นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 
อสุรภูมิ

อสุรภูมิ
ปทัจเฉทะ ปทสัมพันธะ วจนัตถะ
และคำอธิบายอสุรกายบทโดยพิสดาร

วจนัตถะ :-

น สุรนฺติ อิสฺสริยกีฬาทีหิ น ทิพฺพนฺตีติ อสุรา
“สัตว์เหล่าใดไม่สว่างรุ่งโรจน์ โดยความเป็นใหญ่และสนุกรื่นเริง ฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นชื่อว่า อสุระ”,

อสุรานํ กาโย อสุรกาโย
“หมู่แห่งอสุรทั้งหลายชื่อว่า อสุรกาย”

ในวจนัตถะนี้อธิบายว่า สัตว์ที่เรียกว่าอสุระนั้น เพราะไม่สว่างรุ่งโรจน์โดยความเป็นใหญ่และความสนุกร่าเริง คำว่าสว่างรุ่งโรจน์ ณ ที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความสว่างที่เป็นรัศมีออกจากตัว แต่หมายถึงความสว่างรุ่งโรจน์โดยความเป็นอยู่ อุปมาเช่นคนทั้งหลายที่เป็นอยู่ในมนุษย์โลกทุกวันนี้ บางคนได้กระทำทุจริตผิดกฎหมายของบ้านเมือง ถูกลงโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำ บุคคลเหล่านี้ย่อมได้รับทุกข์โดยนานาประการ เช่น อาหาร การกินก็อดอยากถึงแม้จะได้อาหารที่เลวๆ ตลอดจนผ้าที่จะนุ่งจะห่ม ที่หลับที่นอนก็ล้วนแล้วแต่ไม่ดีทั้งสิ้น มิหนำซ้ำยังต้องถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนที่ขาอีก เขาได้รับความทุกข์ยากลำบากในการเป็นอยู่เช่นนี้แหละ จึงเรียกว่าไม่มีความสว่างรุ่งโรจน์ในทางเป็นใหญ่และความสนุกรื่นเริงไม่เหมือนกันกับบุคคลที่อยู่ภายนอก อันได้แก่บุคคลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ เขาเหล่านี้ย่อมได้รับความสุขความสบายในการเป็นอยู่ที่เกิดจากการบริโภคทรัพย์นั้นๆ อย่างสมบูรณ์ จึงเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า เป็นผู้ที่มีความรุ่งโรจน์ในทางเป็นใหญ่และสนุกรื่นเริง อันเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับบุคคลที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น

ฉะนั้น คำว่า อสุระที่มีความหมายตรงกับวจนัตถะนี้ ก็ได้แก่กาลกัญจิกเปรตอสุระ

ธรรมดากาลกัญจิกเปรตอสุรนี้ ไม่มีภูมิเป็นที่อยู่โดยเฉพาะ เที่ยวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในมนุษย์โลกนี้เอง เช่น อยู่ตามป่า ทะเล มหาสมุทร ภูเขา เกาะและเหว ฉะนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงแสดงไว้ว่า อสุรกาโย หมู่แห่งกาลกัญจิกเปรตอสุระนั้นเอง เรียกว่า อสุรภูมิ

(หมายเหตุ ความลำบากของกาลกัญจิกเปรตอสุระได้แสดงไว้แล้วในจำพวกเปรตจึงไม่แสดงไว้ในที่นี้อีก ถึงแม้กาลกัญจิกเปรตอื่นๆ ก็คงได้รับความลำบากเช่นเดียวกัน)



การจำแนกสัตว์ที่เรียกว่าอสุระ (อสูร)
โดยความว่าอสุระ

อสุระมี ๓ อย่าง คือ เทวอสุระ เปตติอสุระ นิรยอสุระ

เทวอสุระ ได้แก่ เทวดาที่เรียกว่าอสุระ
เปตติอสุระ ได้แก่ เปรตที่เรียกว่าอสุระ
นิรยอสุระ ได้แก่ สัตว์นรกที่เรียกว่าอสุระ

เทวอสุระมี ๖ อย่าง คือ

๑. เวปจิตติอสุระ ๒. สุพลิอสุระ
๓. ราหุอสุระ ๔. ปหาราทอสุระ
๕. สัมพรอสุระ ๖. วินิปาติกอสุระ

