Group Blog
 
 
เมษายน 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
ปกเกล้าปกกระหม่อม (9)


ความเชื่อ ความกลัว และความไม่รู้ของคนโบราณ

ทำให้เกิดคตินิยมขึ้นได้หลายอย่าง แม้เวลานี้อาจอธิบายได้

ตามหลักวิทยาศาสตร์และความบังเอิญ แต่คนโบราณ

ก็มีจินตนาการไปได้ไกล จินตนาการยิ่งไกล ความเชื่อ

ความกลัว ความไม่รู้ก็ยิ่งมีมาก ไอน์สไตน์บอกว่า

จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ คราวนี้จินตนาการ

นำเอาคนเตลิดเปิดเปิงไปได้ร้อยโยชน์พันโยชน์เชียวล่ะ!

เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงยกพลข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาย้ายจากฝั่งธนบุรี

มาตั้งพระนครใหม่ทางฝั่งตะวันออกคือกรุงเทพมหานคร

ในปี พ.ศ. 2325 ได้โปรดฯ ให้ยกเสาหลักเมือง

เป็นเครื่องหมายว่าพระนครใหม่ได้ตั้งขึ้นแล้ว การยกเสาหลักเมือง

เป็นเรื่องใหญ่โตมากในสมัยโบราณ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ

ทรงอธิบายว่าเมืองใหญ่ ๆ ต้องมีหลักเมืองและมหาธาตุไว้

เป็นเครื่องหมายทั้งนั้น เวลาข้าศึกยกมาตีเมืองใดได้

ก็มักจะรื้อถอนเสาหลักเมืองเหมือนบอกให้รู้ว่า “ล้มรัฐบาลได้แล้ว”

คราวเจ้าอนุวงศ์ยกทัพจากลาวมาตีโคราชก่อนกวาดต้อนย่าโมไป

ก็ได้ถอนเสาหลักเมืองโคราชวางกองไว้กับพื้น

พิธีฝังเสาหลักเมืองเป็นพิธีพราหมณ์ มีการทำคุณไสยกำกับไว้ด้วย

เพื่อให้มีดวงวิญญาณเฝ้า การยกเสาหลักเมืองในเขมร ลาว พม่า

อยุธยาก็ทำแบบนี้ ที่เวียงจันทน์ยังมีวัดหนึ่ง ไกด์เคยพาไปดู

เล่าว่าพอจะลงเสาหลักเมือง เวียงจันทน์เรียกว่าอินทขีล

หญิงท้องแก่คนหนึ่งจะถูกผลักหรือสมัครใจก็ไม่รู้

กระโดดลงหลุมตายคาหลุมหลักเมือง คติอยุธยาก็ยังมีการเรียกชื่อ

ชาวบ้านที่เป็นมงคล เช่น ไอ้อินทร์ ไอ้บุญ ไอ้รอด ไอ้มั่น ไอ้คง

ให้มาลงหลุมหรือฝังเป็นผีเฝ้าป้อมพระนครเพื่อความขลังหรือเป็นอาถรรพณ์

ตอนยกเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้ทำพิธีแบบนี้ โปรดฯ ให้เลิกเสีย

แต่คนโบราณก็เล่ากันสืบมาว่าขณะเคลื่อนเสาไม้ชัยพฤกษ์ลงหลุม

มีคนเห็นงูตัวเล็ก ๆ 4 ตัวเลื้อยอยู่ที่ก้นหลุม คงอยู่ในดิน

จึงเอะอะโวยวายกันขึ้น ครั้นจะชักเสาหลักเมืองขึ้นก็ไม่ทัน จะเสียฤกษ์

เสาหลักเมืองจึงลงไปทับงูเล็ก 4 ตัว

อีกหลายปีต่อมาเมื่อสร้างพระราชวังขึ้นแล้ว

วันหนึ่งฟ้าผ่ายอดพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทหักลง

เกิดเพลิงไหม้พระที่นั่งซึ่งทำด้วยไม้ทั้งหลัง

โปรดฯ ให้รื้อลงสร้างใหม่เป็นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททุกวันนี้

