นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 
มนัสสภูมิ (ภูมิแห่งมนุษย์)

มนัสสภูมิ


วจนัตถะและคำอธิบายมนุสสภูมิบทโดยพิสดาร


๑. มโน อุสฺสนฺนํ เอเตสนฺติ มนุสฺสา “สัตว์ทั้งหลายที่ชื่อว่า มนุษย์ เพราะมีใจรุ่งเรืองและกล้าแข็ง, ในวจนัตถะนี้ คำว่ามนุสสะ ว่าโดยมุขยนัย “นัยโดยตรง” ได้แก่ คนที่อยู่ในชมพูทวีป ถ้าว่าโดยสทิสูปจารนัย “นัยโดยอ้อม” ได้แก่ คนที่อยู่ใน ทวีปอีกสามทวีปที่เหลือ


ในที่นี้อธิบายว่า จิตใจของคนที่อยู่ในชมพูทวีป และจิตใจของคนที่อยู่ในทวีปทั้งสามนั้นไม่เหมือนกัน คือคนที่อยู่ในชมพูทวีปเป็นผู้มีจิตใจกล้าแข็ง เป็นไปทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี


ฝ่ายดีนั้นทำให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจปพุทธเจ้า อัครสาวก มหาสาวก ปกติสาวก พระเจ้าจักรพรรดิ ฌานลาภี อภิญญาลาภีได้


ฝ่ายที่ไม่ดีนั้น อาทิเช่น ฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์ และทำโลหิตุปบาท คือทำให้พระโลหิตห้อ และทำสังฆเภท


ส่วนในใจของคนที่อยู่ในทวีปสามทวีปที่เหลือนั้น ไม่สามารถจะทำเช่นนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายดีและไม่ดี


ฉะนั้น คำว่ามนุสสะคือคนนั้น จึงได้แก่คนที่อยู่ในชมพูทวีปโดยตรง ส่วนคนที่อยู่ในทวีปอีกสามทวีปนั้นชื่อว่ามนุสสะนั้น เพราะมีรูปร่างสัณฐานเหมือนกันกับกับคนที่อยู่ในชมพูทวีปนั้นเอง เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่าเป็นมนุสสะโดยอ้อม



คนที่อยู่ในชมพูทวีปซึ่งเป็นจักรวาลเดียวกันกับที่เราอยู่ทุกวันนี้ มีชื่อว่ามนุสสะ (คน) นั้น ไม่มีการแสดงเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะว่าความเป็นไปในทางที่ดีและไม่ดีทั้งสองฝ่ายนั้น ก็ได้ปรากฏชัดแจ้งแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นต้นก็อุบัติขึ้นในจักรวาลนี้เท่านั้น การทำปัญจานันตริยกรรมคือฆ่าบิดามารดาเป็นต้นก็มีแต่ในจักรวาลนี้เท่านั้น


๒. อีกนัยหนึ่ง วจนัตถะว่า การณาการณํ มนติ ชานาตีติ มนุสฺโส “คนชมพูทวีปชื่อว่า มนุสสะ เพราะมีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นเหตุอันสมควรและไม่สมควร” วจนัตถะนี้อธิบายว่า ธรรมดาสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมมีอยู่เพียงสองอย่างเท่านั้น คือสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตก็มีอยู่หลายๆประเภท สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งสองอย่างนี้ ย่อมเกิดมาจากเหตุโดยเฉพาะๆ


คนชมพูทวีปเมื่อได้ประสบพบเห็นสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้แล้ว ย่อมพิจารณาค้นคว้าหาเหตุที่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้โดยเฉพาะๆ เช่น สิ่งเหล่านี้ย่อมเกิดจากเหตุนี้ ไม่ใช่เกิดมาจากที่อื่น หรือธรรมชาตินี้ย่อมเป็นเหตุของธรรมนี้เท่านั้น และธรรมเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเหตุของธรรมเหล่าอื่น, อุปมาเหมือนขณะที่เดินไปตามทางได้พบเห็นต้นมะม่วง ต้นทุเรียน ต้นส้ม ก็ทราบว่าต้นมะม่วงนี้มาจากเมล็ดมะม่วงไม่ใช่มาจากเมล็ดทุเรียนดังนี้เป็นต้น อุปมาข้อนี้ฉันใด คนชมพูทวีปที่เข้าใจในสิ่งอันเป็นเหตุที่สมควรและไม่สมควรก็ฉันนั้น


ในวจนัตถะคำว่า การณะ แปลเหตุว่า เหตุนี้มีอยู่สองอย่าง คือเหตุที่เป็นนามอย่างหนึ่ง เหตุที่เป็นรูปอย่างหนึ่ง เหตุที่เป็นนามนั้นได้แก่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน สัตว์ทั้งหลายในชาติปัจจุบันนี้และชาติที่ล่วงมาแล้วทั้งหมด เหตุที่เป็นรูปนั้นได้แก่รูปร่างสัณฐานของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตที่ไม่มีความรู้สึกทั้งหมด
เหตุต่างๆตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ คนชมพูทวีปย่อมมีความรู้ความเข้าใจได้ตามสมควรโดยความเป็นธรรมชาติที่ไม่มีสิ่งใดๆมาบังคับ


ในวจนัตถะนี้แสดงให้เห็นว่า คนที่อยู่ในทวีปที่เหลือสามทวีป*และเทวดาตลอดจนถึงพรหมทั้งหลาย มีความรู้ความเข้าใจในเหตุที่สมควรและไม่สมควร ไม่เท่ากันกับคนที่อยู่ในชมพูทวีป ในที่นี้คนชมพูทวีปได้แก่คนที่อยู่ในประเทศที่มีอาณาเขตพื้นดินติดต่อกันกับเราอยู่ทุกวันนี้ โดยไม่มีมหาสมุทรมากั้น คือเอเชีย ยุโรป* แอฟริกา



[*หมายเหตุ: คำว่าทวีปที่เหลือสามทวีป ได้แก่ ๑. ปุพพวิเทหทวีป ๒. อปรโคยานทวีป ๓. อุตตรกุรุทวีป ซึ่งอยู่คนละที่กันกับ Earth ของเรา ส่วนทวีปอื่นๆใน Earth เช่น อเมริกา ลังกาทวีป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ ถือว่าอยู่ในทวีปบริวาร ๕๐๐ ของชมพูทวีป และ Earth = ชมพูทวีป + ทวีปบริวาร ๕๐๐ ของชมพูทวีป (จาก ชาวมหาวิหาร)]


๓. หรืออีกนัยหนึ่ง วจนัตถะว่า อตฺถานตฺถํ มนติ ชานาตีติ มนุสฺโส “คนชมพูทวีปชื่อว่า มนุสสะ เพราะเข้าใจในสิ่งที่มีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์” วจนัตถะนี้อธิบายว่า ธรรมดาสัตว์โลกทั้งหลาย เมื่อผลปรากฏขึ้นแล้วจะเป็นที่น่ายินดีพอใจ หรือไม่น่ายินดีและไม่พอใจก็ตาม ทั้งสองอย่างนี้ย่อมเกิดมาจาก การทำ การพูด การคิดเท่านั้น การทำ การพูด การคิดดี ก็ได้ผลดีคือมีประโยชน์ ถ้าการทำ การพูดการคิดไม่ดี ก็ได้ผลไม่ดีคือไม่มีประโยชน์


