bloggang.com mainmenu search






เที่ยวนี้อยากไปค้างอำเภอบางมูลนาก ลำดับความสำคัญการเตรียมการมีดังนี้

หาที่พัก - บ้านคุณยายรีสอร์ท

หาที่กิน - ครัวกาญจนา

หาที่เที่ยว - วัดห้วยเขน

ออกเดินทางจากเชียงใหม่ ด้วยเมฆเต็มฟ้า ใครๆก็ว่าเจอฝนแน่






ฟ้าสวยที่สบปราบฟ้า






ไฟแดงหนึ่งเดียวที่เมืองตาก






คนขับรถส่งนักเรียนเข้าโรงเรียนเสร็จ ก็จัดเปตองทัวร์นาเมนท์ รอรับนักเรียนกลับบ้าน






เราขอไป ก๋วยเตี๋ยวป้ามะลิที่คิดถึง ชามละ 30 บาท






เลือกเส้นทางถนนเรียบ ตาก - สุโขทัย - พิษณุโลก - ทล.117 - โพทะเล ... กำลังทำทาง - บางมูลนาก - วัดห้วยเขน






บางมูลนาก เดิมเรียกบางขี้นาก แน่นอนแถวนี้ต้องเคยมีนาก

ผู้คนที่นี่เรียกตัวเองว่าเป็นคนบางนาก


วัดห้วยเขน มาจากคำว่าห้วยเข็น

เพราะต้องเข็นเรือลัดคลองที่อ้อมมาก จนกลายเป็นลำธารเรียกห้วยเข็น

วัดสร้างขึ้น พ.ศ. 2460 สมัยรัชกาลที่ 6

จิตรกรรมฝาผนังคนวาดชื่อทั่ง

อุโบสถก่ออฐถือปูนหลังคาเครื่องไม้ มุงกระเบื้อง หลังคาซ้อนชั้น 4 ตับ

อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินปัจจุบัน

เคยถูกน้ำท่วมสูงดู ได้จากรอยน้ำที่เสาและร่องรอยในอุโบสถ






หน้าบันทิศตะวันออก เป็นลวดลายปูนปั้น






ด้านบนเป็นรูปบุคคล-ยักษ์ กำลังต่อสู้กับลิง

ด้านล่างเป็นรูปพระพุทธเจ้าห้าพระองค์

อดีตพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากกุสันธะ (ไก่) พระพุทธเจ้าโกนาคมน (นาค) พระพุทธเจ้ากัสสปะ (เต่า)

ปัจจุบันพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าโคดม (โค)

อนาคตพระพุทธเจ้า พระศรีอาริยเมตไตรย (สิงห์)






หน้าบันทิศตะวันตก เป็นรูปปูนปั้น

ด้านบนเป็นรูปบุคคลต่อสู้กับยักษ์

ด้านล่างพุทธประวัติตอนมารผจญ

พระพุทธเจ้าประทับสมาธิ ปางสมาธิ ไม่ได้เอานิ้วชี้ที่แผ่นดิน - มารวิชัย

ด้านใต้พระแม่ธรณียืนบีบมวยผม

ด้านซ้ายของพระพุทธ มารเข้าถืออาวุธทำร้าย

ด้านขวาของพระพุทธ มารออกไปแล้ว ถือดอกบัวบูชาพระพุทธเจ้า

หน้าบันปีกนก ด้านซ้ายพระพุทธ นางฟ้าไม่ใส่เสื้อ!!! ร่ายรำ

มีอีกาตัวเป็น ๆ เกาะที่มือเตรียมกินซากศพ

หน้าบันปีกนกด้านขวาพระพุทธ เทวดาใส่เสื้อ!!! ร่ายรำ






เหนือกรอบหน้าต่างเป็นซุ้มแก้ว ประดับลวดลายปูนปั้น






เหนือประตูทางเข้า เป็นซุ้มแก้ว ประดับลวดลายปูนปั้น

พระพุทธประวัติตอนเสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่าบ้านปาลิเลยยกะ เพราะพระพระสงฆ์ทะเลาะกัน

