ตำหนิติเตียนอยู่หลายคนเหมือนกัน

สำหรับข้อบกพร่องของการแก้ไขของเหมาหลุน-เหมาจ้งกังนี้ คุณหนิงซีหยวน ได้สรุปออกมาเป็นข้อๆ ซึ่งคุณทองแถม นาถจำนง ได้แปลออกมาในหนังสือ ขุนพลสามก๊ก ดังจะกล่าวต่อไปนี้(ตามสำนวนของผม)

1) เหมาจ้งกังดัดแปลงภาพลักษณ์ตัวละครให้เปลี่ยนไปตามแนวคิดของตัวมากเกินไป จนบ้างครั้งถึงกับไปเปลี่ยนแปลงบทบาทของตัวละครไป

2) เหมาจ้งกังแก้ไขสำนวนภาษาของนิยายมากเกินไป สำนวนซึ่งล่อกวนตงใช้นั้นเป็นสำนวนพูดเป็นส่วนมากยิ่งกว่าสำนวนเขียนนัก แลสำนวนซึ่งตัวละครแต่ละตัวพูดกันนั้นก็มีเอกลักษณ์เฉพาะแก่ตัว ทั้งยังเป็นสำนวนภาษายุคราชวงศ์หยวน(หงวน) ขณะที่เหมาจ้งกังไปเปลี่ยนแก้ให้เป็นภาษาเขียนมากขึ้น ซึ่งมีผู้กล่าวว่าเป็นการทำลายซึ่งยุคสมัยของผู้เขียนเรื่อง คือเปลี่ยนสำนวนเป็นยุคราชวงศ์ชิง(ของเหมาจ้งกัง) แทนที่จะเป็นยุคราชวงศ์หยวน(หงวน..ยุคของล่อกวนตง)

3) เหมาจ้งกังเปลี่ยนชื่อตำแหน่งขุนนางแลสถานที่ของนิยายสามก๊กไปผิดจากชื่อจริงในยุคนั้นๆ สามก๊กฉบับของล่อกวนตงนั้นเขียนชื่อตำแหน่งของตัวละครแลสถานที่ค่อนข้างตรงตามประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก แต่เหมาจ้งกังมาเปลี่ยนแก้ไปให้ตรงตามสมัยนิยม(ราชวงศ์ชิง)ทำให้สับสนวุ่นวาย

อย่างไรก็ตามที ใช่ว่าการซึ่งเหมาหลุนแลเหมาจ้งกังนี้มาปรับปรุงนิยายสามก๊กของล่อกวนตงจะมีแต่เพียงข้อเสียไร้ซึ่งข้อดีนั้นหามิได้ เขาได้ปรับปรุงการวางฉาก ดำเนินเรื่อง ขัดเกลาภาษา ปรับปรุงท่าที คำพูดของตัวละคร ซึ่งทำให้นิยายสามก๊กแปรร่างเป็นนิยายอมตะ แต่ทุกวันนี้ก็ยังอ่านสนุกไม่เยิ่นเย้อเช่นนิยายแต่โบราณมา

สามก๊กที่ท่านเจ้าพระยาพระคลังนำมาแปลเป็นพงศาวดารของบ้านเรานั้น ก็เป็นฉบับที่เหมาหลุน-เหมาจ้งกังปรับปรุงแก้ไขแล้วเช่นเดียวกัน...




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2549    
Last Update : 23 สิงหาคม 2549 20:42:32 น.
Counter : 1255 Pageviews.  

