เป้าหมายของการจัดกิจกรรมการประชุมร่วมสามฝ่าย: Three Way-Conferences (3WC) คือความพยายามในการช่วยให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน สามารถทำงานร่วมกันในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อ และเกื้อกูลต่อการเรียนรู้อย่างรอบด้านของนักเรียน กระบวนการสำคัญคือนักเรียนจะต้องพาผู้ปกครองไปพบครูตามเวลาที่มีการนัดหมายล่วงหน้า และนักเรียนเป็นฝ่ายสะท้อนกระบวนการและผลที่ได้จากการเรียนรู้ในโรงเรียนในช่วงที่ผ่านมาให้ครูและผู้ปกครองรับทราบ นักเรียนต้องสามารถระบุจุดอ่อนจุดแข็งของแผนการเรียนของตัวเองได้ บอกเล่าเป้าหมายในการเรียนรู้ของตัวเองให้ครูและผู้ปกครองรับรู้ได้ ทั้งนี้ เพื่อที่นักเรียนจะสามารถมั่นใจในภาวะการเป็นผู้เรียน ที่แท้จริงของตนเอง
ช่วงเวลาสองวันของการจัดกิจกรรม3WC ทางโรงเรียนงดการเรียนการสอน เด็กนักเรียนที่ไม่มีตารางนัดพบครูไม่ต้องไปโรงเรียน ด้วยเหตุนี้ ลูกชายจึงหน้ามุ่ยบ่นกระปอดกระแปดต่อการใช้เวลาที่เจ้าตัวถือว่าเป็น วันหยุดเพื่อพาแม่มารอพบครูในช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน
โอ๊ยแม่ ไม่มีแม่คนไหนนัดครูทำ 3WC มากเท่าแม่เลยนะเนี่ย แม่เป็นคนเดียวของโรงเรียนหรือเปล่า นี่มันวันหยุดนะ
ลูกชายมีสิทธิอุทธรณ์ เพราะโดยทั่วไปการประชุม 3WC ที่บังคับว่าต้องพบครูนั้น คือการ "ต้อง" พบครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้นคนเดียว ส่วนการประชุมรายวิชากับครูคนอื่น ๆ จะเกิดขึ้นเฉพาะกับนักเรียนที่มีอะไรบางอย่างติดค้างในชั่วโมงเรียน และครูต้องการให้ผู้ปกครองร่วมรับทราบ เสียงบ่นกระปอดกระแปดแบบไม่ชอบใจของลูกชายจึงลอยเข้าหูอยู่เรื่อย ๆ แต่คนเป็นแม่ถือเป็นโอกาสอันดีในการเรียนรู้จักลูกจากครู บอกลูกว่า เราจะได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นไง ลูกชายเถียงว่า
แม่ก็เรียนสบายน่ะสิ คนเตรียมประชุมไม่ใช่แม่นี่
ข้อโต้แย้งของลูกมีส่วนจริง เพราะหลักการประชุม 3WC คือการให้นักเรียนเป็นคนนำการประชุม โดยมีครูให้ความเห็นและข้อมูลเพิ่มเติม พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่เข้าร่วมเป็นฝ่ายรับฟังแล้วให้แนวทางในการสนับสนุนช่วยเหลือนักเรียน หรือเสนอความเห็นอื่นแก่ครูตามจำเป็น
ก่อนวันประชุม ลูกชายเอาโพยเตรียมประชุมมานั่งกางดูแล้วก็ถอนหายใจเฮือก ๆ คงคิดว่าแม่เราหนอ ช่างหางานให้ทำ เพราะในแต่ละวิชาที่ต้องพบครู เด็กนักเรียนจะต้องเตรียมนำการพูดคุยในเรื่องหลัก ๆ สี่ข้อที่เกี่ยวข้องกับวิชานั้น ๆ นั่นคือ กระบวนการเรียนรู้ ผลการเรียนที่ได้ จุดแข็งของการเรียนในวิชาที่เข้าพบครู และประเด็นสำคัญหรือข้อบกพร่องที่ตนเองต้องปรับปรุง
จะว่าไปแล้ว นักเรียนไม่ได้เป็นเพียงฝ่ายเดียวที่ต้องเตรียมตัว แม้เจ้าตัวจะคิดตามประสาเด็กว่าตนต้องรับผิดชอบหนักกว่าคนอื่นก็ตาม เพราะครูก็ต้องเตรียมประเด็นเฉพาะเกี่ยวกับนักเรียนเป็นรายบุคคล และพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเตรียมในส่วนของผู้ปกครองเช่นเดียวกัน ก่อนการประชุม โรงเรียนมีหนังสือให้ผู้ปกครองทำการบ้านล่วงหน้า โดยสรุปก็คือ บอกเล่าว่าทำไมต้องมีการประชุมร่วมกัน พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีบทบาทและความรับผิดชอบอย่างไรทั้งก่อนประชุม ระหว่างประชุม หลังการประชุม และในฐานะพ่อแม่ ควรคาดหวังอะไรจากลูกและครูในช่วงก่อน ระหว่าง- และ หลัง การประชุมนั้น