มีพญาช้างคอยปรนนิบัติ และลิงถวายรวงผึ้ง






ภายในพระอุโบสถ

พระประธานปางมารวิชัย มีชื่อว่าพระชินสีห์

ซึ่งจะกับพ้องชื่อพระพุทธรูปอีกสององค์คือ พระชินวรณ์ วัดบางมูลนาก และ พระชินวงศ์ วัดบางกรด






พระพุทธบาทจำลอง






จิตรกรรมฝาผนัง

ด้านบนเป็นพระพุทธประวัติ ด้านล่างเป็นทศชาติชาดก


พระพุทธประวัติเริ่มจากขวามือพระประธาน วนไปถึงซ้ายมือของพระประธาน

พุทธลักษณะ

ที่กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยะ

พราหมณ์ ทั้ง 8 ได้ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษคือ

หากดำรงตนในฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ

ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก

แต่พราหมณ์อัญญาโกณฑัญญะพราหมณ์ที่อายุน้อยที่สุดยืนยันว่า

พระราชกุมารสิทธัตถะจะเสด็จออกบวช และจะได้ตรัสรู้เป็น พระพุทธเจ้า

ภายหลังอัญญาโกณฑัญญะ เป็นหนึ่งในปัญจวัคคี


เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จชมสวน พบ คนแก่ เจ็บ ตาย นักบวช

มหาภิเนษกรมณ์ ทรงหนีออกจากวังเพื่อบรรพชา

มารวัสวัตตี มาห้ามออกบวช






ทรงผนวชที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา เขตแดนแคว้นโกศลและแคว้นวัชชี

นายฉันนะร้องไห้ นำเครื่องทรงกษัตริย์กลับนคร

เจ้าชายทรงมุ่งหน้าไปแคว้นมคธ ไปศึกษากับอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร

แล้วมุ่งหน้าสู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ พร้อมปัญจวัคคี

หลังจากเลิกทุกกรกิริยา ปัญจวัคคีหนีไปแล้ว

นางสุชาดา ธิดาของเสนานีกุฎุมพี ถวายข้าวมธุปายาส แล้วพระองค์ได้ลอยถาดเสี่ยงทาย






มารผจญ ถืออาวุธเข้าทำราย

พระแม่ธรณีบีบมวยผม

มารหลับใจถือดอกบัวบูชา






ภาพตรงข้ามกับพระประธาน

หลังจากตรัสรู้

รูปพระพุทธเจ้าประทับยืนใต้ต้นไทร

พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระขณะ

ทรงพิจารณาเห็นว่าหากสอนพระธรรมไป แล้วคนไม่เข้าใจก็เปล่าประโยชน์

จึงเกิดความมักน้อยว่าจะไม่แสดงธรรมเพื่อโปรดใครเลย


สัปดาห์ที่หก

ทรงเสด็จเสวยวิมุตติสุขที่สระมุจลินท์ ฝนตกพรำอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน

พญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในสระนี้ ขึ้นมาขดตัวเจ็ดรอบแลแผ่พังพานเพื่อจะป้องกันฝนและลม


ภาพกลางด้านบน พระพรหมมาขออาราธนาให้แสดงธรรมต่อสรรพสัตว์

ท้าวสหัมบดีพรหมผู้เป็นใหญ่ของโลก

ได้ประนมหัตถ์นมัสการกราบทูลวิงวอนพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐว่า

สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสเบาบางยังมีอยู่ในโลกนี้

ขอพระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์เหล่านั้นเถิด

ดังนั้นก่อนแสดงธรรม จึงต้องมีบทสวดนี้เสมอ

พรหมาจะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ

กัตอัญชะลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ

สันตีธะสัตตาปปะระชักขะชาติกา

เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชัง


พระเกษธาตุ

สัปดาห์ที่เจ็ด ทรงประทับที่ร่มไม้เกต

มีพ่อค้าชาวพม่าผ่านมาสองคน ชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ

