bloggang.com mainmenu search
{afp}

พระเตมีย์และพระมหาชนก
 


 เรื่องราวการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกกันว่าชาดก มีทั้งสิ้น ๕๔๗ เรื่อง ทศชาติชาดก คือชาดกอันกล่าวถึง ๑๐ ชาติสุดท้ายก่อนชาติที่จะตรัวรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระเตมีย์และพระมหาชนก คือ ชาติที่ ๑ และ ชาติที่ ๒ ในทศชาติ ดังนี้ 

 

พระเตมิย : บำเพ็ญเนกขัมมบารมี 

 

ชาติที่ ๑ ในทศชาติชาดก ละเว้น ไม่ก่อเวรกรรมทำบาปมุ่งมั่น ประพฤติธรรมอันบริสุทธิ์ 

 

ณ แคว้นกาสี กรุงพาราณสี มีกษัตริย์ผู้ครองเมือง นามว่า พระเจ้ากาสิกราช และมีพระมเหสี นามว่า จันทาเทวี ทั้งสองพระองค์ไม่มีทายาทสืบราชสมบัติ พระนางจันทาเทวีจึงอ้อนวอนขอพระโอรส โดยตั้งใจรักษาศีลและ บำเพียรภาวนา ต่อมา พระนางก็ตั้งครรภ์ 

 

กาลต่อมา พระนางได้ให้กำเนิดพระโอรส นามว่า “พระเตมีย์” ในวันประสูติพระโอรสนั้น  ฝนตกชุ่มฉ่ำทั่วทั้งแคว้นกาสี ประชาชนต่างพากันแซ่ซ้อง สาธุการด้วยความยินดี พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์นับตั้งแต่บัดนั้น (* เตมีย์ หมายถึง เป็นที่ยินดีของคนทั้งหลาย )

 

พระเตมีย์ ผิวพรรณผุดผ่อง มีลักษณะเป็นมหาบุรุษ โหราจารย์ต่างทำนายว่า พระโอรสเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก หากได้ครองราชจะเป็นกษัตรย์ที่ยิ่งใหญ่  , พระบิดา พระมารดา ดูแลเอาใจใส่พระกุมารน้อยเป็นอย่างดี ทรงคัดเลือกแม่นม ๖๔ นาง ให้เลี้ยงดูพระโอรส และให้ทารก บุตรอำมาตย์ ๕๐๐ คนเป็นบริวาร 

 

 วันหนึ่ง ณ ท้องพระโรง เมื่อพระชนม์ ๑๑ เดือน เห็นพระบิดาพิพากษาโทษของโจรสี่คน รับสั่งลงโทษโจรอย่างทารุณ  , คนหนึ่งถูกลงทัณฑ์ให้คุมขังแล้วล่ามไว้ด้วยโซ่ตรวน , คนหนึ่งลงทัณฑ์ให้เฆี่ยนตีจนเลือดไหลรดร่าง , คนหนึ่งลงทัณฑ์ให้เอาหอกทิ่มแทงทั่วทั้งร่างกาย , คนสุดท้ายสั่งลงทัณฑ์ถึงขั้นประหารชีวิต 

 

ทรงรำลึกชาติได้ว่าครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเคยเป็นกษัตริย์ครองราชย์อยู่ ๒๐ ปี ครั้นตายแล้วต้องไปเกิดในนรกอยู่แปดหมื่นปี กว่าจะได้ไปเกิดในดาวดึงส์สวรรค์ ทรงรู้สึกเกรงกลัวว่าจะต้องเป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดาและต้องสั่งลงโทษคนทำผิดจนต้องตกนรกอีก  พระกุมารทรงมีความหวาดกลัวอย่างยิ่ง ทรงรำพึงว่า 

 

"ทำอย่างไร หนอ เราจึงจะไม่ต้องทำบาป และไม่ต้องตกนรกอีก"

 

ขณะนั้นเทพธิดาที่รักษาเศวตฉัตรได้ยินคำรำพึงของพระเตมีย์จึงปรากฏกายให้พระองค์เห็นและแนะนำพระเตมีย์ว่า

 

"หากพระองค์ทรงหวั่นที่จะกระทำบาป ทรงหวั่นเกรงว่าจะตกนรก ก็จงทำเป็น หูหนวก เป็นใบ้ และเป็นง่อยเปลี้ย อย่าให้ชนทั้งหลาย รู้ว่าพระองค์เป็นคนฉลาด เป็นคนมีบุญ พระองค์ จะต้องมีความอดทน ไม่ว่าจะได้รับความเดือดร้อนอย่างใดก็ต้องแข็งพระทัย ต้องทรงต่อสู้ กับพระทัย ตนเองให้จงได้ อย่ายอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาชักจูงใจ พระองค์ไปจากหนทางที่พระองค์ตั้งพระทัยไว้"

 

พระเตมีย์กุมารได้ยินเทพธิดาว่าดังนั้นก็ดีพระทัยเป็นอย่างยิ่งจึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า

 

"ต่อไปนี้ เราจะทำตนเป็นคนใบ้ หูหนวก และง่อยเปลี้ย ไม่ว่าจะมีเรื่องอันใดเกิดขึ้น เราก็จะไม่ละความตั้งใจเป็นอันขาด" จึงได้แสร้งเป็นคนพิการง่อยเปลี้ยหูหนวก ทั้งยังเป็นใบ้ ไม่ขยับร่างกายใดๆ ยินดีที่จะอดกลั้นทรมานตน ด้วยความมุ่งมั่นแน่วแน่ 

 

พระเจ้ากาสิกราชและพระนางจันทาเทวี ไม่เชื่อว่าโอรสของตนพิการ ท้งสองพระองค์หาวิธีรัษาพระโอรส อย่างไรก็ไม่หาย จึงทดสอบด้วยวิธีการต่างๆ , เมื่อครั้งยังเป็นทารก ทดสอบโดยการให้นมผิดเวลา หรืออดนมเป้นวันๆ พระกุมารก็นิ่งเฉย ไม่ร่ำร้องแสดงความหิวแต่ประการใด 

 

