อลินน์ ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ
 
 

กรมพระราชวังหลังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บทที่ 4.3รบพม่าที่ปากพิง โดย อลินน์

4.3           รบพม่าที่ปากพิง

 

                               

 

เจ้าเมืองตองอูได้นำกองทัพที่ 3 ของพม่ามาตั้งชุมนุมพล ณ เมืองเชียงแสน มอบหมายให้เมยะโนสีหะปติเป็นแม่ทัพ มีปันยีตะจองโบ จุยลันตองโบ แยจอนอระทา ปลันโบ นัดซูมะลำโบ มุกอุโบ สาระจอซู กับไพร่ 5,000 ไปตีเมืองสวรรคโลก สุโขทัย พิชัย และพิษณุโลก ส่วนเจ้าเมืองตองอูนั้นถือพล 15,000 เป็นกองหลวง มีโปมะยุง่วนเป็นกองหน้า พร้อมเมือยยอง เชียงกะเล พระยาไชยะ และน้อยอันทะ ถือพล 3,000 ยกลงมาทางแจ้ห่ม ผ่านเชียงใหม่ซึ่งยังร้างในสมัยนั้น ไปล้อมเมืองลำปาง (ลคร)

โปมะยุง่วนมีชื่อปรากฎในพระราชพงศาวดารทั้งไทย พม่า จวบจนคำให้การต่างๆ หลายชื่อด้วยกัน เป็นต้นว่า มะยิหวุ่น อาปะการะมะนี โปมะยุง่วน ส่วนที่เรียกกันว่า อาปะระกามะนีนั้น เป็นตามบรรดาศักดิ์ เรียกกันว่ามะยิหวุ่นเป็นตามยศเจ้าเมือง

 

คำว่าโป แปลว่านายพล ดังนั้น โปมะยุง่วน หรือ โปมะยิหวุ่น จึงแปลว่าเจ้าเมืองผู้เป็นนายพล

 

โปมะยุง่วนหรืออาปะการะมะนีผู้นี้เดิมเป็นขุนนางอยู่เมืองอังวะ เคยคุมพลเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ในปีพ.ศ. 2305 (แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) เมื่อตีเมืองเชียงใหม่ได้ พระเจ้าอังวะก็ทรงตั้งให้เป็นมะยิหวุ่น ผู้สำเร็จราชการเมืองเชียงใหม่ต่อมา มักคุมกองกำลังช่วยพระเจ้าอังวะรบกับไทยอยู่เนืองๆ จวบจนเมืองเชียงใหม่ตกเป็นของไทยในปีพ.ศ. 2317 โปมะยุง่วนก็ขึ้นไปตั้งที่เมืองเชียงแสนจนถึงสงคราม 9 ทัพ

 

กองทัพของเจ้าเมืองตวงอูล่วงมาตีนครลำปาง (ลคร) แต่ไม่สามารถตีหักเอาเมืองได้ เนื่องจากพระเจ้ากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปางพาชาวเมืองต่อสู้พม่าอย่างเข้มแข็ง พม่าจึงได้แต่ล้อมเมืองไว้ ส่วนหัวเมืองรายทางเช่นสวรรคโลกนั้น สภาพเมืองยังอ่อนแอจากศึกอะแซหวุ่นกี้ จึงไม่สามารถทานทัพพม่าได้ ผู้รักษาเมืองพากันอพยพชาวเมืองหนีเข้าป่า กองทัพของเนมะโยสีหะปติจึงได้หัวเมืองเหนือเรื่อยมาตามเส้นทางทัพจนถึงเมืองพิษณุโลก

 

 

ส่วนทัพพม่าที่ 8 นั้น เข้ามาทางด่านละเมาได้โดยสะดวกเพราะเจ้าเมืองตากยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี พม่าส่งตัวเจ้าเมืองตาก ครอบครัวตลอดจนชาวเมืองจำนวน 500 คนไปยังพม่า แล้วนรธาจอข่องก็ตั้งทัพที่บ้านระแหง

 

 

สรุปได้ว่า เบื้องทิศเหนือนั้น มีกองทัพถึง 3 กอง ได้แก่ ทัพที่บ้านระแหง ทัพที่ปากพิงและทัพที่ลำปาง

                                                                                                       

 

เมื่อทัพของพระเจ้าหลานเธอฯ กรมพระราชวังหลังยกไปถึง กองทัพทั้งหมดล่วงเข้ามาในดินแดนไทยแล้วทั้งสิ้น ทัพกรมพระราชวังหลังได้แบ่งกำลังเป็น 3 กองเช่นกัน โดยกองหน้า มีเจ้าพระยามหาเสนาเป็นนายทัพ ยกขึ้นไปรักษาเมืองพิจิตร กองหลวง เป็นกองกรมพระราชวังหลัง ตั้งรักษาเมืองนครสวรรค์ และกองหลัง มีพระยาพระคลังกับพระยาอุทัยธรรมคุมกอง ตั้งรักษาเมืองชัยนาท เพื่อคอยกันพม่าที่อาจยกมาทางเมืองอุทัยธานี

 

เมยะโนสีหะปติเห็นว่ามีกองทัพของไทยสกัดอยู่ จึงตั้งค่ายอยู่ ณ ปากพิง ใต้เมืองพิษณุโลก รอให้กองทัพเจ้าเมืองตองอูหนุนมาก่อนจึงค่อยเคลื่อนทัพพร้อมกับทัพที่ตั้งอยู่บ้านระแหง ขนาบทัพกรมพระราชวังหลังมาทั้งสองทาง ส่วนทัพกรมพระราชวังหลังนั้น เมื่อตั้งค่ายแล้วก็รออยู่ เพราะไม่ทราบว่าอีกฝ่ายมีกำลังเท่าไหร่แน่ นอกจากนี้ เป้าหมายหลักของทัพเหนือคือการป้องกันไม่ให้ทัพพม่าล่วงมาถึงกรุงเทพฯ ได้ โดยเฉพาะขณะที่ทัพกรมพระราชวังบวรกำลังรบกับทัพหลวงของพระเจ้าปะดุง การยั้งทัพไว้นั้นจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้น