สามก๊กฉบับหลี่ผิงเปิ่น (หลี่จัวอู่เซียนเซิงพีผิงซานกว๋อจื้อ)

เย่โจ้ว ปราชญ์เมืองอู่ซี ได้ทำการปรับปรุงสามก๊กเอี้ยนหงีของล่อกวนตงใหม่อีกครั้ง โดยจัดหมวดให้สองตอนเป็นหนึ่งบท จึงได้ออกมาเป็นหนึ่งร้อยยี่สิบบทถ้วน เท่ากับหนังสือสามก๊กฉบับนิยายในปัจจุบัน

นอกจากนี้เย่โจ้วยังได้เขียนบทวิจารณ์ไว้ด้วย ซึ่งการวิจารณ์ของเย่โจ้วนั้นไม่เน้นด้านวรรณศิลป์ แต่จะเน้นด้านการเมือง จริยธรรม และแนวคิดของตัวละครในหนังสือสามก๊กมากกว่า และฉบับนี้ยังได้วิพากษ์ขงเบ้งไว้อย่างแรงอีกด้วย

แต่ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใด เย่โจ้วกลับเขียนว่าหนังสือสามก๊กของเขานั้น ผู้เขียนคือหลี่จัวอู่ จึงเรียกว่า "หลี่จัวอู่เซียนเซิงพีผิงซานกว๋อจื้อ" หรือย่อว่า "สามก๊กฉบับหลี่ผิงเปิ่น"

..




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2549    
Last Update : 1 กรกฎาคม 2551 8:46:52 น.
Counter : 484 Pageviews.  

สามก๊กฉบับเจี่ยชิ่ง (ซานกว๋อจื้อทงสู่เหยียนอี้)

ซานกว๋อจื้อทงสู่เหยียนอี้(สามก๊กฉบับเจี่ยชิ่ง)

สามก๊กฉบับเจี่ยชิ่งนี้เรียบเรียงโดยล่อกวนตง(หลอกว้านจง)นักปราชญ์สมัยราชวงศ์หมิง ศิษย์ของซือไน่อัน แต่ฉบับเจี่ยชิ่งแท้ๆที่ล่อกวนตงประพันธ์จริงๆนั้นไม่เหลือมาถึงปัจจุบันอีกแล้ว

กล่าวกันว่า ล่อกวนตงเป็นคนแรกที่ทำการขีดเส้นแบ่งฝักฝ่ายของตัวละครต่างๆในสามก๊กเป็นฝ่ายดีแลฝ่ายชั่วเป็นครั้งแรก เพราะล่อกวนตงแต่งขึ้นเพื่อใช้แสดงละครงิ้ว ดังนั้นก็ต้องมีตัวเอกตัวร้ายแยกกันเป็นฝ่าย โดยล่อกวนตงจัดอย่างที่รู้ๆกันอยู่ คือให้ฝ่ายเล่าปี่เป็นตัวเอก ฝ่ายโจโฉเป็นตัวร้าย แต่อย่างไรก็ตาม กล่าวกันว่าล่อกวนตงยังไม่ขยี้โจโฉจนเกินไปนัก เขายังยกย่องโจโฉในเนื้อเรื่องหลายประการ

การซึ่งกล่าวกันไว้นั้นว่า ล่อกวนตงแต่งสามก๊กขึ้นโดยอิงหลักการที่จะกล่าวต่อไปนี้

1) แกนดำเนินเรื่องหลักแห่งนิยายสามก๊กของล่อกวนตง คือสามก๊กจี่(ฉบับจดหมายเหตุ)ของตันซิ่ว หรือบันทึกประวัติศาสตร์บางเล่ม และใช้งิ้วยุคก่อนๆมา เช่น ซานกว๋อจื้อผิงหั้ว มาปรุงแต่งบ้าง

2) ล่อกวนตงใช้หลักการให้จ๊กก๊กของเล่าปี่เป็นรัฐเจิ้งถุ่ง รัฐวุยและง่อเป็นรัฐเพียนอัน(ก็คือยกย่องเล่าปี่ขยี้โจโฉ) จึงทำการตัดเนื้อเรื่องไปบ้าง แต่ก็ยังไม่มากเกินไปนัก ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

แต่การที่หลายๆคนกล่าวว่า สามก๊กฉบับนิยายนั้นลำเอียงเข้าข้างเล่าปี่อย่างเห็นได้ชัด มาจากสามก๊กฉบับที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้...




