อลินน์ ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ
 
กรมพระราชวังหลังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บทที่ 4.2 เหตุของศึกปากพิง โดย อลินน์

4.2           เหตุของศึกปากพิง

 

 

ศึกปากพิงเกิดจากสงคราม 9 ทัพ อันเป็นศึกพม่าครั้งใหญ่เมื่อต้นรัชกาลที่คนไทยรู้จักกันดี เนื่องจากพม่ายกทัพมาครั้งนี้มีไพร่พลถึง 144,000 คน ขณะที่ไทยรวมกำลังแล้วได้เพียง 70,000 เท่านั้น

 

 

พละกำลังต่างกัน 2 เท่า! แต่ไทยก็ทำให้กองทัพของพม่าแตกพ่ายไปหมดสิ้นด้วยพระบารมี

 

 

สงคราม 9 ทัพเริ่มขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ. 2328 พระเจ้าปะดุงหรือพระเจ้าโพเทาพระเพิ่งได้รับชัยชนะจากการตีเมืองยะไข่ จึงทรงมีความหึกเหิมต้องการปราบปรามไทยให้สิ้นซาก การตระเตรียมพลในครั้งนี้ พงศาวดารพม่าระบุว่าเอิกเกริกด้วยพลทัพกว่าแสนนาย ทั้งพม่า เงี้ยวมณฑลเมืองคัง หัวเมืองข้างเหนือฝ่ายตะวันออกรวมทั้งมณฑลอื่นๆ โดยให้เมงฆ้องกะโย ยกทัพลงไปตั้ง ณ เมืองเมาะตะมะเพื่อรวบรวมกะเกณฑ์เรือบรรทุกและพาหนะจากเมืองหลวงและเมืองอื่นๆ นอกจากนั้น ยังได้ตั้งยุ้งฉางจัดเตรียมเสบียงมาตลอดทาง เพราะเสบียงถือเป็นยุทธปัจจัยสำคัญ

 

 

แม้มีการเตรียมการอย่างเอิกเกริก หวังจะให้กองทัพจำนวนมหึมาเข้าหักหาญไทยจากทุกด้านทุกด่านที่เคยมีการกรีฑาทัพ ทั้งเหนือ ตก และใต้ ทัพพม่าทั้ง 9 นั้น ประมวลข้อความจากพระราชพงศาวดารของไทยและพม่า สรุปได้ดังนี้

 

 

ทัพที่ 1 ยกไปตั้ง ณ เมืองมะริด แม่ทัพใหญ่คือแมงยีแมงข่องกยอ (แกงหวุ่นแมงญี่ หรือ หวุ่นญี่มหาสะโดสีหะสุระ) คุมพลจำนวน 10,000 ทั้งทัพบกทัพเรือ ในการนี้มีเรือกำปั่นรบมาถึง 15 ลำ เคลื่อนทัพ ณ วันศุกร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 9 (สิงหาคม) ปีมะเส็ง มีอตมสิริสังจรัล และ ปะยันชีเสนะจอถิงเป็นปลัดทัพซ้ายขวา ส่วนนายทัพอีก 6 คนนั้น ได้แก่ เลตยาสาวกะสู ปัดชีนรินแคว ตุริงสิยาธิจอสุ จัดกะจอข่อง ทอดเตงอ่อง และเลดยาแร โดยมีแผนให้ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทยตั้งแต่ชุมพรลงไป ญี่หวุ่นเป็นแม่ทัพแยกพลไป 3,000 เพื่อตีถลาง (ศึกครั้งนี้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะทำให้ประเทศไทยเกิดวีรสตรีที่น่ายกย่องถึง 2 ท่าน คือท้าวเทพสตรีและท้าวศรีสุนทร หรือ คุณหญิงจันและคุณมุข ภรรยาพระยาถลางและน้องสาว)

 

ทัพที่ 2 ยกไปตั้ง ณ เมืองทวาย แม่ทัพใหญ่คือ อนอกแผกไต้หวุ่น (อนอกแผกดิกหวุ่น หรือ อนอกแฝกคิดหวุ่น) อนอกแผกไต้หวุ่นนั้นทรงอาญาสิทธิ์คุมพล จำนวน 10,000 ออกจากเมืองเมาตะมะ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 10 (กันยายน) หลังจากทัพที่ 1 เคลื่อนทัพประมาณหนึ่งเดือน เพื่อเคลื่อนทัพเข้าไทยทางด้านบ้องตี้ ตีหัวเมืองฝ่ายตะวันตกตั้งแต่ราชบุรี เพชรบุรีและไปรวมกับทัพที่ 1 ที่เมืองชุมพร

 

