จิตคือธาตุรู้ หรือวิญญาณธาตุ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์

♥ จิตคือธาตุรู้ หรือวิญญาณธาตุ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์

หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้น
ไม่มีอะไรที่นอกเหนือไปจาก "จิต" กับ "อารมณ์" สองอย่างนี้เท่านั้น

จิต คือ ผู้รู้อารมณ์ คือ ธาตุรู้ คือ วิญญาณธาตุ (ไม่ใช่วิญญาณขันธ์)
อารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ เกิดจากธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)

อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธัมมารมณ์ แบ่งเป็น ๒ ชั้น
-อารมณ์ชั้นนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส
-อารมณ์ชั้นใน คือ ธัมมารมณ์

จิต เข้ามาอาศัยใน รูปร่างกาย (รูปขันธ์)

รูปขันธ์ มีช่องทางรับอารมณ์ ๕ ช่อง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
รับอารมณ์ชั้นนอก (รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส) เป็นคู่เรียงตามลำดับ
ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ขึ้น คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

และเกิดอารมณ์ชั้นใน (ธัมมารมณ์) จากอดีตอารมณ์ คือ สัญญา ความจำได้หมายรู้
ซึ่งก็ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เช่นกัน
ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเกิดขึ้นที่จิตตลอดเวลาทีละอารมณ์ ตลอดชีวิต

เวทนาขันธ์ พอใจ ไม่พอใจ เฉยๆ ต่ออารมณ์
สัญญาขันธ์ จดจำอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
สังขารขันธ์ นึกคิดถึงอารมณ์ คิดดี คิดไม่ดี คิดไม่ใช่ดีไม่ใช่ชั่ว
วิญญาณขันธ์ การรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

วิญญาณขันธ์ แบ่งเป็น ๖ ชนิด ตามช่องทางที่อารมณ์เข้ามา คือ
วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก
วิญญาณทางลิ้น วิญญาณทางกาย วิญญาณทางใจ

วิญญาณขันธ์ แบ่งเป็น ๒ ชนิด อาศัยกับไม่อาศัยทวารทั้ง ๕ คือ
-สสังขาริกวิญญาณ การรับรู้อารมณ์ (รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส) ของจิต
โดยอาศัยทวารทั้ง ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ได้แก่ วิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
-อสังขาริกวิญญาณ การรับรู้อารมณ์ (ธัมมารมณ์) ของจิต
โดยมิต้องอาศัยทวารทั้ง ๕ (ใจ) ได้แก่ วิญญาณทางใจ

สรุปลงเป็น ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ (รูป) นามขันธ์ ๔ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
หรือเรียกว่า อารมณ์ และ อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์
เกิดขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน

เหตุเพราะจิตมีธรรมชาติตกไปในอารมณ์ และปรุงแต่งไปตามอารมณ์ดังกล่าวข้างต้น
ทำให้เกิด ขันธ์ ๕ ขึ้นที่จิต เกิดๆ ดับๆ ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ตลอดชีวิต

พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘
ให้จิตมีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างต่อเนื่อง(สติปัฏฐาน ๔)


อารมณ์ใดๆ (รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธัมมารมณ์)
ก็จะไม่สามารถแทรกเข้ามาที่จิตได้

เมื่ออารมณ์แทรกเข้ามาไม่ได้
ก็ไม่เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)ตามมา

จิตก็อยู่ส่วนจิต อารมณ์ก็อยู่ส่วนอารมณ์
ถึงอารมณ์ใดๆ จะไม่เที่ยง จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป
อารมณ์นั้นก็สักแต่เป็นอารมณ์ แต่ไม่ใช่อารมณ์ของจิตดวงนี้ของผู้ปฏิบัติ


ยินดีในธรรมทุกๆท่านครับ







 

Create Date : 09 กันยายน 2553   
Last Update : 9 กันยายน 2553 9:05:40 น.   
Counter : 2749 Pageviews.  

