Group Blog
 
 
เมษายน 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
ปกเกล้าปกกระหม่อม (10)


เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปก ครองในวันที่ 24 มิถุนายน

พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

ทรงอยู่ในราชสมบัติมาแล้วประมาณ 7 ปี

การเปลี่ยนแปลงการปกครองชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเพื่อเปลี่ยนแปลง

ทั้งรูปแบบและวิธีการปกครองประเทศเสียใหม่

ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงที่ตามมาอันดับแรกคือ

การประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว

ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า “พระธรรมนูญ” แม้ส่วนใหญ่จะยังไม่เข้าใจนัก

ว่าคืออะไรแต่ก็พอจำได้หมายรู้ว่า “สูงสุดในแผ่นดิน”

จนองค์พระมหากษัตริย์ก็ต้องอยู่ใต้กฎหมายฉบับนี้

จะทรงทำหรือไม่ทำอะไรขาดหรือเกินไปจากที่กำหนด

ในพระธรรมนูญไม่ได้ แล้วนับประสาอะไรกับเจ้านายและขุนนางทั้งหลาย

ประการต่อมาคือพระเจ้าแผ่นดินจะไม่ทรงลงมาปกครอง

หรือบริหารจัดการอะไรเองอีกต่อไป ในด้านการออกกฎหมาย

ได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้น 70 คน

ทำหน้าที่ออกกฎหมายและให้คำแนะนำแก่รัฐบาล

ในด้านการบริหารประเทศ ในหลวงก็จะไม่ทรงลงมายุ่งเกี่ยว

หากแต่ให้มีคณะรัฐบาลเป็นผู้จัดการแทนโดยสภา

จะตั้งคณะกรรมการราษฎรขึ้น 15 คน คอยแนะนำสั่งการ

ไปที่คณะเสนาบดีอีกทีหนึ่ง โดยเฉพาะการดำเนินงาน

ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร หมายความว่า

แรก ๆ ก็ยังมีคณะเสนาบดีอยู่ (มีการเปลี่ยนคนจากเดิมบ้าง)

แต่ต่อมาก็ร่อยหรอหรือลาออกไปจนเหลือแต่คณะกรรมการราษฎร

เป็นผู้มีอำนาจจัดการสูงสุดเท่านั้น

สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ นักกฎหมายจากอังกฤษ

เป็นประธานคณะกรรมการราษฎรคนแรก

ได้กล่าวถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎรหลายครั้ง

มาถึงตอนนี้เห็นจะต้องจาระไนว่ามีอะไรบ้างเพราะเป็นเหมือน

นโยบายของรัฐบาลและของประเทศเป็นครั้งแรกก็ว่าได้

1. จะรักษาเอกราชทั้งทางการเมือง การศาล และเศรษฐกิจ

2. จะรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ

3. จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ

จะหางานให้ราษฎรทำ จะร่างโครงการเศรษฐกิจ

ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน

5. จะให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ

6. จะให้การศึกษาเต็มที่แก่ราษฎร

ตอนนั้นยังไม่มีนโยบายค่าแรงวันละ 300 บาท 30 บาทรักษาทุกโรค

รถคันแรก บ้านหลังแรก แต่รัชกาลที่ 7 ได้ทรงปรารภให้จัดทำ

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ถาวรและสมบูรณ์กว่าฉบับแรกด้วย

ซึ่งสภาได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นดำเนินการอย่างเร่งรีบในเวลาต่อมา

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการ คือ เกิดความตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

ไปทางไหนจะมีคนพูดถึงแต่ “พระธรรมนูญ” “ประชาธิปไตย”

“สิทธิ” “เสรีภาพ” “เสมอภาค” “ภราดรภาพ”

แม้อ่านไม่เข้าใจนักว่าคืออะไร ยิ่งเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว

และประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

ความตื่นตัวอยากร่วมด้วยช่วยกันในการเข้าปกครองประเทศก็สูงขึ้น

พวกครู นักกฎหมาย คนที่เป็นผู้นำชุมชนพากันเคลื่อนไหวยกใหญ่

เพราะคนเหล่านี้มีความรู้ ความคิดดี ๆ มีผู้นับหน้าถือตา

และมักเป็นนักพูดนักแสดงความเห็นอยู่แล้ว

ผลประการหนึ่งของการเปลี่ยน แปลงการปกครองคือ

เศรษฐกิจของประเทศยังมิได้ดีขึ้นทันตาเห็นนัก

แต่ก็โทษใครไม่ได้เพราะ “มันเป็นเช่นนั้นเอง” ไปทั่วโลก

แต่ความสนใจของประชาชนมิได้อยู่ที่ปากท้อง

เท่ากับปากเสียง ทุกคนตื่นเต้นกับการได้พูด ได้โวย

มีปากมีเสียงมากกว่า ผลกระทบอีกประการคือสถานะของ

พระบรมวงศานุวงศ์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองดูจะเงียบๆ เฉยๆ ไป