 

หลังจากทัพกรมพระราชวังบวรตีทัพหลวงของพระเจ้าปะดุงแตกพ่ายแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เสด็จยกทัพหลวงออกจากกรุงเทพฯ ในวันศุกร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 โดยเคลื่อนพลจำนวน 30,000 เสด็จโดยชลมารคไปประทับที่เมืองอินทบุรี มีรับสั่งขึ้นไปยังกรมพระราชวังหลังให้รีบยกทัพไปสมบทเจ้าพระยามหาเสนาตีค่ายพม่าที่เมืองปากพิงเสียให้แตก ส่วนทัพพม่าที่บ้านระแหงนั้น โปรดให้กองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (พระโอรสในพระพี่นางพระองค์น้อย) เจ้าพระยาพระคลัง พระยาอุทัยธรรมซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองชัยนาท ยกทัพไปตีเช่นกัน แล้วทัพหลวงของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ยกตามขึ้นไปอยู่ที่นครสวรรค์ ก่อนจะไปประทับที่บางข้าวตอก เมืองพิจิตร

 

 รับสั่งนั้น โปรดให้กรมพระยาเทพสุดาวดีทรงเชิญขึ้นไปถึงสมเด็จพระเจ้าหลานเธอฯ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า

 

 

ในขณะนั้น ทางกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการดำรัสให้พระยาเทพสุดาวดีเจ้ากรมในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ เชิญสารตรารับสั่งขึ้นไปถึงสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ว่า บัดนี้ราชการศึกทางเมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราทัพหลวงไปปราบปัจจามิตรได้ชัยชำนะเสร็จแล้ว และราชการข้างหัวเมืองฝ่ายเหนือ แม้กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์คิดทำไม่สำเร็จ พระเศียรก็จะไม่ได้คงอยู่กับพระกายเป็นแน่แท้ และบัดนี้ ทัพหลวงก็จะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาโดยเร็วอยู่แล้ว

 

 

ในปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗ นั้น ครั้นถึงวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ได้มหาพิไชยอุดมฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ทินกรส่องสีลายรดน้ำพื้นแดง พระที่นั่งมณีจักรพรรดิลายรดน้ำพื้นเขียว ทรงพระไชยนำเสด็จ พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลาย โดยเสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนพยุหยาตราหน้าหลัง และพหลโยธาหาญ ๓๐,๐๐๐ สรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธ ให้ยาตรานาวาทัพหลวงจากกรุงเทพมหานคร ประทับรอนแรมไปโดยชลมารคถึงเมืองอินทบุรี ให้ตั้งค่ายและพระตำหนักพลับพลาไชย เสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น

 

 

เมื่อกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ได้ทราบในสารตรารับสั่ง ก็มีรับสั่งให้กองทัพที่เมืองพิจิตรยกตีค่ายพม่าที่ปากน้ำพิง เจ้าพระยามหาเสนาให้กองทัพพระยาสระบุรีเป็นกองหน้ายกล่วงขึ้นไปก่อนแล้วจึงหนุนตามไป ส่วนทัพหลวงนั้น กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์และกรมหลวงนรินทร์รณเรศ (เจ้าฟ้าทองจีน พระอนุชาในกรมพระราชวังหลัง) ก็ยกตามขึ้นไปด้วย

 

ทางด้านกองหน้า พระยาสระบุรียกขึ้นไปตามริมฝั่งแม่น้ำฟากตะวันออกตั้งแต่ฟ้าสาง เห็นเงาตะคุ่มๆ ก็นึกว่าพม่ายกทัพข้ามน้ำมา สั่งไพร่พลถอยอลหม่าน เมื่อฟ้าสว่างจึงได้รู้ว่า เงาตะคุ่มๆ ที่พาหัวใจหล่นแท้จริงคือฝูงนกกระทุง เมื่อความทราบถึงกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ หัวของนายทัพตื่นตูมก็หลุดจากบ่า ไปตั้งเสียบไว้ที่หาดทรายเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง

 

ทัพของกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์และเจ้าพระยามหาเสนาเข้าโจมตีค่ายพม่า ในวันเสาร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 4 รบกับพม่าตั้งแต่เช้าจนค่ำ ต่างฝ่ายต่างยิงปืนใหญ่น้อยตอบโต้กันจนถึงเวลาหนึ่งทุ่ม ค่ายพม่าก็แตก ว่ากันว่า ชัยภูมิการตั้งค่ายของพม่าครั้งนี้ไม่ถูกต้องนักด้วยตั้งค่ายฝั่งตะวันออก ทำให้ทหารพม่าต้องข้ามแม่น้ำหนีไปยังฟากตะวันตก ทั้งคนทั้งม้าจมน้ำตายกว่า 800 ศพ ลอยเกลื่อนแม่น้ำจนใช้อาบใช้กินไม่ได้ ถูกจับเป็นก็มีมาก

                               

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงทราบว่าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอฯ ตีค่ายพม่าแตกแล้วนั้น ก็ทรงโสมนัส และรับสั่งให้เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฏาคุมกำลังแยกจากทัพหลวงสมทบกับทัพเจ้าพระยามหาเสนาติดตามพม่าที่เตลิดขึ้นเหนือไปทางลำปาง แล้วจึงเสด็จทัพหลวงกลับมาตั้งที่นครสวรรค์ โดยมีกรมพระราชวังหลังและเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศตามเสด็จด้วย

                               

 

ทางด้านทัพพม่าที่ตั้ง ณ ด่านแม่ละเมานั้น เห็นทีจะทราบข่าวทัพอื่นย่อยยับเสียแล้วทุกค่าย จึงถอยทัพกลับทางด่านแม่ละเมาก่อนกองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยาพระคลังจะไปถึง ส่วนพระยากาวิละนั้น เมื่อเห็นว่ามีทัพหนุนจากกรุงเทพฯ ก็ตีขนาบออกมาพร้อมๆ กัน รบตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ทัพของเจ้าเมืองตองอูก็แตกกลับไปเชียงแสน ในเดือน 5 ปีมะเมีย พ.ศ. 2329                 

 

                               

 




 

Create Date : 08 มกราคม 2556   
Last Update : 8 มกราคม 2556 10:36:58 น.   
Counter : 2492 Pageviews.  


กรมพระราชวังหลังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บทที่ 4.2 เหตุของศึกปากพิง โดย อลินน์

4.2           เหตุของศึกปากพิง

 

 

ศึกปากพิงเกิดจากสงคราม 9 ทัพ อันเป็นศึกพม่าครั้งใหญ่เมื่อต้นรัชกาลที่คนไทยรู้จักกันดี เนื่องจากพม่ายกทัพมาครั้งนี้มีไพร่พลถึง 144,000 คน ขณะที่ไทยรวมกำลังแล้วได้เพียง 70,000 เท่านั้น

 

 

พละกำลังต่างกัน 2 เท่า! แต่ไทยก็ทำให้กองทัพของพม่าแตกพ่ายไปหมดสิ้นด้วยพระบารมี

 

 

สงคราม 9 ทัพเริ่มขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ. 2328 พระเจ้าปะดุงหรือพระเจ้าโพเทาพระเพิ่งได้รับชัยชนะจากการตีเมืองยะไข่ จึงทรงมีความหึกเหิมต้องการปราบปรามไทยให้สิ้นซาก การตระเตรียมพลในครั้งนี้ พงศาวดารพม่าระบุว่าเอิกเกริกด้วยพลทัพกว่าแสนนาย ทั้งพม่า เงี้ยวมณฑลเมืองคัง หัวเมืองข้างเหนือฝ่ายตะวันออกรวมทั้งมณฑลอื่นๆ โดยให้เมงฆ้องกะโย ยกทัพลงไปตั้ง ณ เมืองเมาะตะมะเพื่อรวบรวมกะเกณฑ์เรือบรรทุกและพาหนะจากเมืองหลวงและเมืองอื่นๆ นอกจากนั้น ยังได้ตั้งยุ้งฉางจัดเตรียมเสบียงมาตลอดทาง เพราะเสบียงถือเป็นยุทธปัจจัยสำคัญ

 

 

แม้มีการเตรียมการอย่างเอิกเกริก หวังจะให้กองทัพจำนวนมหึมาเข้าหักหาญไทยจากทุกด้านทุกด่านที่เคยมีการกรีฑาทัพ ทั้งเหนือ ตก และใต้ ทัพพม่าทั้ง 9 นั้น ประมวลข้อความจากพระราชพงศาวดารของไทยและพม่า สรุปได้ดังนี้

 

 

ทัพที่ 1 ยกไปตั้ง ณ เมืองมะริด แม่ทัพใหญ่คือแมงยีแมงข่องกยอ (แกงหวุ่นแมงญี่ หรือ หวุ่นญี่มหาสะโดสีหะสุระ) คุมพลจำนวน 10,000 ทั้งทัพบกทัพเรือ ในการนี้มีเรือกำปั่นรบมาถึง 15 ลำ เคลื่อนทัพ ณ วันศุกร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 9 (สิงหาคม) ปีมะเส็ง มีอตมสิริสังจรัล และ ปะยันชีเสนะจอถิงเป็นปลัดทัพซ้ายขวา ส่วนนายทัพอีก 6 คนนั้น ได้แก่ เลตยาสาวกะสู ปัดชีนรินแคว ตุริงสิยาธิจอสุ จัดกะจอข่อง ทอดเตงอ่อง และเลดยาแร โดยมีแผนให้ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทยตั้งแต่ชุมพรลงไป ญี่หวุ่นเป็นแม่ทัพแยกพลไป 3,000 เพื่อตีถลาง (ศึกครั้งนี้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะทำให้ประเทศไทยเกิดวีรสตรีที่น่ายกย่องถึง 2 ท่าน คือท้าวเทพสตรีและท้าวศรีสุนทร หรือ คุณหญิงจันและคุณมุข ภรรยาพระยาถลางและน้องสาว)

 

ทัพที่ 2 ยกไปตั้ง ณ เมืองทวาย แม่ทัพใหญ่คือ อนอกแผกไต้หวุ่น (อนอกแผกดิกหวุ่น หรือ อนอกแฝกคิดหวุ่น) อนอกแผกไต้หวุ่นนั้นทรงอาญาสิทธิ์คุมพล จำนวน 10,000 ออกจากเมืองเมาตะมะ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 10 (กันยายน) หลังจากทัพที่ 1 เคลื่อนทัพประมาณหนึ่งเดือน เพื่อเคลื่อนทัพเข้าไทยทางด้านบ้องตี้ ตีหัวเมืองฝ่ายตะวันตกตั้งแต่ราชบุรี เพชรบุรีและไปรวมกับทัพที่ 1 ที่เมืองชุมพร

 

ทัพนี้มีเนเมียวนรธาจอถึงเป็นแม่ทัพรอง ปะยันชีสุระและเนเมียวนันทสูเป็นปลัดทัพซ้ายขวา นอกจากนี้ ยังมีนายทัพอีก 9 คน ได้แก่ เลดยาที่ปะ สูแรจอ สิ่งคชัยะจอ เลดเวกินนันทสู มณีจอข่อง มะยันชีจอฉะวา แรข่องตูริง แรอุตมะ และสิงหนรธา

 