ถ้าความคิดบังคับไม่ได้ งั้นคุกมีเท่าไหร่ก็ต้องไม่พอขังคนทำผิดสิ

ความคิด เป็นอาการของจิต ที่เกิดขึ้นเมื่อ

๑.จิตนึกคิดปรุงแต่งอารมณ์ภายในใจ (ธัมมารมณ์)
ที่ได้จดจำไว้ทางใจ

๒.จิตนึกคิดปรุงแต่งหลังจากรับรู้อารมณ์ภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส)
ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย


ดังนั้น ความคิดจึงเกิดขึ้นที่จิตทุกครั้ง
ที่มีอารมณ์(รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธัมมารมณ์)
มากระทบจิต(ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)

ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ภายนอก(รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส)
หรืออารมณ์ภายใน(ธัมมารมณ์) ก็ตาม

โดยธรรมชาติแล้ว จิตมีปกติตกไปในอารมณ์และปรุงแต่งไปตามอารมณ์
ดังนั้นความคิดจึงเกิดขึ้นที่จิตตลอดเวลา ความคิดแล้ว ความคิดเล่า
สับเปลี่ยนหมุนเวียน ทับถมทวีคูณ ตลอดชีวิต โดยไม่สิ้นสุด

เมื่อความคิดเกิดขึ้น ก็จะมีการตอบสนอง
โดยการแสดงออกทางกาย หรือ วาจา ครบ ๓ ทวาร กาย วาจา ใจ


● ในพระพุทธศาสนา ความคิด ก็คือ สังขารขันธ์ เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕
เป็นอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์


ดังนั้น ความคิด จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

โดยอธิบายว่า

สังขารขันธ์-ความคิด ไม่เที่ยง
คือ ความคิดจะแปรเปลี่ยนตลอดเวลาไปตามอารมณ์ที่มากระทบจิต

สังขารขันธ์-ความคิด เป็นทุกข์
คือ เพราะความคิดเกิดจากจิตนึกคิดปรุงแต่งไปตามอารมณ์

ดังนั้น ถ้าเป็นอารมณ์ดี ก็จะมีความคิดพอใจ
ปรารถนาจะครอบครองรักษาอารมณ์นั้นๆไว้ให้อยู่นานๆ
ทุกข์ก็เกิดขึ้นเพราะไม่สามารถครอบครองอารมณ์นั้นๆได้นานๆตามปรารถนา

ถ้าเป็นอารมณ์ไม่ดี ก็จะมีความคิดไม่พอใจ
ปรารถนาจะผลักไสให้พ้นจากอารมณ์นั้นออกไปให้ไวๆ
ทุกข์ก็เกิดขึ้นเพราะไม่สามารถผลักไสอารมณ์นั้นๆออกไปให้ไวๆตามปรารถนา

สังขารขันธ์-ความคิด เป็นอนัตตา
คือ เพราะความคิดไม่เที่ยง มีความปรวนแปรไปตลอดเวลาตามอารมณ์
และความคิด เป็นทุกข์
ดังนั้นความคิดจึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่อาจพึ่งพาอาศัยได้

เนื่องจากสังขารขันธ์-ความคิด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ดังนั้นจึงมีผู้บัญญัติคำสอนใหม่ขึ้นมา ด้วยความเข้าใจผิดว่า
ความคิดห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ จะคิดอะไร ปล่อยให้คิดไป จนหยุดคิดเอง
เราแค่ตามดูไปเฉยๆ ห้ามแทรกแซง ห้ามเพ่ง


จึงเกิดคำถามตามหัวเรื่องว่า
ถ้าความคิดห้ามไม่ได้ งั้นคุกมีเท่าไหร่ก็ต้องไม่พอขังคนทำผิดสิ

ความคิดเป็นขันธ์ ๕ ก็จริงอยู่
ขันธ์ ๕ นั้นบังคับไม่ได้ในส่วนที่เกี่ยวกับความเก่าแก่ชราคร่ำคร่า