จะว่าถูกเพ่งเล็งอยู่ก็ได้ว่าเป็นกลุ่มอำนาจเก่าที่อาจคิดฟื้นตัวขึ้นใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ

ต้องทรงออกประกาศเตือนให้พระบรมวงศานุวงศ์

อยู่ในความสงบและร่วมมือกับรัฐบาล

รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างใหม่ (10 ธันวาคม 2475)

ถึงกับห้ามพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปเล่นการเมือง

เช่น สมัครเป็น ส.ส.ไม่ได้ เป็นรัฐมนตรีไม่ได้

อย่างมากก็เป็นที่ปรึกษารัฐบาล

แม้กระนั้นคณะราษฎรซึ่งมีอำนาจอยู่เบื้องหลังรัฐบาล

ก็มิได้วางใจเจ้านายเท่าไรนัก ดังที่ได้แสดงความประสงค์ชัดแจ้ง

หรือปริยายว่าไม่อยากให้เจ้านายบางพระองค์มีบทบาทอยู่ในประเทศ

จึงมีการเชิญเสด็จเจ้านายสำคัญบางพระองค์ไปประทับต่างประเทศ

เจ้านายบางพระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะให้เป็นที่หวาดระแวง

หรือรับรู้ใด ๆ ก็พลอยสมัครใจหลีกไปประทับที่อื่นเสีย

ต่อมาก็มีการตั้งกรรมการขึ้นตรวจสอบและ “ยึดวัง”

เจ้านายบางพระองค์โดยอ้างว่าเป็นการใช้เงินแผ่นดินก่อสร้าง

สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นความกดดันในหลวงรัชกาลที่ 7

อีกข้อหนึ่งว่าไม่อาจทรงปกป้องพระบรมวงศานุวงศ์ได้

แถลงการณ์คณะราษฎรในวันยึดอำนาจที่ว่าพระราชวงศ์นี้

ปกครองมา 150 ปีโดยไม่ได้ทำประโยชน์ใด ๆ

แม้คณะราษฎรจะเข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ

และพระราชทานอภัยโทษแล้ว แต่ก็ “เสียดแทง” พระทัย

พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์อย่างยากจะลบเลือน

ลึก ๆ แล้วรัชกาลที่ 7 ก็น่าจะยังทรงรู้สึก ในวันเสด็จออก

มหาสมาคมพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475

แม้จะทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษาภรณ์ แต่ก็ไม่ทรง

สังวาลย์พระนพของรัชกาลที่ 1 และโปรดฯ ให้ชัก

พระแท่นมนังคศิลาบาตออกจากที่รองพระแท่นพุดตานกาญจนสิงหาสน์

ได้ตรัสแก่ผู้ใกล้ชิดว่า

“เมื่อข้ารักษาของ ๆ ท่านไว้ไม่ได้ ก็ไม่ควรมีสิทธิใช้ของท่าน”

ในเวลาใกล้เคียงกัน ได้มีพระราชหัตถเลขาไปถึง

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระราชภาคิไนย (หลานอา)

ซึ่งประทับอยู่ที่อังกฤษความตอนหนึ่งว่า



“ฉันได้คิดรายละเอียดของพิธีนี้ (พระราชทานรัฐธรรมนูญ)

มาหลายปีแล้วเพราะรู้ดีว่าจะต้องเกิดขึ้นในรัชกาลของฉัน

ฉันร่างคำประกาศไว้ในใจของฉันมาเป็นเวลานานมาแล้ว

แต่อดเสียใจไม่ได้ที่ทุกอย่างมิได้บังเกิดขึ้นตามแนวที่ฉันเคยกะไว้

แต่ที่จริงเป็นไปอย่างนี้ก็ดีแล้ว เพราะว่าฉันได้มีโอกาส

ให้รัฐธรรมนูญตามโอกาสและตามใจฉันเอง คนที่อยากจะ

ได้อำนาจแต่บัดนี้ก็ได้อำนาจแล้ว ก็คงยังดีกว่าไม่ได้อะไร

มิฉะนั้นอาจจะยังพยายามจัดให้มีรีพับลิกและก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง

อาจจะมีการจลาจลนองเลือดเสียก่อน

บัดนี้ฉันรู้สึกว่างานของฉันในชีวิตนี้จบลงแล้ว

ฉันไม่มีอะไรจะทำอีก นอกจากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป

โดยความสงบที่สุดที่จะทำได้”



การเป็นพระราชาภายใต้พระธรรม นูญอาจ “ไม่มีอะไรจะทำอีก”

อย่างที่มีพระราชดำริ แต่การเมืองเวลานั้นกำลังรุนแรงขึ้นใหม่

ในอีกรูปแบบหนึ่งระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่

กลุ่มอำนาจเก่าหัวอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มอำนาจเก่า