เมื่อ ๑ ขวบ ให้บริวารเด็กทั้ง ๕๐๐ คนนั้งกินขนมอยู่ใกล้ๆ แต่พระกุมารมิได้เหลือบมองขนมเหล่านั้นเลย , เมื่อ ๒ ขวบ ให้บริวารเด็กทั้ง ๕๐๐ คน กินผลไม้อยู่ใกล้ๆ , เมื่อ ๓ ขวบให้บริวารเด็ก ๕๐๐ คน เล่นของเล่นสนุกอยู่ใกล้ๆ แต่พระกุมารก็มิได้แสดงความสนใจเลยแม้แต่น้อย ,เมื่อ ๔ ขวบให้บริวารเด็ก ๕๐๐ คน กินอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ยั่วให้เกิดความกระหายอยาก ,เมื่อ ๕ ขวบ เด็กวัยนี้ย่อมมีความหวาดกลัว จึงทดสอบ จุดไฟลนที่ประทับให้ตื่นตระหนก , เมื่อ ๖ ขวบ ทดสอบปล่อยช้างตกมัน คุกคามเพื่อให้หวาดกลัว , เมื่อ ๗ ขวบ ปล่อยงูให้มาพันรอบพระศอ ให้ประหวั่นพรั่นพรึง ,เมื่อ ๘ ขวบ เล่นมหรสพระบำรำฟ้อน หวังให้พระเตมีย์เพลิดเพลินยินดี ,เมื่อ ๙ ขวบ ให้เพชรฆาตเงื้อดาบทำท่าจะฟัน , เมื่อ ๑๐ ขวบ ทดสอบด้วยเสียงโกลาหลในขณะบรรทม ,เมื่อ ๑๑ ขวบ ประโคมเสียงกลองดังอึกทึกให้ตื่นตกใจ ,เมื่อ ๑๒ ขวบ ทำให้เกิดแสงสว่างฉับพลันในขณะ บรรทม 

 

การทดสอบทั้งปวง มิได้ทำให้พระเตมีย์ เคลื่อนไหวร่างกายแม้แต่น้อย ,เมื่อ ๑๓ ปี เอาน้ำอ้อยท่ตัว แล้วปล่อยให้แมลงวันมาไต่ตอมทั่วร่าง ,เมื่อ ๑๔ ปี ทดสอบโดยให้นอนจมอยู่กับอุจจาระ ,เมื่อ ๑๕ ปี ให้นอนบนเตียงที่สุมไฟลุกไหม้ ,เมื่อ ๑๖ ปี ให้หญิงสาวเรือนร่างงดงาม มาคลอเคลียยั่วยวนให้มีใจปรารถนา ... การทดสอบทั้งหลายนี้ ทำให้พระเตมีย์ต้องทนทุกข์ทรมานมาก แต่พระองค์ยินดีอดทนอดกลั้น ทรมานตน ไม่ทรงแสดงอาการใดๆออกมา เพื่อปณิธานที่แน่วแน่ ว่าจะไม่สืบราชสมบัติอันเป็นเหตุให้ต้องเป็นผู้ก่อนกรรมทำบาปเบียดเบียนตักสินลงโทษทัณฑ์ทำร้ายผู้ใด

 

 

ฝ่ายพระนางจันทาเทวี เมื่อเห็นโอรสของตนถูกทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยวิธีอันแสนทรมาน  แต่พระองค์ยังเชื่อว่า พระโอรสของพระองค์มิได้ง่อยเปลี้ย หูหนวกและเป็นใบ้ จึงร่ำไห้คร่ำครวญอ้อนวอน ขอให้พระโอรสแสดงตนเป็นปกติเช่นคนอื่นๆ , พระเตมีย์ แม้สงสารพระมารดา แต่ก็ทรงตั้งสติ อดทนนิ่งเฉย ไม่แสดงอาการรับรู้ใดๆ , เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว .. บรรดาโหรหลวงจึงกราบทูล พระเจ้ากาสิกราชว่า “พระราชโอรสเป็นกาลกิณี” พึงให้ขับไล่ออกจากพระราชวัง หากกษัตริย์ผู้ที่จะขึ้นครองราชภายหน้า เป็นผู้พิการ จักปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร 

 

พระราชาจึงตรัสสั่งให้นายสารถีชื่อ สุนันทะ นำพระเตมีย์ขึ้นรถเทียมม้าพาไปที่ป่าช้าผีดิบ ให้ขุดหลุมแล้วเอาพระเตมีย์โยนลงไปในหลุมเอาดินกลบเสียให้ตาย นายสุนันทะจึงทรงอุ้มพระเตมีย์ขึ้นรถเทียมม้าพาไปที่ป่าช้าผีดิบเมื่อไปถึงป่าช้านายสุนันทะก็เตรียม ขุดหลุมจะฝังพระเตมีย์ พระเตมีย์กุมารประทับอยู่บนราชรถ ทรงรำพึงว่า 

 

"บัดนี้เราพ้นจากความทุกข์ ว่าจะต้องเป็นพระราชา พ้นความทุกข์ว่า จะต้องทำบาป เราได้อดทนมาตลอดเวลา 16 ปี ไม่เคยเคลื่อน ไหวร่างกายเลย เราจะลองดูว่า เรายังคงเคลื่อนไหวได้หรือไม่ มีกำลังร่างกายสมบูรณ์หรือไม่"

 

รำพึงแล้ว พระเตมีย์ก็เสด็จลงจากราชรถ ทรงเคลื่อนไหว ร่างกาย ทดลองเดินไปมา ก็ทราบว่า ยังคงมีกำลังร่างกาย สมบูรณ์เหมือนคนปกติ จึงทดลองยกราชรถ ก็ปรากฏว่าทรงมีกำลังยกราชรถขึ้นกวัดแกว่ง ได้อย่างง่ายดาย จึงทรงเดินไปหา นายสุนันทะที่กำลังก้มหน้าก้มตาขุดหลุมอยู่ พระเตมีย์ตรัสถาม นายสุนันทะว่า 

 

"ท่านเร่งรีบขุดหลุมไปทำไม"

 

นายสุนันทะตอบ คำถามโดยไม่ได้เงยหน้าขึ้นดูว่า 

 

"เราขุดหลุมจะฝังพระโอรส ของพระราชา เพราะพระโอรสเป็นง่อย เป็นใบ้ และหูหนวก พระราชาตรัสสั่งให้ฝัง เสีย จะได้ไม่เป็นอันตรายแก่บ้านเมือง" 

 

พระเตมีย์จึงตรัสว่า 

 

"เราไม่ได้เป็นใบ้ ไม่ได้หูหนวก และไม่ง่อยเปลี้ย จงเงยขึ้นดูเราเถิด ถ้าท่านฝังเราเสีย ท่านก็จะประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม"

