Group Blog
 
 
เมษายน 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
ปกเกล้าปกกระหม่อม (4)


สถานการณ์บ้านเมืองในปี 2468

อันเป็นช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 6 สวรรคตนั้นไม่สู้จะดีนัก

ประการแรกกระแสความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศต่าง ๆ จุดใหญ่ใจความ

คือประเทศที่เป็นเมืองขึ้นพยายามปลดแอกจากเมืองแม่

ส่วนบ้านเมืองที่เป็นอิสระอยู่แล้วราษฎรก็เรียกร้อง

ขอมีสิทธิมีเสียงในการปกครองบ้าง

ความคิดเรื่องสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก

โดยผลของปรัชญาตะวันตกและการศึกษาที่เจริญก้าวหน้าขึ้น

และความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำไปทั่วโลก

ความเปลี่ยนแปลงในรัสเซีย จีน สเปน เยอรมนีดูจะเป็นแบบอย่าง

ที่จูงใจได้มาก ข้อนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับคราวอเมริกาประกาศอิสรภาพ

เมื่อ พ.ศ. 2319 (ก่อนตั้งกรุงเทพฯ) และการปฏิวัติใหญ่

ในฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2332 (กลางสมัยรัชกาลที่ 1)

ซึ่งเป็นตัวอย่างให้แก่หลายประเทศ

ประการต่อมาคือการเกิดภาวะเศรษฐ กิจถดถอยทั่วโลก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน

ต่างประเทศเริ่มถอนการลงทุนทางตรงที่สมัยนี้เรียกว่า

Foreign Direct Investment หรือ FDI

จากหลายประเทศ ค่าของเงินตราหลายประเทศเริ่มอ่อนตัวลง

การส่งออกได้ผลน้อย รายจ่ายในประเทศมากขึ้น

ถ้าใช้ศัพท์สมัยนี้ก็คงเรียกว่า “ฟองสบู่แตก”

แต่สหรัฐอเมริกาใช้คำว่า “depression”

คือภัยทางเศรษฐกิจที่ซัดตูมเข้ามาเหมือนพายุดีเปรสชัน

ขนาดประเทศใหญ่ ๆ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส

ก็ยังเอาไม่อยู่ถึงกับพลอยเซไปเหมือนกัน

ก่อนรุ่งสางวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 พระบรมวงศานุวงศ์

และเสนาบดีเปิดประชุมด่วนที่หน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

ด้วยน้ำตาที่ไหลพรากอาบแก้มหลังทราบข่าวการสวรรคต

ของรัชกาลที่ 6 เพื่อหารือว่า ควรเชิญเจ้านายพระบรมวงศ์

พระองค์ใดขึ้นทรงราชย์ ถ้าว่าโดยพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6

และกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

พระพุทธศักราช 2467 แล้ว โดยที่พระราชอนุชาร่วมพระบรมราชชนนี

กับรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์ไปหมด และแม้พระราชอนุชาบางพระองค์

จะมีพระโอรสอีกทอดหนึ่ง เช่น กรมหลวงพิษณุโลกฯ มีพระโอรส

คือพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ แต่ก็ประสูติจากพระมารดาคนต่างด้าว

กรมขุนเพชรบูรณ์ฯ มีพระโอรสคือพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช

แต่ก็มิได้ประสูติจากพระชายาหลวง ราชสมบัติจึงย่อมตกอยู่แก่

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา

อย่างแน่แท้ เจ้านายทั้งปวงจึงมีมติถวายราชสมบัติ

แด่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ พระองค์นี้ ในชั้นแรก

กรมหลวงสุโขทัยฯ ก็ทรงเบี่ยงบ่ายขอให้ถวายพระเจ้าอา

คือสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

“ทูลกระหม่อมวังบูรพาภิรมย์” ซึ่งเป็นพระราชอนุชาร่วมพระครรภ์

กับรัชกาลที่ 5 และทรงเป็นที่เคารพยำเกรง

ของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ทูลกระหม่อมวังบูรพาไม่ทรงรับ

กรมหลวงสุโขทัยฯ จึงขอให้ถวาย “ทูลกระหม่อมวังบางขุนพรหม”

สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

พระเจ้าพี่ยาเธอต่างพระบรมราชชนนี ซึ่งทรงอาวุโส

ด้วยพระชนมายุ พระประสบการณ์ และพระอำนาจ


สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต



ตรงนี้ต้องพูดถึงกรมพระนครสวรรค์ฯ สักนิด สมเด็จพระองค์นี้

ทรงเป็นเจ้านายสำคัญเอาการอยู่ ถ้าว่าถึงพระเกียรติพระยศก็ไม่ธรรมดา

พระบรมชนกนาถคือรัชกาลที่ 5 พระชนนีของท่านคือ

พระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี เป็นพระราชธิดาของรัชกาลที่ 4