แต่จิตสามารถบังคับตนเอง
ไม่ให้นึกคิดปรุงแต่งอารมณ์ไปในทางอกุศลได้

และจิตสามารถบังคับตนเอง
ไม่ให้ถืออาวุธไปทำร้ายผู้อื่นก็ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นกับความยับยั้งชั่งใจที่มีอยู่ประจำใจของแต่ละคน

บางคนเมื่อจิตกระทบอารมณ์ เกิดความคิดไม่พอใจขึ้นมา
ก็จะคิดทำร้ายผู้อื่น แล้วลงมือกระทำทันที
เมื่อทำไปแล้ว ก็ไม่รู้สึกละอายใจเลยสักนิด คิดว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องสาสมแล้ว

ในกรณีเดียวกันนี้ สำหรับบางคนที่ได้ลงมือทำร้ายผู้อื่น
เมื่อทำไปแล้ว ก็จะค่อยระลึกขึ้นได้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นไม่ถูกไม่ควร

และอีกหลายๆคน เมื่อเกิดความคิดไม่พอใจขึ้นมา
และเมื่อคิดจะทำร้ายผู้อื่น ก็จะคิดพิจารณาก่อนถึงความควรไม่ควร
เมื่อเห็นว่าไม่ควร ก็ไม่ลงมือกระทำ


จากตัวอย่างเล็กๆที่ยกมา แสดงให้เห็นชัดเจนว่า
เราสามารถบังคับจิตไม่ให้นึกคิดปรุงแต่งไปตามอารมณ์
และไม่ให้ลงมือกระทำตอบต่ออารมณ์ได้
ทั้งนี้ขึ้นกับ การอบรมจิต

จิตที่ไม่ได้รับการอบรม ย่อมปรุงแต่งไปตามอารมณ์
เกิดความนึกคิดปรุงแต่ง และแสดงการกระทำตอบโต้ต่ออารมณ์ในทันที

แต่จิตที่ได้รับการอบรม ย่อมมีพลังสติ(มากน้อยตามการอบรม)
ที่จะไม่ปรุงแต่งไปตามอารมณ์ ไม่แสดงการตอบโต้ต่ออารมณ์ในทันที
และรู้จักปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้ในที่สุด



● การอบรมจิตในพระพุทธศาสนาที่ทรงเมตตาสอนให้ปฏิบัติตาม ก็คือ
การปฏิบัติอริยมรรค ๘ หรือ การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง

เป็นการอบรมจิตให้มีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างต่อเนื่อง
เมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต ก็ให้รีบยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ
(สติปัฏฐาน) อันเป็นการเปลี่ยนอารมณ์จิต

เพราะจิตมีธรรมชาติชอบตกไปในอารมณ์และปรุงแต่งไปตามอารมณ์
การเปลี่ยนอารมณ์จิต ให้ไปตั้งไว้ในอารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ นั้น
เพราะอารมณ์ในสติปัฏฐาน เป็นอารมณ์ที่ปราศจากกาม
เป็นไปเพื่อการเบื่อหน่ายคลายละในที่สุด


● ดังนั้นจึงขอสรุปว่า

จิตสามารถห้ามตนเองไม่ให้ปรุงแต่งไปตามอารมณ์ได้
นั่นคือ เราสามารถห้ามความคิดได้ เราบังคับจิตได้

ไม่ใช่จะคิดอะไร ปล่อยให้คิดไป จนหยุดคิดเอง
ไม่ใช่แค่ตามรู้ตามดูความคิดไปเฉยๆ

ต้องแทรกแซงจิตโดยการเพ่ง
คือ ต้องให้จิตมีสติระลึกรู้อยู่อย่างต่อเนื่องที่ฐานที่ตั้งสติ (สติปัฏฐาน ๔)



ยินดีในธรรมทุกๆท่านครับ






 

Create Date : 15 ธันวาคม 2552   
Last Update : 15 ธันวาคม 2552 6:48:39 น.   
Counter : 738 Pageviews.  