ในบรรดาเทวอสุระ ๖ อย่างนี้ เวปจิตติอสุระ ๑ สุพลิอสุระ ๑ ราหุอสุระ ๑ ปหาราทอสุระ ๑ สัมพรอสุระ ๑ รวม ๕ พวกนี้ ที่เรียกว่าอสุระนั้น เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อเทวดาชั้นดาวดึงสา ถึงแม้ว่าสถานที่อยู่ของเทวดาทั้ง ๕ จำพวกนี้จะอยู่ใต้ภูเขาสิเนรุก็จริง แต่ก็สงเคราะห์เข้าในจำพวกเทวดาชั้นดาวดึงสาได้,

ส่วนเทวดาที่เรียกว่าวินิปาติกอสุระนั้น ได้แก่ ปิยังกรมาตา, อุตตรมาตา, ผุสสมิตตา, ธัมมคุตตา เป็นต้น

วินิปาติกอสุระ อันได้แก่ ปิยังกรมาตาเป็นต้น ที่เรียกว่าอสุระนั้นเพราะวินิปาติกอสุระนี้ ว่าโดยรูปร่างสัณฐานก็เล็กกว่าเทวดาที่อยู่ในชั้นตาวติงสา ว่าโดยอำนาจก็น้อยกว่าและสถานที่อยู่ของวินิปาติกอสุระ ก็เที่ยวอาศัยอยู่ในมนุษยโลกทั่วไป เช่น ตามป่า ตามเขา ต้นไม้ และศาลที่เขาปลูกไว้ ซึ่งเป็นที่อยู่ของภุมมัฏฐเทวดาทั้งหลาย ฉะนั้น วินิปาติกอสุระนี้ก็คงเป็นบริวารของภุมมัฏฐเทวดานั่นเอง ถ้าสงเคราะห์เข้าในจำพวกเทวดาแล้วก็คงสงเคราะห์เข้าในจำพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา




เปตติอสุระมี ๓ จำพวกเปตติอสุระมี ๓ จำพวก คือ กาลกัญจิกเปรตอสุระ เวมานิกเปรตอสุระ อาวุธิกเปรตอสุระ บรรดาเปรตทั้งสามจำพวกนี้

๑. กาลกัญจิกเปรตอสุระ เป็นเปรตอสุระที่จัดเข้าในคำว่า อสุรกาโย ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ฉะนั้น ในวจนัตถะข้อแรกที่กล่าวว่า น สุรนฺติ อิสฺสริยกีฬาทีหิ น ทิพฺพนฺตีติ อสุรา นั้น ข้อความของวจนัตถะนี้ มุ่งหมายเอาเฉพาะแต่กาลกัญจิกเปรตอสุระจำพวกเดียว มิได้หมายถึงพวกอสุระประเภทอื่นๆ ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในชินาลังการฏีกาว่า อสุรกาโย ยสฺมา อสุรา นาม กาลกญฺจิกเปตา,ตสฺมา เต เปเตสุ ปวิฏฺฐา

๒. เวมานิกเปรตอสุระ เป็นจำพวกเปรตที่ได้เสวยทุกข์ในเวลากลางวันแต่กลางคืนได้เสวยสุข, ความสุขที่ได้เสวยในเวลากลางคืนนั้น เหมือนกับความสุขที่มีในชั้นตาวติงสา อาศัยการที่ได้เสวยความสุขในเวลากลางคืนเหมือนกับเทวดาชั้นตาวติงสานี้แหละ จึงเรียกว่าอสุระในที่นี้

๓. อาวุธิกเปรตอสุระ ได้แก่จำพวกเปรตที่ประหัตประหารซึ่งกันและกันด้วยอาวุธต่างๆ อาวุธิกเปรตที่เรียกว่าอสุระนั้น เพราะเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับเทวดาชั้นตาวติงสาโดยความเป็นอยู่ เพราะเทวดาชั้นตาวติงสานั้นมีความรักใคร่ซึ่งกันและกัน ส่วนอาวุธิกเปรตว่าโดยความเป็นอยู่แล้ว มีแต่การประหัตประหารซึ่งกันและกัน