 

นายสารถีเงยขึ้นดู เห็นพระเตมีย์ก็จำไม่ได้ จึงถามว่า 

 

"ท่านเป็นใคร ท่านมีรูปร่าง งามราวกับเทวดา ท่านเป็นเทวดาหรือ หรือว่าเป็นมนุษย์ ท่านเป็นลูกใคร ทำอย่างไร เราจึงจะรู้จักท่าน"

 

 

พระเตมีย์ตอบว่า 

 

"เราคือเตมีย์กุมาร โอรสพระราชา ผู้เป็นนายของท่าน ถ้าท่านฝังเราเสียท่านก็จะได้ชื่อว่า ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม พระราชาเปรียบเหมือนต้นไม้ ตัวเราเปรียบเหมือนกิ่งไม้ ท่านได้อาศัยร่มเงาไม้ ถ้าท่านฝังเราเสีย ท่านก็ได้ชื่อว่า ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม"

 

 

นายสารถียังไม่เชื่อว่าเป็นพระกุมารที่ตนพามา พระเตมีย์ทรงประสงค์จะให้นายสารถีเชื่อจึงตรัสอธิบายทรงอธิบายว่า 

 

"ผู้ไม่ทำร้ายมิตร จะไปที่ได ก็มีคนคบหามาก จะไม่อดอยาก ไปที่ใดก็มีผู้สรรเสริญบูชา โจรจะไม่ข่มเหง พระราชาไม่ดูหมิ่น จะเอาชนะศัตรูทั้งปวงได้ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร เมื่อมาถึงบ้านเรือนของตน หมู่ญาติและประชาชน จะพากันชื่นชมยกย่อง ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ย่อมได้รับการสักการะ เพราะเมื่อสักการะท่านแล้ว ย่อมได้รับการสักการะตอบ เมื่อเคารพบูชาท่านแล้ว ย่อมได้รับการเคารพตอบ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ย่อมรุ่งเรืองเหมือนกองไฟรุ่งโรจน์ ดังเทวดา เป็นผู้มีมิ่งขวัญสิริมงคลประจำตนอยู่เสมอ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร จะทำการใดก็สำเร็จผล โคจะมีลูกมาก หว่านพืชลงในนา ก็จะงอกงาม แม้จะพลัดตกเหว ตกจากภูเขา ตกจากต้นไม้ ก็จะไม่เป็นอันตราย ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ศัตรูไม่อาจข่มเหงได้ เพราะเป็นผู้มีมิตรมาก เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ที่มีราก ติดต่อพัวพัน ลมแรงก็ไม่อาจทำร้ายได้ "

 

 

นายสารถีได้ยินพระเตมีย์ตรัสยิ่งเกิดความสงสัยจึงเดินมาดูที่ราชรถก็ไม่เห็นพระกุมารที่ตนพามา ครั้นเดิน กลับมาพินิจพิจารณาพระเตมีย์อีกครั้งก็จำได้จึงทูลว่า 

 

"ข้าพเจ้าจะพาพระองค์กลับวัง ขอเชิญเสด็จกลับไป ครองพระนครเถิด" 

 

พระเตมีย์ตรัสตอบว่า

 

" เราไม่กลับไปวังอีกแล้ว เราได้ตัดขาดจากความยินดีในสมบัติทั้งหลาย เราได้ตั้งความอดทนมาเป็นเวลาถึง 16 ปี อันราชสมบัติทั้งพระนครและความสุข ความรื่นเริงต่างๆ เป็นของน่าเพลิดเพลิน แต่าเราไม่ปรารถนาจะหลงอยู่ในความเพลิดเพลินนั้น ไม่ปรารถนาจะกระทำบาปอีก เราจะไม่ก่อเวรให้เกิดขึ้นอีกแล้ว บัดนี้เราพ้นจากภาระนั้นแล้ว เพราะพระบิดาพระมารดา ปล่อยเราให้พ้นจากราชสมบัติมาแล้ว เราพ้นจากความหลงใหล ในกิเลสทั้งหลาย เราจะขอบวชอยู่ในป่านี้แต่ลำพัง เราต่อสู้ได้ชัยชนะในจิตใจของเราแล้ว"

 

เมื่อตรัสดังนั้น พระเตมีย์กุมารมีความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง รำพึงกับพระองค์เองว่า 

 

"ผู้ที่ไม่ใจเร็วด่วนได้ ผู้ที่มีความอดทน ย่อมได้รับผลสำเร็จด้วยดี"

 

นายสุนันทะสารถีได้ฟังก็เกิดความยินดี ทูลพระเตมีย์ว่า จะขอบวชอยู่กับพระเตมีย์ในป่า แต่พระองค์ เห็นว่า หากนายสารถีไม่กลับไปเมือง จะเกิดความสงสัยว่าพระองค์หายไปไหน ทั้งนายสารถี ราชรถ เครื่องประดับทั้งปวงก็สูญหายไป ควรที่นายสารถีจะนำสิ่งของทั้งหลายกับไปพระราชวัง ทูลเรื่องราวให้พระราชาทรงทราบเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมา บวชเมื่อหมดภาระ นายสุนันทะจึงกลับไปกราบทูลพระราชาว่า พระเตมีย์กุมาร มิได้วิกลวิการ แต่ทรงมีรูปโฉมงดงามและ ตรัสได้ไพเราะ เหตุที่แสร้งทำเป็นคนพิการก็เพราะไม่ปรารถนาจะครองราชสมบัติ ไม่ปรารถนาจะก่อเวรทำบาปอีกต่อไป

 

เมื่อพระราชาและพระมเหสีได้ทรงทราบ ก็ทรงปลื้มปิติยินดี โปรดให้จัดกระบวนไปรับพระเตมีย์กลับจากป่า ขณะนั้น พระเตมีย์ทรงผนวชแล้ว ประทับอยู่ในบรรณศาลาซึ่งเทวดา เนรมิตไว้ให้ เมื่อพระบิดา พระมารดาเสด็จไปถึง พระเตมีย์จึงเสด็จมาต้อนรับ ทักทายปราศรัยกันด้วยความยินดี พระราชาเห็นพระโอรสผนวชเป็นฤาษี เสวยใบไม้ลวก เป็นอาหาร และประทับอยู่ลำพังในป่า จึงตรัสถามว่าเหตุใด จึงยังมีผิวพรรณผ่องใส ร่างกายแข็งแรง พระเตมีย์ตรัส ตอบพระบิดาว่า 

