นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 
เทวภูมิ - ยามา, ดุสิต, นิมมานรดี, ปรนิมมิตวสวัตตี และ เรื่องอื่นๆเกี่ยวกับเทวภูมิ ๖

ยามาภูมิ

วจนัตถะ : ทุกฺขโต ยาตา อปคตาติ ยามา (ยา ธาตุ + ม ปัจจัย) เทวดาทั้งหลายที่ชื่อว่า ยามะเพราะว่าปราศจากความลำบาก

อีกนัยหนึ่ง ทิพฺพสุขํ ยาตา ปยาตา สมฺปตฺตาติ ยามา (ยา ธาตุ + ม ปัจจัย) เทวดาเหล่าใดถึงแล้วซึ่งความสุขด้วยดี เทวดาเหล่านั้น ชื่อว่า ยามะ

วจนัตถะทั้ง ๒ ข้อนี้ มุ่งหมายถึงเทวดาที่อยู่ในเทวภูมิชั้นยามานี้ แต่ถ้ามุ่งหมายถึงภูมิจะต้องตั้งวจนัตถะดังนี้ว่า

ยามานํ นิวาสา ยามา (คำนี้เป็นนิวาสตัทธิต) “ภูมิอันเป็นที่อยู่ของเทวดาทั้งหลายที่ปราศจากความลำบากและผู้ถึงซึ่งความสุขที่เป็นทิพย์ ฉะนั้น ภูมินั้น ชื่อว่า ยามา”

วจนัตถะทั้ง ๓ ข้อที่ได้แสดงมานี้ เป็นการแสดงตามศัพท์บาลี ฉะนั้น คำว่า ยามะ ในวจนัตถะนี้ หมายถึงเทวดาทั้งหมดที่อยู่ในเทวโลกชั้นที่ ๓ เพราะเทวดาเหล่านั้นเป็นผู้ปราศจากความลำบาก และมีความสุขที่เป็นทิพย์นั้นเอง ฉะนั้น เทวดาเหล่านั้นจึงชื่อว่า ยามะ สถานที่อยู่ของยามะเทวดาทั้งหลายที่ชื่อว่ายามาภูมินั้น ก็เรียกไปตามชื่อของเทวดานั้นเอง

อนึ่ง ตำแหน่งท้าวเทวราชผู้เป็นใหญ่ปกครองเทวดาทั้งหลายนั้น ไม่ใช่มีอยู่แต่ในชั้นดาวดึงส์ชั้นเดียวเท่านั้น ถึงแม้ในชั้นอื่นๆ ก็มีเทวดาที่มีตำแหน่งเป็นท้าวเทวราชกครองอยู่ทุกๆชั้นเช่นเดียวกัน

ท้าวเทวราชผู้ปกครองเทวดาในเทวโลกขั้นที่ ๓ ชื่อว่า สุยามะ หรือ ยามะ
“ “ “ “ ๔ “ สันตุสสิตะ
“ “ “ “ ๕ “ สุนิมมิตะ หรือ นิมมิตะ
“ “ “ “ ๖ “ ปรนิมมิตะ

ฉะนั้น เทวภูมิชั้นที่ ๓ ที่เรียกว่ายามานั้น ใช้เรียกตามชื่อของท้าวยามะผู้เป็นใหญ่ก็กล่าวได้ ดังมีวจนัตถะแสดงไว้ว่า ยามนามกสฺส เทวราชสฺส นิพฺพตฺโตติ ยาโม ภูมิเป็นที่อยู่ของท้าวเทวราชผู้มีนามว่ายามะ เพราะเหตุนั้น ภูมินั้นจึงเรียกว่า ยามา

ชั้นยามาภูมินี้เป็นภูมิที่ตั้งอยู่ในอากาศ ฉะนั้น จึงไม่มีพวกภุมมัฏฐเทวดาชั้นยามานี้ประณีตสวยงามมากกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ และอายุขัยก็ยืนยาวมากกว่า บริเวณของชั้นยามาภูมินี้แผ่กว้างออกไปเสมอด้วยกำแพงจักรวาล มีวิมานอันเป็นที่อยู่ของเทวดาในชั้นนี้อยู่ตลอดทั่วไป