คนชมพูทวีปนี้มีความรู้ความเข้าใจ การทำการพูดการคิดอย่างนี้ดี จะมีประโยชน์อย่างนี้ๆ การทำการพูดการคิดอย่างนี้ไม่ดีไม่มีประโยชน์ คือไรประโยชน์ ในวจนัตถะนี้คำว่า อตฺถ แปลว่าผล คือประโยชน์นั้นเอง ผลคือประโยชน์นี้มีสองอย่าง คือ ๑. โลกิยประโยชน์ ๒. โลกุตตรประโยชน์


โลกิยประโยชน์ ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือมนุษย์สมบัติ เทวสมบัติ พรหมสมบัติ


โลกุตตรประโยชน์ ได้แก่ กุศลและความรู้ในธรรม หรือเป็นอริยะและสัปบุรุษ ตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมา


ผลคือประโยชน์ต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ คนชมพูทวีปย่อมมีความรู้ ความเข้าใจได้ตามสมควร โดยความเป็นธรรมชาติ แล้วแต่ศรัทธา วิริยะ ปัญญา บารมี และการคบหาสมาคม


ในวจนัตถะนี้แสดงให้เห็นว่า คนที่อยู่ในทวีปที่เหลือสามทวีปและเทวดา ตลอดจนถึงพรหมทั้งหลาย มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่เท่ากับคนที่อยู่ในชมพูทวีป


๔. หรืออีกนัยหนึ่ง วจนัตถะว่า กุสลากุสลํ มนติ ชานาตีติ มนุสฺโส “คนมพูทวีปชื่อว่า มนุสสะ เพราะเข้าใจในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล” วจนัตถะนี้อธิบายว่า ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมมีการงานอยู่สามอย่างเท่านั้น คือการงานที่ทำทางกาย การงานที่กล่าวทางวาจา การงานที่คิดนึกและพิจารณาด้วยใจ จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ก็ตาม เมื่อว่าโดยทางโลกแล้วก็มีเพียงสามนี้เท่านั้น แต่ถ้าว่าตามสภาวะแล้วก็มีสอง คือ กุศลและอกุศล การทำการพูดการคิดที่เกี่ยวเนื่องด้วยทาน ศีล ภาวนา เป็นกุศล การทำการพูดการคิดที่เกี่ยวเนื่องด้วย ทุจริต ๑๐ เป็นอกุศล


คนชมพูทวีปมีความรู้ความเข้าใจว่า การทำการพูดการคิดอย่างนี้เป็นกุศล การทำการพูดการคิดอย่างนี้เป็นอกุศล ในวจนัตถะนี้ คำว่า กุศล อกุศล ก็ได้แก่ กุศลและอกุศลนี้เอง กุศลมี อย่าง คือ โลกิยกุศล และโลกุตตรกุศล โลกิยกุศล ได้แก่ การบริจาคทาน รักษาศีล เจริญสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา โลกุตตรกุศลได้แก่ อริยมรรคทั้ง ๔ ที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาและสามารถประหาณกิเลสได้เด็ดขาด ส่วนอกุศล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น คือ


โลภะ มีความต้องการในกามคุณทั้ง ๔ เช่น อยากดูหนัง อยากฟังร้องเพลง อยากดมกลิ่นหอมๆ อยากกินอาหารที่มีรสดีๆ อยากถูกต้องในสิ่งที่ดีๆ และคิดถึงอารมณ์ คือสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งที่เป็นภายในและภายนอก


โทสะ ได้แก่ ความโกรธ ความเสียใจ ไม่พอใจ กลุ้มใจ และพยาบาท


โมหะ ได้แก่ ความหลง คือความไม่เชื่อไม่เลื่อมในเพราะกำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ ด้วยอำนาจวิจิกิจฉาในพุทธะ ธัมมะ สังฆะ จิตใจไม่สงบ มีความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ


คนชมพูทวีปนี้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศลดังที่ได้กล่าวมาแล้วโดยความเป็นธรรมชาติ แล้วแต่ลัทธิ แล้วแต่ศรัทธา วิริยะ ปัญญา บารมี และการคบหาสมาคม ฉะนั้น ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศลของคนชมพูทวีปที่ต่างกันโดยลัทธิเป็นต้นนั้นมีดังต่อไปนี้คือ คนชมพูทวีปที่นับถือพระพุทธศาสนาและมีความสนใจในธรรมะ มีศรัทธา วิริย ปัญญา บารมี และการคบหาสมาคมดี ย่อมเข้าใจในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศลได้มาก ส่วนคนชมพูทวีปที่นับถือศาสนาอื่นๆ และไม่มีความสนใจในธรรมะ ไม่มีศรัทธา วิริยะ ปัญญาบารมี
และไม่คบหากับสัปบุรุษ ย่อมเข้าใจในสิ่งที่ เป็นกุศลและอกุศลน้อย ความแตกต่างกันมีอยู่เพียงเท่านี้


ในวจนัตถะข้อที่สี่นี้แสดงไห้เห็นว่า คนที่อยู่ในทวีปที่เหลือทั้งสามทวีปและเทวดา ตลอดจนถึงพรหมทั้งหลาย มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล ไม่เท่ากับคนที่อยู่ในชมพูทวีป ดังนั้น เมื่อจะสรุปวจนัตถะของคำว่า มนุสสะ ข้อ –
๓ -๔ รวมกันแล้วมี ดังนี้ คือ
การณาการณํ อตฺถานตฺถํ กุสลากุสลํ มนติ ชานาตีติ มนุสฺโล “คนชมพูทวีป ชื่อว่า มนุสสะ เพราะเข้าใจในสิ่งที่เป็นเหตุอันสมควรและไม่สมควร เข้าใจในสิ่งมีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ และเข้าใจในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล”



อาจารย์ที่เข้าใจในไวยากรณ์บาลีเป็นอย่างดีได้แสดงวจนัตถะ คำว่า มนุสสะ ไว้อีกอย่างหนึ่ง ว่า


๕. มนุโน อปจฺจาติ มนุสฺสา คนทั้งหลายชื่อว่า มนุสสะ เพราะเป็นลูกของพระเจ้ามนุ”, ในสมัยต้นกัป ประชาชนทั้งหลายได้มีการประชุมเลือกตั้งพระโพธิสัตว์ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองประเทศ โดยถวายพระนามว่า พระเจ้ามหาสัมมตะ พระเจ้ามหาสัมมตะพระองค์นี้ ชื่อเดิมของท่านชื่อว่า มนุ เมื่อพระเจ้ามหาสัมมตะ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระราชาผู้ปกครองประเทศโดยสมบูรณ์แล้ว ก็ทรงจัดการวางระเบียบแบบแผน และกฎข้อบังคับในทางที่เป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในทางที่เป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตามกฎข้อบังคับนั้นๆ โดยถูกต้องไม่ให้ฝ่าฝืนออกไปนอกข้อบังคับที่พระองค์ได้ทรงวางไว้


ฉะนั้น ประชาชนทั้งหลายจึงได้พร้อมใจกันปฏิบัติตามกฎข้อบังคับนั้นๆ โดยเคร่งครัดทั่วทั้งประเทศ คือ ข้อใดทรงห้ามไม่ให้กระทำ และข้อใดที่ทรงอนุญาตเขาเหล่านั้นต่างก็พากันกระทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาตไว้เท่านั้น ส่วนข้อที่พระองค์ทรงห้ามไม่ให้ประพฤติหรือกระทำ เขาก็งดเว้นเสียตามกฎข้อห้ามนั้นๆ ทุกๆ ประการไม่มีผู้ใดที่จะฝ่าฝืนคงทำตามกฏที่พระองค์ทรงอนุญาตไว้เท่านั้น เช่นเดียวกับบุตรที่ดีทั้งหลายได้ประพฤติตนตามโอวาทของบิดา ฉะนั้น คนทั้งหลายที่ชื่อว่า มนุสสะ นี้ก็เพราะเป็นลูกของพระเจ้ามนุที่เรียกว่าพระเจ้ามหาสัมมตะในสมัยต้นกัปนั้นเอง กฏข้อบังคับระเบียบแบบแผนที่พระเจ้ามนุทรงวางเป็นกฏเกณฑ์ไว้นี้เป็นที่นิยมสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในมนุวัณณนาธัมมสัตถปกรณ์ ว่า



