สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา



♥ วันอาสาฬหบูชา วันเพ็ญเดือน ๘ เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ ๓

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นปฐมเทศนา โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ หลังจากทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และท่านโกณฑัญญะได้บรรลุโลกุตตรธรรมเป็นปฐมสาวก เป็นพยานความตรัสรู้ของพระศาสดา เป็นอันว่าทรงยังความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สำเร็จบริบูรณ์ ด้วยเทศนาโปรดให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์


♥ พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ปฐมเทศนา

ในปฐมเทศนา หรือ พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ทรงแสดงนั้น

ทรงแสดงส่วนสุด ๒ อย่าง อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้พัวพันด้วยสุขในกาม อันเป็นส่วนสุดข้างหย่อน ๑
อัตตกิลมถานุโยค การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตนเปล่า อันเป็นส่วนสุดข้างตึง ๑

ทรงแสดง มัชฌิมาปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง ๒ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่
สัมมาทิฐิ-ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ
สัมมาวาจา-วาจาชอบ
สัมมากัมมันตะ-การงานชอบ
สัมมาอาชีวะ-ความเลี้ยงชีพชอบ
สัมมาวายามะ-ความเพียรชอบ
สัมมาสติ-ความระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ-จิตตั้งมั่นชอบ

ทรงแสดง อริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
สมุทัย ตัณหา ๓ เป็นเหตุแห่งทุกข์
นิโรธ ความดับทุกข์ (ดับตัณหา ๓)
มรรค ทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่หนทางแห่งความดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘


อริยสัจ ๔ ที่ทรงตรัสรู้นั้น ทรงตรัสเป็นพระบาลีว่า "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ" ธรรมที่เราไม่เคยฟังมาก่อน นั่นคือ ทรงยืนยันว่า อริยสัจ ๔ ที่ทรงตรัสรู้นั้น ทรงรู้โดยองค์เอง (ไม่มีใครสอนมาก่อน)

ทรงแสดง กิจที่พึงทำในอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ เป็นปริญเญยยะ ควรกำหนดรู้
สมุทัย เป็นปหาตัพพะ ควรละ
นิโรธ เป็นสัจฉิกาตัพพะ ควรกระทำให้แจ้ง
มรรค เป็นภาเวตัพพะ ควรเจริญ


เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังตรัสพระธรรมเทศนานี้อยู่ ธรรมจักษุ คือ ดวงตา คือปัญญาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา"

ท่านโกณทัญญะได้บรรลุโลกุตตรธรรมเป็นปฐมสาวก เป็นพยานความตรัสรู้ของพระศาสดา เป็นอันว่าทรงยังความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สำเร็จบริบูรณ์ ด้วยเทศนาโปรดให้ผู้อื่นรู้ตามได้

ในกาลนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่าท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" แปลว่า "โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ" เพราะอาศัยพระอุทานว่า "อญฺญาสิ" ที่แปลว่า "ได้รู้แล้ว" คำว่า อญฺญาโกณฺฑัญฺโญ จึงได้เป็นนามของท่านโกณฑัญญะตั้งแต่กาลนั้นมา

============================================

♥ ธัมมวิจย : "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา"


นั่นคือ จิตมีธรรมชาติชอบแส่ส่ายออกไปหาอารมณ์ ยึดถือและปรุงแต่งไปตามอารมณ์ ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นที่จิต ทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปจากจิตตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน

ทรงสอนให้กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ต้องไปจัดแจงหรือแก้ไขอะไร ... (ทุกข์ เป็นปริญเญยยะ ควรกำหนดรู้)

ทรงให้ละตัณหา ๓ อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ คือ ความทะยานอยากของจิตที่ชอบแส่ส่ายออกไปหาอารมณ์ นั่นคือ จิตเมื่อแส่ส่ายออกไปหาอารมณ์แล้ว จะยึดถือและปรุงแต่งไปตามอารมณ์ ดังนั้นที่จะไม่เกิดทุกข์ขึ้นที่จิตนั้น เป็นไม่มี ... (สมุทัย เป็นปหาตัพพะ ควรละ)