---------------------------------------------------

ดุสิตภูมิ

วจนัตถะ : นิจฺจํ ตุสนฺติ เอตฺถ นิพฺพตฺตา เทวาติ ตุสิตา ภูมิที่ชื่อ ดุสิตนั้นเพราะทำให้เทวดาทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นในภูมินั้นมีความยินดีและแช่มชื่นอยู่เป็นนิจ

อธิบายว่า เทวโลก ชั้นที่ ๔ นี้เป็นสถานที่ที่ปราศจากความร้อนใจ มีแต่นำความยินดีและความชื่นบานให้แก่ผู้ที่อยู่ในภูมินี้ทั้งหมด ฉะนั้น ภูมินี้ จึงจัดว่าเป็นภูมิที่ประเสริฐ

อนึ่ง พระโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์ก่อนที่จะมาบังเกิดในมนุษยโลก และได้สำเร็จอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในภพสุดท้ายนั้น ย่อมบังเกิดอยู่ในชั้นดุสิตภูมินี้ทั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาบังเกิดในอนาคตเช่นพระศรีอริยเมตตรัย พร้อมด้วยผู้จะได้มาบังเกิดเป็นอัครสาวกนั้น เวลานี้ก็เสวยทิพยสมบัติอยู่ในดุสิตาภูมิเหมือนกัน ต่อเมื่ออายุขัยของมนุษย์ได้ ๘ หมื่นปีเวลาข้างหน้านี้แล้ว พระองค์ท่านพร้อมด้วยผู้ที่จะเป็นอัครสาวกก็จะได้จุติจากดุสิตาภูมิลงมาบังเกิดในมนุษยโลก และได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ และอัครสาวกโพธิญาณสืบต่อไป ข้อนี้ก็เป็นเหตุที่กล่าวได้ว่าเทวโลกชั้นดุสิตนี้ เป็นภูมิที่ประเสริฐกว่าเทวภูมิชั้นอื่นๆ

อีกนัยหนึ่งของ อตฺตโน สิริสมฺปตฺติยา ตุสํ ปีตึ อิตา คตาติ ตุสิตา “เทวดาเหล่าใดถึงพร้อมด้วยความยินดีและแช่มชื่นอยู่ในสมบัติอันเป็นสิริมงคลของตน ฉะนั้น เทวดาเหล่านั้นชื่อว่า ดุสิต” ในวจนัตถะข้อนี้ คำว่า ตุสิต หมายเอา ชื่อของเทวดาเท่านั้น

อีกนัยหนึ่ง ตุสิตานํ นิวาสา ตุสิตา “สถานที่อันเป็นที่อยู่ของเทวดาถึงพร้อมด้วยความยินดีและแช่มชื่นอยู่ในสมบัติอันเป็นสิริมงคลของตน ฉะนั้น สถานที่นั้น ชื่อว่า ตุสิต” วจนัตถะข้อนี้หมายถึงภูมิที่อยู่, เทวภูมิชั้นตุสิตนี้ห่างจากชั้นยามาสี่หมื่นสองพันโยชน์ เทวดาที่อยู่ในภูมินี้มีจำพวกเดียวคืออากาสัฏฐเทวดา วิมานทิพยสมบัติ และรูปร่างของเทวดาชั้นนี้ก็ประณีตมากกว่าเทวดาชั้นยามา อายุขัยก็ยืนยาวกว่า

การแสดงเทวดาชั้นตุสิตา จบ


---------------------------------------------------

นิมมานรตีภูมิ

วจนัตถะ : ยถารุจิเต โภเค สยเมว นิมฺมินิตฺวา นิมฺมินิตฺวา รมนฺติ เอตฺถาติ. นิมฺมานรตี “เทวดาทั้งหลายที่เกิดอยู่ในภูมินั้น ย่อมเนรมิตกามคุณทั้ง ๕ ขึ้นตามความพอใจของตนเอง แล้วมีความยินดีเพลิดเพลินในอารมณ์เหล่านั้น ฉะนั้น ภูมินั้นจึงชื่อว่า นิมมานรตี”