นิรยอสุระหนึ่งจำพวก

เปรตจำพวกหนึ่งที่ต้องเสวยทุกข์อยู่ในโลกันตริกนรก โลกันตริกนรกนี้ตั้งอยู่ระหว่างกลางของจักรวาลทั้งสามที่มีเขตเชื่อมติดต่อกัน ว่าโดยส่วนรอบของจักรวาลแล้ว จักรวาลหนึ่งๆ ก็มีลักษณะกลมด้วยกันทั้งสามจักรวาล ฉะนั้น เมื่อจักรวาลทั้งสามมีขอบเขตมาเชื่อมติดต่อกันเข้าเช่นนี้ ก็ปรากฏมีเป็นช่องว่าขึ้นตรงกลาง อุปมาเหมือนกับเราเอาถ้วยแก้วสามใบมาตั้งรวมกันสามมุม ก็ย่อมมีเป็นช่อมว่างอยู่ตรงระหว่างกลางของถ้วยแก้วที่ได้ตั้งไว้ทั้งสามใบฉันใด เมื่อจักรวาลทั้งสามจักรวาลได้เชื่อมต่อกันเข้าเป็นสามมุมแล้วก็ย่อมมีเป็นช่องว่างขึ้นระหว่างกลางของจักรวาลทั้งสามฉันนั้น ฉะนั้น ในช่องวางระหว่างกลางของจักรวาลทั้งสามนี้แหละเป็นโลกันตริกนรก อันเป็นที่อาศัยของสัตว์ที่เรียกว่า สัตว์โลกันตริกนรก ภายในช่องนี้มืดมิดภายใต้มีน้ำเย็นจัด ถ้าสัตว์นรกตนใดตนหนึ่งตกลงไปในน้ำนี้ ร่างกายของสัตว์นรกนั้นจะละลายลงทันทีเหมือนกันกับเอาเกลือใส่ลงไปในน้ำ เกลอย่อมละลายหายไปฉันใด ร่างกายของสัตว์นรกที่ตกลงไปในโลกันตริกะนี้ก็ละลายหายสูญไปสิ้นฉันนั้น

บรรดาสัตว์โลกันตริกนรกทั้งหลายที่อยู่ในโลกันตริกนรกนี้ ความเป็นอยู่ของสัตว์เหล่านี้เหมือนกับสัตว์ค้างคาวที่กอยู่ตามฝาผนัง และกำลังไต่ไปมาตามฝาผนังอยู่ ฉะนั้น สัตว์นรกเหล่านี้ต่างก็พากันเกาะอยู่ตามขอบจักรวาลภายในช่องว่างตรงกลางของจักรวาลทั้งสาม ซึ่งมีขอบเขตเชื่อมต่อกัน เมื่อสัตว์นรกเหล่านี้เกาะอยู่ตามขอบจักรวาลนั้น ได้มีความหิวกระหายเป็นกำลัง ฉะนั้นขณะทีมีกำลังไต่ไปไต่มาอยู่ตามขอบของจักรวาลนั้น ถ้าไปพบสัตว์นรกด้วยกันใดตนหนึ่งเข้าแล้ว ก็สำคัญผิดคิดว่าตนได้พบอาหารต่างฝ่ายต่างก็กระโดดเข้ากัดกันทันที เมื่อต่างฝ่ายต่างกรุโดดเข้ากัดกันก็ต้องปล่อยมือจากการเกาะ เมื่อเป็นเช่นนี้สัตว์นรกที่กัดกันนั้นก็ตกลงไปในน้ำซึ่งมีอยู่ ณ ภายในใต้นั้นเอง

สัตว์โลกันตริกนรกที่เรียกว่าอสุระ ก็เพราะว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับเทวดาชั้นตาวติงสา โดยความเป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่เทวดาชั้นตาวติงสาได้เสวยอยู่ล้วนแต่เป็นฝ่ายอิฏฐารมณ์ทั้งสิ้น ส่วนอารมณ์ที่สัตว์โลกันตริกนรกกำลังเสวยอยู่เป็นอนิฏฐารมณ์ (สัตว์โลกันตริกนรกที่เรียกว่าอสุระนี้ มีมาในพุทธวังสอัฏฐกถา)