เมื่อละความทะยานอยากของจิตที่ชอบแส่ส่ายออกไปหาอารมณ์ได้เมื่อใด ทุกข์ย่อมดับไปจากจิต (นิโรธ) เมื่อนั้น จึงทรงสอนว่า นิโรธ ให้ทำให้แจ้งชัดขึ้นที่จิต ... (นิโรธ เป็นสัจฉิกาตัพพะ ควรกระทำให้แจ้ง)

โดยทรงสอนให้เจริญอริยมรรค ๘ เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นชอบโดยลำพังตนเอง ปล่อยวางความยึดถืออารมณ์ ละความทะยานอยากของจิตที่ชอบแส่ส่ายออกไปหาอารมณ์ ... (มรรค เป็นภาเวตัพพะ ควรเจริญ)

ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิ เจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ)
ให้จิตมีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ (สติปัฏฐาน๔ = สัมมาสติ) ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์
โดยอาศัยความเพียรประคองจิตให้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ (สัมมาวายามะ) จนจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์แล้ว
จิตจะเกิดปัญญารู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ)
และเกิดพลังปัญญาปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตได้ตามลำดับ (สัมมาสังกัปปะ)
ทำให้ทุกข์ดับไปจากจิต

อนึ่ง ในการเจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ) นั้น จิตจะบรรลุปฐมฌานได้
ต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ) ด้วย

ครบ อริยมรรคมีองค์ ๘


ดังนั้น จึงต้องเจริญ อริยมรรค ๘ เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตเกิดพลังปัญญา ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆออกไปจากจิต ทำให้ไม่เกิดทุกข์ขึ้นที่จิต

ถึงอารมณ์จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป จิตผู้ปฏิบัติก็ไม่ทุกข์ไปกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เพราะจิตผู้ปฏิบัติไม่ยึดถืออารมณ์นั้นๆ อารมณ์นั้นๆ ก็สักเป็นเพียงอารมณ์ แต่ไม่ใช่อารมณ์ของจิตดวงนี้ของผู้ปฏิบัติ

เพราะจิตผู้ปฏิบัติรู้อยู่เห็นอยู่ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา"


ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกๆท่าน







 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2554   
Last Update : 15 กรกฎาคม 2554 8:44:05 น.   
Counter : 5875 Pageviews.  

การปฏิบัติอริยมรรค ๘ ก็คือ การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

♥ การปฏิบัติอริยมรรค ๘ ก็คือ การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

พระพุทธองค์ ตรัสรู้ อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
โดยการปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือเรียกย่อๆว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔
ซึ่งเป็นธรรมะปฏิบัติเรื่องเดียวกัน เป็นทางเดินของจิตเพื่อความพ้นทุกข์

สามารถศึกษาเทียบเคียงการปฏิบัติได้กับมหาสติปัฏฐานสูตร

♥ มหาสติปัฏฐานสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก
เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ
เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส
เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔

[๒๙๔]
ภิกษุพิจารณา เห็นธรรมในธรรม คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ฯ

[๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นไฉน
นี้คือ มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ


ก็ สัมมาทิฏฐิ เป็นไฉน
ความรู้ในทุกข์
ความรู้ในทุกขสมุทัย
ความรู้ในทุกขนิโรธ
ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ฯ

สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน
ความดำริในการออกจากกาม
ความดำริในความไม่พยาบาท
ความดำริในอันไม่เบียดเบียน

อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ฯ

สัมมาวาจา เป็นไฉน
การงดเว้นจากการพูดเท็จ
งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

อันนี้เรียกว่า สัมมาวาจา ฯ

สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน
การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

อันนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ ฯ

สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย
สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ

อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ฯ

สัมมาวายามะ เป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้
เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น
เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว
เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น
เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว

อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ ฯ

สัมมาสติ เป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯลฯ
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯ

สัมมาสมาธิ เป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน
มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ

============================================

อริยมรรค ๘ ย่นย่อลงเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนี้คือ

ปัญญา
๑.สัมมาทิฐิ -รู้อริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)
๒.สัมมาสังกัปปะ -ดำริในการออกจากกาม,ไม่พยาบาท,ไม่เบียดเบียน