ทัพที่ 3 ยกไปตั้ง ณ นครเมืองเชียงใหม่เพื่อไล่ตีหัวเมืองทางเหนือจากเชียงแสนลงมาตีลำปางและหัวเมืองริมแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำยม ตั้งแต่สวรรคโลก สุโขทัยเพื่อจะมาพบทัพหลวงที่กรุงเทพฯ โดยเคลื่อนทัพ ณ วันอาทิตย์แรม 4 ค่ำ เดือน 10 (กันยายน) ทัพนี้แม่ทัพใหญ่คือเจ้าเมืองตองอู สะโดมหาสิริอุจนา ทรงอาญาสิทธิยกพล 30,000 มีเนเมียวจิงสูและเนเมียวราชจ่อเป็นปลัดทัพซ้ายขวา ส่วนนายทัพนั้นมีทั้งสิ้นถึง 28 คน ได้แก่ เจ้าฟ้าเมืองแสนหวี เจ้าฟ้าเมืองหน่าย (โมแน) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง เจ้าฟ้าเมืองเชียงแสน เจ้าฟ้าเมืองญอง เจ้าฟ้าเมืองจิตร์ เจ้าฟ้าเมืองเชียงรุ้ง อุดันจักร์ แรจอนรธา แรพรานรธา สิริตุริง คันธปัจจี นรธาจอฉะวา เสนาราช สาระจอถิง จอถิงสีห์สุร์ อุมะจอฉะวา พละจอถิง แรข่องสิงคจอ เลตยาชัยะจอ เนเมียวชัยะสังจรัล แรข่องพละจอถิง ปะยันชีจอถิง ตุริงสีหจอถิง อิงหยิ่นจอถิง แรละราชาสูร์ สาระอุทิงจ่อถิง และราชะกามณี

 

 

ทัพที่ 4 ยกไปตั้ง ณ เมืองเมาะตะมะ โดยมุ่งจะยกเข้าตีกรุงเทพฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แม่ทัพใหญ่คือสะโดมังฉ่อพระทุติยราโชรส (ตะแคงจักกุ หรือ เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง) ทรงอาญาสิทธิ์ ถือพล 11,000 เคลื่อนทัพ ณ วันเสาร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 (ตุลาคม) ทัพนี้มีมางละสีห์สุร์กับเนเมียวนรธาเป็นปลัดทัพซ้ายขวา ส่วนนายทัพทั้ง 8 ได้แก่ เจ้าฟ้าเมืองพะโม เนเมียวจอถึงอาชา เนเมียวกามะณี อินทจอฉะวา นวะจักร สอยตองแรข่องจอถึง สอยตองสิริสีห์สุร์ และสีหปตี

 

ทัพนี้ถือเป็นทัพหน้าที่ 2 ของกองทัพหลวง

 

ทัพที่ 5 ยกไปตั้ง ณ เมืองเมาะตะมะเช่นกัน โดยแม่ทัพใหญ่ทรงอาญาสิทธิ์คือพระธรรมราชากามะ (ตะแคงกามะ) พระตติโยรส ถือพล 12,000 (ในพงศาวดารไทยว่า 5,000) เคลื่อนพล ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 11 (ตุลาคม) ทัพนี้มีเนเมียวสังขราและเลดแวนันทสิงจรินเป็นปลัดทัพซ้ายขวา และมีนายทัพอีก 11 คนได้แก่ เจ้าฟ้าเมืองคัง เนเมียวสิริจอข่อง เจ้าฟ้าเมืองธีบอ เนเมียวจอถิงจีสิห์สุร์ เนเมียวสิริจอฉะวา เนเมียวสิริจอถิง เนเมียวสิริสีห์สุร์ ตุริงชัยะสู ตุกะริจอถิง แรข่องตมุดจอถิง และแรจออากา ทัพนี้ถือเป็นทัพหน้าที่ 1 ของกองทัพหลวง

 

ทัพที่ 6 ยกไปตั้ง ณ เมืองเมาตะมะ เป็นกองรบที่ 3 โดยแม่ทัพใหญ่คือ เมี้ยนหวุ่นแมงญีมหามังฆ้อง (เมียนเมหวุ่น) ทรงอาญาสิทธิ์ ถือพล 11,000 นาย (ในพงศาวดารไทยว่า 5,000) เคลื่อนทัพ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 (พฤศจิกายน) โดยมีกามะณีจอถิงและเนเมียวจอถิงสุระ เป็นปลัดทัพซ้ายขวา นอกจากนี้ยังมีนายทัพอีก 13 คน ได้แก่ เนเมียวอุทิงจอถิง บะญีลงยิน บะยันชีจอข่อง นรธาจอข่อง สิริสมบัติจอข่อง ปะยินลงยิน ขะบันชีขฃจอข่อง นรธาจอข่อง (ปรากฏชื่อซ้ำ คาดว่าชื่อเหมือนกัน) เนเมียวเลดแวสีหะ เนเมียวอุตมะสังจรัล สุรินตันฉ่อง อคุงหวุ่น อุทินซอยตอง

 

ทัพที่ 7 เป็นทัพสำคัญที่สุด เพราะเป็นทัพหลวง มีไพร่พลถึง 50,000 โดยพงศาวดารของพม่าระบุว่า เป็นทัพที่คัดสรรแต่นายทหารช่ำชองศึกแลเก่งฉกาจทั้งสิ้น โดยพระเจ้าปะดุงหรือองค์พระเจ้าโพเทาพระเสด็จเป็นจอมพลด้วยพระองค์เอง ทรงมอบพระนครให้พระปฐมราชโอรสยุวราชารักษา จากนั้นจึงเสด็จกรีธาทัพออกจากกรุงอมรปุระเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 4 ค่ำ เดือน 1 (ธันวาคม) โดยจะไปรวมกับกองทัพทั้ง 3 ที่ยกพลไปตั้งรอล่วงหน้าที่เมาะตะมะ เพื่อจะเคลื่อนพลเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกัน

 

