Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2559
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
24 พฤศจิกายน 2559
 
All Blogs
 
ห้วงเวลาที่ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช





fb_img_1479293319082

ห้วงเวลาที่ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช นอกจากการถวายการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำพระองค์แล้ว วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ เป็นเสมือนพระโอสถอีกขนาน

70 ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานหนักมาโดยตลอด

ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่เคยมีวันหยุด

ทั้งนี้ นอกจากพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง และทรงเรียบเรียงเสียงประสานทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อกับประชาชนของพระองค์

ทรงก่อตั้ง วง อ.ส.วันศุกร์ และทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง กระจายเสียงทางสถานีวิทยุเป็นประจำทุกวันศุกร์ เป็นการเปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ง่ายขึ้น

วง อ.ส.วันศุกร์มีความพิเศษตรงที่ว่า ตั้งแต่ตอนที่เสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ ทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง และพระราชทานแก่ประชาชน

มีพระราชประสงค์ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน

พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ทรงนำวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ไปด้วยเพื่อสร้างความผูกพัน

เวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลงก็ทรงใช้เราเล่น เพื่อที่จะเผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งเพลงพระราชนิพนธ์แต่ละเพลง ก็ทรงคิดไว้แล้วว่าจะพระราชทานให้ใคร

เช่น เพลง “ยิ้มสู้” ก็พระราชทานให้กับคนตาบอด

ผศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ สมาชิก อ.ส.วันศุกร์ ที่อายุน้อยที่สุด เปิดใจ

เขาเป็นอีกคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เข้าเฝ้าฯถวายรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในด้านดนตรีอยู่เนืองๆ ได้รับพระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณให้ร่วมบรรเลงดนตรีในวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี

เป็นบุตรของเรืออากาศตรี ศ. (พิเศษ) ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ และลออวรรณ ศรีกรานนท์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์เพื่อให้ไปศึกษาด้านดนตรีระดับปริญญาตรี Bachelor of Music in Composition and Saxophone Performance จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์อาร์เบอร์ ปริญญาโท Master of Music in Composition จากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก Doctor of Philosophy in Music Composition จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ สหราชอาณาจักร

fb_img_1479217068089

และกลับมารับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ทั้งทำเพลงถวาย และเล่นเพลงถวายในฐานะหนึ่งในสมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ กระทั่งสิ้นรัชกาล

ปัจจุบันในวัย 43 ปี ภาธรเป็นนักประพันธ์ดนตรีอิสระ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรรับเชิญให้กับสถาบันศึกษาต่างๆ

– เข้าเฝ้าครั้งแรก?


ครั้งแรกที่พ่อพาเข้าไปเฝ้า ผมอยู่อนุบาล 2 ตอนนั้นไม่รู้เรื่องหรอก ผมเด็กมาก จำอะไรไม่ได้มาก จำได้ว่าผมซ้อมกราบพระบาทโดยกราบเท้าพ่อ แล้วตอนที่ได้เข้าเฝ้าจริงๆ พอท่านเสด็จเข้ามา ผมไม่ได้กราบท่าน เพราะท่านใส่รองพระบาท แต่ตอนที่ซ้อมที่บ้านพ่อไม่ได้ใส่รองเท้า

แต่ตอนที่เข้าเฝ้าแล้วรู้เรื่องแล้วตอนสิบกว่าขวบ แล้วเห็นว่าท่านทรงแซกโซโฟนก็อยากเล่นบ้าง

– ยังไม่ได้คิดถึงการเป็นนักแซกโซโฟน?


ครับ แต่จริงๆ ตอนนั้นผมเล่นดนตรีแล้วนะ ที่สยามกลการ เรียนอิเล็กโทน ไวโอลิน แต่ไม่ได้จริงจังเพราะยังไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้อยากเล่นดนตรี วันที่ได้เข้าเฝ้าและเห็นพระองค์ท่านทรงแซกโซโฟนก็ยังไม่รู้อีกว่ามันคืออะไร ก็ถามพ่อว่าคืออะไร

แล้วพ่อเองมีอยู่แล้วเครื่องหนึ่งที่พระราชทานให้สำหรับถวายการสอนสมเด็จพระบรมฯ ตั้งแต่ยังทรงเป็นนักเรียนอยู่ในวังจิตร]ดา กลับมาบ้านผมก็เลยเอาแซกโซโฟนออกมาเล่น แต่ตอนนั้นยังเล่นไม่เป็น พ่อก็ไปเชิญครูจากกองทัพอากาศมาสอน พอเล่นได้สัก 4-5 เดือนพ่อก็พาไปถวาย

– ความรู้สึกครั้งแรกที่เห็นพระองค์ท่านทรงแซกโซโฟน?


