|
9. ศูนย์เพื่ออนาคตของเด็ก
เสียงเพลงประกอบการเล่านิทานดึงดูดพวกเราเข้าไปนั่งล้อมวงกับเด็กๆ ก่อนหน้านั้นมีแม่คนหนึ่งปรึกษากับเจ้าหน้าที่เรื่องการเลี้ยงลูก ขณะที่เด็กๆ เล่นอย่างเพลิดเพลินอยู่ในสนามเด็กเล่น ทำให้คำแนะนำดูไม่เคร่งเครียด เพราะแวดล้อมด้วยบรรยากาศของ การเล่น
นี่คือบรรยากาศส่วนหนึ่งของ ศูนย์เพื่ออนาคตของเด็ก เมืองเกียวโต ใช้ชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า โคโดโมะมิไรคัง (Kodomo No Mirai Kan) ซึ่งเป็นศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 5 ปี ให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครอง บริการข้อมูล สร้างเครือข่าย ฝึกงานให้ความรู้ รวมทั้งงานวิจัยส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็ก และงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อเด็กวัยก่อนเข้าเรียน
ศูนย์ฯ แห่งนี้ก่อตั้งโดยโรงเรียนอนุบาลเอกชนห้าแห่ง เมื่อปี พ.ศ. 2543 ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งหน่วยงานด้านการศึกษาและสังคมสงเคราะห์ มีเจ้าหน้าที่ 35 คน รวมทั้งมีการจัดการบริหารร่วมกับคนในท้องถิ่น จึงทำให้มีอาสาสมัครมากกว่า 500 คน ในแต่ละวันมีอาสาสมัคร 30 คนมาปฏิบัติงาน
เมื่อเข้าไปในอาคาร จะพบพื้นที่เล่น ซึ่งออกแบบเป็นพิเศษสำหรับเด็กและผู้ปกครอง มีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อแนะนำด้านการเลี้ยงดูเด็ก ทำให้คำแนะนำดูเป็นกันเอง ท่ามกลางบรรยากาศของความสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครมาแสดงดนตรีออร์แกน (organ performances) ประกอบการร้องเพลง เล่านิทาน จึงเป็นสถานที่ที่สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม ก่อให้เกิดความสบายใจ อุ่นใจ มั่นใจ แก่เด็กและผู้เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเด็ก
อาสาสมัครแสดงดนตรีออร์แกน ประกอบการร้องเพลง เล่านิทาน เมื่อหมุนออร์แกนแล้วจะเกิดเสียงเพลง
มุมเครื่องเล่น
ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้จัดรูปแบบการให้คำปรึกษาที่หลากหลาย หากผู้ปกครองไม่สบายใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก จะมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว สำหรับเด็กพูดช้า หรือเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ก็จะมีเครื่องเล่นต่างๆ ใช้ทดสอบสภาพจิตใจ (play therapy) ด้านสุขภาพโดยแพทย์เมืองเกียวโต และให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์โดยอาสาสมัคร
นอกจากนี้ยังให้บริการด้านข้อมูล มีบริการห้องสมุดและนิตยสาร จัดกิจกรรมและอบรม การอบรมมีสี่หลักสูตร ได้แก่ Power Up เน้นผู้ปกครองทำกิจกรรมร่วมกับเด็กเพื่อเสริมทักษะการเลี้ยงดู เช่น งานประดิษฐ์ เป็นต้น การสัมมนาการเลี้ยงดูเด็ก ให้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์แก้ไขปัญหา การอบรมด้านอาหาร การใช้หนังสือภาพเพื่อใกล้ชิดกับเด็ก มีการแสดงเล่านิทานจากภาพ สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก การประชุมปรึกษาเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก ผู้ปกครองร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามความสมัครใจ โดยการประชุมมีผู้ประสานงาน ผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง หลักสูตรเพื่อสุขภาพเด็ก มีแนวคิดที่จะทำให้การเลี้ยงดูเด็กเป็นเรื่องสนุกสนาน เน้นกลุ่มผู้ปกครองของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน โดยแพทย์มาให้ความรู้ความเข้าใจถึงสภาพร่างกายและจิตใจของเด็ก แก้ปัญหาแม่ที่รู้สึกเดียวดายให้เข้าสังคมมากขึ้น
บริการอินเทอร์เน็ต มุมข้อมูลข่าวสาร ในห้องสมุด
เด็กๆ ฟังนิทานจากอาสาสมัคร
ห้องสมุดของที่นี่มีหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก หนังสือภาพ หนังสือนิทาน วิดีโอ วีดิทัศน์ รวมมากกว่า 20,000 ชิ้น และเอกสารเฉพาะด้านสำหรับครูโรงเรียนอนุบาลและพยาบาลเลี้ยงเด็ก มีกิจกรรมการเล่านิทานและหนังสือภาพ กิจกรรมเสริมความรู้ให้เด็กร่วมสนุก เช่น หุ่นเชิดเล่านิทานจากกระดาษ เป็นต้น
หน้าที่อีกอย่างของโคโดโมะมิไรคังคือ สร้างเครือข่าย เครือข่ายได้แก่ทุกคน ที่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูเด็ก โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ชมรมผู้เลี้ยงเด็ก โดยฝึกอบรมอาสาสมัคร แบ่งเป็นอาสาสมัครให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ อาสาสมัครช่วยเหลือและสนับสนุนการเลี้ยงเด็ก อาสาสมัครกิจกรรมการใช้สมุดภาพ เช่น เมื่อเด็ก 8 เดือนมาตรวจสุขภาพ อาสาสมัครจะให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการใช้สมุดภาพและการละเล่นโดยใช้มือ เพื่อส่งเสริมวิธีการสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก
จากการไปเยี่ยมชม ทำให้เราพบว่า คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการเลี้ยงดูเด็ก ไม่ใช่เพียงแค่สร้างสถานที่ หากแต่ยังสร้าง สังคม สังคมที่หล่อเลี้ยงด้วยน้ำใจ จากบุคคลหลายฝ่ายที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว หน่วยงานการศึกษา และชุมชนของพวกเขา
Create Date : 28 มกราคม 2554 |
Last Update : 28 มกราคม 2554 5:24:20 น. |
|
2 comments
|
Counter : 1798 Pageviews. |
|
|
|
โดย: bigeye (tewtor ) วันที่: 17 เมษายน 2554 เวลา:2:50:43 น. |
|
|
|
โดย: bigeye (tewtor ) วันที่: 17 เมษายน 2554 เวลา:3:10:38 น. |
|
|
|
| |
|
|