ทัพนี้มีเนเมียวนรธาจอถึงเป็นแม่ทัพรอง ปะยันชีสุระและเนเมียวนันทสูเป็นปลัดทัพซ้ายขวา นอกจากนี้ ยังมีนายทัพอีก 9 คน ได้แก่ เลดยาที่ปะ สูแรจอ สิ่งคชัยะจอ เลดเวกินนันทสู มณีจอข่อง มะยันชีจอฉะวา แรข่องตูริง แรอุตมะ และสิงหนรธา

 

ทัพที่ 3 ยกไปตั้ง ณ นครเมืองเชียงใหม่เพื่อไล่ตีหัวเมืองทางเหนือจากเชียงแสนลงมาตีลำปางและหัวเมืองริมแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำยม ตั้งแต่สวรรคโลก สุโขทัยเพื่อจะมาพบทัพหลวงที่กรุงเทพฯ โดยเคลื่อนทัพ ณ วันอาทิตย์แรม 4 ค่ำ เดือน 10 (กันยายน) ทัพนี้แม่ทัพใหญ่คือเจ้าเมืองตองอู สะโดมหาสิริอุจนา ทรงอาญาสิทธิยกพล 30,000 มีเนเมียวจิงสูและเนเมียวราชจ่อเป็นปลัดทัพซ้ายขวา ส่วนนายทัพนั้นมีทั้งสิ้นถึง 28 คน ได้แก่ เจ้าฟ้าเมืองแสนหวี เจ้าฟ้าเมืองหน่าย (โมแน) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง เจ้าฟ้าเมืองเชียงแสน เจ้าฟ้าเมืองญอง เจ้าฟ้าเมืองจิตร์ เจ้าฟ้าเมืองเชียงรุ้ง อุดันจักร์ แรจอนรธา แรพรานรธา สิริตุริง คันธปัจจี นรธาจอฉะวา เสนาราช สาระจอถิง จอถิงสีห์สุร์ อุมะจอฉะวา พละจอถิง แรข่องสิงคจอ เลตยาชัยะจอ เนเมียวชัยะสังจรัล แรข่องพละจอถิง ปะยันชีจอถิง ตุริงสีหจอถิง อิงหยิ่นจอถิง แรละราชาสูร์ สาระอุทิงจ่อถิง และราชะกามณี

 

 

ทัพที่ 4 ยกไปตั้ง ณ เมืองเมาะตะมะ โดยมุ่งจะยกเข้าตีกรุงเทพฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แม่ทัพใหญ่คือสะโดมังฉ่อพระทุติยราโชรส (ตะแคงจักกุ หรือ เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง) ทรงอาญาสิทธิ์ ถือพล 11,000 เคลื่อนทัพ ณ วันเสาร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 (ตุลาคม) ทัพนี้มีมางละสีห์สุร์กับเนเมียวนรธาเป็นปลัดทัพซ้ายขวา ส่วนนายทัพทั้ง 8 ได้แก่ เจ้าฟ้าเมืองพะโม เนเมียวจอถึงอาชา เนเมียวกามะณี อินทจอฉะวา นวะจักร สอยตองแรข่องจอถึง สอยตองสิริสีห์สุร์ และสีหปตี

 

ทัพนี้ถือเป็นทัพหน้าที่ 2 ของกองทัพหลวง

 

ทัพที่ 5 ยกไปตั้ง ณ เมืองเมาะตะมะเช่นกัน โดยแม่ทัพใหญ่ทรงอาญาสิทธิ์คือพระธรรมราชากามะ (ตะแคงกามะ) พระตติโยรส ถือพล 12,000 (ในพงศาวดารไทยว่า 5,000) เคลื่อนพล ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 11 (ตุลาคม) ทัพนี้มีเนเมียวสังขราและเลดแวนันทสิงจรินเป็นปลัดทัพซ้ายขวา และมีนายทัพอีก 11 คนได้แก่ เจ้าฟ้าเมืองคัง เนเมียวสิริจอข่อง เจ้าฟ้าเมืองธีบอ เนเมียวจอถิงจีสิห์สุร์ เนเมียวสิริจอฉะวา เนเมียวสิริจอถิง เนเมียวสิริสีห์สุร์ ตุริงชัยะสู ตุกะริจอถิง แรข่องตมุดจอถิง และแรจออากา ทัพนี้ถือเป็นทัพหน้าที่ 1 ของกองทัพหลวง

 