เนื่องจากเป็นทัพหลวง ทั้งนายทัพนายกองจึงมากมาย ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ลไมหวุ่นเมงญีนันทถิงและหวุ่นเดี๊ยกเนเมียวจอฉะวาเป็นปลัดทัพซ้ายขวา อัตวินหวุ่นแมงญีแสตตอชีเป็นยุกกระบัตรทัพ นายทัพทหารม้า 4 กอง ได้แก่ เจ้าเมืองจันตี โตหวุ่น ตุริงกุมภะ และนราเสนะ มีมางละนอจอเป็นนายกองช้าง นายทัพทหารราบมีทั้งสิ้น 37 คน ได้แก่ เจ้าฟ้าเมืองโมเมียก เจ้าฟ้าเมืองยางห้วย เจ้าฟ้าเมืองไลขา เจ้าฟ้าเมืองไลขาจะมัง เจ้าฟ้าเมืองยอเจ้า เจ้าฟ้าเมืองไก่ เจ้าฟ้าเมืองจะกา (ทั้งหมดเป็นเจ้าประเทศราชเงี้ยว) นรานันทจอ ตุรินรันขวินสู สังชัยะจอถิง ซอยตองสิรินรธา สุแรหวุ่นมางละจอฉะวา ระเซียงหวุ่น (เจ้าเมืองยะไข่) ยวนจุหวุ่นเนเมียวชัยะจอถิง โจ๊ะเลแชใดหวุ่นเนเมียวสิริจอสูจอฉะวา อุทินชัยะจอฉะวา เมเยนันท์หวุ่นจอข่องนรธา อะสีหวุ่นเนเมียวชัยะจอสู สังแชกหวุ่นเนเมียวจอถิงสีหะ ซอยตองดามูเนเมียวนันทจอสู สุเรญีมูสีห์สุร์นรธา อรุตหวุ่นเนเมียวสิริชัยะสังขรา มะยอกแพกเมี้ยนหวุ่นมลางะจอถิง เนเมียวเรจอ ออกมาหวุ่นมางละจอถิง เนเมียวสิริสังขรา เนเมียวชัยะนรธาสังขรา เนเมียวจอถิง เลดแวสิงหนรธา สูรสังริน นราภิลู และเลดแวจอฉะวา

 

ส่วนทัพที่ 8 นั้น พระเจ้าปะดุงโปรดให้แยกกองทัพออกไป โดยถือพล 5,000 มีนรธาจอข่องเป็นแม่ทัพใหญ่ และมีนายทัพอีก 5 คน ได้แก่ พละนรธา ชัยะสอยตองนรธา สอยตองไชยะจอถิง เลตแวกองโดด และเลดแวจอฉะวา แยกเข้าด่านละเมา เพื่อจะตีกระหน่ำลงไปถึงกรุงเทพฯ

 

ในพระราชพงศาวดารพม่านั้นปรากฏแต่เพียง 8 ทัพดังที่กล่าวมาในข้างต้น แต่ส่วนพระราชพงศาวดารของไทย ระบุทัพที่ 9 ว่ามาตั้งที่เมาะตะมะ มีเมียนเมหวุ่นเป็นแม่ทัพ ถือพล 5,000

 

จะเห็นได้ว่า ทัพพม่าครั้งนี้เป็นทัพหมายเผด็จศึกโดยแท้ ทัพทั้งปวงแยกเป็น 3 เส้นทางหลัก คือ

-           เส้นทางหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย แยกยกมาเป็นจำนวน 2 ทัพ รวมพลได้ 20,000

-           เส้นทางตรงสู่กรุงเทพฯ มีทัพหลวงเป็นทัพหลักรวมกับทัพน้อยใหญ่รวมทั้งสิ้น 5 ทัพ จำนวนพล 89,000

-           เส้นทางหัวเมืองเหนือของไทย จำนวน 2 ทัพ จำนวนพล 35,000

รวมพลที่ข้าศึกยกมาครั้งนี้ทั้งสิ้น 144,000 คน

               

และสองทัพ (ทัพที่ 3 และ 8) ซึ่งยกมายังเส้นทางหัวเมืองเหนือของไทยนี่เอง ที่ก่อให้เกิดศึกปากพิง

                               

ไทยทราบเรื่องศึกเอาเมื่อกองทัพพระเจ้าปะดุงมาถึงเมาะตะมะและกำลังจะบุกไทยเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือน 12 ด้วยกองมอญลาดตระเวนพบและมีใบบอกถึงพระนคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดให้ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์แลเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่หลายครั้งเพื่อเตรียมการรบ ขณะนั้นกำลังพลของไทยมีเพียง 70,000 เท่านั้น ไม่อยากจะเปรียบว่ากองกำลังของไทยคือแมงเม่าที่อาจหาญบินเข้ากองเพลิง เพราะการศึกครั้งนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า หมู่แมงเม่าสามารถชนะอัคคีได้ด้วยพระปรีชา

 

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้จัดทัพเป็น 4 ทัพ เร่งขับไล่ทัพพม่าเฉพาะด้านสำคัญ เนื่องจากเกินกำลังที่ไทยจะรบพร้อมกันทุกด้าน หากแบ่งกองกำลังซึ่งน้อยกว่าอยู่แล้วให้กระจัดกระจายไป รังแต่ละอ่อนแอไปเสียทุกฝ่าย พระปรีชาด้านการวางแผนมิใช่มีเพียงเท่านี้ ยังทรงเปลี่ยนยุทธวิธีการรบ จากที่เคยตั้งรับอยู่ในเมืองทุกคราวที่กองทัพข้าศึกเกินกำลังดังธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณ เป็นเร่งไปหยุดทัพพม่าเสียแต่ต้นทาง โดยอาศัยชัยภูมิเป็นหลัก เพื่อความได้เปรียบของกองทัพที่มีจำนวนน้อยกว่า

 

 

ทัพทั้ง 4 มีรายละเอียดดังนี้

 

 

ทัพที่ 1 โปรดให้ไปตั้งทัพ ณ เมืองนครสวรรค์ เพื่อป้องกันมิให้ทัพพม่าล่วงลงมาถึงกรุงเทพฯได้ แม่ทัพใหญ่คือกรมพระราชวังหลังซึ่งขณะนั้น ยังทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ถือพล 15,000

 

 

ทัพที่ 2 โปรดให้ไปตั้งทัพ ณ เมืองกาญจนบุรี เพื่อต่อสู้กองทัพหลวงของพระเจ้าปะดุง จอมพลคือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิหนาท ถือพล 30,000

 

 