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2549    
Last Update : 23 สิงหาคม 2549 20:22:55 น.
Counter : 764 Pageviews.  

สามก๊กจี่เพงอ่วย (ซานกว๋อจื้อผิงหั้ว)

ซานกว๋อจื้อผิงหั้ว

(น่าจะเขียนเป็นจีนฮกเกี้ยนว่า สามก๊กจี่เพงอ่วย)

นักปราชญ์สมัยราชวงศ์ถังได้รวบรวมสามก๊กเขียนเป็นนิทานงิ้ว เรียกว่า ซานกว๋อจื้อผิงหั้ว โดยเปิดบทนำว่า สามก๊กเป็นเรื่องราวที่เป็นผลกรรมสืบเนื่องมาจากยุคก่อตี้งราชวงศ์ฮั่นของเล่าปังหรือพระเจ้าฮั่นโกโจนั่นเอง ตามกลอนที่คุณทองแถม นาถจำนงเขียนไว้ในหนังสือ ขุนพลสามก๊ก ว่า

"กังตั๋งดอยสินธูภูเสฉวน
โจโฉควรครองถิ่นกลางอย่างห้าวหาญ
ใช่ทั้งสามมักใหญ่ใจทะยาน
เกิดมาผลาญเวรเก่าองค์เล่าปัง"

ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า บัณฑิตสุมาเหมา(หรือชื่อรองว่าสุมาตองสอง ซึ่งก็น่าจะเป็นคำเดียวกับ "สุมาต๋ง" นั่นแหละ)ตัดพ้อฟ้าและถูกยมทูตเอาตัวไปตัดสินคดีที่เมืองนรก ซึ่งคดีที่ตัดสินนี้ก็คือคดีของพวกเล่าปัง ฌ้อปาอ๋อง ฮั่นสิน เซียวโห ฟั่นเจิง ฯลฯ หรือก็คือพวกที่มีบทบาทในพงศาวดารไซ่ฮั่นหลักๆ นั่นเอง ยกเว้นแต่เตียวเหลียง เพราะเตียวเหลียงเป็นคนเดียวที่สามารถละวางอำนาจและใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในบั้นปลายชีวิตได้

สุมาเหมาตัดสินให้แต่ละคนกลับชาติมาเกิดใหม่ในยุคสามก๊กตามแต่กรรมที่ตัวทำไว้ เช่นฮั่นสินที่ถูกเล่าปังข่มเหงนั้นเกิดเป็นโจโฉ มาคอยข่มเหงเล่าปังที่เกิดเป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ เพื่อให้เล่าปังใช้กรรม เป็นต้น และปิดท้ายบทนำบทนี้ด้วยการที่ยมบาลตัดสินให้สุมาเหมาไปเกิดใหม่เป็นสุมาอี้ ผู้ปูทางสู่การรวบรวมสามก๊กเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ราชวงศ์ใหม่

สำหรับใครเกิดเป็นใครนี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงกันหลายหนเหมือนกัน ซึ่งผมจะเขียนละเอียดในบทสามก๊กอิ๋นจะดีกว่า

เนื่องจากสามก๊กจี่เพงอ่วยนี้เป็นนิทานงิ้ว ข้อมูลจึงผิดไปจากประวัติศาสตร์มาก เช่น แต่งให้เตียวหุยเป็นขุนพลที่รบเก่งที่สุด ถึงกับรบชนะลิโป้จนลิโป้วิ่งหนี รบชนะจูล่งที่กู่เฉิง และมุทะลุถึงขนาดบีบคออ้วนซงตายคามือ หรือแต่งให้ฮองตงเก่งกาจสามารถรบกับกวนอู เตียวหุย จูล่งพร้อมกันโดยไม่มีม้า จนกวนอูถึงกับยกย่องว่า "นี่คือมหาบุรุษในแผ่นดิน ไม่มีผู้ใดเทียบได้" เลยทีเดียว