ทัพที่ 6 ยกไปตั้ง ณ เมืองเมาตะมะ เป็นกองรบที่ 3 โดยแม่ทัพใหญ่คือ เมี้ยนหวุ่นแมงญีมหามังฆ้อง (เมียนเมหวุ่น) ทรงอาญาสิทธิ์ ถือพล 11,000 นาย (ในพงศาวดารไทยว่า 5,000) เคลื่อนทัพ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 (พฤศจิกายน) โดยมีกามะณีจอถิงและเนเมียวจอถิงสุระ เป็นปลัดทัพซ้ายขวา นอกจากนี้ยังมีนายทัพอีก 13 คน ได้แก่ เนเมียวอุทิงจอถิง บะญีลงยิน บะยันชีจอข่อง นรธาจอข่อง สิริสมบัติจอข่อง ปะยินลงยิน ขะบันชีขฃจอข่อง นรธาจอข่อง (ปรากฏชื่อซ้ำ คาดว่าชื่อเหมือนกัน) เนเมียวเลดแวสีหะ เนเมียวอุตมะสังจรัล สุรินตันฉ่อง อคุงหวุ่น อุทินซอยตอง

 

ทัพที่ 7 เป็นทัพสำคัญที่สุด เพราะเป็นทัพหลวง มีไพร่พลถึง 50,000 โดยพงศาวดารของพม่าระบุว่า เป็นทัพที่คัดสรรแต่นายทหารช่ำชองศึกแลเก่งฉกาจทั้งสิ้น โดยพระเจ้าปะดุงหรือองค์พระเจ้าโพเทาพระเสด็จเป็นจอมพลด้วยพระองค์เอง ทรงมอบพระนครให้พระปฐมราชโอรสยุวราชารักษา จากนั้นจึงเสด็จกรีธาทัพออกจากกรุงอมรปุระเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 4 ค่ำ เดือน 1 (ธันวาคม) โดยจะไปรวมกับกองทัพทั้ง 3 ที่ยกพลไปตั้งรอล่วงหน้าที่เมาะตะมะ เพื่อจะเคลื่อนพลเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกัน

 

เนื่องจากเป็นทัพหลวง ทั้งนายทัพนายกองจึงมากมาย ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ลไมหวุ่นเมงญีนันทถิงและหวุ่นเดี๊ยกเนเมียวจอฉะวาเป็นปลัดทัพซ้ายขวา อัตวินหวุ่นแมงญีแสตตอชีเป็นยุกกระบัตรทัพ นายทัพทหารม้า 4 กอง ได้แก่ เจ้าเมืองจันตี โตหวุ่น ตุริงกุมภะ และนราเสนะ มีมางละนอจอเป็นนายกองช้าง นายทัพทหารราบมีทั้งสิ้น 37 คน ได้แก่ เจ้าฟ้าเมืองโมเมียก เจ้าฟ้าเมืองยางห้วย เจ้าฟ้าเมืองไลขา เจ้าฟ้าเมืองไลขาจะมัง เจ้าฟ้าเมืองยอเจ้า เจ้าฟ้าเมืองไก่ เจ้าฟ้าเมืองจะกา (ทั้งหมดเป็นเจ้าประเทศราชเงี้ยว) นรานันทจอ ตุรินรันขวินสู สังชัยะจอถิง ซอยตองสิรินรธา สุแรหวุ่นมางละจอฉะวา ระเซียงหวุ่น (เจ้าเมืองยะไข่) ยวนจุหวุ่นเนเมียวชัยะจอถิง โจ๊ะเลแชใดหวุ่นเนเมียวสิริจอสูจอฉะวา อุทินชัยะจอฉะวา เมเยนันท์หวุ่นจอข่องนรธา อะสีหวุ่นเนเมียวชัยะจอสู สังแชกหวุ่นเนเมียวจอถิงสีหะ ซอยตองดามูเนเมียวนันทจอสู สุเรญีมูสีห์สุร์นรธา อรุตหวุ่นเนเมียวสิริชัยะสังขรา มะยอกแพกเมี้ยนหวุ่นมลางะจอถิง เนเมียวเรจอ ออกมาหวุ่นมางละจอถิง เนเมียวสิริสังขรา เนเมียวชัยะนรธาสังขรา เนเมียวจอถิง เลดแวสิงหนรธา สูรสังริน นราภิลู และเลดแวจอฉะวา

 

ส่วนทัพที่ 8 นั้น พระเจ้าปะดุงโปรดให้แยกกองทัพออกไป โดยถือพล 5,000 มีนรธาจอข่องเป็นแม่ทัพใหญ่ และมีนายทัพอีก 5 คน ได้แก่ พละนรธา ชัยะสอยตองนรธา สอยตองไชยะจอถิง เลตแวกองโดด และเลดแวจอฉะวา แยกเข้าด่านละเมา เพื่อจะตีกระหน่ำลงไปถึงกรุงเทพฯ

 

ในพระราชพงศาวดารพม่านั้นปรากฏแต่เพียง 8 ทัพดังที่กล่าวมาในข้างต้น แต่ส่วนพระราชพงศาวดารของไทย ระบุทัพที่ 9 ว่ามาตั้งที่เมาะตะมะ มีเมียนเมหวุ่นเป็นแม่ทัพ ถือพล 5,000