ศีล
๓.สัมมาวาจา
๔.สัมมากัมมันตะ
๕.สัมมาอาชีวะ


สมาธิ
๖.สัมมาวายามะ -เพียรประคองจิต…ฯลฯ…
๗.สัมมาสติ -สติปัฏฐาน ๔
๘.สัมมาสมาธิ -เจริญฌาน ๔

============================================

สรุป

พระพุทธองค์ตรัสรู้ อริยสัจ ๔
โดยการปฏิบัติ อริยมรรค ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือสติปัฏฐาน ๔

อริยสัจ ๔ คือ ความรู้ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
มรรค ก็คือ อริยมรรค ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สมาธิ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ปัญญา คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ

การรู้อริยสัจ ๔ ก็คือ สัมมาทิฐิ เป็นองค์ปัญญา เป็นหนึ่งในองค์มรรค ๘
การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ คือ สัมมาสติ เป็นองค์สมาธิ เป็นหนึ่งในองค์มรรค ๘
ในการปฏิบัติจิตจะเป็นสมาธิ บรรลุปฐมฌานได้ ต้องละอกุศลธรรม
คือ ต้องมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นองค์ศีล เป็นหนึ่งในองค์มรรค ๘

ดังนั้นการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือ การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หรือ ปฏิบัติอริยมรรค ๘ นั่นเอง
เป็นการปฏิบัติทางจิต เป็นธรรมะปฏิบัติเรื่องเดียวกัน เพื่อให้จิตพ้นจากทุกข์ทั้งปวง


โปรดดูวิธีปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ในมหาสติปัฏฐานสูตร
ขั้นตอนเริ่มแรกของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ กล่าวไว้ดังนี้
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า ฯลฯ…


นั่นคือ ต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติสมาธิ บรรพะแรก-อานาปานสติ ดูลมหายใจเข้า-ออก
โดยการนั่งสมาธิ เจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ)
ให้จิตมีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ (สติปัฏฐาน ๔ ก็คือ สัมมาสติ) ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์
โดยอาศัยความเพียรประคองจิตให้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ (สัมมาวายามะ) จนจิตสงบตั้งมั่นเป็น สมาธิ

เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ) ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์แล้ว
ก็ย่อมได้ศึกษารู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง เกิดญาณรู้ตามความเป็นจริง (ปัญญา)
คือ รู้อริยสัจ ๔ (สัมมาทิฐิ)
และเกิดพลังปัญญาปล่อยวางความยึดถืออารมณ์ต่างๆออกไปจากจิตได้ตามลำดับ (สัมมาสังกัปปะ)

อนึ่ง ในการเจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ) นั้น จิตจะบรรลุปฐมฌานได้
ต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม (มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ คือ ศีล)ด้วย

ครบ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ดังนั้นจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง
เป็นธรรมะปฏิบัติทางจิตเพื่อให้จิตพ้นจากทุกข์

จึงกล่าวในข้างต้นว่า ทั้งหมดคือธรรมะปฏิบัติทางจิตเรื่องเดียวกัน
เป็นทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อบรรลุพระนิพพาน


ขออนุโมทนากับผู้ปฏิบัติทุกๆท่าน
ขอให้เจริญในธรรมปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้น






 

Create Date : 11 มิถุนายน 2554   
Last Update : 11 มิถุนายน 2554 8:22:42 น.   
Counter : 741 Pageviews.  

จิตคือธาตุรู้ ไม่เกิดดับ แต่รู้ถูกหรือรู้ผิด

♥ มนุษย์มีจิตครอง จึงรู้อะไรได้

บรรดาสรรพสิ่งต่างๆในโลก หรือเรียกว่า รูป ประกอบด้วย ธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)
มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแห่งรูป

รูปร่างกายมนุษย์ก็ประกอบด้วยธาตุ ๔ เช่นกัน
แต่มี วิญญาณธาตุคือธาตุรู้หรือจิต เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งธาตุ

นั่นคือ มนุษย์ ประกอบด้วยธาตุ ๖ คือ ธาตุ ๔ + วิญญาณธาตุคือธาตุรู้หรือจิต...(อ้างอิง ธาตุวิภังคสูตร)

เพราะมี วิญญาณธาตุคือธาตุรู้หรือจิต
ดังนั้น รูปร่างกายมนุษย์จึงแตกต่างจากรูปชนิดอื่นๆ คือ รู้อะไรได้