 

"อาตมามีร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใส เพราะไม่ต้องเศร้าโศกถึงอดีต ไม่ต้องรอคอยอนาคต อาตมาใช้ชีวิตให้เป็นไปตามที่สมควรในปัจจุบัน คนพาลนั้นย่อมซูบซีดเพราะมัวโศกเศร้าถึงอดีต เพราะมัวรอคอยอนาคต"

 

 

พระราชาตรัสขอให้พระเตมีย์กลับไปครองราชสมบัติ ทรงกล่าวชักชวนให้นึกถึงความสุขสบายต่างๆ พระเตมีย์จึงตรัสตอบว่า 

 

"วันคืนมีแต่จะล่วงเลยไป ผู้คนมีแต่ จะแก่ เจ็บและตาย จะเอาสมบัติไปทำอะไร ทรัพย์สมบัติและ ความสุขทั้งหลายเอาชนะความตายไม่ได้ อาตมาพ้นจาก ความผูกพันทั้งหลายแล้ว ไม่ต้องการทรัพย์สมบัติอีกแล้ว"

 

เมื่อพระราชาได้ยินดังนั้น จึงเห็นประโยชน์อันใหญ่ยิ่ง ในการออกบวช ทรงประสงค์ที่จะละทิ้งราชสมบัติออกบวช พระมเหสี และเสนาข้าราชบริพารทั้งปวง รวมทั้งบรรดา ประชาชนทั้งหลายในเมืองพาราณสี ก็พร้อมใจกันออกบวช บำเพ็ญเพียรโดยทั่วหน้ากัน เมื่อตายไปก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ พ้นจากความผูกพัน ในโลกมนุษย์ ทั้งนี้เป็นด้วยพระเตมีย์กุมาร ทรงมีความอดทนมีความตั้งใจ อันมั่นคงแน่วแน่ในการที่ไม่ก่อเวร ทำบาป ทรงมุ่งมั่นอดทน จนประสบผลสำเร็จดังที่หวัง เหมือนดังที่ทรงรำพึงว่า 

 

" ผู้ที่ไม่ใจเร็วด่วนได้ ผู้ที่มีความอดทน ย่อมได้รับผลสำเร็จด้วยดี "

 

พระเตมีย์ ได้บำเพ็ญเนกขัมมบารมีโดยบริบูรณ์ อันได้แก่ การออกจากกิเลสกาม โลกียวิสัย วิถีทางโลก บวชบำเพ็ญเพียรเพื่อชีวิตอันบริสุทธิ์ สำเร็จด้วยความเพียรและปณิธานอันแน่วแน่ .... ครั้นสิ้นชีวิตลงได้ไปเกิดยังพรหมโลก

 

 

 

มหาชนกชาดก : บำเพ็ญวิริยบารมี 
 

 

ชาติที่ ๒ ในทศชาติชาดก ความเพียรอย่างไม่ลดละ มุ่งมั่นบรรลุจุดหมายอันเป็นกุศล 

 

ณ นครมิถิลา เมืงหลวงแห่งแคว้นวิเทหะ มีกษัตริย์ นามว่า “พระเจ้ามหาชนก” ปกครองบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรม  ประชาชนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา , พระเจ้ามหาชนกมีพระโอรสสองพระองค์ คือ “อริฏฐชนก” เป็นเชษฐา และ “โปลชนก”เป็นอนุชา ,ทั้งสองเป็นบุรุษผู้สง่างาม ชำนาญศิลปะการต่อสู้ 

 

เมื่อกาลเวลาผ่านไป กษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ได้สวรรคตลง สร้างคาวมโศกเศร้าเสียใจให้กับโอรสทั้งสอง และบรรดาประชาราษฎร์เป็นอย่างยิ่ง , เสนาอำมาตย์ต่างพากันมาเข้าเฝ้า พระอริฏชนก ,ทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติ , ส่วนพระโปลชนกผู้น้องขึ้นเป็นมหาอุปราช 

 

มิถิลานคร กลับคืนสู่ความสงบสุข อีกครั้ง , ในกาลต่อมา เหล่าอำมาตย์ทุจริตผู้ไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี ออกอุบายยุยง ให้พระ อริฏฐชนก ระแวงพระอนุชา โดยได้ใส่ความว่า พระโปลชนกคิดก่อการกบฏ และวางแผนลอบปลงพระชนม์ , พระราชาได้ฟังคำยุยงบ่อยเข้า ก็โอนเอนหลงเชื่อ ก่อให้เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ 

 

พระอริฐชนกรับสั่งให้จับกุมพระโปลชนกไปขุมขัง , ครั้นพระโปลชนกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนในคุกต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส , จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ด้วยดวงจิตซื่อสัตย์ต่อพระเชษฐาและบ้านเมืองของข้าเจ้า ขอให้โซ่ตรวน ตลอดจนประตูคุกจงเปิดออกให้ประจักษ์เถิด ,พลันโซ่ตรวนที่ตรึงรัดก็ขาดสะบั้น พระโปลชนกจึงหลบหนีจากคุก ระหกระเหินไปจนถึงชายแดน 

 

บรรดาราษฎรษ์เมื่อทราบข่าวการถูกลงทัณฑ์และหลบหนีชองมหาอุปราช ทั้งยังรู้เห็นความไม่ชอบธรรมของกษัตริย์ จึงพากันติดตามช่วยเหลือ ,พระโปลชนกจึงได้จัดตั้งกองกำลังขึ้น เพื่อยกทัพไปตีนครมิถิลา ด้วยความคับแค้นใจที่พระองค์ทรงไม่ได้รับความยุติธรรม , เวลาล่วงเลยผ่านไป พระโปลชนกรวบรวมไพร่พลได้มากมาย และฝึกฝนกองทัพจนเชี่ยวชาญชำนาญการรบ 

 

เมื่อนั้น พระโปลชนกจึงจัดขบวนทัพมึ่งหน้าไปยังมิถิลานคร ,ฝ่ายกษัตริย์อริฏฐชนกเมื่อทราบข่าว ว่าทัพของพระอนุชากำลังเข้าประชิตเมือง ก็หวั่นวิตก จึงสั่งเสียพระมเสีที่กำลังตั้งครรภ์ ให้หลบหนีเอาชีวิตรอด “ขึ้นชื่อว่าสงคราม มีแต่ความพินาศเท่านั้น เจ้าจงรักษาครรภ์ให้ดี และดูแลลูกของเราสืบไป”