แต่ในความเข้าใจของผม ซานกว๋อจื้อผิงหั้วนี่คงจะมีหลายฉบับ หรือหลายเวอร์ชั่น เพราะเนื้อความมันดูขัดแย้งกันชอบกล เอาแค่ที่ยกมาก็ขัดกันแล้ว เตียวหุยถ้าได้รับยกย่องว่าเก่งขนาดนั้นทำไมขนาดรุมรบฮองตงก็ยังชนะไม่ได้ แถมมีงิ้วที่เตียวหุยรบแพ้เกือบโดนจับด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สามก๊กฉบับนี้จะมั่วๆไปบ้าง แต่ก็มีอิทธิพลต่อหนังสือสามก๊กของล่อกวนตงในยุคหลังอยู่เหมือนกัน เช่นเหตุการณ์ที่กวนอูกล่าวยกย่องเตียวหุยต่อโจโฉ หลังจากโจโฉชมฝีมือของตนที่ว่า

"อันฝีมือข้าแต่เท่านี้ยังด้อยนัก เตียวหุยน้องข้านั้น แม้ผู้อยู่กลางกองทหารถึงร้อยหมื่น ก็อาจจะฝ่าไปสังหารเสียโดยง่ายดุจหนึ่งล้วงของในถุงย่าม"

และสามก๊กฉบับนี้ถึงจะอ่านเอาข้อมูลเรื่องจริงไม่ได้ แต่ผมดูจากที่คุณทองแถม นาถจำนงยกมาในหนังสือขุนพลสามก๊กแล้ว ก็จัดได้ว่าเรื่องในนิทานสามก๊กชุดนี้น่าสนใจไม่เบา ทั้งเรื่องเตียวหุยรบชนะลิโป้ จับเป็นเตียวก๊ก เตียวเป่า เตียวเหลียง กวนอู เตียวหุย อุยเอี๋ยนรุมรบฮองตง เป็นต้น เท่านั้นก็น่าจะมีคุณค่ามากในฐานะนิทานสามก๊กเรื่องหนึ่งแล้ว

จะขอยกตัวอย่างเรื่องราวในหนังสือซานกว๋อจื้อผิงหั้วให้ท่านทั้งหลายได้อ่านซักหน่อยก็แล้วกัน

บทเปิดตัวฮองตง

(จากหนังสือขุนพลสามก๊กของคุณทองแถม นาถจำนง ปรับปรุงสำนวนโดย ผู้คลั่งสามก๊กและวรรณกรรมจีน)

หลังมหายุทธนาวีที่ผาแดง โจโฉแตกหนีกลับไปเมืองฮูโต๋ ฝ่ายขงเบ้งได้ยึดหัวเมืองเกงจิ๋วเป็นหลายเมืองให้อยู่ในบังคับ แลขงเบ้งนำทัพยกไปตีจะเอาเมืองกิมเหลง

ฝ่ายกิมสือเจ้าเมืองกิมเหลง แจ้งว่าขงเบ้งยกมา ก็ให้ฮองตงทหารคนสนิทซึ่งมีฝีมือหาผู้เสมอมิได้ ยกออกไปต่อรบขงเบ้ง

ฝ่ายขงเบ้งจึงให้อุยเอี๋ยนออกไปรบฮองตง รบกันอยู่สองวันเศษไม่แพ้ชนะกัน ขงเบ้งจึงให้เตียวหุยไปต่อกรกับฮองตง เตียวหุยรบฮองตงอยู่เป็นช้านานก็ไม่แพ้ชนะกันอีก