สติเกิดเองไม่ได้ ต้องเจริญ ต้องทำให้เกิดขึ้นที่จิต

สติแบบที่คนในโลกเข้าใจ ...ระลึกรู้เรื่องอะไร(อารมณ์)ขึ้นมา ก็เรียกว่า มีสติ
รู้แล้วยึด(อารมณ์) ปรุงแต่งไปตามเรื่อง(อารมณ์)ที่ระลึกรู้ขึ้นมา
เป็นกระบวนการเกิดของขันธ์ ๕ ตลอดเวลา ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์
เพราะเมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป
จิตก็แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป


สติแบบที่เข้าใจนี้ มีในคนทุกคน ทุกชาติ ทุกศาสนา

สติแบบที่พระพุทธองค์ทรงสอน = สัมมาสติ ต่างจากสติแบบที่คนในโลกเข้าใจ
เพราะสัมมาสติ เป็นมรรคจิต เป็นทางเดินของจิตเพื่อความพ้นทุกข์

สัมมาสติ คือ ระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างต่อเนื่อง(สติปัฏฐาน)
จนจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆที่เข้ามาปรุงแต่งจิต
เป็นกระบวนการยับยั้งการเกิดของขันธ์ ๕ ที่จิต เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์
เพราะเมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป
จิตก็ไม่แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป



● พระพุทธองค์ตรัสว่า

จำเ้พาะในธรรมวินัยนี้(ศาสนาพุทธ)เท่านั้น ที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘

สัมมาสติ อยู่ในองค์อริยมรรค ๘

ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร ทรงแสดงกิจที่พึงทำในอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ เป็นปริญเญยยะ ควรกำหนดรู้
สมุทัย เป็นปหาตัพพะ ควรละ
นิโรธ เป็นสัจฉิกาตัพพะ ควรกระทำให้แจ้ง
มรรค เป็นภาเวตัพพะ ควรเจริญ

เพราะฉะนั้น สัมมาสติ คือ สติในองค์มรรค เกิดขึ้นเองไม่ได้
ต้องเจริญ ต้องทำให้มาก ต้องทำให้เกิดขึ้นที่จิต

นั่นคือ ต้องปฏิบัติอริยมรรค ๘ หรือสติปัฏฐาน ๔ ตามเสด็จเท่านั้นจึงจะเกิดสัมมาสติ



การปฏิบัติอริยมรรค ๘ หรือ การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ คืออย่างเดียวกัน
เป็นการปฏิบัติทางจิต เป็นทางเดินของจิต
เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะนำจิตให้พ้นจากทุกข์ได้

ดังมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้

คาถาธรรมบท มรรควรรค (มรรค ๘)

ทางนี้เท่านั้นเพื่อความหมดจดแห่งทัศนะ ทางอื่นไม่มี
เพราะเหตุนั้นท่านทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แหละ
เพราะทางนี้เป็นที่ยังมารและเสนามารให้หลง
ด้วยว่าท่านทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

มหาสติปัฏฐานสูตร (สติปัฏฐาน ๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส
เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ฯ


การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง

บรรพะแรกในการเจริญสติปัฏฐาน ดังแสดงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า...ฯลฯ...


ขั้นตอนเริ่มแรกของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ
ต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติสมาธิ(นั่งสมาธิ) เจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ)
ให้จิตมีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ(สติปัฏฐาน๔ = สัมมาสติ) ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์
โดยอาศัยความเพียรประคองจิตให้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ(สัมมาวายามะ)จนจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ(จิตตั้งมั่นชอบ) ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์แล้ว
ก็ย่อมได้ศึกษารู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง
เกิดญาณรู้ตามความเป็นจริง (ปัญญา) คือ รู้อริยสัจ ๔ (สัมมาทิฐิ)
และเกิดพลังปัญญาปล่อยวางความยึดถืออารมณ์ต่างๆออกไปจากจิตได้ตามลำดับ (สัมมาสังกัปปะ)

