bloggang.com mainmenu search


พื้นที่ดำเนินสะดวก เป็นที่ราบลุ่มที่ขนาบด้วยแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน ในฤดูน้ำหลาก เห็นท้องน้ำสุดลูกหูลูกตา เรือกสวนไร่นาถูกลบหายไป แทบจะมองไม่เห็นผืนดิน นอกจากต้นไม้ใหญ่ๆ อย่างต้นมะม่วง, ทองหลาง, มะพร้าว หากคนต่างถิ่นมาเห็น คงนึกในใจว่าเขาอยู่กันอย่างไร จะเอาอะไรกิน พืชผักก็ปลูกไม่ได้

เครื่องประดับทองคำ เป็นตัวช่วยให้ชีวิตรอดไป ปีต่อปี นี่ว่าด้วยชีวิตของชาวสวนดำเนินฯ เมื่อน้ำที่ท่วมเริ่มลดลง พ่อบ้านแม่บ้านก็จะเอาของมีค่าไปจำนำนายเงินกู้ เอาเงินมาลงทุนปลูกผักปลูกหญ้ากันต่อไป กว่าพืชผักจะออกดอกออกผล ดอกเบี้ยก็งามแซงหน้าไปแล้ว ตามใช้หนี้แทบไม่ทัน การขูดรีดระหว่างคนรวยกับคนจน จึงเป็นตำนานที่เล่าขานกันไม่รู้จบ

ในท่ามกลางความอดอยากปากแห้งของผู้คนในแถบนั้น ก็ยังโชคดีที่แม่น้ำลำคลองอุดมด้วยปลานานาชนิด มี ปลาสร้อย ปลาช่อน ปลาหมอ ปลากด ปลาเนื้ออ่อน ปลาตะเพียน ฯลฯ หลังน้ำลด พื้นดินที่นี่จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุสำหรับทำการเกษตร โดยไม่ต้องบำรุงดินกันอย่างสมัยนี้ เมื่อมีเขื่อนขนาดใหญ่เกิดขึ้น ความอุดมสมบูรณ์นั้นก็แทบมลายหายไป

ก่อนปี พ.ศ. 2523 ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้นแม่น้ำแม่กลอง หน้าน้ำลดนี่แหละ บ้านไหนที่ทุนรอนสักหน่อยก็จะทำยอหรือตาข่ายยกปลาขึ้นมาจากท้องน้ำ พวกเราเด็กๆจะตื่นแต่เช้าไปที่ยอ ต้องตื่นก่อนปลาจะรู้ตัว เราจึงได้ปลามากในตอนเช้ามืด หากสายสักหน่อยจะยกไม่ได้ปลา ยอที่บ้านดูค่อนข้างใหญ่กว่าชาวบ้าน ทำกันอย่างจริงๆ จังๆ ยกแต่ละครั้งได้ปลาค่อนข้างมาก มีทั้งปลาสร้อย ปลาซิว ปลาตะเพียน ชุมจริงๆ กินกันไม่ทัน จำไม่ได้ว่าเหลือไปขายหรือไม่ แต่ที่จำได้แม่นคือ แม่จะเอาไปทำน้ำปลา

การยกยอตามแม่น้ำใหญ่คงไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำ แต่การยกยอในลำคลองที่กว้างไม่ถึง 10 เมตร คนที่สัญจรทางน้ำจะหงุดหงิดมาก เวลาชาวบ้านริมฝั่งคลองเอายอลงน้ำ มันกินอาณาเขตเกือบครึ่งค่อนคลอง คนพายเรือ หรือเรือยนต์ต้องวิ่งไปชิดอีกด้านหนึ่งของคลอง หากลำคลองนั้นมียอทั้งฝั่งซ้ายขาว คนที่แล่นเรือไปในคลองนั้น ต้องไปอย่างสลับฟันปลา แต่พวกเขาก็อะลุ่มอล่วยกัน ผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวมไปด้วยกันได้ ตามประสาสังคมคนบ้านนอก

การทำน้ำปลาของบ้านเรา ไม่ต้องมีความรู้อะไรทั้งสิ้น จำๆเขามา วิธีทำคือ เอาปลาสร้อยคลุกกับเกลือ ปลา 2 ส่วน เกลือ 1 ส่วน ก่อนเอาปลาคลุกเกลือใส่ในโอ่งราชบุรี เอาเกลือรองพื้นไว้บางส่วน เมื่อใส่ปลาเกือบเต็มโอ่งแล้ว ก็เอาเกลือโรยชั้นบนอีกที คลุมด้วยเสื่อลำแพน แล้วขัดด้วยไม้ไผ่ กดทับด้วยก้อนหิน เพื่อกันปลาลอยเวลาเกิดน้ำปลา เปิดให้แดดส่องถึงบ้างเป็นครั้งคราว รอจนกว่าปลาจะละลายกลายเป็นหัวน้ำปลา ใช้เวลาหมัก 1 ปี หลังจากนั้นใช้ผ้าขาวบางกรองกางปลาออกไป นำมากรอกใส่ขวดแม่โขง แจกเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง

น้ำปลาที่ทำกินเองนี้ เข้มข้นมาก เราฆ่าเชื้อโรคและลดกลิ่นคาวโดยนำออกมาตากแดดทั้งขวด นานกว่า 1 สัปดาห์ แต่น่าแปลกที่พวกเราเด็กๆทนกินน้ำปลาแท้ไม่ค่อยได้ ติว่าเหม็นคาวเกินไป หันกลับไปกินน้ำปลาปลอม หรือน้ำผสมเกลือใส่ผงชูรสเติมสี ขวดละ 3 บาทตามความเคยชิน
Create Date :19 เมษายน 2552 Last Update :9 มกราคม 2553 20:43:04 น. Counter : Pageviews. Comments :48