อสุรกายภูมินี้ ถ้าจะสงเดราะห์ก็สงเคราะห์เข้าในเปตติภูมิ แต่การที่ท่านมาจัดเป็นอสุรกายภูมิเข้าอีกเช่นนี้ ก็เพราะว่าในบรรดาเปรตทั้งหลายนั้น มีเปรตที่พิเศษอีกพวกหนึ่ง ฉะนั้นเปรตที่พิเศษนี้ท่านจึงเรียกว่าอสุรกาย ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในสังยุตตนิกายมสุตตรสุตตอัฏฐกถาว่า เปตฺติวิสเยเนเนว อสุรกาโย คหิโต



ประวัติของเทวดาชั้นตาวติงสา (ดาวดึงส์)
ที่กระทำสงครามกับเทวอสุระ(เทพอสูร) ๕ จำพวก


ดั้งเดิมมาในสมัยต้นกัป เทวโลกชั้นตาวติงสานั้นเป็นสถานที่อยู่ของเทวดาอสูรทั้งหลาย ครั้นต่อมา มฆมานพได้ไปบังเกิดเป็นพระอินทร์ในชั้นนั้น อยู่มาวันหนึ่งพระอินทร์ได้มีการประชุมเทวดาทั้งหลายในชั้นตาวติงสา และมีการเลี้ยงเหล้า เมื่อการเลี้ยงเหล้าได้ผ่านไปโดยเรียบร้อยตามความประสงค์ของพระอินทร์ ผู้เป็นจอมเทวะแล้วบรรดาเทวดาที่มาชุมนุมกันอย่างคับคั่งในเวลานั้น ยังมีเทวดาชั้นตาวติงสาพวกหนึ่งมีความมึนเมามากที่สุด เทวดาพวกนี้ได้แก่พวกเวปจิตติอสูร เป็นต้นนั้นเอง

ฝ่ายพระอินทร์ เมื่อเห็นพวกเทวดาเหล่านี้เมามากสมความมุ่งหมายของตนตามที่ได้ตั้งใจไว้ ก็สบโอกาสอันเหมาะที่จะลงมือกระทำการกำจัดพวกเทวดาเหล่านี้ให้พ้นออกไปจากชั้นตาวติงสา ฉะนั้น พระอินทร์กับบริวารซึ่งกำลังเตรียมพร้อมอยู่แล้วต่างก็พากันรุมจับเวปจิตติอสูรโยนลงไปใต้ภูเขาสิเนรุด้วยอำนาจฤทธิ์ของพระอินทร์และบริวาร

ณ ภายใต้ภูเขาสิเนรุ มีนครอยู่นครหนึ่ง ซึ่งคล้ายกันกับนครที่มีอยู่ในชั้นตาวติวสาเทวโลก เมื่อเวปจิตติอสูรกับพวกถูกจับตัวโยนลงมา ณ ภายใต้ภูเขาสิเนรุนั้น ในขณะนั้นปรากฏว่า เวปจิตติอสูรกับพวกกำลังเมาจัด ทั้งการกระทำนั้นก็เป็นไปด้วยอิทธิฤทธิ์ ฉะนั้น เวปจิตติอสูรกับพวกก็ยังไม่รู้วาตนได้ถูกจับตัวโยนลงมา ณ ภายใต้ภูเขาสิเนรุแม้แต่ประการใด ทั้งนี้ก็เพราะภายใต้ภูเขาสิเนรุนั้นมีนคคล้ายกันกับนครของชั้นตาวติงสา ฉะนั้น เวปจิตติอสูรกับพวกจึงไม่มีความสงสัยหรือระแวงใจแม้แต่อย่างใด คงอยู่ไปเป็นปกติเหมือนกับที่เคยอยู่ในนครชั้นตาวติงสา