 

พระมเหสีแม้โศกเศร้าเสียพระทัย ก็มิอาจทัดทานอันใดได้ จึงจำใจหลบหนีไป , และในที่สุด ศึกระหว่างสายเลือดก็ได้ปะทุขึ้น กองทัพทั้งสองฝ่าย สู้รบกันอน่างไม่ลดละ , พระโปลชนกไสช้างเข้าประจัญกับกษัตริย์ผู้เป็นพี่ ,และด้วยกองกำลังของพระโปลชนกมีความพร้อมากกว่า ในที่สุดกองทัพกษัตริย์อริษฐชนกก็พ่ายแพ้และพระองค์ก็สิ้นชีพในสนามรบ ,พระโปลชนกได้สถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองมิถิลานครต่อมา 

 

ฝ่ายพระมเหสีเมื่อทราบข่างการสิ้นพระชนม์ของพระสวามีก็เสียพระทัยยิ่งนัก ,พระนางปลอมตัวด้วยเสื้อผ้าเก่าซอมซ่อ อุ้มท้องเดินเท้าด้วยจิตใจเด็ดเดี่ยว ไปยังเมืองกาลจัมปากะ ,ระหว่างทาง พระอินทร์ได้แปปลงกายเป็นชายชรา ขับเกวียนพาพระนางไปส่งยังที่หมาย 

 

บัดนั้น พราหม์ทิศาปาโมกข์ ชาวเมืองกาลจัมปากะ เป็นผู้มีจิตใจเมตตากรุณา เกิดความเอ็นดูสงสารจึงรับพระนางไปอยู่ด้วย และอุปการะเลี้ยงดูดุจน้องสาว ,ไม่นานนักพระนางก็ให้กำเนิดพระโอรสน้อย ตั้งนามตามพระอัยกา ให้ว่า “มหาชนกกุมาร”  *อัยกา หมายถึง ปู่หรือตา

 

มหาชนกกุมารเติบโตขึ้น มักถูกล้อเลียนว่าเป็นลูกกำพร้า , กุมารน้อยเฝ้าถามความจริงเรื่องพระบิดา จะรบเร้าอย่างไรก็ไม่เป็นผล , จนกระทั้งวันหนึ้งขณะกำลังดื่มนมจากพระถันอยู่นั้น  พระองค์ขู่ว่าถ้าไม่ยอมบอกจะกัดยอดพระถันของพระมารดาให้ขาด พระนางจึงได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง * ยอดพระถัน หมายถึงหัวนม

 

เมื่อมหาชนกเติบใหญ่ขึ้น ก็ตั้งปณิธานว่าจะต่อสู้ช่วงชิงมิถิลานครกลับคืนมาให้จงได้ จึงหมั่นเล่าเรียนศิลปศาสตร์ทั้งปวงด้วยความมุ่งมั่นจนเชี่ยวชาญ สำเร็จด้วยเวลาอันรวดเร็ว ,เมื่อเจริญวัย อายุได้ ๑๖ ปี   ก็ลาพระมารดาว่าจะล่องเรือไปทำการค้ายังดินแดนสุวรรณภูมิ เพื่อสะสมทุนรอน และกำลังคน เพื่อชิงราชสมบัตินครมิถิลา

 

พระมารดาจึงนำทรัพย์สินที่ติดตัวมาครั้งยังเป็นพระมเหสี ออกมา ๓ สิ่ง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร มอบให้เป็นทุน , พระมหาชนกนำแก้วมณีล้ำค่าทั้งสามไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าขึ้นเรือสำเภาลำใหญ่ พร้อมด้วยลูกเรือราว ๗๐๐ คน 

 

เรือสำเภาแล่นผ่านมหาสมุทรเวิ้งว้าง ไปไกลถึง ๗๐๐ ร้อยโยชน์ ,ล่องไปไกลแสนไกล วันเวลาล่วงเลยไป วันแล้ว วันเล่า  * โยชน์คือหน่วยวัดระยะสมัยโบราณ ๑ โยชน์เท่ากับ ๑๖ กิโลเมตร

 

จนถึงวันที่ ๗ เกิดพายุโหมกระหน่ำ คลื่นลูกใหญ่ซัด พัดพาน้ำทะเล ท่วมทะลักเข้ามาในเรือ ลูกเรือตื่นตระหนกพลัดตกลงในทะเล กระเสือกกระสนจมหายไป , พายุรุนแรงขึ้น คลื่นลมในมหาสมุทรปั่นป่วนไปทุกสารทิศ ในเกลียวคลื่นรุนแรงมหันตภัยรายล้อมอยู่เบื้องล่าง ,หลายชีวิตต้องสังเวยเป็นเหยื่อสัตว์ร้ายภายใต้ท้องทะเล ทุกคนหวาดกลัวและสิ้นหวัง , แต่พระมหาชนกมีสติตั้งมั่น เตรียมพร้อมรับสถานการณ์โดยกินน้ำตาลกรวดคลุกกับเนยจนอิ่มท้อง ,นำผ้าฝ้ายเนื้อเกลี้ยงชุบน้ำมันพันกายแน่นหนา รวบรวมพละกำลังปีนขึ้นไปบนเชือกที่กวัดแกว่งไปตามแรงพายุ 

 

เมื่อมองลงไปเบื้องล่าง เห็นผู้คนสูญหายถูกดูดกลืนลงไปใต้ท้องทะเล  พระองค์ก็ตั้งใจแน่วแน่ “เราต้องรอดไปให้ได้” ,พระองค์ทรงกัดฟันสู้พายุร้ายลมแรง ปีนป่ายจนถึงยอดเสากระโดงเรือ ,เพ่งมองไปเบื้องหน้า กำหนดทิศทางไปสู่มิถิลานคร แล้วรวบรวมพละกำลัง กระโดดพุ่งจากยอดเสากระโดงเรือ ให้ข้ามพ้นฝูงสัตว์ร้ายที่อยู่เบื้องล่าง

 