เห็นพระพระพุทธเจ้ามีพระรัศมีผ่องใสงดงาม ก็บังเกิดความเลื่อมใส

จึงนำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตน

แล้วประกาศตนเป็นอุบาสกคู่แรกของพระพุทธศาสนา

ทรงลูบพระเกศาตกลงมา 8 เส้น มอบให้พ่อค้าทั้งสองไป

และทางพม่าได้จัดสร้างพระเจดีย์ชะเวดากอง บรรจุพระเกศาธาตุไว้


ในภาพเขียนว่าพุทธดำเนิน -

เดาว่าเดินทางไปสั่งสอนปัญจวัคคีย์ ในรูปซ้ายสุด ที่มีพระ 5 องค์คือ

อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสชิ

มุมขวาล่างเป็นภาพต่อจากพระแม่ธรณีบีบมวยผม - พวกมารตะกายขึ้นฝั่ง






ภัททวัคคีย์กำลังตามหานางคณิกาที่ขโมยเสื้อผ้า, เครื่องประดับไป

ทรงโปรดภัททวัคคีย์บรรลุธรรม ขอบวช

พระพุทธองค์ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา บวชโดยพระพุทธเจ้า


จาริกมาถึงตำบลอุรุเวลา ซึ่งมี ชฎิล 3 คนพี่น้องอาศัยอยู่ คือ

อุรุเวลกัสสป นทีกัสสปและคยากัสสป โดยอุรุเวลกัสสป เป็นหัวหน้าของชฎิล

รวมทั้งหมด 1000 คน เลื่อมใสบวชพระ


เสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์ โปรดพระเจ้าพิมพิสาร

พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร ออกบวช ทรงแต่งตั้งพระอัครสาวก


ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์แก่มหาสังฆสันนิบาตที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร คือวันมาฆบูชา


ซ้ายบนทรงโปรดราชสกุลศากยวงศ์






ขวาสุดเขียนว่า สาวกเหาะเอาบาตจันท์

เศรษฐีชาวราชคฤห์ ได้กลึงบาตรจากไม้จันทน์แดง

นำไปแขวนไว้บนปลายไม้สูงท้าให้คนที่เป็นอรหันต์เหาะไปเอา

ผ่านไปเจ็ดวันก็ไม่มีนักบวชหรือ เดียรถีย์เอาได้

พระโมคคัลลานะจึงบอกพระปิณโฑลภารทวาชะ ให้ไปเอาลงมาได้

ชาวเมืองจึงขอให้แสดงในชมเรื่อย ๆ

พระศาสดาจึงทรงห้ามไม่ให้ภิกษุทำปาฏิหาริย์


ด้านบนเป็นเดียรถีย์ทั้ง 6 ภาพถัดมาพระพุทธเจ้าทำ ยมกปาฏิหาริย์


ภาพวังด้านล่าง ทรงโปรดพระพุทธบิดา

โปรดพระนางพิมพา - สยายพระเกษาเช็ดพระบาท - พิมพาพิลาป


ศาลาหลังเล็ก เห็นคำว่าวัดเชตวัน วัดที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุด

พระพุทธองค์ก็เสด็จไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อไปโปรดพระพุทธมารดา