อนึ่ง ในการเจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ) นั้น จิตจะบรรลุปฐมฌานได้
ต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ = ศีล)ด้วย

ครบ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ดังนั้นจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง

เป็นวิธีปฏิบัติทางจิตเพื่อให้จิตพ้นจากทุกข์
เป็นภาเวตัพพะ ต้องเจริญ ต้องทำให้มาก ต้องทำให้เกิดขึ้นที่จิต

เกิดเองไม่ได้


การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

เมื่อฝึกเจริญสติปัฏฐาน โดยการหลับตานั่งสมาธิ จนชำนาญแล้ว
หรือก็คือ พิจารณากายในกาย...เวทนาในเวทนา...จิตในจิต...ธรรมในธรรมเป็นภายใน

จากนั้น เมื่อออกจากสมาธิมาประกอบกิจกรรมการงานในชีวิตประจำวัน
เราก็ใช้ความชำนาญที่ฝึกปล่อยวางอารมณ์ ตอนนั่งสมาธินั้น
มาใช้ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
อันเป็นการพิจารณากายในกาย...เวทนาในเวทนา...จิตในจิต...ธรรมในธรรมเป็นภายนอกนั่นเอง


● สรุป
สติ(สัมมาสติ) เป็นองค์มรรค ต้องเจริญ ต้องทำให้มาก ต้องทำให้เกิดขึ้นที่จิต
สติเกิดขึ้นเองไม่ได้


ยินดีในธรรมทุกๆท่านครับ






 

Create Date : 28 พฤศจิกายน 2552   
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2552 9:09:11 น.   
Counter : 758 Pageviews.  

สมาธิในพระพุทธศาสนา...สัมมาสมาธิ

● สมาธิในพระพุทธศาสนา...สัมมาสมาธิ

สมาธิในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกกันว่า “สัมมาสมาธิ”นั้น เป็นหลักธรรมสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่ง ที่จะทำให้จิตใจของผู้ปฏิบัติมีพลังตั้งมั่น ไม่วุ่นวายซัดส่ายไปตามกระแสอารมณ์ที่เข้ามากระทบ ดังนั้น จึงทำให้จิตของผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากการถูกอารมณ์ครอบงำได้ดี ตามกำลังของสมาธิที่ปฏิบัติได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้ใดมีความคล่องแคล่วชำนาญในการทำจิตให้เป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็วแล้ว ผู้นั้นย่อมสามารถตัดความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยอารมณ์ทั้งหลายออกไปได้ดีตามไปด้วย ทั้งยังสามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิดของตนให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ไม่ประพฤติตนฝ่าฝืนศีลธรรมหรือเป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมและประเทศชาติไปด้วยเป็นธรรมดา

เนื่องจาก “สมาธิ” เป็นเรื่องของการฝึกฝนจิตใจให้มีพลังอยู่เหนืออารมณ์ ซึ่งเป็นนามธรรม จึงต้องศึกษาเรื่องราวของจิต อารมณ์ และหลักการปฏิบัติ ให้รู้จักอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงเสียก่อน จึงจะปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วและไม่ผิดพลาด กลายเป็นสมาธินอกพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์ได้ ดังที่ส่วนใหญ่กำลังปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน คือ ดูเลขหวย ดูนรกสวรรค์ เป็นต้น


๑.เรื่องจิต
ในพระพุทธศาสนานั้นถือว่า จิตเป็นสภาพธรรมสำคัญที่สุด ที่มีอยู่เป็นอยู่และทรงไว้ซึ่ง “ความรู้” ตลอดทุกกาลสมัย สภาพที่แท้จริงจึงไม่มีอาการโกรธ เกลียด รัก ชัง ดีใจ เสียใจ แต่ประการใด จึงจัดว่าเป็นจิตประภัสสรผ่องใส