อีกนัยหนึ่ง นิมฺมาเน รติ เอเตสนฺติ นิมฺมานรติโน “เทวดาที่ชื่อว่า นิมมานนรตีนั้น เพราะมีความยินดีเพลิดเพลินในกามคุณทั้ง ๕ ที่ตนเนรมิตขึ้น”

นิมฺมานนรตีนํ นิวาสา นิมฺมานรตี “ภูมิที่อยู่ของเทวดาที่มีปกติเสวยกามคุณทั้ง ๕ ที่ตนเนรมิตขึ้น ฉะนั้น ภูมินั้นชื่อว่า นิมมานรตี”

อธิบายว่า ในเทวโลกตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ตุสิตทั้ง ๔ภูมินี้เทวดาทั้งหลายย่อมมีคู่ครองของตนเป็นประจำอยู่ แต่ในชั้นนิมมานรตีและปรนิมมิตวสวัตตินั้นไม่มีคู่ครองเป็นประจำ เทพบุตรหรือเทพธิดาที่อยู่ในชั้นนิมมานรตีนี้เวลาโดยอยากเสวยกามคุณซึ่งกันและกัน เวลานั้นตนเองก็เนรมิตเป็นเทพบุตรเทพธิดาขึ้น

นิมมานรติภูมินี้ อยู่ห่างจากตุสิตภูมิสี่หมื่นสองพันโยชน์ มีอากาสัฏฐเทวดาอยู่จำพวกเดียว ความประณีตสวยงามของวิมานและเทวดานั้น ประเสริฐกว่าเทวดาที่อยู่ในชั้นดุสิตอายุขัยยืนยาวกว่า
การแสดงเทวดาชั้นนิมานรตี จบ

---------------------------------------------------

ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ

วจนัตถะ : อตฺตโน รุจึ ญตฺวา ปเรหิ นิมฺมิเตสุ โภเคสุ วสํ วตฺตนฺติ เอตฺถาติ ปรนิมฺมิตวสสสสวตฺตี “เทวดาทั้งหลายที่เกิดอยู่ในภูมินั้น ย่อมเสวยกามคุณทั้ง ๕ ที่เทวดาองค์อื่นรึความต้องการของตนแล้วเนรมิตให้ ฉะนั้น ภูมินั้นจึงชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตตี”

อีกนัยหนึ่ง ปรนิมฺมิตฺเตสุ โภเคสุ วสํ วตฺเตนฺตีติ ปรนิมฺมิตวสวตฺติโน “เทวดาทั้งหลายที่ชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตตี เพราะได้เสวยกามคุณที่เทวดาองค์อื่น เนรมิตให้”

ปรนิมฺมิตวสวตฺตีนํ นิวาสา ปรนิมฺมิตวสวตฺตี “ภูมิที่อยู่ของเทวดาที่ได้เสวยกามคุณ ๕ ที่เทวดาองค์อื่นเนรมิตให้ ฉะนั้น ภูมินั้นชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตตี”

อธิบายว่า เทพบุตรเทพธิดาอยู่ในชั้นปรนิมมิตวสวัตตีนี้ เมื่อต้องการเสวยกามคุณ ๕ เวลาใด เวลานั้น เทวดาที่เป็นผู้รับใช้ก็จัดการเนรมิตขึ้น ให้ตามความประสงค์ของตน ฉะนั้น เทวดาทั้งหลายที่อยู่ในชั้นปรนิมมิตวสวัตตีจึงไม่มีคู่ครองเป็นประจำของตน เช่นเดียวกันกับเทวดาชั้นนิมมานรตี

ปรนิมิตวสวัตตีภูมินี้ อยู่ห่างจากนิมมานรตีภูมิสี่หมื่นสองพันโยชน์ เทวดาที่อยู่ในภูมินี้ก็เป็นพกอากาสัฏฐเทวดาเช่นเดียวกัน ความสวยงามความประณีตแห่งวิมานทิพยสมบัติ และรูปร่างนั้น มีความประณีตมากกว่าเทวดาชั้นนิมมานรตี และอายุขัยก็ยืนกว่า

การแสดเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี จบ

---------------------------------------------------

ผู้ปกครองเทวภูมิทั้ง ๖ ชั้น

เทวดาผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือเทวดาทั้งหลายนั้นคือ วสวัตตีมารเทวบุตร อยู่ในชั้นปรนิมมิตวสวัตตีภูมิเป็นผู้ปกครองเทวดาทั่วทั้ง ๖ ชั้น มารเทวบุตรองค์นี้ เป็นมิจฉาเทวดาไม่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นผู้คอยขัดขวางให้เกิดอุปสรรคต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เสมอ นับตั้งแต่ออกมหาภิเนษกรมณ์เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปรินิพพาน ต่อมาเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงไปแล้ว ๓๐๐ ปี ในสมัยนั้น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นพระราชาครองราชย์สมบัติอยู่ในเมืองปาตลีบุตร มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทรงสร้างปูชนียสถานคือพระเจดีย์และวัดขึ้นเป็นจำนวนอย่างละ ๘ หมื่น ๔ พัน เพื่อเป็นการบูชาพระธรรมขันธ์อันมีจำนวน ๘ หมื่น ๔ พันพระธรรมขันธ์ และทรงสร้างมหาเจดีย์บรรจุพระสรีรธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับเป็นที่สักการบูชา เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็มีการฉลองปูชนียสถานที่สร้างขึ้นนั้นเป็น

เวลา ๗ เดือน ๗ วัน ในขณะที่ทำการฉลองอยู่นั้น พญามารเทวบุตรผู้นี้ก็ได้มาแกล้งทำลายพิธีนั้นเสียด้วยอิทธิฤทธิ์มีประการต่างๆ แต่การทำลายของพญามารผู้นี้ไม่สำเร็จ เพราะพระมหาเถรอุปคุตต์ได้มาทำการขัดขวางต่อสู่กับพญามาร และได้ทรมานพญามารเสียจนสิ้นพยศ ผลสุดท้ายพญามารละมิจฉาทิฏฐได้กลับเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจนถึงกับปรารถนาพุทธภูมิในกาลข้างหน้า


---------------------------------------------------

การเสวยกามคุณของบรรดาเทพบุตร เทพธิดา
ในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้น

เรื่องนี้มีวาทะอยู่ ๒ ฝ่ายคือ วาทะหนึ่งเป็นของเกจิอาจารย์ อีกวาทะหนึ่งเป็นของอรรถกถาจารย์ วาทะของเกจิอาจารย์แสดงไว้ว่า การเสวยกามคุณของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาและชั้นดาวดึงส์ทั้ง ๒ ชั้นนี้ประพฤติเป็นไปในทำนองเดียวกันกับพวกมนุษย์

การเสวยกามคุณของพวกเทวดาชั้นยามา ใช้เสวยด้วยการจุมพิตและสัมผัสกอดรัดร่างกายซึ่งกันและกัน

การเสวยกามคุณของพวกเทวดาชั้นตุสิตา เพียงแต่ใช้สัมผัสมือต่อกันก็สำเร็จกิจ

การเสวยกามคุณของพวกเทวดาชั้นนิมมานรตี ใช้แลดูและยิ้มให้กันและกันก็สำเร็จกิจ

การเสวยกามคุณของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ใช้สายตาจ้องดูกันก็สำเร็จกิจ