ด้านล่างเขียนประกอบภาพว่าทรงเทศนานอกเมืองสาเกษ

โปรดพราหม์ณ์ที่เคยเป็นบิดาและมารดาในอดีตชาติ


จบที่ทรงเสด็จปรินิพพาน






ภาพด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่าง เป็นภาพทศชาติชาดก

เริ่มจากขวามือของพระประธาน

ภาพที่ 1 เตมีย์ใบ้ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี

พระบิดาตัดสินความหน้าวัง

ให้ช้างตกมันมาทำร้ายพระเตมีย์ แต่ช้างกลับหมอบทำความเคารพนอบน้อม

สารถีจะเอาพระเตมีย์ไปฝัง พระเตมีย์ทดลองตัวเองว่าเป็นปกติโดยยกรถขึ้น

สารถีปล่อยให้พระเตมีย์ออกบวช

แถมด้วยภาพที่หน้าต่าง






ภาพที่ 2 มหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี

มหาชนกออกเดินทางไปค้าขายแล้วเรือแตก

ทรงว่ายน้ำในมหาสมุทรถึง 7 วัน ไม่ยอมแพ้

นางเมขลาลองใจว่าให้พระองค์ยอมตายเสีย พระองค์ทรงไม่ฟัง

นางเมขลาเห็นเลื่อมใสในความพยายาม จึงอุ้มพระองค์เหาะไปส่งที่ฝั่ง






ภาพที่ 3 สุวรรณสาม ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี

ทรงเสวยพระชาติสุวรรรณสามดาบส เลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด

เพราะเป็นผู้เมตตาใจดี หมู่เนื้อก็เดินตามไปในที่ต่างๆ

อปิลยักษ์ยิงธนูล่าเนื้อพลาดไปถูกสุวรรรณสาม

จึงไปจูงมารดาบิดาของสุวรรณสามมา

มารดาบิดาของสุวรรณสามก็ตั้งสัจจกิริยาคุณความดีของสุวรรณสาม ขอให้พิษของศรหมดไป

สุวรรณสามก็ฟื้นคืน และเทศสอนว่า ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม แม้เทวดาก็ย่อมรักษาผู้นั้น






ภาพที่ 4 ตรงข้ามพระประธาน เนมิราชชาดก ทรงบำเพ็ญอธิฏฐานบารมี คือความตั้งใจมั่นคง

เสวยพระชาติเป็นพระเนมิราช โอรสเจ้าเมืองมิถิลา

โปรดการบริจาคทานและรักษาพรหมจรรย์ - ในรูป

พระอินทร์ทรงให้พระมาตุลีนำทิพยรถมารับไปเที่ยวเมืองสวรรค์ และเมืองนรก

แล้วเชิญให้ครองเมืองสวรรค์ ก็ไม่ทรงรับ เมื่อทรงชราก็ออกผนวช






นรก แปลว่าเหว

นรกภูมิเป็นภูมิเสวยทุกข์ของคนผู้ทำบาปตายแล้วไป


มุมห้องทางทิศใต้ เป็นภาพนรกภูมิ

เป็นรูปบุคคลกำลังปีนต้นงิ้ว มีแร้งกาปากเหล็กคอยจิก

บุพกรรมของสัตว์นรก คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้ทำผิดศีลข้อที่ 3


เหนือประตู เมฆลากำลังล่อแก้วรามสูร


มุมห้องทางทิศเหนือ

เป็นภาพบุคคลกำลังถูกเลื่อยแยกร่าง

สัตว์นรกในขุมนี้ถูกตัดเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่ แล้วก็กลับคืนชีวิตขึ้นมา รับการทรมานซ้ำแล้วซ้ำอีก

บุพกรรมของสัตว์นรก คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ได้ทำฆาตกรรมตนเอง ผู้อื่น

หมอที่ทอดทิ้งฆ่าคนไข้ของตน ผู้จัดการทรัพย์มรดกที่คดโกง

ผู้ปกครองที่โหดร้าย เบียดเบียนประชาชน






ภาพที่ 5 วนกลับมาซ้ายมือพระประธาน มโหสถชาดก ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