ทรงประทับอยู่ ผมจะนั่งอยู่บนพื้น ผมมองจากตรงนั้น พอท่านเริ่มทรงดนตรีและเล่นแจ๊ซ ผมก็รู้สึกว่า ทรงเท่มาก

แล้ววิธีการทรงดนตรีของพระองค์ท่าน ท่านจะเล่นหวาน เป็นสไตล์การเล่นแบบสวิงที่มีการเอื้อนเสียงแบบจอห์นนี่ ฮ็อดเจส (Johnny Hodges) หรือเบนนิ คาร์เตอร์ เพราะพระองค์ท่านก็ทรงชื่นชอบนักดนตรีสองคนนี้มาก และก็ทรงเล่นได้อย่างนั้นเลย

หลังจากนั้นไม่ถึงปีผมก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวง พอไปเรียนที่นู่น ก็ไปเรียนจริงๆ จังๆ กระทั่งจบปริญญาเอกด้านดนตรี

– ได้เล่นดนตรีถวายจริงจังตอนไหน?


ทุกปี ผมจะกลับมาปีละ 2 ครั้ง ตอนนั้นก็ถือว่าเราโชคดีที่พ่อทำเพลงให้การบินไทยก็จะได้ค่าจ้างเป็นตั๋วโดยสารเครื่องบินปีละกี่ใบก็ว่ากันไป

เวลากลับมาก็เข้าไปเฝ้าเล่นถวายพระองค์ท่าน ท่านก็ทรงสอน แต่ไม่ได้สอนโดยตรง ทรงแนะนำ และทรงสอนเทคนิค ในขณะที่เราเล่นอยู่ในวง อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งสมัยนั้น อ.ส.วันศุกร์เล่นถวายอาทิตย์ละ 2 ครั้ง วันศุกร์กับอาทิตย์ ที่สวนจิตรลดา

แต่ตอนที่ผมกลับมาเป็นการถาวร พระองค์ท่านประทับอยู่ที่วังไกลกังวลแล้ว เราจะเล่นทุกวันเสาร์ เนื่องจากนักดนตรีส่วนมากทำงานที่กรุงเทพฯ มีคนหนึ่งมาจากเชียงใหม่ด้วยซ้ำ

ทรงเห็นว่าจะไม่สะดวกเลยรับสั่งว่า เวลาแปรพระราชฐานจะมีดนตรีวันเสาร์แทน

fb_img_1479217094652

– ดนตรีเป็นสิ่งเดียวที่ทรงใช้พักพระราชอิริยาบถ?


ใช่ครับ ในยุคต่อมา ทรงใช้ดนตรีเป็น “ยา” รักษาจิตใจ ช่วงที่ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชประชวรมาก เราก็ใจเสีย บทบาทของพวกเรา อ.ส.วันศุกร์ เราก็เล่นดนตรีถวายท่าน

เราทำทุกอย่างจะเป็นอะไรก็ได้ ในช่วงนั้นสมเด็จพระเทพฯ ท่านก็ทรงมาร่วมด้วย ทรงร้องเพลง ทรงเล่นทุกอย่าง เล่นไวบราโฟน (ระนาดฝรั่ง) ทรงกีตาร์ ทรงทำหมด ช่วงเวลานั้นเราใช้ดนตรีเป็นยา

fb_img_1479293180113

– สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ทรงเข้าร่วมวง?


ครับ คือแต่ละพระองค์จะมีเวลาเสด็จเยี่ยมเฉพาะอยู่แล้ว ส่วนวง อ.ส.วันศุกร์ จะได้เข้าเฝ้าเวลาไหนแล้วแต่จะทรงโปรด ฉะนั้นในช่วงแรกๆ ที่เราไปเฝ้าเราจะไปแต่เช้า 7-8 โมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ท่านเสด็จ เราก็จะได้เฝ้าท่านด้วย

แล้วเวลาที่โปรดให้เข้าเฝ้าได้ก็จะเลื่อนมาเรื่อยๆ มา เป็นตอน 10-11 โมง ก็จะเป็นเวลาที่สมเด็จพระบรมฯ เสด็จฯ เข้าเฝ้า เราก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้าอยู่บ้าง ท่านก็ยังได้ทรงร้องเพลงคริสต์มาสถวายด้วยกัน ทรงน่ารักมาก ทรงประทับอยู่ที่พื้นข้างๆ

ตอนหลังรับสั่งให้เข้าเฝ้าเวลาบ่าย 3-4 ซึ่งเป็นเวลาที่สมเด็จพระเทพฯ เข้าเฝ้า

– ทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ได้ทรงดนตรีถวาย?