ส่วนวาทะของพวกอรรถกถาจารย์แสดงว่า การเสวยกามคุณของพวกเทวดาทั้ง ๖ ชั้นนั้น ประพฤติตนเป็นไปตามทำนองเดียวกันกับพวกมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีอะไรผิดแปลกกันเลย ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในสังคีติสูตรอรรถกถาว่า ฉนฺนมฺปิ กามาวจรานํ กามา ปากติกา เอว “การเสวยกามคุณของกามาวจรเทวดาทั้ง๖ ชั้นนั้นก็เป็นไปโดยปกติเช่นเดียวกันกับพวกมนุษย์ทั้งหลายนั้นแหละ”และท่านกล่าวอ้างว่า ตามวาทะของเกจิอาจารย์นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ในโลกนี้ เพราะธรรมดาการเสวยกามคุณนั้น ถ้าไม่มีการสัมผัสถูกต้องร่างกายซึ่งกันและกันแล้ว การเสวยนั้นย่อมไม่สำเร็จลงไปได้ ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในสุตตันตปาถิกวรรคอรรถกถาว่า

เอตํ ปน นตฺถีติ ปฏิกฺขิตฺตํ, น หิ กาเยน อผุสนฺตสฺส
โผฏฺฐพฺพํ กามกิจฺจํ สาเธติ

แปลความว่า มหาอรรถกถาจารย์ได้ปฏิเสธวาทะของเกจิ
อาจารย์เหล่านั้นเสีย เพราะความจริงนั้น การเสวยกามคุณ
ในโผฏฐัพพารมณ์นี้ จะไม่สามารถทำให้สำเร็จกิจลงไปได้หาก
บุคคลไม่ได้กระทบถูกต้องร่างกายซึ่งกันและกัน

ท่านอาจารย์ผู้รจนาเตรสกัณฑวินยฏีกา (คัมภีร์สารัตถทีปนีฏีกา) กล่าวรับรองตามวาทะของท่านอาจารย์อรรถกถา ซึ่งมีบาลีแสดงไว้ว่า

มนุสฺสา วิย หิ เต ทฺวยํ สมาปตฺติวเสเนว
เมถุนํ ปฏิเสวนฺติ

แปลความว่า พวกเทวดากามาวจรทั้ง ๖ ชั้น ย่อมเสวย
เมถุนธรรมด้วยอำนาจแห่งการเป็นคู่ๆ กัน เช่นเดียวกันกับ
มนุษย์ทั้งหลายนั้นเอง

ในคัมภีรกถาวัตถุอรรถกถาแสดงไว้ว่า

เตสํ เทวานํ สุกฺกวิสฺสฏฺฐิ นาม นตฺถิ

แปลความว่า การหลั่งออกซึ่งน้ำกาม ย่อมไม่มีแก่พวก
เทวดาทั้งหลาย

ในคัมภีร์วินยเตรสกกัณฑฏีกา (สารัตถทีปนีฏีกา) แสดงว่า

ขีณาสวานํ ปน พฺรหฺมานญฺจ สมฺภโว นตฺถีติ
เถเรน วุตฺตํ

แปลความว่า อาจารย์ธรรมปาลเถระกล่าวว่า สุกกธาตุ
คือน้ำกามนี้ ย่อมไม่มีเลยแก่พระขีณาสพและพวกพรหมทั้งหลาย

การส้องเสพซึ่งเมถุนธรรมย่อมมีอยู่แต่เฉพาะในกามภูมิเท่านั้น แต่เมื่อกล่าวโดยบุคคลแล้วหาได้เป็นไปทั้งหมดไม่ คือพระอรหันต์และพระอนาคามีเว้นแล้วซึ่งการเสพอสัทธรรมนี้ พวกสัตว์นรกและพวกนิชฌามตัณหิกเปรตทั้งหลายก็ไม่มีการเสพ เพราะพวกสัตว์นรกและพวกนิชฌามตัณหิกเปรตนี้ได้รับการเสวยทุกขเวทนาโดยถูกไฟเผา ร่างกายอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น จึงไม่มีโอกาสที่จะคิดนึกถึงสิ่งเหล่านี้ได้เลย ส่วนสัตว์จำพวกอื่นนอกจากนี้แล้วย่อมส้องเสพอยู่ทั่วไป มีพระคาถาแสดงการให้โอวาทในเรื่องเสวยกามคุณนี้ว่า

เปเตยฺยสุขสํยุตฺตํ ปิปาสฉาตปิฬิตํ
ทุติยสาธกํ กามํ เชคุจฺเฉยฺยํ น กึ พุธา.