ประสูติจากเจ้าจอมมารดาสำลี เจ้าจอมมารดาผู้นี้

เป็นลูกสาวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค)

ขุนนางคู่พระทัยรัชกาลที่ 4 มีบทบาทสำคัญในการถวายราชสมบัติ

แต่รัชกาลที่ 4 และมีส่วนสำคัญในการสร้างวัดขุดคู

ขุดคลองหลายแห่งในประเทศ ไทย เช่น คลองแสนแสบ

คลองผดุงกรุงเกษม คลองมหาสวัสดิ์

โดยสรุป สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นลูกรัชกาลที่ 5

แม่ท่านเป็นลูกรัชกาลที่ 4 (แสดงว่าเป็นน้องคนละแม่กับรัชกาลที่ 5)

ตาท่านเป็นสมเด็จเจ้าพระยาผู้มีอำนาจ

กรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นพระราชโอรสรุ่นใหญ่

เมื่อทรงพระเยาว์ได้เสด็จไปศึกษาวิชาทหารที่เยอรมนี

จักรพรรดิวิลเฮล์ม ไกเซอร์ของเยอรมันโปรดปรานมาก

เมื่อกรมหลวงสุโขทัยฯ ทรงขอให้ถวายราชสมบัติแด่

พระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นี้ เจ้านายเสนาบดีก็ได้แต่ตกตะลึง

อิหลัก อิเหลื่อกันไปหมด คนที่แก้ปัญหาคือกรมพระนครสวรรค์ฯ เอง

ได้ทรงลุกขึ้นโอบกอดกรมหลวงสุโขทัยฯ ทรงพระดำเนินกัน

ไปทางหนึ่งแล้วทูลขอให้กรมหลวงสุโขทัยฯ ทรงรับราชสมบัติเถิด

พระองค์เองยินดีจะถวายงานสนองพระเดชพระคุณทุกประการ

สุดแต่จะทรงใช้สอย ขออย่างเดียวคืออย่าระแวงว่า

พระองค์ท่านจะเป็นขบถ รับสั่งว่า

“ครองตำแหน่งนี้มานาน 15 ปีแล้วเบื่อเต็มที”

ข้อนี้น่าจะเป็นว่าตลอดสมัยรัชกาลที่ 6 กรมพระนครสวรรค์ฯ

ทรงถูกหวาด ระแวงจากเจ้านายและขุนนางอยู่ไม่น้อย

เพราะทรงพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง และมีนายทหาร

จงรักภักดีต่อพระองค์อยู่มาก ในขณะที่พระสถานะของรัชกาลที่ 6 เอง

ก็ไม่สู้มั่นคงนักดังที่เคยเกิดขบถนายทหารเด็ก ๆ เมื่อต้นรัชกาล

ถึงขั้นวางแผนจะประทุษร้ายปลงพระชนม์แต่จับได้เสียก่อน

กรมหลวงสุโขทัยฯ ทูลว่าไม่เคยทรงนึกระแวงใด ๆ เลย

กรมพระนครสวรรค์ฯ จึงทรงคุกเข่าลงนำทุกคนถวายบังคม

และกราบบังคมทูลเชิญขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7

ความจริงตลอดเวลาที่รัชกาลที่ 6 ประชวรหนักอยู่ราว 15 วันนั้น

ก็ยังอุตส่าห์มีข่าวลือว่าอาจมีการก่อการขบถเกิดขึ้น

แต่จะมาจากไหนไม่แน่ชัด ภายหลังรัชกาลที่ 7

เคยมีพระราชหัตถเลขาว่า “เป็นวันที่ทำลายเส้นประสาท...

ฉันเองเกือบจะกินอะไรไม่ลง นอนไม่หลับ มีข่าวลืออะไรร้าย ๆ

ต่าง ๆ อยู่เรื่อย พากันกลัวว่าจะไม่มีอะไรแน่นอน”

แต่เมื่อเหตุการณ์เรียบร้อยลงได้ ก็ตรัสว่า “ฉันได้รับความสบายใจ

จากข้อที่ว่า เจ้านายพระราชวงศ์ต่างแสดงพระองค์ว่ารักชาติ

ไม่มีพระองค์ไหนที่คิดถึงอะไรนอกจากประโยชน์ของชาติ

ไม่มีเจ้านายพระองค์ไหนทรงคิดอยากจะได้ดีแก่พระองค์เองเลย...