พระมหาชนกตัดสินใจ แหวกว่ายฝ่าคลื่นลมที่ถาโถมรายรอบ มุ่งหน้าไปอย่างเด็ดเดี่ยว ผ่านวัน......ผ่านคืน..... ฝ่ากระแสคลื่นมิรู้สิ้นสุด อยู่ในห่วงมหาสมุทรจนล่วงไปถึงวันที่เจ็ด ,ท่ามกลางความมืดมิดนั้น พลันมีแสงสว่างจากฟากฟ้า สาดแสงลงมา ปรากฎร่าง นางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร เห็นพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่ตามลำพัง ด้วยความวิริยะเช่นนั้น ก็ประหลาดใจ จึงเอ่ยถามว่า “ใครกันนี่ ทั้งๆที่มองไปทางไหนก็ไม่เห็นฝั่ง ท่านกลับเพียรพยายามอยู่อย่างนี้ ท่านเห็นประโยชน์อันใดหรือ”

 

แม้เรี่ยงแรงของพระมหาชนกจะถดถอยลงมาก แต่ก็ทรงตอบด้วยความมุ่งมั่น “เทพธิดา เราพิจารณาสิ่งที่พึงกระทำในโลก และอานิสงค์ของความเพียร ดังนั้น แม้มองไม่เป็นฝั่ง เราก็จักพยายามต่อไปอย่างไม่ลดละ”

 

นางมณีเมขลาถามต่อด้วยความประหลาดใจว่า “มหาสมุทรทั้งลึกและกว้างใหญ่ ความพยายามของท่ายย่อมเปล่าประโยชน์ ท่ายจักต้องตายก่อนที่จะถึงฝังเป็นแน่” พระมหาชนกตอบว่า “บุคคลที่กระทำความเพียรอย่างลูกผู้ชาย แม้ตายก็ไม่มีผู้ใดติเตียน” , นางมณีเมขลายังไต่ถามต่อว่า “ความพยายามที่ไม่มีวันสำเร็จ ทั้งความยากลำบาก และผลลัพธ์จะนำไปสู่ความตาย แล้วความพยายามนั้นจะมีประโยชน์อะไร” 

 

พระมหาชนกตอบเทพธิดามณีเมขลาว่า “ในโลกนี้มีคนบางจำพวก ไม่ว่าการกระทำจะสำเร็จหรือไม่ ก็ไม่ละความพยายาม ท่านก็เห็นมิใช่หรือว่า ขณะที่คนอื่นๆจมน้ำไปสิ้นแล้ว เราคนเดียวเท่านั้นที่พยายามว่ายอยู่ และยังเห็นท่านสถิตอยู่ใกล้เรา” , นางมณีเมขลาได้ฟังแจ่มแจ้ง ก็ชื่นชมในความเพียร ของพระมหาชน นางจึงถลาลงสู่มหาสมุทร ถามถึงจุดหมายปลายทาง ที่พระมหาชนกประสงค์จะไปให้ถึง , เทพธิดาอุ้มร่างของพระมหาชนกเหินขึ้นฟ้าพาสู่มิถิลานคร

 

เมื่อถึงนครมิถิลา .... เทพธิดา ก็วางพระมหาชนกลง ณ ศาลาในอุทยานแห่งหนึ่ง , กล่าวถึงพระโปลชนก มีแต่ธิดาไม่มีโอรส ก็มุ่งหมายจะรักษทบัลลังก์นี้ไว้แก่ทายาทของพระเชษฐา ครั้นเฝ้าตามหาอย่างไรก้ไม่พบ  ในยามนี้ พระองค์ชรา และกำลังประชวรอย่างหนัก จึงประสงค์ให้พระนางสีวลีพระธิดา ได้มีคู่ครองเพื่อสืบราชสมบัติ “ข้าจะยกราชสมบัติให้แก่บุคคล ที่มีคุณสมบัติทั้ง ๔ ข้อ ,ข้อแรกคือ เป็นที่พึงพอใจของพระธิดา ,ข้อสอง สามารถโก่งสหัสถามะธนูได้ ,ข้อสาม รู้หัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม และข้อสุดท้าย สามารถไขปริศนา นำขุมทรัพย์ใหญ่ทั้ง ๑๖ แห่งออกมาได้” , หลังจากนั้นไม่นาน พระอง๕ืก็สิ้นพระชนม์ลง 

 

เหล่าเสนาข้าราชบริพารได้สรรหาผู้มีคุณสมบัติทั่วทั้งแผ่นดินก้ไม่พบ , จึงให้ปุโรหิตทำพิธีเสี่ยงราชรถ เพื่อเสาะหาผู้มีบุญญาธิการ , ราชรถได้แล่นลิ่วไปยังทิศที่ตั้งอุทยาน และมาหยุดอยู่ที่หน้าสาลาที่พระมหาชนกประทับอยู่ ,ชนทั้งหลายต่างแซ่ซ้องยินดี ทูลเชิญพระองค์เสด็จขึ้นราชรถ เพื่อเข้าไปยังพระราชวัง เพื่อทดสอบคุณสมบัติทั้ง ๔ ข้อ 

 

ฝ่ายพระนางสีวลี ครั้นได้เห็นพระมหาชนกก้าวลงจากราชรถก็รู้สึกชื่นชมตั้งแต่แรกพบ , พระนางยื่นพระหัตถ์เชื้อเชิญพระองค์เข้าไปในพระราชวัง , เมื่อพระนางสีวลียื่นพระหัตถ์ให้พระมหาชนก ผู้มีคุณสมบัติข้อแรกได้ถูกค้นพบแล้ว , สหัสสถามะธนู คุณสมบัติข้อที่สอง มีน้ำหนักมหาศาล ธนูนี้ต้องใช้แรงคนโก่งถึง ๑,๐๐๐ คน แต่ด้วยพละกำลังมหาศาล ะรัมหาชนกสามารถโก่งคันธนูได้โดยง่าย ดั่งสตรียกไม้กงดีดฝ้าย , คุณสมบัติข้อที่สาม รู้หัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม อันมีลักษณะเหมือนกันทั้งสี่ทิศ พระองค์จะต้องบอกให้ได้ว่า ทิศใดเป็นหัวนอน

 

พระมหาชนกนิ่งพิจารณา กวาดสายตาไปรอบๆฃบัลลังก์ แล้วชี้ทิศไปที่หัวนอนอย่างถูกต้อง ,เหตุเพราะพระนางสีวลีได้วางปิ่นไว้เป็นสัญลักษณ์ให้ทรงทราบ ด้วยพระนางมีควารักต่อพระมหาชนกตั้งแต่แรกพบ , ปริศนาข้อสุดท้าย ขุมทรัพย์ใหญ่ทั้ง ๑๖ แห่งอยู่ที่ใด พระมหาชนกใช้ปัญญาไขปริศนาดังนี้ 