แปลความว่า บัณฑิตทั้งหลายจะไม่เกลียดการเสวย
กามคุณที่เกี่ยวกับการมีคู่ครองได้อย่างไร เพราะต้องถูกความ
หิวกระหายต่อสิ่งนี้เบียดเบียนอยู่เสมอ และความสุขี่ได้รับจาก
การเสวยนี้ก็คล้ายๆ กันกับความสุขของพวกเปรตเช่นเดียวกัน


---------------------------------------------------


เทวโลกมีอริยบุคคลมากกว่ามนุษย์โลก

ถามว่า : ในมนุษยโลกและเทวโลกทั้ง ๒ ภูมินี้ ภูมิใหนจะมีอริยบุคคลมากกว่ากัน

ตอบว่า : ในเทวโลกมีอริยบุคคลมากกว่าในมนุษยโลก อธิบายว่าในสมัยพุทธกาล บรรดาคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายที่อยู่ในกรุงสาวัตถี ราชคฤห์ เวสาลี โกสัมพี กบิลพัสดุ์ เป็นต้น เมื่อบุคคลเหล่านี้ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้สำเร็จเป็นโสดาบันบ้าง สกคาทามีบ้าง ในประเทศหนึ่งๆ มีจำนวนหลายโกฏิ เมื่อบุคคลเหล่านี้ได้สิ้นชีพจากมนุษย์แล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้น

ส่วนพวกเทวดาทั้งหลายมีอยู่ในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้น เมื่อได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มหาสมัยสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร อนัตตลักขณสูตร สมจิตตสูตร เหล่านี้เป็นต้น ต่างก็ได้สำเร็จเป็นโสดาบัน สกทาคามี เป็นจำนวนมากมายหาประมาณมิได้ ฉะนั้น อริยบุคคลที่เกิดอยู่ในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้นนี้จึงไม่สามารถจะประมาณได้ว่ามีจำนวนเท่าใด

สำหรับพระอนาคามีและพระอรหันต์ทั้งสองพวกนี้ ไม่ต้องนับเข้าอยู่ในจำนวนนี้ เพราะว่าพระอนาคามีก้ไม่มาเกิดในมนุษย์โลกอีก และพระอรหันต์ ก็เข้าสู่ปรินิพพานไปเลย ฉะนั้น อริยบุคคลที่มีอยู่ในมนุษยโลกนั้น ก็กล่าวได้ว่ามีจำนวนน้อยกว่าอริยบุคคล ที่มีอยู่ในเทวโลก


---------------------------------------------------

คุณสมบัติเพื่อความเป็นอริยะ

การที่อริยบุคคลในมนุษยโลกมีน้อยกว่าเทวโลกนั้น ก็เพราะว่าบุคคลที่นับถือพระพุทธศาสนาในมนุษยโลกนี้ มีความสนใจในการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นส่วนน้อย และการที่จะเป็นอริยบุคคลได้นั้นต้องประกอบด้วยธรรม ๗ ประการคือ

๑. ต้องเป็นติเหตุกบุคคล
๒. ต้องได้เคยสร้างบารมีที่เกี่ยวกับวิปัสสนามาแล้วในชาติก่อน
๓. ต้องมีความเพียรในชาติปัจจุบัน
๔. วิธีเจริญวิปัสสนาต้องถูกต้องตามหลักพระบาลีและอรรถกถา
๕. ต้องมีสถานที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติ
๖. ต้องไม่มีปลิโพธ ๑๐ ประการ
๗. ต้องมีเวลาอันสมควร

ฉะนั้น บุคคลที่มีความสนใจในวิปัสสนาธุระเป็นส่วนน้อยอยู่แล้วนั้น จะหาบุคคลที่ประกอบด้วยธรรมทั้ง ๗ ประการ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น ก็หาได้โดยยาก และมีบุคคลที่มีความเข้าใจผิดคิดว่า

