bloggang.com mainmenu search
เด็กอัจฉริยะบรรยายเวทีวิชาการ
ากหนูน้อยโมสาร์ท ปิกัสโซรุ่นจิ๋ว สู่ทำเนียบ 1 ใน 15 เด็กอัจฉริยะโลก โดยเว็บไซต์จัดอันดับการศึกษาชื่อดังของสหรัฐอเมริกา "เดอะเบสต์สคูลส์"

มีโอกาสตามติด น้องธนัช ด.ช.ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี วัย 11 ขวบ เด็กไทยคนเก่ง จึงได้เห็นความสามารถในอีกบทบาทนั่นคือวิทยากรน้อยแต่เนื้อหาสาระเข้มข้น ใน การประชุมวิชาการนานาชาติ "การประกันคุณภาพการศึกษา" ประจำปี 2556 ในหัวข้อ "คนคุณภาพ : ทันสมัย ทันโลก" จัดโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือสมศ. เมื่อ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ไบเทค บางนา ซึ่งมีผู้เข้าฟังคับคั่ง

"การที่ผมได้รับเกียรติว่าเป็นเด็กอัจฉริยะนั้น อย่าเข้าใจว่าผมจะรู้ไปหมดทุกเรื่องนะครับ ถึงจะมีบางเรื่องที่ผมรู้ล้ำหน้าไปกว่าอายุ แต่ผมตระหนักเสมอว่ายังมีเรื่องให้ผมเรียนรู้อีกมากมาย ที่ได้รับเชิญมาในวันนี้เพื่อมา แบ่งปันวิธีการและประสบการณ์การเรียนรู้ให้ท่านที่เคารพได้ฟังกันครับ" น้องธนัชออกตัว เกริ่นนำ 
นี่คือคำบรรยายคำต่อคำของวิทยากรน้อย


"ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ครอบครัวของผมจึงมีความเห็นว่าการศึกษาไม่ควรจำกัดอยู่ในห้องเรียน หรือระบบการศึกษาแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตระหนักในศักยภาพการเรียนรู้ของผม และความพร้อมของท่านที่จะเรียนรู้ไปกับผม จึงผันผมออกจากผู้เรียนในห้องเรียนมาเป็นผู้เรียนในโลกกว้าง และปรับเปลี่ยน ระบบการเรียนแบบใหม่ที่เรียกว่า "แฟมิลี่ อคาเดมี" โลกทั้งใบคือห้องเรียนอันกว้างใหญ่ไพศาลของเราครับ

การเรียนรู้ของผมเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ผมสามารถเก็บเกี่ยวความรู้รอบตัวได้เสมอ ต่างจากระบบการศึกษาปัจจุบันที่มีมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมปีค.ศ.1750 หรือ 200 กว่าปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีองค์ประกอบที่ควรปรับเปลี่ยน 4 อย่างคือ 1.นักเรียน 2.ครู 3.สถานที่เรียน และ 4.วิชา"

ธนัชคลิกภาพตัวอย่างแสดงบนจอไปพร้อมอธิบายว่า "สภาพของนักเรียนที่ถูกจับนั่งโต๊ะตั้งแต่อนุบาล ประถม จนถึงมัธยม ทุกท่านเคยมีประสบการณ์มาแล้วใช่ไหมครับ ผมโชคดีที่ไม่ต้องมีประสบการณ์นี้นานๆ ทีนี้มาดูคุณครูบ้าง ครูคนหนึ่งยืนเท้าสะเอวทำท่าเอาเรื่องนักเรียน อีกคนยืนหันหลังเอาแต่เขียนบทเรียนบนกระดาน เป็นการสอนแบบยืนพูดหน้าชั้นเรียนคนเดียวเป็นหลัก ซึ่งครูสมัยใหม่ควรเป็นครูที่กระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้ คิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์มากกว่า เรื่องการจัดห้องเรียนนั้น จากหันหน้าเข้าหากระดานก็ควรจัดหันหน้าเข้าหากันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระดมสมอง 

และจากเดิมที่แยกเรียนเป็นรายวิชาซึ่ง ไม่มีความเชื่อมโยงมาเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ

การเรียนของผมมีด้วยกัน 3 แบบครับ หนึ่ง คือเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้พื้นที่เขตสำนักงานการศึกษาออกใบประเมินให้ สอง เป็นหลักสูตรของอเมริกา สำหรับเตรียมตัวเผื่อต้องไปเรียนที่โน่น สุดท้ายเป็นความรู้ทั่วไปจากแหล่งเรียนรู้ ทั่วโลก

ผู้สอนก็มี 3 แบบเช่นกันครับ คือ คุณพ่อคุณแม่ เรื่องไหนที่ท่านรู้ท่านจะถ่ายทอดให้ผมอย่างสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ จนบางครั้งไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังเรียน สอง สอนโดย ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้สดใหม่ ทันสมัย และเฉพาะทาง สาม เรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่นเรียนในอินเตอร์เน็ตหรืออ่านจากหนังสือ 

การเรียนเพื่อรู้อย่างแท้จริงจะสัมฤทธิผลเมื่อผู้สอนและผู้เรียนอยู่ในคนคนเดียวกันครับ นี่คือหัวใจหลักการเรียนรู้ของผม 