ทัพที่ 3 โปรดให้ไปตั้งทัพ ณ เมืองราชบุรี เพื่อรักษาเส้นทางลำเลียงของทัพกรมพระราชวังบวร และคอยป้องกันทัพพม่าที่อาจยกมาทางใต้หรือจากทวาย แม่ทัพใหญ่คือเจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) และเจ้าพระยายมราช ถือพล 5,000

 

 

ทัพที่ 4 เป็นทัพหลวง โปรดให้เตรียมพลไว้ 20,000 เศษ เพื่อคอยหนุนทัพอื่น
                 

 

การศึกด้านอื่นๆ นั้นขออนุญาตไม่พูดถึงในช่วงนี้เนื่องจากจะเกี่ยวกับพระปรีชาของพระองค์เจ้าขุนเณร พระญาติองค์หนึ่งของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งจะกล่าวถึงในบทถัดๆ ไป

 

 




 

Create Date : 04 มกราคม 2556   
Last Update : 4 มกราคม 2556 8:56:42 น.   
Counter : 862 Pageviews.  


กรมพระราชวังหลังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บทที่ 4.1 ศึกปากพิง โดย อลินน์

4.1           ศึกปากพิง

 

 

ปากพิงเป็นสมรภูมิรบมาแต่ครั้งโบราณ อยู่ระหว่างเมืองนครสวรรค์และพิษณุโลก สงครามครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นที่ปากพิง ตั้งแต่สมัยอยุธยา กรุงธนบุรี  จวบจนรัตนโกสินทร์นั้นมีอยู่หลายครา

 

 

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชกำลังจะส่งตัวสมเด็จพระเทพกระษัตรี พระราชบุตรีในพระสุริโยไทยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุต แต่พระเจ้าหงสาวดีกลับชิงตัวสมเด็จพระเทพกระษัตรีไปได้ด้วยการช่วยเหลือของพระมหาธรรมราชาผู้ครองเมืองพิษณุโลก ด้วยการลอบส่งข่าวให้ ทำให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุตเสียพระพักตร์ และยกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก  พระมหาธรรมราชาแจ้งไปทางกรุงศรีอยุธยาโดยไม่ทรงล่วงรู้มาก่อนว่า สมเด็จพระมหินทราธิราชหมายจะถือโอกาสจับพระมหาธรรมราชาระหว่างถูกกองทัพพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุตล้อม จนกระทั่งพระยาศรีราชเดโชทูลความให้พระมหาธรรมราชาทรงทราบ อันพระยาศรีราชเดโชและพระท้ายน้ำนั้น สมเด็จพระมหินทราธิราชรับสั่งเป็นความลับ ให้คุมตัวพระมหาธรรมราชาระหว่างถูกทัพกรุงศรีสัตนาคนะหุตล้อมไว้ แต่พระยาศรีราชเดโชกลับทูลความต่อพระมหาธรรมราชาเสียสิ้น พระมหาธรรมราชาก็ส่งข้าหลวงเอาข่าวรุดขึ้นไปกราบทูลแก่พระเจ้าหงสาวดีอีกชั้นหนึ่ง

 

กองทัพพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุตยกทัพมาตามคาด เอกสารชั้นต้นบางชิ้นก็ว่ายกพลมายี่สิบหมื่นคือสองแสน บางเอกสารก็ว่ายี่สิบแสน นั่นคือสองล้าน ซึ่งถ้าเป็นประการหลังก็แปลว่า พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุตคงทรงแค้นพระทัยพระมหาธรรมราชาจนแทบกระอักพระโลหิตทีเดียว อย่างไรก็ดี กองทัพสองแสนหรือสองล้านนั้นแบ่งเป็น 5 ทัพ ทัพหลวงตั้งที่ตำบลโพเรียง ส่วนสมเด็จพระมหินทราธิราชเมื่อทรงทราบว่ากองทัพจากรุงศรีสัตนาคนะหุตยกทัพมาแล้ว ก็ทรงเคลื่อนเรือมาตั้งทัพหลวงที่ตำบลพิง มีกองหน้าคือพระยารามและพระยาจักรีไปตั้งที่วัดจุลามะนี (สะกดตามเอกสารชั้นต้น) เรียกว่าสองข้างแม่น้ำตั้งแต่วัดจุลามะนีจนถึงปากน้ำพิงนั้น แน่นไปด้วยเรือรบ แต่เรือรบทั้งปวงก็ได้แต่จอดรอ ไม่สามารถยกพลเข้าไปในเมืองพิษณุโลกได้ เนื่องจากพระมหาธรรมราชาทรงเกณฑ์ครัวต่างๆ เข้าไปในเมืองพร้อมตั้งค่ายรอรับศึกไว้ล่วงหน้าด้วยทรงรู้กลอุบายพระมหินทราธิราช

 

คำว่าครัวในสมัยก่อนหมายถึงราษฏรนั่นเอง

 

การศึกในครั้งนั้นสนุกไม่แพ้ตอนโจโฉแตกทัพเรือในวรรณกรรมชิ้นเอกสามก๊ก กองทัพพระเจ้ากรุงศรีรัตนาคนะหุตปีนกำแพงเมืองพิษณุโลกหมายจะชิงชัยให้ได้ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีด้วยปืน ไฟ หอก หลาวจากกองทัพข้างในจนกองทัพต่างเมืองต้องถอยร่นไปตั้งหลักถึงทัพหลวง ส่วนพระมหาธรรมราชานั้นได้ทรงตอบแทนทัพเรือจากกรุงศรีอยุธยาด้วยแพไฟรดชันน้ำมันยาง ปล่อยเข้าไปในฝูงเรือรบ ประกอบกับน้ำทั้งตื้นทั้งเชี่ยว แพไฟจึงล่องเร็วจนกระทั่งทหารอยุธยาซึ่งไม่ทันได้ระวังตัว ต่างตกใจหนีไฟเป็นการโกลาหล ทั้งคนทั้งเรือย่อยยับไปกับแพไฟในครั้งนั้น

 

ว่าแล้วปากพิงอยู่ที่ไหนกัน

 

 