อุปมาจิตในขณะนี้ ก็เหมือนกับน้ำในท้องทะเลที่ยังมีผิวน้ำเป็นเส้นระดับ สงบราบเรียบ ไม่มีคลื่นซึ่งแสดงความไม่สงบ ฉะนั้น


๒. อารมณ์
ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย กับ เรื่องที่นึกคิดทางใจ ที่ทยอยผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้ามากระทบจิตทีละอารมณ์ตามลำดับ และจิตเข้าไปยึดถือไว้ด้วยความสำคัญผิดว่า อารมณ์มีแก่นสาร จึงเกิดอาการรับรู้อารมณ์ เสวยทุกข์สุข จำ และคิดกระทำตอบต่ออารมณ์ออกมาในรูปของโกรธ เกลียด รัก ชัง ดีใจ เสียใจ ขึ้นมาในภายหลัง

ทำให้จิตเสียคุณภาพที่เคยประภัสสรผ่องใส มาเป็นสภาพเศร้าหมอง เพราะถูกอารมณ์ทั้งหลายปรุงแต่ง กลายเป็นจิตสังขารตลอดเวลา สุดแต่ว่าอารมณ์ชนิดใดปรุงแต่ง หรือยั่วยวน ยั่วยุให้จิตหลงใหลไป จนกระทั่งลืมสภาพเดิมของตน และลืมวิธีทำให้ตนเองกลับเข้าสู่สภาพเดิมอันประภัสสรเสียอีกด้วย

อุปมาจิตขณะนี้ เหมือนกับผิวน้ำในท้องทะเลที่เต็มไปด้วยคลื่นใหญ่น้อย เพราะมีลมพายุพัดรบกวนให้น้ำปั่นป่วนไม่สงบ ฉะนั้น

ในขณะที่อารมณ์อย่างหนึ่งเข้าไปกระทบจิตนั้น ก็ย่อมปรุงแต่งจิตให้เกิดความเศร้าหมอง ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดอย่างหนึ่ง และในขณะที่อารมณ์อีกอย่างหนึ่งเข้าไปกระทบจิตต่อไป ก็ย่อมปรุงแต่งจิตให้เกิดความเศร้าหมอง ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ในขณะที่บุคคลตื่นนอนอยู่ รวมทั้งในขณะที่กำลังนอนฝันอยู่นั้น จิตจะถูกปรุงแต่งให้นึกคิดดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สลับกันไปเช่นนี้ โดยไม่มีโอกาสกลับเข้าสู่สภาพเดิมอันผ่องใสเลย จึงรับภาระเช่นนี้ ตลอดชีวิต

หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า จิตมีความยินดีและคุ้นเคยที่จะรับอารมณ์ทั้งหลายมากกว่าที่จะอยู่โดยลำพังตนเอง เพราะไม่รู้จักว่า อารมณ์เป็นทุกข์ คือ ทำให้จิตซัดส่าย วุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด


๓. หลักการของสมาธิ
คือ ทำจิตให้ตั้งมั่น เพื่อศึกษาให้รู้จักอารมณ์ และหาวิธีปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตจนคล่องแคล่ว ก่อนที่จะปรุงแต่งจิตให้เสียคุณภาพอันประภัสสรผ่องใสของตนเองไป

อุปมาดังการระงับระลอกคลื่นใหญ่น้อยให้หมดไป จนเหลือแต่ผิวน้ำอันสงบราบเรียบ ฉะนั้น


๔. วิธีปฏิบัติสมาธิ
จากที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ผู้ปฏิบัติสมาธิจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า ตนจะต้องสลัดปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ทั้งหลาย ออกไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายขึ้นที่จิตได้เลย โดยใช้สติและสัมปชัญญะตามรู้ตามเห็นอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ขาดระยะ