ฉันจึงรู้สึกว่า ถ้าพระราชวงศ์ยังจะทรงคิดได้เช่นนั้นแล้ว

ประเทศสยามและพระราชวงศ์จักรีคงจะอยู่ต่อไป

แม้จะประสบความยากลำบากเพียงใดก็ดี”

รัชกาลใหม่นี้ได้ทรงเลือกพระปรมา ภิไธยว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ละม้ายพระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่รัชกาลที่ 3

เป็นต้นมาที่มีคำว่า “เกล้า” คือ พระนั่งเกล้า พระจอมเกล้า

พระจุลจอมเกล้า พระมงกุฎเกล้า ส่วนคำว่า “ปรมินทร”

นั้นเป็นการเดินตามพระราชนิยมของรัชกาลที่ 6 ที่ว่า

รัชกาลที่เป็นเลขคี่เช่น 7 9 ให้ใช้ “ปรมินทร”

รัชกาลที่เป็นเลขคู่เช่น 6 8 ให้ใช้ “ปรเมนทร”

พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์จะยืดยาวหลายบรรทัด

คราวบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7 นี้ก็เช่นกัน โดยที่ต้องการให้รู้ว่า

ทรงได้ราชสมบัติเพราะรัชกาลที่ 6 พระบรมเชษฐาธิราช

มีพระราชหัตถเลขาคล้าย ๆ พินัยกรรมระบุไว้

สร้อยพระปรมาภิไธยตอนหนึ่งจึงมีว่า “บรมเชษฐโสทรสโมสรสมมติ”

แปลว่าพี่ชายร่วมสายโลหิตเป็นผู้ตั้ง

จะเรียกให้เข้ากับที่คนสมัยนี้ชอบพูดว่า

“ได้ดีเพราะพี่ให้” ก็คงได้!

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระชายา

คือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็นสมเด็จพระบรมราชินี

และไม่ทรงมีเจ้าจอมหม่อมห้ามใดอีกเลยจนสวรรคต

ที่สำคัญคือทรงตระหนักดีว่าการขึ้นครองราชสมบัติในขณะนั้น

เป็น “ทุกขลาภ” และอยู่ระหว่าง “วิกฤติ” ของประเทศ

ที่รอการแก้ปัญหา ดังนั้นจะทรงเสียเวลาใด ๆ ไม่ได้

แม้พระองค์จะทรงมีจุดอ่อนหลายประการที่ไม่อาจเทียบได้

กับสมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 5

และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช รัชกาลที่ 6 ทั้งในด้าน

พระประสบการณ์ พระชนมายุ และการมีผู้ช่วยงาน

แต่ก็ทรงมีจุดแข็งคือความอ่อนน้อม ประนีประนอม

และการยอมรับฟังความเห็นผู้อื่น จึงทรงตั้งพระทัยจะใช้จุดแข็งนี้เอง

เป็นหลักในการบริหารประเทศ

ดังนั้นหลังจากขึ้นครองราชย์ได้ไม่กี่วันก็ทรงตั้งคณะบุคคล

ขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้ถวายคำปรึกษาและช่วยบริหารราชการแผ่นดิน

ตลอดจนช่วยเหลือราชการในพระองค์ เรียกว่าคณะอภิรัฐมนตรี

ประกอบด้วย

1. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

พระราชอนุชาของรัชกาลที่ 5 ผู้คนนิยมออกพระนามว่า “หลักเมือง”

คือทรงเป็นหลักของพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงเป็นพระบิดาแห่ง

การไปรษณีย์ไทย เป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์ วังพระองค์ท่าน

อยู่ใกล้พาหุรัดชื่อวังบูรพาภิรมย์ ต่อมาพระทายาทได้ขาย

นักธุรกิจนำไปพัฒนาเรียกว่าวังบูรพา


2. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นนักการทหาร

มีพระอำนาจสูงส่งเป็นที่ยำเกรงทั่วไป เป็นต้นราชสกุลบริพัตร

วังของพระองค์ท่านคือวังบางขุนพรหมที่บัดนี้

เป็นธนาคารแห่งประเทศไทย


3. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรส

ของรัชกาลที่ 4 ทรงเป็นนักปกครองและนักโบราณคดี

เคยเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยหลายปี ได้รับยกย่องว่า

เป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย เป็นต้นราชสกุลดิศกุล

วังของพระองค์ท่านคือวังวรดิศ ข้างคลองมหานาค


4. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

เป็นพระราชโอรสรัชกาลที่ 4 ทรงเป็นศิลปินไม่ว่าด้านการช่าง

การออกแบบ ดนตรีหรือนาฏศิลป์ ได้รับยกย่องว่า

เป็นพระบิดาแห่งสถาปัตยกรรมไทยและศิลปะไทย

เป็นต้นราชสกุลจิตรพงศ์ วังของพระองค์ท่านคือวังปลายเนิน คลองเตย


5. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นพระราชโอรส

รุ่นใหญ่ของรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นนักการคลังและนักการพาณิชย์