เมื่อผมอยากรู้อะไรผมจะเริ่มค้นหา เว็บแรกทุกท่านคงรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี นั่นคือกูเกิ้ลถามอะไรรู้หมด ส่วนยูทูบเป็นครูตัวจริงของผมเลย

ยูทูบมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ ข้อดีคือเป็นวิดีโอที่เห็นภาพเคลื่อนไหว สามารถทำความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ได้โดยไม่ต้องจินตนาการผ่านเท็กซ์ แต่ข้อเสียคือไม่มีการตรวจประเภทวิดีโอ ดังนั้นต้องใช้ให้ถูกนะครับ 

เว็บไซต์อื่นๆ ที่ผมใช้ยังมีวิกิพีเดีย, คานห์อคาเดมี (khanacademy.com), เอ็ดเอ็กซ์ (edx.com), คอร์สเซรา (coursera.com) และซิมูโนมิกส์ (simunomics.com) เกมวางแผนธุรกิจ ที่เราสวมบทเป็นซีอีโอของบริษัท เริ่มเล่นเขาจะให้เงินทุน 1 ล้านบั๊ก ตอนนี้ผมบริหารจนมีเงินกว่า 5.4 พันล้านบั๊กแล้วครับ

กระบวนการเรียนรู้ของผม คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝัง วางแผน และสนับสนุนให้เรียนได้หลายๆ แบบ แต่ต้องรู้ทั้งลึกและกว้าง ไม่ใช่รู้งูๆ ปลาๆ หากผมยังอยู่ในระบบโรงเรียน น่าจะอยู่ชั้นป.5 หรือป.6 แต่บางวิชาที่ผม เรียนในปัจจุบันเป็นของมัธยมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยแล้วครับ ที่พัฒนาการของผมก้าวหน้าได้เร็วแบบนี้เป็นเพราะการผนึกกำลังของคุณพ่อคุณแม่และความมุ่งมั่นของตัวผมเองเป็นสำคัญ

กิจกรรมที่ผมชอบที่สุดคือการอ่าน ผมอ่านหนังสือได้ทุกประเภท ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งนั่งอยู่ในรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตตอนคุณพ่อซื้อของนั่งรออาหารในร้าน หรือบนรถไฟฟ้าขณะเดินทาง ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ที่ไหนผมก็ตั้งใจ คอยฟัง คิดตาม อ่านตาม และถามเมื่อมีข้อสงสัย 

คุณพ่อสอนว่าถ้ามีความรู้แต่ไม่แข็งแรงก็ใช้ความรู้ได้ไม่เต็มที่พอตื่นนอนปุ๊บผมจะออกกำลังกาย กระโดดเชือกบ้าง ไปสนามเด็กเล่นหรือไปตีกอล์ฟ 

ในแต่ละวันที่ผมต้องเรียน ซ้อมไวโอลิน และออกกำลังกายแล้ว ผมยังช่วยงานบ้าน ทั้งทำอาหารและล้างรถ ผมไม่ได้เรียนเฉพาะวิชาทางโลกเท่านั้น หลายคนบอกว่าเรียนที่บ้านแล้วจะมีเพื่อนหรือ มีครับ มีทั้งเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกัน เพื่อนรุ่นพี่ และผู้เชี่ยวชาญซึ่งบางท่านมองผมเป็นเพื่อน 

ผมชอบนะครับเพราะได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากท่าน นอกจากนี้ผมกำลังศึกษา คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยการอ่านพุทธวจนะด้วยครับ" 

น้องธนัชจบบรรยายท่ามกลางเสียงปรบมือดังสนั่นห้องประชุม ก่อนจะมีช่วงถามตอบจากผู้ฟังด้วยความสนใจ


ลังลงเวที วิทยากรตัวน้อยยังถูกรุมล้อมขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอย่างคึกคัก ธนัชเล่าถึงความสำเร็จในการบรรยายครั้งนี้ว่า "แค่ได้เห็นทุกคนชอบในสิ่งที่ผมทำก็ภูมิใจครับ ผมตั้งใจนำประสบการณ์มาแบ่งปัน หวังว่าผู้ที่มาฟังจะนำกลับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ควรนำไปประยุกต์นะครับ ไม่ใช่ก๊อบปี้ตามผมเป๊ะๆ การเรียนแบบแฟมิลี่ อคาเดมี ครอบครัวต้องมีความพร้อม ความพร้อมที่ว่าไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเวลาและความสนใจ 

ส่วนคำถามที่ว่าเป็นไปได้ไหมที่นักเรียนในระบบการศึกษาไทย จะรู้รอบด้านอย่างที่คุณพ่อคุณแม่สอนผม คงต้องบอกว่ายากครับ ด้วยปัจจัยด้านเวลาและข้อจำกัดจากการเรียนเฉพาะในห้อง จะอีกกี่สิบปีก็รู้แค่วิชาการตามหลักสูตร ไม่ใช่วิชาที่ถนัดหรืออยากเรียนจริงๆ

ผมมองว่าถ้าผู้ดูแลระบบการศึกษามีประสบการณ์ความเป็นครูรับฟังความเห็นของนักเรียน และสอนสิ่งที่มีประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิต การศึกษาไทยก็คงจะดีขึ้นกว่านี้นะครับ" น้องธนัชทิ้งท้าย
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
Create Date :21 พฤศจิกายน 2556 Last Update :21 พฤศจิกายน 2556 15:45:56 น. Counter : 9955 Pageviews. Comments :2