สติเกิดเองไม่ได้ ต้องเจริญ ต้องทำให้เกิดขึ้นที่จิต

สติแบบที่คนในโลกเข้าใจ ...ระลึกรู้เรื่องอะไร(อารมณ์)ขึ้นมา ก็เรียกว่า มีสติ
รู้แล้วยึด(อารมณ์) ปรุงแต่งไปตามเรื่อง(อารมณ์)ที่ระลึกรู้ขึ้นมา
เป็นกระบวนการเกิดของขันธ์ ๕ ตลอดเวลา ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์
เพราะเมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป
จิตก็แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป


สติแบบที่เข้าใจนี้ มีในคนทุกคน ทุกชาติ ทุกศาสนา

สติแบบที่พระพุทธองค์ทรงสอน = สัมมาสติ ต่างจากสติแบบที่คนในโลกเข้าใจ
เพราะสัมมาสติ เป็นมรรคจิต เป็นทางเดินของจิตเพื่อความพ้นทุกข์

สัมมาสติ คือ ระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างต่อเนื่อง(สติปัฏฐาน)
จนจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆที่เข้ามาปรุงแต่งจิต
เป็นกระบวนการยับยั้งการเกิดของขันธ์ ๕ ที่จิต เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์
เพราะเมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป
จิตก็ไม่แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป



● พระพุทธองค์ตรัสว่า

จำเ้พาะในธรรมวินัยนี้(ศาสนาพุทธ)เท่านั้น ที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘

สัมมาสติ อยู่ในองค์อริยมรรค ๘

ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร ทรงแสดงกิจที่พึงทำในอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ เป็นปริญเญยยะ ควรกำหนดรู้
สมุทัย เป็นปหาตัพพะ ควรละ
นิโรธ เป็นสัจฉิกาตัพพะ ควรกระทำให้แจ้ง
มรรค เป็นภาเวตัพพะ ควรเจริญ

เพราะฉะนั้น สัมมาสติ คือ สติในองค์มรรค เกิดขึ้นเองไม่ได้
ต้องเจริญ ต้องทำให้มาก ต้องทำให้เกิดขึ้นที่จิต

นั่นคือ ต้องปฏิบัติอริยมรรค ๘ หรือสติปัฏฐาน ๔ ตามเสด็จเท่านั้นจึงจะเกิดสัมมาสติ



การปฏิบัติอริยมรรค ๘ หรือ การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ คืออย่างเดียวกัน
เป็นการปฏิบัติทางจิต เป็นทางเดินของจิต
เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะนำจิตให้พ้นจากทุกข์ได้

ดังมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้

คาถาธรรมบท มรรควรรค (มรรค ๘)

ทางนี้เท่านั้นเพื่อความหมดจดแห่งทัศนะ ทางอื่นไม่มี
เพราะเหตุนั้นท่านทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แหละ
เพราะทางนี้เป็นที่ยังมารและเสนามารให้หลง
ด้วยว่าท่านทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

มหาสติปัฏฐานสูตร (สติปัฏฐาน ๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส
เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ฯ


การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง

บรรพะแรกในการเจริญสติปัฏฐาน ดังแสดงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า...ฯลฯ...


ขั้นตอนเริ่มแรกของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ
ต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติสมาธิ(นั่งสมาธิ) เจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ)
ให้จิตมีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ(สติปัฏฐาน๔ = สัมมาสติ) ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์
โดยอาศัยความเพียรประคองจิตให้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ(สัมมาวายามะ)จนจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ(จิตตั้งมั่นชอบ) ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์แล้ว
ก็ย่อมได้ศึกษารู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง
เกิดญาณรู้ตามความเป็นจริง (ปัญญา) คือ รู้อริยสัจ ๔ (สัมมาทิฐิ)
และเกิดพลังปัญญาปล่อยวางความยึดถืออารมณ์ต่างๆออกไปจากจิตได้ตามลำดับ (สัมมาสังกัปปะ)

อนึ่ง ในการเจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ) นั้น จิตจะบรรลุปฐมฌานได้
ต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ = ศีล)ด้วย

ครบ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ดังนั้นจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง

เป็นวิธีปฏิบัติทางจิตเพื่อให้จิตพ้นจากทุกข์
เป็นภาเวตัพพะ ต้องเจริญ ต้องทำให้มาก ต้องทำให้เกิดขึ้นที่จิต

เกิดเองไม่ได้


การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

เมื่อฝึกเจริญสติปัฏฐาน โดยการหลับตานั่งสมาธิ จนชำนาญแล้ว
หรือก็คือ พิจารณากายในกาย...เวทนาในเวทนา...จิตในจิต...ธรรมในธรรมเป็นภายใน

จากนั้น เมื่อออกจากสมาธิมาประกอบกิจกรรมการงานในชีวิตประจำวัน
เราก็ใช้ความชำนาญที่ฝึกปล่อยวางอารมณ์ ตอนนั่งสมาธินั้น
มาใช้ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
อันเป็นการพิจารณากายในกาย...เวทนาในเวทนา...จิตในจิต...ธรรมในธรรมเป็นภายนอกนั่นเอง


● สรุป
สติ(สัมมาสติ) เป็นองค์มรรค ต้องเจริญ ต้องทำให้มาก ต้องทำให้เกิดขึ้นที่จิต
สติเกิดขึ้นเองไม่ได้


ยินดีในธรรมทุกๆท่านครับ






Create Date : 28 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2552 9:09:11 น. 4 comments
Counter : 759 Pageviews.  