***หมายเหตุ

๑.โปรดสังเกต ในธาตุวิภังคสูตร นั้น
กล่าวถึง ธาตุ ๖ ที่มาประชุมรวมเป็นรูปร่างกายมนุษย์
ณ ตรงนี้ กล่าวถึง วิญญาณธาตุ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์


๒.ในพระสูตรที่มีมา ที่กล่าวว่า ..รูปร่างกายอันประชุมด้วยมหาภูตรูป ๔... นั้น
เป็นการละไว้ในฐานที่เข้าใจ
เพราะผู้ศึกษาธรรมะ ย่อมต้องมีความเข้าใจโดยพื้นฐานแล้วว่า
รูปร่างกายมนุษย์ มี วิญญาณธาตุคือธาตุรู้หรือจิต ครอง จึงรู้อะไรได้
รูป หรือสรรพวัตถุต่างๆในโลก ไม่มี วิญญาณธาตุคือธาตุรู้หรือจิต ครอง จึงรู้อะไรไม่ได้

และเพราะมนุษย์มีจิตครองนั่นเอง
จึงทำให้เกิดขันธ์ ๕ ขึ้นที่จิตและดับไปจากจิต ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน



♥ ธาตุรู้ ย่อมเป็นธาตุรู้วันยังค่ำ ไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุรู้บ้างไม่รู้บ้าง

ธาตุ ๖ ได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณธาตุ(ธาตุรู้=จิต)

ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ นิยมเรียกธาตุ ๔ หรือมหาภูตรูป ๔
(ละอากาศธาตุไว้ในฐานที่เข้าใจ)

ธาตุทั้ง ๖ เป็นธาตุแท้ดั้งเดิมที่มีอยู่ในโลก ไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ
รักษาคุณสมบัติเดิมที่มีอยู่โดยไม่แปรเปลี่ยน ไม่เสื่อมสูญ

ธาตุดิน มีคุณสมบัติ แค่นแข็ง ไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุน้ำ ไฟ ลม...
ธาตุน้ำ มีคุณสมบัติ เอิบอาบ เหลว ไหล ไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุ ดิน ไฟ ลม...
ธาตุลม มีคุณสมบัติ พัดไหวไปมา ไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ...
ธาตุไฟ มีคุณสมบัติ ร้อน ไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุดิน น้ำ ลม...
อากาศธาตุ มีคุณสมบัติ ว่าง ไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ...

ธาตุทั้ง ๕ ดังกล่าว เป็นธาตุรู้อะไรไม่ได้ ย่อมไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุรู้
เฉกเช่นเดียวกัน
วิญญาณธาตุคือธาตุรู้หรือจิต มีคุณสมบัติ รู้ ย่อมไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ
และไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุรู้บ้างไม่รู้บ้าง

นั่นคือ จิตคือธาตุรู้ ธาตุรู้ย่อมเป็นธาตุรู้วันยังค่ำ รู้ตลอดทุกกาลสมัย
ไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุไม่รู้(ดับ) หรือรู้บ้างไม่รู้บ้าง(เกิด-ดับ)

แต่สิ่งที่ถูกจิตรู้ คือ รูปหรืออารมณ์ และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์
หรือขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ต่างหาก
ที่แปรเปลี่ยนเกิดดับที่จิตตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน


♥ ความเข้าใจเรื่องธาตุ ๖

ธาตุทั้ง ๖ ดังกล่าวข้างต้นเป็นแดนเกิดของธาตุผสมทุกชนิดในโลก
ไม่อาจตั้งอยู่อย่างเอกเทศ ต้องคุมตัวเข้าผสมกันเสมอ
เมื่อคุมตัวเข้าผสมกันแล้ว แน่นอน ย่อมไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนตลอดเวลา

อย่างรูปร่างกายมนุษย์ แปรเปลี่ยนจากทารก เด็ก วัยรุ่น หนุ่มสาว วัยชรา
สามารถเห็นได้ชัดเจน ดังปรากฏในอัสสุตวตาสูตร ตรัสว่า

เพราะร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ เมื่อดำรงอยู่
ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง
สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง
ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง ย่อมปรากฏ...ฯลฯ...