ยสสฺสินํ สราชินํ โลกสีมานุรกฺขินํ


อาทิภูตํ ปถวิยํ กถยนฺติ มนูติ ยํ


เอวญฺจ มนุนามิโก ปณฺฑิโต มุทุพฺยตฺตวา



แปลความว่า พระเจ้ามหาสัมมตะพระองค์นี้ ประชาชนทั้งหลายพากันเรียกพระองค์ว่าพระเจ้ามนุ พระเจ้ามนุยศมาก มีพระเจ้าแผ่นดินมีบริวารมาก เป็นผู้รักษาโรค คือ มนุษย์ทั้งหลายให้มีระเบียบ และเป็นพระราชาองค์แรก พระเจ้ามหาสัมมตะที่มี พระนามว่ามนุนี้ เป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลมและสุขุม เชี่ยวชาญในการพิจารณาตัดสิน



คุณสมบัติ ๓ ประการของคนชมพูทวีป


คนชมพูทวีปมีคุณสมบัติ
ประการสูงกว่า ประเสริฐกว่าคนอุตตรกุรุและเทวดาชั้นตาวติงสา คุณสมบัติ ประการ ของคนชมพูทวีปนั้น คือ



๑. สูรภาว มีจิตใจกล้าแข็งในการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา


๒. สติมนฺต มีสติตั้งมั่นในคุณพระรัตนตรัย


๓. พฺรหฺมจริยวาส มีการประพฤติพรหมจรรย์คือบวชได้



ดังมีสาธกบาลีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ในพระบาลีนวกนิบาตอังคุตตรนิกายว่า



ตีหิ ภิกฺขเว ฐาเนหิ ชมฺพุทีปกา มนุสฺสา อุตฺตรกุรุเก


มนุสฺเส อธิคณฺหนฺติ เทเว ตาวตึเส, กตเมหิ ตีหิ


ฐาเนหิ ? สูรา สติมนฺโต อิธ พฺรหฺมจริยวาโส จาติ



แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนชมพูทวีป เป็นผู้มีคุณ


สูงและประเสริฐกว่าคนอุตตรกุรุ และเทวดาชั้นตาวติงสาอยู่


อย่าง คือ จิตใจกล้าแข็งในการกระทำความดี มีสติตั้งมั่นใน


พระรัตนตรัย และประพฤติพรหมจรรย์ คือ บวชได้”



เหตุที่พระโพธิสัตว์ไม่อยู่จนสิ้นอายุกัปในเทวโลก


ในบรรดาคุณทั้ง
อย่างนี้
อิธ พฺรหฺมจริยวาโส อันได้แก่การประพฤติพรหมจรรย์คือการบวช การรักษาศีลแปด ศีลเก้า ศีลสิบ มีโอกาสที่จะบำเพ็ญได้ก็แต่ในชมพูทวีปของเรานี้เท่านั้น ในเทวโลกไม่มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ได้ ฉะนั้น พระโพธิสัตว์ที่ยังมีบารมีอ่อนอยู่ ในขณะที่ไปบังเกิดในชั้นเทวโลกที่มีอายุยืนมาก จึงไม่อยู่จนสิ้นอายุกัปของชั้นเทวโลกนั้นๆ โดยนอธิษฐานให้สิ้นอายุแล้วมาบังเกิดเป็นมนุษย์ในชมพูทวีป การตายของพระโพธิสัตว์ด้วยอาการเช่นนี้
เรียกว่า
อธิมุตติกาลกิริยา ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในมหาวัคคอัฏฐกถาฑีฆนิกาย ว่า



อญฺญทา ปน ฑีฆายุกเทวโลเก นิพฺพตฺตา โพธิสตฺตา


ยาวตายุกํ ติฏฺฐนฺติ, กสฺมา ? ตตฺถ ปารมีนํ


ทุปฺปูรณียตฺตา



แปลเป็นใจความว่า ธรรมดาในชั้นเทวโลกการสร้างบารมี


ลำบากมาก ฉะนั้นพระโพธิสัตว์ที่ไปบังเกิดในชั้นเทวโลกที่มีอา


ยุยืน จึงไม่อยู่จนตลอดอายุกัป



คุณสมบัติ ๓ ประการของชาวอุตตรกุรุ


คนอุตตรกุรุมีคุณสมบัติ
ประการสูงและประเสริฐกว่าคนชมพูทวีปและเทวดาชั้นตาวติงสา คุณสมบัติ ๓ ประการของคนอุตตรกุรุนั้น คือ



๑. ไม่มีการยึดถือเงินทองว่าเป็นของตน


๒. ไม่หวงแหน หรือยึดถือบุตร ภรรยา สามี ว่าเป็นของตน


๓. มีอายุยืนถึงหนึ่งพันปีเสมอ



คติภพ(ที่ไปเกิด) ของคนอุตตรกุรุ


ธรรมดาคนอุตตรกุรุ มีการักษาศีล ๕ เป็นนิจ ฉะนั้น เมื่อตายแล้วคนเหล่านี้ย่อมไปบังเกิดในชั้นเทวโลก ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในนวังคุตตรอัฏฐกถา และสารัตถทีปนีฏีกาว่า คติปิ นิพทฺธา ตโต จวิตฺวา สคฺเคเยว นิพฺพตฺตนฺติ แปลความว่า คติภพ(ที่ไปเกิด) ของคนอุตตรกุรุย่อมมีทิศทางที่แน่นอน คือ คนอุตตรกุรุเมื่อตายแล้วต้องไปบังเกิดในชั้นเทวโลกอย่างแน่นอน



คำอธิบายพิเศษในเรื่องคติภพ(ที่ไปเกิด)ของคนอุตตรกุรุ


อนึ่ง แม้ว่าเมื่อคนอุตตรกุรุจะตายจากภพเก่าแล้วต้องไปบังเกิดในชั้นเทวโลกโดยแน่นอนก็จริง แต่ถ้าถึงเวลาจุติจากเทวโลกแล้วอาจไปบังเกิดในอบายภูมิหรือทวีปอื่นหรือภูมิภูมิหนึ่งก็ได้ ฉะนั้น ข้อที่ว่า คนอุตตรกุรุเมื่อตายแล้วต้องไปบังเกิดในชั้นเทวโลกอย่างแน่นอนนั้น เป็นคำพูดที่หมายถึงการจุติต่อจากภพที่เขากำลังเป็นอยู่เท่านั้น


วจนัตถะ ของคำว่ามนุสสภูมิมีดังนี้ มนุสฺสานํ ภูมีติ มนุสฺสภูมิ “ที่อยู่ที่อาศัยของคนทั้งหลาย ชื่อว่า มนุสสภูมิ” อีกนัยหนึ่ง
มนุสฺสานํ นิวาสา มนุสฺสา “ทีอยู่ทีอาศัยของคนทั้งหลาย ชื่อว่า มนุสสา”