 
ตรงอื่นดีหมดนะครับ
แต่

ขั้นตอนเริ่มแรกของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ
ต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติสมาธิ(นั่งสมาธิ) เจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ)

นั่งสมาธิ -เจริญฌาน ๔
ผมว่าไม่น่าใช่นะในสติปัฏฐานสี่ ให้มีรูป-นามหรือขันธ์ ๕
เป็นอารมณ์เท่านั้น พระอรหันต์บางท่านก็สำเร็จโดยที่ไม่ได้ฌานสี่ ก็นับประมาณมิได้ เทวดาบางพวกยืนฟัง
ธรรมเสียด้วยซ้ำ

คือไม่จำเป็น จะมีหรือไม่มีก็ได้น่ะ ขอให้มีปัญญา
รู้รูป รู้นาม อาศัยสมาธิแค่เบื้องต้นประคองไว้ก็พอ
แนบแน่นมากไปมันบดบังไตรลักษณ์น่ะครับ
แต่ถ้าจะใช้ก็ต้องรู้จักใช้ให้เป็น ตามอย่างที่ท่านยกนำมากล่าวนั่นล่ะ

ปล.ทำBlog น่าอ่าน ข้อความและหา น่าสนใจมากเลยครับ





โดย: Tom & Jerry IP: 125.27.232.97 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2552 เวลา:10:58:53 น.  

 
ท่านทอมและเจอร์รี่ครับ
ท่านเคยอ่านในมหาสติปัฏบานสูตรมาอย่างละเอียดรอบคอบหรือยัง
ในมหาสติปัฏฐานสูตรกล่าวไว้ชัดเจนแล้วนะ
ว่าต้องนั่งสมาธิเพื่อพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมก่อน

ในหมวดแรกของมหาสติปัฏฐาน ก็กล่าวไว้ชัดเจนให้นั่งคูบันลังก์
ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
มีสติกำหนดลมหายใจเข้า มีสติกำหนดลมหายใจออก สั้นก็รู้ ยาวก็รู้

แม้ในหมวดธรรมก็ยังกล่าวถึงสัมมาสมาธิ เพื่อจะได้รู้เห็นตามความเป็นจริง

ใครที่บอกว่าพระอรหันต์นั้นบางท่านไม่ต้องผ่านฌานนั้น
เป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์ โดยไม่รู้ตัวเข้าแล้ว

ผู้ที่จะบรรลุพระอรหันต์ได้นั้นต้องมีอริยมรรคสมังคีเท่านั้น
และในอริยมรรคมีองค์๘ ก็มีสัมมาสมาธิ
ซึ่งมีฌาน๑-๔ที่จะต้องผ่านให้ได้ก่อน มรรคจึงจะสมังคีได้

ท่านครับปัญญาทางโลก แตกต่างจากปัญญาทางธรรมโดยสิ้นเชิง
ปัญญาทางธรรมจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องผ่านสัมมาสมาธิเท่านั้น

ดังพระบาลีกล่าวไว้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังสมาธิ(สัมมาสมาธฺ)ให้เกิดขึ้นเถิด
ผุู้ที่มีจิตตั้งมั่น(สมาธิ)แล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง(ปัญญา)ดังนี้"....


โดย: ขำกลิ้งลิงกับหมา IP: 118.174.35.207 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2552 เวลา:17:24:59 น.  

 
ขอขอบคุณและขออนุโมทนา คุณTom & Jerry และคุณขำกลิ้งลิงกับหมา
ที่ได้มาร่วมสนทนาธรรมกัน

ตามที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกว่า
พระอรหันต์บางท่านฟังธรรมจากพระพุทธองค์ก็เกิดปัญญาเห็นธรรมเลยนั้น

เข้าใจว่าท่านเหล่านั้น น่าจะได้ปฏิบัติสมาธิกันมาแล้ว
เพียงแต่ติดตรงไม่รู้จักวิธีปล่อยวางอุปาทานขันธ์ ๕
เมื่อได้ฟังธรรมจากพระองค์ ดำเนินวิถีจิตตามรอยบาท จึงเกิดปัญญาเห็นธรรม

เพราะมีตรัสไว้ว่า
ปัญญาเกิดเพราะความประกอบ
ไม่ประกอบปัญญาก็หมดสิ้นไป
บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญและความเสื่อม
พึงตั้งต้นในทางที่ปัญญาจะเจริญ


ปัญญาเกิดเพราะความประกอบ
ความประกอบ ณ ตรงนี้ น่าจะทรงหมายถึง ประกอบสมาธินั่นเอง
(องค์แห่งสมาธิคือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)

เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ จึงจะเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง
และโดยข้อเท็จจริงแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ อริยมรรค ๘
ต้องทำหน้าที่ไปพร้อมกัน กลมเกลี่ยวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
จนมรรคสมังคี ทำให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ได้


ยินดีในธรรมครับ




โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 29 พฤศจิกายน 2552 เวลา:7:07:04 น.  

 
ชอบมากได้ความรู้ดีมากขอให้มีอีกเรื่อย ๆ โมทนาด้วยค่ะ


โดย: 84000 IP: 110.49.66.69 วันที่: 22 กันยายน 2553 เวลา:13:07:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]