จนเวลาล่วงไปสิบวัน ขงเบ้งมีความวิตกนักด้วยการซึ่งจะตีเอาเมืองกิมเหลงนั้นหาสมคะเนไม่ จึงเขียนหนังสือให้ม้าใช้ถือไปให้กวนอูจะให้นำทหารยกมาช่วยตีเอาเมืองกิมเหลง ฝ่ายกวนอูได้หนังสือขงเบ้งแจ้งความแล้ว จึงเกณฑ์ทหารประมาณห้าพันยกมาแต่เมืองเกงจิ๋ว ครั้นมาถึงเมืองกิมเหลง กวนอูก็เข้าไปรบกับฮองตง รบกันหลายครั้งก็มิอาจเอาชัยฮองตงได้

ฝ่ายบังทองจึงว่าแก่ขงเบ้งว่า ฮองตงเคยกล่าวเอาไว้ว่า เราเป็นแต่โจรเมืองกังหนำ ซึ่งได้มาเป็นทหารเอกมีความสุขฉะนี้ก็ด้วยน้ำใจกิมสือ จะสนองคุณกิมสือไปกว่าตัวจะตาย แม้นสิ้นกิมสือเสียแล้วจึงอาจหาเจ้าหานายใหม่ได้ ฝ่ายขงเบ้งแจ้งดังนั้นก็คิดเป็นกลอุบายขึ้นได้อันหนึ่ง

รุ่งขึ้น ขงเบ้งแกล้งแพ้ศึกแตกหนีกิมสือ ฝ่ายกิมสือมีใจกำเริบเห็นตัวได้เปรียบ ก็นำทหารยกตามขงเบ้งไปเป็นทางไกลหลายลี้ ขงเบ้งเห็นสบโอกาสก็น้าวเกาฑัณฑ์ยิงเอากิมสือตายเสียในที่รบ แลขงเบ้งจึงให้บังทองไปเจรจาให้ฮองตงสามิภักดิ์ขงเบ้งเสียจะได้ความสุขสืบไป

ฝ่ายฮองตงครั้นแจ้งว่าขงเบ้งฆ่ากิมสือเสียแล้วก็มีใจโกรธขงเบ้งเป็นอันมาก จะล้างแค้นสนองคุณกิมสือ เตียวหุยเห็นดังนั้นจึงคว้าทวนเข้ารบด้วยฮองตง ฮองตงเตียวหุยรบกันร้อยเพลงหาแพ้ชนะกันไม่ ฝ่ายขงเบ้งเห็นเตียวหุยรบฮองตงมิอาจเอาชัยดังนั้น ก็ให้อุยเอี๋ยนออกไปรุมรบฮองตง ฮองตงรบเตียวหุย อุยเอี๋ยนอีกเป็นหลายเพลงยังมิเสียทียืนหยัดได้ ฝ่ายกวนอูเห็นฮองตงรบห้าวหาญ เตียวหุย อุยเอี๋ยนคว่ำมิลงก็โกรธ ฉวยง้าวนิลนาคะเข้าไปรุมรบฮองตงอีกผู้หนึ่ง

ฝ่ายฮองตงรบอุยเอี๋ยน เตียวหุย กวนอูหลายเพลงไม่แพ้ชนะกัน ม้าฮองตงเกิดเสียหลักล้ม ฮองตงเห็นม้าล้มแล้วก็โดดขึ้นยืนถือง้าวรบกันกับกวนอู เตียวหุย อุยเอี๋ยนอยู่หาเสียทีไม่

ฝ่ายกวนอูเห็นฮองตงองอาจห้าวหาญ ฝีมือฉกรรจ์แม้รบทหารเอกสามนายก็หาเสียทีพ่ายศึกไม่ดังนั้นก็นับถือน้ำใจฮองตงเป็นอันมากแล้วว่า อันฮองตงนี้ เป็นชายชาตินักรบมหาบุรุษที่หนึ่งในแผ่นดินหาผู้เสมอเหมือนมิได้