มีรูปบัณฑิตทั้ง 4 และมโหสถ ในอาคาร ด้านนอกมาทัพมาประชิดเมือง

พระเจ้าจุลนีพรมทัตแห่งเมืองอุตรปัญจาละจะยึดครองแว่นแคว้นต่างๆ มาเป็นเมืองขึ้น

รวมทั้งเมืองมิถิลา ของ พระเจ้าวิเทหะ ที่มโหสถอยู่

มโหสถใช้ปัญญาแก้ปัญหาจนทำให้พระเจ้าวิเทหะกับพระเจ้าจุลนีพรมทัตมาผูกไมตรีกันได้






ภาพที่ 6 ภูริทัตชาดก ทรงบำเพ็ญศีลบารมี

สาระสำคัญของจิตรกรรมฝาผนังคือ นาคพันรอบจอมปลวก

ย่อเรื่องตามภาพได้ว่า พราหมณ์หมองูได้มนต์ปราบนาคจากครุฑ

ไปจับภูริทัตที่บำเพ็ญภาวนาที่จอมปลวก

พราหมณ์หมองูนำภูริทัตไปแสดงหาเงิน ได้รับความทุกข์ทรมาน

แต่ก็ไม่ต่อสู้เพื่อไม่ให้ศีลจะขาด สุดท้ายพี่ชายมาช่วย






ภาพที่ 7 วนมาถึงซ้ายมือพระประธาน จันทกุมารชาดก ทรงบำเพ็ญขันติบารมี

เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร ราชโอรสของพระเจ้าเอกราชแห่งเมืองปุปผวดี

ถุูกพระราชบิดานำไปบูชายัญพร้อมพี่น้อง ตามคำทำนายฝันของขัณฑหาลปุโรหิต

แต่พระอินทร์ลงมาหักฉัตรเพื่อทำลายพิธี - สาระสำคัญของภาพชาดก






ภาพที่ 8 ในกรอบสี่เหลี่ยมรูปเล็กด้านหลังพระประธาน

วิธุรชาดก ทรงบำเพ็ญสัจจบารมี และ ปัญญาอุปบารมี

เสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต เป็นผู้ถวายคำแนะนำประจำราชสำนัก

ปุณณกยักษ์มาท้าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเล่นสกา

มีทรัพย์สินมาเดิมพันกับทุกอย่างยกเว้นกายของพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ราชสมบัติ และพระมเหสี

ยักษ์ชนะขอวิธุรบัณฑิต

วิธุรบันฑิตรักษาสัตย์ ยอมไปกับยักษ์ - ยักษ์ขี่ม้า วิธุรบัณฑิตจับหางม้า

ยักษ์จะฆ่าวิธุรบัณฑิตโดยยืนบนยอดเขาจับที่เท้าแล้วขว้างลงไปที่ดิน - ในรูป

เพื่อนำหัวใจวิธุรบัณฑิต ไปให้ภรรยาพญานาคเพื่อแลกกับธิดา

แต่ไม่สำเร็จ

วิธุรบัณฑิตได้แสดงธรรมของคนดีให้ยักษ์และพญานาค

ในที่สุดก็ได้กลับมาสู่กรุงอินทปัตถ์


ภาพที่ 9 รูปใหญ่หลังพระประธาน เวสสันตรชาดก ทรงบำเพ็ญทานอุปบารมี

เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ทรงบริจาคทานทั้งหมด







ปิดท้ายด้วยอาหารปลาอร่อย ... มาก ที่ร้านครัวกาญจนา

ปลากดคังลวก สดมากเนื้อขาวจั๊ว น้ำจิ้มอร่อย เปรี้ยว






ลูกชิ้นปลากรายผัดฉ่า อร่อย ... มาก

มีใครเคยบอกว่าลูกชิ้นปลากรายที่บางมูลนาก อร่อยสุด ๆ






ปลาเนื้ออ่อนฉู่ฉี่ อร่อย ... มาก ทอดกรอบกริ๊บ กับฉู่ฉี่รสชาติดี






รายงานการท่องเที่ยวเมื่อ 7/6/2566

ค้นเรื่องราวที่อยากรู้มาเขียน ให้สมกับที่พ่อครูสู้อุตส่าห์เขียนภาพเล่าเรื่อง

ทุกแห่งที่ไปแม้เรื่องเดียวกัน ก็ต้องค้นอ่านและรื้อฟื้นทุกเรื่องทุกครั้งที่เขียน

เพราะจำไม่ได้แม่น แต่อยากโม้






Create Date :28 มิถุนายน 2566 Last Update :28 มิถุนายน 2566 10:25:17 น. Counter : 912 Pageviews. Comments :14