ทั้งสองนครนี้มีข้อที่พึงสังเกตให้รู้ได้ว่าต่างกันนั้นก็อยู่ที่ต้นไม้ เพราะในชั้นตาวติงสานครมีต้นไม้ชื่อว่า ปาริฉัตตกะ (ต้นทองหลาง) แต่นครของอสูรภายใต้ภูเขาสิเนรุ มีต้นปาฏลิ (ต้นแคฝอย) แต่ชื่อของนครทั้งสองนี้เหมือนกันคือชื่อว่าอยุชฌปุรนคร ฉะนั้น เวปจิตติอสูรกับพวกจึงไม่มีความสงสัยแม้แต่ประการใด ต่อมาเมื่อถึงฤดูออกดอกต้นไม้ที่อยู่ในนครภายใต้ภูเขาสิเนรุก็มีดอกขึ้น เมื่อเวปจิตตอสูรกับพวกได้เห็นดอกไม้นี้แล้ว ก็เกิดความระแวงใจขึ้นทันทีว่าไม่ใช่เป็นต้นไม้ที่อยู่ในนครชั้นตาวติงสา ต้นไม้ที่อยู่ในนครตาวติงสานั้นเป็นต้นทองหลาง แต่นี่เป็นต้นแคฝอย ก็รู้ไดว่าในขณะที่ตนกับพวกมีการเลี้ยงเหล้ากันในชั้นตาวติงสานั้น ตนกับพกมีความเมาจัด ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสให้พระอินทร์กับพวกทำการจับตัวโยนลงมาภายในสถานที่นี้ เมื่อเวปจิตติอสูรกับพวกได้สำนึกแล้ว ก็มีความโกรธแค้นต่อพระอินทร์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ประชุมกันเพื่อจะทำสงครามกับพระอินทร์ เพื่อจะชิงเอาอยุชฌปุรนครในชั้นตาวติงสากลับคืนมาเป็นของตนอย่างเดิม

การประชุมได้ตกลงกันโดยพร้อมเพรียงกันว่า จะต้องทำสงครามกับพวกพระอินทร์อย่างแน่นอน เวปจิตติอสุระจึงได้จัดกองทัพขึ้น เรียกว่า กองทัพอสูร, สถานที่ของภูเขาสิเนรุที่เป็นตอนล่างนั้น นับแต่บนพื้นมหาสมุทรขึ้นไปแบ่งออกเป็น ๕ ชั้น ชั้นหนึ่งๆ มีลักษณะเป็นพื้นที่เวียนไปรอบๆ เขา เช่นเดียวกันกับบันไดเวียน

พื้นที่เวียนไปรอบเขาหนึ่งรอบก็เป็นชั้นหนึ่ง ในชั้นหนึ่งๆ ก็ต้องมีเทวดารักษาสถานที่ประจำอยู่ทั้ง ๕ ชั้น โดยนับแต่ตอนล่างขึ้นไป

ฉะนั้น ตอนล่างของภูเขาสิเนรุอันเป็นชั้นที่หนึ่งนั้น มีเทวดาที่มีรูปร่างเหมือนพญานาคชื่อว่านาคะ คอยดูแลรักษาประจำอยู่ ถัดขึ้นไปชั้นที่สองก็มีเทวดาชื่อว่าคฬุนะ (ครุฑ) คอยดูแลรักษาประจำอยู่ ชั้นที่สามมีเทวดาชื่อว่ากุมภัณฑะ คอยดูแลรักษาประจำอยู่ ชั้นที่สี่มีเทวดาชื่อว่ายักขะ คอยดูแลรักษาประจำอยู่ ชั้นที่ห้ามีเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาประจำอยู่ เมื่อสถานที่ภูเขาสิเนรุมีลักษณะเป็นพื้นที่เวียนเรียบภูเขาเป็น ๕ ชั้นนี้ พร้อมกับมีเทวดารักษาอยู่ทุกๆชั้น ฉะนั้น เมื่อพวกเวปจิตติอสุระจะยกกองทัพขึ้นไปสู้รบกับพระอินทร์ จึงต้องยกกองทัพขึ้นไปตามลำดับชั้นของภูเขา เมื่อกองทัพอสูรได้ยกมาถึงชั้นที่หนึ่งอันเป็นสถานที่เทวดารักษาประจำอยู่ เทวดานาคทั้งหลายก็พากันยกพวกออกมาต่อต้านตมหน้าที่ของตนที่มีหน้าที่รักษาสถานที่นั้นๆ แต่เทวดาที่มีหน้าที่รักษาสถานทั้ง ๕ ชั้นไม่มีฤทธิ์หรือกำลังพอเพียงที่จะทำการต่อสู้กับกองทัพอสูรได้ จึงพากันแตกพ่ายหนีไปทุกๆชั้น กองทัพอสูรก็ผ่านขึ้นไปโดยลำดับ จนถึงกับพระอินทร์ต้องยกกองทัพออกมาสู้ด้วยตนเอง