ให้ผู้ปฏิบัติยกจิตเข้าไปตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของตนเอง โดยให้กำหนดรู้สึกได้อย่างชัดเจน เมื่อลมหายใจเข้าออกเคลื่อนผ่านจุดใดจุดหนึ่งภายในช่องจมูก และประคองจิตไว้ ณ จุดนี้โดยไม่ให้จิตแลบออกไปอยู่ที่อื่น ถ้าทำได้สำเร็จ จิตก็เป็นสมาธิ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่กำลังปฏิบัติสมาธิอยู่นั้น จิตจะต้องต่อสู้กับความคุ้นเคยในการรับรู้อารมณ์ที่มีอยู่เดิม เพื่อสลัดความนึกคิดต่างๆให้หมดไปจนเหลือแต่สภาพเดิมอันผ่องใสเท่านั้น

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนานั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องเห็นอริยสัจ ๔ ดังนี้

จิตที่แลบออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอกทั้งหลาย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือ สมุทัย
อารมณ์หรือเรื่องราวต่างๆที่จิตรับเข้ามาทำให้เกิดการปรุงแต่งขึ้นที่จิต คือ ทุกข์
การปล่อยวางอารมณ์หรือเรื่องราวต่างๆออกไปจนเหลือสภาพเดิมอันผ่องใส คือ นิโรธ
พลังจิตที่สามารถปล่อยวางอารมณ์หรือเรื่องราวต่างๆเสียได้ที่เรียกว่าปัญญา คือ มรรค


๕. วิปัสสนา
คือ การใช้พลังจิตที่อบรมจากการปฏิบัติสมาธิ คือ มรรค สำหรับทำลายสมุทัยในขณะที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ ซึ่งวัดได้จากการปล่อยวางอารมณ์นั้นๆ

ถ้ามรรคมีกำลังมากกว่าสมุทัย สมุทัยก็ดับ อารมณ์ก็ย่อมไม่สามารถปรุงแต่งจิตให้เกิดความยินดียินร้ายได้ จิตก็สงบเป็นนิโรธ ซึ่งหมายความว่า กิเลสดับไปจากจิตแล้ว

ถ้ามรรคมีกำลังน้อยกว่าสมุทัย มรรคก็ดับ อารมณ์ก็ย่อมสามารถปรุงแต่งจิตให้เกิดความยินดียินร้ายขึ้น จิตก็ฟุ้งซ่านหวั่นไหวไปตามอารมณ์ เป็นสมุทัย ซึ่งหมายความว่ากิเลสได้เกิดขึ้นที่จิต ยังไม่พ้นจากทุกข์ ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้ความเพียรระมัดระวังตรงหัวเลี้ยวหัวต่อที่อารมณ์เริ่มเข้ามากระทบ ให้มากขึ้นอีก อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายจึงจะทำลายสมุทัยได้

ความคล่องแคล่วในการยกจิตขึ้นสู่ลมหายใจเข้าออก ณ จุดที่ลมกระทบ เรียกว่า วิตก
และ ความแยบคายในการประคองจิตให้รู้อยู่ที่จุดลมกระทบเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เรียกว่า วิจาร
เป็นเรื่องที่จะต้องฝึกให้เกิดขึ้นโดยมิชักช้า ในขณะที่อารมณ์เข้ามากระทบ จะช่วยทำให้มรรคมีพลังมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งสามารถทำลายสมุทัยเสียได้

เมื่อสมุทัยถูกทำลายลงเมื่อใด ทุกข์ก็ย่อมดับตามไปด้วย กล่าวคือ อารมณ์ไม่สามารถปรุงแต่งจิตให้เกิดความยินดียินร้ายต่อไปอีก และในขณะที่สมุทัยดับลงนั้น นิโรธ คือ ความผ่องใสประภัสสร อันเป็นสภาพเดิมของจิตก็ปรากฏแจ้งขึ้น ตามกำลังของมรรคที่ปฏิบัติได้ อยู่ในตัวเองเป็นธรรมดา

อุปมาดังการดับของคลื่นใหญ่น้อยทั้งหลายในท้องทะเล จนเหลือสภาพของผิวน้ำอันสงบราบคาบ ฉะนั้น หมายความว่าลูกคลื่นยิ่งมีขนาดเล็กลงเท่าใด ความสงบลงเป็นเส้นระดับของผิวน้ำก็ยิ่งปรากฏชัดแจ้งขึ้นเท่านั้น.