ช่วงนั้นเป็นช่วงแรกๆ ที่ทรงพระอาการดีขึ้น แต่ยังไม่ทรงแข็งแรงพอที่จะทรงดนตรีได้ ฉะนั้นเราไปเฝ้าเฉยๆ ที่ห้องบรรทมชั้น 16 แต่ช่วงที่สมเด็จพระบรมฯ เฝ้าก็มีทรงร้องเพลง ที่ห้องบรรทมมีคีย์บอร์ดอยู่เครื่องหนึ่ง บางทีพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงคีย์บอร์ดบ้าง แต่ไม่ได้เป็นวง

จนในที่สุดเมื่อพระพลานามัยดีขึ้นเยอะ เมื่อทรงเครื่องดนตรีได้ ถึงได้ลงไปเฝ้าชั้น 14 แทน เพราะห้องนั้นใหญ่พอ ซึ่งเวลาที่มีวงดนตรีจากต่างประเทศมา ผมก็พาไปเฝ้าถวายที่ชั้น 14 นี้

– ครั้งสุดท้ายเล่นถวายเมื่อไหร่?


เดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2558) ที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะหลังจากนั้นพระอาการพระองค์ท่านก็ทรุดลง เราไปเข้าเฝ้าตอนนั้นท่านทรงไม่ได้แล้ว 

เราก็ร้องเพลงถวาย ก่อนเราจะทูลลา เราจะร้องเพลง “ทรงพระเจริญ” ที่พ่อผมแต่ง เพราะเนื้อร้องง่ายดี …ทรงพระเจริญๆๆ ยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญๆๆ ยิ่งยืนนาน (เสียงเครือ) ชั่วนิรันดร์…

– ทรงมีปฏิกิริยาอย่างไร?


ทรงรู้พระองค์ อย่างพอเราร้อง When You”re Smiling. ก็ทูลท่านว่า ยิ้มสิ ท่านก็ทรงยิ้ม

แล้วเนื้อเพลง อีกท่อน When you”re laughing. แล้วเราก็ทำเสียงหัวเราะ…โฮะๆๆ ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ (สูดน้ำมูก) เราก็พยายามถึงที่สุด ใช้ดนตรีเป็นยา

fb_img_1479295284213

– หลังจากนั้นยังได้เข้าเฝ้า?


ไม่ได้เข้าเฝ้า คุณหมอบอกว่าท่านติดเชื้อ เดือนมกราคมที่ผ่านมาพระองค์ท่านเสด็จออกมาครั้งหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นทรงติดเชื้อ ซึ่งอันตรายมาก

– อ.ส.วันศุกร์เล่นเพลงถวายเพลงสุดท้ายเพลงอะไร?


When you smiling. ของ แฟรงก์ ซินาตรา เป็นเพลงสแตนดาร์ดแจ๊ซนี่แหละ แต่เนื้อหาดี ..When You”re Smiling When You”re Smiling The Whole World Smiles With You คือเราอยากให้ท่านทรงยิ้ม อยากให้ท่านทรงมีความสุข แล้วเวลาจะเสด็จขึ้นเราก็ร้องเพลง “เราสู้” เราอยากให้ท่านสู้

– ท่านโปรดเพลงอะไร?


ส่วนมากจะเป็นเพลงแจ๊ซ ก็หลากหลายนะครับ มีของ ซิดนีย์ บิเชท์ (Sidney Bechet) เป็นนักดนตรีที่เล่นเทรดิชั่นนัล แจ๊ซ แล้วก็มีของ เบนนิ คาร์เตอร์ ซึ่งก็แต่งไว้เยอะเหมือนกันที่พระองค์ท่านโปรด

ถ้าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ก็ แสงเทียน ทรงแก้คอร์ดแก้อะไรตลอด ที่ผ่านมาก็ทรงให้ผมเป็นคนทำเพลงเข้าไปถวาย ให้ท่านทอดพระเนตรมีพระวินิจฉัย แล้วก็แก้

– นอกจากโปรดแล้ว ทำไมต้องเป็น”แจ๊ซ”?


ดนตรีแจ๊ซมีความละเอียดอ่อน เป็นดนตรีที่ประกาศอิสรภาพ ประกาศเสรีภาพทางความคิด ด้วยความที่เป็นดนตรีของคนผิวสีที่ถูกเหยียดหยาม ดนตรีประเภทนี้จึงมีพลังในตัวของมันเอง ผมเชื่อว่าพระองค์ท่านทรงได้ฟังเพลงเหล่านี้ถึงได้ทรงชื่นชอบ เลยทรงเลือกดนตรีสไตล์นี้ แต่ดนตรีสไตล์คลาสสิกก็ทรง แต่ไม่ได้โปรดมาก