ฝ่ายขงเบ้งจึงตีฆ้องเป็นสัญญาณให้เตียวหุย กวนอู อุยเอี๋ยนถอยออกเสีย แล้วตัวนั้นออกไปเกลี้ยกล่อมฮองตง โวหารขงเบ้งกินใจฮองตงจนฮองตงซึ้งใจเป็นอันมาก จึงยอมเข้าด้วยเล่าปี่ แลขอให้ขงเบ้งจัดงานศพกิมสือให้สมเกียรติ

ความร้ายกาจของเตียวหุยในสามก๊กจี่ผิงอ่วย

เตียวหุยในสามก๊กจี่ผิงอ่วยฉบับนี้ร้ายกาจมาก เป็นขุนพลฝีมืออันดับหนึ่งในแผ่นดินก็ว่าได้ ฉายาของเตียวหุยที่ว่า "ฆ่าขุนพลข้าศึกในกองทัพนับแสนง่ายดายเหมือนล้วงของในถุงย่าม" ก็มาจากสามก๊กฉบับนี้นี่เอง นอกจากเตียวหุยจะฝีมือเป็นหนึ่งแล้วยังมีวีรกรรมดุดันใจร้อนวู่วาม แบบที่ว่าเตียวหุยฉบับล่อกวนตงที่จับต๊กอิ๊วเฆี่ยนนั้นชิดซ้ายชนข้างฝาไปเลยอีกต่างหาก ดังที่จะบอกแค่ย่อๆ(เพราะแหล่งอ้างอิงคือหนังสือขุนพลสามก๊กนั้นไม่ได้เขียนละเอียด)ดังนี้

-ฆ่าข้าหลวงเตงจิ๋วตายทันที เพียงแค่โมโหขึ้นมา
-บีบคออ้วนซงบุตรอ้วนสุดตาย
-รบลิโป้ตัวต่อตัว ลิโป้พ่ายหนีไม่กล้าต่อกร
-จูล่งรบแพ้เตียวหุยที่กู่เฉิง
-วางแผนจับเป็นเตียวก๊ก เตียวเป่า เตียวเหลียงได้ในงิ้ว หมุ่บ้านป่าตันเหง
-นอกจากยกย่องเตียวหุยแล้ว งิ้วบางเรื่องยังออกจะเหยียดๆกวนอูด้วย ดังตอนที่เตียวหุยเจอกวนอูครั้งแรกหลังจากกวนอูไปเข้าด้วยกับโจโฉ(แล้วหนีกลับมาหาเล่าปี่)นั้น เตียวหุยร้องด่ากวนอูได้ซึ้งกินใจผู้ชมมากทีเดียว

เปิดตัวกวนอู

จะกล่าวบทไปถึงบุคคลหนึ่งเรียกว่ากวนอู ชื่อรองว่าหุนเตี๋ยง กำเนิดในเมืองฮอตั๋งไก่เหลียงมีลักษณะดี คิ้วงามดังเทพยดาแดนสุขาวดี ตาเรียวดังหนึ่งหงส์ขาวในลำธารใสสว่าง จอนผมดังมังกรน้อย ใบหน้าดูดังหยกม่วง สูงสองเชียะเก้านิ้ว มีใจชมชอบหนังสือบันทึกชุนชิวจั๋วจ้วนเป็นอันมาก แลมีใจชังขุนนางกังฉินซึ่งทำอำนาจข่มเหงไพร่บ้านพลเมืองเป็นที่สุด

ฝ่ายขุนนางอำเภอฮอตั๋งไก่เหลียงละโมบ ใช้อำนาจตามแต่ใจตัวข่มเหงไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อน กวนอูเห็นนายอำเภอไม่ตั้งอยู่ในความสัตย์ กระทำการเลวร้ายดังนั้นก็โกรธ เข้าไปฆ่านายอำเภอเสีย แลหนีคดีความท่องไปเมืองตุ้นกวน

...

(อาจจะยังมีต่อ)




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2549    
Last Update : 8 กรกฎาคม 2551 11:04:25 น.
Counter : 574 Pageviews.  

1  2  

Chineseman
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Chineseman's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.