<<
มีนาคม 2559
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
6 มีนาคม 2559
 

ดร.ถนัด คอมันตร์ ในความทรงจำของคนข่าว

ดร.ถนัด คอมันตร์ ในความทรงจำของคนข่าว
ขอนำเนื้อหาดีๆจากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา

ข่าวการถึงแก่อนิจกรรมของ ดร.ถนัด คอมันตร์
ในวัย 102 เมื่อวันพฤหัสฯ ควรได้รับการจารึกเป็นการจากไป ของนักการทูตคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของไทย และของภูมิภาคนี้ทีเดียว

คุณถนัดเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 1959 ถึง 1971 หรือ 12 ปีเต็ม ๆ และเป็นที่ยอมรับนับถือของแวดวงการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียไม่น้อย

ในขณะที่ลัทธิคอมมิวนิสต์แผ่ขยายตัวในอินโดจีนอย่างร้อนแรง และพรรคคอมมิวนิสต์ก็ก่อตัวในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ คุณถนัดในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศลงนามใน “แถลงการณ์ร่วม” กับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ดีนรัสก์ในปี 1962

เรียกกันอย่างเป็นทางการขณะนั้นว่า Thanat-Rusk Communique โดยที่วอชิงตันให้คำมั่นว่าหากไทยถูกคุกคามโดยคอมมิวนิสต์ (ที่ขณะนั้นมีจีนและสหภาพโซเวียตเป็นแกนสำคัญ) สหรัฐจะเข้ามาคุ้มกันประเทศไทย

ในช่วงที่อินโดนีเซียกับมาเลเซียมีเรื่องบาดหมางกันอย่างแรงระหว่าง 1963-66 ที่เรียกว่า “การเผชิญหน้า” (Konfrontasi) นั้น คุณถนัดก็เล่นบทเป็นท้าวมาลีวราช เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองชาติมากินลมชมวิวชายทะเลของไทยเพื่อเจรจาลดความตึงเครียดไปได้ในระดับหนึ่ง

ต่อมา คุณถนัดเป็นตัวตั้งตัวตีให้ตั้ง “อาเซียน” เมื่อปี 1967 เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือภูมิภาคแถบนี้ ในช่วงที่ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังร้อนแรงในย่านนี้ โดยเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศ Adam Malik จากอินโดนีเซีย Narcisco Ramos จากฟิลิปปินส์ Tun Abdul Razakจากมาเลเซีย และ S. Rajaratnam จากสิงคโปร์มาประชุมกันที่บ้านพักรับรองแหลมแท่น ชายหาดบางแสนตกลงจะก่อตั้งองค์กรภูมิภาคที่เรียกว่า Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) และลงนามในคำปฏิญญาก่อตั้งอาเซียนที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967

จากสมาชิกก่อตั้ง 5 ชาติเมื่อ 49 ปีก่อนมาเป็น 10 ประเทศ “ประชาคมอาเซียน” วันนี้

ต้องถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ของคุณถนัด ที่เห็นความจำเป็นในเรื่องความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคนี้ ที่ยืนยันได้ว่าได้กลายเป็นองค์กรที่มีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงอย่างมีนัยยิ่ง

เพราะความที่อยู่กับกระทรวงต่างประเทศยาวนาน คุณถนัดมีความมั่นใจในตัวเองสูง ในยุคที่อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของรัฐบาลถนอม-ประภาส คุณถนัดเป็นคนกุมนโยบายต่างประเทศเกือบทั้งหมด ยกเว้นนโยบายทางทหารที่ขณะนั้นมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับสหรัฐอย่างยิ่ง

ถึงขั้นที่มีข่าวว่าก่อนที่จอมพลถนอม กิตติขจร จะก่อนจะทำการ “ปฏิวัติตัวเอง” ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1971 นั้น ผู้นำไทยตอนนั้นต้องแจ้งไปทางสถานทูตสหรัฐล่วงหน้าเพื่อขอให้สนับสนุนด้วยซ้ำไป

ผมยังจำได้ว่าคืนวันรัฐประหารนั้น คุณถนัด ไปพูดที่สโมสรนักข่าวต่างประเทศ นักข่าวได้ข่าวเรื่องจอมพลถนอมประกาศยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ถามคุณถนัดว่าได้รับทราบข่าวนี้หรือยัง? คุณถนัดยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีข่าวเรื่องรัฐประหาร นักข่าวสร้างเรื่องขึ้นมาเอง อีกไม่ถึงชั่วโมงต่อมา เมื่อคำประกาศออกมายืนยันว่าเป็นจริง คุณถนัดก็หลุดตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศทันที

คุณถนัดไม่ชอบตอบคำถามของนักข่าวนัก และมักจะต่อว่าต่อขานนักข่าวทำนองว่า ไม่รู้เรื่องนโยบายต่างประเทศเพียงพอที่จะตั้งคำถามหรืออย่างไร

เมื่อกระทรวงต่างประเทศตั้งโฆษกพูดแทนรัฐมนตรี นักข่าวก็ขนานนามท่านว่า “เทวดาน้อย” กันเลยทีเดียว

ในช่วงก่อนหน้านั้นสองสามปี ผมเขียนคอลัมน์ Thai Talk ที่บางกอกโพสต์ วิจารณ์ว่ากระทรวงต่างประเทศไม่ค่อยให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศให้คนไทยทั่วไปได้เข้าใจ และมักจะแถลงข่าวปฏิเสธเรื่องราวที่มาจากต่างประเทศที่เป็นไปทางลบเกี่ยวกับประเทศไทย แต่ไม่ยอมตอบคำถามของนักข่าวไทยอย่างตรงไปตรงมา

คุณถนัดไม่พอใจคอลัมน์ผม เชิญบรรณาธิการไปพบ ถามว่าคนเขียนคอลัมน์นี้เป็นใคร อาจหาญวิจารณ์กระทรวงต่างประเทศได้อย่างไร มีใครเข้าใจเรื่องนโยบายต่างประเทศมากไปกว่าคนของกระทรวงฯหรือ...พูดคล้าย ๆ กับให้บรรณาธิการไล่ผมออกอะไรทำนองนั้น แต่เมื่อคณะบรรณาธิการปรึกษากันแล้ว คงเห็นว่าหากปลดผมออกด้วยเหตุผลว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไม่พอใจการแสดงความเห็นของผมก็คงเป็นประเด็นร้อนโดยไม่จำเป็น

ผมรอดปากเหยี่ยวปากกาของยุคการเมืองรวบอำนาจและสงครามเย็นมาได้ก็ต้องถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าเหลือหลาย

ต่อมาอีกหลายปี ผมมีโอกาสได้พบคุณถนัดในโอกาสต่าง ๆ ท่านก็โอภาปราศรัยพูดคุยเรื่องต่างประเทศกับคนรุ่นหลังอย่างผมกว้างขวางขึ้น

ยังจำได้ว่าเคยสัมภาษณ์คุณถนัดออกรายการ “News Talk” ทางช่อง 9 ซึ่งร้อนแรงไม่น้อย เพราะระหว่างการซักถามนั้น คุณถนัดพยายามต้อนผม แทนที่ผมจะตั้งคำถามการทำหน้าที่ของท่าน ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศอันยาวนาน

หนึ่งในคำถามเกี่ยวกับบทบาทของคุณถนัดกับทหารอเมริกันและฐานทัพสหรัฐในไทย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีข้อตกลงลับทางทหาร และความมั่นคงที่ไม่เคยได้รับการเปิดเผย

คุณถนัดไม่ตอบคำถามตรงๆ แต่จะย้อนถามผมว่า “คุณรู้อะไร? คุณเกิดแล้วยังตอนนั้นคุณทำอะไรอยู่

สำหรับผม นั่นเป็นรายการสัมภาษณ์ที่สนุกและท้าทายที่สุดรายการหนึ่งทีเดียว

วันนี้ผมรำลึกถึง ดร.ถนัด คอมันตร์ ด้วยความเคารพและชื่นชมในบทบาท ที่มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย ในจังหวะที่การเมืองระหว่างประเทศช่วงนั้น ตกอยู่ในภาวะละเอียดอ่อน และประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากรอบด้าน

ดร.ถนัด จึงมีคุณูปการต่อนโยบายต่างประเทศ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง ขอดวงวิญญาณของท่านจงไปสู่สรวงสวรรค์ แห่งความสันติและสงบเทอญ

................................................................................................................................