จิตหรือธาตุรู้หรือวิญญาณธาตุ ที่ครองอยู่ในร่างกายมนุษย์ ก็เช่นกัน
ก็ชอบคุมตัวเข้าผสมกับธาตุ ๔ คือ รูป หรือเรียกว่า อารมณ์(รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธัมมารมณ์)
ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามมา
นั่นคือ ทำให้เกิดขันธ์ ๕ ขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต
หรือเกิดจิตสังขาร(จิตปรุงแต่งไปตามอารมณ์) ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน

จึงเป็นที่มาที่ทรงตรัสไว้ในอัสสุตวตาสูตรว่า
แต่ว่าตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า
จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง
จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน ฯ


นั่นคือ ทรงหมายว่า รูปร่างกายมนุษย์มีจิตครอง
จิตเมื่อผสมกับอารมณ์ จะปรุงแต่งไปตามอารมณ์ เกิดจิตสังขาร
หรือเกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ขึ้น
ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เกิด-ดับตลอดเวลา
จึงตรัสเรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง และเรียกรวมว่า จิตเป็นต้นนั้น

จิตบ้าง ได้แก่
จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ ...ฯลฯ...
คือ จิต ๑๖ ชนิด ดังปรากฏในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐานสูตร
ซึ่งแสดงชัดเจนว่า จิตทั้ง ๑๖ ชนิดนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เกิด-ดับตลอดเวลา

มโนบ้าง ได้แก่
มโน อายตนะภายใน
มโนวิญญาณ อาศัยมโนและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ
มโนสัมผัส อาศัยมโนและธรรมารมณ์เกิดมโนวิญญาณ
ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
ซึงก็ชัดเจนว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เกิด-ดับตลอดเวลา

วิญญาณบ้าง ได้แก่
จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ
ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ

เป็นที่ทราบกันดีว่าวิญญาณ ๖ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เกิด-ดับตลอดเวลา


♥ จิตคือธาตุรู้ ไม่เกิดดับ แต่รู้ถูกหรือรู้ผิด

ปุถุชน ไม่ได้อบรมจิต
จิตรู้ผิดจากความเป็นจริง เพราะอวิชชาครอบงำ หลงยึดขันธ์ ๕ เป็นตน

เมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวน ก็แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวน
เพราะหลงเข้าใจผิดว่า ตนคือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือตน
เมื่อขันธ์ ๕ แปรเปลี่ยนเกิดดับ ก็เข้าใจว่าตนเกิดดับ
จึงกล่าวตามๆกันมาว่า จิตเกิดดับ

ทั้งๆ ที่โดยคำจำกัดความแล้ว
ถ้าพูดว่าจิตเกิด แสดงว่าก่อนหน้านั้นไม่มีจิต(ธาตุรู้)อยู่ จิต(ธาตุรู้)เพิ่งเกิดขึ้นมา
และถ้าพูดว่าจิตดับ แสดงว่าขณะนั้นจิต(ธาตุรู้)ได้หายไปแล้ว ไม่มีจิต(ธาตุรู้)เหลืออยู่
ตอนจิตดับ รู้ดับ ไม่รู้ไรเลย แล้วจะมาบอกได้ยังไง???

และย่อมขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ที่แสดงข้างต้นว่า
มนุษย์ประกอบด้วยธาตุ ๖
เพราะมีวิญญาณธาตุหรือธาตุรู้คือจิตครอง มนุษย์จึงรู้อะไรได้
ธาตุรู้ย่อมเป็นธาตุรู้วันยังค่ำ จะเป็นธาตุไม่รู้ หรือรู้บ้างไม่รู้บ้างย่อมไม่ได้


พระอริยสาวก ได้อบรมจิต
จิตรู้ถูกตามความเป็นจริง พ้นจากการครอบงำของอวิชชา ไม่หลงยึดขันธ์ ๕ เป็นตน

เมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวน จิตก็ไม่แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวน
เพราะจิตรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้วว่า ตนไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตน
เมื่อขันธ์ ๕ แปรเปลี่ยนเกิดดับ
จิตรู้อยู่เห็นอยู่ ไม่ได้เกิดดับตามขันธ์ ๕ ที่เกิดดับ


ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ปฏิบัติอริยมรรค ๘ ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางจิต
เพื่อให้จิตรู้ถูกด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง(รู้อริยสัจ ๔)
หลุดพ้นจากการที่ตนชอบยึดถืออารมณ์และปรุงแต่งไปตามอารมณ์
อันทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ขึ้น

เป็นการตัดกระบวนการเกิดขันธ์ ๕ ขึ้นที่จิต
หรือเพื่อให้จิตไม่ปรุงแต่งไปตามอารมณ์ ไม่เกิดจิตสังขารขึ้น
จนจิตสิ้นการปรุงแต่งเป็นวิสังขาร

ดังปฐมพุทธพจน์ที่ทรงตรัสว่า
จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว

พระนิพพาน คือ สภาวะจิตสิ้นการปรุงแต่ง จิตสิ้นตัณหาแล้ว
จิตเมื่อบรรลุพระนิพพาน เป็น อมตธาตุ อมตธรรม ไม่มีการเกิดแก่เจ็บตาย...


ขออนุโมทนากับผู้ปฏิบัติทุกๆท่าน
ขอให้เจริญในธรรมปฏิบัติยิ่งๆขึ้น





 

Create Date : 22 กันยายน 2553   
Last Update : 22 กันยายน 2553 6:52:50 น.   
Counter : 1140 Pageviews.  

ปุถุชนกับพระอริยเจ้า ต่างกันที่จิต

♥ ปุถุชนกับพระอริยเจ้า ต่างกันที่จิต

สรรพวัตถุต่างๆ ในโลก ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และ อากาศธาตุ (มักละไว้ในฐานที่เข้าใจ)

มนุษย์ประกอบด้วยธาตุ ๖ คือ
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และ วิญญาณธาตุ(ธาตุรู้=จิต)

เพราะมีธาตุรู้(จิต) ครอง มนุษย์จึงรู้อะไรได้
เรียก สังขารมีจิตครอง หรือ อุปาทินกสังขาร


สรรพวัตถุต่างๆ ไม่มีธาตุรู้(จิต) ครอง จึงรู้อะไรไม่ได้
เรียก สังขารไม่มีจิตครอง หรือ อนุปาทินกสังขาร

ในพระพุทธศาสนา จิตจึงเป็นสภาพธรรมที่สำคัญที่สุด
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ล้วนสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น
ดังพระบาลีว่า "สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ
การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"


ทรงสอนให้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
อันเป็นการปฏิบัติทางจิต

ดังนั้น ปุถุชนกับพระอริยเจ้า จึงต่างกันที่จิต นั่นคือ จิตรู้เห็นต่างกัน

ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส จิตเห็นขันธ์ ๕ เป็นตน เห็นตนเป็นขันธ์ ๕

แต่พระอริยเจ้า จิตไม่เห็นขันธ์ ๕ เป็นตน ไม่เห็นตนเป็นขันธ์ ๕

(อ้างอิง คัททูลสูตรที่ ๑ และ ๒)

ปุถุชน เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน
ปุถุชน เห็นตนมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ปุถุชน เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตน
ปุถุชน เห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เขาย่อมแล่น วนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เอง
เมื่อเขาแล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอยู่
เขาย่อมไม่พ้นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เรากล่าวว่าย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์


พระอริยสาวก ไม่เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน
พระอริยสาวก ไม่เห็นตนมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
พระอริยสาวก ไม่เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตน
พระอริยสาวก ไม่เห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อริยสาวกนั้นย่อมไม่แล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อริยสาวกนั้นเมื่อไม่แล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ย่อมพ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์


^
ปุถุชนไม่ได้รับการอบรมจิต
จิตมีอวิชชาครอบงำ (จิตไม่รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง)
หลงเข้าใจผิด ว่าขันธ์ ๕ ซึ่งก็รวม วิญญาณขันธ์ ด้วยเป็นตน

จึงหลงเกิดตายตามขันธ์ ๕ หรือก็คือ เกิดดับตามวิญญาณขันธ์
จึงบอกว่า จิตเกิดดับ ด้วยอำนาจอวิชชาที่ครอบงำนั่นเอง
เพราะไม่รู้จักตนเองที่แท้จริง ว่าตนเป็นผู้รู้ ผู้เห็นอยู่
เมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป จิตจึงแปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไปตลอดเวลา

เมื่อปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักอริยมรรค ๘ ตามเสด็จพระบรมศาสดา
จิตที่เคยรู้ผิดเห็นผิดไปจากความเป็นจริงมาตลอดเพราะ อวิชชาครอบงำ
เกิดวิชชาขึ้นแทนที่ที่จิตที่มีดวงเดียวดวงเดิมนั่นแล (จิตรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง)

จิตก็จะรู้ จะเห็นว่าขันธ์ ๕ ซึ่งก็รวมวิญญาณขันธ์ด้วยไม่ใช่ตน
ตนไม่ใช่ขันธ์ ๕ ตนไม่ได้เกิดดับ ตนเป็นผู้รู้อยู่ เห็นอยู่
ที่เกิดดับคือวิญญาณขันธ์ไม่ใช่จิต

เพราะจิตผู้ปฏิบัติต้องรู้ต้องเห็นตลอดสายของการปฏิบัติ
ไม่ว่าอารมณ์ใดๆมาเกิดขึ้นที่จิต จิตก็รู้
อารมณ์ใดๆ ดับไปจากจิต จิตก็รู้
เมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป ถ้ารู้จักทำจิตให้สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้
จิตก็ไม่แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป

นี้คือประโยชน์ที่ผู้ปฏิบัติตามเสด็จจะพึงได้รับจากพระพุทธศาสนา
คือ จิตรู้จักปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบจิต
ไม่หวั่นไหวฟุ้งซ่านปรุงแต่งไปตามอารมณ์


ขออนุโมทนากับผู้ปฏิบัติทุกๆท่าน
ขอให้เจริญในธรรมปฏิบัติยิ่งๆขึ้น





 

Create Date : 14 กันยายน 2553   
Last Update : 14 กันยายน 2553 7:02:38 น.   
Counter : 793 Pageviews.  

จิตไม่มีการเกิดดับ ไม่มีการรู้บ้างไม่รู้บ้าง

♥ มีจิตที่ไหน มีรู้ที่นั่น

สรรพวัตถุต่างๆในโลก ประกอบด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ (อากาศ-ละไว้ในฐานที่เข้าใจ)

ส่วน มนุษย์ประกอบด้วยธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และ วิญญาณธาตุ = ธาตุรู้(จิต)

นั่นคือมนุษย์ประกอบด้วย ธาตุ ๔ + จิต (ธาตุรู้=วิญญาณธาตุ)
เพราะมีธาตุรู้ (วิญญาณธาตุ หรือจิต) นั่นเอง มนุษย์จึงรู้อะไรได้...

ต่างกับ สรรพวัตถุต่างๆในโลก ซึ่งประกอบด้วย ธาตุ ๔
เพราะไม่มีธาตุรู้(จิต) สรรพวัตถุต่างๆในโลก จึงรู้อะไรไม่ได้…

แสดงว่า คนเรา รู้อะไรๆได้ เพราะมีจิต
ถ้าไม่มีจิต ก็ไม่เป็นคนแล้ว (เพราะมนุษย์ต้องประกอบด้วยธาตุ ๖)
อย่างคนตาย ไม่มีจิต จึงรู้อะไรไม่ได้แล้ว



♥ จิต คือ วิญญาณธาตุ หรือ ธาตุรู้ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์

วิญญาณขันธ์ เป็นอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์

จิตมีดวงเดียว แต่ขันธ์เป็นกอง จิตจึงไม่ใช่วิญญาณขันธ์
มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า อสรีรํ ดวงเดียวเที่ยวไป
ที่ตำราเขียนไว้ว่า ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงนั้นเป็นอาการของจิต

วิญญาณขันธ์ เป็นอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์
วิญญาณขันธ์ แบ่งเป็น ๖ ชนิด ตามช่องทางที่รับอารมณ์เข้ามา คือ
วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก
วิญญาณทางลิ้น วิญญาณทางกาย วิญญาณทางใจ