 

๑ ขุมทรัพย์ที่พระอาทิตย์ขึ้น คือขุมทรพย์ที่ฝังไว้บริเวณที่ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้า * พระปัจเจกพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ตรัสรู้เฉพาะตัวไม่สั่งสอนผู้อื่น จะอุบัติขึ้นในเวลาที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้า

๒ ขุมทรัพย์ที่พระอาทิตย์ตก คือขุมทรัพย์ที่ฝังไว้บริเวณที่ส่งพระปัจเจกพุทธเจ้าเดินทางกลับ

๓ ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน คือ ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ภายในประตูใหญ่ของพระราชวัง 

๔ ขุมทัรพย์ที่อยู่ภานนอก คือ ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ภายนอก ประตูใหญ่ของพระราชวัง 

๕ ขุมทรัพย์ที่มิได้อยู่ภายในและภายนอก คือ ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้ธรณีประตูใหญ่ของพระราชวัง

๖ ขุมทรัพย์ขาขึ้น คือขุมทรัพย์ที่ฝังอยู่ใต้บันใดทางขึ้นช้างมงคล

๗ ขุมทรัพย์ขสลง คือ ขุมทรัพย์ที่ฝังอยู่ใต้บันใดทางลงจากคอช้าง

๘ - ๑๑ ขุมทรัพย์ที่ไม้รังทั้งสี่ คือขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้แท่นบรรทม ที่ทำจากไม้รังทั้งสี่มุม

๑๒ ขุมทรัพย์ที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ คือขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ชั่วแอก  ( ๑ วา ) รอบแท่นบรรทม

๑๓ ขุมทรัพย์ที่ปลายงา คือขุมทรัพย์ที่ฝังอยู่ที่ใต้ปลายงาที่ชี้ลงในโรงเก็บช้างมงคล

๑๔ ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง คือขุมทรัพย์ที่ฝังอยู่ที่ใต้ปลายหางของช้างมงคล

๑๕ ขุมทรัพย์ที่สระน้ำ คือขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ในสระโบกขรณีมงคล

๑๖ ขุมทรัพย์ที่ยอดไม้ คือขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ในอาณาเขตเงา ยามเที่ยงวัน ของต้นรังใหญ่ในพระราชอุทยาน 

 

ด้วยพระปัญญา พระมหาชนกสามารถไขปริศนาได้ทั้งหมด จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะครองบัลลังก์ทุกประการ ,ครั้นได้ไต่ถามความเป็นมาจึงทราบว่า พระมหาชนกมิใช่ใครอื่น แต่หากเป็นโอรสของพระเจ้าอริฏฐชนกนั่นเอง , พระมหาชนกครองราชสมบัติโดยสืบมา พระมารดาและพราหมณ์ก็ได้มาอยู่ที่มิถิลานคร , ต่อมาพระมหาชนกและมเหสีสีวลี ได้มีโอรส นามว่า “ฑีฆาวุราชกุมาร”

 

ครั้นแล้ว...พระมหาชนกครุ่นคิดถึงเรื่องราวที่ได้ผ่านพ้นมา ทรงตึกตรองว่า บัณฑิต พึงมีความเพียรอย่างไม่ลดละ บัดนี้ แม้พระองค์ได้ครอบครองราชสมบัติทางโลกทั้งปวงแล้ว , แต่ก็ยังเสาะแสวงหาเป้าหมายชีวิตอันสูงส่งและดีงาม 

 

กระทั่งวันหนึ่ง ขณะเสด็จประพาสอุทยาน บริเวณใกล้ประตูอุทยานนั้น มีต้นมะม่วงขึ้นอยู่สองต้น , ต้นหนึ่งมีผลดก ต้นหนึ่งไม่มีผลเลย พระองค์ได้เสวยมะม่วงจากต้นที่มีผลดก ปรากฎว่ามะม่วงนั้นหวานอร่อยประดุจรสทิพย์ , ประชาชนเมื่อรู้ว่าพระราชเสวยมะม่วง ก็กรูกันมาเก็บกิน และ เมื่อได้ลิ้มรสความอร่อยของมะม่วง ต่างก็ชักชวนกันมามากมาย....ชนเหล่านั้นทั้งปีนทั้งป่าย หักกิ่งก้านสาขา จนไม่เหลือมะม่วงแม้เพียงสักผล , ต้นมะม่วงก็ถูกทำลายต้องหักโค่นลงและแห้งตายไปในที่สุด 

 

เมื่อพระมหาชนกเสด็จกลับไปยังที่นั่นอีกครั้งหนึ่ง ก็พบว่า บัดนี้ มะม่วงต้นที่มีผล รสอร่อย ได้ถูกหักโค่นลงแล้ว คงเหลือไว้แต่ต้นที่ไม่มีผลยังคงยืนต้นดังเดิม  พระองค์ทรงพิจารณาต้นมะม่วง และคำนึงว่า “ต้นมะม่วงที่มีผล ผู้คนย่อมเกิดความปรารถนาอยากจะครอบครอง , ผู้คนจึงมาเบียดเบียน ทำให้ต้องเสียกิ่งก้านดอกผล จนเกิดทุกข์” , “เฉกเช่นเดียวกับคน ย่อมฆ่าเสือเพราะหนัง ย่อมฆ่าช้างเพราะงา ย่อมฆ่าคนมั่งคั่งเพราะทรัพย์สิน ใครเล่าจักฆ่าคนซึ่งละการครอบครองสมบัติ ละการทะยานอยากทั้งหลาย” , ต้นมะม่วงสองต้นนี้ เสมือนหนึ่งผู้สั่งสอนธรรมะแก่เรา” พระองค์ตัดสินใจจะออกบวชแสวงธรรมแห่งการหลุดพ้น

 

