อลินน์ ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ
 
กรมพระราชวังหลังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บทที่ 4.1 ศึกปากพิง โดย อลินน์

4.1           ศึกปากพิง

 

 

ปากพิงเป็นสมรภูมิรบมาแต่ครั้งโบราณ อยู่ระหว่างเมืองนครสวรรค์และพิษณุโลก สงครามครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นที่ปากพิง ตั้งแต่สมัยอยุธยา กรุงธนบุรี  จวบจนรัตนโกสินทร์นั้นมีอยู่หลายครา

 

 

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชกำลังจะส่งตัวสมเด็จพระเทพกระษัตรี พระราชบุตรีในพระสุริโยไทยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุต แต่พระเจ้าหงสาวดีกลับชิงตัวสมเด็จพระเทพกระษัตรีไปได้ด้วยการช่วยเหลือของพระมหาธรรมราชาผู้ครองเมืองพิษณุโลก ด้วยการลอบส่งข่าวให้ ทำให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุตเสียพระพักตร์ และยกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก  พระมหาธรรมราชาแจ้งไปทางกรุงศรีอยุธยาโดยไม่ทรงล่วงรู้มาก่อนว่า สมเด็จพระมหินทราธิราชหมายจะถือโอกาสจับพระมหาธรรมราชาระหว่างถูกกองทัพพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุตล้อม จนกระทั่งพระยาศรีราชเดโชทูลความให้พระมหาธรรมราชาทรงทราบ อันพระยาศรีราชเดโชและพระท้ายน้ำนั้น สมเด็จพระมหินทราธิราชรับสั่งเป็นความลับ ให้คุมตัวพระมหาธรรมราชาระหว่างถูกทัพกรุงศรีสัตนาคนะหุตล้อมไว้ แต่พระยาศรีราชเดโชกลับทูลความต่อพระมหาธรรมราชาเสียสิ้น พระมหาธรรมราชาก็ส่งข้าหลวงเอาข่าวรุดขึ้นไปกราบทูลแก่พระเจ้าหงสาวดีอีกชั้นหนึ่ง

 

กองทัพพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุตยกทัพมาตามคาด เอกสารชั้นต้นบางชิ้นก็ว่ายกพลมายี่สิบหมื่นคือสองแสน บางเอกสารก็ว่ายี่สิบแสน นั่นคือสองล้าน ซึ่งถ้าเป็นประการหลังก็แปลว่า พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุตคงทรงแค้นพระทัยพระมหาธรรมราชาจนแทบกระอักพระโลหิตทีเดียว อย่างไรก็ดี กองทัพสองแสนหรือสองล้านนั้นแบ่งเป็น 5 ทัพ ทัพหลวงตั้งที่ตำบลโพเรียง ส่วนสมเด็จพระมหินทราธิราชเมื่อทรงทราบว่ากองทัพจากรุงศรีสัตนาคนะหุตยกทัพมาแล้ว ก็ทรงเคลื่อนเรือมาตั้งทัพหลวงที่ตำบลพิง มีกองหน้าคือพระยารามและพระยาจักรีไปตั้งที่วัดจุลามะนี (สะกดตามเอกสารชั้นต้น) เรียกว่าสองข้างแม่น้ำตั้งแต่วัดจุลามะนีจนถึงปากน้ำพิงนั้น แน่นไปด้วยเรือรบ แต่เรือรบทั้งปวงก็ได้แต่จอดรอ ไม่สามารถยกพลเข้าไปในเมืองพิษณุโลกได้ เนื่องจากพระมหาธรรมราชาทรงเกณฑ์ครัวต่างๆ เข้าไปในเมืองพร้อมตั้งค่ายรอรับศึกไว้ล่วงหน้าด้วยทรงรู้กลอุบายพระมหินทราธิราช

 

คำว่าครัวในสมัยก่อนหมายถึงราษฏรนั่นเอง

 

การศึกในครั้งนั้นสนุกไม่แพ้ตอนโจโฉแตกทัพเรือในวรรณกรรมชิ้นเอกสามก๊ก กองทัพพระเจ้ากรุงศรีรัตนาคนะหุตปีนกำแพงเมืองพิษณุโลกหมายจะชิงชัยให้ได้ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีด้วยปืน ไฟ หอก หลาวจากกองทัพข้างในจนกองทัพต่างเมืองต้องถอยร่นไปตั้งหลักถึงทัพหลวง ส่วนพระมหาธรรมราชานั้นได้ทรงตอบแทนทัพเรือจากกรุงศรีอยุธยาด้วยแพไฟรดชันน้ำมันยาง ปล่อยเข้าไปในฝูงเรือรบ ประกอบกับน้ำทั้งตื้นทั้งเชี่ยว แพไฟจึงล่องเร็วจนกระทั่งทหารอยุธยาซึ่งไม่ทันได้ระวังตัว ต่างตกใจหนีไฟเป็นการโกลาหล ทั้งคนทั้งเรือย่อยยับไปกับแพไฟในครั้งนั้น

 

ว่าแล้วปากพิงอยู่ที่ไหนกัน

 

 

ปากพิงในปัจจุบัน เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำ คือ ปากพิงตะวันตกและปากพิงตะวันออก ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านปากพิงหมู่ 1,2,3,6 บ้านงิ้วงาม หมู่ 4 บ้านบางทราย หมู่ 5 บ้านบึงขุนนนท์ หมู่ 7 ที่ขึ้นกับ ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ส่วนปากพิงที่เป็นสมรภูมิรบคือคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร

 

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬรโลก สมรภูมิรบยอดนิยมอย่างปากพิงก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ อันเป็นเหตุการณ์สำแดงพระปรีชาแห่งกรมพระราชวังหลัง ผู้ทรงอาจหาญการศึกปกป้องผืนดินสยามจากการรุกราน เป็นที่โจษจารจารึกของเหล่าประชาราษฏร์ในพระมหากรุณาธิคุณ

 

 




Create Date : 04 มกราคม 2556
Last Update : 4 มกราคม 2556 8:43:20 น. 0 comments
Counter : 2505 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

alynnbook
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ฝากผลงานนิยายเรื่องใหม่ ลำนำรักสายลม ด้วยนะคะ
[Add alynnbook's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com