 

Create Date : 29 มิถุนายน 2551   
Last Update : 22 กรกฎาคม 2556 17:41:51 น.   
Counter : 515 Pageviews.  

จะใช้หลักอริยสัจ ๔ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร ???

หลักอริยสัจ ๔ ใช้ได้กับทุกสภาวะในโลก!!!

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมมีประมาณเท่าใด
อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสังขตธรรมเหล่านั้น


^
สังขตธรรมมีประมาณเท่าใด....อริยมรรคมีองค์ ๘ เลิศกว่าสังขตธรรมเหล่านั้น

ทรงปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้ตรัสรู้อริยสัจ ๔
นั่นแสดงว่า บรรดาธรรมะข้ออื่นๆ ซึ่งเป็นสังขตธรรมเช่นกัน
ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมที่แตกแขนงออกมาจากอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ อริยสัจ ๔ นั่นเอง

อริยสัจ ๔ ความจริงแท้ ๔ ประการ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
จึงใช้ได้กับทุกสภาวะในโลก...ครับ
โดยต้องปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางจิต ครับ

ทุกข์
เพราะจิตเรากระสับกระส่ายไปตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
สมุทัย(เหตุแห่งทุกข์)
เพราะจิตออกไปยึดติดกับเรื่องราวต่างๆในโลก เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก
นิโรธ(ความดับทุกข์)
จิตไม่ออกไปตามกระแสโลก
จิตไม่ยึดติดกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆในโลก
มรรค(ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์)
การปฏิบัติธรรมทำให้จิตมีพลัง ไม่กระสับกระส่ายไปตามกระแสโลก


ทรงสอนกิจที่ควรทำในอริยสัจ ๔ คือ

ทุกข์ ควรกำหนดรู้ (ปริญเญยยะ)
สมุทัย ควรละ (ปหาตัพพะ)
นิโรธ ควรทำให้แจ้ง (สัจฉิกาตัพพะ)
มรรค ควรเจริญ (ภาเวตัพพะ)


พระพุทธองค์ทรงสอนว่า
ทุกขอริยสัจ ควรกำหนดรู้
คือ ทุกข์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้
เพราะเป็นเรื่องในโลก เป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปในโลก
(ข้าวของแพงขึ้นทุกวัน เศรษฐกิจฝืดเคือง)

ทุกขสมุทัยอริยสัจ ควรละ
รู้แล้ว ละเสีย (ละเหตุแห่งทุกข์ --- ตัณหา ๓ คือ เหตุแห่งทุกข์)
เพราะความอยากได้ อยากมี อยากเป็น...ตามโลก ทำให้เกิดทุกข์
เมื่อรู้ว่าข้าวของแพงขึ้น เศรษฐกิจฝืดเคือง ก็ต้องไม่ใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่จำเป็นทั้งหลาย

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ควรเจริญ
จึงต้องปฏิบัติอริยมรรค ๘ เพื่อให้จิตเกิดพลังละเหตุแห่งทุกข์ได้
ละความอยากได้ อยากมี อยากเป็น...ตามโลก
มีสติยั้งคิดก่อนการใช้จ่ายทุกครั้ง อะไรจำเป็น-ต้องใช้ อะไรไม่จำเป็น-ไม่ต้องใช้

ทุกขนิโรธอริยสัจ ควรทำให้แจ้ง
เมื่อเจริญมรรค จิตจะมีพลังละเหตุแห่งทุกข์ได้
ละความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ตามโลกได้
ก็จะไม่ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น ก็จะไม่ทุกข์ไปกับเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง...ครับ

จากคุณ : หนูเล็กนิดเดียว    - [ 29 พ.ค. 51 07:58:54 ]





 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2552 7:23:04 น.   
Counter : 762 Pageviews.  

1  2  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]