ในการทำสงครามระหว่างพระอินทร์กับอสูรนั้น ไม่เหมือนกับการทำสงครามในมนุษย์ การทำสงครามในมนุษย์มีการตาย บาดเจ็บสาหัสและไม่สาหัส เช่นแขนขาด ขาขาดร่างกายมีบาดแผลโลหิตไหล, ส่วนการทำสงครามในชั้นเทวโลกไม่มีการตายและบาดเจ็บ คงเป็นเหมือนรูปหุ่นกับรูปหุ่นรบกัน ถ้าฝ่ายใดสู้ไม่ไหวเพราะมีพวกน้อยกว่าก็พากันหลบหนีเข้าไปในนคร แล้วก็พากันปิดประตูนครที่มีประจำอยู่ทั้ง ๔ ทิศเสีย ฝ่ายชนะก็ต้องถอยไปเพราะไม่สามารถจะทำลายประตูเข้าไปได้

การทำสงครามระหว่างพระอินทร์กับอสูรนี้ ต่างก็ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ บางครั้งพระอินทร์เป็นฝ่ายแพ้ พระอินทร์กับพวกก็พากันหนีเข้าไปในนครและปิดประตูนครเสียพวกอสูรก็ต้องถอยทัพกลับ เพราะมาสามารถจะตีหักเข้าไปได้ บางครั้งพระอินทร์เป็นฝ่ายชนะตีกองทัพอสูรแตกพ่ายไป แล้วพระอินทร์ก็ยกกองทัพประชิดติดตามไปจนถึงนครของพวกอสูร พวกอสูรก็พากันหนีเข้าไปในนครและปิดประตูนครทั้ง ๔ ทิศเสีย พระอินทร์ก็ไม่สามารถจะตีหักเข้าไปได้เช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องยกทัพกลับไป โดยเหตุที่นครทั้งสองฝ่ายจึงมีชื่อว่า อยุชฌปุรนคร แปลว่านครที่สามารถป้องกันเหตุอันตรายที่เกิดจากภายนอกได้

การแสดงประวัติของเทวดาชั้นตาวติงสาที่ต้องกระทำสงครามกันนี้ มีมาในสารัตถทีปนีฏีกา และนวังคุตตรอัฏฐกถา

การกระทำสงครามซึ่งกันและกัน ระหว่างพระอินทร์กับอสูร นับจำเดิมตั้งแต่สมัยต้นกัปตลอดเรื่อยมาจนถึงสมัยพุทธกาลและจนกระทั่งถึงบัดนี้ พระอินกับพวกอสูรก็ยังคงกระทำสงครามกันอยู่เสมอ