เขาชื่อ ‘ถนัด คอมันตร์’… จากปากคำอานันท์ ปันยารชุน

ขอนำเนื้อหาเรื่องนี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการสึกษา


อะไรคือ “มรดกทางการทูต” ที่ ดร.ถนัด คอมันตร์ ฝากเอาไว้ ให้กับประเทศไทย?

บางคนบอกว่าสิ่งที่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศท่านนี้สร้างไว้เป็น “นวัตกรรมทางการทูต” ของเอเชียในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับ “สงครามเย็น” อย่างร้อนแรง

การก่อตั้ง “อาเซียน” หรือ Association of Southeast Asian Nations (Asean) เป็นผลงานเต็ม ๆ อันเกิดจากวิสัยทัศน์ของคุณถนัด ที่เล็งเห็นภยันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามาในช่วงนั้น หากประเทศในภูมิภาคนี้ไม่รวมตัวกันเพื่อสร้างพลังต่อรองทั้งทางด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ

เพราะขณะนั้นการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจสองค่ายคือ สหรัฐด้านหนึ่ง กับจีน และสหภาพโซเวียตอีกด้านหนึ่ง กำลังบีบให้ประเทศเล็ก ๆ ในย่านนี้ต้องตกอยู่ในภาวะอ่อนไหวและเปราะบาง อีกทั้งภัยคอมมิวนิสต์ก็กำลังคุกคามในหลายจุด ขณะที่ก็ไม่แน่ใจว่าหากเกิดเหตุเภทภัยจริง ๆ แล้วสหรัฐจะมาช่วยเหลือพันธมิตรในแถบนี้จริงจังเพียงใด

คุณถนัดจึงโน้มน้าวผู้นำห้าประเทศมาตั้งเป็น Asean และประกาศเป็น Zone of Peace, Freedom and Neutrality (Zopfan) อันหมายถึง “เขตแห่งสันติภาพ, เสรีภาพและความเป็นกลาง” เพื่อประกาศเป็นกลุ่มประเทศที่จะร่วมกันยืนหยัดปกปักรักษาเสรีภาพและสันติภาพและเน้น “ความเป็นกลาง” เพื่อไม่ให้มหาอำนาจค่ายใดค่ายหนึ่งอ้างเป็นเหตุมาสร้างความวุ่นวายในย่านนี้ได้

ผมตระเวนสัมภาษณ์อดีตนักการทูตที่เคยทำงานใกล้ชิดกับคุณถนัด ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากท่านจากไปในวัย 102 เพื่อสรุป “บทเรียน” และ “มรดกทางการทูต” ที่ท่านได้ส่งผ่านมาถึงผู้นำด้านการทูตในปัจจุบัน

ผมได้ความเห็นและเบื้องหลังที่น่าสนใจอย่างยิ่งจากคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศ และเคยเป็นเลขาฯส่วนตัวของคุณถนัด

ผมสัมภาษณ์คุณเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และ ดร.มนัสพาสน์ ชูโต ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับคุณถนัด โดยเฉพาะทางด้านสารนิเทศและการทูตระหว่างประเทศหลายช่วงตอน

คุณอานันท์เคยพูดในวันที่กระทรวงต่างประเทศจัดงานฉลอง 100 ปี พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เมื่อ 19 สิงหาคม 2557 ตอนหนึ่งว่า

“ตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้าไปทำงานกับท่าน ก็รู้สึกมีความสบายใจ เพราะท่านไม่มีพิธีรีตอง ท่านไม่แสดงอำนาจ ท่านไม่แสดงความเป็นใหญ่ วันเกิดท่าน ผมไม่เคยไปอวยพร แสดงความยินดี วันปีใหม่ผมก็ไม่เคยไปหาท่านที่บ้าน แต่ท่านให้ความเอ็นดูกับผม และให้ความเมตตากรุณาทุกอย่าง เพราะท่านรัฐมนตรีถนัด ทุกอย่างท่านมองถึงงานอย่างเดียว ว่าทำงานให้ท่านได้หรือไม่ได้ สิ่งที่ท่านถือมากที่สุดคือว่าไม่ทำงานให้ท่านหรือทำงานไม่สำเร็จ คุณจะนอนข้ามคืนหรือจะอดนอนทั้งคืน คุณถนัดจะไม่รู้สึกอะไร เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ และเมื่อทำไปแล้วก็อย่าไปคิดว่าต้องได้รับผลตอบแทน หรือคาดหวังว่าจะได้รับอะไรต่าง ๆ...”