ในการประชุม 3WC นักเรียนต้องเป็นฝ่ายกำหนดหัวข้อการพูดคุย พิจารณาจุดดีและข้อด้อยที่ต้องปรับปรุงของตัวเองในวิชานั้น ๆ รวมไปถึงข้อท้าทายอื่น ๆ ในการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมาย และสามารถประเมินตนเองได้ว่าอยู่ตรงไหนของการเดินทางสู่เป้าหมายนั้น นักเรียนถูกคาดหวังให้เป็นคนนำการประชุมและแบ่งปัน SMART Goal ของตัวเองกับครูและผู้ปกครอง และที่สำคัญ เมื่อประชุมเสร็จต้องสามารถสรุปได้ว่าผลการประชุมเป็นอย่างไร มีเป้าหมายใหม่หรือไม่อย่างไร และหลังการประชุมก็ต้องพยายามปรับตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายใหม่นั้นให้ได้
จะว่าไป ภาระของนักเรียนในการประชุมสามฝ่ายครั้งนี้ก็หนักหนาสาหัสเอาการ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความคุ้นเคยในการใช้ภาษาที่ยังไม่อยู่ในระดับใช้การได้อย่างที่เจ้าของภาษาใช้กัน แต่ภาระที่ว่าก็ใช่จะเป็นอุปสรรคในการปิดกั้นไม่ให้ลูกได้เรียนรู้บทบาทอะไรใหม่ ๆ และแม่เชื่อว่าลูกชายสามารถเอาตัวรอดในสถานการณ์ยุ่งยากเหล่านี้ได้ เพราะบทบาทหลักของครูที่พ่อแม่รับรู้ ก็คือการเป็นผู้ช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถไปถึงบทบาทหน้าที่ที่ระบุไว้ในการประชุม ฉะนั้น การเข้าประชุม 3WC นอกจากได้เรียนรู้จักลูกตัวเองในแง่มุมอื่นเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้เรียนรู้จักครู ทั้งในแง่ทัศนคติ การใช้ภาษาและวิธีการสอน แบบกระชับฉับไวในเวลาสั้น ๆ ของการประชุมที่มีช่วงเวลาเพียงสิบถึงสิบห้านาที
ตามใบนัดประชุมที่แม่ได้รับพร้อมใบรายงานผลการเรียน (ซึ่งมีวิธีประเมินคุณลักษณะการเรียนรู้ในแต่ละวิชาด้วย รายละเอียดขอยกไปไว้ตอนต่อ ๆ ไปนะคะ) แจ้งว่า นอกจากต้องพบครูประจำชั้นแล้ว ครูประจำวิชาเทคโนโลยีและการออกแบบขอนัดพบ 3WC กับลูกชายด้วย ครูประจำวิชานี้เคยเขียนอีเมล์ถึงแม่ครั้งหนึ่งเมื่อตอนเปิดเทอมใหม่ ๆ แจ้งว่าลูกชายไม่ส่งการบ้านและจะต้องเข้า catch up session ซึ่งก็คือการบังคับให้ตามให้ทัน โดยใช้เวลาพักช่วงอาหารกลางวันเข้าห้องทำการบ้าน แล้วให้ครูเซ็นสมุดบันทึกส่งผู้ปกครองเพื่อรับทราบ ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ลูกชายสารภาพว่า ฟังไม่ทันว่าครูสั่งอะไรและส่งเมื่อไหร่ เมื่อรู้เหตุผลและเนื่องจากเป็นครั้งแรก ครูจึงหยวน ๆ ให้และแม่ก็ไม่ว่าอะไร
ถัดมาเพียงสัปดาห์เดียวก็เจอปัญหาเดิมอีก คราวนี้แม่ออกอาการโกรธ ลูกชายพยายามอธิบายว่า การบ้านทำเสร็จแล้วแต่วันที่ครูสั่งให้ส่งไม่มีวิชาครูนี่นา คำตอบนี้ทำเอาทั้งแม่ทั้งครูอึ้งไปพอ ๆ กัน แม่ฉุนว่าลูกยังติดนิสัยเด็ก ๆ ส่งการบ้านในห้องเรียนแต่ครูส่ายหัวแบบไม่เข้าใจ คิดว่าเด็กนักเรียนไทยทำไมเบบี๋อย่างนี้ แต่เรื่องของเรื่องมาได้รับการเฉลยในการทำ3WC ร่วมกับครูประจำชั้นว่า หนุ่มน้อยของแม่ไม่ค่อยยอมพูดยอมถามในห้อง จับกลุ่มเฉพาะคนที่พูดภาษาเดียวกัน ครูบอกว่าเป็นธรรมชาติของเด็กที่จะเข้ากลุ่มที่ตัวเองสื่อสารได้ ในห้อง (ที่มีนักเรียนเพียงสิบกว่าคน) แบ่งออกเป็นสามกลุ่มหลัก คือกลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษ กลุ่มที่พูดภาษาเกาหลี และกลุ่มที่พูดภาษาไทย ในความเห็นของครู การเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติคือโอกาสอันดีที่นักเรียนต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่พูดภาษาของตัวเองให้ได้ ข้อแนะนำของครูคือ ต่อจากนี้ ตอนกลางวันอย่ากินข้าวกับเพื่อนกลุ่มที่พูดภาษาไทย!!