ในวจนัตถะทั้งสองอย่างนี้ คำว่า มนุสสภูมิ และมนุสสา
ก็ได้แก่ที่อยู่อาศัยของคนทั้งหลายเหมือนกัน แตกต่างกันโดยนัยไวยากรณ์เท่านั้น การแตกต่างกันโดยนัยไวยากรณ์นั้นมีดังนี้ คือ คำว่า มนุสสภูมิ นี้เป็นสมาบท สร้างรูปคำจากบทสองบท คือ มนุสส + ภูมิ ภายหลังจากที่สำเร็จเป็น มนุสฺสภูมิ แล้ว ลงสิปฐมาวิภัติ, ลบสิวิภัตติ




ส่วนคำว่า มนุสสา นั้น เป็นนิวาสตัทธิตบท ลงณปัจจัย, ลงอาปัจจัยมาเพื่อทำศัพท์ให้เป็นอิตถีลิง๕ ลงสิวิภัติ ลบสิวิภัตติ



ที่อยู่ของมนุษย์


มนุษย์นี้อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินที่มีอยู่ทั้ง
ทิศของภูเขาสิเนรุ มีภูเขาสิเนรุอยู่ตรงกลาง ส่วนเนื้อที่ๆ เหลือนอกออกไปจากแผ่นดินที่มนุษย์อาศัยอยู่ อันได้แก่ทวีปใหญ่ทั้ง ๔ กับทวีปน้อย ๒,๐๐๐ และภูเขาสัตตบรรพ์นั้นล้วนแต่เป็นมหาสมุทรทั้งสิ้น


พื้นแผ่นดินทั้ง
ทิศ ได้แก่ทวีปใหญ่ทั้ง ๔ ซึ่งเป็นที่อาศัยของมนุษย์นั้นมีชื่อว่า







Create Date : 26 กันยายน 2554
Last Update : 27 กันยายน 2554 0:21:11 น. 3 comments
Counter : 1447 Pageviews.

 
(ต่อจาก เนื้อหากระทู้ด้านบน)

๑. ปุพพวิเทหทวีป ๒. อปรโคยานทวีป
๓. ชมพูทวีป ๔. อุตตรกุรุทวีป

เกณฑ์อายุของมนุษย์ในทวีปทั้ง ๔


มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปทั้ง ๔ นี้ มีการกำหนดอายุดังนี้ คือ

คนที่อาศัยอยู่ในชมพูทวีปมีอายุไม่แน่นอน โดยความยิ่งหย่อนกว่ากันและกันเช่นสมัยใดคนชมพูทวีปมี กาย วาจา ใจ ประกอบด้วยศีลธรรม สมัยนั้นคนชมพูทวีปมีอายุยืนถึงหนึ่งอสงไขยปี การนับอสงไขยนั้นก้นับเช่นเดียวกันกับการนับอายุของสัตว์นรกที่ได้อธิบายมาแล้วในเรื่องพระเจ้าอุปวระ สมัยใดคนชมพูทวีปมี กาย วาจา ใจ ไม่ประกอบด้วยศีลธรรม สมัยนั้นคนชมพูทวีปนั้น ก็มีอายุลดน้อยถอยลงมาตามลำดับจนกระทั่งถึง ๑๐ ปี ส่วนคนที่อยู่ในปุพพวิเทหทวีปนั้น มีอายุ ๗๐๐ ปีเสมอ คนที่อายุในอปรโคยานทวีปนั้นมีอายุ ๕๐๐ ปีเสมอ คนที่อยู่ในอุตตรกุรุทวีปนั้นอายุ ๑,๐๐๐ ปีเสมอ

ทวีปใหญ่ทวีปหนึ่งก็มีทวีปน้อย ๕๐๐ เป็นบริวาร รวมเป็นทวีปน้อยมี๒,๐๐๐ ทวีป คนที่อาศัยอยู่ในทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีปนี้ ก็มีอายุมากบ้างน้อยบ้าง ไปตามคนที่อยู่ในทวีปใหญ่นั้นๆ ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในสังยุตตนิกายอัฏฐกถาว่า

ชมฺพุทีปวาสีนํ อายุปฺปมาณํ นตฺถิ, ปุพฺพวิเทหานํ
สตฺตวสฺสตายุกา, อปรโคยานวาสีนํ ปญฺจวสฺสสตายุกา,

อุตฺตรกุรุวาสีนํ วสฺสสหสฺสายุกา, เตสํ เตสํ ปริตฺตทีปวาสินมฺปิ ตทนุคติกาว.

หมายเหตุ การอธิบายโดยพิสดารของมนุสสภูมินี้ จะได้อธิบายต่อไปในตอนสุดท้ายของภูมิจตุกกะ

การแสดงมนุสสภูมิ จบ


ที่มา : ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา วิถีมุตตสังคหะ


โดย: ชาวมหาวิหาร วันที่: 26 กันยายน 2554 เวลา:17:37:46 น.  

 
พวกมนุษย์
ฏีกาจารย์กล่าวไว้ว่า พวกมนุษย์ในที่นี้หมายเอาพวกมนุษย์ที่อยู่ในชมพูทวีปเท่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องถึงมนุษย์ที่อยู่ในทวีปอื่นๆอีก ๓ ทวีปนั้น เพราะว่าพวกมนุษย์ที่อยู่ในปุพพวิเทหะ คือทวีปที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกนั้น มีกำหนดอายุแน่นอนอยู่แล้วเป็นจำนวน ๗๐๐ ปี พวกมนุษย์ที่อยู่ในอปรโคยานทวีป คือทวีปที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกก็มีกำหนดอายุ ๕๐๐ ปี พวกมนุษย์ที่อยู่ในอุตตรกุรุทวีป คือทวีปที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือก็มีกำหนดอายุ ๑,๐๐๐ ปี เป็นที่แน่นอน
ส่วนพวกมนุษย์ที่อยู่ในชมพูทวีปนี้ มีกำหนดอายุไม่แน่นอน สูงบ้าง ต่ำบ้างสูงที่สุดถึงอสงไขยปีก็มี ตำที่สุดถึง ๑๐ ปีก็มี ในสมัยเมื่อต้นกัปนั้น มนุษย์ทั้งหลายไม่ว่าในทวีปใด ย่อมมีอายุถึงอสงไขยปีทั้งนั้น เพราะจิตใจของคนในสมัยนั้น กิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ ยังมีน้อย และถึงมีก็ไม่ใช่ชนิดหยาบที่ถึงทุจริต เป็นไปเพียงสามัญธรรมดาเท่านั้น มีกุศลเจตนาเกิดอยู่มาก ฉะนั้น อุตุและอาหารที่เป็นเครื่องอาศัยของมนุษย์ก็ย่อมดีไม่ขาดตกบกพร่อง เมื่อมีอุตุและอาหารดีเป็นเหตุแล้ว มนุษย์ทั้งหลายก็มีอายุยืนอยู่ได้ถึงอสงไขยปี หมายความว่านับประมาณอายุไม่ได้เลย ครั้งต่อมามนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ในทวีปทั้ง ๔ มีอกุศลจิตเกิดขึ้นในขันธสันดานมากๆขึ้น ด้วยอำนาจ ของอกุศลนี้ทำให้อุตุ คือ ดิน ฟ้า อากาศ และอาหารต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นปกติเหมือนแต่ก่อน กล่าวคือ เมื่อหนาวก็หนาวเกินควร เมื่อร้อนก็ร้อนเกินควร เมื่อถึงฤดูฝนๆก็ตกไม่เป็นปกติมากไป น้อยไป เหล่านี้ อาหารก็เช่นเดียวกัน คุณค่าที่มีอยู่ในข้าว ผักพืชผลต่างๆก็ลดน้อยลงไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งหลายค่อยๆเสื่อมลง เป็นเหตุให้อายุลดน้อยลงตามลำดับ จากอสงไขยปีลงมาจนถึง ๑ พันปี สำหรับคนที่อยู่ในอุตตรกุรุทวีปนั้น เมื่ออายุขัยลดลงถึง ๑ พันปี ก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ไม่ลดลงต่อไปอีก ส่วนผู้ที่อยู่ในทวีปทั้ง ๓ ที่เหลือนอกนั้น อายุยังคงลดลงต่อไปอีกตามลำดับ เพราะกิเลสของพวกมนุษย์เหล่านี้ก็ค่อยๆ หยาบขึ้นไม่เหมือนมนุษย์ชาวอุตตรกุรุ เมื่ออายุขัยลดลงถึง ๗๐๐ ปี มนุษย์พวกปุพพวิเทหทวีปก็มีอายุขัยหยุดอยู่เพียงแค่นั้นไม่ลดลงอีก เพราะไม่มีกิเลสเพิ่มขึ้น ส่วนมนุษย์ที่อยู่ในทวีปที่เหลืออีก ๒ ทวีป อายุยังคงลดต่อไป เพราะว่ากิเลสยังมีเพิ่มขึ้นอยู่จนกระทั่งอายุขัยลด
(หน้าที่ 225)