อีกตอนหนึ่งอดีตนายกฯอานันท์บอกว่า

“ทุกครั้งที่ใครพูดถึงอาเซียน ก็ต้องระลึกถึงว่าท่านคือบิดาของอาเซียน ก่อนตั้งอาเซียน ท่านก็ต้อง “อาสา” Association of Southeast Asia – ASA ซึ่งมี 3 ประเทศคือ ไทย, ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย วีดิทัศน์ (ที่ฉายประกอบในงาน) พูดถึงเรื่องแถลงการณ์ถนัด-รัสก์ (Thanat-Rusk Communique) ว่าเกิดขึ้นในสมัยที่ผมเป็นเลขาฯอยู่ เดินทางกับท่านไปที่วอชิงตัน 2 คนเท่านั้น คนที่เขาใหญ่จริง ๆ และคนที่เขามีความเชื่อมั่นในตัว ในความดีแล้ว ไปไหนก็ไม่ต้องมีคนติดตามมากมาย ไม่ต้องแห่กันไป หลายครั้งที่ผมเป็นเลขาฯ และเลขาฯที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นคุณสมปอง หรือหม่อมหลวงพีระพงษ์ฯ คงทราบดีว่าสิ่งที่คุณถนัดไม่ชอบมากที่สุดคือ พิธีรีตอง หรือที่ภาษาไทยเราเรียกว่าเอะอะไรก็พิธีการทูต..."

.................................................................................................................................

ช่วงหนึ่งของการทูตไทยยุค ถนัด คอมันตร์ :

ขอนำเนื้อหาเรื่องนี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา

คืนนั้นจอมพลสฤษดิ์เตรียมบุกเขมร!

ผมเพิ่งตระเวนสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ อดีตนักการทูตหลายท่าน เพื่อแสวงหาบทเรียนและความรู้ จากชีวิตนักการทูตมือหนึ่งของไทยอย่าง ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งในอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันถึง 12 ปี และได้ข้อมูลในอดีตมากมายหลายด้านที่น่าสนใจ เป็นบทเรียนสำหรับปัจจุบันและอนาคตอันมีคุณค่ายิ่ง

ควันหลงหนึ่งเรื่องที่ผมอยากนำมาเล่าขานต่อ เพราะไม่เป็นที่รับรู้ในแวดวงคนไทยมากนักมาจากอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเคยทำงานใกล้ชิดกับคุณถนัดในหลายๆ บทบาทเคยเล่าในงาน “100 ปี ถนัด คอมันตร์” ที่กระทรวงต่างประเทศจัดเมื่อ 19 สิงหาคม 2557

วันนั้น คุณอานันท์ได้เล่าให้ผู้ร่วมในงานฟังตอนหนึ่งว่า

“...มีอยู่อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเข้าใจว่าหลายคนคงไม่ได้ยินมาก่อน ตอนนั้นผมยังทำหน้าที่เลขาฯ อยู่ มีคดีเขาพระวิหาร ท่านทูตสมปอง (สุจริตกุล) อยู่ที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย คุณสมปองกับคุณจาพิกรณ์ เป็นตัวแทนของกระทรวงฯ ไปร่วมในคณะของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับ พ.อ.จินดา ณ สงขลา...เมื่อเราแพ้ เมื่อศาลโลกตัดสินให้เราคืนปราสาทเขาพระวิหารให้กับเขมรโดยหลักการของ “estoppel” หรือ “กฎหมายปิดปาก” (หมายความถึงการกระทำหรือการยอมรับไม่ว่าจะโดยแจ้งชัดหรือปริยายเกี่ยวกับเรื่องใด ย่อมเป็นการปิดปาก ถือว่าผูกพันฝ่ายที่กระทำนั้น โดยมิอาจโต้แย้งได้)...

“แน่นอน คนไทยที่เลือดร้อนหรือที่ไม่ได้ข้อเท็จจริงอันสมบูรณ์ ก็จะมีความโกรธแค้น ไม่อยากที่จะให้ประเทศไทยสูญเสียปราสาทเขาพระวิหารไป ท่านจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคนรักชาติ และคืนนั้น ตอนที่ผมเป็นเลขาฯอยู่ ก็ได้ยินมาว่าหลังสองยามไปแล้ว ท่านจอมพลสฤษดิ์ จะสั่งทหารบุกเขมร และไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลก...