ได้รับยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งการพาณิชย์ เป็นต้นราชสกุลกิติยากร

วังของพระองค์ท่านคือวังเทเวศร์ อยู่ที่ปากคลองผดุงกรุงเกษม เทเวศร์

ข้อดีของการมีคณะอภิรัฐมนตรีมีมาก อย่างน้อยก็แสดงว่าพระมหากษัตริย์

แม้อยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยัง


ทรงยอมฟังความเห็นของผู้อื่น คณะอภิรัฐมนตรีเองก็มีบทบาทมาก

ประชุมกันเป็นประจำ ถ้ารัชกาลที่ 7 ไม่เข้าประชุมเป็นประธานเอง

สมเด็จพระราชปิตุลา (อา) หรือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ

กรมพระนครสวรรค์ฯ ก็จะทรงเป็นประธาน

ข้อเสียของการมีคณะอภิรัฐมนตรีก็มีอยู่เหมือนกัน อย่างน้อยผู้มีอำนาจ

ถัดลงมาจากคณะอภิรัฐมนตรีคือคณะเสนาบดี

ย่อมไม่ชอบใจการมีอภิรัฐมนตรีไว้ “ตรวจสอบหรือถ่วงดุล”

เท่าไรนัก ยิ่งคณะอภิรัฐมนตรีเป็น “เจ้านายผู้ใหญ่”

และล้วนเป็น “อา” เป็น “พี่” ของในหลวง หนักเข้า

อภิรัฐมนตรีซึ่งชำนาญราชการกว่าเสนาบดีอาจไม่ตั้งรับ

รอให้คำปรึกษาหรือกลั่นกรองเรื่องที่เสนอขึ้นไป

แต่อาจลงมาทำงานเชิงรุกหรือเสนอแนะให้เสนาบดีรับเรื่อง

ไปทำตั้งแต่แรก กลายเป็น “พี่คิด น้องทำ”

อย่างที่มีผู้ค่อนขอดบ้างแล้วในเวลานั้น ทั้งแนวโน้มมีว่า

พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเชื่อคณะอภิรัฐมนตรีมากกว่าคณะเสนาบดีเสียด้วย

บ่อยครั้งที่คณะนี้จึงถูกหาว่าเป็นซูเปอร์เสนาบดี

หนักเข้าเสนาบดีก็เข้าเกียร์ว่างเสียให้รู้แล้วรู้รอด

สภาพทำนองนี้ดูจะมีแทบทุกยุคทุกสมัย

ไม่เชื่อดูจากรัฐบาลในสมัยใดๆ ก็ได้

เรื่องซูเปอร์ ครม. หรือ ครม.น้อยก็ดี ทีมงานของนายกฯ ก็ดี

ทีมงานของเลขาธิการนายกฯ ที่มีคนนินทาเรียกว่า

แกงค์ ออฟ โฟร์ แกงค์ ออฟ ไฟว์ ก็ดี ถ้าขยันมาก

ทำงานเอาการเอางานมาก มีอำนาจมาก

ย่อมเป็นที่เขม่นของ ครม. ทั้งนั้น โดยเฉพาะถ้าเกิดข้อขัดแย้งกัน

กรณีอภิรัฐมนตรีนั้นต่อไปยังจะบานปลายอีกเพราะเมื่ออภิรัฐมนตรี

บางพระองค์สิ้นพระชนม์ และได้ทรงตั้งเสนาบดีขึ้นไปเป็น

อภิรัฐมนตรีอีกตำแหน่ง ทีนี้ก็ใหญ่โตเบ้อเริ่มเทิ่มสิครับ

รัชกาลที่ 7 ยังทรงเร่งรัดทำอะไรอีกหลายอย่างเพื่อ

“ทรงเตรียมรับมือกับการปกครองแบบใหม่”

ที่กำลังเป็นแฟชั่นไปทั่วโลก

และกำลังจะคืบคลานเข้ามาในสยาม แต่หลายอย่าง

ก็ไม่สำเร็จสมพระราชประสงค์เพราะขึ้นชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงแล้ว

ย่อมมีคนหัวเก่าและคนหัวใหม่ คนใจร้อนและคนรอบคอบ

คนหนุนและคนค้านเสมอ

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เองก็ทรงตกอยู่ในกระแสแห่งความขัดแย้ง

ทางความคิดหรืออุปสรรคแห่งการเปลี่ยนแปลง

ถึงจะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ใช่ว่าอะไรจะง่ายดาย

เหมือนปอกกล้วยเข้าปากไปหมด.

..................

วิษณุ เครืองาม


อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 22 มกราคม 2556




Create Date : 03 เมษายน 2556
Last Update : 3 เมษายน 2556 20:53:21 น. 0 comments
Counter : 857 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.