อีกอย่างที่ผมเห็นเกี่ยวกับวงดนตรีแจ๊ซคือ การที่เราจะมาเล่นดนตรีร่วมกันได้ แน่นอนดนตรีไม่มีขอบเขต เราจะด้นสดทั้งเพลง จะทำอะไรก็ได้ จะเป็นเสียงอะไรก็ได้ เวลาผมสอนนิสิตที่เกษตรศาสตร์ ผมจะบอกว่า ดนตรีจะเป็นเสียงรถยนต์บีบแตรก็ได้ เสียงกระทืบเท้าก็ได้ ทุกอย่างเป็นดนตรีได้หมด แต่การที่เราจะมาเล่นร่วมกันต้องกำหนดกรอบร่วมกัน ต้องมีกติกา คุณเล่นกลอง หน้าที่ของคุณคือกำกับจังหวะ คุณเล่นเบส หน้าที่คือเดินพื้นของคอร์ดนั้นๆ มันคือการทำงานร่วมกัน และเป็นสิ่งที่สอนใจเราว่าแม้เราจะยืนอยู่ข้างหน้าเป็นหัวหน้าวง หรืออะไรก็ตาม เราก็ไม่ได้มีความสำคัญไปกว่าทุกคนที่อยู่รอบข้าง

ทรงเคยเปรียบเทียบให้ตรงๆ เลย เคยรับสั่งว่า การใช้ชีวิตในสังคมนี้เราต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตน แต่ละคนก็มีหน้าที่ของตน ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

และทุกคนมีความสำคัญเท่ากันหมด ทุกคนเป็นจักรเป็นเฟืองทำให้สังคมนั้นๆ อยู่ได้

ทำให้สังคมนั้นๆ มีความหมาย ทำให้มีคุณค่า เพราะฉะนั้นทุกคนต้องทำพร้อมกัน ทำให้มันดี

fb_img_1479295349077

– อ.ส.วันศุกร์ จะมีรวมวงอีกครั้ง?


มีครับ เราตั้งใจกันว่าเดือนธันวาคม จริงๆ ตอนแรกเรามีแผนจะทำถวายอยู่แล้ว เพราะเมื่อตอนต้นปี ผมได้ทูลสมเด็จพระเทพฯ ไว้ว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมจัดนักดนตรีมาจากนิวออร์ลีนส์ 

เพราะตอนนั้น ท่านมีรับสั่งว่า อยากไปนิวออร์ลีนส์ ไม่เคยเสด็จนิวออร์ลีนส์เลย 

ท่านรับสั่งว่า ท่านทรงเกษียณตอนหกสิบ แล้วจะไปกัน 

แต่ทรงไม่เคยได้ไป เพราะ ทรงไม่เคยเกษียณ 

ตอนนั้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมจึงเห็นว่า ในเมื่อท่านไม่สามารถเสด็จฯ นิวออร์ลีนส์ได้

เราก็ยกนิวออร์ลีนส์มาให้ท่าน เอานักดนตรีวงเพรสเซอร์เวชั่น ฮอลล์ แจ๊ซ แบนด์ เล่นมาในเรือพระที่นั่ง จอดหน้าท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราช

หลังจากนั้น ก็จัดอาหารนิวออร์ลีนส์ไปถวายพระองค์ท่านที่ศิริราช ตอนนั้นทรงมีความสุขมาก 

เมื่อตอนต้นปีผมเลยทูลสมเด็จพระเทพฯ ว่า ปีนี้จะจัดอีกครั้ง คุยกับนักดนตรีไว้แล้วว่าปีนี้เราอยากให้ท่านทรงระลึกถึงเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ที่ประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์ จะจัดทำยุโรเปี้ยนแจ๊ซ แต่เป็นนิวออร์ลีนส์แจ๊ซที่อยู่ในยุโรป เราได้วงดัทช์ สวิง คอลเลจ แจ๊ซ แบนด์ ซึ่งวงนี้ปีที่แล้วเพิ่งฉลองครบ 70 ปี ก็คุยกันไว้แล้วว่าจะเอาวงนี้มาเล่นถวาย (เสียงเครือ) จัดให้เหมือนเดิมเลย อยากให้ท่านทรงระลึกได้ว่าเสด็จกลับไปเมื่อตอนที่ทรงพระเยาว์ ก็เตรียมทุกอย่างไว้แล้ว

– จะยังมี?


ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นเล่นดนตรีระลึกถึงพระองค์ท่านแทน

.........

ข่าว เมื่อ 23 ตุลาคม 2559

ที่มา มติชน  //www.matichon.co.th/news/332434

โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช และ ยิ่งยศ เอกมานะชัย 

ขอขอบคุณ ภาพจาก FB_Pathorn Srikaranonda de Sequeira

https://m.facebook.com/pat.srikaranonda.sequeira/posts/10154236496144613



Create Date : 24 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2559 23:31:49 น. 0 comments
Counter : 734 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 3081643
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 3081643's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.