เหตุการณ์คราวนั้นทำเอารัชกาลที่ 1 ทรงไม่สบายพระทัยมาก

เจ้านายต้องทูลปลอบกันยกใหญ่ โบราณถือว่ายอดปราสาทหัก

เป็นลางร้ายว่าจะเสียเมือง กรมหลวงนรินทรเทวี

น้องสาวคนละแม่กับรัชกาลที่ 1

ท่านเป็นนักเขียนไดอารี่คนแรกของไทย

ได้ทรงเขียนจดหมายเหตุบันทึกความทรงจำว่า

“โหรทำนายว่าจะมีลำดับกษัตริย์สืบไป 150 ปี”

ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. 2325 กว่าจะครบ 150 ปียังอีกนานนัก

คนจึงลืม ๆ กันไป พอถึงต้นรัชกาลที่ 7 มีคนช่างจำมาสะกิดขึ้นว่า

ตายจริง! ปี พ.ศ. 2475 ที่จะถึงนี้

พระนครจะครบ 150 ปีแล้ว ปี พ.ศ. 2475

เป็นปีมะเส็งงูเล็กเสียด้วย ทั้งในหลวงรัชกาลที่ 7

ก็ประสูติปีมะเส็ง (พ.ศ.2436) คราวนี้ก็ลือกันยกใหญ่

ในทางไม่เป็นมงคลท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ

และสารพัดปัญหาที่กำลังรุมเร้าเข้ามา

เรื่องพระนครมีอายุครบ 150 ปี จะมีความหมายอย่างไรนั้นเรื่องหนึ่ง

แต่อย่างน้อยก็เป็นวาระควรแก่การเฉลิมฉลอง

ครั้งที่กรุงเทพฯ ครบ 100 ปีใน พ.ศ. 2425

ตกสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการจัดการใหญ่ฉลองไปหนหนึ่งแล้ว

คณะเสนาบดีถวายความเห็นว่าฉลอง 150 ปีหนนี้

น่าจะมีการก่อสร้างถาวรวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่ระลึก เช่น

1. ขยายวัดสุทัศน์และสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ที่หน้าวัด

2. สร้างศาลยุติธรรมให้ใหญ่โตโอ่อ่าตามพระราชประสงค์รัชกาลที่ 5

3. สร้างสะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีกแห่ง

นอกเหนือจากสะพานพระราม 6

ที่รัชกาลที่ 6 เคยสร้างไว้แล้วที่บางกรวย

รัชกาลที่ 7 ไม่โปรดฯ ทางเลือกแรกเพราะต้องรื้อตลาดเสาชิงช้าลง

ทรงเกรงว่าชาวบ้านจะเดือดร้อน ไม่โปรดฯ ทางเลือกที่สอง

เพราะมิได้อำนวยประโยชน์แก่ราษฎรเต็มที่

ดีแต่กับขุนศาลตุลาการและคนที่เป็นความกันเท่านั้น

โปรดฯ ทางเลือกที่สามว่าจะทำให้คนฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ

ไปมาถึงกันได้สะดวก ที่ทางแถวธนบุรีก็จะเจริญขึ้น

และเป็นการเชื่อมเมืองของพระเจ้ากรุงธนบุรีกับเมือง

ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เข้าเป็น “สุวรรณปฐพี” เดียวกัน

