Kross (เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง~
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
22 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 

เคส "อากง SMS" ยามมือถือที่โดน hack กลายเป็นของทำร้ายตัวเอง




กรณี 'อากง เอสเอ็มเอส' ที่ทำเอาหนาวๆ ร้อนๆ กันถ้วนหน้า เพราะโทรศัพท์มือถือที่พกติดตัวจนแทบจะเป็นอวัยวะที่ 33 กำลังกลายสถานะเป็น "อาวุธ" กระทำอาชญากรรมที่ผูกมัดความผิดผู้เป็นเจ้าของไปเสียแล้ว


หลังจากสิ้นเสียงคำพิพากษาศาลอาญาคดีอาญา หมายเลขดำที่ อ.311/2554 ระหว่างพนักงานอัยการฯ โจทก์ นายอำพล (สงวนนามสกุล) จำเลยอายุ 61 ปี ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์พระราชินีฯ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  มาตรา 14(2)(3) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554


โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 อนุ 2 และ 3 ลงโทษจำคุก 20 ปี


นำมาสู่กระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ผูกโยงกับความเป็นดราม่าอยู่หลายฉากหลายมุม


สุดแต่จะตีความคดีอากงไปตามเป้าประสงค์ของแต่ละกลุ่มบุคคล และเคส "อากง เอสเอ็มเอส" ก็เป็นคล้ายๆ ตุ๊กตาที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองการเรียกร้อง หรือแสดงจุดยืนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง


แต่สิ่งที่ประชาชน ในฐานะ "ผู้บริโภค" ควรจะตระหนักให้มากจากเรื่องนี้ น่าจะเป็นปัญหาที่ว่า เจ้าเทคโนโลยีเครื่องจิ๋วที่ตามติดตัวเราไปด้วยทุกหนแห่งอย่างโทรศัพท์มือถือ จนกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของใครหลายๆ คนนั้น วันนี้มันกำลังกลายเป็น "อาวุธ" ในการประกอบอาชญากรรม


แถมยังวกกลับมาจับกุมผู้เป็นเจ้าของได้หากไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้อย่างชัดแจ้ง!



  • มือถือไม่เคยปลอดภัย


โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องไม่มีคำว่า "ปลอดภัย" นั่นคือ ความน่ากลัวอย่างแรก


เพราะการแฮ็คโทรศัพท์นั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดายมาก เจ้าของโทรศัพท์ทุกคน มีสิทธิถูกแฮ็คได้ทั้งนั้น หากว่า "แฮ็คเกอร์" ตั้งใจจะทำ


ยืนยันโดย วสันต์ ลิ่วลมไพศาล ผู้ร่วมก่อตั้งเวบไซต์ข่าวไอที Blognone.com บนเวทีเสวนา "สิทธิพลเมืองกับหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์: กรณีศึกษา 'อากง SMS'" โดยเผยว่าการจะแฮ็คคอมพิวเตอร์สักเครื่องไม่ใช่เรื่องยาก แต่ปัญหาคือ ทำแล้วจะเอาตัวรอดอย่างไรไม่ให้ถูกจับกุมมากกว่า


เพราะปกติแล้วร่องรอยอาชญากรคอมพิวเตอร์มักอยู่ใน log (บันทึกการใช้งาน) หลังจากอาชญากรล็อกอินเข้าไปที่เครื่องที่โดนโจมตี และกระทำอาชญากรรมเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะจัดการลบ log ทั้งหมดของเครื่อง เมื่อเจ้าของเครื่องกลับมาก็ไม่เหลืออะไรให้ตามรอย หรือไม่ก็จะใช้วิธีซ่อนตัว แอบไปใช้คอมพิวเตอร์ของคนอื่น หรือเครือข่ายของคนอื่น เพื่อซ่อนตัวเองก่อนทำอาชญากรรม


"แฮ็คเกอร์ทุกคนรู้เรื่องนี้ เพราะฉะนั้นการสืบสวนคดีคอมพิวเตอร์นั้น เราจะไม่สามารถบอกได้ว่า เราไปเจอคนๆ นี้ เราไปเจอเครื่องๆ นี้ทำความผิด แล้วเราจะบอกว่ามันทำด้วยคนๆ นี้" นั่นคือ เงื่อนงำแรก ที่วสันต์มองถึงการใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องเจ้าปัญหาของอากง มาเป็นหลักฐานสำคัญในการจับกุมและตัดสินโทษ