"ปรากฏว่า ท่านรัฐมนตรีถนัด คอมันตร์ กับคุณพจน์ สารสิน ซึ่งผมจำไม่ได้แน่ว่าขณะนั้นท่านเป็นเลขาธิการซีโต้หรืออยู่ในตำแหน่งใดไปหาจอมพลสฤษดิ์ ก่อนสองยามคืนนั้น แล้วไปอธิบายถึงเหตุผลของการตัดสินคำพิพากษาและผลลัพธ์ที่ตามมาว่าไทยจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง แต่จริงๆ แล้วเพื่อจะไปคัดค้านท่านจอมพลสฤษดิ์ว่า การที่ไม่ยอมรับและจะส่งทหารบุกเข้าไปในเขมรนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะในฐานะที่เราเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และตามกฎบัตรก็เขียนไว้ชัดเจนเกี่ยวกับคำพิพากษา ว่าคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศนั้นเป็นอันสิ้นสุด และรัฐสมาชิกต้องยอมรับและเคารพในคำตัดสิน...

“แต่การที่จะโน้มน้าวให้จอมพลสฤษดิ์ มีความคิดที่ต้องยอมรับ คงต้องใช้เวลามาก แต่ผมทราบมาว่าสิ่งที่ท่านรัฐมนตรีถนัดเสนอตอนนั้น คือจะให้ออกแถลงการณ์ควบคู่กันไปว่ายอมรับ แต่ในแถลงการณ์นั้นจะเขียนในทำนองว่า (อันนี้ท่านทูตสมปองอาจจะรู้ดีกว่าผม) ถ้าเผื่อมีข้อมูลใหม่หรือเหตุการณ์ใหม่ขึ้นมา และจะสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในอนาคตได้ ทางรัฐบาลไทยก็จะสงวนไว้ซึ่งสิทธิในอันที่นำเรื่องเรื่องนี้กลับเข้ามาในศาลโลกใหม่

อันนี้ก็ทำให้เป็นปัญหาในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาว่า การสงวนสิทธิ์อันนี้ไว้ ทำไมเราไม่ทำอะไรใน 50 ปีที่ผ่านมา และยังทำได้ต่อไปหรือไม่ แต่เท่าที่ผมเข้าใจ แถลงการณ์ฉบับนั้นเป็นการกู้หน้ามากกว่า เพื่อจะให้ฝ่ายทหารโดยเฉพาะท่านจอมพลสฤษดิ์ เข้าใจว่าถึงแม้จะยอมรับตอนนี้ แต่ก็ยังมีโอกาส ยังมีลู่ทางในอนาคตที่จะต่อสู้ให้เรื่องนี้กลับคืนมาเป็นของไทยได้.. 

อย่างไรก็ตาม ตามความเป็นจริงแล้วคงยาก แต่อันนี้เป็นวิธีการใช้ภาษาทางการทูตกับวิถีทางทางการทูต ที่จะป้องกันไม่ให้มีสงคราม มีการรบราฆ่าฟันระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ ผมว่าทั้งคุณพจน์ สารสินและคุณถนัดได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยอยู่นานัปการ และเป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์การทูตของเมืองไทย...”

คำบอกเล่าของคุณอานันท์ (จากนิตยสาร “วิทยุสราญรมย์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 66 มกราคม – มีนาคม 2558) 

เรื่องนี้จึงเป็นตำนานเล่าขานที่ควรแก่การนำส่งมายังคนไทยรุ่นต่อ ๆ มาที่ต้องการเรียนรู้ถึง “การทูต ผู้นำทหาร และสงครามที่เกือบระเบิด”!





Create Date : 06 มีนาคม 2559
Last Update : 16 มีนาคม 2559 20:06:15 น. 1 comments
Counter : 1254 Pageviews.  
 
 
 
 
เข้ามาอ่านครับ ขอบคุณมาก ข่าวสุดท้ายของท่านผู้นี้ มีคุณค่ามากครับ สำหรับผมซึ่งเกิดทันยุคของท่านครับ

นี้เป็นครั้งแรกที่ผมอ่านข่าวของคุณนาถแล้วมีโอกาสแสดงความคิดเห็นครับ.
 
 

โดย: เจียวต้าย วันที่: 6 มีนาคม 2559 เวลา:18:01:37 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com