เมื่อครั้งสมัยพุทธกาลมีเรื่องเกิดขึ้น โดยพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระบาลีมหาวัคคสังยุตดังนี้ว่า
ในมัชฌิมประเทศ มีสระโบกขรณีอยู่สระหนึ่ง ชื่อว่า สุมาคธะ ภายในสระนี้มีดอกบัวบานแย้มอยู่ทั่วไป ที่ริมขอบสระโบกขรณีมีบุรุษผู้หนึ่งกำลังนั่งพักผ่อนร่างกายอยู่ ในขณะที่เขากำลังนั่งพักผ่อนอยู่นั้น บุรุษผู้นี้ก็รำพึงถึงเรื่องราวต่างๆ ว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์ ต้นไม้นานาชนิดที่มีอยู่ในโลก ตลอดจนถึงสิ่งทั้งหลายมีแผ่นดิน มหาสมุทร เป็นต้นเหล่านี้เกิดมาจากไหนหนอ ขณะที่เขารำพึงถึงเรื่องต่างๆอยู่นั้น ตรงหน้าของบุรุษผู้นั้น ปรากฏเป็นกองทัพกองหนึ่งที่พรั่งพร้อมด้วยพลรบทั้ง ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลเท้า ที่กำลังพ่ายแพ้แก่ศัตรูแล้วพากันหลบหนีมาทางสระโบกขรณีนี้เมื่อกองทัพทั้ง ๔ เหล่าได้หนีมาถึงสระโบกขรีแล้ว ต่างก็เนรมิตตัวให้เล็กลงแล้วเข้าไปในดอกบัวที่มีอยู่ในสระนั้นจนหมดสิ้นทั้งกองทัพ เพื่อจะไม่ให้ฝ่ายข้าศึกที่ติดตามมาภายหลังได้พบเห็น เมื่อพวกอสูรได้เนรมิตตัวเข้าไปหลบซ่อนอยู่ภายในดอกบัวได้แล้ว ต่างก็ชวนกันเดินทางเล็ดลอดหนีต่อไปยังนครของตนที่ตั้งอยู่ ณ ภายใต้ภูเขาสิเนรุ
บุรุษที่กำลังนั่งอยู่นั้น เมื่อได้เห็นเหตุการณ์อันเป็นสิ่งที่เหลือวิสัยที่เขาจะพึงเห็นได้เช่นนี้ ก็มีความประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง แล้วหวนคิดขึ้นว่าเรานี้จะเป็นบ้าแน่แล้ว เพราะได้มาพบเห็นสิ่งที่ผิดปกติแปลกจากความเป็นธรรมดาไป จึงได้นำเรื่องราวตามที่ตนได้ไปพบเห็นมานั้น ทูลถามต่อพระพุทธองค์ พระองค์จึงทรงมีพระดำรัสตอบว่า เรื่องที่เขาได้พบเห็นนั้นเป็นความจริง กองทัพที่แตกพ่ายหนีมานั้นเป็นกองทัพฝ่ายอสูรที่กำลังถูกพวกพระอินทร์ตีแตกและกำลังติดตามตัวอยู่ พวกอสูรเหล่านั้นจึงได้พากันเนรมิตตังเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในดอกบัวก่อน เพื่อจะไม่ให้พวกพระอินทร์ที่กำลังยกทัพตามมาเห็นนั้น แล้วจึงพากันหนีต่อไปยังนครของตน ณ ภายใต้ภูเขาสิเนรุ


โทษที่เป็นเหตุให้ไปเกิดในอสุรภูมิ

บุคคลบางคนที่อยู่ในโลกนี้เป็นผู้มียศและทรัพย์พอสมควร หรือใหญ่ยิ่งก็ตาม แต่บุคคลเหล่านี้เป็นผู้มีจิตใจไม่ดีหรือเป็นผู้ได้สดับตรับฟังน้อย ฉะนั้น จึงไม่สามารถที่จะเลือกเฟ้นว่า บุคคลใดควรจะยกย่องสรรเสริญ และบุคคลใดไม่ควรยกย่องสรรเสริญ เมื่อเป็นเช่นนี้เขาจึงได้ใช้อำนาจและทรัพย์สมบัติไปในทางที่ผิด คือบุคคลที่มีคุณงามความดีมีศีลธรรมควรจะยกย่องสรรเสริญ ก็กลับใช้อำนาจทางกายกดขี่ข่มเหง ใช้อำนาจทางวาจา กล่าวคำดูถูกติเตียน ส่วนบุคคลที่ไม่ดีมีความประพฤติทุจริตผิดศีลธรรมก็กลับไปยกย่องสรรเสริญ บุคคลเช่นนี้เมื่อละโลกนี้ไปแล้วย่อมไปบังเกิดในอสูรภูมิ

คำอธิบายเกี่ยวกับอสุรกายบทโดยพิสดาร จบ



------------------------------------------------------

ที่มา :-
ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา วิถีมุตตสังคหะ (หน้าที่ 74-81)


Create Date : 19 ตุลาคม 2555
Last Update : 19 ตุลาคม 2555 3:41:57 น. 1 comments
Counter : 3278 Pageviews.

 
สาธุ


โดย: เด็กน้อยผู้น่ารัก IP: 49.229.60.21 วันที่: 14 มกราคม 2560 เวลา:9:06:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.