ขณะที่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ก็เอ่ยไว้ในรายการ คม ชัด ลึก ทาง Nation Channel ประจำวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ก็เป็นกังวลเช่นเดียวกันกับปัญหาการแอบอ้าง ปลอม ID Electronics เพื่อทำอาชญากรรมทางโทรศัพท์มือถือซึ่งมีมากขึ้น


"ถ้าเรายึด  ID Electronics เหล่านี้คือตัวตนของเรา คดีเหล่านี้จะตามมาอีกมหาศาล และปัจจุบันคดีผู้บริโภคอันดับหนึ่งในอเมริกาที่ร้องเรียนต่อกรรมการการค้า คือคดีการขโมย ID (Identity Theft) ซึ่งในอเมริกามีเป็นแสนเป็นล้านรายที่ถูกขโมย และถ้าเรายังยึดถือการที่เจ้าของบัญชีต้องเป็นผู้รับผิดชอบปุ๊บ ก็จะต้องมีคนที่ถูกลงโทษโดยไม่ได้ทำความผิดเป็นแสนเป็นล้านรายเหมือนกัน"


ประเด็นปัญหาที่ นพ.ประวิทย์ เน้นเป็นพิเศษ คือ "การเป็นผู้กระทำความผิด" กับ "การเป็นเจ้าของทรัพย์ซึ่งใช้ในการกระทำความผิด" ซึ่งยิ่งเมื่อมาพัวพันกับคดีอิเล็กทรอนิคส์ด้วยแล้ว เรื่องจึงยิ่งสับสนมากขึ้นไปอีก



  • ปลอมได้ ง่ายจัง


จึงไม่น่าแปลกใจ ที่หลายคนมองว่า "คดีอากง" น่าเคลือบแคลงสงสัย เพราะไม่ได้พบหลักฐานการกระทำผิดของอากงอย่างชัดเจน เพียงแต่โยงใยจากโทรศัพท์เครื่องที่ใช้กระทำผิดเข้ากับผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งก็คือตัวอากงเอง


วสันต์ ในฐานะเชี่ยวชาญทางด้านไอที ก็ได้อธิบายจากข้อเท็จจริงในคดีที่เป็นปัญหานี้ด้วยว่า ที่รู้คือ มีเอสเอ็มเอสอยู่ 4 ข้อความที่ผิดกฎหมาย โดยหลักฐานของข้อความ คือ ภาพถ่ายหน้าจอโทรศัพท์มือถือของสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขาฯ อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


ข้อความถูกส่งไป 4 ครั้งใน 4 วัน คือ วันที่ 9, 11, 12 และ 22 พฤษภาคม 2553 โดยส่งจากหมายเลขที่ใช้ส่งคือหมายเลข “-3615” เป็นของเครือข่ายดีแทค ซึ่งในทางการสืบสวนสอบสวนนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามสืบหาว่าหมายเลขดังกล่าวเป็นของใคร แต่สืบไม่เจอเจ้าของ ก็เลยกลับไปขอข้อมูลจากดีแทคอีกครั้งว่า เครื่องที่ใช้กับหมายเลขนี้เป็นเครื่องหมายเลขอะไร


นั่นคือ “อีมี่” (IMEI) เจ้าปัญหาซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างว่าสามารถใช้เป็นหลักฐานการกระทำผิดของผู้เป็นเจ้าของเครื่องได้หรือไม่


ในกรณีนี้หมายเลขอีมี่เป็นหลักฐานมัดตัวอากง คือ 358906000230110 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งหมายเลขชุดนี้ไปให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกค่ายให้ช่วยตรวจสอบว่าหมายเลขเครื่องนี้มีการใช้งานหรือไม่ ผลก็คือพบว่า หมายเลขอีมี่ไปตรงกับเบอร์โทรศัพท์ “-4627” ในเครือข่ายทรู


แต่เมื่อตรวจสอบไปก็ยังไม่พบว่า เบอร์นี้เป็นของใคร แต่พบว่ามีการโทรไปหาเบอร์หนึ่งอยู่หลายครั้ง ตรวจสอบเข้าไปก็พบว่าเบอร์ดังกล่าวเป็นของลูกสาวอากง และเรียกลูกสาวเข้าให้การ จนได้รับคำตอบว่าเบอร์ “-4627” เป็นเบอร์ของอากงเอง


โดยจากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาเข้าด้วยกัน ทั้งเสาส่งสัญญาณของเบอร์ที่กระทำผิดอยู่ในเขตเดียวกับบ้านของอากงตลอดจนเวลาการใช้งานของทั้งสองเลขหมาย คือ หมายเลขที่ใช้กระทำความผิด และ หมายเลขปัจจุบันของอากง ก็มีการใช้งานในเวลาที่ใกล้เคียงกันและไม่เคยถูกใช้งานพร้อมกันเลย


บวกเข้ากับการให้ปากคำของตัวอากง ที่ไม่สามารถให้ข้อมูลใดได้อย่างชัดเจน นอกจากยอมรับว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นเป็นของตนเองจริง แต่ไม่เคยส่งข้อความดังกล่าวออกไป ไม่รู้ว่าใครเป็นคนส่ง โดยให้ปากคำว่าเคยนำมือถือไปซ่อม และแต่จำไม่ได้ว่าซ่อมที่ร้านไหน ฯลฯ


ข้อมูลแวดล้อมทั้งหมดที่ได้จึงโยงกลับมาที่อากงจนนำมาสู่คำพิพากษาจำคุก 20 ปีดังที่เป็นข่าวใหญ่โต


"แม้บันทึกการใช้งาน (log) หมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ (IMEI) จากผู้ให้บริการจะเป็นหลักฐานสำคัญในการนำสืบเพื่อหาตัวคนร้าย แต่ในทางวิชาการคอมพิวเตอร์ หลักฐานนี้ไม่แน่ชัดและไม่เพียงพอในการระบุตัวผู้กระทำความผิดได้จริง เจ้าหน้าที่ควรต้องหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อให้ระบุตัวคนร้ายได้อย่างแน่ชัด" คือข้อความส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จาก blognone ซึ่งเป็นเวบไซต์ในการดูแลของวสันต์เอง


โดยวสันต์ บอกว่ารอยรั่วของคดี มีตั้งแต่ หลักฐานหน้าจอโทรศัพท์มือถือของเลขาฯ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเอาเข้าจริงแล้วก็สามารถปลอมแปลงได้เช่นเดียวกัน ขอเพียงแฮ็คเกอร์ได้ครองมือถือเครื่องนั้นไม่ต้องนานมาก หากมีซอฟท์แวร์ที่สามารถแก้จาก Soft file ได้ ก็สามารถเปลี่ยนข้อความบนโทรศัพท์ได้ตามใจผู้แฮ็ค


ขณะเดียวกัน มือถือที่ใช้ส่งข้อความของอากงเองก็สามารถถูกแฮ็คได้เช่นเดียวกัน โดยแฮ็คเกอร์สามารถตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้โดยไม่ต้องใช้ความรู้เลยด้วยซ้ำ เพราะอุปกรณ์ตัดสัญญาณมีขายตามห้างไอทีทั่วไปราคาไม่กี่พันบาท ระยะทำการได้ตั้งแต่ 10 - 100 เมตร โดยเมื่อตัดสัญญาณแล้วแฮ็คเกอร์ก็จะเข้ามาปลอมตัวเป็นเลขหมายดังกล่าวเพื่อกระทำการใดๆ ตามใจแฮ็คเกอร์ได้ด้วยเช่นเดียวกัน


...กระบวนการแฮ็คโทรศัพท์มือถือ ที่วสันต์ยกตัวอย่างมาให้ฟังนี้ เป็นเพียงแค่หนึ่งในร้อยแปดกระบวนการ ที่สามารถ "ยืม" โทรศัพท์มือถือของใครก็ได้ ไปกระทำการ โดยที่เจ้าตัวไม่ทันรู้ด้วยซ้ำ


เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว จะแน่ใจได้อย่างไรว่า เจ้าอวัยวะที่ 33 ในมือของคุณนั้น "ปลอดภัย"




Credit: //www.bangkokbiznews.com/
ลงไว้เป็นข้อคิดครับ




 

Create Date : 22 ธันวาคม 2554
0 comments
Last Update : 22 ธันวาคม 2554 14:48:42 น.
Counter : 3024 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Kross_ISC
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 79 คน [?]




Blog จับฉ่ายของ Kross ครับ เทคโนโลยี, การทหาร,Military Expert, การ์ตูน, Anime, Manga, Review, Preview, Game, Bishojo Game, Infinite Stratos (IS), Hidan no Aria, Light Novel (LN)

ติดตามเพิ่มเติมได้ทาง Twitter ที่ @PrameKross
New Comments
Friends' blogs
[Add Kross_ISC's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.