 

จะเห็นได้ว่า ทัพพม่าครั้งนี้เป็นทัพหมายเผด็จศึกโดยแท้ ทัพทั้งปวงแยกเป็น 3 เส้นทางหลัก คือ

-           เส้นทางหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย แยกยกมาเป็นจำนวน 2 ทัพ รวมพลได้ 20,000

-           เส้นทางตรงสู่กรุงเทพฯ มีทัพหลวงเป็นทัพหลักรวมกับทัพน้อยใหญ่รวมทั้งสิ้น 5 ทัพ จำนวนพล 89,000

-           เส้นทางหัวเมืองเหนือของไทย จำนวน 2 ทัพ จำนวนพล 35,000

รวมพลที่ข้าศึกยกมาครั้งนี้ทั้งสิ้น 144,000 คน

               

และสองทัพ (ทัพที่ 3 และ 8) ซึ่งยกมายังเส้นทางหัวเมืองเหนือของไทยนี่เอง ที่ก่อให้เกิดศึกปากพิง

                               

ไทยทราบเรื่องศึกเอาเมื่อกองทัพพระเจ้าปะดุงมาถึงเมาะตะมะและกำลังจะบุกไทยเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือน 12 ด้วยกองมอญลาดตระเวนพบและมีใบบอกถึงพระนคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดให้ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์แลเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่หลายครั้งเพื่อเตรียมการรบ ขณะนั้นกำลังพลของไทยมีเพียง 70,000 เท่านั้น ไม่อยากจะเปรียบว่ากองกำลังของไทยคือแมงเม่าที่อาจหาญบินเข้ากองเพลิง เพราะการศึกครั้งนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า หมู่แมงเม่าสามารถชนะอัคคีได้ด้วยพระปรีชา

 

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้จัดทัพเป็น 4 ทัพ เร่งขับไล่ทัพพม่าเฉพาะด้านสำคัญ เนื่องจากเกินกำลังที่ไทยจะรบพร้อมกันทุกด้าน หากแบ่งกองกำลังซึ่งน้อยกว่าอยู่แล้วให้กระจัดกระจายไป รังแต่ละอ่อนแอไปเสียทุกฝ่าย พระปรีชาด้านการวางแผนมิใช่มีเพียงเท่านี้ ยังทรงเปลี่ยนยุทธวิธีการรบ จากที่เคยตั้งรับอยู่ในเมืองทุกคราวที่กองทัพข้าศึกเกินกำลังดังธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณ เป็นเร่งไปหยุดทัพพม่าเสียแต่ต้นทาง โดยอาศัยชัยภูมิเป็นหลัก เพื่อความได้เปรียบของกองทัพที่มีจำนวนน้อยกว่า

 

 

ทัพทั้ง 4 มีรายละเอียดดังนี้

 

 

ทัพที่ 1 โปรดให้ไปตั้งทัพ ณ เมืองนครสวรรค์ เพื่อป้องกันมิให้ทัพพม่าล่วงลงมาถึงกรุงเทพฯได้ แม่ทัพใหญ่คือกรมพระราชวังหลังซึ่งขณะนั้น ยังทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ถือพล 15,000

 

 

ทัพที่ 2 โปรดให้ไปตั้งทัพ ณ เมืองกาญจนบุรี เพื่อต่อสู้กองทัพหลวงของพระเจ้าปะดุง จอมพลคือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิหนาท ถือพล 30,000

 

 

ทัพที่ 3 โปรดให้ไปตั้งทัพ ณ เมืองราชบุรี เพื่อรักษาเส้นทางลำเลียงของทัพกรมพระราชวังบวร และคอยป้องกันทัพพม่าที่อาจยกมาทางใต้หรือจากทวาย แม่ทัพใหญ่คือเจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) และเจ้าพระยายมราช ถือพล 5,000

 

 

ทัพที่ 4 เป็นทัพหลวง โปรดให้เตรียมพลไว้ 20,000 เศษ เพื่อคอยหนุนทัพอื่น
                 

 

การศึกด้านอื่นๆ นั้นขออนุญาตไม่พูดถึงในช่วงนี้เนื่องจากจะเกี่ยวกับพระปรีชาของพระองค์เจ้าขุนเณร พระญาติองค์หนึ่งของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งจะกล่าวถึงในบทถัดๆ ไป

 

 




Create Date : 04 มกราคม 2556
Last Update : 4 มกราคม 2556 8:56:42 น. 0 comments
Counter : 862 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

alynnbook
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ฝากผลงานนิยายเรื่องใหม่ ลำนำรักสายลม ด้วยนะคะ
[Add alynnbook's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com