แล้วแม่ก็ได้พบกับครูวิชาเทคโนโลยี คุณครูเป็นชาวออสซี่พูดเร็วปรื๋อ อธิบายหลักสูตรว่าเทอมนี้จะสอนอะไร ทำไม และอย่างไร เป็นนัย ๆว่าถ้าแม่เข้าใจแล้วจะได้แนะนำลูกได้ แม่ฟังครูแล้วสงสารลูกอยู่ในใจว่า หนุ่มน้อยของแม่จะตามครูทันได้อย่างไรหนอ
สปีดในการพูดของคุณครูเป็นไอพ่นเชียวนะนั่น แม่พยายามอธิบายให้ครูเข้าใจว่า ลูกชายของแม่ต้องการเวลาในการปรับตัว (และปรับหูให้ทันคุณครู-อันนี้แม่ต่อเองในใจ) คุณครูช่วยพูดช้าลงหน่อยได้ไหม ใช้ศัพท์แสงให้มันง่ายกว่านี้หน่อยได้ไหม คุณครูบอกไม่ได้เพราะ
ภาษาที่ใช้ ศัพท์ที่ใช้ เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการเรียน หน้าที่ของนักเรียนคือปรับตัวเองขึ้นมาให้ทันคนอื่น ให้เข้าใจ ให้รู้เรื่อง
นักเรียนใช้ภาษาง่าย ๆ ก็ได้ แต่คะแนนจะไม่มีทางได้ดี เพราะเกณฑ์ในการวัดผลกำหนดระดับของการใช้ภาษาด้วย
และที่คุณครูบอกว่า กรุณา สุด ๆ แล้ว คือโพยคำศัพท์ที่คุณครูย่อยให้แบบว่า
ง่ายลงมาหน่อย
แม่หยิบกระดาษปึกใหญ่ที่ครูยื่นให้ ลองอ่านดูแล้วรู้สึก-อีกครั้ง-ว่าแม้กระทั่งไอ้ที่ว่าง่ายของครู ลูกชายของแม่คงต้องใช้เวลาอีกนาน
การพบครูรายวิชาอื่น ๆ ไม่ทำให้ลูกชายต้องลำบากใจเท่าไรนัก เพราะแม้จะไม่เป็นดาวเด่นของห้อง ไม่ว่าในวิชาอะไร แต่หนุ่มน้อยก็ไม่ถึงกับไม่ผ่านกระบวนการปรับตัวเพื่อเรียน เพื่อรู้ ครูคณิตศาสตร์บอกว่าลูกชายไปได้ดีในการคำนวณ ยกเว้นตอนไม่เข้าใจคำถาม และหากเข้าใจคำถามแล้วหนุ่มน้อยของแม่สามารถหาคำตอบได้ไวและถูกต้อง พร้อมทั้งสามารถอธิบายวิธีทำให้เพื่อนๆ เข้าใจตามได้ด้วย แม่สงสัยอยู่ว่าพูดยังไม่ค่อยได้แล้วจะอธิบายเพื่อนให้เข้าใจได้อย่างไร ลูกชายคนเก่งตอบว่า ก็ไม่ต้องพูดสิ แค่เขียนวิธีทำบนกระดาน ก็จริงอะนะ ตัวเลขเป็นภาษาสากลอย่างหนึ่งเหมือนกัน คราวนี้แม่เลยได้รู้วิธีการเอาตัวรอดในห้องเรียนของลูก โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหนูอธิบายเพิ่มว่า เวลาไม่เข้าใจคำถามก็ถามคนข้าง ๆ แลกกับทำคำตอบให้ดู หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ให้เพื่อนลอกการบ้าน!?
เอาเป็นว่า ปัญหาหลักในการเรียนครึ่งเทอมแรกอยู่ที่ภาษา อื่น ๆ พอเอาตัวรอดได้ ครูวิชาวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นครูคนสุดท้ายที่เข้าพบบอกว่า ขอให้หัดเขียนศัพท์เฉพาะของวิชาไว้หลังสมุด แล้วก็หมั่นท่องบ่อย ๆ ด้วยล่ะ แม่บอกว่า ชอบบทความเรื่อง A star is made ที่ครูให้ลูกชายอ่านในวันแรก คุณครูยิ้ม ท่าทางประทับใจที่แม่อ่านการบ้านลูกด้วย แม่บอกคุณครูว่า ขอบคุณสำหรับการเป็นผู้สร้างดวงดาวทั้งหลายในท้องฟ้าแห่งวิชาวิทยาศาสตร์
แม่ไม่รู้ว่าหนุ่มน้อยของแม่จะเลือกอะไรและเป็นอย่างไรในอนาคต ได้แต่หวังว่าอีกไม่นาน ลูกชายของแม่จะค้นพบแสงในตัวเอง และเปล่งประกายจรัสนั้นบนฟากฟ้าแห่งอนาคต