สะพานนั้นจะทรงให้ชื่อว่าสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ

เจ้านายและขุนนางไม่น้อยยังพากันคัดค้าน หาว่าสิ้นเปลือง

เศรษฐกิจกำลังไม่ดี มีสะพานพระราม 6 อยู่แล้วน่าจะพอแล้ว

จะสร้างอะไรกันนักหนา ในหลวงทรงน้อยพระทัยมาก

ตรัสว่าขนาดเป็นพระเจ้าแผ่นดินคิดจะทำอะไรเพื่อบ้านเมือง

ก็ยังถูกขัดขวาง ถ้ารัฐบาลไม่มีเงินก็จะออกพระราชทรัพย์เอง

แล้วเรี่ยไรราษฎรให้ช่วยกัน พอข่าวออกไป

ก็มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลจำนวนมากจนได้เงินเพียงพอ

โปรดฯ ให้กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เอ็นจีเนียร์ใหญ่ของไทย

เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม “พระบิดาแห่งการรถไฟฯ”

คุมการก่อสร้าง กรมรถไฟหลวงออกแบบจ้างบริษัทดอร์แมน ลอง

จากอังกฤษมาก่อสร้าง กะให้เป็นสะพานเหล็กทันสมัย

ตรงกลางยกขึ้นเปิดปิดให้เรือใหญ่ผ่านได้ สิ้นงบประมาณ 4 ล้านบาท

ที่เชิงสะพานฝั่งพระนคร ให้สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯกรมพระนริศฯ

ออกแบบสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้นหุ่น เรียกสะพาน

และพระบรมราชานุสาวรีย์รวมกันว่า “ปฐมบรมราชานุสรณ์”

ขณะเดียวกัน พระราชโอรสธิดา 4 พระองค์ของรัชกาลที่ 5

แม้ต่างพระชนนีกันแต่ล้วนประสูติปีมะเส็งคนละรอบกันคือรัชกาลที่ 7

สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์ฯ กรมพระกำแพงเพชรฯ

และเจ้านายอีกพระองค์ได้ทรงร่วมกันบริจาคทรัพย์

สร้างตึกผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ชื่อ “ตึก 4 มะเส็ง”

เหมือนจะให้รำลึกถึงงูเล็ก 4 ตัวที่ก้นหลุมหลักเมืองคราวโน้น

งานฉลองพระนครครบ 150 ปีมาถึงจนได้ใน พ.ศ.2475

พิธีใหญ่อยู่ที่วันที่ 6 เมษายน มีการเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์

มีพยุหยาตราทางสถลมารค (ทางบก) และชลมารค (ทางน้ำ)

ก่อนหน้านั้นมีข่าวลือว่าในระหว่างพิธีจะมีการยึดอำนาจ

เข้าจับในหลวงและเจ้านายสำคัญ บ้านเมืองอึมครึมไปทั่ว

ต่อมาก็ลืออีกอย่างหนึ่งว่าในหลวงทรงมีร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในมือแล้ว

อย่าเอะอะไป วันที่ 6 เมษายน 2475 นี่ล่ะ

จะทรง “เซอร์ไพร้ส์” ด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 6 เมษายน (วันจักรี) 2475 ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น

นอกจากงานรื่นเริงฉลองพระนครครบ 150 ปี

เสียงตำหนิอื้ออึงขึ้นอีกว่าชะรอยคณะอภิรัฐมนตรี

และคณะเสนาบดีอีกเป็นแน่ที่ “เบรก” เอาไว้!

เดือนพฤษภาคมเข้าหน้าร้อน ในหลวงและเจ้านายส่วนหนึ่ง

แปรพระราชฐานไปประทับที่วังไกลกังวล หัวหิน

วังนี้โปรดฯ ให้สร้างพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

พระบรมราชินี พระองค์เองก็โปรดฯ เสด็จไปประทับในหน้าร้อน

เพื่อทรงออกพระกำลังกีฬากอล์ฟ ทรงดนตรีไทย และเยี่ยมราษฎร

ทางกรุงเทพฯ ได้ทรงตั้ง จอมพล สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ

กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

และอภิรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลรักษาพระนคร

เมื่อในหลวงเสด็จออกไปอยู่นอกพระนคร กองกำลังทหาร

ก็ต้องแบ่งกันอารักขา ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่ลงรอย

ในหมู่ผู้มีอำนาจ และกระแสโลกที่ต้องการเปลี่ยนแปลง

ก็รุนแรงพออยู่แล้ว ยังมาประจวบเข้ากับ

เป็นปีพระนครครบ 150 ปีอีก พวกที่ไม่เชื่อโชคลาง

ก็ไม่เชื่อแต่ที่นั่งรอลุ้นว่า “มันต้องเกิดอะไรสิน่า” ก็พอมีอยู่บ้าง

ข้างฝ่ายทหารและพลเรือนที่คบคิดกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469

ณ กลางกรุงปารีส บัดนี้ก็ดูจะได้แนวร่วมมากหน้าหลายตาเพียงพอแล้ว

ช้าจะไม่เป็นการ นานจะไม่เป็นคุณ จะหาฤกษ์ยามใดเหมาะไปกว่านี้

เห็นจะไม่มีอีกแล้ว ส่วนวัน ว. เวลา น. นั้นมีคนอ้างว่า

หลวงพ่อโน้นหลวงปู่นี้ โหรคนนั้นคำนวณฤกษ์ก่อการมีอยู่หลายเจ้า

เท็จจริงไม่ทราบ แต่ทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของคน 4 คน

ซึ่งคณะได้มอบหมายความไว้วางใจเด็ดขาดให้ชี้เป็นชี้ตาย คือ


1. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

รองจเรทหารทั่วไป แม้ไม่ได้กุมกำลังแต่เป็นผู้ใหญ่กว่าคนอื่น

บุคลิกเรียบร้อย ไม่นิยมความรุนแรง จึงได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้าคณะ


2. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)

อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร มีนักเรียนทหารในปกครองมาก

เป็นคนรูปงาม สุภาพ ช่างคิด สุขุม รอบคอบ

เป็นนักวางแผนทางการทหาร


3. นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)

ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์

มีทหารอยู่ในบังคับบัญชามากที่สุด ช่างวางแผน สุขุม รอบคอบ

มีจุดยืนมาแต่แรกว่าให้ยึดอำนาจได้ แต่ต้องไม่ประทุษร้ายในหลวง


4. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)

ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก มีนักเรียนทหารในปกครองมาก

ช่างคิด ช่างวางแผนสี่ท่านนี้เรียกกันมาแต่แรกว่า “สี่ทหารเสือ”


4 ทหารเสือคณะราษฎร - พ.อ.พระยาทรงสุรเดช, พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ์, พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา, พ.อ.พระยาฤทธิอาคเนย์



ส่วนคนอื่น ๆ ในคณะซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร”

ยังมีอีกมาก เป็นทหารบกก็มี ทหารเรือก็มี พลเรือนก็มี

คนสำคัญอีกคนหนึ่งแม้ไม่ได้อยู่ในชุดทหารเสือ

แต่ก็เป็นนักวางแผนฝ่ายพลเรือน จะว่าเป็นเสนาธิการก็ได้

คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) นักกฎหมายจากฝรั่งเศส

การส่งสัญญาณ “จัดหนัก” แปลว่าใกล้ถึงเวลาแล้วเกิดขึ้น

ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่ก็ยังลับลวงพราง

ว่าใครมีหน้าที่อะไร ที่ไหน อย่างไร และเมื่อไรกันแน่

เย็นวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน รถถังหลายคันออกวิ่งตามถนน

มีการเคลื่อนย้ายกำลังพลุกพล่าน ถามก็ได้ความว่าซ้อมรบบ้าง

สับเปลี่ยนกำลังบ้าง แต่ไม่น่าเชื่อว่าทางการบ้านเมืองไม่รู้สึกผิดปกติ

เช้ามืดวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนมีการสั่งให้นักเรียนทหาร