ที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และกลุ่มอำนาจใหม่กันเอง

ซึ่งเริ่มมีข้อมึนตึงผิดพ้องหมองใจและขัดแย้งกันขึ้นบ้างแล้ว

ขณะเดียวกันประชาชนก็เริ่มลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

และมีปากมีเสียงมากขึ้น เช่น เมื่อคณะราษฎรตั้งกลุ่ม

และขยายตัวหาสมาชิกเพิ่มขึ้น คนอีกกลุ่มก็คิดตั้งคณะชาติขึ้นประกบ

มีการโยกย้ายข้าราชการที่ไม่วางใจออกไปอยู่ไกล ๆ

มีการดำเนินคดีกับคนที่พูดจาวิจารณ์รัฐบาลและการปกครองแบบใหม่

ข้าราชการที่มีพฤติการณ์ไม่เป็นที่วางใจ

บางคนถูกให้ออกจากราชการง่าย ๆ

หลายเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการกระทบกระทั่ง

ต่อพระบรมเดชานุภาพโดยตรง เช่น ดำเนินคดีกับพระบรมวงศานุวงศ์

เนรเทศเจ้านายบางพระองค์ งดการมีทหารรักษาวัง

เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงวัง

ไม่สนองพระราชกระแสบางเรื่อง

โดยเฉพาะการให้เสรีภาพแก่ราษฎร ไม่จัดการใด ๆ

ทั้งที่มีผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจนถึงขนาดฟ้องร้องกล่าวหาในหลวง

ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลหรือคณะราษฎรก็มิได้พยายามจะเข้าเฝ้าฯ

กราบบังคมทูลถวายรายงานชี้แจงเหตุผลและหาทางแก้ไข

กลายเป็นการอ้างสิทธิรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยบ้าง

หาว่าทรงเข้าพระทัยผิดบ้าง บางครั้งก็เอาแต่โต้ตอบทางหนังสือ

และมีผู้นำไปขยายผลหากไม่ใช่เป็นในทาง

หมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสื่อมเสีย

พระเกียรติยศก็เป็นไปในทางตำหนิติเตียนรัฐบาล

ซึ่งไม่เป็นการดีต่อฝ่ายใดทั้งสิ้น

ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ตรัสว่า

“ทรงสังเกตเห็นปรากฏแน่ในพระราชหฤทัยว่ารัฐบาล

และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมากรู้สึกแน่ใจว่าไม่จำเป็นต้อง

ประนีประนอมต่อพระองค์ไม่ว่าในเรื่องใด ๆ

พอใจที่จะขัดพระราชดำริเสียทุกอย่าง

ถ้าหากรัฐบาลมีความประสงค์จะประสานงานต่อพระองค์ด้วยดีแล้ว

คงจะกราบบังคมทูลปรึกษากันก่อนที่จะดำเนินการอันสำคัญไป

ถ้าได้ทำดังนั้นความยุ่งยากอย่างหนึ่งอย่างใดก็จะไม่เกิดขึ้นได้

แต่รัฐบาลมิได้กระทำดังนั้น การใด ๆ รัฐบาลทำไปถึงที่สุดเสร็จเสีย

แล้วจึงกราบบังคมทูลพระกรุณาไม่มีทางที่จะทรงทักท้วงให้แก้ไข

โดยกระแสพระราชดำริอย่างใดอย่างหนึ่ง

“เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีอะไรเหลือนอกจากความขึ้งเคียดแก่กัน”

ภาษาทั่วไปเรียกสภาวะอย่างนี้ว่า “กินแหนงแคลงใจ” กัน

แต่รัชกาลที่ 7 ก็ทรงอดทน อดกลั้น แม้จะมีเสียงถามขึ้นมาอยู่บ้างว่า

“แล้วทนอยู่ไปทำไม” คำตอบคงเป็นว่าไม่ว่าจะเป็นประการใด

การที่ต้องทรงยอมอดทนอยู่ยังจะพอเป็นหลักได้ในบางเรื่อง

เพราะถึงอย่างไรรัฐบาล (รวมถึงคณะผู้ก่อการ)

ก็มิอาจทำอะไรมากไปกว่านั้นได้ เพียงแต่พระองค์ต้อง

ทรงทนรับความเจ็บปวดไว้เองเท่านั้น ขณะเดียวกันปริศนาใหญ่ก็มีอยู่

ถ้าไม่ทรงทน เช่น สละราชสมบัติ

แล้วต่อจากนั้นบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร

ใครจะเป็นประมุขของประเทศต่อไป มีใครอีกหรือ

ที่คณะผู้ก่อการสามารถไว้วางใจ มีใครอีกหรือที่จะอดทน

อดกลั้นได้ แล้วถ้าไม่มี อะไรจะเกิดขึ้น

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงอดทนมาได้อีกประมาณ 1 ปี ถึงปี 2476

เหตุการณ์สำคัญและร้ายแรงก็เกิดขึ้น การตัดสินพระทัยในเวลาต่อจากนั้น

จึงง่ายเข้า ความอดทน อดกลั้น ย่อมมีข้อจำกัด

และกำลังจะมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว.

...................

วิษณุ เครืองาม



อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2556



Create Date : 03 เมษายน 2556
Last Update : 3 เมษายน 2556 20:56:51 น. 0 comments
Counter : 419 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.