๑. ถ้าเราเจริญวิปัสสนาแล้ว จะทำให้เราเป็นคนมีชื่อเสียงดี

๒. จะเป็นที่เคารพและเชื่อถือแก่บุคคลทั่วไป ทำให้อาชีพของเราเจริญขึ้นได้ง่าย

ความเข้าใจผิดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปแก่บุคคลทั้งหมดก็หามิได้ หมายถึงมีอยู่ในบุคคลเป็นส่วนมากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า อริยบุคคลที่มีอยู่ในมนุษยโลกนั้น น้อยกว่าอริยบุคคลที่มีอยู่ในเทวโลกเป็นจำนวนมาก, มีพุทธภาษิตที่เป็นเครื่องวินิจฉัยอยู่ ๕ ข้อ ชื่อว่า ปธานิยังคะ สำหรับเป็นเครื่องตัดสินตัวเองว่าชาตินี้ตนจะเป็นอริยะได้หรือไม่ดังนี้คือ

ปธานิยังคะ ๕

๑. ต้องมีความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และอาจารย์ที่สอนวิปัสสนา
๒. ต้องมีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรค
๓. ต้องไม่มีมารยาสาไถยกับอาจารย์ หรือในหมู่พวกปฏิบัติด้วยกัน
๔. ต้องมีความเพียรตั้งมั่นในใจว่า เลือดและเนื้อของเรานี้ แม้ว่าจะเหือดแห้งไปคงเหลือแต่หนัง เส้นเอ็น กระดูกก็ตาม เราจะไม่ยอมละความเพียรนั้นเสีย
๕. ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติให้ถึงขั้นอุทยัพพยญาณเสียก่อน

พุทธภาษิตที่วางไว้เป็นหลักสำหรับวินิจฉัยตนเองทั้ง ๕ ข้อนี้ เมื่อผู้ใดพิจารณา ดูตัวเองว่ามีครบถ้วนแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าตนต้องสำเร็จมรรคผล ในชาตินี้ได้แน่นอน ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ก็เป็นอันหวังไม่ดึ่งมรรคผลในชาตินี้


---------------------------------------------------

ความเจริญแห่งพระพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่
ในมนุษยโลกและในเทวโลก

เมื่อจะกล่าวถึงความเจริญของพระพุทธศาสนาที่อยู่ในมนุษยโลกกับที่อยู่ในเทวโลก แล้วย่อมกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่ในเทวโลกนั้น มีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าในมนุษยโลก เพราะในการที่พระพุทธศาสนาจะเจริญแพร่หลายได้นั้นก็ต้องอาศัยพุทธศาสนิกชนเป็นใหญ่ ในสถานที่ใดมีพุทธศาสนิกชนมาก สถานที่นั้นก็เป็นที่เจริญแพร่หลายของพระพุทธศาสนามาก และอริยบุคคลที่มีอยู่ในเทวโลกนั้นมีมากกว่าอริยบุคคลที่มีอยู่ในมนุษย์โลก ข้อนี้จึงแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่ในเทวโลกนั้นมีความเจริญแพร่หลายมาก ก็ด้วยการที่มีอริยบุคคลมากนั้นเอง

ส่วนในมนุษยโลกนั้น พุทธศาสนิกชนมีน้อยมากก็จริง แต่ก็มีข้อพิเศษที่ต่างกันกับเทวโลก คือ ในมนุษยโลก มีปริยัติศาสนา ได้แก่ การสอนพระไตรปิฎก การเรียนพระไตรปิฎก การแสดงธรรม และการฟังธรรม ทั้ง ๔ อย่างนี้มีอยู่โดยพร้อมมูล แต่ในเทวโลกมีอยู่เพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือ การแสดงธรรมและการฟังธรรม อีกประการหนึ่ง ในเทวโลกไม่มีพระสงฆ์มีอยู่แต่ในมนุษยโลกเท่านั้น

การแสดงกามาวจรเทวดา ๖ ชั้น จบ

(อ้างอิงจาก : ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา วิถีมุตตสังคหะ)


Create Date : 07 กันยายน 2554
Last Update : 7 กันยายน 2554 2:12:57 น. 0 comments
Counter : 2389 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.