ทหารเกณฑ์ และกองกำลังทหารออกไปชุมนุมกันที่

ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อซ้อมรบ มีการนำอาวุธจริง

ออกมาจากหน่วยทหารแล้วแยกย้ายกำลังกันไปคุมตัวบุคคลสำคัญ

มาอารักขาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมและพระที่นั่งอภิเษกดุสิต

เจ้านายสำคัญที่ถูกเชิญมาได้แก่สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศฯ

และเจ้านาย เสนาบดี นายทหาร ข้าราชการอีกหลายคน

กรมพระกำแพงเพชรฯ ทรงนำรถไฟหลบลงไปหัวหินได้ก่อน

ตอนไปคุมตัวนายพลตรี พระยาเสนาสงคราม ผบ.พล1

กระสุนลั่นไปนัดหนึ่งนอกนั้นเหตุการณ์เรียบร้อยดี

คณะราษฎรอ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจฉบับแรกที่ข้างพระบรมรูปทรงม้า

ตกสายก็ให้คนไปโปรยใบปลิวและออกข่าวทางวิทยุ

ในหลวงทรงทราบข่าวตอนสายขณะทรงกอล์ฟอยู่ที่สนามกีฬา

คณะราษฎรให้นาวาตรี หลวงศุภชลาศัย เป็นผู้ลงเรือนำหนังสือ

ไปกราบบังคมทูลในหลวงที่หัวหินและเชิญเสด็จฯกลับมาเป็น

พระมหากษัตริย์ภายใต้พระธรรมนูญที่จะร่างขึ้นต่อไป

ทั้งกราบบังคมทูลด้วยว่าได้คุมพระองค์เจ้านายไว้แล้วส่วนหนึ่ง

พระเจ้าอยู่หัวทรงยอมเสด็จฯกลับ ไม่ทรงหนีหรือสั่งให้ต่อสู้ปราบปราม

แม้จะมีกองทหารที่จงรักภักดีอยู่ทางหัวเมืองปักษ์ใต้

ตรัสว่าความคิดเช่นนี้ก็ทรงมีอยู่แล้ว

จึงนับว่าคณะราษฎรกับพระองค์คิดไม่ต่างกัน

ถ้ามีการต่อสู้ คนไทยกันเองก็จะมาล้มตายเสียเปล่า ๆ

และหากทรงขัดขืน คณะที่ยึดอำนาจก็จะลำบากเพราะต่างชาติ

คงไม่กล้ารับรองรัฐบาลใหม่ง่าย ๆ การจะเสด็จฯกลับ

ไม่ใช่เพราะทรงอยากได้ใคร่ดี พระสุขภาพก็ไม่ดีอยู่แล้ว

พระราชโอรสก็ไม่มี แต่ก็จะทรงกลับไปช่วยให้เหตุการณ์

คืนสู่ความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

ในหลวงเสด็จฯกลับกรุงเทพฯ โดยรถไฟพระที่นั่ง วันที่ 26 มิถุนายน

คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติ

ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามทรงรับไว้พิจารณา

แล้วพระราชทานคืนในวันที่ 27 มิถุนายน วันนี้เป็นวันประกาศใช้

รัฐธรรมนูญฉบับแรกแต่ขณะนั้นยังไม่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ

และได้ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว”

เพื่อให้รู้ว่าจะต้องทำใหม่ให้สมบูรณ์กว่านี้

หลังจากนั้นจึงมีการตั้งสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมการราษฎร

และดำเนินการต่าง ๆ ตามหลัก 6 ประการที่คณะราษฎร

ประกาศไว้เป็นแนวทาง สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย

บ้านเมืองน่าจะเดินไปในทางที่เรียบร้อยตามปรารถนา

แต่แท้จริงนี่ยังไม่ได้เป็นบทสรุป

หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความยุ่งยากนานาประการสืบต่อมา.

..................

วิษณุ เครืองาม



อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556




Create Date : 03 เมษายน 2556
Last Update : 3 เมษายน 2556 20:56:19 น. 0 comments
Counter : 768 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.