เมื่อเสด็จกลับมายังพระราชวัง พระมหาชนกออกท้องพระโรงและประกาศความประสงค์ที่จะออกบวช แก่พระมเหสีและเหล่าเสนาอำมาตย์ , พระองค์ได้อภิเษกพระทีฆาวุราชกุมาร ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองบัลลังก์สืบต่อไป , แล้วพระองค์ก็ทรงปลงพระเกศา ครองผ้ากาสาวพัสตร์เข้าสู่เพศบบรรพชิต เสด็จออกจากพระราชวังตามลำพังไปสู่หนทางแสวงธรรม , พระนางสีวลีอ้อนวอนให้เสด็จกลับก็ไม่เป็นผล จึงให้อำมาตย์เผาโรงเรือนเก่าๆ และกองหญ้า กองใบไม้ แสร้งเป็นว่าไฟไหม้พระคลัง , แต่พระมหาชนก กลับตรัสว่า “เราละสมบัติทางโลกแล้ว สมบัติที่แท้จริงคือความสุขสงบจากการบรรพชานั้น ยังคงอยู่กับเรา ไม่มีสิ่งใดทำลายได้” 

 

พระนางสีวลีได้แต่ตืดตามพระมหาชนกไป , วันหนึ่ง มีสุนัขคาบเนื้อวิ่งผ่านมา พบผู้คนเช้าก้ตกใจ คายชิ้นเนื้อไว้กลางถนน พระมหาชนกพิจารณาว่า ก้อนเนื้อนี้ไม่มีเจ้าของจึงเสวยเนื้อก้อนนั้น  , พระนางสีวลีเห็นดังนั้น ก็ตำหนิพระมหาชนกที่เสวยเนื้อก้อนอันเป็นของเหลือจากสุนัข , พระมหาชนกมิได้สนใจคำทัดทาน ยังคงเสวยก้อนเนื้อต่อไปโดยสงบ แล้วตรัสตอบว่า “ดูกรพระนางสีวลี บิณฑบาตรใด อันบุคคลผู้ครองเรือนหรือสุนัขสละแล้ว เราย่อมบริโถคอาหารนั้นได้ ,ของบริโภคใดๆในโลกนี้ที่ได้มาโดยธรรม ของบริโภคทั้งหมดนั้น กล่าวกันว่าไม่มีโทษ”

 

และพระนางสีวลียังคงติดตามพระองค์อย่างไม่ลดละ จนกระทั่งได้พบเด็กหญิงคนหนึ่ง นามว่า “กุมาริกา” ผู้สวมกำไลข้อมือสองข้าง , ข้อมือของเด็กหญิงข้างหนึ่งมีกำไลหนึ่งวง อีกข้างหนึ่งมีสองวง ,พระมหาชนกสังเกตุดังนั้นก็ถามว่า “ เพราะเหตุใดกำไลข้อมือของเธอ ข้างหนึ่งจึงมีเสียงดัง อีกข้างหนึ่งไม่มีเสียงดัง” 

 

เด็กหญิงตอบว่า “ท่านสมณะ เพราะกำไลสองวงอยู่ร่วมกัน กระทบกัน จึงเกิดเสียงดัง มือข้างที่สวมกำไลเพียงวงเดียว ย่อมไม่มีเสียงดัง เหมือนมุนีสงบนิ่งอยู่ คนมีคู่จึงถึงความวิวาทกัน บุคคลเดียวจักวิวาทกับใคร ท่านนั้นเป็นผู้ปรารถนาสวรรค์ ก็ขอจงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด”

 

พระมหาชนกได้ยินดังนั้น ก็ตรัสแนะให้พระนางสีวลีพิจารณา , นางกุมาริกาแม้อ่อนวัย ยังเห็นว่าบรรพชิตและสตรีเดินตามกันมา ย่อมเป็นเหตุให้ผู้คนติเตียน , แต่พระนางสีวลียังคงยืนกราน ติดตามพระองค์ต่อไป , จนมาพบนายช่างศร ซึ่งกำลังหลับตาข้างหนึ่ง เล็งเพื่อดัดลูกสรที่คดให้ตรง ,พระมหาชนกเพ่งมองการกระทำของนายช่างศรด้วยความสงสัย , จึงตรัสถามว่า “เหตุใดท่านจึง หลับตาข้างหนึ่ง ในการดักลูกศรนี้” 

 

นายช่างศรกล่าวว่า “การเล็งด้วยตาข้างเดียว ย่อมเห็นความคดของศรได้ชัดเจนกว่าการเล็งด้วยตาทั้งสองข้าง ท่านนั้นเป็นผู้ปรารถนาสวรรค์ ก็ขอจงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด” , พระมหาชนก เตือนพระนางสีวลีอีกครั้งว่า พระองค์ประสงค์จะเดินทางไปโดยลำพัง เพื่อแสวงหาความสงบ ไม่ต้องการสิ่งใดรบกวน อันเกิดจากการอยู่ร่วมกันกับผู้ใดอีกต่อไป

 

พระนางสีวลีศรัทธาความแน่วแน่ในการออกบวช ของพระมหาชนกยิ่งนัก แต่พระนางก็ยังยืนยันที่จะติดตามพระองค์ต่อไป , จนมาถึงทางแยก...........

 

พระมหาชนกจึงตรัสว่า “เธอจงถือเอาทางหนึ่ง เราก็จักถือเอาทางหนึ่ง เธอจงเลือกหนทางของเธอ เราจักเลือกหนทาง ที่จักอยู่ผู้เดียว , เราได้เดินทางมาถึงทางสองแพร่งนี้แล้ว เธอจงเลือกหนทางสายหนึ่ง ซึ่งจะเดินทางไปแต่เพียงผู้เดียวเถิด”

 

เช่นเดียวกับต้นหญ้าที่ถูกถอนรากขึ้นจากแผ่นดินแล้ว ย่อมไม่สามารถสืบต่อกับแผ่นดินเดิมได้อีก , บัดนี้พระนางสีวลี ไม่อาจทัดทานได้อีกต่อไป จึงยอมตัดใจ ปล่อยให้พระมหาชนก มุ่งหน้าแยกทางไป สู่เส้นทางแสวงธรรม....

 

พระมหาชนกบำเพ็ญวิริยะบารมี ด้วยความเพียรไม่ลดละ พระองค์มุ่งแสวงหาธรรมเพื่อความหลุดพ้น จนสำเร็จดังปณิธานได้ในที่สุด เมื่อสิ้นพระชนม์ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก.........
 

ติดตามเรื่องราวต่างๆผ่านการเล่าเรื่อง : Lifesty ธรรมดา channel
Create Date :22 เมษายน 2566 Last Update :26 เมษายน 2566 15:45:28 น. Counter : 753 Pageviews. Comments :0