ลงเหลือ ๕๐๐ ปีมนุษย์พวกอปรโคยานทวีปก็มีอายุขัยหยุดลงเพียงแค่นี้ ไม่ลดลงต่อไปอีกเช่นเดียวกัน ยังเหลือพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีปเท่านั้น ที่อายุขัยลดลงต่อไปเรื่อยๆเพราะกิเลสของชาวชมพูทวีปนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันนี้อายุขัยของชาวชมพูทวีปลดลงเหลือ ๗๕ ปีเป็นส่วนมากและจะลดลงไปอีกตามลำดับ จนกระทั่งมีอายุเหลืออยู่เพียง ๑๐ ปีเป็นอายุขัย ฉะนั้นคำว่ามนุษย์ที่มีประมาณอายุไม่แน่นอนนั้นจึงหมายเอาแต่มนุษย์ที่อยู่ในชมพูทวีปพวกเดียว
อนึ่ง ในโลกบัญญัติปกรณ์แสดงไว้ว่า ในจำนวน ๑๐๐ ปี อายุขัยของมนุษย์ในชมพูทวีปจะลดลง ๑๐ ปี เป็นดังนี้ทุกๆ ร้อยปี แต่ท่านฏีกาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่าอายุขัยของมนุษย์ชาวชมพูทวีปนี้ ในจำนวน ๑๐๐ ปีจะลดลง ๑ ปี ทุกๆร้อยปี แต่ถ้าจะเปรียบเทียบความเป็นไปที่แลเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว ก็วินิจฉัยได้ว่าอายุขัยของมนุษย์ในชมพูทวีปที่กำหนดว่า ๑๐๐ ปีลดลง ๑๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีลดลง ๑ ปี นั้นก็ไม่ใช่เป็นการกำหนดที่แน่นอนลงไป เพราะบางทีอาจจะลดลงน้อยกว่า ๑๐ ปี หรือมากกว่า ๑ ปี หรือบางทีใน ๑๐๐ ปี ไม่มีลดลงเลยก็มี ที่เป็นดังนี้ก็แล้วแต่ความประพฤติเป็นไปของมนุษย์ในสมัยนั้นๆ กล่าวคือ ในเวลาใดมีผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรมมาก เวลานั้นอายุขัยของมนุษย์ก็ไม่ลดลง และบางคนก็มีอายุเกินกว่าขัยที่กำหนดไว้ในสมัยนั้นก็ได้ถ้าเวลาใดสมัยใด มนุษย์ไม่ได้ตั้งอยู่ในศีลธรรมเป็นส่วนมากแล้วเวลานั้นอายุขัยก็ลดลงมาก และบางคนก็มีอายุน้อยกว่าขัยที่กำหนดไว้ก็ได้ ในปัจจุบันนี้ก็มีความเป็นไปอยู่เช่นนี้เหมือนกัน คืออายุขัยที่กำหนดไว้ ๗๕ ปีในขณะนี้บางคนที่มีอายุมากกว่า ๗๕ ปีก็มีเป็นจำนวนมาก และที่อยู่ไม่ถึง ๗๕ ปีก็มีมากเช่นเดียวกัน
สมัยพุทธกาล อายุของมนุษย์ในสมัยนั้นมีกำหนด ๑๐๐ ปี เป็นอายุขัยที่มีกำหนด ๑๐๐ ปีนี้ก็เป็นมาตั้งแต่ในสมัยพระเวสสันดรนี้แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่สมัยพระเวสสันดรจนถึงสมัยพระสมณโคดมนี้อายุขัยไม่มีการลดลง เมื่อมาถึงสมัยปัจจุบัน นี้ที่กล่าวไว้ว่า อายุขัยลดลงเหลือ ๗๕ ปีนั้น ก็เป็นการกล่าวตามวาทะของฏีกาจารย์ทั้งหลายนั้นเอง และเมื่อคิดคำนวณดูแล้วก็ทราบได้ว่า ตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ เข้าสู่ปรินิพพานแล้วเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นเวลา ๒,๕๐๐ ปีเศษ อายุขัยที่ลดลงกำหนดไว้ว่า ๑๐๐ ปีลดลง ๑ ปีฉะนั้นในจำนวน ๒,๕๐๐ ปี อายุขัยก็จะ

(หน้าที่ 226)

ต้องลดลงเป็นจำนวน ๒๕ ปี ฉะนั้นเมื่อในพระพุทธกาลอายุขัยกำหนดไว้ ๑๐๐ ปี หักออกเสีย ๒๕ ปี คงเหลือ ๗๕ปี นับเป็นอายุของมนุษย์ในปัจจุบันนี้และที่บางคนมีอายุเกิน ๗๕ ปีขึ้นไปนั้น ก็เกินไปไม่ได้ถึง ๒ เท่าของอายุขัย หมายความว่าอายุจะต้องไม่ถึง ๑๕๐ ปี ถึงในสมัยพุทธกาลก็เช่นเดียวกัน ที่กำหนดอายุขัยไว้ ๑๐๐ ปีนั้น ก็มีบางท่านมีอายุเกิน ๑๐๐ ปี ก็มีอยู่หลายท่าน เช่น พระพากุลเถระมีอายุยืนถึง ๑๖๐ พระอนุรุทธเถระอายุ ๑๕๐ ปี พระมหากัสสป พระอานนท์ โบกขรสาติพราหมณ์ พราหมายุพราหมณ์ เสสพราหมณ์ พวาริยพราหมณ์ นางวิสาขา ทั้ง ๗ ท่านนี้อายุได้ท่านละ ๑๒๐ ปี รวมทั้ง ๙ ท่านนี้ แม้ว่าจะมีอายุยืนมากกว่า ๑๐๐ ปี ที่กำหนดเป็นอายุขัยในสมัยพระสมณโคดมก็จริง แต่ก็ไม่มีผู้ใดอายุยืนถึง ๒๐๐ ปี ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงไว้ในพระบาลีมหาวรรคแห่งพระสูตตันตปิฏาว่า

“โย ภิกกฺขเว จิรํ ชีวติ โส วสฺสสตํ ชีวติ อปฺปํ วา
ภิยฺโย ทุติยํ วสฺสสตํ น ปาปุณาติ”

แปลความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดมีอายุยืน ผู้นั้น
ย่อมมีอายุถึง ๑๐๐ ปี และบางคนก็เกินกว่า ๑๐๐ ปีไปเล็ก
น้อยก็เป็นได้ แต่ไม่ถึง ๒๐๐ ปี

มีข้อที่น่าสงสัยอยู่ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใน ๔ ทวีปนั้น พวกมนุษย์ที่อยู่ในอุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป และอปรโคยานทวีป ทั้ง ๓ ทวีปนี้มีอายุขัยกำหนดได้แน่นอน แต่ส่วนมนุษย์ที่อยู่ในชมพูทวีปนี้กำหนดอายุขัยไม่แน่นอน ทั้งนี้เพราะเหตุไร ?
ข้อนี้แก้ว่า พวกชาวชมพูทวีปนี้ ถ้าประพฤติดีก็ดีอย่างประเสริฐสุด คือสามารถปฏิบัติตนให้ได้ถึง ฌาน อภิญญา มรรค ผล นิพพาน กล่าวคือได้เป็นฌานลาภีอภิญญาลาภี พระอริยบุคคล จนกระทั่งถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ ถ้าประพฤติไม่ดี ก็ไม่ดีอย่างที่สุด สามารถกระทำทุจริตถึงขั้นอนันตริยกรรมและนิยตมิจฉาทิฏฐิก็ได้ ฉะนั้น

(หน้าที่ 227)

อายุขัยของชาวชมพูทวีปนี้เมื่อสูงก็สูงถึงอสงไขย เมื่อตำก็ต่ำถึง ๑๐ ปี ส่วนพวกที่อยู่ในทวีปทั้ง ๒ ที่กล่าวแล้วนั้น ความประพฤติเป็นไปไม่สูงและไม่ต่ำเหมือนกับชาวชมพูทวีป ประพฤติเป็นไปเพียงกลางๆ ฉะนั้นอายุขัยของพวกเหล่านี้จึงกำหนดได้แน่นอนเป็นที่น่าสรรเสริญดังจะยกเรื่องความประพฤติเป็นไปของชาวอุตตรกุรุมาแสดงให้เห็นดังต่อไปนี้

ความเป็นไปแห่งชาวอุตตรกุรุ
อุตตรกุรุทวีปนี้ เป็นทวีปที่วิเศษกว่าทวีปอื่นๆ คนที่อยู่ในทวีปนี้ไม่ต้องมีความลำบากในเรื่องที่อยู่ที่อาศัย ตลอดจนกระทั่งเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เพราะในทวีปนี้มีต้นไม้ชื่อว่าไม้กัลปพฤกษ์ สำหรับเป็นที่อาศัยของคนทั้งหลาย ต้นกัลปพฤกษ์นี้มีกิ่งประกอบไปด้วยค่าคบและใบไม้อันมิดชิดแน่นหนา แต่ละกิ่งๆ และแต่ละค่าคบนั้นดูราวกับว่าเป็นปราสาทและเรือนยอดเป็นที่รโหฐานนักหนา ต้นไม้อื่นๆ ก็ยังมีอีกมากมาย ล้วนแต่เป็นไม้ดอกผลเป็นที่น่าสนุกสบายยิ่งนัก มีสระและบ่อน้ำเต็มไปด้วยดอกอุบลบัวหลวง ต่างๆชนิด ส่งกลิ่นหอมฟุ้งตระหลบพวกมนุษย์ในทวีปนี้แต่ละคนๆ มีร่างกายสมบูรณ์ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก แข็งแรงและมีความเพียร ความสวยงามและสุขภาพของร่างกายมิได้เสื่อมถอยลง ไม่ต้องมีความลำบากในการที่จะประกอบการอาชีพต่างๆ เพื่อเลี้ยงตนไม่มีอันตรายจากสัตว์เลี้ยงต่างๆ ดินฟ้าอากาศสม่ำเสมอเป็นปกติ ไม้ร้อนนัก ไม่หนาวนัก ข้อนี้มีฉันใด ชาวอุตตรกุรุทวีปเขาก็เป็นสุขด้วยอากาศอย่างนี้ไปทุกๆเดือนอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่มีการล่อลวง เบียดเบียน วิวาทบาดหมางซึ่งกันและกัน ข้าวสาลีก็เกิดเอง ไม่ต้องไถ ไม่ต้องหว่าน ออกรวงเป็นข้าวสาลีทีเดียว ไม่มีรำ ไม่มีลีบ ขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม เมื่อเวลาจะหุงเอาศิลาเพลิง ชื่อว่าโชติปาสาณะมา ๓ ก้อน ตั้งขึ้นไว้ แล้วหม้อก็เดือดเองข้าวก็สุกเอง เมื่อเวลากินก็ไม่ต้องเที่ยวแสวงหากับข้าว จะนึกกินซึ่งรสอันใดรสอันนั้นก็เป็นไปในภาชนะนั้นเองแล้วแต่ความปรารถนาอาศัยอาหารที่มีคุณค่าเช่นนี้ จึงไม่มีโรคาพยาธิอย่างหนึ่งอย่างใดเบียดเบียนเลย ในทวีปนี้จะหาคนที่เป็นโรคเรื้อนโรคผิวหนังแต่สักคนหนึ่งก็หามิได้ อนึ่ง ข้าวที่หุงไว้ใครมาถึงปรารถนาจะกินก็กินตามอัชฌาสัย ไม่มีการหวงแหนมัจฉริยะกัน บรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลาย

(หน้าที่ 228)