ปากพิงในปัจจุบัน เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำ คือ ปากพิงตะวันตกและปากพิงตะวันออก ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านปากพิงหมู่ 1,2,3,6 บ้านงิ้วงาม หมู่ 4 บ้านบางทราย หมู่ 5 บ้านบึงขุนนนท์ หมู่ 7 ที่ขึ้นกับ ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ส่วนปากพิงที่เป็นสมรภูมิรบคือคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร

 

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬรโลก สมรภูมิรบยอดนิยมอย่างปากพิงก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ อันเป็นเหตุการณ์สำแดงพระปรีชาแห่งกรมพระราชวังหลัง ผู้ทรงอาจหาญการศึกปกป้องผืนดินสยามจากการรุกราน เป็นที่โจษจารจารึกของเหล่าประชาราษฏร์ในพระมหากรุณาธิคุณ

 

 




 

Create Date : 04 มกราคม 2556   
Last Update : 4 มกราคม 2556 8:43:20 น.   
Counter : 2505 Pageviews.  


กรมพระราชวังหลังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บทที่ 4 ราษฎร์โจษจารพระผู้หาญปกปฐพี โดย อลินน์

บทที่ 4

 

                                                        ราษฎร์โจษจารพระผู้หาญปกปฐพี

 

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ได้มีพระราชดำรัสให้ย้ายเมืองหลวงไปอีกฟากแม่น้ำฝั่งตะวันออก ด้วยมีชัยภูมิป้องกันเมืองได้ง่ายกว่า เสียแต่เป็นที่ลุ่ม  พระราชพิธีปราบดาภิเษกมีขึ้น ณ วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2325 (เดือน 8 ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144)

ทรงสถาปนาพระราชวงศานุวงศ์ให้มีอิสริยศักดิ์เป็นเจ้าฟ้า 19 พระองค์ ได้แก่ พระราชโอรส 2 พระองค์ พระราชธิดา 2 พระองค์แต่พระอัครชายาเดิม โปรดให้เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า เป็นชั้นศักดิ์อย่างโท พระธิดาในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมารดาเป็นเชื้อเจ้าเมืองเชียงใหม่ โปรดให้เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้ง 2 พระองค์และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระราชวังบวร (ทั้งสามท่านเป็นชั้นศักดิ์สูงอย่างเอก) สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า รวมสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าทองอิน (กรมพระราชวังหลัง) 11 องค์ เป็นชั้นตรี ในจำนวนนี้ มีเจ้าฟ้าหญิงอีกพระองค์หนึ่ง เป็นพระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่ากรุงศรีอยุธยายังคงยศบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าอยู่ด้วย จึงนับเป็น 19 พระองค์

โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จประทับ ณ พระราชวังบวรฯ หรือเรียกกันว่า วังหน้า ซึ่งเป็นพระราชวังที่ทรงสร้างใหม่ข้างเหนือพระราชวังหลวง ใกล้นิวาสถานเดิม

 

ในการประดิษฐานพระราชวงศ์ครั้งนี้ โปรดให้พระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าทองอิน เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระราชทานเครื่องสูง 3 ชั้น คันประดับมุกและเรือดั้งแห่ 1 คู่ ด้วยมีความชอบยิ่งกว่าพระราชภาคิไนยพระองค์อื่น

 

ช่วงสองปีแรกของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น บ้านเมืองปลอดศึกจากพม่า เนื่องจากราชบัลลังก์พม่าประสบความวุ่นวายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2324 เพราะมังหม่อง ราชบุตรพระเจ้ามังลอกผู้เป็นลุงของพระเจ้าจิงกูจาซ่องสุมผู้คนปล้นชิงกรุงรัตนอังวะ และตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ขุนนางของมังหม่องนั้นมีนิสัยหยาบช้า เที่ยวข่มเหงราษฏรจนเกิดความทุกข์เข็น อะแซหวุ่นกี้จึงจับมังหม่องประหารชีวิตเสียในวันที่เจ็ดของการเถลิงราชสมบัติ อะแซหวุ่นกี้ขึ้นนั่งเมืองได้เพียง 1 คืน ตะแคงปะดุง ตะแคงปะดาน ตะแคงแปงตะแลก็ยกทหารปล้นชิงพระราชวังและสังหารอะแซหวุ่นกี้ จากนั้นก็เชิญตะแคงปะดุงเสวยราชสมบัติเมืองอังวะ

 

เมื่อได้ครองราชสมบัติแล้ว พระเจ้าปะดุงก็ตั้งตะแคงพระราชบุตรผู้ใหญ่เป็นอินแซะมหาอุปราช แล้วให้มหาศีลวะอำมาตย์และจอกตลุงนำกองกำลังไปจับพระเจ้าจิงกุจาถ่วงน้ำเสีย

 

ครั้นถึงปีพ.ศ. 2326 พระเจ้าปะดุงสร้างเมืองใหม่ ห่างจากเมืองรัตนบุระอังวะประมาณ 300 เส้น พระราชทานนามว่า อมระปุระ ทรงตั้งเมืองใหม่เป็นเมืองหลวง จากนั้นก็ทรงจัดทัพไปตีเมืองยะไข่ (ธัญญวดี) ช่วงเวลาเดียวกันนี้เป็นช่วงเวลาที่ไทยกำลังสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ ทั้งขยายกำแพงเมือง สร้างพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล ขุดคูคลองในพระนคร จวบจนถึงปีพ.ศ. 2328 พระเจ้าปะดุงสิ้นกังวลศึกภายในประเทศแล้ว ก็ทรงดำริยกทัพมาปราบปรามกรุงสยาม

 

การยกทัพของพระเจ้าปะดุงในคราวนี้ ยิ่งใหญ่ด้วยจำนวนไพร่พลและกองทัพที่รุกเข้าไทยทุกทิศทาง ด้วยหมายจะตีไทยให้แตกไม่ให้ตั้งตัวได้ และการทัพคราวนี้ของพระเจ้าปะดุงเช่นกัน ที่จารึกอยู่ในหัวใจไทยทั้งชาติตราบนานเท่านาน




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2555   
Last Update : 15 ธันวาคม 2555 7:11:41 น.   
Counter : 2240 Pageviews.  


กรมพระราชวังหลังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บทที่ 3.3 กบถพระยาสรรค์ โดย อลินน์

3.3           กบถพระยาสรรค์

 

 

ในปลายปี พ.ศ. 2324 (เดือน 4) เกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี พระยาสรรค์ยกกำลังเข้าล้อมกำแพงวังไว้โดยรอบ และส่งทหารเข้าไปพิทักษ์พระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งทรงพระผนวช ณ วัดแจ้ง แล้วจับกรมขุนอนุรักษ์สงครามไว้ พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ได้มีบทบาทอย่างมากในการช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนครธนบุรี เมื่อทราบข่าวจลาจล พระยาสุริยอภัยก็ยกทัพมาจากเมืองนครราชสีมาในเดือน 5 คือต้นปี พ.ศ. 2325 พร้อมกับไพร่พลไทยลาวประมาณ 1,000 คนเศษเพื่อมาปราบจลาจล โดยมาตั้งอยู่ ณ บ้าน (วังสวนลิ้นจี่) เสมียนปิ่นได้ควบคุมกองกำลังใหญ่เป็นกองทหารได้ปีกหนึ่ง ยกมาสมทบกองทัพพระยาสุริยอภัยด้วย ในกรุงธนบุรีครั้งนั้น ข้าราชการก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ พระยาสรรค์ และพระยาสุริยอภัย (เสมียนปิ่นเป็นบุตรคนที่ 4 ของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (อ่อน)  ภายหลังเป็นเจ้าพระยาพลเทพ(ปิ่น) และเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม ที่ 2 ในรัชกาลที่ 1 และเจ้าพระยาอภัยราชา เอกอัครมหาเสนาบดี บรรดาศักดิ์สุดท้าย)

 

พระยาสรรค์ พระยามหาเสนา พระยารามัญวงศ์ คบคิดกันปล่อยกรมขุนอนุรักษ์สงครามออกจากเรือนจำ (ในบางเอกสารก็ว่า กรมขุนอนุรักษ์สงครามคบคิดกับกับพระยาสรรค์ และไม่ได้เพิ่งถูกจับในครั้งนี้ แต่ต้องโทษมาประมาณ 1 ปีก่อนหน้าเหตุการณ์นี้) ให้ไปตั้งค่ายวางคนโอบลงมาตั้งแต่วัดบางหว้า แล้วจุดไฟเผาตั้งแต่บ้านปูนลงมา ซึ่งแถบนั้น เป็นแถบนิวาสถานวงศาคณาญาติของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทั้งสิ้น

 

 

พระยาสุริยอภัยมิได้ตกใจกับอัคคีภัย สั่งให้ทหารเข้ารบต้านไว้ เมื่อไฟลามมาใกล้บ้านท่าน ก็ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ลมพัดกลับไป อย่าพัดมายังทิศบ้านของท่านเลย จะด้วยบุญที่ท่านบำเพ็ญศีลหรือประการใด ท้ายสุด ลมก็เปลี่ยนทิศ การสู้รบมีต่อเนื่องหลายชั่วโมงจนท้ายสุด กองกำลังของกรมขุนอนุรักษ์สงครามก็พ่ายไป

 

 

ภายหลังที่พระยาสุริยอภัยปราบจลาจลได้เรียบร้อย เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ยกทัพกลับมาจากเสียมราบ มาหยุดที่พลับพลาหน้าวัดโพธาราม ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า

 

 

ณ วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5  เพลาเช้า 2 โมง เสด็จพระราชดำเนินทัพมาจากเสียมราบ ประทับ ณ พลับพลาหน้าวัดโพธาราม ฝ่ายข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันไปเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบข้ามมาพระราชวังสถิต ณ ศาลาลูกขุน มีหมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุขเฝ้าพร้อมกัน จึ่งมีพระราชบริหารดำรัสปรึกษาว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอาสัจจะ สุจริตธรรมเสียประพฤติการทุจริตฉะนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ยอให้ปริวัตรออกประหารเสีย ฝ่ายทแกล้ว ทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาพระเจ้าแผ่นดินและพวกโจทก์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้าย            เมืองในทันใดนั้น แล้วสมณะชีพราหมณ์เสนาพฤตามาตย์ราษฎร์ทั้งปวง ก็ทูล อาราธนาวิงวอนอัญเชิญเสด็จขึ้นปราบดาภิเษก เป็นอิศวรภาพผ่านพิภพสืบไป ...

 

 

ครั้นเมื่อบ้านเมืองสงบลงแล้ว พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จึงได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ควบคุมการลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจลาจลในครั้งนั้น

 

 

ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม 10 ค่ำ เดือน 5 พระเจ้าหลานเธอให้ตำรวจคุมเอาตัวขุนอนุรักษ์สงครามกับข้าหลวงซึ่งเป็นพรรคพวก                 40 เศษ มีอ้ายพระยาเพ็ชรพิชัย, พระยากลางเมือง, พระยามหาอำมาตย์ และพระมหาเทพเหนือ หลวงคชศักดิ์ ราชรินทร์เหนือ เป็นต้น เข้ามาหน้าพระที่นั่งแล้วกราบบังคมทูลความทั้ง         ปวง จึงดำรัสให้เอาพรรคพวกไปฆ่าเสีย แต่ขุนอนุรักษ์สงครามนั้นให้งดไว้พิจารณา จึงให้การถึง พระยาสรรค์, พระยามหาเสนา, พระยารามัญวงศ์ และพระยาวิชิตณรงค์ หลวงพัสดีกลาง พระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธให้ประหารเสีย

 




 

Create Date : 29 กันยายน 2555   
Last Update : 29 กันยายน 2555 9:50:55 น.   
Counter : 2546 Pageviews.  


1  2  3  4  

alynnbook
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ฝากผลงานนิยายเรื่องใหม่ ลำนำรักสายลม ด้วยนะคะ
[Add alynnbook's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com