มีจิตโดยไม่มีวิญญาณย่อมได้ แต่จะมีวิญญาณโดยไม่มีจิตย่อมไม่ได้
เช่น คนตาบอด ไม่มีจักษุวิญญาณ ไม่อาจรับรู้อารมณ์ทางตาได้
แต่คนตาบอดมีจิตรู้ จึงรู้ว่าตนไม่มีวิญญาณทางตา
ก็จะหาวิธีรับรู้อารมณ์ทางอื่นๆแทน
เช่น ใช้กายวิญญาณ การรับรู้อารมณ์ทางกายแทน เป็นต้น



♥ จิตไม่เกิดดับ

จิตคือธาตุรู้ ย่อมทรงความรู้อยู่ทุกกาลสมัย
จิตไม่มีการเกิดดับ คือ ไม่มีการรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง

ธาตุรู้ยังไงก็เป็นธาตุรู้วันยังค่ำ ไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุไม่รู้ได้
ไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นธาตุดิน น้ำ ลม หรือไฟ ได้

สิ่งที่ถูกจิตรู้ หรือ อารมณ์ (รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธัมมารมณ์)
ซึ่งเกิดจากธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ ) ต่างหาก ที่แปรเปลี่ยนไปมาตลอดเวลา

จิตผู้ปฏิบัติต้องรู้ตลอดสายในการปฏิบัติ
ไม่ว่าอารมณ์อย่างใดมาเกิดที่จิตหรือดับไปจากจิต



♥ จิตรู้ถูกหรือรู้ผิด

เพราะจิตคือธาตุรู้ ย่อมทรงความรู้อยู่ทุกกาลสมัย ไม่มีการรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง
เพียงแต่รู้ถูก หรือ รู้ผิด

สามัญสัตว์โลก จิตรู้ผิดจากความเป็นจริง (จิตมีอวิชชาครอบงำ)
ไม่รู้อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
คือ ไม่รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง
เห็นขันธ์ ๕ เป็นตน จิตหลงยึดถือขันธ์ ๕ เป็นตน
เมื่อขันธ์ ๕ ปรวนแปรไป จิตก็แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป

จึงหลงเข้าใจผิดว่าจิตเกิดดับ
ทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดดับคือขันธ์ ๕
หรืออารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ต่างหาก
ที่เกิดขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต

ตลอดพระชนม์ชีพ จึงทรงสอนให้อบรมจิต
สัตว์จะเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง…เพราะจิตมีราคะ โทสะ โมหะ
สัตว์จะผ่องแผ้ว เพราะจิตผ่องแผ้ว…เพราะราคะ โทสะ โมหะ สิ้นไปจากจิต

ทรงสอนให้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘
ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางจิต

... ทางนี้ คือ ทางเดินอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
ทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔
...(มหาสติปัฏฐานสูตร)

... ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว
ท่านทั้งหลายจงเดินไปตามทางนี้เถิด เป็นทางที่มารและเสนามารหลง
...(มรรค ๘)

จิตเมื่อได้รับการอบรมโดยปฏิบัติตามเสด็จ...
จิตรู้ถูกตามความเป็นจริง (เกิดวิชชาขึ้นที่จิตที่มีดวงเดียวดวงเดิมนั่นแหละ)
รู้อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
คือ รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง
รู้ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตนของเรา

จิตปล่อยวางการยึดถือขันธ์ ๕ ...จิตรู้แล้วว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่ขันธ์ ๕
เมื่อขันธ์ ๕ ปรวนแปรไป จิตก็ไม่แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป

ถึงขันธ์ ๕ จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป
จิตของผู้ปฏิบัติตั้งมั่นชอบโดยลำพังตนเอง แยกตัวเป็นอิสระจากขันธ์ ๕ แล้ว
จิตก็อยู่ส่วนจิต ขันธ์ ๕ ก็อยู่ส่วนขันธ์ ๕

ถึงขันธ์ ๕ หรืออารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป
จิตของผู้ปฏิบัติหาได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป ตามไม่

จิตของผู้ปฏิบัติรู้อยู่เห็นอยู่ตลอดสายในการปฏิบัติ ไม่ว่าขันธ์ ๕ จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือ ดับไป


ยินดีในธรรมทุกๆท่านครับ






 

Create Date : 13 กันยายน 2553   
Last Update : 13 กันยายน 2553 8:49:33 น.   
Counter : 724 Pageviews.  

1  2  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]