ที่มีฤทธิ์ มีพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเสด็จไปโปรดรับ บิณฑบาตทานอยู่เนืองๆ
อนึ่ง หญิงชาวอุตตรกุรุทวีปนี้แต่ละคนๆ นั้นเหมือนๆกัน ไม่สูง ไม่ต่ำ ไม่ดำ ไม่ขาว มีความงามเสมอๆกัน นิ้วมือยาว มีเล็บแดง มีถันมิได้ย้อยยาน มีตะโพกผาย เอวบาง มีพักตร์ราวกับดวงจันทร์ มีแขน ขา คอ ละมุน มีสัมผัสเป็นสุขควรแก่ฤดู มีถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน อีกประการหนึ่ง หญิงชายในทวีปนี้ ถ้าจะมีกำหนดด้วยราคะนั้นก็จะเป็นอยู่สัก ๗ วัน พ้น ๗ วันมาแล้ว ก็หมดความยินดีเฉยอยู่เหมือนกับว่าหมดสิ้นแล้ว และธรรมดาหญิงทั้งหลายในทวีปอื่นๆ ย่อมได้รับความลำบากขณะเมื่อมีครรภ์ คือมีการเจ็บปวดประการต่างๆ มีความลำบากในการรักษาครรภ์ มีประการต่างๆ แต่หญิงในอุตตรกุรุทวีปนี้หาเป็นเช่นนี้ไม่เวลามีครรภ์ก็สบาย ไม่มีก็สบาย ถึงเวลาตลอดก็ไม่ยาก ไม่ลำบากทั้งแม่ทั้งลูก ทารกที่คลอดออกมานั้นก็ปราศจากสิ่งปฏิกูลโสโครกต่างๆ ผู้เป็นมารดาเมื่อคลอดลูกแล้วก็แล้วไปไม่มีการยึดมั่นห่วงใย นึกจะไปไหนก็ไปตามแต่ใจ ทารกนั้นก็นอนนิ่งอยู่ ณ ที่นั้น หญิงหรือชายก็ตามสุดแท้แต่ใครมาแลเห็น เอานิ้วมือใส่ปากเข้าก็เป็นอาหารเป็นน้ำนมไหลพรั่งออกมาเป็นอยู่ดังนี้อย่างช้าสัก ๓ วัน ทารกนั้นก็ลุกขึ้นเดินได้ เป็นหญิงก็ไปเข้าพวกหญิง เป็นชายก็ไปเข้าพวกชาย มีความสบายทุกประการ
บรรดาคนทั้งหลายในทวีปนี้มีเครื่องประดับประดาตกแต่งร่างกาย ซึ่งสำเร็จมาจากต้นกัลป์พฤกษ์ แล้วแต่ผู้ใดจะนึกเอา มีภูษาอาภรณ์เครื่องประดับต่างๆ ห้อยแขวนอยู่ที่ลำต้น และกิ่งใหญ่น้อยทั้งปวงเป็นที่น่าปลื้มใจ
แม่น้ำที่มีอยู่ในทีปนี้มีน้ำใส มีท่าขึ้นลงเรียบราบดี น้ำนั้นสะอาดปราศจากเปือกตมไม่ร้อนนัก ไม่เย็นนัก ริมฝั่งแม่น้ำเดียรดาษไปด้วยดอกไม้ต่างๆ มีดอกสารภี เป็นต้น หอมตลบไปทั้งฝั่งแม่น้ำ เมื่อคนทั้งหลายพากันลงมาอาบน้ำ ผ้าผ่อนอาภรณ์ ทั้งปวงก็ถอดกองไว้ด้วยกัน เมื่อเสร็จจากการอาบน้ำแล้ว ก็ขึ้นผลัดผ้าใส่เครื่องประดับ จะได้มียื้อแย่งกันว่า นี่ของตน นั่นของตนก็หามิได้ เมื่อถึงเวลานอนก็เข้าไปสู่ต้นไม้ต้นใด ต้นไม้ต้นนั้นก็สำเร็จกิจเป็นฟูกเมาะเบาะหมอนขึ้นเอง เมื่อถึงคราวที่มีผู้หนึ่งผู้ใดตายลง ก็ไม่มีผู้ใดที่จะร้องให้คิดถึงกัน เมื่อตายแล้วก็ช่วยกันประดับประดาเอาผ้าคลุมก็ทิ้งไว้ มีนกใหญ่จำพวกหนึ่งบินมาเฉี่ยวคาบเอาซากศพนั้นไปทิ้งเสียที
(หน้าที่ 229)

เกาะอื่น ด้วยเหตุนี้ในอุตตรกุรุทวีปนี้จึงไม่มีป่าช้าและสถานที่สกปรกโสโครกต่างๆ และชาวอุตตรกุรุทวีปนี้ เมื่อตายแล้วจำไปเกิดในอบายภูมินั้นไม่มีเลยด้วยอำนาจแห่งเบญจศีลได้ไปบังเกิดในเทวโลกด้วยกันทั้งสิ้นนี้เป็นวิสัยธรรมดาของชาวอุตตรกุรุเช่นนั้นเอง ฉะนั้น คนที่อยู่ในทวีปนี้จึงมีอายุขัยยืนกว่าทวีปอื่นๆ ทั้งหมดคือ มีอายุยืนถึง ๑ พันปีจึงจะสิ้นอายุ เรื่องอุตตรกุรุทวีปที่แสดงมานี้ มาในสารัตถทีปนีฏีกา
สำหรับเรื่องของปุพพวิเทหทวีป และอปรโคยานทวีป ๒ ทวีปนี้ไม่มีอะไรเป็นพิเศษเท่ากับอุตตรกุรุทวีป เพราะชีวิตความเป็นไปต่างๆ ของคนที่อยู่ใน ๒ ทวีปนี้มีความประพฤติเป็นไปคล้ายๆ กับคนในชมพูทวีป แต่ความเจริญของโลกและจิตใจของคนนั้น ถึงจะสูงก็ไม่สูงเท่าคนในชมพูทวีป ถึงจะต่ำก็ไม่ต่ำกว่าคนในชมพูทวีป เป็นไปในฐานะปานกลาง ฉะนั้น คนใน ๒ ทวีปนี้จึงมีอายุกำหนดแน่นอนได้

ความเป็นไปของมนุษย์ในชมพูทวีป
ในระหว่างที่อายุขัยลดลงเหลือ ๑๐ ปี และขึ้นไปถึงอสงไขยปี ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า อายุขัยของมนุษย์ในชมพูทวีปนี้จะค่อยๆ ลดลงจาก ๑๐๐ ปีลงมาตามลำดับนกระทั่งถึง ๑๐ ปีเป็นอายุขัย ต่อไปนี้จะได้ขยายความให้พิสดารออกไปอีกว่า เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุกำหนดได้ ๑๐ ปี เป็นอายุขัยแล้วนั้นอันว่าอาหารทั้งปวงที่มีรสชาติดีๆ นั้นก็อันตรธานหายไปสิ้น ข้าวนกจะเป็นโภชนะอันประเสริฐ เป็นอาหารอย่างดีของสัตว์ทั้งหลายทั้งในกาลนั้น กุมารีเมื่อเกิดมามีอายุได้ ๕ ปี ก็มีสามีมีบุตรได้ ในเวลานั้นการทำกุศลต่างๆไม่มีเลย แม้เพียงแต่ออกชื่อว่าบุญหรือกุศลก็ไม่มี เพราะไม่มีใครรู้จักบุญกุศลเลยว่าเป็นอย่างไร มีแต่อกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ เข้าครอบงำในสันดานของสัตว์ทั้งหลายปราศจากโลกปาลธรรม คือ หิริ โอตตัปปะ มีความเป็นไป เช่นเดียวกับสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย ไม่มีการรู้จักว่า นี่คือบิดา มารดา พี่ น้อง ลูก หลาน และญาติทั้งหลาย ประพฤติผิดกาเมสุมิจฉาจารต่างๆ มีบิดาได้กับบุตรหญิง มารดาได้กับบุตรชาย พี่ได้กับน้องเหล่านี้เป็นต้น ในครั้งนั้นมนุษย์ทั้งหลายจะมีการอาฆาต

(หน้าที่ 230)

เบียดเบียนซึ่งกันและกันยิ่งนัก บิดามารดาก็คิดจะฆ่าบุตร และบุตรก็คิดจะฆ่าบิดามารดา พี่คิดจะฆ่าน้อง น้องคิดจะฆ่าพี่เป็นต้น มหาภัยต่างๆก็จะบังเกิดมีแก่สัตว์ในเวลานั้น คือในเวลาใดที่สันดานของสัตว์ทั้งหลาย ประกอบไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ อย่างเดิมที่แล้ว ภัยต่างๆ มีทุพภิกขันตรกัป คือความอดอยากอย่างหนึ่ง สันถันตรกัป คือรบราฆ่าฟันกันอย่างหนึ่ง โรคันตรกัป คือโรคภัยเบียดเบียนอย่างหนึ่ง ภัยทั้ง ๓ อย่างนี้จะ บังเกิดมีขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายในเวลานั้น แต่ในสมัยที่อายุของมนุษย์มีกำหนดเพียง ๑๐ ปีนี้ ย่อมมีโทสะปรากฏมากมายที่สุด ในครั้งนั้นสัตถันตรกัปจะบังเกิดขึ้น มนุษย์ทั้งหลายจะวุ่นวายเป็นโกลาหลเกิดรบพุ่งฆ่าฟันซึ่งกันและกัน จะจับวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ตลอดจนกระทั่งจับใบไม้ใบหญ้า สิ่งเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นอาวุธไปทั้งสิ้น คนทั้งหลายก็จะไล่ฟันกันด้วยอาวุธเหล่านั้น พากันล้มตายลงนับประมาณมิได้
สัตถันตรกัปที่บังเกิดขึ้นนี้ เป็นอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ส่วนคนที่มีปัญหาก็หาเสบียงพอเลี้ยงชีวิตไปได้ ๗ วัน แล้วหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ตามซอกห้วย หุบเขา จึงรอดพ้นจากภัยนี้ได้ นอกจากนั้นแล้วก็ถึงซึ่งความพินาศล้มตายลงทั้งสิ้น พื้นแผ่นดินทั้งปวงก็นองไปด้วยโลหิต และเกลื่อนกลาดไปด้วยซากศพ เป็นที่น่ากลัวยิ่งนัก
ครั้นเมื่อพ้น ๗ วันไปแล้ว คนทั้งหลายที่ซ่อนเร้นอยู่นั้นเห็นว่าสงบสงัดเสียงคนก็พากันออกมาจากที่ซ่อนของตนๆ เมื่อมาแลเห็นซึ่งกันและกันเข้า ก็มีความสงสารรักใคร่กันเป็นอย่างมาก เข้าสวมกอดรัดร้องไห้กันไปมา แล้วจึงกล่าวถ้อยคำปรารภซึ่งกันและกันว่า ญาติพี่น้องของเราทั้งหลายที่พากันพินาศล้มตายลงนี้ ก็เพราะเหตุว่าหนาแน่นไปด้วยอกุศล เราทั้งหลายนั้นยังมีชีวิตอยู่ เรามาพากันทำการกุศลเถิด เมื่อปรึกษากันเช่นนี้แล้ว แต่นั้นมาคนทั้งหลายนั้นก็เว้นจากปาณาติบาต
เมื่อคนทั้งหลายปฏิบัติกุศลกรรมคือเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้ว บุตรหลานของคนพวกนี้ก็มีอายุเจริญนาไปอีกเท่าตัว คือจาก ๑๐ ปีเป็น ๒๐ ปี และบุตรหลานของคนพวกนี้ ก็ปรารภเพื่อจะบำเพ็ญกุศลต่อไปอีกเป็นลำดับ จึงปรึกษากันว่าเราทั้งหลายจะเว้นจากอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท เว้นจากเจรจาส่อเสียดเจราจาหยาบช้าเจรจาตลกคะนองหาประโยชน์มิได้ เราจะเว้นเสียจากอภิชฌาวิสมโลภ คือมีความยินดีอยากได้ในสมบัติของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม จะเว้นเสียจากพยาบาท คือมีการปองร้ายผูก

(หน้าที่ 231)

เวรซึ่งกันและกัน จะเว้นเสียจากมิจฉาทิฏฐิ อันถือผิดธรรมแห่งบัณฑิตทั้งหลาย เราจะสมาทานเอากุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการเป็นของประพฤติปฏิบัติ เราจะละเสียซึ่งอกุศลธรรม ๓ ประการ คือความกำหนัดยินดีในสิ่งที่ผิดประเพณีประการหนี่ง โลภะ ความยินดีในเครื่องอุปโภคที่ไม่ชอบธรรมประการหนี่ง ความเห็นผิดที่เป็นมิจฉาธรรมประการหนึ่ง เราจะปฏิบัติบิดามารดา สมณะ พราหมณาจารย์เป็นอันดี เราจะพึงกระทำความเคารพผู้เฒ่าผู้แก่ในตระกูลเป็นอันดี เมื่อพากันคิดดังนี้แล้วคนทั้งหลายก็บำเพ็ญกุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยประการดังนี้
เพราะเหตุสมาทานธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลเหล่านั้น บุตรของคนอื่นที่มีอายุยี่สิบปีก็มีอายุยืนถึงสี่สิบปี บุตรของคนอื่นที่มีอายุสี่สิบปี ก็มีอายุยืนถึงแปดสิบปี บุตรของคนอื่นที่มีอายุแปดสิบปี ก็มีอายุยืนถึงร้อยหกสิบปี บุตรของคนที่มีอายุร้อยหกสิบปีก็มีอายุยืนถึงสามร้อยยี่สิบปี บุตรของคนอื่นที่มีอายุสามร้อยยี่สิบปี ก็มีอายุยืนถึงหกร้อยสี่สิบปี บุตรของคนที่มีอายุหกร้อยสี่สิบปี ก็มีอายุถึงสองพันปี บุตรของคนที่มีอายุสองพันปี ก็มีอายุถึงสี่พันปี บุตรของคนที่มีอายุสี่พันปี ก็มีอายุถึงแปดพันปี บุตรของคนที่มีอายุแปดพันปี ก็มีอายุถึงสองหมื่นปี บุตรของคนที่มีอายุสองหมื่นปี ก็มีอายุถึงสี่หมื่นปี บุตรของคนที่มีอายุสี่หมื่นปี ก็มีอายุถึงแปดหมื่นปี
ในสมัยที่มนุษย์มีอายุถึงแปดหมื่นปีนี้ นางกุมาริกามีอายุได้ห้าร้อยปีจึงจะสมควรมีสามี และโรคภัยที่จะเกิดขึ้นแก่มนุษย์นั้น มีอยู่เพียง ๓ ประการเท่านั้น คือความ หิวหนึ่ง ความง่วงเหงานอน และความแก่หนึ่ง ต่อจากนี้ไปความแก่ของมนุษย์ก็ทวีขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ ไปจนถึงอายุอสงไขยปี

เวลาที่พระศรีอาริยเมตไตรยอุบัติขึ้นในมนุษยโลก
เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืนถึงอสงไขยปีแล้ว การรู้จักความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ค่อยๆหายไป เพราะการมีอายุยืนมากนั้นเองทำให้เกิดมีความประมาทขึ้น เมื่อมีความประมาทแล้ว ทิฏฐิต่างๆ และมานะก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดมีทิฏฐิมานะมากขึ้นแล้ว กิเลสต่างๆก็เกิดขึ้น อกุศลกรรมต่าง ก็เกิดมีขึ้นเป็นลำดับ เมื่อกิเลสต่างๆ และอกุศลกรรมต่างๆ เกิดมีเป็นขึ้นเช่นนี้ อายุของมนุษย์ก็ค่อยๆ ลดลงจากอสงไขยปีลง

(หน้าที่ 232)

มาเป็นลำดับ จนกระทั่งเหลือแปดหมื่นปี ในเวลานี้แหละพระศรีอาริยเมตไตรจะได้มาอุบัติขึ้นในมนุษยโลก ดังมีพุทธภาษิตแสดงไว้ในจักกวัตติสูตรในสุตตันตปาฏิกวรรคว่า

อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ เมตฺเตยโย
นาม ภควาโลเก อุปฺปชฺชิสฺสติ

แปลความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในยุคที่มนุษย์มีอายุแปด
หมื่นปี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า เมตเตยะ เป็นผู้
มีโชค จะอุบัติขึ้นในโลกฉะนั้น


โดย: ชาวมหาวิหาร วันที่: 26 กันยายน 2554 เวลา:20:20:56 น.  

 
ขอบคุณครับ อ่านแล้วสนุกมาก


โดย: wow IP: 58.11.12.95 วันที่: 28 กันยายน 2554 เวลา:22:14:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.